คำเตือน: ถึงคนที่ไม่ควรดูข่าวสึนามิอย่างยาวนาน

.นพ.พิเชฐ อุดมรัตน์

จิตแพทย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญเรื่องคลื่นยักษ์สินามิเป็นต้นมา ได้มีสถานีโทรทัศน์ทุกช่องรายงานข่าวเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยบางสถานีถึงกับหยุดรายการปกติ และรายงานแต่เฉพาะเหตุการณ์สึนามิอย่างเดียวตลอดทั้งวัน จนทำให้ได้รับคำชื่นชมจากประชาชนเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม การบริโภคเสพข่าวสึนามิอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น อาจไม่เหมาะต่อคนบางกลุ่มดังนี้

1.   กลุ่มผู้ป่วยโรคทางจิตเวช ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ผมได้พบผู้ป่วยที่เดิมอาการสงบแล้ว สามารถทำงานได้ตามปกติ และกินยาในขนาดที่ลดลงกว่าเดิม แต่จู่ ๆ ก็เกิดอาการกำเริบขึ้นมาอีก ญาติที่พามาตรวจเล่าให้ฟังว่า ผู้ป่วยติดตามข่าวสึนามิอย่างต่อเนื่องจนดึกดื่น บางครั้งก็ร้องไห้สงสารคนที่ประสบเคราะห์ร้ายเหล่านั้น ญาติไม่ได้สังเกตว่า ในสองคืนที่ติดตามข่าวนั้น ผู้ป่วยลืมกินยาที่เคยกินอยู่ประจำ ในวันที่สาม ญาติเริ่มสังเกตเห็นอาการผิดปกติคือผู้ป่วยเริ่มซึมลง เหม่อลอย ในวันที่ห้า ผู้ป่วยบอกญาติว่ามีภาพตัวเองปรากฏอยู่ในจอทีวีด้วย โดยยืนอยู่หลังคนให้สัมภาษณ์ ญาติเห็นว่าอาการไม่ดีจึงรีบพามาพบผมก่อนวันนัด โดยญาติกล่าวว่า “หนูไม่ได้เฉลียวใจมาก่อน ถ้ารู้อย่างนี้ คงหาทางเปลี่ยนช่องให้เขาดูช่องอื่นบ้าง” ส่วนอีกรายหนึ่งนั้นเป็นโรคกังวลไปทั่ว(generalized anxiety disorder) อยู่เดิม การดูข่าวสึนามิ ทำให้เกิดความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากโรคนี้ผู้ป่วยยังมีความรู้จักตน(insight) ดี ผู้ป่วยจึงเปลี่ยนช่องโทรทัศน์เองโดยเปลี่ยนไปดูรายการบันเทิงของช่องอื่นแทน แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเพิ่มขึ้นจนต้องมาพบผมก่อนกำหนดเช่นกัน

2.   กลุ่มคนที่มีลักษณะเป็นคนตื่นเต้นตกใจง่าย หรือเป็นคนสะเทือนใจง่าย คนกลุ่มนี้ยังไม่ถึงกับป่วยเป็นโรค แต่เป็นลักษณะของคน ๆ นั้นเอง ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน เพราะข่าวหนึ่งอาจทำให้คนอื่นรู้สึกเฉย ๆ หรือเพียงแค่สงสารเห็นใจ ตามปกติ แต่กลับทำให้อีกคนหนึ่ง “อิน” กับข่าวนี้มาก จนเกิดความแปรปรวนของร่างกายและจิตใจได้ชั่วขณะ เราทุกคนควรรู้จักตัวเองในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งเรียนรู้ข้อจำกัด(limit) ของตัวเองในเรื่องปฏิกิริยาตอบสนองทางด้านอารมณ์และจิตใจด้วย

3.   กลุ่มเด็กและผู้สูงอายุบางคนหรือกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคทางกายบางอย่าง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคแผลในกระเพาะอาหาร เพราะความเครียดจากการเสพข่าวที่มากเกินไป อาจทำให้อาการทางกายรุนแรงขึ้น รวมทั้งเด็กที่ยังแยกแยะอะไรไม่ออก ขาดการแนะนำจากผู้ใหญ่ อาจทำให้กลัวทะเลหรือกลัวน้ำ หรือเห็นภาพศพ “ติดตา” ไปจนทำให้นอนไม่หลับ หรือผู้สูงอายุบางคนที่มีปัญหาการนอนอยู่แล้ว แต่กลับติดตามข่าวอย่างมากเกินไปจนอดหลับอดนอน เป็นต้น

                            นอกจากนี้ การได้ดูภาพที่ฉายซ้ำถึงเหตุการณ์คลื่นถล่ม หรือการได้เห็นภาพใหม่ที่ถูกบันทึกไว้ได้จากนักท่องเที่ยวคนอื่นซึ่งทางสถานีโทรทัศน์นำมาฉายให้เห็นนั้นอาจไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเครียดเฉียบพลัน(acute stress disorder) หรือโรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ(posttraumatic stress disorder) เพราะเท่ากับว่าได้เผชิญกับสิ่งที่เตือนความจำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้นขึ้นมาอีก ญาติของผู้ประสบภัยสึนามิจึงควรได้รับคำเตือนให้ระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย

                            เมื่อตอนเกิดเหตุการณ์ “911” ที่ตึกเวิร์ลเทรดโดนเครื่องบินพุ่งชนตกจนไฟลุกท่วมนั้น ทีวีทุกช่องในประเทศสหรัฐอเมริการวมทั้งประเทศอื่น ๆ ได้ฉายภาพนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่หลายวัน กว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญอเมริกันเองออกมาเตือนว่าเป็นการไม่เหมาะสม เพราะจะมีผลกระทบทางด้านจิตใจได้

                            ในฐานะจิตแพทย์ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยที่จะให้ทีวีทุกช่องเสนอข่าวสึนามิเรื่องเดียวอย่างยาวนานต่อเนื่อง เพราะยังมีกลุ่มผู้ชมอีกจำนวนมากที่เป็น “กลุ่มเสี่ยง” ที่จะได้รับผลกระทบจากการเสพข่าวนี้ ควรมีทีวีเพียงบางช่องเท่านั้นที่ทำหน้าที่เป็นสถานีข่าว และควรมีทีวีช่องอื่นบ้างที่ยังเสนอรายการตามปกติ ซึ่งก็พบว่าหลายรายการที่นำเสนอก็ขึ้นตัวหนังสือแสดงความเสียใจต่อผู้ประสบภัย และแจ้งว่ารายการนั้นได้บันทึกเทปไว้ล่วงหน้าแล้ว ส่วนช่องที่เป็นสถานีข่าวก็ควรขึ้นคำเตือนให้กับกลุ่มเสี่ยงหรือญาติของกลุ่มเสี่ยงให้ได้ทราบไว้ด้วย

                            หากเปรียบข่าวสารเป็นดั่งเช่นดอกไม้ โลกใบนี้ที่สวยงามก็มิใช่เพราะมีดอกไม้เพียงชนิดเดียว     สีเดียว หากเป็นเพราะมีความหลากหลายของมวลบุปผานานาชนิดต่างหาก มนุษย์เราจึงควรรู้จักตนเอง (หรือมีคนใกล้ชิดคอยช่วยดูแลสังเกตให้) ว่ารักและชอบที่จะสูดดมกลิ่นดอกไม้ชนิดใด เป็นเวลาเนิ่นนานเท่าใด แต่อย่าให้สำลักกลิ่นบุปผา(หรือเสพข่าวสาร) เสียจนไม่มีเวลาให้กับภารกิจอื่น ๆ .

_________________________________________________________