การเสริมเต้านมภายหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านม

สวัสดีค่ะ รอบรู้เรื่องมะเร็งในวันนี้ จะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับความสวยความงามหลังการผ่าตัดเต้านม คือ การเสริมเต้านมภายหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านมค่ะ

คำว่า “มะเร็ง” แม้จะเป็นคำที่ฟังดูน่ากลัว เพราะคนส่วนใหญ่ได้ยินแล้วมักนึกถึงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่ความจริงมะเร็งมีหลายชนิดและแบ่งความรุนแรงเป็นหลายระยะ ถ้าทราบและได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกผู้ป่วยมีโอกาสหายได้โดยการผ่าตัดร่วมกับการรักษาเสริม ซึ่งการผ่าตัดนี้เองอาจทำให้บางคนรู้สึกว่าเป็นการสูญเสีย โดยเฉพาะถ้าเป็นโรคที่เกี่ยวกับภาพลักษณ์ หรือเกี่ยวกับสัญลักษณ์ทางเพศ เช่น ในเพศหญิง ถ้าได้รับการผ่าตัดเต้านมจะรู้สึกมีปมด้อยและมีความไม่สมส่วนของร่างกาย ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลขาดความมั่นใจในตัวเอง ทั้งในด้านภาพลักษณ์และความราบรื่นในชีวิตสมรสค่ะ

ปัจจุบันการแพทย์มีความก้าวหน้ามากขึ้น มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีความสามารถในการทำผ่าตัดเสริมเต้านม โดยวิธีการผ่าตัดที่ปลอดภัยและสวยงามมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ค่ะ

การผ่าตัดเสริมเต้านมแบ่งได้เป็น 3 วิธีใหญ่ ๆ วิธีแรกซึ่งเป็นวิธีที่นิยมคือแบบที่บรรจุน้ำเกลือไว้ภายในถุงซิลิโคน หรือบรรจุซิลิโคนเจล โดยมีให้เลือกหลายขนาด วิธีที่สองได้แก่การใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยเอง โดยนำเนื้อเยื่อจากบริเวณอื่นของร่างกาย เช่น บริเวณหลังหรือหน้าท้อง ย้ายมาไว้บริเวณเต้านม และวิธีที่สามคือ ใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกัน โดยย้ายเนื้อเยื่อแล้วเสริมเต้านมเทียมกรณีที่ผู้ป่วยมีเต้านมเดิมค่อนข้างใหญ่ แพทย์สามารถทำให้ผู้ป่วยมีเต้านมที่คล้ายของเดิมได้ค่ะ แม้แต่การสร้างหัวนมและวงปานนม โดยใช้การย้ายเนื้อเยื่อของผู้ป่วยเองและอาจใช้การสักเข้าช่วยเหมือนกับการสักเพื่อความสวยงามอื่น ๆ โดยมีสีสักให้เลือกตามต้องการ เช่น สีชมพูหรือสีน้ำตาล เป็นต้น การผ่าตัดเสริมเต้านมสามารถทำได้ในคราวเดียวกับการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกค่ะ ซึ่งมีความนิยมการผ่าตัดลักษณะนี้มากขึ้น หรือพิจารณาผ่าตัดหลังจากผ่าเอาก้อนมะเร็งออกนานกว่า 2 ปีขึ้นไป โดยระหว่างนี้อาจใช้ถุงซิลิโคนขนาดเท่าเต้านมเดิมใส่ในเสื้อชั้นในแทนเต้านมข้างที่ถูกตัดออกไปก่อนค่ะ

การผ่าตัดแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสีย ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่าวิธีใดดีที่สุด ขึ้นกับข้อจำกัดของผู้ป่วย เช่น วิธีการผ่าตัดที่ผ่านมา ลักษณะร่างกาย การได้รับการฉายแสง ค่าใช้จ่ายและอื่น ๆ การจะเลือกทำวิธีใดนั้นแพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถให้คำแนะนำได้ดีที่สุดค่ะ เนื่องจากต้องพิจารณาถึงข้อจำกัดเหล่านี้ของผู้ป่วยเฉพาะราย

การผ่าตัดเสริมเต้านมจะไม่มีผลต่อการดำเนินของโรคตราบเท่าที่ผู้ป่วยนั้นได้รับการรักษาเสริม หลังการผ่าตัดก้อนมะเร็ง ซึ่งอาจเป็นการได้ยาเคมีบำบัด, การฉายแสงหรือทั้งสองอย่างครบถ้วนตามมาตรฐานการรักษา สำหรับการพยากรณ์โรคจะขึ้นกับระยะของโรคในขณะที่ได้รับการวินิจฉัยในตอนแรก และไม่มีผลในการค้นหารอยโรคที่อาจเกิดขึ้นมาอีก เพราะปัจจุบันมีการตรวจทางรังสีที่เรียกว่า แมมโมกราฟฟี่และการตรวจอุลตร้าซาวน์ ทำให้เห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ได้อย่างชัดเจนและรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ป่วยได้รับการตรวจเช็คหลังผ่าตัดเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด

แต่ข้อควรคำนึงคือ การผ่าตัดเสริมเต้านมเป็นเพียงทำให้ คล้าย ของจริงให้มากที่สุด จะให้สวยงามเหมือนสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาให้ตั้งแต่เกิดคงเป็นไปไม่ได้นะคะ ถ้าผู้ป่วยเข้าใจและไม่คาดหวังสูงจนเกินไป การผ่าตัดเสริมเต้านมภายหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านมซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก็สามารถกระทำได้ระดับหนึ่งค่ะ

------------------------------