ความคิดเห็นทั้งหมด : 2

ธรรมะจากศาลาลุงชิน


   ธรรมเทศนา ณ ศาลาลุงชิน
โดย หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช
วันอาทิตย์ที่ 21 พ.ค. 49
8.30 น.-10.00 น.

ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้อัศจรรย์จริงๆนะ ถ้าทำถูกต้อง ใช้เวลาไม่นาน แต่ถ้าทำไม่ถูกต้อง ใช้เวลานาน ที่ไม่ถูกต้องก็คือไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ ท่านไม่ได้สอนให้พวกเราหนี ชาวพุทธจริงๆต้องเป็นนักต่อสู้ ไม่ใช่คนขี้แพ้ ความทุกข์อยู่ที่ไหน ท่านสอนให้เราไปเรียนรู้ที่นั่น
ความทุกข์อยู่ที่กายของเรานี้ เข้ามาเรียนรู้ที่กาย
ความทุกข์อยู่ที่จิตใจ เข้ามาเรียนรู้ที่จิตใจของเรา
ที่จริงแล้วคนก็แสวงหาทางพ้นทุกข์มาตลอด ใครๆก็อยากพ้นทุกข์ทั้งนั้น ก่อนพระพุทธเจ้าเขาก็แสวงหาทางพ้นทุกข์แล้ว กระทั่งหมูเห็ดเป็ดไก่อะไร มันก็แสวงหาทางพ้นทุกข์ของมัน ทีนี้การแสวงหาพ้นทุกข์ที่มีมาตลอดนี้ มันก็แสวงหาตามชั้นตามภูมิ ตามความเข้าใจ ตามสติปัญญาของแต่ละคนแต่ละท่านไม่เหมือนกัน

บางคนหาทางพ้นทุกข์โดยการเสพสุข แสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่นกลุ้มใจขึ้นมา ไปดูหนัง ไปฟังเพลง ไปหาอะไรสวยๆดู ไปทัศนาจร ไปหาของอร่อยๆกินแก้กลุ้ม หรือไปคิดอะไรให้เผลอๆเพลินๆ นี่ก็เป็นวิธีหาความสุขอย่างหนึ่ง หาความสุขอย่างโลกๆ หาความสุขโดยอาศัยการกระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิธีหาความสุขอย่างนี้ พวกสัตว์เดรัจฉานก็ทำเป็น เช่นมันหิวขึ้นมาก็ไปหาอะไรกิน กินอิ่มแล้วมีความสุข ทีนี้ต่อมาคนมีสติปัญญามากขึ้น เห็นว่าลำพังวิ่งหาความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยังไม่สุขจริงหรอก ต้องเที่ยวหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจไปเรื่อยๆ มันพึ่งพิงสิ่งภายนอกมากไป หลายคนก็เลยมาหาความสุขทางจิตใจของตัวเอง

โดยเฉพาะพวกเข้าวัดทั้งหลาย มีความรู้สึกขึ้นมาอยู่เรื่อยๆเลยว่าถ้าเราสามารถควบคุมจิตใจของเราให้อยู่ในอำนาจของเราได้ เราจะมีความสุข ก็เลยเกิดการแสวงหาความสุขวิธีที่สอง ก็คือการรักษาใจของเราให้ดี คนด่าใจเราก็เฉย คนชมใจเราก็เฉย วิธีหาความสุขอย่างนี้เพื่อตัวเราจะได้มีความสุข นี้ก็ยังไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า เป็นการปรุงแต่งฝ่ายกุศล ปรุงแต่งความดีขึ้นมา แล้วชีวิตจะได้มีความสุขอย่างคนดีๆ สุขอย่างคนดีได้ ก็ทุกข์อย่างคนดีได้

ทีนี้บางคนฉลาดกว่านี้อีก เห็นว่าถ้าตราบใดที่ยังต้องคอยรักษาจิตใจเอาไว้ มีการกระทบมันคอยกระเทือนก็คอยรักษาอยู่เรื่อยๆ ยังไม่สุขจริง อีกพวกนึงก็เลยคิดพัฒนาขึ้นไป ถ้าเราไม่ต้องกระทบอารมณ์เสียเลย มันจะมีความสุข พวกนี้ก็ฝึกเข้าฌานกันนะ ฝึกเข้าอรูปฌาณ ฝึกเข้าอสัญญี พรหมลูกฟัก หรือเข้าอรูปฌาณ ไม่รับรู้โลกภายนอก ไม่สนใจโลกภายนอก ไม่มีอะไรมากระเทือน ไม่มีสิ่งใดมากระทบ พอไม่มีอะไรมากระทบ ใจก็ไม่ต้องกระเทือน

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา วิธีหาความสุขมีสามแบบ อันแรก เที่ยวหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ ตอบสนองกิเลสไปเรื่อยๆแล้วก็มีความสุข การหาความสุขแบบนี้เป็นความปรุงแต่งฝ่ายอกุศล เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร หรือเป็นความสุดโต่งในข้างที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค ตามใจกิเลสแล้วมีความสุข

อย่างที่สอง มีการควบคุม คอยบังคับตัวเอง อันนี้เรียกว่า ความปรุงแต่งฝ่ายกุศล เรียก ปุญญาภิสังขาร หรือเรียก อัตตกิลมถานุโยค การบังคับควบคุมตัวเอง

ความปรุงแต่งอย่างที่สาม หลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ เรียก อเนญชาภิสังขาร ในโลกมีความปรุงแต่งทั้งสามอย่างนี้ ความปรุงแต่งทั้งสามอย่างนี้กระทำไปเพื่อตอบสนองอัตตาตัวตนทั้งสิ้น

