ความคิดเห็นทั้งหมด : 12

มา DEBATE เรื่องการเรียนแบบ SDL ดีกว่ามั้ย


   เรียนแบบ SDL มาแล้ว 2 block อยากได้ feedback จากเพื่อนๆ ปี 2 ในแบบประเมินที่กรอกไปก็ไม่ทราบว่าได้ประโยชน์อะไรรึเปล่า เราเองมีความเห็นใน 2 เรื่อง
1. เนื้อหาที่ได้ รู้สึกว่ามันจะไม่ครบ หรือครบแบบหลวมๆ จริงอยู่ว่าคณะให้เรา SDL อะไรไม่ครบก็ต้องโทษว่า SDL อยากจะยกตัวอย่างให้ดูสัก 1 เรื่องคือเรื่องไวรัสที่เพิ่งผ่านมา ได้เรียนแค่ 2 lecture แต่ดูตำราไวรัสวิทยาสิ หนาปานนั้น ความรู้ก็ได้งูๆปลาๆว่าไข้เลือดออก เริม เกิดจากเชื้ออะไร Hepatitis ก็รู้แค่ B ตัวเดียว A C D อ่านไม่ทัน หรือว่าค่อยไปเก็บเอาตอนปิดเทอม หรือเอาไว้ block หน้า พวกเรื่องเทคโนโลยีไวรัสใหม่ๆ ไม่รู้เรื่องเลย หรือคณะไม่ต้องการเน้น ?? เรื่องตระกูลไวรัสก็ไม่เน้น ถามใครดูก็ได้ว่ารู้จักไวรัสสักกี่ตระกูล เรื่อง patho ก็มั่วอาการ เปิดๆดูตำรา patho พื้นฐานก็พบว่าเราเรียนกันหมดเล่มแล้ว อยากถามเพื่อนๆว่า
รู้จัก squamous cell carcinoma of the skin มั้ย ว่าเกิดจากสารอะไร (ARSENIC) ตรงนี้อยู่ในบท cell injury แต่อาจารย์ไม่สอนเพราะเน้น inflame มากกว่า ที่ถามเพราะว่ามันอยู่ใน USMLE และเราก็น่าจะผ่านมันมาแล้ว มันหายไปไหน และมีอีกมากไหมที่หายไป หายไป หายไป
2. เรื่องความสัมพันธ์กับอาจารย์ ตรงนี้อยากเปิดประเด็นใหม่ เราไม่ชอบเลยที่มีอาจารย์มาสอนๆ จบ 1 คาบแล้วก็ไป อาจจะมีตารางให้ resource person แต่ความสัมพันธ์มันไม่เท่าอาจารย์สอนเต็มที่ ได้ดูแลลูกศิษย์ทุกคน จำชื่อได้ นี่พอเจอแล้วก็จำไม่ได้ว่าอยู่คณะนี้หรือเปล่า นี่ไม่ได้ว่าอาจารย์นะ ถ้าเราเป็นอาจารย์ก็คงจำใครไม่ได้ ตอนเรียนปี 1 สนุกมาก อาจารย์จะมาสอนเสริมให้ สามารถคุยและปรึกษาได้โดยไม่ต้องนั่งดูว่าเป็น resource person รึเปล่า
***ใครคิดเห็นยังงัยก็แสดงความเห็นเพื่อระบายกันหน่อยนะ มันคงช่วยอะไรไม่ได้หรอก ภาษิตว่าเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม***


Posted by : จากใจจริง , Date : 2003-08-22 , Time : 20:04:35 , From IP : r7-nrtMT1.S.loxinfo.

