ความคิดเห็นทั้งหมด : 13

ต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้




   "ต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้"
เป็นชื่อหนังสือเล่มล่าสุดที่ผมหามาอ่าน เขียนโดยคุณบัณฑิต อึ้งรังสี(อาจเคยเห็นในโฆษณา คนไทยทำอะไรไม่แพ้ชาติใดในโลก) เป็นการเขียนเล่าประสบการณ์ของตนเองจนถึงจุดที่คิดว่าประสบความสำเร็จในชีวิต น่าเอาเป็นแบบอย่าง เรามีคนเก่งเยอะแต่ยังไม่เอาความสามารถมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ถ้าเริ่มต้นคิดแล้วก็บอกว่า มันทำไม่ได้หรอก ผมว่ามันก็จบแค่นั้น น่าจะลองสู้เต็มที่สักครั้งให้มันรู้กันไปเลยว่าเราทำได้หรือไม่ได้
ลองทำดูนะครับ แล้วคุณจะรู้ว่าความรู้สึกขณะที่เดินหลังจากที่รู้เป้าหมายของชีวิตที่ชัดเจนแล้วนั้น มันมันส์แค่ไหน


Posted by : Megumi , Date : 2006-09-30 , Time : 07:17:32 , From IP : 172.29.7.116

ความคิดเห็นที่ : 1


   เห้นด้วยๆๆๆ

Posted by : ทสสืท , Date : 2006-09-30 , Time : 10:14:56 , From IP : 192.168.26.51

ความคิดเห็นที่ : 2


   ผมก็เป็นที่หนึ่ง หึหึหึ

Posted by : ทักษิณ , Date : 2006-09-30 , Time : 12:00:20 , From IP : 172.29.4.246

ความคิดเห็นที่ : 3


   มีหนังสืออีกเล่มที่แนะนำครับ

" The Magic of Thinking Big"
ลองหามาอ่านดูครับ


Posted by : Rookies , Date : 2006-10-01 , Time : 10:29:42 , From IP : 172.29.5.29

ความคิดเห็นที่ : 4


   ยังไม่ได้อ่านทั้ง 2 เล่มค่ะแต่สงสัยมาตั้งแต่ไปดูหนังเรื่อง"เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย" ตอนที่หนูดาวบอกป้อมว่าเธออยากได้ "A คนแรก"
เพราะ เพื่อ อะไร ทำไมต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้?

ส่วนเรื่องเริ่ม กับ ลอง นั้น เห็นว่าน่าสนใจทีเดียว


Posted by : Lucifer , Date : 2006-10-02 , Time : 02:09:27 , From IP : 172.29.4.161

ความคิดเห็นที่ : 5


   ผมยังไม่ได้อ่านเช่นกันครับคุณลูซิเฟอร์ แต่ทราบจากความข้างบนว่าคุณลูซิเฟอร์ได้ชมภาพยนต์เรื่อง เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย แล้ว และได้ตั้งคำถามกับเนื้อหาไว้ จึงใคร่เข้ามาขอแลกทัศนะ

ภาพยนต์เรื่องนี้เป็นหนึ่งในผลงานของผู้กำกับเลือดใหม่ซึ่งจับตลาดแนวกว้างโดยอาศัยเนื้อหาที่ง่ายต่อการเสพรับ ผสานเข้ากับเทคนิคในการสร้างให้งามคล้ายกับที่เราคุ้นในงานภาพยนต์โฆษณา หนังไทยหลายเรื่องทำได้ดีในสองส่วนนี้ ในขณะเนื้อหากลวง

แต่เปล่าครับ หนังเรื่องนี้ไม่กลวงเปล่าอย่างที่หลายท่านซึ่งยังไม่ไปชมปรามาสไว้ในใจ ด้วยเห็นติดฉลากว่าเป็นหนังไทย ซ้ำร้ายเป็นหนังวัยรุ่น

ผมคิดว่าผู้สร้างควบคุมแก่นหลักที่ต้องการสื่อสารได้ดีตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบ คล้ายกับที่เราเคยดู ขึ้นสิบห้าค่ำเดือนสิบเอ็ด ของคุณจิระ แก่น (theme) ของภาพยนต์เรื่องนี้น่าจะอยู่ที่ การค้นหาตัวเองของมนุษย์ในวัยค้นหา หนังดำเนินเรื่องผ่านเรื่องราวของชีวิตนักเรียนในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ผ่านการเปลี่ยนแปลงของฤดู และผูกเรื่องทั้งหมดเข้ากับเพลงได้อย่างสวยสม

คุณลูซิเฟอร์อาจจะเห็นเช่นเดียวกับผมว่า เด็กอย่างดาวนั้น แม้จะดูเป็นผู้ดีและบอบบาง แต่เธอมีความมุ่งมั่นและทะเยอทะยานที่จะเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียง ผิดกับอ้อม ที่ดูคล้ายเป็นหญิงแก่นและมั่นใจ เธอกลับต้องเป็นฝ่ายค้นหาตัวตนของเธอ และมาพบทีหลังว่า เธออาจจะเหมาะกับดนตรีในภาคทฤษฎีมากกว่า ส่วนป้อมนั้นเป็นตัวแทนที่ดีของ "เด็กไทยไร้ราก" ที่ไม่ทราบแม้แต่ว่าชีวิตควรจะมีเป้าหมาย และเขาถึงวัยที่จะต้องตั้งคำถาม แต่ผมก็รู้สึกรักป้อมในวิธีที่เขาปฏิบัติต่อครอบครัว ต่อครู ถึงป้อมจะดูโหลยโท่ยและรั้น แต่เขาก็ยังมีใจที่จะฟังป๊า