เพราะเราไม่รู้ความจริงว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา เราคิดว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเรา อยากให้ตัวเรามีความสุข อยากให้ตัวเราพ้นทุกข์ ก็เลยต้องดิ้นรนปรุงแต่งสามแบบ ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านฉลาดแหลมคม ท่านบอกว่าตราบใดที่ยังปรุงแต่งอยู่ มันไม่ได้แก้ปัญหาตรงจุด มันแก้ที่ปลายทางเท่านั้นเอง ตรงจุดจริงๆก็คือ ตัวตนมีมั้ย ถ้ามาศึกษา ศึกษากาย ศึกษาใจของเราเอง จนวันหนึ่งปัญญามันแจ้ง กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา พอปล่อยวางความยึดถือกาย ปล่อยวางความยึดถือใจได้ ละอวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้อริยสัจจ์

ความไม่รู้อริยสัจจ์ข้อที่หนึ่ง ความไม่รู้ทุกข์ คือเราไม่รู้ว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวทุกข์ เราคิดว่ากายนี้ใจนี้คือตัวเรา เป็นตัวดี ตัววิเศษ เราก็ต้องดิ้นรน อยากให้มันดีไปเรื่อยๆ อยากให้มันเป็นสุขไปเรื่อยๆ อยากให้มันพ้นทุกข์ไปเรื่อยๆ ถ้าเราสามารถเรียนรู้ รู้เข้ามาที่กาย รู้ลงเข้ามาที่ใจ นี่วิธีการของพระพุทธเจ้า เรียนรู้ลงมาที่กายที่ใจของเราเอง จนเห็นความจริงเลย กายนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก กายนี้เป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุ ความดิ้นรนหวงแหนร่างกายนี้จะสลายไป หรือเรียนรู้ลงไปที่จิตใจจะเห็นเลยจิตใจเป็นของไม่เที่ยง เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย สุขบ้างชั่วคราวนะ ทุกข์บ้างชั่วคราว ดีก็ชั่วคราว ชั่วก็ชั่วคราว ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาถึงจิตถึงใจเราล้วนแต่ของชั่วคราวทั้งนั้น กระทั่งตัวจิตตัวใจเองก็ของชั่วคราว จิตเดี๋ยวก็เกิดทางตาแล้วก็ดับไป เกิดทางหูแล้วก็ดับไป เกิดทางใจแล้วก็ดับไป มีแต่ของชั่วคราวทั้งหมด

พอเห็นอย่างนี้เห็นความจริงละ จิตนี้ไม่ใช่ตัวเราที่เที่ยงแท้ถาวรอะไร ความดิ้นรนที่จะให้จิตมีความสุข ความดิ้นรนที่จะให้จิตพ้นทุกข์มันก็จะสลายไป ความพ้นทุกข์ที่แท้จริงเกิดจากการที่จิตของเราฉลาด รู้ความจริงของจิตของใจจนมันหมดความดิ้นรน การที่เรารู้กายรู้ใจนั้นเรียกว่า รู้ทุกข์

ครูบาอาจารย์สอนมานะ อย่างหลวงปู่เทสก์เคยสอน รู้ทุกข์นั่นแหละละสมุทัย ถ้าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้งว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา ละสมุทัยคือละความดิ้นรน ใจมันจะเลิกดิ้นรน เที่ยววิ่งหาความสุข เลิกดิ้นรน เที่ยววิ่งหนีความทุกข์ ใจที่มันเลิกดิ้นรนจะเข้าถึงความสงบที่แท้จริง อันนี้เรียกว่านิโรธ นิโรธหรือนิพพานนั่นเอง คือความสงบความระงับจากกิเลส จากตัณหา จากความวุ่นวาย หลุดพ้นออกมาจากขันธ์ จากกายจากใจ มีกายมีใจสักแต่ว่าอาศัยอยู่ทั้งสิ้น

เป็นผู้ปฏิบัติเนี่ยรู้สึกอยู่ตลอดเวลาเลย กายนี้ไม่ใช่ตัวเรานะ เป็นของโลก ยืมโลกมาใช้ชั่วคราว จิตใจก็ไม่ใช่ตัวเรา เป็นนามธรรมอันนึง เกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นอย่างนี้ใจจะพ้นทุกข์นะ ใจจะเข้าถึงสันติสุขอย่างแท้จริง หน้าที่ของพวกเราก็คือคอยรู้กายคอยรู้ใจมากๆไว้ รู้เข้าไปมากๆจนมันเข้าใจความจริง เครื่องมือที่จะรู้กายรู้ใจของเราเรียกว่าสติ การที่เข้าใจความจริงเรียกว่าปัญญา สัมปชัญญะเป็นตัวปัญญา เข้าใจ สติเป็นตัวระลึกรู้ อะไรเกิดขึ้นในกายคอยรู้ อะไรเกิดขึ้นในใจคอยรู้ รู้มากเข้าๆปัญญามันเกิด จึงเป็นความเข้าใจความเป็นจริงของกายของใจ พอเข้าใจความเป็นจริงของกายของใจ ไม่ใช่ตัวเรา ความดิ้นรนในใจจะหมดไป จิตที่หมดความดิ้นรน หมดความปรุงแต่งนั้นแหละจึงเข้าถึงสันติสุข หรือนิพพาน

นิพพานไม่ใช่โลกๆหนึ่ง ในพระอภิธรรมสอนชัดๆเลย นิพพานมีสันติลักษณะ มีลักษณะสงบสันติ สงบจากอะไร สงบจากกิเลส สงบจากอะไร สงบจากขันธ์ ขันธ์ก็คือกายกับใจเรานี่เองเป็นเครื่องเสียดแทง หน้าที่ของพวกเราคือคอยรู้สึกอยู่ที่กาย คอยรู้สึกอยู่ที่ใจตัวเอง กรรมฐานเนี่ย ถ้าเลยกายเลยใจของเราออกไปแล้วล่ะก็ มันเฝือไปนะ มันอ้อมค้อมไป เพราะฉะนั้นคอยรู้อยู่ที่กาย คอยรู้อยู่ที่ใจ ครูบาอาจารย์รูปนึงเคยสอนหลวงพ่อสมัยหลวงพ่อยังไม่ได้บวช ท่านสรุปให้ฟังง่ายๆนะ ท่านบอกว่าการปฎิบัติเนี่ย ให้มีสติรู้ลงที่กายรู้ลงที่ใจอย่างเป็นปัจจุบัน มีเท่านี้เอง ครูบาอาจารย์รูปนี้ตอนนี้ท่านก็ยังอยู่นะ เป็นเสาหลักของสายวัดป่า

