ปัญหาสุขภาพจิตในผู้ประสบภัยสึนามิ:

โรคที่ควรรู้จักและการป้องกันแก้ไขในระยะยาว

.นพ.พิเชฐ อุดมรัตน์

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

บทนำ

เป็นที่น่ายินดีว่าในประเทศไทย ปัญหาสุขภาพจิตในผู้ประสบภัยสึนามิได้รับความสนใจและเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือแก้ไขตั้งแต่ต้น โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การกำกับดูแลของ นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ซึ่งได้ลงพื้นที่ด้วยตนเอง พร้อมทีมจิตแพทย์จากส่วนกลาง รวมทั้งผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตเขต 11 .สุราษฎร์ธานีด้วย ข้อมูลที่ปรากฏรายงานในเบื้องต้นจากหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ฉบับที่ 20172 วันที่ 4 มกราคม 2548 กล่าวว่า ในช่วง 1 สัปดาห์แรกนี้ พบผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและแพทย์ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด จำนวนทั้งสิ้น 997 ราย โดยอยู่ใน จ.พังงามากที่สุด 455 ราย รองลงมาคือกระบี่ 277 ราย ภูเก็ต 237 ราย และที่ระนอง 28 ราย ในจำนวนนี้มีเพียง 10 ราย เท่านั้นที่ต้องรับตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสวนสราญรมย์เนื่องจากมีอาการหวาดผวา ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ โดยสูญเสียญาติทั้งครอบครัว และเหลือคนไข้รอดชีวิตอยู่เพียงคนเดียว และมีรายงานว่ามีคนไข้ที่อาการหนักจนได้พยายามฆ่าตัวตายไปแล้วถึง 3 คน แต่มีผู้มาพบเห็น เหตุการณ์เสียก่อน และยังมีรายงานอีกว่า ผู้ประสบภัยที่รอดชีวิตกว่าร้อยละ 50 ต้องได้รับยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการเนื่องจากหวาดผวาตกใจและกลัวเสียงดัง

โรคทางจิตเวชสองชนิดกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญ

เป็นที่ทราบกันดีในวงการจิตเวชศาสตร์ว่าเหตุการณ์พิบัติภัย (disaster) ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด คลื่นยักษ์สึนามิ หรือที่เกิดโดยมนุษย์สร้างขึ้น เช่น กรณีรถบรรทุกแก๊สพลิกคว่ำ ในกรุงเทพฯ เมื่อหลายสิบปีก่อน กรณี “911” ที่ตึกเวิร์ลเทรดโดนเครื่องบินพุ่งชนตึกก็ตาม ล้วนทำให้เกิดโรคหรือภาวะผิดปกติทางจิตขึ้นได้ อย่างน้อย 2 ชนิด คือ ชนิดที่เกิดอาการขึ้นอย่างรวดเร็วเฉียบพลัน ที่เรียกว่า Acute stress disorder หรือ Acute stress reaction ซึ่งยังไม่มีการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยอย่างเป็นทางการ แต่ผู้เขียนเคยแปลไว้ว่า “โรคเครียดเฉียบพลัน” กับอีกชนิดหนึ่งคือ Posttraumatic stress disorder (PTSD) ซึ่งก็ยังไม่มีชื่อบัญญัติไว้เช่นกัน  แต่มีผู้แปลเป็นภาษาไทยไว้หลายอย่าง เช่น ศ.นพ.สมภพ เรืองตระกูล แปลว่า “โรคทางจิตเวชเนื่องจากภยันตราย” รศ.นพ. อัมพล สูอำพัน แปลว่า “ความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย” แต่ผู้เขียนเคยแปลไว้ว่า “โรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ” ทั้ง 2 โรคนี้ มีอาการคล้ายคลึงกันจะต่างกันเฉพาะที่ระยะเวลาป่วยเท่านั้น โดยโรคแรกซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า acute คือเฉียบพลันหมายถึงเป็นเร็วหายเร็วคือมีอาการอย่างสั้นที่สุด เพียงแค่ 2 วัน ก็หาย อย่างนานที่สุดก็ไม่เกิน 4 สัปดาห์ และจะต้องเกิดขึ้น ภายในเวลา 4 สัปดาห์ หลังจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญเกิดขึ้น กล่าวคือถ้าพ้นวันที่ 27 มกราคม 2548 ไปแล้ว ไม่พบใครป่วยอีก ก็ถือว่า ปลอดจากโรคเครียดเฉียบพลันนี้ แต่ในกรณีของโรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญนั้นยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะจะมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่จะมีอาการป่วยปรากฏให้เห็นช้ามาก (with delayed onset) คือกว่าจะปรากฏอาการ ก็ผ่านเหตุการณ์นั้นไปแล้วถึง 6 เดือน !