ผมรักในความงามของครอบครัวร้านชำของป้อม

หนังสรุปและขมวดปมในตอนท้ายได้อย่างลงตัวและเข้าใจได้ และยังมีภาคขยายเผื่อความไม่เข้าใจไว้ตอนที่ขึ้นเครดิต

กลับมาที่เรื่องหนังสือ ผมแนะนำคุณลูซิเฟอร์ว่า วันไหนฝนไม่ตกและมีแดดอุ่น ลองขี่รถเครื่องเข้าเมืองไปหา "ความสุขของกะทิ" มาอ่าน คุณลูซิเฟอร์อาจจะรู้สึกเหมือนผมว่า เรายังอาจตั้งความหวังกับวรรณกรรมไทยได้อีกไกลโข


Posted by : Shonigega , Date : 2006-10-03 , Time : 16:37:37 , From IP : pedsurg.med.osaka-u.

ความคิดเห็นที่ : 6


   ไม่เจอเกือบเดือน คุณ Shonigega ปรับตัวกับ "การเปลี่ยนแปลงของอากาศ" ได้ดีแล้วหรือคะ หวังว่าคงจะ....สบายดี....

ทีแรกก็ปรามาสหนังไทยเรื่องนี้ไว้ก่อนเหมือนหลายๆ คน เกือบจะไม่ไปดู ด้วยเหตุเคยไม่ชอบใจเรื่อง "เพื่อนสนิท" เท่าไรนัก ยังไม่วิจารณ์เองแล้วกันนะคะ แต่ขอให้ลองอ่านบทวิจารณ์ข้างล่างนี้สักหน่อย เอามาจาก
http://www.manager.co.th/entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000114033 ความเห็นที่ 90

Season changes , เมื่อ"เพื่อนสนิท"กลายมาเป็น"แฟนฉัน"ในวันที่"อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย"

.....มีเครื่องดนตรีสองชิ้นในวงออเคสตร้า ที่บางเพลงนั้น ตลอดทั้งเพลงได้เล่นครั้งเดียวในตอนจบ คือ ฉาบของอ้อม และ ทิมพานีของป้อม

ป้อม ไม่เข้าใจ อ้อม ว่าทำไมถึงชอบเล่นในวงนี้ ทั้งที่ตลอดทั้งเพลงได้เล่นแค่ครั้งเดียว

อ้อมตอบกลับมาว่า “ไม่เห็นต้องได้เล่นเลย ขอแค่ฟังเฉยๆก็มีความสุขแล้ว”

ความสุขของการเล่นดนตรีของอ้อม ก็สะท้อน ความสุขของความรักของตัวเธอ ที่แค่ได้รักก็สุขใจ

ความรักของคนบางคน คือ การมีความสุขที่ได้ทำอะไรเพื่อคนที่ตัวเองรัก ได้แสดงความห่วงใย ได้เอาใจใส่ และ ได้เห็นคนที่ตัวเองรักมีความสุข แม้รู้ว่าจะไม่ได้ครอบครองก็ตาม

จึงไม่น่าแปลกใจ ว่าเพราะอะไร ป้อมกินข้าวกับอ้อมแค่ครั้งเดียว อ้อมจึงรู้ทันทีว่าป้อมไม่กินผัก และ อ้อมไม่เลือกกับข้าวที่มีผักมากินร่วมกัน ในขณะที่ ดาวกินข้าวกับป้อมมาหลายมื้อก็ยังไม่เคยรู้เลยว่า ป้อมไม่กินผัก

และ ในฉากตอนท้ายที่ ดาว มาบอกป้อมว่า “ไม่กินผักทำไมไม่บอก”

สิ่งที่ผมเติมในช่องว่างส่วนที่หายไปในหนัง คือ ความคิดที่ว่า ถ้าไม่ใช่อ้อมเป็นคนบอก ดาวจะรู้ได้อย่างไร

คำถามที่อาจเกิดตามมาคือ แล้วอ้อมจะบอกไปเพื่ออะไร

จากที่เล่าไว้ข้างต้น เมื่อเรารู้จักอ้อม เราก็จะเข้าใจได้ว่า ความสุขของอ้อมไม่ใช่การได้ครอบครอง เหมือนดังเช่น เกียงวู พระเอกใน My sassy girl ที่บอกกฎ 10 ข้อของนางเอกที่เขารัก ให้กับชายที่จะมาดูแลเธอถัดไป จะได้ดูแลเธอให้ดีที่สุด ยามเขาไม่ได้อยู่ข้างกาย

หนึ่งในความรักที่ยิ่งใหญ่คือ ความรักที่พร้อมที่จะให้และได้เห็นคนที่เรารักมีความสุข แม้ว่าเขาจะไม่ได้เลือกเราเป็นคนที่อยู่ข้างกาย