รู้อยู่ที่กาย รู้อยู่ที่ใจ ทีนี้ทำยังไงเราจะรู้กายรู้ใจได้ ตัวนี้ตัวสำคัญ
ต้องค่อยๆเรียนค่อยศึกษา เราจะรู้สึกว่าเรารู้กายรู้ใจตัวเองอยู่แล้ว

ในความเป็นจริงในโลกนี้ไม่มีคนรู้กายรู้ใจตัวเองหรอก มีแต่คนหลง มีแต่คนเผลอ คนที่สามารถรู้กายรู้ใจตัวเองได้ มีนับตัวได้ ส่วนมากก็คือเราจะตื่นขึ้นมาแต่กาย แต่ใจเรานี่จะคิดๆฝันๆไปทั้งวัน ใจเราไม่ตื่นนะ ใจเราจะคิด ใจเราจะฝันไปเรื่อยๆ ต้องค่อยๆฝึกจนใจของเราตื่นขึ้นมา ตื่นทั้งกายตื่นทั้งใจนะ จิตใจที่ตื่นขึ้นมานั้นแหละ คือตัวพุทโธที่เรียกว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตใจของเราไม่ใช่ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตใจของเราส่วนใหญ่ในโลก เป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ไม่ใช่ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

สังเกตให้ดีใจเรานี้ตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับนะ เราคิดทั้งวัน เรารู้เรื่องราวที่เราคิด สังเกตให้ดีนะ พวกเราเวลาเราคิดอะไรไป เรามักจะรู้เรื่องที่เราคิด เรื่องราวที่เราคิดนี้เรียกว่าสมมติบัญญัติ แต่ในขณะที่เรารู้เรื่องราวที่เราคิด เราจะลืมกายลืมใจตัวเอง มีกายก็เหมือนไม่มีนะ เช่นนั่งอยู่ไม่รู้ว่านั่งอยู่ นั่งฟังหลวงพ่อพูดรู้เรื่องพยักหน้างึกๆๆ นะ แต่ใจไปที่อื่น เราไม่รู้กาย ร่างกายเคลื่อนไหวไม่รู้สึก เราไม่รู้ใจตัวเอง จิตใจเราเป็นสุขก็ไม่รู้ เป็นทุกข์ก็ไม่รู้เฉยๆก็ไม่รู้ เป็นกุศลก็ไม่รู้ เป็นอกุศลก็ไม่รู้ เราไม่รู้อะไรเลยที่เกี่ยวกับตัวเราเอง ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับกายกับใจ เรารู้แต่เรื่องราวที่เราคิดเอาเอง

การที่รู้เรื่องราวที่เราคิดเอาเองนั่นแหละ เรียกว่ารู้สมมติบัญญัติ ในขณะที่การรู้กายรู้ใจ เรียกว่า กายกับใจเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ ฟังแล้ว... น่ากลุ้มใจ เรียกว่ากายกับใจก็แล้วกันนะ ให้คอยรู้กายรู้ใจ คนในโลกไม่รู้กายรู้ใจ มีแต่คนลืมตัว มีแต่คนหลง มีแต่คนเผลอ เผลอคิดทั้งวัน

เวลาเราดูเราก็เผลอดู
เวลาฟังเราก็เผลอฟัง
เวลาคิดเราก็เผลอไปคิด
ลืมกายลืมใจตัวเองตลอดเวลา

เมื่อเราลืมกายลืมใจตลอดอย่างนี้ เราก็ไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจ ปัญญามันไม่เกิดไม่สามารถเข้าใจความเป็นจริงของกายของใจได้ว่ามันไม่ใช่ตัวเราหรอก เราไปหลงยึดติดอยู่ ความเป็นตัวเราก็เกิดขึ้นมาที่นี้ทำยังไงเราจะรู้กายรู้ใจได้
ศัตรูของการรู้กายรู้ใจของเรามีสองอย่าง
ศัตรู หมายเลขหนึ่งก็คือการที่เราหลงไปอยู่กับความคิดของเรา นั่นแหละศัตรูหมายเลขหนึ่ง ถ้าเมื่อไหร่เราสามารถรู้ทันว่าใจเราไหลไปคิดแล้ว เมื่อนั้นเราจะตื่นขึ้นในฉับพลัน ตื่นในฉับพลัน เพราะฉะนั้นการปฏิบัติเนี่ยถ้าเข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าบอกนะ เราจะตื่นขึ้นในฉับพลัน ธรรมะนี่ถ้าใครเข้าถึงแล้วจะอุทานเลยว่า อัศจรรย์จริงๆ อัศจรรย์ ดูในพระไตรปิฎกนะ เวลาพระพุทธเจ้าเทศน์จบ คนจะอุทาน อัศจรรย์จริงๆ แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า แจ่มแจ้งนัก ไม่ใช่ว่าสับสนนักพระเจ้าข้า แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า เหมือนเปิดของคว่ำให้หงาย ของง่ายๆนะ

พระพุทธเจ้าเป็นคนจุดไฟขึ้นมาแล้วคนตาดีก็มองเห็นแสงสว่าง มองเห็นสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้นธรรมะจริงๆไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่พวกเราไม่ค่อยได้ยินไม่ค่อยได้ฟัง เราชอบไปคิดเอาเอง ชอบหลงอยู่ในโลกของความคิด เมื่อไหร่เกิดตื่นขึ้นมาอยู่ในโลกของความเป็นจริง ส่วนนี้จะยากที่สุด ทางลัดที่สุดที่จะตื่นขึ้นมา ก็คือรู้ทันว่าใจเราหนีไปคิด