อาการของสองโรคนี้ มีอย่างไร

ผู้ป่วยทั้งสองโรคนี้ ตามเกณฑ์การวินิจฉัยของสมาคมจิตแพทย์อเมริกันกล่าวไว้ว่าจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตของคนอื่น หรือเกือบจะสูญเสียชีวิตของตนเองหรือของคนอื่น หรือได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง แล้วผู้ป่วยมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้น ด้วยความรู้สึกหวาดกลัวอย่างสุดขีดหรือประหวั่นพรั่นพรึงหรือรู้สึกช่วยตัวเองไม่ได้ และเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการเฉยเมย อารมณ์เย็นชา การรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมลดลงจนดูเหมือนคนงุนงง รู้สึกเหมือนสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป รู้สึกเหมือนตัวเองเปลี่ยนไป จำเหตุการณ์ที่สำคัญในขณะเกิดเหตุสะเทือนขวัญนั้นไม่ได้ ที่สำคัญซึ่งถือเป็นอาการเฉพาะของผู้ป่วยในกลุ่มนี้ก็คือการที่ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าเหตุการณ์สะเทือนขวัญนั้นกลับเกิดขึ้นมาอีก(reexperiencing of traumatic event) เกือบทุกวัน ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเช่น คิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำ  ๆ ฝันถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ หรือเกิดความทุกข์เมื่อได้เผชิญกับสิ่งที่เตือนความจำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้นขึ้นมาอีก (exposure to reminders) ผู้ป่วยจึงพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ไปกระตุ้นเตือนให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น และมีอาการวิตกกังวลอย่างมากหรือรู้สึกผวาตกใจง่ายขึ้นกว่าเดิม ซึ่งแสดงออกมาด้วยอาการต่าง ๆ ได้แก่ นอนหลับยากหรือนอนไม่ค่อยหลับ สมาธิลดลง หงุดหงิดกระวนกระวายหรือฉุนเฉียวโกรธง่าย โดยที่อาการดังกล่าวข้างต้นนี้จะเป็นมากจนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติเช่นเมื่อก่อนป่วยอีก

โรคนี้พบบ่อยไหม เป็นแล้วหายหรือเปล่า รักษาได้อย่างไร

ผู้เขียนเคยทบทวนระบาดวิทยาของโรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญในประเทศไทย พบว่า มีข้อมูลของบ้านเราน้อยมาก ส่วนการศึกษาในต่างประเทศพบว่ามีความชุกของโรคแตกต่างกันไปตั้งแต่ร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 30 เมื่อเป็นแล้วหากไม่ได้รักษาประมาณร้อยละ 30 จะหายไปได้เอง ร้อยละ 40 ยังคงมีอาการเล็กน้อย ร้อยละ 20 มีอาการอยู่ปานกลาง และร้อยละ 10 อาการยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงหรืออาจจะแย่ลง และเมื่อติดตามไปครบ 1 ปี พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่หายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ผู้ป่วยที่มีการพยากรณ์โรคดีคือ ผู้ป่วยที่มีอาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นอยู่ไม่นานคือมีอาการน้อยกว่า 6 เดือน มีการปรับตัวได้ดี ได้รับการสนับสนุนทางสังคมอย่างเข้มแข็ง ไม่มีประวัติป่วยด้วยโรคทางกาย หรือโรคทางจิตเวชใด ๆ มาก่อน