...นอกจากนี้ อ้อมยังเป็นคนที่รู้ว่าหัวใจตัวเองต้องการอะไร และ เธอก็พร้อมที่จะแสดงออกถึงสิ่งที่หัวใจเธอเรียกหาอย่างชัดเจน ไม่ปิดบัง แต่หากไม่ได้รับกลับมาก็มิได้คิดรุกรานแย่งชิงใคร

เช่น การที่อ้อมเก็บร่มไว้เพราะต้องการจะเดินออกไปกลางฝนพร้อมกับป้อม , เธอตอบตกลงที่จะไปทำรายงานกับป้อมโดยที่เขายังชวนไม่ทันจบคำ และ การที่เธอเลือกจะไปชิงทุนนัยหนึ่งก็คือการต่อสู้เพื่อความรักของตัวเอง แม้จะรู้ว่าตัวเองเล่นเพี้ยนเพียงใด เป็นการบอกเล่าตัวตนของอ้อมอย่างชัดเจน

อ้อม คือคนที่สามารถเข้าใจ และ รู้ใจตัวเองได้ดี ชนิด หลับตาก็รู้เมโลดี้หัวใจ เหมือนกับตอนที่ครูสอนในห้องเรียน ที่หลับตาก็ยังรู้เสียงโน้ตดนตรี

ความสามารถที่รู้ใจตัวเองและเดินทางตามเสียงของหัวใจ ตรงจุดนี้ของเธอก็เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับป้อมอย่างสิ้นเชิง

แต่ป้อมก็ไมได้ผิดอะไร เพราะ ในวัยของป้อมก็ตรงกับช่วงวัยที่ Erik Erikson นักจิตวิทยา บรรยายไว้ว่า วัยรุ่นตอนต้นคือช่วงวัยที่แต่ละคนต่างก็กำลังแสวงหาอัตลักษณ์หรือตัวตน เป็นวัยที่ต้องควานหาความชอบ ความรัก ความสนใจ โดยไม่ได้มีพ่อแม่บังคับชี้ทางเหมือนวัยเด็กอีกต่อไป และ หลายๆคนยังไม่พบว่า ตัวเองนั้นรักหรือชอบอะไร

หลายคนเลือกเรียนตามเพื่อน เลือกเรียนตามแฟน เลือกเรียนตามชื่อเสียงมหาวิทยาลัย

หลายคนยื่นใบสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้วยังกลับมาคิดว่า เราชอบจริงๆหรือเปล่า แม้แต่บางคนที่เข้าไปเรียนปีหนึ่งคำถามที่เจอบ่อยๆคือว่า นี่คือสิ่งที่เราชอบจริงๆหรือนี่

...ตั้งแต่ต้นเรื่องป้อมไม่เคยตอบคำถามที่ต้องเลือกได้เลยว่า

ป้อมเลือกมาเรียนดนตรีเพราะ รักในดนตรี หรือ เพราะตามหญิงมา

ป้อมรักการตีกลองชุด หรือ ชอบการตีทิมพานี

ป้อมอยากไปบูดาเปสต์จริงๆหรือ

เวลาถูกถาม ป้อมไม่เคยตอบคำถามในเรื่องแม้แต่ครั้งเดียว ครั้งแรกที่เขาตอบคำถามของความชอบได้เต็มปากเต็มคำ ก็คือตอนใกล้จบที่ เขาตอบพ่อว่า เขารักการเล่นดนตรี

หลายครั้งที่เราตอบ ความชอบตัวเองไม่ได้ เพราะเราใช้หัวใจของเราน้อยเกินไป

และ ป้อม ก็เป็นเช่นนั้น

ป้อมมีภาพของดาวที่ทำให้ตัวเองเดินก้าวเข้ารั้วโรงเรียนดนตรี เขาเองไม่รู้ตัวว่า เขาเพลิดเพลินกับการเล่นดนตรีมากเพียงใด แม้จะไม่มีดาวก็ตาม

ป้อมเลือกเข้าวงออเคสตร้า เขาเองไม่รู้ตัวว่า เขาสนุกกับการเล่นกลองชุดชนิดทำให้คนรอบตัวสนุกไปด้วยได้มากขนาดไหน

ป้อมเชื่อว่าตัวเองชอบดาว โดยไม่รู้ตัวว่า เขาไม่ต้องพยายามทำอะไรมากมายเขาก็มีความเย็นสบายในใจเมื่อได้อยู่ใกล้อ้อม

...บางครั้งคำตอบของความชอบ ไม่จำเป็นต้องใช้เหตุผลอะไร เหมือนอย่างทีอาจารย์ตอบป้อมว่า เขาเลือกอยู่กรุงเทพก็เพราะชอบ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น แต่ป้อมเองนั้น ใช้ความรู้สึกของตัวเองน้อยเกินไป เขาใช้งานหัวใจตัวเองน้อยเกินไป เขาจึงไม่สามารถตอบได้เต็มปากเต็มคำ และ ก็เหมือนอีกหลายๆคนอีกเช่นกัน ที่ความชอบหรือความรู้สึกตัวเองนั้น ถูกบิดเบือนหรือบดบังด้วยบริบทภายนอก

