ความคิดเห็นทั้งหมด : 11

กาลเทศะในโรงพยาบาล


   เอามาให้อ่านกัน สำหรับ ผู้ที่ ต้องเข้ามาในโรงพยาบาล จะเรียกว่าเป็น กฏกติกา มารยาท ในการใช้พื้นที่ สาธารณะ ที่ ไม่ใช่เราเป็นเจ้าของ ก็แล้วกัน
กาลเทศะในโรงพยาบาล -=byหมอแมว=-


โรงพยาบาลรัฐบาลเป็นสถานที่สาธารณะทางสาธารณสุข มีคนเข้าออกมากมายไม่จำกัดชนชั้นเพศวัย เนื่องจากมีคนทั่วไปและมีผู้ที่เจ็บป่วยเข้าออกมากมาย ดังนั้นจึงมีกติกาที่ตั้งขึ้นมาร่วมกัน เพื่อจะได้อยู่กันอย่างมีความสุข

แต่ปัจจุบันเกิดสิ่งที่เรียกได้ว่า "ผิดกาลเทศะ" เกิดขึ้นภายในรพ. บางอย่างเห็นผลในทันที บางอย่างแฝงอยู่ในรูปความไม่พอใจและก่อให้เกิดความเครียดมากขึ้น ก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งง่ายขึ้น วันนี้จะมาบอกเล่าตีแผ่สิ่งที่เรียกได้ว่า ผิดที่ผิดทางภายในรพ.

1.บุหรี่
ได้ยินมาว่าปัจจุบันมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในรพ. ถ้าใครฝ่าฝืนจะต้องโดนจับปรับ ทั้งในรพ.ก็มีโปสเตอร์เรื่องการสูบบุหรี่ว่าเป็นโทษต่อร่างกายของตนเองและคนรอบข้าง มีโปสเตอร์สัตว์ประหลาดที่ประกอบจากร่างกายผู้สูบบุหรี่ฯลฯ แต่ปัจจุบันนี้ วันไหนที่ผมไม่ได้เห็นคนสูบบุหรี่ในโรงพยาบาลแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติ

ในการตรวจผู้ป่วยใน มีผู้ป่วยหลายคนมานอนป่วยในรพ.ด้วยเรื่องถุงลมโป่งพองเกิดอาการกำเริบ อย่างเช่นวันนี้ก็มีพระองค์หนึ่ง มานอนรพ.ด้วยเรื่องหอบ นอนอยู่หลายวันอาการก็ดีขึ้นบ้างแต่ยังไม่หายดี....... วันนี้ตอนไปตรวจ ก็เจอซองบุหรี่พร้อมทั้งไฟแช๊ก วางอยู่บนโต๊ะ... เป็นของลูกศิษย์ที่มาเฝ้านั่นเอง หรือบางครั้ง มาด้วยเรื่องหอบเหนื่อยจนแทบต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แต่พออาการดีขึ้นก็เดินออกไปนอนตึกแล้วไปนั่งสูบบุหรี่จนหืดจับ แล้วก็กลับเข้ามาขอพ่นยา
เช่นเดียวกัน ญาติผู้ป่วยที่มาเฝ้าไข้ หลายคนสูบบุหรี่จัดและเลิกไม่ได้ เคยมีประสบการณ์กำลังตรวจอยู่ก็มีสิงห์อมควันสองคนพ่นควันปู้ดปู้ดที่นอกหอผู้ป่วย (ผมแพ้ควันบุหรี่) ระหว่างนั้นมีคนไข้หลายคนที่ไอขึ้นมา รวมทั้งผมเองที่เดินตรวจอยู่ก็เริ่มไอมากขึ้นชักจะไม่ไหว เลยรบกวนญาติคนไข้ให้ไปบอก ปรากฎว่าคำตอบที่ได้คือ "เรื่องของ.... .....ยุ่งอะไรด้วย"
การสูบบุหรี่ในโรงพยาบาล ถือว่าผิดกฎหมายครับ .. แม้ว่าปัญหาที่พบคือ ในต่างจังหวัดตำรวจไม่ค่อยอยากจับปรับเพราะว่าก็รู้จักกันทั้งนั้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องกาลเทศะที่ต้องใช้จิตสำนึกที่ว่า ไม่รักตนเองก็กรุณานึกถึงคนอื่นบ้าง