มีครูบาอาจารย์องค์นึง ไม่ใช่สายวัดป่า หลวงพ่อเทียน หลวงพ่อเทียน วัดสนามใน .... หลวงพ่อเทียนท่านสอน...เหมือนกัน ธรรมะมันลงกันนะ สายไหนก็เหมือนกันแหละ ถ้าทำถูกต้องก็อันเดียวกัน หลวงพ่อเทียนท่านสอนบอกว่าถ้าเมื่อไหร่รู้ว่าจิตคิด ถ้าเมื่อไหร่รู้ว่าจิตคิดจะได้ต้นทางของการปฏิบัติ รู้ว่าจิตคิดนะ ไม่ใช่รู้เรื่องที่จิตคิด สองอันนี้ไม่เหมือนกัน ในโลกนี้มีแต่คนรู้เรื่องที่จิตคิด แต่ไม่รู้ว่าจิตกำลังแอบไปคิดอยู่ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราค่อยๆศึกษา ค่อยๆสังเกตตัวเอง ศึกษายังไง สังเกตยังไง

เอาตั้งแต่ตอนนี้เลย ศึกษาตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย เรียนกับหลวงพ่อนะ ไม่ต้องเรียนแล้วฟังให้รู้เรื่อง เรียนแล้วหัดสังเกตสภาวะจริงๆไปเลย นั่งฟังหลวงพ่อพูดน่ะ สังเกตมั้ย เดี๋ยวมองหน้าหลวงพ่อแว๊บนึง เดี๋ยวฟังหลวงพ่อพูดหน่อยนึง แล้วก็แอบไปคิด ดูออกมั้ย ฟังไปคิดไป ไม่ได้ฟังอย่างเดียว ฟังนิดนึงแล้วก็คิดแต่คิดตามไปนะ แล้วก็ฟังใหม่อีกหน่อยนึง คิดใหม่อีก นี่เราจะฟังไปคิดไป บางทีก็มองหน้าหลวงพ่อนิดนึง แล้วก็มาฟัง ฟังแล้วก็มาคิด เราไม่เคยเห็นเลยว่ากระบวนการของใจเราทำแบบนี้ เดี๋ยวฟัง เดี๋ยวดู เดี๋ยวคิดนะ จริงๆมันไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นแหละ แต่ที่ไปมากก็คือไปทางตา ไปทางหู ไปทางใจ ขณะที่เรานั่งอยู่นี่ สังเกตดู เดี๋ยวฟัง เดี๋ยวดู เดี๋ยวคิด สลับไปเรื่อยๆ ให้เราคอยรู้ทันนะ ถ้าเรารู้ทันว่าใจเราไปคิดแป๊บเดียว ขณะจิตนั้นเราจะตื่นขึ้นในฉับพลัน เพราะเราจะหลุดออกจากโลกของความคิดมาอยู่ในโลกของความจริงในฉับพลัน

ทันทีที่เราตื่นขึ้นมา เราอยู่ในโลกของความจริงนะ ถ้าสติระลึกรู้กายเราจะเห็นทันทีร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายนี้เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ แต่คนทั่วๆไปจะลืมตัวเองนะ ลืมกายลืมใจ จะไม่เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าสอนเราบอกว่า ขันธ์ห้าเป็นทุกข์ กายกับใจเป็นทุกข์ คนทั่วๆไปไม่มีใครรู้สึกหรอก ว่ากายกับใจเป็นทุกข์ กระทั่งพวกเราในห้องนี้นะ สิ่งที่พวกเรารู้สึกก็คือร่างกายนี้เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง จิตใจของเราเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง นี่เราไม่ได้เข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านบอกว่ากายเป็นทุกข์ใจเป็นทุกข์ แต่เราเห็นว่ามันทุกข์บ้างสุขบ้าง ทำยังไงจะเห็นว่ามันเป็นทุกข์จริงๆ ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

ถ้าไม่สามารถเป็นว่ามันเป็นทุกข์จริงๆแต่เห็นว่าเป็นทุกข์บ้างสุขบ้าง เราจะปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจไม่ได้ เพราะอะไร เพราะกายนี้ยังมีทางเลือก มันสุขก็ได้ทุกข์ก็ได้ เพราะฉะนั้นเราขอเลือกเอาสุขไว้ก่อน ขอเลือกวิ่งหนีความทุกข์ไว้ก่อน จิตใจก็เหมือนกัน ถ้ายังมีสุขบ้างทุกข์บ้าง เราก็จะเลือกเอาจิตใจที่มีความสุข หลีกหนีจิตใจที่มีความทุกข์ เพราะฉะนั้นจะปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจไม่ได้จริง

แต่ถ้าเมื่อไรสติปัญญาแก่กล้า เห็นเลยกายนี้ทุกข์ล้วนๆ จิตนี้ทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย

นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป

ถ้าสติปัญญาเห็นได้ถึงขนาดนี้ มันจะขว้างทิ้งเลยนะ
มันจะปล่อยวางกายปล่อยวางใจ ไม่ต้องเชื้อเชิญ ไม่ต้องบังคับ
มันจะสลัดทิ้งเอง เพราะมันรู้แล้วว่าเป็นของไม่ดี
เป็นของเป็นทุกข์ จะทิ้งเลย
เพราะฉะนั้นเห็นทุกข์เมื่อไหร่ถึงจะเห็นธรรม

ทีนี้วิธีการที่เราจะเห็นกายเป็นทุกข์เห็นใจเป็นทุกข์ทำยังไง หลวงพ่อจะบอกวิธีเห็นกายเป็นทุกข์กับวิธีเห็นจิตเป็นทุกข์ วิธีเห็นกายเป็นทุกข์ไม่ยากนะ อย่างเรานั่งอยู่นี่ คอยรู้สึกไว้ อย่าใจลอยอย่าเผลอไปคิดอะไรเรื่อยเปื่อยนะ คอยรู้สึกตัวเองเป็นระยะๆ เราจะเห็นเลยว่าเรานั่งอย่างสบายๆประเดี๋ยวเดียวก็เมื่อยละ นั่งประเดี๋ยวเดียวก็เมื่อย พอเมื่อยแล้วเราทำยังไง เราก็ขยับตัว เราเปลี่ยนอิริยาบถนะ พอเมื่อยปุ๊บเราก็ขยับอัตโนมัติเลย