ปมนี้ในตัวป้อมไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในการเลือกเล่นดนตรี ตัวละครสองสาว คือ อีกทางเลือกที่ป้อมต้องหาคำตอบให้กับชีวิตตัวเอง

ดุจดาว เป็นหญิงสาวที่เป็นดั่งภาพฝัน(ideal) เธองดงาม เธออ่อนโยน เธอเล่นดนตรีได้ไพเราะ

อ้อม เป็นหญิงสาวที่เหมือนเพื่อนสนิท เธอสนุกสนาน เธอจริงใจ แม้เธอจะเล่นดนตรีไม่ได้เรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่เธอรู้เรื่องเป็นอย่างดี คือ เรื่องของหัวใจตัวเองและเรื่องของป้อม

...หาก ดุจดาว เปรียบดังวงออเคสตราที่เขาเลือกเข้ามาร่วมวงด้วยพร้อมกับความไม่มั่นใจว่าตัวเองชอบหรือไม่ อ้อม ก็เป็นเหมือนกับกลองชุด ที่เวลาเขาเล่นแล้วมีความสุขและสนุกสบายใจ

จริงที่ ดาวดึงป้อมมาสู่โลกของดนตรีคลาสสิค แต่ช่วงเวลาที่อยู่กับดนตรีคลาสสิคแล้วป้อมรู้สึกสนุก ก็เพราะมีอ้อม ความสุขในวงออเคสตร้าที่เกิดตามมาของเขาไม่ใช่การได้เล่นทิมพานี แต่คือการมีอ้อมอยู่ข้างกาย

ดาวเป็นเหมือนภาพฝันของป้อม แต่อ้อมคือความสุขแท้จริงที่ป้อมสัมผัสได้เมื่ออยู่ด้วย การอยู่กับอ้อมเป็นความรู้สึกสบายใจ เป็นความรู้สึกสุขใจ แต่ความรู้สึกนั้นถูกบดบัง ด้วยภาพฝันที่อยู่ในความคิดที่ติดค้างมาจากแต่ก่อน นั่น คือ ดาว

...หากมองด้วยตาแน่นอนว่า เขาต้องมองเห็น ดาว แต่ หากใช้ใจมอง เขาจะไม่แปลกใจแม้แต่น้อย หากเขาจะเห็นภาพอ้อมเต้นรำตามโน้ตของเพลงคลาสสิคในห้องฝึกซ้อม ภาพอ้อมยื่นปากกาไฮไลท์สีชมพู ภาพอ้อมตีฉาบอยู่ข้างๆ ภาพอ้อมเดินใต้ร่มคันเดียวกันวันฝนตก ภาพเขากับอ้อมนั่งกินข้าวอย่างรู้ใจ ภาพที่เขาจะเห็น จะมีอ้อมเพียงคนเดียว

... และ ถ้าเขาใช้ใจมอง เขาก็จะเห็นภายในใจของสองสาวนั้นที่แตกต่างกัน

ดาวชอบป้อม แบบผิวเผิน คือ ได้โทรปลุก กินข้าว พูดคุย ชอบมีเพื่อนๆเย้วๆ แซวๆ แต่ไม่ถึงกับนอนคิดถึง และ ถ้าต้องจากกันก็ไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดอะไร เป้าหมายเธอคือการเล่นดนตรีให้เก่งที่สุดในแถวหน้า เพราะดนตรีคือปลายทางของหัวใจเธอ

อ้อมชอบป้อม แบบลึกซึ้งผูกพัน ปลายทางของหัวใจอ้อมจะต่างจากดาว เพราะปลายทางของหัวใจอ้อมไม่ใช่ดนตรีแต่คือป้อม ดังจะเห็นตัวอย่างตั้งแต่เรื่องกินผัก ที่ดาวไม่เคยรู้เลย , การต่อสู้เพื่อให้ได้อยู่กับป้อมเช่นร่ม หรือ ตอนท้ายที่รู้ว่าตัวเองก็คงเล่นดนตรีชิงทุนไม่ได้แต่ก็เลือกที่จะทำ

...เช่นเดียวกับการเลือกเป้าหมายชีวิต หากเขาใช้ใจตอบมากกว่าตาหรือสมองสั่ง เขาก็จะรู้ว่าตัวเองอยากไปหรือไม่อยากไปบูดาเปสต์ และ เขาก็รู้จักหัวใจตัวเองในตอนที่เกือบจะสายไป

เพราะในวันนี้หากเขาจะไปบูดาเปสต์ ก็เหมือนกับการไปตามภาพฝัน ไม่ได้ไปเพราะใจรัก หลายๆคนที่เลือกการใช้ชีวิตเช่นนี้ เมื่อพบว่า ภาพฝันพังครืน ชีวิตก็พังทลาย เพราะไม่ได้มีเป้าหมายที่แท้จริงของตัวเอง