Posted by : guru , Date : 2006-07-13 , Time : 17:39:36 , From IP : 203.188.45.16

ความคิดเห็นที่ : 1


   2.จอดรถผิดที่
รพ.เป็นที่ๆมีคนมากันมากมายและต้องใช้เวลา ดังนั้นการจอดรถจึงเป็นเรื่องที่ต้องจัดการให้ลงตัว อย่างไรก็ตามก็มีการจอดรถที่ผิดที่ผิดทางและก่อให้เกิดผลเสียตามมา
- จอดรถในที่ของเจ้าหน้าที่ ปกติที่จอดรถในรพ. มักจะมีที่จอดรถบางที่ ที่กำหนดให้บุคลากร เพราะว่าถ้าไม่ทำไว้ให้ก็จะทำให้ขลุกขลักและส่งผลต่อการทำงาน(ต้องมาเสียเวลาควานหาที่จอดรถ) บางครั้งคนที่มารับบริการก็ลักไก่ไปจอดในที่จอดรถของเจ้าหน้าที่เพราะเห็นว่าสะดวกและมีหลังคา(มีเพราะว่าเจ้าหน้าที่ต้องทำงานทั้งวัน) พอเจ้าของที่มา ก็เข้าจอดไม่ได้ต้องไปหาที่จอดอื่น เสียเวลากันไปใหญ่ ..... ผมเองก็เคยมีตอนที่มารพ.ตอนเช้าแล้วเจอรถคนไข้จอดในที่จอดข้างบ้านพักตนเองเหมือนกัน
- จอดในที่ไม่ควรจอด เข้าใจอยู่ว่าบางครั้งรีบกัน แต่ว่าควรจะดูด้วยว่าที่ๆจอดนั้นสมควรหรือไม่ บางครั้งมากันหลายคนพาคนไข้มาคนเดียว พอจอดรถที่หน้าตึกฉุกเฉินก็ลงจากรถกันทั้งหมด ทิ้งรถไว้ให้ขวางทางเข้าออก ร้ายไปกว่านั้นบางคนรีบมาหาญาติ ก็จอดรถทิ้งไว้กลางถนนหน้าห้องฉุกเฉินแล้วเข้ามาถาม หลังจากนั้นก็ทิ้งรถไว้เลย..... การทิ้งรถให้กีดขวางทางในรพ.ที่เป็นที่สาธารณะถือเป็นเรื่องที่ไม่น่าทำเพราะถ้าคุณทิ้งไว้ในจุดที่สำคัญบางจุด จะมีผลต่อคนไข้อื่นที่อาจจะฉุกเฉินและรอช้าไม่ได้


Posted by : guru , Date : 2006-07-13 , Time : 17:45:19 , From IP : 203.188.45.16

ความคิดเห็นที่ : 2


   3.พาเด็กเล็กมารพ.
ถ้าพาเด็กมาตรวจก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การพาเด็กเล็กมารพ.โดยไม่จำเป็นเช่นพามาเยี่ยมญาติ หรือพาติดมาด้วยเฉยๆ เป็นสิ่งที่ไม่น่าทำ เพราะว่าอย่างที่รู้กันว่ารพ.เป็นที่ๆมีเชื้อโรคมากมาย มีแต่สิ่งที่ไม่ค่อยน่าดูสำหรับเด็ก รวมทั้งการพาเด็กมารพ.แล้วปล่อยเด็กให้วิ่งเล่นซน นอกจากจะเสี่ยงต่อการหลง เด็กยังอาจจะไปเล่นกับอุปกรณ์การแพทย์ทำให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายถึงแก่ชีวิตผู้อื่นได้
ปรากฎอยู่เนืองๆ ที่พาเด็กมารพ.แล้วปล่อยให้เด็กวิ่งเล่นในตึกผู้ป่วย ปัญหาที่ตามมาคือหากพยาบาลไปตำหนิ ก็มักจะเกิดการกระทบกระทั่ง(หรือแม้แต่มีบัตรสนเท่ห์) ,หรือถ้าไม่ได้ไปยุ่ง แล้วเด็กไปปรับน้ำเกลือเล่น ไปปรับเครื่องช่วยหายใจเล่น จนก็ทำให้คนที่นอนอยู่ถึงตายได้ (ซึ่งคนที่รับผิดชอบคนไม่พ้นแพทย์พยาบาลที่อยู่ประจำในฐานที่ปล่อยให้เด็กวิ่งเล่น)

อีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องการทำข้าวของเสียหาย เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์หลายชนิดมีราคาแพง(เครื่องช่วยหายใจเครื่องเขียวๆ ราคาเป็นแสน เครื่องจับออกซิเจนปลายนิ้วเฉพาะสายราคาเหยียบหมื่น) ผมเคยพบเจอมาหลายแบบทั้งดึงสายขาด วิ่งเล่นปีนป่ายชนเครื่องช่วยหายใจล้ม ปีนเตียงคนไข้แล้วกระโดนจนแกนเตียงหัก (เตียงละ2หมื่น) ขอกล่าวตรงๆเลยว่าเกือบ100% เวลาบอกราคาค่าเสียหายไป คำแรกๆที่ออกมาจากปากผู้ปกครองถ้าไม่ใช่ "แพงเกินเหตุ" ก็คือ "ทำไมหมอพยาบาลไม่ดูแลปล่อยให้เด็กวิ่งเล่น ไม่รู้จักดูแล"
ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นโปรดอย่าพาเด็กเล็กมาโรงพยาบาลเลยครับ




Posted by : guru , Date : 2006-07-13 , Time : 17:47:40 , From IP : 203.188.45.16

ความคิดเห็นที่ : 3


   4.ด่วนไม่ด่วน
ดังเคยกล่าวไว้ในตอน รู้ไว้ก่อนไปรพ.#1 ว่ามีการแบ่งความเร่งด่วนเป็นระดับต่างๆ คือ
- รีบด่วนที่สุด ถ้าไม่ช่วยก็อาจตายได้ในเวลาอันใกล้
-รีบด่วน ถ้าไม่ช่วย อาจส่งผลเสียและอาจถึงขั้นเสียชีวิต
-รอตรวจได้ แต่ต้องรักษา
-รอได้
และในหลายๆครั้ง การมองด้วยตาของญาติหรือจากอาการบางอย่างที่มองด้วยสายตาของคนที่ไม่มีความรู้ด้านร่างกาย มักจะผิดจากความเร่งด่วนจริงๆ
เมื่อไม่กี่วันนี้ ผมโดนแม่ผู้ป่วยท้องเสีย(ถ่าย3ครั้งแต่ปวดท้อง) พูดเสียงดังอย่างจงใจว่า "หมอมัวแต่นั่งเล่นไม่ยอมทำงาน" ในขณะที่ผมกำลังดูคนไข้ที่สงสัยว่าเส้นเลือดในสมองอาจจะแตกที่นอนสงบนิ่งไม่พูดไม่จาอยู่บนเตียง
หรือขณะที่กำลังตรวจดูอาการของคนไข้ติดเชื้อในกระแสเลือดจนไม่รู้สึกตัวความดันต่ำ ก็โดนญาติของผู้ป่วยอีกคน(ที่ผมตรวจไปแล้วและเชื่อว่าน่าจะเป็นโรคเครียด..!)หาว่ามัวแต่ไปดูคนไข้เบา
ที่จริง ที่ถึงขั้นขัดขวางการทำงานยังไม่เกิดกับผม(เพราะเมื่อเข้ามารุ่มร่ามจะให้ไปดูคนไข้ที่เบามากๆ ผมจะไล่ไป) แต่ที่เกิดแน่นอนคือ ทำลายความต่อเนื่องในการรักษา ซึ่งหลายๆครั้ง มีผลต่อชีวิตของคนไข้
ดังนั้น
1.หากรู้ว่ามีโรคอะไรอยู่เดิม หรือรู้ว่าผู้ป่วยมีอาการแบบนี้ทุกครั้งที่เกิดภาวะเร่งด่วน ก็ให้รีบบอกออกไป
2. หากไม่รู้อะไรเลย หมอมาตรวจแล้ว หรือมีพยาบาลมาตรวจแล้วไม่ได้รีบมาก ก็แนะว่าน่าจะรอไปก่อน