เพราะเราหนีความเมื่อยด้วยวิธีนี้มาตลอดชีวิตละ เราไม่เคยรู้สึกเลย พอเมื่อยขึ้นมาเราก็ขยับตัวปั๊บ ความเมื่อยหายไปนะ เรารู้สึกไม่เห็นจะทุกข์ตรงไหนเลย ประเดี๋ยวความเมื่อยก็ตามมาทันอีกเราก็ขยับอีกนะ นั่งอยู่ก็นั่งขยับไปเรื่อยๆ ยืนอยู่ก็ยืนขยับไปเรื่อยๆ เดินมันก็ขยับอยู่แล้วล่ะ เราเดินมากๆก็เมื่อยนะ นอนอยู่ยังเมื่อยเลย บางคืนนี่คนเรา คนปกตินะ สมมตินอนแปดชั่วโมง จะนอนพลิกซ้ายพลิกขวา พลิกซ้ายพลิกขวา ไม่ต่ำกว่าห้าสิบครั้ง ทำไมต้องนอนพลิก ก็เพราะมันเป็นทุกข์นั่นเอง ความทุกข์มันบีบคั้นร่างกาย มันทำให้คอยต้องขยับหนีไปเรื่อยๆ

อิริยาบถหรือการเคลื่อนไหวร่างกายเนี่ย มันปิดบังทำให้เรามองเห็นความทุกข์ของกายไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่างเรานั่งอยู่เนี่ย นั่งให้สบายๆนะ มีตังค์มากๆไปซื้อเก้าอี้ตัวละแสนมานั่งก็ได้ ดูซิ มันจะมีความสุขจริงมั้ย ถ้าไม่ขาดสตินั่งประเดี๋ยวเดียวก็จะเห็นแล้วว่ามันทุกข์นะ มันทุกข์จริงๆมันทุกข์ล้วนๆ นั่งไม่ขยับนี่ทุกข์ตายเลย ถ้าเป็นอัมพาตเป็นอะไรยิ่งกระดุกกระดิกไม่ได้นะทุกข์มากเลย เราก็ดิ้นหนีความทุกข์ไปทั้งวันตั้งแต่ตื่นจนหลับ หลับแล้วก็ยังดิ้นไปดิ้นมา นี่ถ้าเรามีสติอยู่เนืองๆจะเห็นว่ากายนี้ทุกข์ล้วนๆเลย ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้าง

คราวนี้มาดูจิตใจบ้าง ...
ธรรมะก็มีแต่กายกับใจนี่แหละ รู้กายแล้วว่ากายเป็นทุกข์ก็มาดูใจของเรา จะเห็นว่าใจเรามันไม่เที่ยง ความสุขก็อยู่ชั่วคราวนะ ความทุกข์ก็อยู่ชั่วคราว กุศลเกิดขึ้นก็ชั่วคราว เช่นเราเกิดความรู้สึกตัวขึ้น เราจะรู้สึกตัวได้แวบเดียว เดี๋ยวก็จะเผลอเดี๋ยวก็จะลืมตัวครั้งใหม่ เพราะฉะนั้นตัวกุศล ตัวรู้สึกตัว หรือตัวสติเองก็เกิดชั่วคราวเหมือนกัน ไม่มีใครรักษาความรู้สึกตัวให้ต่อเนื่องยาวนานได้

สิ่งที่ทำให้ต่อเนื่องยาวนานได้มีอย่างเดียวคือสมาธิไม่ใช่ตัวสตินะ สติไม่ต่อเนื่องยาวนาน เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับเป็นขณะๆไป อกุศลอย่างความโลภ ความโกรธ ความหลงก็เกิดเป็นขณะๆเหมือนกัน เช่น ที่หลวงพ่อบอกให้หัดตะกี๊นะ นั่งฟังหลวงพ่อเนี่ยเดี๋ยวก็ดู ใจมันไปดูนะ อาศัยตา เป็นทางผ่านไปดูรูป อาศัยหูเป็นทางผ่านไปฟังเสียง อาศัยใจเป็นทางผ่านให้คิด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำงานหมุนจี๋ๆอยู่ทั้งวัน เดี๋ยวก็ดู เดี๋ยวก็ฟัง เดี๋ยวก็คิด สังเกตใจของเรา หาความเที่ยงแท้อะไรไม่ได้ ใจเรานี่พล่านๆตลอดเวลา ใจเราถูกความอยากบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็อยากดู เดี๋ยวก็อยากฟัง เดี๋ยวก็อยากคิด เดี๋ยวอยากโน่นอยากนี่ รวมทั้งอยากปฏิบัติ อยากฟังธรรม อยากไปวัดนะ อยากมาศาลาลุงชินนะ ความอยากมันบงการเราตลอดเวลา ถ้าเราคอยรู้อยู่ที่ใจเรา เราจะเห็นเลยจิตใจเราไม่เคยเป็นอิสระเลย

จิตใจเราเป็นขี้ข้าของความอยากตลอดเวลานะ ถ้าพูดหยาบๆนะ เหมือนเป็นขี้ข้าเป็นทาสเขาตลอดเวลา มันสั่งเราทั้งวันนะ สั่งอย่างโน้นสั่งอย่างนี้เราก็ต้องทำตามมัน เช่นมันสั่งให้ไปเที่ยว ตัณหามันสั่งให้ไปเที่ยว เราไม่รู้ทันนะ เราก็ไปเที่ยว สบายใจ