ความคิดเห็นที่ : 1


   คงมิได้เป็นการระบาย เพราะยังคงเห็นว่ากระดานแห่งนี้เป็นหนทางหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่หลายๆคนได้(เห็นได้จากพลายๆกระทู้ เช่น collar ของ ER โรงพยาบาล เป็นต้น)
การเรียนแบบ SDL น่ามีประโยชน์อย่างแท้จริงกับผู้ที่เข้าใจวัตถุประสงค์ และสามารถบริหารจัดการตัวเองและเวลาได้เป็นอย่างดี ... ต้องฝึกกันหน่อย (ขอเวลาในการฝึกด้วย)
การเรียนรูปแบบเก่านั้น อย่างที่คุณจากใจจริงได้กล่าวไว้ น่าจะได้เปรียบในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์ได้มากกว่าปัจจุบัน เพราะเวลาที่เราได้เจอกับ(..เห็น)อาจารย์(จากระยะใกล้บ้าง ไกลบ้าง)นั้นน้อยมาก (ไม่ใช่อาจารย์เท่านั้นที่จำนักศึกษาไม่ได้ นักศึกษาเองยังจำหน้าอาจารย์ไม่ค่อยได้...แม้เข้าทุกlecture) เวลาว่างสำหรับ SDL นั้น มักใช้ไปกับการศึกษาและทำความเข้าใจกับความรู้(ที่มีอยู่มากมาย)ตามวัตถุประสงค์โดยการอ่านซะเป็นส่วนมาก(แม้กระนั้นก็ยังรู้สึกว่าอ่านยังไงก็อ่านไม่ทัน(PBL+สอบ) เวลาที่เหลือเพื่จะไปพบอาจารย์หรือที่เรียกกันว่า Resource person ตามภาควิชาหรือคณะที่มีเวลาให้นักศึกษา ด้วยข้อแม้ที่ว่า ขอพบเพื่อให้ความกระจ่างในข้อสงสัยต่อความรู้ที่เรา(ต้อง)มีอยู่ก่อน(อันนี้จำได้จากการชี้แจงเมื่อครั้งต้นเทอม) นั้น จึงเป็นสิ่งที่ยากยิ่งขึ้นด้วยเงื่อนไขต่างๆที่เกิดขึ้น
บางครั้งยังนึกเห็นใจอาจารย์ต่างคณะบางท่านที่ต้องบีบเนื้อหาที่ต้องสอน(เทียบเท่ากับหนังสือ 1 เล่ม)ให้เหลือแค่จบใน 1หรือ 2 ชั่วโมง และในเวลานั้นยังต้องสอดแทรกเรื่องของจริยธรรมในวิชาชีพให้แก่นักศึกษาตามที่ทางคณะกำหนดไว้ในแบบประเมินผู้สอน การปลูกฝังสิ่งเหล่านี้คงไม้ได้ใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาทีในขณะที่อาจารย์ไม่มีเวลาที่จะให้ นักศึกษาไม่มีสติ(เพราะกำลังมึนกับlecture)ที่จะรับ (เมื่อพูดถึงการปลูกฝังจริยธรรมวิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ดูเหมือนจะดึงดูดหรือได้รับความสนใจจากผู้เรียนน้อยเหลือเกินจนผู้สอนท่านหนึ่งเปรยออกมาในเวลาว่าปีหน้าคงไม่มีเวลามาสอนให้แก่คณะอีกแล้ว..)
ส่วนนี้น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่นักศึกษาในระบบ SDL ได้รับน้อยลงจริงๆ
ทางคณะน่ามีวิธีการประเมิน(จากภายในและภายนอก)การเรียนการสอนระบบนี้ให้ครอบคลุม โดยเฉพาะผลที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ความรู้ของนักศึกษา(เท่าที่อาจารย์บอกหรือทราบมาคือผลการสอบรวมกับสถาบันภูมิภาคอื่นๆ) เท่านั้น โดยไม่ปิดบัง ทั้งนี้ประโยชน์ในการจัดการและปรับตัวของนักศึกษา (ซึ่งผลลัพธ์จริงๆน่าจะตกอยู่กับสังคมมากกว่า)

.....และไม่ลืมที่จะฝากบอก med 30 (ขอนิดสส นึง)... เวลาเข้า lecture มีน้อย ควรเห็นคุณค่าและใช้ให้คุ่มค่า โดยการเข้าให้ตรงเวลา และยังเป็นการให้เกียรติผู้บรรยายและเพื่อนๆด้วย นะจ๊า
เราไม่สามารถเดินไปถึงจุดหมายได้อย่างภาคภูมิตราบใดที่เรายังทิ้งเพื่อนร่วมทางไว้ข้างหลัง


Posted by : k-9 , Date : 2003-08-23 , Time : 04:21:48 , From IP : 203.146.198.247

ความคิดเห็นที่ : 2


    ขอขอบคุณคุณ K-9 ด้วยไม่ว่าคุณจะเป็นอาจารย์หรือรุ่นพี่ ที่ให้คำแนะนำ ความจริงแล้วเวลาก็ล่วงเลยมา 2 block น่าจะเพียงพอให้เรา "ปรับ" ดังที่คณะต้องการ แต่ด้วย "ข้อจำกัด" มากมาย ที่ถ้ากล่าวไปก็อาจกลายเป็น "ข้ออ้าง"
คงต้องมานั่งคิดว่าระดับ ปี2 มีศักยภาพพอแล้วหรือกับการที่จะต้องเลือกค้นข้อมูล เลือกที่จะอ่านเอง ทำความเข้าใจบทเรียนบางบทด้วยตัวเอง เลือกที่จะแยกแยะข้อมูลอันมหาศาลให้ตรงกับจุดประสงค์ของคณะมากที่สุด บางทีเราก็คิดเหมือนกันว่า เรากำลังอ่านอะไรอยู่ เกินเนื้อหารึเปล่า นี่เราต้องมาอ่านตำราศัลยศาสตร์ เชียวหรือกับแค่ PBL เรื่องเดียว อาจจะดู over แต่นี่เป็นเรื่องจริง เวลาสอบก็เหมือนว่ามันว่างเปล่า เพราะสิ่งที่คิดว่าแม่นที่สุดในการอ่านและคุ้มที่สุดในตอนสอบก็คือ lecture จึงไม่น่าแปลกใจที่ VDO จะขายดีที่สุด โดยเฉพาะ lecture ที่ยากต่อการทำความเข้าใจ เคยคิดอยู่เลยว่าไม่ต้องมี lecture ก็ได้ อัด VDO เตรียมไว้เลย อ่านจบอยากฟังตอนไหนก็ไปฟัง ไม่ต้องทำอะไรซ้ำซ้อน ไม่ต้องเลืองเทปอัดเปล่าๆ แต่มันจำเป็นเพราะข้อสอบก็วนเวียนอยู่ใน lecture
เคยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะอ่าน lecture มาก่อนล่วงหน้า เรียนจบก็ค้นข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบ ไปนั่งดู CAI ทำ lab เสร็จก็ไปเพิ่มเติมที่พิพิธภัณฑ์ ไม่เข้าใจก็ไปหา resource person ถามว่ามีใครเคยทำครบไหม ถ้าทำได้กรุณาช่วยชี้แนะด้วย
สารภาพตรงๆ เลยว่า กลุ่ม PBL ก็มีแยกแล้ว ถ้ามีกลุ่ม lecture แยกอีก ขอสมัครอยู่กลุ่มที่สอน lecture เต็มเม็ดเต็มหน่วยเถิด เพราะเราไม่มีศักยภาพดังที่คณะมุ่งหวัง


