ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

ได้ฟังท่านนายกรัฐมนตรีใช้คำบาลีบ่อยๆ


   อุปกิเลส 16

โดย นวพร เรืองสกุล

ได้ฟังท่านนายกรัฐมนตรีใช้คำบาลีบ่อยๆ ในการกล่าวตอบโต้ผู้วิจารณ์ท่านทางสื่อต่างๆ เช่น อวิชชา อิจฉา ฯลฯ จึงขอนำอุปกิเลส 16 จากหนังสือที่ได้รับมาในช่วงปีใหม่ มาร้อยเรียงเขียนสู่กันอ่าน

เนื้อหาความเข้าใจมาจากหนังสือชื่อ "แสงส่องใจ" (ปี 2529) พระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดพิมพ์

พุทธวจนะมาจากหนังสือประกอบภาพชื่อ สัทธา (Insplration) หาซื้อหรือสั่งซื้อได้ที่ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือบริษัทเคล็ดไทย

ตัวอย่างประกอบบาลีเป็นของผู้เขียน

อุปกิเลส มี 16 ดังนี้

1.อภิชฌา ความละโมบ เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน

ระดับบุคคลกับบุคคล เพ่งเล็งอยากได้แล้วลงมือลักเล็กขโมยน้อยทุกคนคงเห็นชัดเจน

ลักใหญ่ๆ ระดับชาติก็เช่น สมมุติอยากได้สายส่งไฟฟ้าก็เลยทำพิธีการอันซับซ้อนซ่อนปมไว้เพื่อให้ในที่สุดได้มาเป็นของตัว จะได้หรือไม่ได้ การเพ่งเล็งอยากได้ของที่ไม่ใช่ของตัว ก็เป็นกิเลสข้อนี้แล้ว

ระดับโลกก็เช่น อยากได้และหาวิธีการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศอื่น หรือว่านำพันธุ์พืชที่ดัดแปลงแล้วไปจดลิขสิทธิ์ว่าเป็นของตัวเอง ดังที่เกิดขึ้นกับข้าวหอมมะลิ เป็นต้น

กิเลสแบบนี้ปุถุชนทุกคนยังละไม่ได้ก็จริง แต่ตอนนี้ แนวโน้มและค่านิยมกระแสหลักเป็นไปในทางสะสมเพิ่มพูนมากกว่าบรรเทาให้เบาบาง ความละโมบจึงดูจะกำเริบขึ้นทั้งโลก

ถ้าโลภเบาบางลงหน่อย ก็อาจจะแค่อิจฉา คืออยากได้อย่างเขาบ้าง แต่ไม่ถึงกับลงมือลักขโมยใคร

2.พยาบาท ความคิดปองร้าย

ในขณะที่อภิชฌาเป็นโลหะ พยาบาทเป็นโทสะ

ความพยาบาทปองร้ายในสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องพึ่งกระสุนปืนเพียงอย่างเดียว แต่มีอีกหลายวิธีการ เช่น การออกมาแฉเรื่องต่างๆ เมื่อต่างคนต่างแฉ ผู้ฟัง (ที่คัดเลือกเป็น) ย่อมได้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา ถ้าแฉเพื่อล้างแค้นหรืออยากปองร้ายอีกฝ่าย เพราะเหตุผลประการใดก็ตามก็คือพยาบาท

การที่ผู้มีอำนาจใช้อำนาจในหน้าที่ติดตามปองร้าย หรือรังควานผู้อื่นก็เป็นพยาบาทเหมือนกัน เช่น ตรวจสอบภาษีเฉพาะผู้ที่เป็นเป้าหมายของความพยาบาท ให้โทรศัพท์ไปรังควานคู่อาฆาตทั้งวันทั้งคืน รวมตลอดถึงการใช้อิทธิพล อำนาจมืด อำนาจแฝงต่างๆ นานัปการ ตามแต่จิตพยาบาทจะชักนำให้สร้างสรรวิธีการขึ้นมาใช้

ความพยาบาทนี้เพียงแค่คิด ยังไม่ต้องถึงขั้นลงมือกระทำ ก็เป็นกิเลสข้อนี้แล้ว

3.โกธะ ความโกรธ นี่เป็นโทสะอีกแบบ

คนโกรธทำอะไรที่ทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้อย่างไม่คาดฝัน เช่น ควักปืนขึ้นมายิงคู่แค้นกลางที่ประชุม ที่ไวที่สุดก็คือการกล่าววาจาให้ผู้ฟังเกิดระแวงสงสัยคนที่ตนโกรธ และกล่าวผรุสวาจา (ผรุสวาจาหมายถึงวาจาที่กล่าวด้วยโทสะ มีเจตนาทำร้าย เช่น เสียดสี แดกดัน ถากถาง ด่าแบบสุภาพและไม่สุภาพก็นับว่าด่าทั้งนั้น)