สำหรับป้อม วันข้างหน้าเขาอาจสอบชิงทุนอีกสักครั้งเพื่อจะไปบูดาเปสต์ด้วยความตั้งใจใฝ่ฝัน อยากไปเพราะใจรักและอยากไปหาประสบการณ์ที่นั่น แต่นั่นไม่ใช่ความรู้สึกของเขาในวันนี้ วันนี้เขาเลือกจะอยู่ต่อเพราะรู้ว่า สิ่งที่เขาชอบมากกว่า สิ่งที่หัวใจตัวเองต้องการมากกว่า คือ การได้อยู่ที่เมืองไทยต่อไป ที่มีพ่อแม่ เพื่อน และ อ้อม อยู่ข้างกาย

…นอกจากในมุมของป้อม (ความสับสนและไม่แน่ใจของวัยรุ่นที่กำลังได้เรียนรู้จักกับ ทางแยกของชีวิต) และ ในมุมของอ้อม (ความรู้สึกแอบชอบคนใกล้ตัวโดยมิได้หวังแย่งชิง สามฉากที่ชอบมากในส่วนนี้ ฉากร้าวรานใจของอ้อม ที่ได้พบพบปากกาไฮไลท์สีชมพู ที่กลับมาแล้วพบว่าไม่มีป้อมตีฉาบให้ และ ฉากซ้อนจักรยานตอนท้าย)

ยังมีอีกมุมหนึ่งในหนัง Seasons Change ที่ทำให้ผมตกหลุมรัก มุมที่ไม่ใช่แค่เรื่องความรักของหนุ่มสาว ไม่ใช่แค่เรื่องการวิ่งไล่หาความฝันของวัยรุ่น แต่เป็น ความสัมพันธ์ของพ่อ-แม่-ลูกในหนัง คือ หนึ่งส่วนเล็กๆที่นำเสนอได้ดีและดีกว่าหนังหลายเรื่องๆที่เคยสร้างมาเสียด้วยซ้ำ

... อาจเป็นเพราะผมเป็นลูกคนเดียวเหมือนป้อม อาจเพราะความฝันของผมกับป้อมนั้นเหมือนกันตรงที่ตรงข้ามกับความฝันของพ่อ แม้การเลือกของป้อมกับของผมนั้นจะตรงข้ามกัน แต่ สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้เหมือนกันทั้งจากในหนังและชีวิตจริงคือ ความรักที่พ่อแม่มีให้กับลูก

แม้ลูกจะโตเพียงใด พ่อแม่หลายๆคนก็ยังอยากที่จะปกป้องดูแลให้ถึงที่สุด และ อยากเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดให้กับลูก แต่เส้นทางนั้นอาจไม่ใช่เส้นทางที่ลูกอยากจะเดิน หากเป็นการเลือกในวัยเด็กที่เด็กยังไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง(autonomy)เกิดขึ้น พ่อแม่ก็ควรจะเป็นคนเลือกให้ แต่เมื่อไรก็ตามที่เด็กกำลังจะก้าวข้ามวัยไปเป็นผู้ใหญ่ หากเป็นเส้นทางที่ไม่ได้ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม พวกเขาก็ควรจะเรียนรู้ที่จะเลือกด้วยตัวเองและต้องเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบผลได้-เสียของทางเลือกนั้นด้วยตัวเอง เหตุผลก็เป็นเพราะประโยคที่เพื่อนของพ่อป้อมบอกไว้ว่า "เราอยู่กับลูกไม่ได้ตลอด แต่ลูกจะอยู่กับสิ่งที่เค้ารักตลอดชีวิต"

พ่อของป้อมตัดสินใจได้ เมื่อแม่ของเขาได้มาบอกไดอะล้อกที่สั้นๆในฉากที่เฉียบคมทั้งคำพูดทั้งมุกที่หยอด เมื่อแม่มาบอกพ่อพร้อมน้ำในมือว่า

"คนเราอะนะ อะไรที่ควรจะห้ามก็ไม่รู้จักห้าม
เด็กมันไม่กินผัก ก็ปล่อยมันไม่กินอยู่นั่นแหละ
แล้วพอมันโตขึ้น อยากจะเรียนอะไร
ก็จะไปห้ามมัน"

พ่อของป้อมได้เรียนรู้ว่า ความรักของตัวเองไม่ใช่สิ่งที่ผิด การเลือกของลูกก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพียงแต่เมื่อถึงเวลา มันก็จำเป็นที่จะต้องยอมเห็นลูกของตัวเองเลือกทางที่ตัวเองรัก แม้ทางนั้นจะเสี่ยงและมีสิทธิหกล้มกลางทาง มันก็จะเป็นการที่ป้อมได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง

ฉากพ่อแม่ผิดหวังน้อยใจไม่พูดกับลูก , ฉากแม่บอกลูกให้เอานมไปเผื่อเพื่อน , ฉากที่ป้อมกลับมาแล้วไม่กล้าบอก ฉากที่ป้อมบอกสุขสันต์วันปีใหม่ , ฉากที่พ่อกับป้อมนั่งด้วยกันในศาลายา เป็น ภาพของความผูกพันในครอบครัวที่อบอุ่นและสวยงามมากๆเรื่องหนึ่ง ต้องชม คนเขียนบทที่สร้างคาแรคเตอร์พ่อแม่ได้อ่อนโยน นุ่มนวล ละมุนละไม ไม่ฉูดฉาด และ สองนักแสดงที่มารับบทพ่อกับแม่ ก็สามารถถ่ายทอดความห่วงใยออกมาได้ทั้งจากบทสนทนา สายตาและภาษาท่าทาง

