อาการปวดในผู้ป่วยมะเร็ง

ความปวดเป็นความรู้สึกที่ทุกข์ทรมาน รวมทั้งรบกวน การประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้ป่วยค่ะ โดยความปวดอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือต่อเนื่องตลอดเวลาก็ได้ ความปวดจะเกิดกับผู้ป่วยมะเร็งได้ทุกระยะ โดยเฉพาะเมื่อโรคมะเร็งอยู่ในระยะแพร่กระจาย แต่ก็มีผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนไม่น้อยที่พบว่าไม่เคยมีความปวดเกิดขึ้นเลยค่ะ

ความปวดจากโรคมะเร็งจะรุนแรงหรือไม่ขึ้นกับชนิดของโรคมะเร็ง อวัยวะที่เกิดโรค รวมทั้งสภาพร่างกาย และจิตใจของผู้ป่วยโดยเฉพาะเมื่อร่างกายอ่อนล้า มีความกลัว ซึม เศร้า หรือวิตกกังวลเกิดขึ้น จะมีส่วนทำให้ความปวดที่เป็นอยู่มีความรุนแรงมากขึ้นค่ะ ผู้ป่วยที่มีความปวดเท่านั้นที่จะรู้สึกถึงลักษณะและระดับความรุนแรงของความปวดที่เกิดขึ้นกับเขาได้ดี กิจกรรมต่าง ๆ จะถูกกระทบจนไม่อาจกระทำได้จากความปวด รวมทั้งสภาพทางด้านจิตใจที่จะทรุดลงอีกด้วย

ดังนั้น เมื่อเกิดความปวดขึ้นผู้ป่วยไม่ควรตื่นตระหนก แต่อย่ารีรอและไม่ต้องเกรงใจค่ะ ผู้ป่วยหรือญาติควรจะแจ้งแพทย์ พยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแล เพื่อจะได้ทราบถึงความปวดของผู้ป่วยอย่างละเอียด ซึ่งจะเป็นวิธีที่ช่วยทำให้การบำบัดความปวดที่เกิดขึ้นได้ผลมากที่สุด อย่าเบื่อหรือรำคาญกับคำถามมากมาย คำถามบางข้ออาจซ้ำซาก หรือดูเหมือนไร้สาระ แต่โปรดระลึกไว้เสมอว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากผู้ป่วยที่มีอาการปวด หากมีมากเท่าใดก็จะเป็นประโยชน์แก่แพทย์ในการเลือกวิธีบำบัดความปวดได้ดีและได้ผลที่สุดแก่ผู้ป่วยนั่นเองค่ะ

คำถามที่ผู้ป่วยหรือญาติมักจะถูกถามจากบุคลากรทางการแพทย์เสมอ จะประกอบด้วย

  • รู้สึกปวดตั้งแต่เมื่อไร?
  • ปวดตรงบริเวณไหนบ้าง?
  • ลักษณะปวดเป็นเช่นไร? เช่น ปวดตื้อ ๆ ปวดเมื่อย ปวดแปล๊บ ๆ ปวดแสบปวดร้อนเหมือนเข็มแทง เป็นต้น
  • ระดับความรุนแรงของความปวด
  • ช่วงเวลาความถี่ของการปวด
  • ปัจจัยที่ทำให้ความปวดลดลงหรือเพิ่มขึ้น
  • วิธีบำบัดอาการปวดที่เคยได้รับมาก่อน รวมถึงผลของการใช้วิธีนั้น
  • ชนิด ขนาดและวิธีการใช้ยาแก้ปวดที่ผ่านมา รวมทั้งผลของการใช้ยานั้น
การบำบัดความปวดจากโรคมะเร็งมีหลายวิธีค่ะ โดยทั่วไปแพทย์มักจะให้ยาแก้ปวดหนึ่งชนิด หรือมากกว่า หรือร่วมกับวิธีการบำบัดอื่น ยาแก้ปวดมีหลายรูปแบบ เช่น ชนิดรับประทาน ปิดบนผิวหนัง อมใต้ลิ้น หรือเหน็บทางทวารหนักซึ่งทุกรูปแบบที่กล่าวจะมีประสิทธิภาพในการแก้ปวดได้เท่ากับยาฉีด ผู้ป่วยควรใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด แม้จะไม่มีความปวดเกิดขึ้นก็ตามค่ะ

ยาแก้ปวดทุกชนิดอาจก่อให้ เกิดอาการข้างเคียงกับผู้ป่วยบางคนได้ อาทิเช่น ปวดศีรษะ คอแห้ง งุนงง ง่วงซึม สับสน ท้องผูก คลื่นไส้ หากมีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งแพทย์หรือพยาบาล ถึงแม้ว่ายาแก้ปวดบางชนิดอาจมีฤทธิ์ทางด้านเสพติด แต่การใช้อย่างถูกวิธีโดยปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็จะไม่ทำให้เกิดภาวะติดยาขึ้น และไม่ควรกลัวการใช้ยาแก้ปวด ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีความปวด มากกว่าร้อยละ 80 สามารถควบคุมความปวดที่เกิดขึ้นได้หมด หรืออยู่ในระดับที่ผู้ป่วยพอใจ โดยการให้ยาแก้ปวดชนิดต่างๆ

ขอย้ำว่าความปวดสามารถควบคุมได้ค่ะ ซึ่งจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งดีขึ้นจนเป็นที่พอใจได้ สิ่งสำคัญคือการให้ข้อมูลความปวดของผู้ป่วยแก่แพทย์หรือพยาบาลอย่างสม่ำเสมอค่ะ เพื่อจะสามารถประเมินการควบคุมความปวดว่าได้ผลดีเป็นที่พอใจหรือไม่

------------------------------------------