ตัณหาเป็นเจ้านายที่ฉลาดที่สุด รู้จักให้คุณให้โทษ มันสั่งให้เราไปเที่ยว ถ้าเราได้ไปเที่ยว มันจะให้รางวัลเรานิดนึง จะสบายใจ จะสบายใจแว๊บเดียวนะ มันจะสั่งงานชิ้นใหม่อีกละ ถ้ามันสั่งให้ไปเที่ยวแล้วเราไม่ไปเที่ยว มันจะลงโทษเรา เราจะรู้สึกกลุ้มใจ อึดอัด มันสั่งให้ไปจีบสาวสักคนนะ ได้ไปจีบสาวหนึ่งคนมีความสุขละ พอได้หนึ่งคน มันสั่งอีกให้จีบสองคน ถ้าไม่จีบจะทุกข์ใจอีกละ เนี่ยมันจะสั่งเราทั้งวันเลย ดูคนที่ตกเป็นทาส มันจะมีความสุขที่ตรงไหน คอยดูอยู่ที่ใจนี่จะเห็นเลย ใจเรานี้ถูกโขกถูกสับอยู่ทั้งวัน หาความสุขที่แท้จริงไม่ได้เลย มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยนะ ร่างกายของเรายังได้นอนพัก แต่จิตใจนี่แทบไม่ได้พักผ่อนเลย กลางคืนก็ฝันต่ออีกนะ ทรมานมากมีความทุกข์มาก คอยรู้อยู่ที่จิตใจเรานี่จะเห็นเลยว่าจิตใจเรานี่ทุกข์มาก จิตใจต้องทำงานทั้งวันทั้งคืนไม่ได้พักผ่อน โขกสับตลอดเวลา เจ้านายมันโขกมันสับตลอดเวลา ทีนี้เราก็ไม่รู้ เราก็ไม่เคยเห็น

เราเป็นทาสที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นทาส เมื่อเราเป็นทาสที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นทาส เราไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเราเป็นทาสอยู่ เพราะฉะนั้นคอยดูใจเราไว้นะ ใจเราเดี๋ยวก็อยากไปโน่น เดี๋ยวก็อยากไปนี่ เดี๋ยวอยากคุยกับคนนี้ เดี๋ยวอยากรู้อยากมี คิดว่าอยากได้อย่างนี้นะ ได้มาแล้วจะมีความสุข กิเลสมันหลอกเรานะ ให้มันวิ่งหาความสุข วิ่งทั้งชาติก็ไม่ได้นะ ความสุขน่ะ อย่างตอนเราเด็กนๆเราจะรู้สึกเลย ถ้าเรียนหนังสือจบจะมีความสุข พอเรียนจบปริญญาตรีมันบอกต่อนะต้องจบโทถึงจะมีความสุข ถ้าได้ด๊อกเตอร์ก็ยิ่งมีความสุขใหญ่ พอเรียนหนังสือจบแล้วก็อย่างนั้นๆแหละนะ ไม่เห็นมันจะมีความสุขตรงไหนเลย ในนี้ก็มีด๊อกเตอร์หลายคนนะ ไม่เห็นจะมีความสุขเท่าไหร่ มันสอนเราต่ออีกนะ ถ้าได้งานดีๆจะมีความสุข ถ้าได้เงินเดือนเยอะๆจะมีความสุข นะ มีแต่คำว่าถ้าตลอดเลยนะ ถ้าได้ตำแหน่งใหญ่ๆจะมีความสุข มีแต่คำว่าถ้า เพราะฉะนั้นชีวิตวิ่งหาความสุขทั้งชาติเลยนะ ต่อไปถ้าได้มีครอบครัวที่ดีๆจะมีความสุข มีลูกฉลาดๆจะมีความสุข ต่อไปพอแก่ๆนะถ้าวันไหนไม่เจ็บไม่ไข้จะมีความสุข พอแก่มากจะใกล้ตาย เจ็บปวดทรมานมากแล้ว จะรู้สึกขึ้นมาอีกละ ถ้าตายซะได้จะมีความสุข คือจนตายยังคิดอีกนะ ถ้าตายได้จะมีความสุข วิ่งหาความสุขไปเรื่อยๆนะ วิ่งพล่านๆๆ ยิ่งกว่าหมาถูกน้ำร้อนนะ พูดแบบง่ายๆ ให้พล่านตลอดเวลาแล้วมันจะมีความสุขที่ไหน มันไม่ได้มีความสุข

ความสุขมันรออยู่ข้างหน้าตลอดเวลา วิ่งหาตลอดชีวิตก็ไม่ได้มันมา
วิ่งเหมือนจะหยิบได้แล้ว เหมือนจะคว้าเอามาได้แล้วก็เลื่อนหายไป

หลุดมือไปลอยอยู่ข้างหน้าอีกแล้ว วิ่งไปเรื่อยๆ นี่ถ้าเรามาคอยรู้อยู่ที่ใจเราจะเห็นเลย โอ้ย น่าอเน็จอนาถน้ำตาแทบร่วงเลยนะ มีแต่ทุกข์ล้วนๆเลย ดีตรงไหน เฝ้ารู้ไปเรื่อยๆนะ รู้กายไป ดูกายนี้เป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุ มีความทุกข์บีบคั้นตลอดเวลา จิตใจมีแต่ความไม่เที่ยง มีความไม่เป็นอิสระ ถูกกดขี่ถูกบังคับอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เจ้านายของตัวเองนะ ไม่ได้เป็นอัตตาได้หรอก ไม่ใช่เจ้าข้าวเจ้าของของมันได้ ต้องดูเรื่อยๆนะ พอดูไปเรื่อยๆต่อไปเราก็จะเริ่มเห็นความจริง ความจริงเป็นตัวปัญญาเห็นเป็นลำดับๆไป ปัญญาเบื้องต้นเลยเราจะเห็นเลย ร่างกายนี้จิตใจนี้ไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง ต้นทีเดียวก็จะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราก่อน ร่างกายดูง่ายว่าไม่ใช่ตัวเรา แต่จิตใจดูยากว่าไม่ใช่ตัวเรา

พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนบอกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ คนศาสนาอื่นก็ได้ ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ สามารถเห็นว่ากายนี้ไม่ใช่ตัวเรา เพราะว่าเห็นน่ะคนโน้นก็ตายคนนี้ก็ตายนะ หน้าตาของเราวันนี้กับหน้าตาของเราตอนเด็กๆก็ไม่เหมือนกัน เห็นละ แต่ท่านบอกว่าปุถุชนที่ไม่ได้สดับไม่ได้ฟังธรรมของท่าน ไม่สามารถเห็นได้ว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานะ พวกเรารู้สึกมั้ย ในนี้มีเราอยู่คนหนึ่ง เราตอนนี้กับเราตอนเด็กๆก็เป็นเราคนเดิม รู้สึกมั้ย เนี่ยในนี้มีเราอยู่คนหนึ่งน้า เราเดี๋ยวนี้กับเราตอนเด็กๆก็ยังเป็นเราคนเดิม นี่เพราะอะไร เพราะเราไม่เห็นความเกิดดับของจิตนั่นเอง เราเลยคิดว่าจิตเที่ยง จิตของเราตอนเด็กกับตอนนี้คนเดียวกัน จิตของเราวันนี้กับจิตของเราเย็นนี้ก็คนเดียวกัน เรายังเป็นคนเดิมอยู่นะ จิตของเราเดี๋ยวนี้กับจิตของเราปีหน้านะ ก็ยังเป็นคนเดิมอีก ตายไปแล้วเราก็ยังว่าอยู่ว่าจิตชาติหน้ากับจิตเดี๋ยวนี้ยังเป็นคนเดิมอีกนะ เป็นเพราะเราไม่เห็นความจริง เราไม่เห็นความจริงว่าจิตนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป พระพุทธเจ้าท่านสอน จิตอาศัยอยู่ในกาย ดวงหนึ่งเกิดขึ้นดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน และก็วิ่งไปอย่างรวดเร็ว เราไม่เคยเห็น ถ้าเรามาคอยรู้มาคอยดูนะ ดูใจของเรา ดูไปเรื่อยๆ

วิธีดูจิตใจนะ ขั้นแรกง่ายที่สุดคอยรู้ความรู้สึกของตัวเองไว้ ความรู้สึกของตัวเราเปลี่ยนแปลงทั้งวันนะ บางวันตื่นขึ้นมาก็สดชื่น บางวันตื่นขึ้นมาก็แห้งแล้ง จิตใจไม่เหมือนกัน ดูเป็นวันๆได้ก็ดูเป็นเวลานะ ตอนเช้าบางคนจะรีบมาศาลาลุงชิน นัดเพื่อนไว้เพื่อนมาสายใจก็กลุ้มใจนะ หงุดหงิดนะ เห็นจิตใจหงุดหงิด หลวงพ่อมาใหม่ๆเริ่มฟังใหม่ๆ ตื่นเต้น ฟังมาหลายนาทีชักจะง่วงๆ ดูใจของเรา ความรู้สึกของเรา ความเปลี่ยนแปลง หัดดูไปเรื่อยๆ ไม่ใช่หัดบังคับนะ ไม่ได้เรียนเพื่อจะบังคับกายบังคับใจ แต่หัดดูให้เห็นความเป็นจริงนะ กายนี้ใจนี้ไม่เที่ยง นะ กายนี้ใจนี้เป็นทุกข์ กายนี้ใจนี้บังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ฝึกบังคับ ฝึกดูให้เห็นความจริง จิตใจไม่เที่ยงนะ ปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย สุขก็ชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราวนะ ดีก็ชั่วคราว มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ล้วนแต่ของชั่วคราว ดูมันไป ในที่สุดเราจะเห็นเลยจิตทุกชนิดเลยนะ จิตที่เป็นกุศลก็ชั่วคราว จิตที่เป็นอกุศลก็ชั่วคราว นี่จิตมันเกิดดับๆไปเรื่อยๆ ต่อไปดูให้ละเอียดขึ้นไปอีก จิตที่ไปทางตาก็ชั่วคราว จิตที่ไปทางหูก็ชั่วคราว จิตที่ไปคิดก็ชั่วคราว นั่งฟังหลวงพ่อพูดนี่เดี๋ยวมองหน้าหลวงพ่อ เดี๋ยวฟังเดี๋ยวคิด สลับไปสลับมา จิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา หัดรู้หัดดูสิมันทนสติทนปัญญาของเราไม่ได้หรอก

หัดรู้หัดดูมากเข้าๆ จะเห็นเลยโอ้ย จิตนี้ไม่เที่ยงนะ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จิตนี้เป็นอนัตตาเราบังคับมันไม่ได้ สั่งให้มันดีก็ไม่ได้นะ ห้ามมันไม่ให้ชั่วก็ไม่ได้ คอยดูไปเรื่อย เดี๋ยวก็เผลอ เดี๋ยวก็เผลอนะ หัดดูไป เผลอแว๊บไปรู้สึก แว๊บไปรู้สึกไปเรื่อย จิตที่เผลอเป็นอกุศล เกิดขึ้นมาห้ามมันไม่ได้ จิตจะรู้สึกตัวคือรู้ทันว่าเมื่อกี๊เผลอไป สั่งให้เกิดก็ไม่ได้นะ แต่ถ้าจิตมันจำได้ว่าเผลอเป็นยังไง สติถึงจะเกิดถึงจะระลึกขึ้นได้ว่าเผลอไปแล้วนะ เผลอไปแล้วนะ รู้ตามหลังไปติดๆอย่างนี้ตลอดเวลา การดูจิตดูตามหลังไปเรื่อยๆนะ ดูไปเมื่อกี๊เผลอไปละ เมื่อกี๊เผลอไปละ รู้ไปเรื่อยๆ เมื่อกี้โกรธไปละ เมื่อกี้โลภไปละ คอยรู้คอยดูตามหลังไปเรื่อยๆ เช่นเราขับรถอยู่คนปาดหน้าเราปั๊บนี่ มันโกรธละ โกรธรู้ว่าโกรธนะ โกรธรู้ว่าโกรธ ถ้ารู้ถูกต้อง ความโกรธจะดับทันทีแล้วก็รู้อีก ความโกรธดับไปละ ถ้ารู้ไม่ถูกต้อง ความโกรธเกิดขึ้นอยากให้หายโกรธ พออยากให้หายโกรธนี่จิตมีโทสะอีกละ มีโทสะตัวที่สอง อันแรกนี่โกรธไอ้คนที่ปาดหน้าเรา อันที่สองโกรธตัวเองที่มันมีกิเลส โกรธความโกรธที่เกิดขึ้น เราก็รู้ตามไปทีละขณะๆ จิตใจตอนนี้กำลังโกรธความโกรธตัวแรกอยู่ รู้ทัน ถ้ารู้ทันความโกรธตัวแรกจะดับเลย จิตจะตื่นขึ้นมา เต็มที่ขึ้นมา คอยตามรู้ตามดูไปเรื่อยๆนะ ไม่ใช่เรื่องยากอะไร