Posted by : จากใจจริง , Date : 2003-08-23 , Time : 13:07:39 , From IP : p16-nrtMT1.S.loxinfo

ความคิดเห็นที่ : 3


   ฉันสนใจประเด็นของคุณจากใจจริงและเห็นว่าการได้สนทนาเรื่องนี้ด้วยกันอาจทำให้ฉันได้เรียนอะไรบางอย่าง ในขณะเดียวกันฉันอาจปันทัศนบางอย่างให้กับคุณ
.
ก่อนอื่นอยากให้กลับไปที่กรณีตัวอย่างของคุณเรื่องไวรัสวิทยา คุณกล่าวว่าตำรามันหนาแต่รู้สึกว่าได้เรียนนิดเดียว ไวรัสตับอักเสบมีหลายตัวแต่คุณได้เรียนเฉพาะไวรัสบี
.
ฉันขอเริ่มด้วยปุจฉาที่ว่า มีใครห้ามมิให้คุณเรียนหรืออ่านหน้าที่เหลือของตำราไวรัสวิทยาเล่มนั้นหรือ หากคุณสนใจและเห็นว่ามันควรจะตั้งเป็นเป้าประสงค์ในการเรียนของคุณ มีอาจารย์ท่านใดในคณะห้ามมิให้คุณเรียนรู้เรื่องไวรัสตับอักเสบตัวอื่นโดยการอ่านเพิ่ม ค้นคว้าใน internet หรือติดต่อ resource person เพื่อสนทนาเรื่องนี้หรือ
.
ลองพินิจถึงรายละเอียดในการกล่าวถึงข้อจำกัดที่คุณกล่าวว่า "ไม่มีศักยภาพพอ" ดูหน่อยประไรว่ามันหมายถึง
- เวลาสำหรับศึกษาด้วยตนเองไม่พอ
- เวลาพอแต่ไม่สามารถบริหารเวลาหรือไม่สามารถบังคับควบคุมตน
- resource ไม่พอ รวมทั้งข้อจำกัดด้านภาษา
- หรืออะไร
หากคุณจับปัญหาได้ เราจะได้คุยกันต่อว่า เรื่องแรกที่จะต้องทำเพื่อบรรเทาปัญหา คืออะไร


Posted by : Shonikeka , Date : 2003-08-24 , Time : 11:23:46 , From IP : 133.1.67.161

ความคิดเห็นที่ : 4


   ผมว่าเวลามีให้เหลือเฟือนะ แต่ให้ผมตอบมันก็ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะผมไม่ตั้งใจเรียน

หาคนที่เขาใช้ประโยชน์จากระบบการเรียนแบบนี้ได้เต็มที่มาตอบดีกว่า..
เอ่อ .. แต่คนที่เขาเรียนแบบนี้ได้ดี เขาก็คงไม่เข้ามาอ่านข้อความในกระดานอีกล่ะ ว้า..


