ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

ใครซื้อ-ขายความมั่นคงแห่งชาติ


   โลกทรรศน์ มติชนรายสัปดาห์ 3 มีนาคม 2549

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ใครซื้อ-ขายความมั่นคงแห่งชาติ

กระทรวงการต่างประเทศไทยให้ภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์ด้านความมั่นคงทางทหารว่า

"...กองทัพไทยและสิงคโปร์มีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีต่อกัน ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวมีลักษณะ "หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์" เพื่อให้เกิดความมั่นคงในภูมิภาค โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารร่วมระหว่างกองทัพไทย-สิงคโปร์ ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อติดตามความก้าวหน้าและแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกองทัพเรือไทย-สิงคโปร์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการฝึกและการซ้อมรบร่วมกัน โดยไทยอนุญาตให้สิงคโปร์ใช้พื้นที่ในการฝึกและมีการฝึกอบรมบุคลากรทางทหารร่วมกัน อาทิ การฝึกร่วมผสม (Cobra Gold)..."

แต่เมื่อศึกษาโดยละเอียดมีคำถามสำคัญคือ ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงทางทหารของไทยตอบสนองความต้องการทางด้านการทหารสิงคโปร์มากกว่า

ไทยกับสิงคโปร์มีการทำบันทึกความตกลง (Memorandum of Understanding-MOU) ทางทหารระหว่างกันตั้งแต่ปี 2524 แต่น่าแปลกมาก บันทึกความตกลงดังกล่าวเป็นความตกลงที่สิงคโปร์ได้เปรียบเพียงฝ่ายเดียว กล่าวคือ สิงคโปร์มีสิทธิในการใช้ฐานทัพอากาศในประเทศไทย การฝึกบิน มีการส่งกำลังบำรุงและการบินผ่านซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับกองทัพอากาศสิงคโปร์ แต่ไม่มีการระบุว่าให้กองทัพอากาศไทยใช้ฐานทัพอากาศสิงคโปร์ การฝึกบิน มีการส่งกำลังบำรุงและการบินผ่านประเทศสิงคโปร์

ระยะเวลาล่วงเลยไป 23 ปีกระทรวงกลาโหมไทยได้คิด 22 พฤศจิกายน 2547 มีการทำบันทึกความตกลงใหม่ เป็นบันทึกความตกลงว่าด้วยการสนับสนุนด้านการฝึกกองกำลังและการส่งกำลังบำรุงซึ่งกันและกันระหว่างกองทัพอากาศไทยและสิงคโปร์ บันทึกดังกล่าวลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของทั้งสองฝ่ายแต่เกิดขึ้นในช่วงเวลาพิเศษหลายอย่างประกอบกัน กล่าวคือ

เป็นช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ 1 มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยเป็นบุคคลที่ดูไม่สำคัญ ไม่เชื่อมโยงกับพรรคไทยรักไทยโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี อยู่เพียงสั้นๆ แต่ทำงานสำคัญมาก

ความเปลี่ยนแปลงภายในของไทยดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเดียวกันกับที่นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง แห่งสิงคโปร์เยือนไทย อันสอดคล้องกับการทำงานการทูตของนายกรัฐมนตรีไทยในลักษณะพิเศษที่เรียกว่า Four Eye Diplomacy

ปริศนา?

ดูเหมือนว่า กระทรวงกลาโหมไทยฉลาดขึ้นเพราะบันทึกความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางทหารระหว่างไทย-สิงคโปร์ทำให้ไทยกับสิงคโปร์มี สถานภาพเป็น "หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์" (Strategic Partner) กล่าวคือ ภายใต้บันทึกความตกลงดังกล่าว กองทัพอากาศไทยสามารถใช้ฐานทัพสิงคโปร์ บินผ่าน มีการส่งกำลังบำรุงได้ ความตกลงนี้มีระยะเวลา 15 ปี

เหนือสิ่งอื่นใด รัฐบาลสิงคโปร์ใจดีให้หรือบริจาคเครื่องบินใช้แล้ว F-16 A และ B จำนวน 7 ลำแก่กองทัพอากาศไทย แน่นอน ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ เครื่องบินใช้แล้วที่บริจาคให้กองทัพอากาศไทยนั้นเป็นข้อแลกเปลี่ยนกับการใช้สนามบินอุดรธานีของไทย ขณะนี้รัฐบาลสิงคโปร์บริจาคเครื่องบินใช้แล้ว F-16 A จำนวน 3 ลำ F-16 B จำนวน 4 ลำมาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2548 (http:// www.f-16.net/f-16_users_article20.html

มีการประโคมข่าวจากทางกระทรวงกลาโหมของไทยว่า การดีลครั้งนี้แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศสมาชิกอาเซียนคือไทยและสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม การบริจาคเครื่องบินใช้แล้ว F-16 จำนวน 7 ลำแก่กองทัพอากาศไทยก่อให้เกิดปริศนาอย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ

เงิน

หนังสือพิมพ์ The Nation รายงานว่า กองทัพอากาศไทยได้ตกลงทำความตกลง เพื่ออนุญาตให้กองทัพอากาศสิงคโปร์ใช้ฐานทัพอากาศจังหวัดอุดรธานีปีละ 3 ครั้งเพื่อแลกเปลี่ยนกับ การบริจาคเครื่องบิน F-16 มือสองจำนวน 7 ลำที่ประเมินมูลค่าแล้วมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท (Panya Tiewsangwan and Bancha Khaengkhan, "Thai Air Force admits Singapore deal" The Nation 19 November 2004) เงินจำนวนดังกล่าวสูงมากหมายถึงค่าเช่า ถ้าเช่นนั้น ค่าเช่านั้นจ่ายให้กับหน่วยงานราชการใด

เรื่องนี้เป็นความมืดมนทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของจำนวนเงินมหาศาล แต่เกิดขึ้นอย่างมีเลศนัยในช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไร้นามและอยู่ในช่วงสั้นนิดเดียวคือ พลเอกสัมพันธ์ บุญญนันต์ (Reuters 12 November 2004) โดยทำในช่วงที่ พลเอกคงศักดิ์ วันทนา ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ

พลเอกสัมพันธ์ระหว่างนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมแทน พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร เมื่อการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายของรัฐบาลทักษิณ 1 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2547 หมายความว่า เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้ไม่ถึง 2 เดือนแต่ลงนามในความตกลงที่สำคัญดังกล่าว

หลังจากนั้น นายทหารผู้นี้ได้หายไปจากเศรษฐกิจการเมืองไทยไปเลยเหมือนกับที่หลายๆ คนหายไปเมื่อหมดภาระหน้าที่สำคัญของตนแล้ว

ความมั่นคงของสิงคโปร์

จากการรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ คนบริจาคเครื่องบินมือสองครั้งนี้ของสิงคโปร์มี 2 คน คนแรกคือ นาย Teo Chee Hean รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมซึ่งเดินทางมาพร้อมกับการนำเสนอเบื้องต้นในการแนะนำเครื่องบินใช้แล้ว นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง (Reuters 12 November 2004) ถ้าเป็นดังที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานออกมา ดีลครั้งนี้เป็นการตอบสนอง โรคความมั่นคง ของรัฐบาลสิงคโปร์โดยแท้

รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดวางการป้องกันส่วนหน้า (forward defence) มาที่ประเทศไทยโดยการใช้สนามบินอุดรธานี ฝึกกำลังรบเอาไว้ต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ปรับเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์ (Geo-politics)โดยผนวกดินแดนประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานการต่อต้านการก่อการร้ายไปพร้อมกัน

สิงคโปร์นั้นเป็น โรคความมั่นคง ขึ้นสมอง ธันวาคม 2544 สำนักงานความมั่นคงภายในสิงคโปร์ได้จับกุมบุคคลต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้าย 15 คนโดยคาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับองค์กร Jemaah Islamiyah หรือ JI ในประเทศสิงคโปร์มีชาวมุสลิมที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มองค์กรที่ชื่อว่า Moro Islamic Liberation Front หรือ MILF และเคยให้เงินบริจาคแก่การทำงานด้านก่อการร้ายเพื่อเป้าหมายที่เป็นทรัพย์สินของสหรัฐอเมริกาในสิงคโปร์มาแล้ว

สิงคโปร์ได้ออกมาตรการอีกหลายอย่างเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย เช่น การออกพระราชบัญญัติต่อต้านการก่อการร้าย จัดตั้งหน่วยงานใหม่อันได้แก่ Home Front Security Center, Counter-Terrorism Center เดือนกันยายน 2546 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และ นาย วอง กัน เส็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกันแถลงมาตรการต่อต้านการก่อการร้าย โดยขอให้ผู้ประกอบการทุกแห่งเข้มงวดต่อมาตรการความปลอดภัย เพราะถือว่าสิงคโปร์ยังเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย

เมื่อเป็นดังนี้ เครื่องบินมือสอง 7 ลำจึงอยู่ในแผนงานเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของสิงคโปร์จากเกาะเล็กๆ เป็นความมั่นคงในภูมิภาค (regional security) เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายกับรัฐบาลไทยซึ่งนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร พูดอยู่เกือบทุกวันว่า ประเทศไทยไม่มีการก่อการร้ายข้ามชาติ โดยที่ตัวของเขาเองก็ตอบคำถามประชาชนไทยและหน่วยงานความมั่นคงไทยไม่ได้ว่า เครื่องบินมือสอง 7 ลำนั้นจะเอามารบกับกลุ่มก่อการร้ายหรือกับพรรคคอมมิวนิสต์ในลาวและมาเลเซียซึ่งเป็นเรื่องหลงยุคไปแล้ว

เครื่องบินมือสองเป็นเพียงละครตอนแรกของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของบริษัทโทรคมนาคมและสัมปทานโทรคมนาคมของรัฐบาลไทยกับบริษัทรัฐบาลสิงคโปร์


Posted by : somepeople , Date : 2006-05-15 , Time : 01:46:43 , From IP : 172.29.4.93

ความคิดเห็นที่ : 1


   อย่างที่รู้ๆ กัน มันก้อเป็นเช่นนั้นแหละ

Posted by : คนรู้ทันทักษิณ , E-mail : (suwita29@hotmail.com) ,
Date : 2006-05-16 , Time : 10:23:20 , From IP : 58.147.115.98


ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<