...ความรักความชอบของเด็กหนุ่มสาวใน Season changes เป็นเหมือน เรื่องราวของคนในฝันกับคนใกล้ตัว มีหนังหรือละครหลายเรื่องที่เล่าเรื่องราวในลักษณะนี้ เช่น หนังเรื่อง Win a Date with Tad Hamilton! หรือละคร exact ช่อง 5 ไม่กี่ปีก่อน (ที่ปิ่นเล่นกับพีทและชาคริต) ที่ ตัวเอกนั้นมีใครบางคนป็นภาพของคนในฝัน และ สุขใจกับการได้ฝันถึงใครคนนั้น แต่ เมื่อได้ใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว กลับพบว่า เราไม่ได้มีความสุขกับคนในฝันบนโลกของความจริง พาลพาให้คิดว่า แล้วความสุขที่แท้จริงคืออะไร

ตัวละครเหล่านั้นลืมไปว่า ความสุขที่แท้จริง มันต้องสัมผัสได้จากภายในใจ ไม่ใช่ การคิดหรือฝันถึง

เหมือนกับตอน ป้อมถามว่า อ้อมมีความสุขกับออเคสตร้าได้อย่างไร ในเมื่อเธอมีส่วนร่วมแค่ตีฉาบตอนจบเพลงแค่ครั้งเดียว อ้อมตอบกลับไปว่า บางครั้งแค่อยู่เฉยๆก็สุขใจ คำตอบนี้นอกจากสะท้อนตัวตนและความรักของอ้อมแล้ว ยังจะช่วยทำให้ป้อมได้รู้ว่า ทำไมป้อมอยู่กับดาวมีช่วงเวลาดีๆร่วมกันมากมาย กลับไม่สามารถรู้สึกอิ่มอุ่นหรือสุขใจเท่าแค่การได้อยู่เฉยๆเดินตากฝนด้วยกันกับอ้อม

เราอาจมีความสุขกับการได้ฝันถึงคนในฝัน แต่ ในโลกของความจริง ความสุขแท้จริงนั้นอาจอยู่ใกล้ๆตัว เพียงแค่เรามักกลับมองข้ามไป เพราะเรามองไปแต่ที่ความฝันซึ่งความสุขนั้นไม่ได้ตามมาสู่โลกของความจริง และ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการที่เราใช้ตามองความรักมากกว่าใช้ใจสัมผัส

คุณ Shonigega คิดว่าอย่างไรคะ ... คือ ... ยังหาข้อโต้แย้งไม่ได้ค่ะ เลยยังไม่คิดจะวิจารณ์เอง


Posted by : Lucifer , Date : 2006-10-03 , Time : 21:34:27 , From IP : 172.29.4.196

ความคิดเห็นที่ : 7


   อ้อ ... สัญญาว่าจะกลับไปที่ "ต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้" แน่นอน ค่ะ
ไม่ได้ชวนออกนอกเรื่องเลยแม้แต่นิดเดียว








Posted by : Lucifer , Date : 2006-10-03 , Time : 22:05:33 , From IP : 172.29.4.196

ความคิดเห็นที่ : 8


   สงสัยครับว่า Season changes นี่ ที่ Osaka เขาฉายกันแล้วหรือครับ หรือพี่ Shonigega แอบหนีมาดูเมืองไทย ไม่บอกใคร และ คงไม่ใช่ .....

Posted by : Dhan , Date : 2006-10-04 , Time : 00:30:45 , From IP : 172.29.3.224

ความคิดเห็นที่ : 9


   ขอบคุณครับคุณลูซิเฟอร์ที่คัดบทวิจารณ์มาให้อ่าน แต่จะขอบคุณมากกว่านี้หากคุณลูซิเฟอร์แบ่งปันมุมมองส่วนตนมาบ้าง ในบทวิจารณ์ ผู้เขียนวิเคราะห์ "ตัวตน" ของอ้อมผ่านเรื่องของความรัก ได้อย่างลุ่มวึกและชวนให้ผมกลับไปทบทวนอีกครั้ง

ผมมีความเห็นที่คล้ายกันในเรื่องการให้เหตุผลง่าย ๆ เพื่อตอบคำถาม What are you doing, Why? ซึ่งเป็นคำถามในใจยอดฮิตของวัยหาความหมาย เหตุผลนั้นง่ายที่จะพูด "ก็เพราะผม(ฉัน)ชอบ มันไงล่ะ" แต่ก่อนหน้าที่จะหาพบว่า "มัน" ที่ว่านี้สำหรับตัวตนที่มีความต่างของแต่ละปัจเจก คืออะไร บางคนก็ใช้เวลาค้นหาอยู่ชั่วชีวิต นอกจากในตัวละครหลักสามตัวที่เรากล่าวไปแล้ว เราพบประโยคที่ผมใส่ฟันหนูไว้ อยู่ใน

