ความคิดเห็นทั้งหมด : 20

การเรียนบนward


   ขึ้นปี 4 เรียนบนwardมาได้จะ 4สัปดาห์แล้ว ยังรู้สึกงงๆ อยู่เลยค่ะ ไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไร และจะอ่านหนังสืออย่างไรดีคะ ลงจากwardถึงหอก็หลับทุกทีเลยค่ะ ความรู้พื้นฐานชั้น preclinicก็ยังไม่ค่อยแน่น ควรจะอ่านหนังสือ และดำรงชีวิตอยู่บนward อย่างไรดีคะ

Posted by : swans , Date : 2006-05-14 , Time : 12:28:42 , From IP : 172.29.4.162

ความคิดเห็นที่ : 1


   น้องลองตัดเรื่องการเรียนเพื่อให้ได้เกรดดีๆออกไปก่อนนะ แล้วตั้งหลักที่ว่าเราจะเรียนเพื่อให้รู้สึกสนุก และเข้าใจตัวคนไข้ของเราให้มากเพื่อไม่ให้รู้สึกเบื่อและรักคนไข้ของเรา
ตัวพี่เริ่มต้นปี4 ด้วยwardศัลย์ ซึ่งเนื้อหานั้นมากมายไม่ต่างอะไรกับward med แต่เหนื่อยกายกว่า ก็เหมือนน้องนั่นแหล่ะ กลับถึงหอหลับเป็นตาย ทุกครั้งที่เริ่มต้นอ่านหนังสือ ไม่เคยอ่านหน้าที่1จบเลยสักครั้ง รู้สึกผิด และเป็นกังวลเพราะขึ้นwardก็โดนอัดโดนถามคำถามที่ตอบไม่ได้ทุกที แบบนี้ก็คงแย่เช่นกันเพราะมันห่วงหน้าพะวงหลังอยู่ตลอดเวลา ช่วงหลังพอจับหลักได้ พี่ใช้วิธีเก็บความรู้จากการround wardโดยวิธีจดความรู้ที่ได้ และก็จดคำถามทุกอย่างที่ถูกพี่ถาม จดทุกcaseเลย แต่สนใจที่caseของเรามากหน่อย แล้วลองไปอ่านหาคำตอบเฉพาะส่วนนั้นดูโดยไม่ต้องไปอ่านทั้งหมดเพราะว่ามันจะอ่านไม่ทัน แต่ก็จะเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะว่าในวันรุ่งขึ้นของการroundก็จะมีการมาเฉลยคำตอบจากพี่ๆหรือจากอาจารย์ แต่ว่าก็จะมีคำถามใหม่กลับไปให้อีก ก็คงลงที่แบบเดิม แต่มันก็ตื่นเต้นดีที่ว่าเราจะทำสำเร็จไหม เราจะตอบคำถามพี่ๆหรืออาจารย์ได้ถูกไหม ซึ่งที่พี่มักประสบอยู่เสมอก็คือ มักจะตอบคำถามได้ไม่ค่อยถูกนัก เฉียดไปบ้าง หรือตอบได้แบบห่างไกลจากที่อาจารย์อยากได้ไปเลยก็มี ซึ่งพี่ว่าแบบนี้ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะเรายังเป็นเด็กประสบการณ์ยังน้อย และที่สำคัญคือตัวเราเองได้พยายามเต็มที่แล้ว
นอกจากนี้ น้องคงต้องเข้าเรียนlecture ห้ามขาดเลยนะ จ้องตาให้แป๋วไว้ ตั้งสมาธิให้แน่วแน่ เพราะช่วงนี้แหละเป็นการสรุปสุดยอดความรู้ที่เราอ่านเองแล้วสับสนให้เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น พอเวลาเราไปอ่านทบทวนมันก็จะได้ง่ายขึ้น แต่ข้อเสียของการรอlectureคือ เราต้องรอให้เวลาlectureนั้นมาถึงตามตารางที่กำหนด ซึ่งหัวข้อมันมักไม่ทันการต่อการใช้งานของเรา ไม่ว่าจะเป็นการเขียนรายงาน การround ward
เอาเป็นว่าสรุปง่ายๆก็คือ
อันดับแรก ให้น้องอ่านเรื่องที่เกิดขึ้นในward โดยเฉพาะเรื่องราวของคนไข้ของเรา และคนไข้อื่นที่อยู่ข้างเคียง เพื่อเอาไปใช้ตอนround wardและตอนเขียนรายงานคนไข้เราจะได้เข้าใจคนไข้ของเราถ่องแท้มากขึ้น
อันดับสอง อ่านlecture อันนี้เพื่อการใช้งาน และเพื่อการสอบ
ไม่รู้ว่าน้องมีความเห็นว่าอย่างไรบ้าง ลองแลกเปลี่ยนกันได้นะ