Posted by : ArLim , Date : 2003-08-24 , Time : 20:39:45 , From IP : 208.147.1.4

ความคิดเห็นที่ : 5


   คือว่านะ การที่คุณจะรู้ อะไรคุณคควรมีจุดประสงค์ชัดเจน
และจุดประสงค์นั้นต้องคัดสรรแล้วง่า สำคัญและจำเป็น
แต่หากคุณเป็นคนที่ดื้อๆ ไม่ค่อยใส่ใจว่า จะรอดผ่านปีนึงๆ ไปได้มั้ย คุณก็ยึดกระแสไปก่อน เพราะ คลื่นลูกใหญ่ กว่าแรงกว่า ย่อมกลืนคลื่นลูกเล็ก ไป ....แต่ก็กลืนไม่มิด นะ ยังไงเราก็เห็น จุด บัพ (ฟิสิกส์-การรวมคลื่น) นั่นหมายความว่า ตัวตนคุณก็ยัง อยู่ แต่ยังไงก็ชั่วอึใจ ก็หายไป ตามกฎธรรมชาติ
..จุดประสงค์ตามกระแสคือ อะไร คุณก็เปิด คุ่มือบล็อคที่ให้ไป สิ ตอบในนั้นได้ หมด เกือบหมด ก็โอเคแล้ว เพราสะนั่นคือสิ่งที่ คณะหรือ มาตรฐานแพทยศาสตร์ศึกษาให้มาแล้ว(มั้ง)
ถ้าคุณไม่ทำตานั้นแล้วจะ อ่านอะไร เพราะคุณยังไงก็เรียนอยู่ใต้ระบบเขา ปี4ต้องขึ้น หวอด ปี3ต้องเรียน นิวโร เฮ้นโด
ถ้าไม่รู้ ไบโอเคม ไม่รู้ อิมมูนบ้าง แล้วจะเรียนงัยทำงานก็ใต้ระบบ คุณไม่จำ เป็นต้องขวนขวายเกินจากนี้มาก (ถ้าไม่มีเวลาจริง และคิดว่าเท่านี้ก็หน้กพอแล้ว) นี้ไม่ใช่สิ่งที่ผมทำหรอก ผมก็ไม่อยากจะพูด มาก เพราะ ผมก็ทำได้ไม่ดี...แต่นี่เฆ้น ครนอื่นทำกันแล้วออกมาดี เลยต้องเชื่อ เราเพราะมันเป็นสัจธรรม
หากคุณไม่ตามคู่มือ ชอบสวนกระแสอยากรเยน อะไรก็มีจุดประสงค์ ชัดเจนในตัวเอง คุณก็จะเป็นคนเก่งในอีกแบบคุณคงรอบรู้และเข้าใจใน เรื่อที่คนอื่นไม่รู้ หรือไม่เข้าใจได้ แต่คุรมักจะพลาด เพราะ คุณไม่ได้งัดออกมาใช้เท่า ไร เพราะไม่มีเพื่อน ถาม อาจารย์ไม่ถาม แต่มันก็ช่วยเสริมการเรียนและควมรู้พื้นฐานคุณให้แกร่งกล้าได้.....แต่การเลือกว่าเราจะอ่านอะไรเรียนอะไรมไช่เรื่อง ง่าย เลือกด้วยความสำคัญของข้อมูลที่จะได้รับ คิดดูว่า เราต้องอ่านมันไหม สงสัยไปแล้วตอบได้ จะช่วยเราค้นหาคำตอบอื่นต่อไปไปด้ไหม...หากคุณมี จุดประสงค์ที่สนับสนุนการเรียน ที่ระบบต้องการคุณก็ถือว่าเก่งและโชคดี..เรื่องนี้ เป็นศิลปะครับ....
....ผมขอถามเจ้าของ กระทู้ว่า มีใครบังคับให้คุณอ่านหมดเล่มเหรอ แต่ละบทต้องทั้งบกเหรอ ในPBL คุณต้องอ่านมากแค่ไหน..จึงจะเข้าใจ คุณไม่ต้องเริ่มอ่านจาก 0 ก็ได้ ไม่ต้องเริ่มจากบทนำ....คุณ Scan ว่าสิ่งที่เราจะเอาคำตอบอยู่ไหน แล้วSkim สิ..แล้วอ่านละเอียดอีกก็ได้ ยอมรับบางืที่ ก็อ่านหลายเล่ม เพราะ ไม่ค่อยๆมีหนังสือที่ คอมพลีท หรอก
บาง้เรื่อง อ่ารนไม่เข้าใจ จำเป็นต้องจำเจ กับมันไหม มีคนให้ถามไหมถ้าไม่อยากจำเจ แต่ก็ไม่อยากทิ้งให้สงสัย เราได้ดิ้นรนหาคนที่จะอธิบาย แค่ไหน (เรื่องนี้ ก็ Resousce prerson)
ซึ่งRP. .ก็ไม่จำเป็นต้อง อาจารย์ นี่ เพื่อนที่เก่งกว่า รุ่นพี่ รหัส
พ่ที่มาจีบ...ใครก็ได้....พูดไปก็.เข้าวก ไปที่ คุณ DEath กกับPHoenix เถียงกันนั่น แหละ ว่านศพ.ขยันพอแล้วยัง............


Posted by : uud , Date : 2003-08-28 , Time : 19:49:37 , From IP : 172.29.3.158

ความคิดเห็นที่ : 6


   ส่วนเรื่องความสัมพันธ์กับ อาจารย์ ที่คุณเสนอไม่ด้ช่วยหรอก
การเรียนกลุ่มใหญ่ และเป็นรูปแบบเลคเชอร์ ยังไงคุณก็ไม่ได้สัมพันธ์กับอาจารย์ หรอก เพราะ ฉะนั้น จะเพิ่ม เลคเชอร์ไม่แก้ไขเลย
แต่มันอยู่ที่คุณได้คุญกับอาจารย์ ไหม ถ้า การเรียนกลุ่มเล็กลง หรือใหญ่แบบเดิม แต่คุณมีคำถามๆอาจารย์ ยืนถามกับไมค์ เดินไปถามหน้าห้อง อย่างนั้นถึงจะสัมพันธ์ คนเรารู้จัก กันโดยไม่คุยสักคำได้ หรือ ถามม...หน่อย
การจัด ระบบPBl และREsource persom in sdl มันดีและเสริมจุดนี้ได้แน่ ถ้าปฎิบัติกันจริง แต่มันผิดที่ระบบ อาจารย์ ปี2-
3 เน อาจารย์ วิทยาศาสตร์ คุณคงไม่แถกเดินไปหาอาจารย์ ทุกครั้งที่ มีคำถาม นัด อาจารย์สอนกลุ่มเล็ก อาจารย์ ก็อยากสอนทีเดียวกลุ่มใหญ่ อาจารย์ ก็ไม่ค่อยมีเวลา ....ยิ่ง อาจารย์แพทย์ เอบไม่ต้องพูดถึง......แต่มันก็ขึ้น อยู่ กะ อาจารย์ นะว่าจะ เฮ้นดู เราแค่ไหน....เปิดโอกาส ไหม..การได้ถามอาจารย์อย่างนี้ทั้งได้ความรู้ และได้สัมพันธ์กะ อาจารย์ใช่ไหม ครับ