ส่วนการรักษานั้น หากเป็นโรคเครียดเฉียบพลัน จะเน้นที่การสนับสนุนทางด้านจิตใจ เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้เล่าระบายถึงเหตุการณ์ที่ตัวเองประสบและแนะนำวิธีในการจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น เช่น การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หากเครียดมากหรือมีอาการนอนไม่หลับ อาจให้ยาคลายกังวลร่วมด้วย ส่วนในกรณีที่เป็นโรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญนั้น ปัจจุบันมีรูปแบบการรักษาที่จำเพาะทั้งการใช้ยาและการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัดร่วมกับการได้รับความสนับสนุนทางด้านจิตใจจากครอบครัว และในต่างประเทศจะมีกลุ่มผู้ป่วยที่หายแล้วรวมตัวกัน คอยให้ความสนับสนุนทางด้านจิตใจแก่ผู้ป่วยและญาติที่เพิ่งเริ่มป่วยด้วย

ปัจจัยป้องกันเพื่อไม่ให้ป่วยเป็นโรค แม้เจอเหตุการณ์สะเทือนขวัญ

ปัจจุบันนี้ได้มีความสนใจกันมากถึงเรื่อง Resilience ซึ่ง รศ.ศิริเพิ่ม เชาวน์ศิลป์ แปลว่า “บุคลิกภาพการปรับตัวเพื่อสู่ความเป็นเลิศ” แต่ผู้เขียนแปลว่า “ความยืนหยัดในการเอาชนะความทุกข์” เพราะเชื่อว่า หากคน ๆ นั้นมี Resilience จะนำไปสู่ Adversity ได้ (ผู้เขียนแปล Adversity ว่าความสามารถในการเอาชนะความทุกข์) หรือที่ Paul G. Stoltz เรียกว่า Adversity Quotient (AQ) ซึ่ง Stoltz เชื่อว่าคนเรามีเพียง IQ กับ EQ ยังไม่พอ ต้องมี AQ ด้วย เพราะเมื่อพบเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์มาก ๆ แล้ว คนที่มี AQ นั้นจะสามารถจัดการกับความทุกข์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ทำให้ประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตและการทำงาน

ได้มีโครงการวิจัยศึกษา Resilience ใน 22 ประเทศทั่วโลก ที่เรียกว่า International Resilience Research Project ผลการศึกษาพบว่า เมื่อเด็กอายุ 9 ขวบไปแล้ว สามารถพัฒนา Resilience ขึ้นได้ในอัตราเดียวกับผู้ใหญ่ โดยไม่พบความแตกต่างระหว่างเด็กหญิงกับเด็กชาย แต่เด็กหญิงจะพึ่งทักษะระหว่างบุคคลมากกว่า ขณะที่เด็กชายจะพึ่งทักษะในการแก้ปัญหามากกว่า ปัจจุบันในต่างประเทศจึงได้มีการคิดค้นโปรแกรม เพื่อให้พัฒนา Resilience ขึ้นในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กที่ได้เผชิญกับภัยพิบัติ

บทส่งท้าย

ประเทศไทยได้พบกับพิบัติภัยมาอย่างต่อเนื่อง น้ำใจของคนไทยต่อเพื่อนร่วมชาติในการช่วยเหลือเฉพาะหน้านั้นได้รับความชื่นชมไปทั่วโลก อย่างไรก็ตามการดูแลแก้ไขและป้องกันในระยะยาวในปัญหาสุขภาพจิตก็ควรจะได้รับความสนใจอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน การศึกษาวิจัยถึงโรคเครียดเฉียบพลันและโรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญนั้น ควรได้รับการสนับสนุนไว้ในลำดับต้น ๆ ทั้งในแง่ของระบาดวิทยา ลักษณะทางคลินิก ปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยป้องกัน โดยเฉพาะการพัฒนาคนไทยให้สามารถยืนหยัดในการเอาชนะความทุกข์(Resilience) และสามารถเอาชนะความทุกข์ (Adversity) นั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์จากพิบัติภัยใด ๆ ก็ตาม