Posted by : guru , Date : 2006-07-13 , Time : 17:49:28 , From IP : 203.188.45.16

ความคิดเห็นที่ : 4


   5.รพ.ไม่ใช่ที่ชุมนุม
เวลาผู้ป่วยมารพ. ย่อมมีญาติ
ที่ห้องฉุกเฉินก็มีญาติที่ตามมาจากบ้าน อาจจะมีเพื่อนบ้าน เพื่อน หรือแม้กระทั่งผู้เห็นเหตุการณ์ตามมา
ถ้ามีคนไข้สามสี่คนน่ะ ไม่เท่าไหร่
แต่หลังยุคสามสิบบาท ห้องฉุกเฉินไม่ว่าที่ไหนต่างก็มีคนไข้ทั้งที่ด่วนและไม่ด่วน(และคนไม่ป่วย)เพิ่มขึ้น
เมื่อเอาคนไข้และญาติทั้งหมดมารวมกัน ก็จะมีคนในห้องฉุกเฉินอาจจะร่วม50-100คน
จำนวนคนที่มากขึ้นย่อมก่อให้เกิดปัญหาหลายๆอย่างตามมา
"เสียง" เสียงที่ดังขึ้นก็ทำให้การสื่อสารทำได้ยากขึ้น เป็นปัญหาในการซักประวัติตรวจร่างกายคนไข้ นอกจากนี้จะทำให้เกิดภาวะเครียดมากขึ้น คนไข้และญาติจะรู้สึกว่ารอนานขึ้น อย่างผมเองเวลาเหตุการณ์อยู่ในภาวะบรรยากาศมาคุเริ่มมีเสียงแข็งทั้งญาติทั้งหมอ ส่วนใหญ่ก็เกิดเวลาคนมากๆ
"ชน" คนมากๆ บางทีจะยืนจะเดินก็ลำบาก การทำงานก็ยากขึ้น
"มือบอน" ทั้งด้วยความคึกคะนอง รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างเช่นเตรียมยาเสร็จแล้วเดินไปหยิบยามาดูแล้ววางไว้ที่อื่น กดปุ่มอุปกรณ์บางอย่างเล่น(เช่นเดินมาเล่นเครื่องช๊อตหัวใจ) ปรับน้ำเกลือเล่น เอาฟิล์มx-rayไปดูแล้ววางไว้ผิดที่ เรื่องพวกนี้มักเกิดขึ้นเวลามีคนมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายถึงชีวิตคนไข้ (แต่ความรับผิดชอบมักตกกับคนที่ทำงาน)
"สงสัย" ญาติหรือเพื่อนที่มาทีหลัง มักเดินเข้ามาถามหมอถึงสิ่งที่หมอพูดไปหมดแล้ว... โดยปกติผมเองจะให้ญาติรอภายนอก เมื่อตรวจรักษาแล้วหรือต้องการบอกอะไร ก็จะเรียกมาพูดคุยทีเดียว... ในกรณีที่มีคนเข้ามาอยู่กันมากๆ ก็มักเรียกคนมาได้ไม่ครบ หรือไม่ก็ได้คนที่ไม่เกี่ยวข้องมาคุย.............. บางครั้งคุยเสร็จ ปรากฎว่าญาติไม่ได้ฟัง ส่วนคนมาฟังไม่มีสักคนที่เป็นญาติ