Posted by : uud , Date : 2003-08-28 , Time : 20:01:19 , From IP : 172.29.3.158

ความคิดเห็นที่ : 7


   ตั้งแต่เด็กๆ เราไม่เคยเป็นห่วงว่าต้องเรียนต้องรู้อะไร ถึงเวลาก็มีคนเคี้ยวให้ ป้อนให้มาตลอด ตำราปาราสิตวิทยาตอนผมเรียน มีเขียนไว้ในคำนำอย่างเจ็บปวดว่า "ตำราป้อนวิชาปาราสิตวิทยา" curriculum หรือหลักสูตรหน้าตาเป็นยังไงไม่เคยเห็นเลยครับ ดีหรือเปล่า? ไม่เคยคิดเหมือนกัน เพราะ concept ของ andragogy หรือ adult learning system ยังไม่มีการพูดถึงสมัยนั้น

แต่ตอนนี้ ถ้าจะให้ลองคิดว่า "อะไรที่จะได้บ้างจากระบบการเรียนที่ นศพ.รับผิดชอบตนเอง" ที่เห็นชัดๆก็คงเป็น "รับผิดชอบ" นั่นแหละครับ ที่ผุดออกมาโดดเด่นมากที่สุด ถ้าเป็นยังงั้นจริง ถามว่าดีไหม ก็ลองถามตัวเองกันว่าความรับผิดชอบกับแพทย์นั้นเกี่ยวกันรึเปล่า?

มีบางกระแสบอกว่าเรา "ไม่ได้เตรียมตัว" มาก่อน น่าจะไปเริ่มกันมาตั้งแต่ยังเด็ก ผมว่า "ความรับผิดชอบ" นั้นมันน่าจะพัฒนาตามวัยนะครับ และวัยที่มาเรียนวิชาแพทย์นี้นั้น ผมว่าก็แก่พอสมควรแล้วที่จะรับผิดชอบตนเอง และเราต้องการมากกว่านั้น คือรับผิดชอบชีวิตของผู้อื่น วัยวุฒิ คุณวุฒิ ต้องไปด้วยกัน

ขยันเข้าเถอะครับ อย่าใช้เวลาให้สูญเปล่าเลย essence อีกประการของวิชาชีพนี้คือ "เสียสละ" ครับ ไม่ทราบมีใครเคยบอกรึเปล่า ว่าเราต้องเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อรักษาความทุกข์ของคนอื่น นั่นเป้นหลักการว่าอาชีพเรามี "เวร" ให้อยู่ ไอ้เวลาทำงาน 9-5 นั้น โยนออกนอกหน้าต่างไปได้เลยครับ ไม่สำเร็จแน่ๆ ถ้ายังไม่เคยคิด ก็ใช้เวลาว่างๆมาทำความเข้าใจปรัชญาของวิชาชีพแพทย์กันก็ได้ ลองเขียนลงบนกระดาษ ลองคิดดูในฐานะผู้ป่วย ไม่ใช่นักศึกษาแพทย์ แล้วบอกตัวเองว่าเราต้องการแพทย์แบบไหน ลองคิดเผื่อว่าหากญาติพี่น้องเราป่วยหนัก เราอยากจะฝากผีฝากไข้กับใคร มีความรับผิดชอบแบบใด

เสร็จแล้วก็ลองถามตัวเองว่า เรากล้าฝากผีฝากไข้กับหมอแบบที่เราเป็นอยู่รึเปล่า





Posted by : Phoenix , Date : 2003-08-28 , Time : 20:44:49 , From IP : 172.29.3.247

