เคยมีความพยายามจะแก้ปัญหาและมีการคุยต่อเนื่องอีกหลายครั้ง copy มาให้ดู ของเมื่อปี 2547 ได้มีการนำเสนอผู้บริหารทั้งกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัย
สรุปรายงานการหารือ
ระบบการส่งต่อในสภาวะวิกฤต
วันที่ 7 กันยายน 2547
สรุปเนื้อหาการหารือ
1. ปัญหาในระบบส่งต่อที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ปัญหาในการส่งต่อที่มีปัญหามากนั้นคือปัญหาผู้ป่วยในระยะวิกฤต ทั้งอันเนื่องมาจากสถานการณ์ไฟใต้หรือสถานการณ์ปกติก็ตาม โดยปัญหาที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆที่มีปัญหาในการส่งต่อ ได้แก่
- การไม่มีแพทย์ในสาขาขาดแคลน เช่น Nuero-surgery , Orthopedist เป็นต้น ปัญหาการขาดแคลนแพทย์กลุ่มนี้มีมายาวนาน และไม่มีแนวโน้มที่ความขาดแคลนจะดีขี้น เช่น ปัจจุบันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีแพทย์ Orthopedic เพียง 2 ท่าน และมี Nuero-surgeon เพียง 2 ท่านที่ประจำที่ รพศ.ยะลา
โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลน Neuro-surgeon นั้น มีความขาดแคลนสูงในโรงพยาบาลของภาครัฐ แต่หากนับรวมถึงโรงพยาบาลเอกชนในตัวเมืองหาดใหญ่แล้ว มีจำนวนที่มากพอ ซึ่งหมายความว่าต้องการการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันในการสร้างระบบการดูแลผู้ป่วยที่ดีที่สุด Neuro-surgeon ส่วนใหญ่ยินดีมาผ่าสมองให้ในโรงพยาบาลของรัฐ โดยได้ค่าตอบแทนตามสมควร แต่สิ่งที่เขาต้องการควบคู่กันคือ คนที่จะรับดูแลหลังการผ่าตัดต่อไป
- การมีเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ สำหรับ case refer ที่ต้องใส่ endotracheal tube ทำให้เมื่อไม่มีเครื่องช่วยหายใจ ก็มีการปฏิเสธการรับ refer โดยมักไม่ได้เข้าใจความยุ่งยากของโรงพยาบาลชุมชนในการดูแลผู้ป่วยและครอบครัวในรายนั้นๆ ปัญหาดังกล่าวมีมานาน แต่ไม่ได้รับการแก้ไขโดยภาพรวม ในปัจจุบันโรงพยาบาลสุไหงปาดีมีเครื่องช่วยหายใจของตนเอง หากมี case ก็จะพาเครื่องไปด้วย เมื่อใช้เสร็จก็ขอคืนมาสำรองที่โรงพยาบาล เรื่องดังกล่าว หากมีการบริหารจัดการในโรงพยาบาลใหญ่ ร่วมกับการจัดการงบลงทุนในภาครวมแล้ว น่าจะอยู่ในวิสัยที่จัดการแก้ปัญหาได้
- การไม่มีเตียงว่างในแผนกนั้นๆที่จะรับผู้ป่วยไว้ดูแลรักษา แม้ว่าจะมีเตียงว่างในแผนกอื่นก็ตาม ซึ่งมักจะเป็นปัญหาในกรณีที่มีความจำเป็นต้องส่งต่อมายังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ส่วนโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้นไม่มีปัญหา เพราะเป็นระบบเสริมเปลได้หากเตียงเต็ม
- ผู้ป่วยที่มี Multiple Trauma หรือ Multiple Systemic Involvement ที่มีพยาธิสภาพในหลายระบบ บ่อยครั้งที่แพทย์ผู้ส่งต่อจากโรงพยาบาลชุมชน ต้องประสานภายในกับแพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขาด้วยตนเอง ซึ่งทำให้เสียเวลาในการส่งต่อมาก ทั้งๆที่การประสานภายในควรเป็นบทบาทหน้าที่ของแพทย์ที่ ER ของโรงพยาบาลที่รับ refer
ดังนั้น ด้วยความไม่พร้อมที่จะรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิหรือตติยภูมิ ทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน ต้องใช้เวลามากในการโทรประสานเพื่อส่งต่อผู้ป่วย จากโรงพยาบาลแรกที่ไม่รับด้วยข้อจำกัดบางอย่าง ไปสู่โรงพยาบาลแห่งที่ 2 ที่มีเหตุผลที่ไม่รับต่างออกไป บางครั้งต้องโทรศัพท์ถึงโรงพยาบาลที่ 5 6 จึงมีการตอบรับ จึงจะสามารถส่งต่อผู้ป่วยไปได้ ท่ามกลางความไม่เข้าใจของญาติว่า ทำไมโรงพยาบาลถึงส่งช้ามาก และมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วย ทำให้ได้รับการดูแลต่อโดยแพทย์เฉพาะทางที่ล่าช้าเกินไปอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
2. แนวคิดในการแก้ปัญหา
เพื่อลดความกดดันของแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน จึงควรจะกำหนดให้มี ศูนย์ประสานการรับส่งต่อ ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งรับผิดชอบ 6 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา พัทลุง สตูล เพื่อเป็นศูนย์ประสานที่สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องของสถานการณ์ด้านเตียง แพทย์ เครื่องมือ ในแต่ละรพ.ที่มีศักยภาพที่จะรับผู้ป่วยได้ เพื่อให้ "แพทย์" ในรพ.ชุมชนหรือรพ.ระดับทุติยภูมิ ได้ข้อมูลว่าจะสามารถติดต่อโดยตรงในกรณีฉุกเฉินกับโรงพยาบาลใดที่จะเสียเวลาในการโทรส่งต่อน้อยที่สุด ในอนาคตศูนย์นี้จะขยายหน้าที่ จนไปถึงแก้ปัญหา การส่งต่อส่งกลับด้วย