Posted by : guru , Date : 2006-07-13 , Time : 17:51:31 , From IP : 203.188.45.16

ความคิดเห็นที่ : 5


   กาลเทศะในโรงพยาบาล2 by-=หมอแมว=-


กาลเทศะในโรงพยาบาล2
เมื่อครั้งที่แล้วได้เขียนตอนที่หนึ่งของหัวข้อนี้เอาไว้ และคิดว่าได้รับการตอบรับรวมทั้งมีคำวิจารณ์พอสมควร
ประเด็นที่ผมต้องการนำเสนอ ที่จริงคือการมีมารยาทในการอยูร่วมในสังคมธรรมดาๆนี่เอง เพียงแต่ว่าในช่วงเวลาที่มีคนใกล้ชิดเจ็บป่วย หลายๆคนจะลืมไปว่าความจริงแล้วไม่เพียงแต่ครอบครัวของตนเท่านั้นที่ลำบาก แต่ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ต้องมาอยู่ร่วมในโรงพยาบาลด้วย
และที่เห็นได้ชัดคือการที่หลายความเห็นบอกว่า ถ้าสิ่งใดไม่เหมาะก็บอกกันสิ... แต่ในขณะเดียวกัน งานปกติก็มีมากอยู่แล้ว หากต้องมาไล่บอกญาติคนไข้ทีละคนก็คงไม่ต้องทำอะไรกันพอดี
เรื่องเหล่านี้ ที่จริงคือcommon senseหรือมารยาทธรรมดาที่มักหลงลืมกันเวลามาอยู่ร่วมในโรงพยาบาลครับ
มาต่อกันเลยดีกว่า

6. เวชระเบียน ไม่ใช่ของดูเล่น
เวชระเบียน เป็นสิ่งที่เก็บรวบรวมประวัติของคนไข้คนหนึ่งๆไว้ ถ้าเป็นคนไข้ที่นอนโรงพยาบาล มันจะถูกเก็บอยู่ใน"ชาร์ทผู้ป่วย" หรือ "ฟอร์มปรอท" และวางรวมกันไว้ที่เคาท์เตอร์พยาบาล
บางคนอาจจะคิดว่า เวชระเบียนเป็นข้อมูลของคนไข้ คนไข้และญาติก็มีสิทธิเต็มที่ในการรับรู้
เราเลยได้เห็นกันบ่อยๆที่ญาติคนไข้หรือคนไข้เองเดินไปหยิบประวัติคนไข้มาอ่าน และที่บ่อยไม่แพ้กันคือ พยาบาลจะดุคนที่เข้าไปอ่าน ส่วนใหญ่จะจบลงที่ตรงนี้ แต่มีอีกไม่น้อยที่จะเถียงกลับทันทีว่าเป็นสิทธิของญาติและผู้ป่วยที่จะรับรู้ข้อมูลดังกล่าว
อาจจะเป็นเรื่องยาวหากจะมาถกกันว่าทำไมประวัติคนไข้ในแฟ้มจึงไม่ได้เป็นสิทธิของคนไข้ทั้งหมด แต่สรุปเป็นข้อๆได้ว่า

- ญาติไม่มีสิทธิไปเปิดอ่าน เพราะไม่ใช่ประวัติของตน
- คนไข้ไม่ควรไปเปิดอ่าน เนื่องจาก ถ้าประวัติในนั้น มีแต่เรื่องของตนก็ดีไป.... แต่ถ้าไปมีเรื่องของคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง อาจมีผลทางกฎหมายได้
- เรื่องที่เป็นปัญหา ส่วนใหญ่จะเกิดกับคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคที่คนรอบข้างรังเกียจ ,ผู้สูงอายุที่มีลูกหลานมาก(โดยเฉพาะเมื่อลูกหลานไม่ถูกกัน)
- หากเลือกปฎิบัติ ว่ากรณีที่ไม่มีอะไรก็เปิดเผยได้ กรณีที่ควรปิดบังก็ให้ปิดบัง จะเป็นการสร้างความไม่สบายใจให้เกิดขึ้น ..และยังติดขัดที่ไม่มีมาตรฐานกลางและไม่มีกฎหมายมารองรับ หากแพทย์พยาบาลปล่อยให้มีการอ่านประวัติคนไข้แล้วเกิดความเสียหาย หรือมีผู้ที่รู้สึกว่าตนได้รับความเสียหาย ปัญหาจะเกิดอยู่กับทางรพ.
ปัจจุบันมีผู้ที่ออกมาเรียกร้องว่าเวชระเบียน เป็นสมบัติของคนไข้ แต่ว่าเนื่องจากไม่มีกฎหมายออกมารับรอง และเป็นการเรียกร้องที่ไม่ได้เสนอทางเลือกทางออกที่เป็นรูปธรรม(และเหมาะสม)แก่คนทำงาน ก็ยังถือว่าเวชระเบียนเป็นสิ่งที่ไม่ควรไปเปิดอ่านโดยพลการ
แต่หากต้องการประวัติ ให้ทำการขออย่างเป็นระเบียบแบบแผนครับ...