ท่านบอกว่าโทสะแก้ได้ด้วยยาขนานที่ชื่อว่า เมตตา ยาขนานนี้ไม่มีราคา ซื้อได้ด้วยใจ

"ผู้ใดยับยั้งความโกรธที่เกิดขึ้นได้ทันที เหมือนสารถีหยุดรถที่กำลังแล่นไว้ได้ เรากล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่าเป็นสารถี ส่วนคนนอกจากนี้ เป็นเพียงผู้ถือเชือก" (ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

4.อุปนาหะ ความผูกโกรธ

ความข้อนี้ชัดเจนอยู่ในถ้อยคำแล้ว คือผูกความโกรธเอาไว้ ไม่ยอมเลิกรา

คนโกรธแบบโป้งป้าง โฉ่งฉางเป็นพวกไฟไหม้ฟาง ผูกโกรธก็เหมือนไฟสุมขอน แรงมากๆ ก็คืออาฆาต

5.มักขะ การลบหลู่คุณผู้อื่น

ให้สังเกตว่า ภาษาไทยบอกว่าลบหลู่คุณผู้อื่น ไม่ใช่ลบหลู่บุญคุณ สองคำนี้แคบกว้างต่างกันไกล ประเภท "นักวิชาการพวกนี้น่ะเหรอ ดีแต่พูด" เป็นมักขะ เพราะพยายามลดความสำคัญของเนื้อหางานวิจัย หรือ "นายกรัฐมนตรี เป็นไม่ยาก" ก็ลบหลู่เหมือนกัน เพราะลดความสำคัญของงานที่มีความรับผิดชอบสูงสุดในประเทศลงเหลือเป็นเรื่องเล่น

6.ปลาสะ ยกตัวดีเสมอ

ตรงกันข้ามกับมักขะที่ดึงคนอื่นลงมา ปลาสะเป็นการยกตัวขึ้นไป

เรื่องจริงหรือไม่จริง เพื่อเหตุผลใดก็เว้นไว้ไม่ต้องกล่าวถึง แต่มหาชนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าภาพผู้มาจากการเลือกตั้งให้เป็นผู้บริหารประเทศนั่งทำพิธีในวัดพระแก้ว เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารเล่นผิดบท มีเจตนาปลาสะ

7.อิสสา ความริษยา เห็นเขาได้ดีทนไม่ได้

ริษยาเป็นแรงกระตุ้นสำคัญของการขัดแข้งขัดขา มีทั้งในที่ทำงาน ในครอบครัว ในพรรคการเมือง อาการริษยาจะปรากฏออกมาสารพัดแบบแล้วแต่กิเลสข้อนี้จะกระตุ้นให้คิดพลิกแพลงอาการไป เช่น ทำอะไรแปลกๆ ไม่สมเหตุสมผล หรือแสดงออกทางวาจาโดยให้ร้ายผู้อื่นเพื่อให้ตัวเองดูดีในสายตาของผู้ที่ตนหมายปองความรักความสนใจ ตัวอย่างระดับครอบครัวดูได้จากละครโทรทัศน์ไทยแทบทุกเรื่อง

ในภาษาไทยเรามักจะพูดว่าอิจฉาริษยา ซึ่งมีความหมายครบถ้วน คืออิจฉาเกิดจากโลภะเห็นเขาได้ดีก็อยากได้บ้าง ส่วนริษยาเกิดจากโทสะ คือเห็นเขาได้ดีแล้วทนไม่ได้ ต้องทำอะไรสักอย่าง อิจฉาพาให้ริษยา

ท่านนายกฯ ตอบโต้ผู้วิจารณ์ว่าอิจฉา ในเรื่องที่ลูกๆ และพี่ภรรยาของท่านขายหุ้นในบริษัทที่เคยเป็นของท่านให้กับต่างชาติที่ปลอมเป็นไทย เป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท แต่จริงๆ ท่านหมายถึงคนเหล่านั้นริษยา เพราะต่อต้านวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ให้ท่านและครอบครัวเดือดร้อน