โดยมีพันธกิจ คือ
1. เน้นระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินในขั้นแรก
2. ในระยะเริ่มต้น ควรเริ่มโดยรวมอย่างน้อย 3 จังหวัดภาคใต้ ตอนล่าง และสงขลา
3. สร้างความยอมรับจากแต่ละรพ.ที่รับการส่งต่อ
4. หาทางแก้ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทาง โดยประสานการใช้ทรัพยากรจากโรงพยาบาลเอกชน
5. สร้างองค์กรที่สามารถแก้ปัญหา โดยพึ่งระบบการเป็นมิตร ( Informal ) และระบบราชการ ( formal )ควบคู่กัน
ภาระกิจ (ในระยะแรกเน้น อุบัติเหตุ - ฉุกเฉิน)
1. ประสานการดำเนินการระบบส่งต่อใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และภาคใต้ตอนล่าง
2. ประสานข้อมูลการรับ-ส่งต่อ และการส่งกลับ
3. แก้ปัญหาการส่งต่อ และดำเนินการรับส่งต่อ ภายใต้ข้อกำหนดของคณะกรรมการศูนย์ประสานการรับส่งต่อ
องค์กรหลักประสานการรับส่งต่อ
เนื่องจากทุกจังหวัดในขณะนี้ได้มีระบบการรับผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน ณ.จุดเกิดเหตุ หรือ 1669 อยู่แล้ว ดังนั้น น่าจะสามารถใช้ความพร้อมของระบบ 1669 ให้รับภารกิจนี้เพิ่มเติมด้วย อันจะทำให้การทำหน้าที่ต่อยอดจากบทบาทของ 1669 ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับการจัดวางระบบนั้น มีข้อเสนอแนะดังนี้
1. 1669 โรงพยาบาลหาดใหญ่ พัฒนาเป็นศูนย์ประสานการรับส่งต่อ ภาคใต้ตอนล่าง มีหน้าที่ในการประสานข้อมูลภายในจังหวัดสงขลา และประสานขอข้อมูลจาก 1669 ของแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานกลางของทุกจังหวัดในภาคใต้ตอนล่าง
2. 1669 โรงพยาบาลยะลา ปัตตานี นราธิวาส สุไหงโกลก เบตง (สตูล พัทลุง) เป็นผู้ประสานภายในจังหวัด แล้วแจ้งรายงานให้กับ 1669 ของโรงพยาบาลหาดใหญ่
แนวทางการดำเนินงานของศูนย์ประสานการรับส่งต่อ (1669 หาดใหญ่)
1. จัดตั้งทีมงานรับส่งข้อมูล ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมอุปกรณ์สื่อสารประจำศูนย์ 1669 (โดยจะกำหนดเบอร์โทรศัพท์ใหม่)
2. ทุกเช้า - เย็น ศูนย์ประสานการรับส่งต่อ จะโทรติดตามจากศูนย์ประสานในแต่ละจังหวัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ Neuro-surgery, Ortho, เตียง Admit, Ventilator
3. ทุกเช้า - เย็น ศูนย์ประสานการรับส่งต่อดำเนินการเช่นเดียวกับ 2 กับ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์และโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการ
4. โรงพยาบาลต่างๆ เมื่อประสงค์จะส่งต่อสามารถโทรศัพท์ขอข้อมูล ความพร้อมสถานพยาบาลจากศูนย์ประสานการรับส่งต่อ(หาดใหญ่)ได้ หากติดต่อสถานพยาบาลที่ได้รับข้อมูลแล้วยังมีปัญหา ให้แจ้งกลับศูนย์ประสาน จะเป็นตัวกลางดำเนินการแทน
5. ศูนย์ประสานจะดำเนินการแก้ปัญหาภายใต้คณะกรรมการระดับเขต โดยข้อกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบ และสถานพยาบาล รับดูแลเบื้องต้น ภายใต้แนวคิดรับไว้แล้วจัดการให้
กลไกการดำเนินการ
แกนนำ 1.ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข
2. คณะกรรมการดำเนินการ จากแกนนำของทีมต่าง ๆ โดยกำหนดให้มี
ผู้ทำหน้าที่ซึ่งมีอำนาจตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้
ทีม ประกอบด้วยตัวแทนจาก 1669 ของแต่ละจังหวัด (หัวหน้าศูนย์และเลขา)
องค์กรที่จะมีส่วนร่วม ในเบื้องต้น
รพ. สงขลานครินทร์,รพ.หาดใหญ่, รพ.เอกชน, รพ.สงขลา, รพ.ยะลา, รพ.ปัตตานี, รพ.นราธิวาส, รพ.เบตง, รพ.สุไหงโก-ลก (รพ.พัทลุง, รพ.สตูล),
รพ. ชุมชนในจังหวัดต่าง ๆ
บทสรุป
การมีศูนย์ประสานงานกลางเพื่อการส่งต่อนั้น จะสามารถช่วยให้เกิดความราบรื่นลงตัวในการส่งต่อผู้ป่วยได้มากขึ้น และจะทำให้มีระบบการเก็บข้อมูลการส่งต่อได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์และวางระบบที่มั่นคงต่อไป
Posted by : อดีตหมอ รพช. , Date : 2006-07-25 , Time : 15:34:16 , From IP : 203.147.36.34
|