มะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นมะเร็งที่มีแนวโน้มจะมีอุบัติการณ์สูงขึ้นในประเทศไทยค่ะ โดยจัดอยู่เป็นอันดับต้น ๆ ของมะเร็งที่พบมากทั้งในเพศชายและเพศหญิง

ลำไส้ใหญ่เป็นอวัยวะส่วนล่างของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งต่อจากลำไส้เล็ก และส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่ก็คือ ทวารหนักค่ะ

สาเหตุส่งเสริมของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีดังนี้คือ

  1. อาหาร เช่น การรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์มาก ไขมันสูง หรือมีเส้นใยน้อยเป็นประจำ
  2. โรคบางอย่างของลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ และติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่บางชนิด

อาการที่อาจจะเป็นสัญญาณของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก คือ

  1. มีการเปลี่ยนแปลงในการถ่ายอุจจาระ ทั้งจำนวนครั้งและลักษณะของอุจจาระที่ออกมา เช่น อุจจาระเหลว หรือท้องผูก เป็นต้น
  2. มีเลือดเก่า ๆ และมูกออกทางทวารหนัก
  3. ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรื้อรัง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ แต่อาการเช่นนี้ก็อาจเป็นอาการของโรคอื่น ๆ ได้ด้วยนะคะ
  4. น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ซีด หรือโลหิตจาง โดยหาสาเหตุไม่ได้
  5. คลำได้ก้อนที่บริเวณท้อง และมีการอุดตันของลำไส้ใหญ่

วิธีวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำได้โดย

  1. ตรวจลำไส้ใหญ่ ด้วยการสวนแป้งแบเรียมเข้าทางทวารหนักแล้วถ่ายเอกซเรย์
  2. ตรวจด้วยกล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ สามารถดูรอยโรคโดยตรงและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจวิเคราะห์ได้ด้วยค่ะ

วิธีการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ มีดังนี้

  1. การผ่าตัด
  2. รังสีรักษา
  3. เคมีบำบัด
  4. การรักษาแบบผสมผสาน ด้วยวิธีผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา แต่จะใช้วิธีการใดนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และสภาวะของผู้ป่วยนั้น ๆ ด้วยค่ะ

สำหรับการตรวจติดตามผลการรักษาทำได้โดย การตรวจเลือดหาสาร CEA ค่ะ

การป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีดังนี้ค่ะ

  1. ควรรับประทานอาหารครบทุกหมู่และควบคุมระบบขับถ่ายให้ถูกต้อง
  2. รับประทานผัก ผลไม้ เป็นประจำ
  3. หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ ส่วนที่ไหม้เกรียม จากการปิ้ง ย่าง ทอด รมควัน
  4. ลดอาหารไขมันสูง
  5. ผู้ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป หรือผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับทวารหนักและลำไส้ใหญ่ แผลอักเสบเรื้อรัง ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ ควรได้รับการตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักอย่างน้อยปีละครั้ง
  6. ผู้ที่มีบิดา มารดา ญาติพี่น้อง เคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรได้รับการตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง
  7. ปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ ดังนี้
  • การเปลี่ยนแปลงในการถ่ายอุจจาระ เช่น ท้องผูก สลับกับท้องเดิน มีเลือดเก่า ๆ และมูกปน
  • ท้องอืด แน่น เฟ้อ เรื้อรัง
  • น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ซีด หรือโลหิตจาง โดยหาสาเหตุไม่ได้
  • คลำพบก้อนในท้อง

------------------------------