คำตอบของป๊า ตอนที่ป้อมถามว่า ป๊าชอบขายของชำจริง ๆ หรือ

คำตอบของอาจารย์ชาวญี่ปุ่น ตอนที่ป้อมถามว่า ทำไมจารย์ถึงเลือกมาอยู่เมืองไทย

และวิถีของตัว motive อีกสองตัวคือฉัตรและเชิด กับการรักที่จะเลือกเล่นดนตรีแบบแนว ๆ

หนังเรื่องเดียวกัน มองด้วยแว่นตาต่างกรอบ ก็อาจจะเห็นแง่มุมที่ต่าง และเมื่อเราเขยิบแบ่งที่ในใจของเราให้ว่างสำหรับความต่าง เราก็จะได้เรียนมากขึ้น นี่เป็นเหตุผลที่ผมขออ่านทัศนะของคุณลูซิเฟอร์

จากเด็กชายป้อม กลับมาที่อาจารย์ป้อม คุณบัณฑิต และไม้บาตอง ผมดูหนังเรื่องนี้ที่กรุงเทพฯครับ ช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมาเป็นเดือนแห่งการเดินทาง ผมได้มีโอกาสไปมาเพื่อไปดูบ้าง ไปพูดบ้างอยู่หลายเมือง แต่ทุกครั้งที่จะเปลี่ยนเส้นทาง ก็จะกลับไปตั้งหลักที่กรุงเทพฯ เสมอ ผมอาจจะเหมือนเด็กชายป้อม ที่การค้นหายังไม่หยุด แต่อาจารย์ป้อมเชื่อไหมครับ ผมพบอะไรอย่างหนึ่ง ที่คล้ายกับการจับไม้บาตองของคุณบัณฑิต

ผมว่านะ ในชีวิตของการเป็นหมอผ่าตัด ไม่ว่าคุณจะผันไปทำอะไรหลายอย่าง เดินทางค้นหาไปหลายแห่ง แต่ที่และขณะซึ่งคุณจะมีความสุขกับงานและมีความภาคภูมิใจมากที่สุด คงหนีไม่พ้นเวลาที่คุณล้างมือเข้าไปยืนหน้าเตียงขาเดียว และแสดงบทวาทยากรด้วยมีดในมือคุณนั่นแหละ

ว่ามะ



Posted by : Shonigega , Date : 2006-10-04 , Time : 13:13:34 , From IP : pedsurg.med.osaka-u.

ความคิดเห็นที่ : 10


   ในฐานะคนดู ภาพของดุจดาวก็ดูเลือนๆ อย่างภาพฝันในบทวิจารณ์ข้างต้นนั่นแหละค่ะ
เราไม่ได้รู้จัก “ตัวตน” ของ ดุจดาวดังเช่นที่เรารู้จัก “อ้อม”ส่วนคนที่เรารู้จักดีที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ “ป้อม”

การที่คิดว่าเรา ... รู้จักดุจดาว ... เป็นเพียงการเติมคำลงในช่องว่างตามที่จินตนาการเปิดทางให้เท่านั้น
ดุจดาว... ของสูง ... มองขึ้นไปไกลๆ เธอดูสมบูรณ์แบบ เราไม่เคยเห็นข้อบกพร่องหรือความผิดพลาดใดๆ ในตัวตนของดุจดาวเลย เธอเพียบพร้อมด้วยรูปสมบัติ คุณสมบัติ เธอมีความมานะทะเยอทะยาน และเธอ “ได้” อย่างที่เธอต้องการ ความประทับใจที่มีต่อดุจดาวนั้นเป็นเพียงเงาสะท้อนความพึงพอใจในภาพฝันที่เราต่างจินตนาการว่าเธอมีและเป็น หาได้เป็นสิ่งที่เธอแสดงให้เราเห็นว่าเธอมีและเป็นไม่ เช่น การตีความความต้องการ “เป็น A คนแรก” สิ่งที่ตัวบทแสดงให้เราเห็นมีเพียงความพยามเพื่อที่จะเป็น “ที่หนึ่ง” ให้ได้ ในหนังไม่มีตอนไหนเลยที่แสดงถึงที่มาที่ไป หรือสิ่งที่เชื่อมโยงกับความเป็น A คนแรก ไม่มีแม้แต่ผลที่เกิดจากการเป็น A คนแรก ทำให้คุณค่าของการเป็นที่หนึ่งในสิ่งที่หนังพยายามสื่อถึงความตั้งใจอย่างมั่นคงของดุจดาวดูกลวงไปอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ดี ในเมื่อ ดุจดาว ถูกสร้างขึ้นในฐานะของ ภาพฝัน ตัวบทก็ทำหน้าที่ได้ดีในการสื่อให้เกิดการเปรียบเทียบกับภาพของความเป็นจริงซึ่งสะท้อนผ่าน อ้อม กับมุมมองความรักของเธอทั้งที่เป็นความรักป้อม และความรัก ดนตรี