ความคิดเห็นที่ : 8


   อีกประโยคที่น่าสนใจและน่าหยิบยกมาสาธกคือ "บางทีก็สงสัยอยู่ว่ากำลังอ่านอะไรอยู่ อ่านเกินเนื้อหาหรือเปล่า นี่เราอยู่ปีสองต้องมาอ่านตำราศัลยศาสตร์เทียวหรือ"
.
อ่านเกินเนื้อหาแล้วเกิดอะไรขึ้น ?
.
คุณอาจตอบว่ามันเสียเวลาอะเดะ เอาเวลาไปอ่านอะไรที่มันตรงเหน่ง สรุป เฉลย เก็ง กันแบบท่านพระครูให้เลขกันมิดีกว่าเรอะ
.
ความรู้สึกของคุณตรงกันข้ามกับเมื่อสมัยฉันเรียนเคมีตอนปี 1 ฉันเกลียดการเข้าไปนั่งฟังอาจารย์ปิ้งแผ่นใส ฉันรู้สึกว่าอาจารย์ลายมือไม่สวยแล้วยังเขียนแผ่นใสให้ดูยุ่ง แผ่นใสบางแผ่นเก่ามาก มีความรู้สึกว่าเขาไม่เอาใจใส่กับการเตรียมการสอนอย่างเพียงพอ ฉันรู้ว่าวิธีคิดตามกระแสก็คือ อย่าคิดมาก ฟังเข้าไป จดให้มือหงิก ไปขอซีรอกสมุดสุวรรณนีที่ลายมือสวย จำมันซะ แล้วถึงวันก็ไปกาคำตอบแล้วก็ทิ้งมันไปในท่อน้ำ ฉันทำมันได้สักพักแล้วก็รู้สึกว่าการนั่งหลับในห้องบรรยาย อาจได้ประโยชน์ในแง่การประหยัดพลังงาน ฉันหลับ ฉันเข้าห้องสมุดหาตำราฝรั่งอ่าน มันไปได้ช้าเพราะข้อจำกัดด้านภาษา แต่ฉันเข้าใจ และรู้สึกพอใจ สิ้นเทอมนั้นฉันได้ C ในวิชาเคมี แต่รู้สึกพอใจที่รู้ว่า นอกห้องบรรยายยังมีความรู้ และเราอาจเลือกเรียนเลือกอ่านหรือจำอะไรได้มากไปกว่าที่สุวรรณนีจดไว้ เราสามารถเรียนอย่างมีอิสระและมีความหมายมากขึ้น
.
ฉันไม่แนะนำให้ประหยัดพลังงานเช่นฉัน แต่อยากให้ทรรศนะจากคนรุ่นพี่คุณว่า การจะเรียนให้ประสบความสำเร็จในวิธีการใหม่ จำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ในการเรียนใหม่ด้วย หากยังยึดความสำเร็จในการกาคำตอบให้ตรงกับที่เขาต้องการเป็นสรณะ หากยังคิดจะเรียนแบบมาม่า (ฟัง จด ซีรอก จำ กา) เราจะเป็นทุกข์ในวิธีการเรียนแบบนี้
.
ในกระบวนทรรศน์ใหม่ คุณจำเป็นต้องตั้งเป้าไว้ว่า ความสามารถในการหา"คำถามที่ถูก" และ"คำตอบที่ต้อง"กับคำถามนั้น เป็นศักยภาพประการหนึ่งที่จำเป็นสำหรับแพทย์ยุคนี้และยุคต่อไป
.
เรื่องนี้ เขาอาจไม่ได้ประเมินคุณตอนไปกาคำตอบ
.
แต่ชีวิตภายภาคหน้า หรือกาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าคุณได้เรียนทักษะนี้มามากเท่าใด
.
เด็กปีหนึ่งที่ได้ซีวิชาเคมีในวันนั้น วันนี้มันกล้าพูดกับตัวเองว่า ความรู้ของฉันพอที่จะสอนหนังสือและดูแลคนไข้ และฉันมั่นใจว่าทำหน้าที่นี้ได้ไม่ด้อยกว่าใครในชั้น


Posted by : Shonikeka , Date : 2003-08-29 , Time : 09:17:48 , From IP : 133.1.67.161

ความคิดเห็นที่ : 9


   ใช่แล้ว ครับรับผิดชอบ .....
ยังทำไม่ได้ สักทีเลย แย่จัง
มักรับผิดชอบแต่เรื่องอยากทำ ทำได้ไม่เคยขาด สนใจใฝ่รู้
แต่เรื่องต้องทำนี่สิ มักอู้ได้เรื่อยๆ บางครั้ง ดีเพรส บางครั้ง ก็ฮึดสู้ ตอนนี้ฮึดอยู่ครับ


Posted by : ีีuud , Date : 2003-09-02 , Time : 13:57:31 , From IP : 172.29.2.234

ความคิดเห็นที่ : 10


    หลังจากที่กระผมได้ฟังทั้งอาจารย์และเพื่อน ๆ ได้อภิปรายกัน ผมก็ได้เห็นว่าต่างฝ่ายต่างก็ไม่ผิดหรือถูกอย่างสิ้นเชิง แต่ผมอยากจะขอเสนอความรู้สึกโดยส่วนตัว ถ้าเราเป็นผู้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย เราทุกคนย่อมมีสิทธิ์ลงความเห็นใน "ชะตาชีวิต" ในวันข้างหน้าและย่อมเคารพในเสียงข้างมาก (นักศึกษาควรมีส่วนร่วมในการวางหลักสูตร) การSDLก็เป็นเรื่องดี แต่ไม่ควรปรับเปลี่ยนแบบก้าวกระโดดอย่างในทุกวันนี้ มันกับว่าผู้มีศักยภาพก็ดำรงอยู่ได้แล้วผู้ไร้ความสามารถเราก็ปล่อยให้เค้าหลงทางไปจนวันที่เค้ารักษาคนไข้หรือไร เราแพทยศาสตร์ช่างสามัคคี และช่วยเหลือกันเสียจริง และในการLectureก็ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์เสียทีเดียวจนถึงกับต้องทิ้งมันไว้กับอดีต อาจารย์จะปฏิเสธหรือว่าที่อาจารย์มีวันนี้ได้ไม่ได้รับประโยชน์จากการเรียนLectureเลยหรือ กระผมมองว่าเราชาวแพทยศาสตร์ทุกคนมีความรับผิดชอบสูงอยู่แล้ว การหาความรู้เพิ่มเติมย่อมเป็นสิ่งที่เราพึงกระทำโดยมิต้องให้ใครมาบังคับ แต่สิ่งสำคัญอื่นใดก็คือ พื้นฐานความรู้ทางการแพทย์ของเรา ไม่ควรจะฝากความหวังไว้กับการSDL ประโยชน์ของLectureก็เห็นจะเป็นในเรื่องนี้แหละ ที่SDLอาจให้เราได้ไม่เท่ากับLecture เพราะการมีพื้นฐานที่ดีทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายในการค้นหาความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า ความต้องการให้เราเรียนเพื่อรู้ก็ไม่ควรจะใช้เกณฑ์การตัดสินด้วยเกรดอีกต่อไป เพราะสิ่งนี้ย่อมทำให้เกิดการลังเลและการสร้างลำดับความสำคัญมากกว่า2 (ผ่าน ไม่ผ่าน) ย่อมทำให้ทำให้เกิดความรู้สึกการแข่งขันมากกว่าการช่วยเหลือกัน ดังนั้น จึงควรจะมีแค่ผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้น ก็จะทำให้เราเกิดความรู้สึกไม่กดดันกับตัวอักษร หรือตัวเลขเพียงไม่กี่ตัวอีกต่อไป


