คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท และแพทย์ 3 จังหวัดภาคใต้
สื่อข่าวรายงานวันนี้ (16 ส.ค) ว่า นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประชุมแก้ไขปัญหาและพัฒนางานสาธารณสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้บริหารโรงพยาบาลทุกแห่ง และเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 5 อำเภอในจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยด้วย โดยมีผู้แทนสำนักงานข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ แพทยสภา และกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุม
นายพินิจ กล่าวว่า ประเด็นเร่งด่วนสำคัญในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้ ประเด็นแรกคือ เรื่องขวัญกำลังใจ ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งข่าวสารความมั่นคง ประเด็นที่ 2 คือ เรื่องอัตรากำลัง ยังพบว่ามีความขาดแคลนอย่างมาก โดยเฉพาะ 4 สาขาหลัก คือ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ ยังขาดอีก 525 คน โดยแพทย์ทั่วไปขาด 197 คน รวมทั้งยังขาดแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดและศัลยกรรมกระดูก ซึ่งกระทรวงฯ ได้วางแผนแก้ไข โดยจะรับลูกหลานคนในพื้นที่ ทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมเข้าเรียนแพทย์เป็นแพทย์พื้นเมือง ซึ่งจะอยู่ในพื้นที่และรับใช้คนในท้องถิ่นได้นานยิ่งขึ้น มีความเข้าใจในภาษาและวัฒนธรรม 3 โครงการ ภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ระยะเวลา 9 ปี โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะร่วมกับโรงพยาบาลยะลา ผลิตแพทย์ให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปีละ 30 คน และร่วมกับโรงพยาบาลหาดใหญ่ ผลิตแพทย์ให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สตูล และสงขลา ปีละ 30 คน นอกจากนี้ ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ผลิตแพทย์ให้กับจังหวัดนราธิวาส แห่งเดียวอีกปีละ 48 คน โดยเริ่มปีนี้ 15 คน ที่ผ่านมา มีแพทย์ในโครงการจบและทำงานแล้ว 17 คน กำลังอยู่ในระหว่างศึกษา 106 คน และจะจบในปี 2551 และ 2552 ปีละ 12 คน ทั้งนี้ หากผลิตได้ตามเป้าหมาย จะลดความขาดแคลนลงได้ระดับหนึ่ง
สำหรับประเด็น เรื่องค่าตอบแทนบุคลากรโดยเฉพาะแพทย์ ซึ่งยังต่ำกว่าแพทย์เอกชนอยู่มาก จะผลักดันให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากถือว่าเป็นผู้เสียสละอย่างสูง และอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย เพื่อให้ปฏิบัติงานด้วยความมั่นคงและมีหลักประกัน โดยจะผลักดันให้แพทย์ทั่วไปและแพทย์เฉพาะทางได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น จากเดิมเดือนละ 60,000-100,000 บาท เป็น 90,000-150,000 บาท จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีในเร็ว ๆ นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว และว่า ในกรณีของแพทย์จาก 3 จังหวัด ที่เรียนต่อแพทย์เฉพาะทางหลังจากใช้ทุน 2 ปี จบมาแล้วกลับไปใช้ทุนในพื้นที่ต่ออีก ก็จะให้ทุนเรียนต่อสถาบันต่างประเทศที่มีชื่อเสียง เช่น สถาบันปลาสเตอร์ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แพทย์ได้พัฒนาตัวเอง และพัฒนาสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีแพทย์จาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ อยู่ในระหว่างเรียนต่อทั้งหมด 61 คน และจบมาแล้ว 11 คน ในปีหน้านี้มีโควตาให้เรียนต่ออีก 47 คน ซึ่งแพทยสภาได้สนับสนุนหาที่ให้เรียนต่อเรียบร้อยแล้ว
ส่วนปัญหาแพทย์ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ และต้องออกไปชันสูตรศพในกรณีตายผิดปกติ ซึ่งมีความเสี่ยงจะได้รับอันตราย เพราะบางศพมีการวางระเบิดไว้ที่ใต้ศพด้วยนั้น นายพินิจ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข จะหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใน 2 สัปดาห์นี้ เพื่อวางแนวทางปฏิบัติของแพทย์ให้ได้รับความปลอดภัยสูงสุด และไม่ส่งผลกระทบต่อรูปคดี
ด้าน นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในรอบ 30 เดือน หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จนถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิต 1,200 คน บาดเจ็บ 2,190 คน สถานพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ได้รับผลกระทบ 9 แห่ง อยู่ที่ปัตตานี 7 แห่ง ยะลา 2 แห่ง มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้รับบาดเจ็บ 15 คน เสียชีวิต 7 คน อาสาสมัครสาธารณสุขบาดเจ็บ 8 คน เสียชีวิต 23 คน โดยที่จังหวัดปัตตานีมากที่สุด และกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการแก้ไขร่วมกับทุกหน่วยมาโดยตลอดทุกเดือน พร้อมทั้งได้เร่งพัฒนาการจัดระบบบริการประชาชนให้ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด โดยได้จัดงบประมาณ 254 ล้านบาท สร้างที่พักอาศัยให้แพทย์และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ให้ได้รับความสะดวกสบายในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ได้จัดซื้อเครื่องมือผ่าตัดตาให้โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ 1 เครื่อง เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท และได้จัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินให้สถานีอนามัยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ อีก 79 คัน สำหรับใช้ส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที
จาก www.thairath.co.th วันที่ 16 สิงหาคม 2549
Posted by : ก , Date : 2006-08-17 , Time : 00:10:02 , From IP : 172.29.7.78
|