มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน

เลือดของคนเราประกอบด้วยสิ่งที่สำคัญสองส่วนคือ น้ำเลือดและเม็ดเลือดค่ะ เม็ดเลือดที่สำคัญมี 3 ชนิดคือ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือด ซึ่งส่วนใหญ่สร้างจากไขกระดูก เม็ดเลือดแดงมีหน้าที่นำออกซิเจนไปให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อนำไปใช้ในการสร้างพลังงาน เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ ต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ส่วนเกร็ดเลือดมีหน้าที่ช่วยทำให้เลือดหยุด หากเกิดบาดแผลค่ะ

มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือที่มักเรียกกันว่าลิวคีเมีย แบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรังค่ะ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากที่สุดค่ะ

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน หมายถึง โรคที่มีความผิดปกติในการสร้างเม็ดเลือดขาว ทำให้มีตัวอ่อนของเม็ดเลือดขาวเพิ่มมากขึ้นในไขกระดูก รบกวนการสร้างเม็ดเลือด ทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือดลดลง นำไปสู่ภาวะซีดเพลีย ติดเชื้อง่ายและเลือดออกง่ายค่ะ

อาการและอาการแสดง ที่สำคัญของผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน คือ ซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีไข้จากโรค หรือการติดเชื้อ จ้ำเลือดตามผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน นอกจากนี้อาจมีอาการอื่น ๆ คือ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีการติดเชื้อบ่อย ๆ เช่น ที่ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองโต เหงือกบวม ปวดกระดูก ปวดศีรษะ มองเห็นไม่ชัด

สาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ยังไม่ทราบอย่างชัดเจนค่ะ แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้มากขึ้นเช่น โรคพันธุกรรมบางชนิด กัมมันตภาพรังสี ยาและสารเคมีบางชนิด การติดเชื้อไวรัสบางตัว การสูบบุหรี่ เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ต้องอาศัยจากอาการและอาการแสดงที่ได้กล่าวมาแล้วร่วมกับการตรวจเลือดและไขกระดูกว่ามีเม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติเพิ่มขึ้นหรือไม่

ชนิดของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ คือ

  1. ชนิดมัยยีรอยด์ หรือเอเอ็มแอล
  2. ชนิดลิ้มฟอยด์ หรือเอแอลแอล แยกชนิดกันโดยอาศัยลักษณะของเม็ดเลือดที่ผิดปกติ ซึ่งทั้งสองชนิดนี้มีรายละเอียดของการรักษาที่แตกต่างกันค่ะ

มีปัจจัยหลายอย่างที่บอกถึงการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี ได้แก่ อายุมาก โดยเฉพาะมากกว่า 60 ปี มีตับโต ม้ามโต สภาพร่างกายไม่ดี เพลีย จำนวนตัวอ่อนของเม็ดเลือดขาวมีมาก เป็นต้น

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันเป็นโรคที่มีความรุนแรง การรักษาส่วนใหญ่จะใช้ยาเคมีบำบัด โดยหวังผลให้โรคอยู่ในระยะสงบ หรือประคับประคองอาการ ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของโรค อายุของผู้ป่วย สภาพร่างกายของผู้ป่วย ความร่วมมือของผู้ป่วยและญาติ ตลอดจนความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยค่ะ

------------------------------