Posted by : aries , Date : 2006-05-15 , Time : 05:58:36 , From IP : 172.29.7.106

ความคิดเห็นที่ : 2


   ขอบคุณค่ะ หนูก็พยายามจดทุกคำถามเลยค่ะ แต่ส่วนใหญ่มักจะหาไม่ทัน และหาไม่เจอ บางครั้งอ่านไปแล้วแต่ก็ยังจำไม่ค่อยได้ หรือบางอย่างที่พี่สอนแล้วก็จำไม่ค่อยได้(เมื่อเทียบกับเพื่อนที่รับความรู้ไปพร้อม ๆ กัน) จนบางครั้งหนูก็รู้สึกหงุดหงิดกับความจำของตัวเองค่ะ ยิ่งไปเรียนจิตเวขก็ยิ่งคิดเหมือนตัวเองเป็น depressive disorder (แค่ใกล้เคียงน่ะค่ะ) อาจารย์คิดว่าจะมีวิธีการ retain memory อย่างไรดีคะ

Posted by : swans , Date : 2006-05-17 , Time : 19:25:11 , From IP : 172.29.4.250

ความคิดเห็นที่ : 3


   สู้เข้านะคะ พี่เองก็มีปัญหาช่วงปีสี่เหมือนกัน กว่าจะปรับตัวได้ก็เหนื่อยน่าดู แต่ก็สนุกมากกว่า preclinic เยอะ เอาใจช่วยค่า

Posted by : กระป๋องน้อย , Date : 2006-05-17 , Time : 22:41:23 , From IP : 172.29.4.110

ความคิดเห็นที่ : 4


   น้องคงเป็นคนออกจะตระหนกหวั่นวิตกหรือไม่ก็กังวลง่ายไปสักหน่อย เวลามีเรื่องใหม่ๆหรือมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเราเลยสับสนง่าย แต่ก็น่ารักดี ที่มีความตระหนักรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึก และความคิดของตนเอง พี่ขอแนะนำว่า

น่าจะเลิกเปรียบเทียบเรื่องการรับข้อมูลจากการroundระหว่างเรากับเพื่อนนะเพราะวิถีการรับข้อมูลของคนเรานั้นไม่เหมือนกัน ก็คงตามlearning styleหน่ะ

น้องต้องฝึกให้มีสมาธิเวลาroundจ้า จะเป็นวิธีไหนก็ได้ค่อยๆหาไปนะ อย่างพี่เนี่ยจะใช้วิธีฟังแล้วจดnoteย่อสั้นๆ พี่จะมีสมาธิเป็นช่วงสั้นๆ ซึ่งก็พอได้อยู่แต่อาจไม่ดีนัก เพราะว่าในการroundกับพี่บางคนนั้น อาจround caseนึงนานมาก สมาธิพี่ก็กระเจิงเหมือนกัน

ทำอย่างไรให้ตัวเองอารมณ์ดี ไม่เศร้าหรือมองตนเองตกต่ำ คงต้องฝึกชมตัวเองบ่อยๆนะ ให้กำลังใจตัวเองหน่ะ ที่อยากให้ทำแบบนี้เพราะว่าอารมณ์ที่ไม่ดี มองตัวเองในแง่ร้ายนั้นจะทำให้ตัวเองหมดกำลังใจที่จะทำอะไร ก็เลยดูเหมือนไม่มีสมาธิเพราะไม่มีกำลังใจที่จะไปเรียนรู้ หรือจะไปจดไปจำอะไร อาการเลยออกคล้ายคนสมองเสื่อมเทียมหน่ะ
อีกอย่างนึงนะ น้องคงไม่ต่างอะไรกับคนทั่วๆไปที่เวลาเรียนโรคทางจิตเวชทีไร มักคิดว่าตนเองมีส่วนคล้ายโรคนั้นโรคนี้ทุกทีเลย สาเหตุคงเป็นเพราะน้องตระหนักรู้และหยั่งรู้ถึงอารมณ์ความคิดของตนเองอยู่งัย แต่ว่าจะใช่หรือไม่ใช่ลองสังเกตตนเองไปเรื่อยๆนะ
แล้วมาว่ากันต่อจ้า


Posted by : aries , Date : 2006-05-18 , Time : 01:59:29 , From IP : 172.29.7.91

ความคิดเห็นที่ : 5


   คำถามของคุณ swans เป็นเหมือนกันเลยคือตอนนี้ขึ้นปี 4 med รู้สึกสับสนในชีวิตไปหมดจะลองเอาคำแนะนำของอาจารย์ไปใช้ค่ะ แต่มีข้อสงสัยค่ะว่ารู้สึกมึนหัว เฉื่อยชา ความคิดช้า laodข้อมูลนาน จะมีความผิดปกติอะไรในร่างกายไหมคะ

Posted by : island , Date : 2006-05-20 , Time : 13:28:52 , From IP : 172.29.4.250