Posted by : guru , Date : 2006-07-13 , Time : 17:52:42 , From IP : 203.188.45.16

ความคิดเห็นที่ : 6


   7.การนำการรักษาแบบอื่นเข้ามาในโรงพยาบาล
สังเกตไหมครับว่าแพทย์สมัยก่อนจะห้ามเด็ดขาดในเรื่องการรักษาพื้นบ้านหรือการรักษาตามความเชื่อ แต่ แพทย์แผนปัจจุบันตามโรงพยาบาลเดี๋ยวนี้ ส่วนใหญ่จะไม่ห้ามเรื่องความเชื่อของคนไข้ในการรักษาแบบต่างๆแล้ว
เพราะว่า
- เรื่องใดที่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าดีหรือไม่ดี และหากทำไปแล้วไม่ได้มีผลเสีย ก็ไม่ได้มีปัญหา
- หากทำไปแล้ว เห็นได้ชัดว่ามีผลเสีย ก็เป็นเรื่องของคนไข้ (ไม่ใช่สิทธิ เพราะคนเราไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะทำร้ายตนเอง)
- โรคบางโรค พอรักษาแล้วไม่หาย ถ้าปล่อยให้ทำตามความเชื่อ ญาติจะมองว่าถึงที่ตายแล้ว... แต่ถ้าไปห้าม ญาติจะมองว่า"เพราะหมอห้ามก็เลยไม่หาย" เรื่องนี้เป็นความจริงที่พบทั่วไปในสังคมไทย
แต่สิ่งหนึ่งที่ควรรู้คือ แพทย์ก็มีหลักที่ว่าถ้าคนไข้จะทำอะไรที่เป็นอันตรายต่อตน.. เป็นสิ่งที่แพทย์ไม่สามารถยอมได้(เพราะผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม)
และอีกส่วนหนึ่ง การกระทำที่ทำในโรงพยาบาล ก็ย่อมถือว่าอยู่ในความรับผิดชอบของแพทย์พยาบาลที่ดูแลอยู่

ตัวอย่างเช่น ในศาสนาคริสต์นิกายหนึ่ง ห้ามมิให้รับเลือดไม่ว่ากรณีใดๆ เวลาจะผ่าตัดหรือได้รับอุบัติเหตุมาก็จะเป็นปัญหาว่าคนไข้จะไม่ยอมรับเลือดไม่ว่าจะอยู่ในระดับที่อันตรายเพียงใดก็ตาม ซึ่งแพทย์ก็ไม่มีสิทธิไปให้เลือดถ้าคนไข้ยังบอกว่า"ไม่"
แต่เมื่อระดับเลือดตกลงถึงจุดที่เป็นอันตรายต่อชีวิตจนคนไข้ไม่อยู่ในสภาพที่จะปฏิเสธได้ แพทย์ก็มีสิทธิที่จะให้เลือด และญาติก็ไม่มีสิทธิที่จะห้าม (ถ้าจะห้ามก็พาคนไข้หนี)
หรือ
คนไข้ถูกหมาบ้ากัด แต่ไม่ต้องวัคซีน แต่ต้องการใช้ยาพื้นบ้าน... แพทย์ก็จะมีทางเลือกให้ว่าถ้าจะมารักษา ก็ฉีดวัคซีน ถ้าไม่ต้องการมารักษา ก็กรุณากลับบ้านไป

ไม่ใช่มาบอกให้แพทย์เซ็นชื่อรับรองว่าการรักษาตามความเชื่อนั้นๆเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งที่แพทย์ไม่เห็นด้วย
(เรื่องนี้เปรียบเทียบง่ายๆกับการสร้างตึก ที่เจ้าของตึกเชื่อว่าไม้ไผ่แข็งแรง แต่จะไปบังคับวิศวกรว่าให้สร้างชั้นล่างด้วยไม้ไผ่ แล้วชั้นที่เหลือสร้างด้วยปูนไม่ได้)