ผู้หญิง สอง คน เลือกที่จะเดินบนเส้นทางของดนตรี เธอทั้งสองถูกกำหนดให้เกิดการเปรียบเทียบที่ไม่สามารถประเมินคุณค่าจากการเทียบได้ เนื่องด้วย หนึ่งคนเลือกที่จะเป็นคนเล่น อีกหนึ่งเลือกที่จะเป็นคนสร้าง “ดนตรี”
ความสามารถของดาวในการเล่นไวโอลิน ถูกนำเสนออย่างเด่นชัดทั้งในการถูกเลือกให้เป็นผู้เล่นนำ การเป็นหนึ่งใน 2 ของทุนเรียนต่อที่บูดาเปสต์ ในขณะที่อ้อมถูกลดชั้นเครื่องดนตรีลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือแค่การตีฉาบในครั้งสุดท้ายเมื่อจบเพลง มองเผินๆ ก็เป็นไปตามนิยามของเธอ “เก่งทฤษฎี แต่เล่นดนตรีเพี้ยน” หากแต่เมื่อพิจารณาสิ่งที่ตัวบทเขียนให้เธอมีและเป็นแล้วจะพบว่าไม่ได้กลวงเปล่าอย่างความตั้งใจของดาว อ้อมแน่ใจสิ่งที่เธอมี คือ ความเข้าใจในธรรมชาติของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด ความรู้ความชำนาญในการอ่านตัวโน้ตจนสามารถรังสรรค์ท่วงทำนองของ “seasons changed” ได้ในตอนท้ายของเรื่อง เธอแน่ใจในสิ่งที่เธอเป็นผ่านประโยคที่ว่า “ไม่เห็นต้องได้เล่นเลย ขอแค่ฟังเฉยๆก็มีความสุขแล้ว” ความสุขในการมีและเป็นของผู้หญิงสองคนต่างกันเพราะเธอต่างมีเป้าหมายที่จะมีและเป็นต่างกัน ส่วนความตั้งใจของอ้อมนี้ไม่ได้ถูกชูให้เห็นเด่นชัดในการดำเนินเรื่องอาจเป็นเพราะเป็นสิ่งที่จะต้องถูกมองข้ามไปในฐานะที่ ป้อมยังมองไม่เห็นอ้อมในสิ่งที่เธอเป็น แต่ป้อมมองเห็นดาวอย่างที่ป้อมอยากให้เป็น เราต่างมองเห็นอ้อมกับดาวผ่านสายตาและความรู้สึกของป้อมนั่นเอง

ท้ายสุด ยอดชายนายโหลยโท่ย .... ผู้ดำเนินชีวิตได้เหมาะสมตามพัฒนาการของช่วงวัย

“เพราะในวันนี้หากเขาจะไปบูดาเปสต์ ก็เหมือนกับการไปตามภาพฝัน ไม่ได้ไปเพราะใจรัก หลายๆคนที่เลือกการใช้ชีวิตเช่นนี้ เมื่อพบว่า ภาพฝันพังครืน ชีวิตก็พังทลาย เพราะไม่ได้มีเป้าหมายที่แท้จริงของตัวเอง

ความข้างต้นคือสิ่งที่เราน่าจะย้อนกลับไปตั้งคำถามถึงความพยายามที่จะ “ต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้” ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการเป็นที่หนึ่งนั้น เพราะ เพื่ออะไร หรือเพื่อใคร หาไม่แล้วก็จะเป็นการออกแรงวิ่งตามเงา ถึงแม้จะคว้ามาได้ ท้ายที่สุดกลับไม่มีความหมายอะไรเลยเช่นที่ป้อมปล่อยสิ่งที่เขาพยายามติดตามไขว่คว้ามาตั้ง ... 3 ปี ...
ส่วนการรู้จักตัวเอง และเข้าใจความต้องการของตัวเองก็เป็นเพียงผลพลอยได้ผ่านกาลเวลา
ซึ่ง ... ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว ... ก็ไม่น่าจะมีข้อโต้แย้งอะไรในการทำความรู้จักตัวเอง เข้าใจจุดหมายปลายทางของตัวเองเสียก่อนที่จะเริ่มออกเดินทาง






Posted by : Lucifer , Date : 2006-10-04 , Time : 17:00:09 , From IP : 172.29.4.76

ความคิดเห็นที่ : 11


   เคยเป็นที่หนึ่งแต่ต้องเอาชนะตัวเองให้ได้ก่อนแล้วจะสำเร็จ

Posted by : ด๊อกแด๊ก , Date : 2006-10-06 , Time : 16:20:32 , From IP : 172.29.3.199

ความคิดเห็นที่ : 12


   คุุณ Shonigega จะไม่ให้ความเห็นเพิ่มเติทสักหน่อยหรือคะ ... เรื่อง"ความสุขของกะทิ"ได้อ่านแล้วค่ะ แต่ไม่ได้ขี่รถเครื่องไปหาในเมือง เนื่องจากไปหยิบมาจากร้านหลังหอนี่เอง

:D


Posted by : Lucifer , Date : 2006-10-07 , Time : 13:16:12 , From IP : 172.29.4.158

ความคิดเห็นที่ : 13


   "วันนี้"
หนูอยากจะถามคุณ Shonigega ว่า
"ทำไมคุณ Shonigega จึงคิดว่าเราจะดูหนังเรื่องนี้ด้วย -แว่นตา-ต่างกรอบกันล่ะคะ" แต่ ....ถามไม่ทัน....

;]


Posted by : Lucifer , Date : 2006-10-22 , Time : 20:05:40 , From IP : 172.29.4.76

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.008 seconds. <<<<<