Posted by : medslave , Date : 2003-09-06 , Time : 00:44:02 , From IP : 203.146.155.62

ความคิดเห็นที่ : 11


   มีสองประเด็นใหญ่ๆที่อยากจะ share ความเห็นสำหรับกระทู้ของคุณ medslave หนึ่งคือเรื่อง "ระบบประชาธิปไตย" และสองคือเรื่องระบบการเรียน

เอาเรื่องระบบประชาธิปไตยก่อน

ไม่มีระบบการปกครองแบบไหนในโลกนี้สมบูรณ์ รวมทั้งระบบประชาธิปไตยเอง ขอละไว้ไม่กล่าวถึงระบบอื่น เอาเฉพาะที่เรากำลังมองมันอยู่บน "โต๊ะอภิปราย" นี่ ระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบหรือในอุดมคตินั้นมี assumption ว่าสมาชิกในกลุ่มมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่กำลังอภิปรายอย่างถ่องแท้ แต่มีความเห็นไม่ตรงกัน จึงควรจะมา debate กัน และที่สุดก็ใช้ "majority" เป็นตัวตัดสิน ปรัชญานี้จำเป็นที่จะต้องมีกลไกป้องกันการเกิด majority raping นั่นคือ "พวกมากลากไป" และความยุติธรรมแก่ "ผู้มีเสียงข้างน้อย" เพราะอาจจะถูกจำกัดด้านอื่นเช่นมาจากหมู่บ้านอัจฉริยะที่มีการคุมกำเนิด คงจะไม่สามารถโหวตสู้หมู่บ้านกระต่ายซึ่งปั๊มลูกหลานออกมาเป็นโรงงาน และจะเกิด CLASS ในระบบสังคมอันไม่พึงประสงค์ เพราะทุกๆที่จะมี majority และ minority ระบบนี้หากใช้ผิดๆก็จะมีการกดขี่ของความแตกต่าง หรือที่แย่กว่านั้นคือถูกลาก ถูกปกครองด้วย mobsters

มีทางแก้ไขหลายวิธี วิธีที่ตรงที่สุดคือพัฒนาสมาชิกในสังคมนั้นๆให้สามารถที่จะค้นคว้าและศึกษาข้อมูลที่สำคัญในการตัดสินใจ แต่เป็นวิธีที่ยากที่สุด นักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนมากยังไม่สามารถ make a rationale decision ถึงความควรไม่ควรใส่หมวกกันน็อค เป็นตัวอย่างที่เป็นแค่ tip of the iceberg ของปัญหาการพัฒนาโดยวิธีนี้

วิธีอื่นคือการโหวตตัวแทนเข้าเป็นผู้แทน วิธีนี้หวังว่าคนที่คัดเลือกแล้วนั้นจะมีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น หรือเราสามารถมีกลไกที่จัพัฒนา Intelligence and morale and imagination ได้ดีกว่าการที่จะทำกับคนทั้งประเทศ มีประโยชน์ใน scale ใหญ่ๆ เช่นระดับประเทศ แต่อย่างว่า อุดมคติก็คืออุดมคติ ปัญหาใน reality ก็คือบางครั้ง "ผู้แทน" ของเราก็ไม่สามารถจะใช้หรือมีข้อมูลที่สำคัญในการตัดสินใจ หรือไม่สามารถเข้าใจได้ว่า "อะไร" คือข้อมูลที่สำคัญดังกล่าว (ตราบใดที่ "journal" ของผู้แทนเหล่านี้คือ ไทยรัฐ เดลินิวส์ เท่านั้น)

กลับมาหาตัวกระทู้ นักศึกษานั้นสมควรมีบทบาทให้ความเห็นในตัวหลักสูตรแน่นอนครับ แต่เราควรจัเข้าใจขอบเขตของบทบาทนี้ให้ชัดเจนนั่นคือ การ feedback ที่เป็นระบบ จริงใจ และมีวัตถุประสงค์แนวทางต่างๆชัดเจน การใช้ภาษาในการ feedback หรือบริบทของการ feedback ฯนสำคัญมากๆ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตาม feedback ฟังดูเหมือนบ่น ฟังดูเฟมือนไม่สำคัญ ฟังดูหมือนเล่นๆ ฟังดูเหมือนส่วนตัวไม่ได้เป็นความเห็นของคนหมู่มาก และข้อสำคัญฟังดูเหมือนกับไม่ mature ก็จะเป็นการ discredit ข้อมูลที่อาจจะสำคัญมากไปอย่างน่าเสียดาย