ตัวอย่างระดับท้องถิ่น เช่น เรื่องรถไฟฟ้า BTS ที่ส่วนกลาง (กระทรวงและคณะรัฐมนตรี) ยังยึกยักอยู่ ทำให้ท้องถิ่น (กทม.) ที่ลงทุนอย่างต่อเนื่องมาหลายปีจนกระทั่งรางเดินรถเสร็จหมดแล้ว ยังเดินรถไม่ได้ ราง BTS ส่วนขยายกำลังเป็นอนุสาวรีย์โฮปเวลแห่งที่สอง คราวนี้โทษต่างชาติที่ไหนไม่ได้เลย เราคนไทยต่างพรรคการเมืองเล่นกันเอง โดยมีเงินเป็นพันล้านที่ลงทุนไปแล้วเป็นหน้าตัก มีประชาชนคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่รอใช้บริการขนส่งมวลชน เป็นเบี้ยบนกระดาน ในขณะเดียวกันก็ตีข่าวจะสร้างรางอีกหลายเส้น โดยละเลยไม่ทำที่มีอยู่แล้วให้เสร็จๆ

8.มัจฉริยะ ความตระหนี่

ชัดเจนเห็นง่ายที่สุดก็คือตระหนี่ข้าวของเงินทองของตน ดูกรณีสึนามิเมื่อปลายปี 2547 ก็ได้ คนไทยพื้นบ้านจำนวนมากได้ชื่อว่ามีน้ำใจจนลือลั่นไปทั้งโลก แต่เศรษฐีไทยบางคนสักบาทหนึ่งก็ไม่ควัก แถมยังหลอกคนอื่นว่าควักแล้ว หรือบางคนก็เอาหน้าทำเป็นจ่ายเงินที่แท้ควักเงินคนอื่นไปให้

ระดับนานาชาติก็มีเหมือนกัน เช่นแถลงว่าจะบริจาคเงินเท่าโน้นเท่านี้ แล้วก็ไม่จ่ายจริงตามแถลง

9.มายา เสแสร้ง มีเล่ห์เหลี่ยมล่อลวง เช่น ของดีว่าไม่ดี ของไม่ดีว่าดี

ขอเพิ่มเติมว่า บางทีก็มีการทำข่าวไม่สำคัญมากให้ใหญ่จนกลบหรือเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ติดตามไปจากข่าวสำคัญ บางข่าวเป็นข่าวที่มีความสำคัญมากสำหรับอนาคตของประเทศ แต่ถูกทำให้เล็ก

แบบนี้นักประชาสัมพันธ์หลายคนคงหนาวๆ ร้อนๆ แต่จะเป็นมายาหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้กระทำตั้งใจหรือไม่ว่าจะพูดหรือทำเพื่อเบี่ยงเบนล่อลวงให้คนเห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิด ถ้าไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้น จะว่ามายาก็ไม่ได้ เรื่องแบบนี้ให้ถามใจตัวเอง

ใครจะมีกิเลสแค่ไหนแอบแฝงอยู่ในตัว ตัวเองย่อมรู้ เพราะ

"ชื่อว่าความลับย่อมไม่มีในโลก อย่าดูหมิ่นตัวเองเลย ตัวเองนั่นแหละคือพยานอย่างดีที่สุดว่าตัวเองทำชั่ว ทำบาปหรือเปล่า เมื่อบาปมีอยู่ในตัว ยังไงๆ ก็ปิดบังซ่อนเร้นไม่ให้ตัวเองรู้ไม่ได้"

(ถอดความจากพุทธวจนะ ในอังคุตตรนิกาย ติกนินาต อธิปไตยสูตร)

10.สาเถยยะ คือการโอ้อวด รวมกับมายาก็เป็นมายาสาไถย สาไถยมีทั้งอวดรวย อวดดี ฯลฯ คงไม่ต้องยกตัวอย่าง
11.ถัมถะ ความดื้อกระด้าง หมายความว่าเป็นคนหัวดื้อ ไม่เชื่อ ไม่ฟังเหตุผล (คนที่ฟังเหตุผลแล้วไม่เชื่อ ยืดจุดเดิมของตัวไม่เรียกว่าดื้อ) บางคนจุดยืนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่เรื่องไหนยืนอย่างไหนเพราะรู้สึกหรือต้องการอย่างไร ก็จะดันทุรังไปจนได้ ด้วยเหตุผลแบบข้างๆ คูๆ หรือคว้าคำอธิบายมาประกอบในภายหลัง

12.สารัมภะ การแข่งดี คือคิดว่าเราต้องแน่กว่าเขา คนที่มีความรู้สึกแข่งดีมักเป็นคนไม่มีความมั่นใจในตัวเองว่ามีอะไรดี หรือมีความดีอะไร