Posted by : guru , Date : 2006-07-13 , Time : 17:53:51 , From IP : 203.188.45.16

ความคิดเห็นที่ : 7


   8. การตัดสินใจในเรื่องสำคัญ
ในคนไข้ที่มีอาการหนัก แพทย์มักจะมาบอกกล่าวถึงอาการไว้ก่อนให้กับญาติที่เฝ้าในขณะนั้น
ปัญหาที่พบคือมักจะไม่มีการบอกต่อว่าแพทย์ได้บอกอะไร รวมทั้งไม่ได้คิดเผื่อไว้ว่าหากเกิดอะไรขึ้นมา ทางญาติคนที่เหลือจะว่าอย่างไร
ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุด่วนที่ต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วขึ้นมา ก็อาจจะเกิดความล่าช้าในการตัดสินใจได้
อย่างกรณีผู้ป่วยสูงอายุ เป็นอัมพฤกษ์อยู่เดิม มาครั้งนี้เป็นปอดบวมหายใจเหนื่อย ... แพทย์บอกกับลูกคนนึงไปตอนเช้าว่าถ้าหากเหนื่อยมากจะต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ลูกคนนี้บอกว่าใส่ได้เลย.
ตกเย็นลูกอีกสองคนมาผลัดเวร คนไข้เกิดเหนื่อยหอบมากขึ้น ลูกทั้งสองบอกว่าไม่ต้องใส่แล้วกัน เพราะว่าแต่เดิมก็ไม่โต้ตอบช่วยเหลือตนเองไม่ได้มาหลายปีแล้ว หากใส่ท่อแล้วแพทย์ก็รู้ดีว่าโอกาสรอดมีน้อยและอาจจะถอดท่อไม่ได้ เป็นภาระแก่ครอบครัวมาก
กรณีแบบนี้เป็นกรณีเรื่องที่พบได้บ่อยในประเทศไทย และยังเป็นปัญหาเนื่องจากว่า ถึงแม้การใส่ท่อจะช่วยได้แค่ยืดชีวิตไปอีกไม่นานและคนไข้กับญาติทุกคนไม่ต้องการให้ใส่ท่อ แต่ในทางกฎหมายถ้าจะเอาผิดก็สามารถเอาผิดแพทย์ได้(เคยมีแบบสอบถามพบว่ามีอัยการและผู้พิพากษาประมาณ50%บอกว่าถ้ามีคดีจะตัดสินว่าแพทย์ผิดแม้ว่าคนไข้และญาติไม่ต้องการให้ต่อชีวิต,การต่อชีวิตนั้นทรมาน และโอกาสรอดต่ำมากๆๆๆๆๆ)
ดังนั้น ถ้าญาติยังตัดสินใจไม่ลงตัวทุกคน แพทย์ก็จะต้องทำตามวิชาการคือ ช่วยคนไข้จนถึงที่สุด



Posted by : guru , Date : 2006-07-13 , Time : 17:54:46 , From IP : 203.188.45.16

ความคิดเห็นที่ : 8


   9. มารยาทในการอยู่ร่วมกัน
โรงพยาบาล เป็นสถานที่สาธารณะ
ดังนั้นเมื่อท่านเข้ามาใช้สถานที่สาธารณะ ท่านก็ต้องเคารพส่วนรวม
บางคนบอกว่า ผมอยากสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นสิทธิของผม ถ้าผมเดินออกไปนอกตึกแล้วสูบก็เป็นสิทธิของผม.................. ถูกต้องครับ เป็นสิทธิของคุณที่จะสูบ ตราบใดที่กลิ่นบุหรี่ไม่ได้ไปรบกวนคนอื่น
อยากฟังเพลงดังๆ แต่คนอื่นๆไม่ชอบ ก็ควรจะหยุด
อาหารบางอย่างคนอื่นไม่ชอบกลิ่นหรือลักษณะ ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง
คิดจะเอาเด็กมารพ. ก็ต้องควบคุมเด็ก