ทีนี้อีก step หนึ่งจากตะกี้นี้ที่สำคัญก็คือ ไม่ใช่ทุกๆ feedback จะต้องได้รับการตอบสนองโดยตรงเสมอไป ง่ายๆก็คือข้อมูลไม่ได้มาจากนักศึกษาฝ่ายเดียว แมจากทุกๆอย่างที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นการรักษาผลประโยชน์มีทางเดียวก็คือต้องใช้ platform ที่จัดขึ้นให้มีประสิทธิภาพ ไปใช้ platform ที่คนที่เกี่ยวข้องไม่ได้ทำงานอยู่ การอภิปรายก็จะไม่เกิดขึ้น เป็น one-way communicatiobn รังแต่จะเกิดความไม่พอใจ ขุ่นเคือง และเสียกระบวนการที่สำคัญที่สุดของระบบประชาธิไตยคือการ debate it through

===============================

ขอยกอีกประเด็น เป็นกระทู้ถัดไป



Posted by : Phoenix , Date : 2003-09-06 , Time : 09:25:02 , From IP : 172.29.3.225

ความคิดเห็นที่ : 12


   ผมเข้าใจว่าเรายังมี lecture อยู่เป็นจำนวนไม่น้อยเท่าที่รับฟังมาล่าสุด มากจนกระทั่งมีคำถามว่ามีเวลา "พอ" ให้ทำ SDL หรือเปล่า ฉะนั้นที่ว่าก้าวกระโดดว่าเราเข้ามา SDL เต็มตัวนั้น อาจจะเป็นการมองคนละแง่ คนละดีกรีรึเปล่า?

ผมเรียนแพทย์แบบเก่าครับ และบอกได้อย่างมั่นใจว่าแค่ lecture นั้นไม่รอดแน่นอนผมขออนุญาตไม่เห็นด้วยกับ assertion ที่ว่า พื้นฐานความรู้ทางการแพทย์ของเรา ไม่ควรจะฝากความหวังไว้กับการSDL เพราะพื้นฐานความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันที่มีแต่ก้าวรุดไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูงแบบนี้ พึ่งได้อย่างเดียวคือการฝากความหวังไว้กับ SDL ยิ่งเราตัดเวลาที่จะฝึกฝนความสามารถในการทำ SDL ลง จะเป็นการตัดสิ่งที่จำเป็นที่สุดในอนาคตลงนั่นเอง SDL เป็น skill อย่างหนึ่งที่ต้องการการฝึกฝน (เหมือนกับการจด lecture ก้เป็น skill เช่นกัน นศพ.รุ่นเก่าบางคนเป็น master of lecture จดได้หมดทุกคำพูด บางคนมี RAM พิเศษ อาจารย์หยุดพูดไปแล้ว ตะแกยังจดต่อไปได้อีก 8 นาที) ยิ่งฝึกยิ่งชำนาญ ยิ่งชำนาญเวลาที่ใช้ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ของที่เคยอ่านหนึ่งชม. ก็จะอ่านได้ 45 นาที หรือน้อยกว่า textbook ภาษาอังกฤษจะเป้นตัวอย่างที่ดีมากที่จะเห็นการพัฒนาของ skill เพราะถ้าเราไม่ฝึก speed ในการอ่านภาษาต่างประเทศจะช้ามากๆ และมีทางเดียวที่จะ Improve ก้คือการฝึก และฝึกอย่างหนัก ย่างจริงจังด้วย

การประเมินผลการศึกษาเพื่อผ่านไม่ผ่านอย่างเดียวคงจะเป้นการผิดหลักการการศึกษาทั่วไปครับ เมื่อไหร่ก(มที่มีการประเมิน และเราจะได้อะไรมากที่สุดจากการประเมิน เราต้องสามารถ differentiate ผลในระดับต่างๆ เป็นเรื่องที่เราจะต้องยอมรับว่าคนเราไม่เท่ากัน คนที่ "ผ่าน" จะมีแบบผ่านพอดี ผ่านฉลุย หรือผ่านได้คะแนน 120% เป็นต้น (เป็นไปได้ใน MEQ) เราสามารถนำข้อมูลพวกนี้มาใช้ต่อในการปรับปรุงหลักสูตร เช่น เรียนยังไงจึงแค่ผ่าน หรือ ผ่านฉลุย ใครจะเป็นคนที่จะเป็นแพทย์ หรือจะรับไว้เป้นอาจารย์แพทย์ต่อ หรือส่งไปเรียนต่อ ใครชำนาญด้านไหน การประเมินแค่ผ่านไม่ผ่านนั้นเป็น minimal function ของการประเมินแค่นั้น ส่วนการถูก pressure หรือกดดันจากการมี grade แตกต่างกันเป็น facts of life ครับ ที่เป็น motivation สำหรับคนที่ต้องการจะ push ตัวเองไปสู่ระดับที่ต้องการ แต่ที่สุดแล้วใบปรัญญาของคุณก็จะได้กับทุกคนที่ "ผ่าน"

ไม่เข้าใจเรื่อง "การลังเล" ที่คุณพูดถึงเวลามีตัดเกรดครับ และที่เราต้องการคือการแข่งขันที่ช่วยกันด้วย แข่งเป้นแข่งกับตัวเอง เรียนคือเรียนเป็นกลุ่ม การตัดเกรดไม่จำเป้นที่ทำให้คนเห็นแก่ตัว คนที่เห็นแก่ตัวก็ไม่มีสิทธิ์อ้างว่าเพราะเกรดเขาเลยต้องเห็นแก่ตัว นั่นเป็น self preference ที่ได้มีการปรับ attitude มาจากการอบรมสั่งสอน



Posted by : Phoenix , Date : 2003-09-06 , Time : 09:44:22 , From IP : 172.29.3.225

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.016 seconds. <<<<<