13.มานะ ความถือตัว ท่านหมายถึงการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นถือตัวว่าดีกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอกับเขา ก็เป็นกิเลสทั้งนั้น กิเลสข้อนี้มีด้วยกันทุกคนและมีมากๆ กันทั้งนั้น เมื่อยังละไม่ได้ก็ควรทำให้เบาๆ ลงบ้าง แต่ดูเหมือนจะยาก สมัยนี้เรื่องการถือตัวว่าข้าแน่กว่า ข้ารวยกว่า เกิดขึ้นเสมอ พอเกิดตัวพองแล้วก็มักจะเกิดกิเลสอื่นตามมา เช่น ดีเสมอ ลบหลู่คนอื่นโมโหโกรธง่ายๆ เป็นต้น

14.อติมานะ ความดูหมิ่นผู้อื่น การดูหมิ่นไม่จำเป็นต้องใช้วาจา และไม่จำเป็นว่าต้องทำกับบุคคลหนึ่งคน บางคนอาจจะกระทำบางเรื่องแบบดูหมิ่นกลุ่มคน หรือสังคมของคนทั้งประเทศก็ได้

15.มทะ ความมัวเมา

16.ปมาทะ ความประมาท

สามข้อสุดท้ายนี้คงไม่ต้องยกตัวอย่าง เพราะชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว

การกระทำทั้งกายและวาจาสะท้อนความรู้สึกนึกคิดหรือสภาพจิต

"ถ้าอารยชนใคร่จะพูดก็เป็นผู้ฉลาด รู้จักกาล พูดแต่ถ้อยคำที่ประกอบด้วยเหตุผลที่อารยชนประพฤติกัน ไม่โกรธ ไม่ยกตัว มีใจสงบ ไม่ตีเสมอ ไม่รุนแรง ไม่เอาหน้า รู้ชอบแล้วจึงกล่าว เขาพูดถูกก็อนุโมทนา เขาพูดผิดก็ไม่รุกราน ไม่เอาเปรียบ เขาพูดพลั้งไปบ้างก็ไม่ถือ ไม่พูดพล่าม ไม่พูดเหยียบย่ำเขา ไม่พูดคำสบถสาบาน"

(อังคุตตรนิกาย กถาวัตถุสูตร)

สำหรับคำว่าอวิชชา ขอกล่าวเพียงด้านเดียวอย่างสั้นๆ ว่า อวิชชาคือโมหะ ความหลง ไม่รู้จักโลกตามความที่มันเป็นจริงๆ

โมหะมีลูกน้องตามมาประกอบอีกสามตัว คือ

หนึ่ง ทำชั่วได้ ไม่อายตัวเอง (อหิริกะ) คือไม่มีความเคารพในตัวเอง

สอง ทำชั่วได้ ไม่มีความเกรงกลัวผู้อื่น (อโนตตัปปะ) คือไม่เคารพผู้อื่น ไม่กลัวว่าที่ทำๆ ไปแล้วนี้ ใครที่รู้เข้าจะว่า ชาวโลกจะดูถูก บรรพบุรุษจะก่นด่า หรือลูกหลานจะต้องเอาปี๊บคลุมหัวไม่กล้าสู่หน้าคน

สาม อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน เดี๋ยวคิดอย่างนี้ เดี๋ยวคิดอย่างโน้น ความคิดกระจัดกระจาย

สำหรับคนที่รู้ว่าโลกเป็นอย่างนี้ คือรู้ว่าคนส่วนมากรวมทั้งตนเองอยู่ในความหลง อาจจะเลือกที่จะพาตนเองให้พ้นหลง แล้วนำพาผู้อื่นให้พ้นด้วยก็ได้ หรืออาจจะฉวยโอกาสทำการที่ยิ่งขึ้นได้ คือเล่นกับความหลงของผู้อื่น ไม่ต้องละอาย ไม่ต้องเกรงกลัว ทำตัวให้ยิ่งกว่าคนอื่นก็เป็นฮีโร่ได้เหมือนกัน คือไหนๆ อยู่ในหมู่โจร ก็เป็นมหาโจรเสียเลย

"อันคนไขน้ำทั้งหลายย่อมไขน้ำ ช่างศรย่อมดัดศร ช่างถากย่อมถากไม้ บัณฑิตย่อมฝึกตน (ให้ละกิเลส)"

(ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

ชีวิตเป็นของเรา เราแต่ละคนเลือกทางเดินในอนาคตของตัวเองได้ และสมาชิกในสังคมเลือกอย่างไร สังคมเป็นเช่นนั้น

From Matichon



Posted by : (^-^) , Date : 2006-08-30 , Time : 11:48:21 , From IP : 172.29.3.16

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<