ตัวอย่างเช่น เด็กบางคนเผลอเป็นไม่ได้ ชอบไปปรับความเร็วน้ำเกลือตามเตียงคนไข้ สิ่งที่แพทย์พยาบาลทำได้ เพียงแต่ว่ากล่าว... คงไม่มีสิทธิไปไล่เด็กออกไป ( เผลอๆอาจจะโดนว่ากลับมา )... แต่อาจจะเดินไปญาติเตียงต่างๆว่า"เด็กคนนี้ชอบมาปรับน้ำเกลือ ว่ากล่าวแล้วหมอพยาบาลโดนด่ากลับมา ยังไงก็ระวังกันหน่อยเพราะว่าอาจจะถึงตายได้"
เหตุที่ต้องบอกซ้ำ เพราะว่าในบางโรงพยาบาลที่แพทย์พยาบาลจู้จี้สักหน่อย ก็ถือว่าท่านโชคดีไป
แต่ในบางที่ บางคนเขาไม่ค่อยพอใจ เพราะเมื่อไปเตือนแล้วโดนด่ากลับมา เขาจะใช้วิธี บอกว่าเหตุที่ไม่สะดวกสบายและเกิดปัญหา เกิดจากใคร

โดยทั่วไปปัญหาที่พยาบาลแพทย์ถูกว่า ว่า "ยุ่งไม่เข้าเรื่อง" "เรื่องมาก" "เจ้าระเบียบไม่ยืดหยุ่น"
เป็นเรื่องที่จริงๆแล้วไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของบุคลากรทางการแพทย์ ที่จะต้องไปเป็น "กันชน" ให้ญาติผู้ป่วยแต่ละฝ่ายในเรื่องมารยาททางสังคมธรรมดา
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ควรจะระมัดระวังกันเองครับ



Posted by : guru , Date : 2006-07-13 , Time : 17:55:37 , From IP : 203.188.45.16

ความคิดเห็นที่ : 9


   10. ถามให้ถูกคน
ในการทำงาน ผมสังเกตว่ายิ่งงานยุ่งมากแค่ไหน ก็จะมีคำถามแปลกๆเพิ่มขึ้น เช่น
- หมอ! ห้องน้ำไปทางไหน
- โรงอาหารอยู่ไหนหมอ!
- ผมลืมเอาบัตรประชาชนกับบัตรทองมา ไม่อยากจ่ายเงิน หมอจัดการให้หน่อย (พูดตอนยุ่งๆ แล้วพูดหลังจากที่บอกว่าให้ไปคุยกับที่จ่ายเงินก่อน )
- ผมจะขอประวัติการรักษาทั้งหมด เดี๋ยวนี้ ตอนนี้!
ถ้าเป็นในขณะปกติ ผมก็ไม่คิดอะไรมาก อะไรรู้ก็ตอบ
แต่บางครั้ง กับคำถามเดียวกันนี้ แต่มาถามในขณะที่มีคนไข้รอตรวจมากๆ มีคนอยู่ในช่วงความเป็นความตายที่แพทย์พยาบาลกำลังช่วยอยู่ บางคำถามที่สามารถถามกับคนอื่นได้ก็น่าจะลองถามคนอื่นก่อน หรือคำถามที่ดูไม่เร่งด่วนนัก ก็อาจจะรอก่อน

..
เพื่อความสุขสงบในการอยู่และใช้โรงพยาบาลครับ
หมอแมว



Posted by : guru , Date : 2006-07-13 , Time : 17:56:58 , From IP : 61.90.155.15

ความคิดเห็นที่ : 10


   เห็นใจครับ ถ้าผมเจอแบบนี้ก็เซ็งเหมือนกัน

Posted by : kurukuru , Date : 2006-07-13 , Time : 21:53:21 , From IP : dns2.mahidol.ac.th

ความคิดเห็นที่ : 11


   เข้าท่าๆ

Posted by : cabin_crew , Date : 2006-07-16 , Time : 16:35:30 , From IP : 172.29.4.108

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.014 seconds. <<<<<