เพราะฉะนั้นธรรมะจริงๆง่ายนะ มันยากเพราะว่าเราไม่ค่อยได้ฟัง สิ่งที่พวกเราได้ศึกษาอบรมส่วนมากก็คือ ปุญญาภิสังขาร ความปรุงแต่งฝ่ายดี ทันทีที่เราคิดถึงการปฏิบัติเราก็จะเริ่มบังคับกายบังคับใจตัวเอง บางคนกำหนดลมหายใจนะ หายใจมาตั้งแต่เกิดไม่เหนื่อยนะ พอกำหนดลมหายใจ เหนื่อยจะตายละ บางคนเดินช้อปปิ้งเช้ายันค่ำไม่เหนื่อยนะ เดินจงกรมห้านาทีแทบจะตายละ เหนื่อย ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะมันเคยตามใจตัวเองตลอดเวลา


รู้สึกมั้ยมีคนเข้ามาหาพระเนี่ย ดูคนเอาน้ำมาถวายพระ ขณะที่เราดูเค้าเราลืมตัวเองไปเรียบร้อยละ เนี่ยจิตมันหลงไปทางตา รู้สึกมั้ยพอหลวงพ่อหยุดพูดใจเราเริ่มเคลื่อนไหวนะ รู้สึกมั้ย เนี่ยหัดดูไปอย่างนี้ หัดดูลงปัจจุบัน ง่ายๆ ง่ายมาก บางคนหลวงพ่อบอกง่ายมากก็เลยบอกยากเยอะนะ แต่ครูบาอาจารย์ทุกองค์นะ ที่หลวงพ่อเคยสัมผัสมา ท่านบอกง่าย หลวงปู่ดูลย์ ก็ว่าง่าย หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่สิม อะไรอย่างนี้ ว่าง่าย หลวงปู่สุวัจน์บอก ง่าย ท่านง่ายแล้วท่านจะเงียบๆไปนิดนึงนะแล้วท่านจะบอกว่า แต่มันก็ยากเหมือนกัน ทำไมมันยากเหมือนกันแหละ เพราะเราไม่เคยเรียนไม่เคยรู้ เราเคยฝึกแต่จะบังคับตัวเอง บังคับกายบังคับใจ บังคับกายบังคับใจคืออัตตกิลมถานุโยคนะ คือความสุดโต่งข้างบังคับตัวเอง นะ ต้องเข้าใจ ส่วนทางสายกลางเนี่ยให้รู้กายให้รู้ใจตามความเป็นจริงจิตใจจะมีความสุข รู้กายก็เห็นเลยกายไม่ใช่ตัวเรา รู้จิต จิตมันไม่เที่ยง เราบังคับมันไม่ได้ไม่ใช่ตัวเราเหมือนกัน

จบแล้วเนาะ ธรรมะจริงๆมีไม่มากหรอก…


Posted by : ไม้สั้นรันขี้ , Date : 2006-08-10 , Time : 12:54:36 , From IP : 202.28.62.245

ความคิดเห็นที่ : 1


    ในร่างกายและจิตใจ
มีสิ่งที่อาจเรียกว่า...
พระไตรปิฎก ที่แท้จริงให้ศึกษา
ชนิดที่ไม่อาจเพิ่มเข้า หรือชักออก
แม้แต่อักขระเดียว
ขอให้พยายามอ่านพระไตรปิฎก
เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์
เรื่องความดับทุกข์ จากพระไตรปิฏกเล่มนี้ กันทุกคนเถิด

................ของฝากจากสวนโมกข์


Posted by : เจ้ากี้เจ้าการ , Date : 2006-08-10 , Time : 16:37:36 , From IP : 172.29.2.220

ความคิดเห็นที่ : 2


    ธรรมะที่ท่านอาจารย์แสดงไว้นี้มีประโยชน์มาก แต่ต้นทางจริงๆนั้นคือการมีศรัทธาเลื่อมใสที่จะทดลองปฎิบัติตาม ท่านไม่ได้สอนให้เชื่ออย่างงมงายแต่ต้องทดลองทำดู เมื่อใดที่ท่านทดลองทำดูแล้วได้ผลเป็นอย่างไรก็ให้ไปปรึกษาขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากท่านได้ ลองเข้าไปดูที่ website http://luangporpramote.wimutti.net/
หาได้ยากยิ่งนักที่จะได้พบพระภิกษุสาวกแห่งพระพุทธเจ้าที่มีความสามารถทั้งปริยัติและปฏิบัติ สามารถแสดงธรรมได้อย่างแจ่มแจ้งเข้าใจง่ายเช่นท่านอาจารย์ปราโมทย์
สำหรับผมเองนั้นได้ทดลองทำตามแล้วได้ผลตามสมควร รู้สึกว่าจิตใจได้มีการพัฒนาดีขึ้นมีสติสัมปชัญญะบ่อยครั้งขึ้นกว่าเดิม จิตมีความสงบและปล่อยวางได้มากขึ้น เห็นอริยสัจจ์ได้ดีขึ้นมาก ทดลองทำตามดูนะครับคงมีประโยชน์สำหรับท่านบ้างไม่มากก็น้อยครับ


Posted by : ธรรมาธิปไตย , Date : 2006-08-13 , Time : 12:15:07 , From IP : 172.29.5.107

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.006 seconds. <<<<<