ความคิดเห็นที่ : 6


   แล้วเรื่องอารมณ์ของน้องislandเป็นอย่างไรบ้างหล่ะ
ถ้าอารมณ์มันเป็นแบบเบื่อหน่าย หมดกำลังใจ ก็เป็นไปได้ที่จะทำให้ร่างกายเราดูเหมือนหมดแรง หมดพลัง และการับรู้อะไรต่างๆของเราก็ดูเหมือนจะช้าลงได้ อีกอย่างอาจรู้สึกเหมือนสมองไม่แล่นคิดอะไรไม่ค่อยออก แต่พี่ว่าคงยังไม่ต้องดูว่ามีอะไรในร่างกายผิดปกติดีไหม น้องลองสังเกตอารมณ์ของตัวเองก่อนนะ แล้วมาว่ากันต่อ
ดีที่สุดตอนนี้คือ พวกน้องๆต้องตั้งสติให้ดีๆ วางแผนดีๆ อยู่กับปัจจุบันเน้นเรื่องอยู่กับปัจจุบันจ้า จะเลือกอ่านเรื่องอะไรก็อ่านเรื่องนั้นไป อย่าใจลอยกังวลกับเรื่องอื่นที่ยังไม่ได้อ่านดีไหม เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่ได้อะไรเลยนา
ส่วนเรื่องโรคทางจิตเวช ใจเย็นไว้นะ เพราะว่ากำลังหาวันที่ลงตัวกันอยู่ เพื่อให้การช่วยเหลือน้องๆงัย คิดว่าจะพยายามกำหนดให้ได้ก่อนสอบmidblockดีไหม


Posted by : aries , Date : 2006-05-20 , Time : 20:27:08 , From IP : 172.29.7.211

ความคิดเห็นที่ : 7


   จิงอย่างที่อาจารย์ว่าค่ะ คือรู้สึกเบื่อหน่าย หมดกำลังใจ เหมือนไม่รู้จะไปทางๆไหนดี อารมณ์เหล่านี้มีผลต่อความจำหรือร่างกายของเราหรอคะ เช้ามาบางทีสร้างกำลังใจไปขึ้น ward แต่พอกลับลงมาก็รู้สึกท้อแท้ หดหู่เหมือนเดิม อยากมีความสุขกับการเรียนและชีวิตในการเป็นหมอจังเลยค่ะ

Posted by : island , Date : 2006-05-23 , Time : 20:56:22 , From IP : 172.29.4.220

ความคิดเห็นที่ : 8


   เช้ามาบางทีสร้างกำลังใจไปขึ้นward แต่พอกลับลงมาก็รู้สึกท้อแท้ หดหู่เหมือนเดิม
น่าสนใจค่ะ
น้องลองมองวิเคราะห์ลงไปในเหตุการณ์บนwardแต่ละวันดูนะ ว่ามีเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นแล้วทำให้เราเกิดความคิดในแง่ลบที่ตามมาด้วยอารมณ์ที่หดหู่ได้ขนาดนั้น เพราะมันจะทำให้เราแก้ได้ถูกจุดงัย
พี่ยกตัวอย่างนะ
....คนไข้ไม่ยอมคุยด้วย เราเลยคิดว่า เราเนี่ยต่ำต้อยเสียจริง เป็นส่วนเกินของward ไม่มีประโยชน์อะไรต่อขบวนการรักษา หรือคงเป็นเพราะไม่มีความรู้อะไร คนไข้เองก็สัมผัสได้เลยไม่อยากคุยด้วย คิดแบบนี้ก็ท้อแท้ selfตกต่ำลงไปมาก เกิดความรู้สึกอยากหลีกหนี
...อาจารย์ดุหรือทำท่าหงุดหงิดที่เราตอบคำถามไม่ได้ หรืออาจารย์ไม่ได้แสดงท่าทีอะไรเลย แต่เรารู้สึกผิดไปเองที่ตอบคำถามอาจารย์ไม่ได้ ก็คิดไปว่าเรานี่โง่เสียจริง ที่อาจารย์ไม่ว่าเราก็คงเพราะกลัวว่าเราจะเสียกำลังใจมั้งจึงพยายามไม่ตำหนิเรา
......คงมีอีกมากมาย
น้องลองคิดดูนะว่าของน้องเนี่ยมันเป็นอย่างไร แล้วพี่จะตอบน้องใหม่จ้า


Posted by : aries , Date : 2006-05-24 , Time : 06:34:24 , From IP : 172.29.7.211

ความคิดเห็นที่ : 9


   พี่ขอแจ้งข่าวการช่วยเหลือหน่อยนะ
ในวันที่31พคนี้ ในชั่วโมงกิจกรรมวันพุธบ่าย ทางกิจการได้จัดให้พี่นศพปี5มาแนะนำน้องๆถึงวิธีการปรับตัวเรียนในwardให้ประสบความสำเร็จในแบบฉบับของพี่ๆแต่ละคน น้องๆลองเข้าไปฟังดูนะเพื่อจะได้ideaอะไรเอาไปใช้กับตัวเราหน่ะ


Posted by : aries , Date : 2006-05-24 , Time : 06:39:01 , From IP : 172.29.7.211

ความคิดเห็นที่ : 10


   ลองคิดดูแล้วสิ่งที่ทำให้จิตใจหดหู่ มักจะเป็นเรื่องการตอบคำถามไม่ได้ซะส่วนมาก เรื่องการอยู่กับคนไข้ไม่มีปัญหาเลยค่ะ สนุกมากเวลาได้ซักประวัติ พูดคุยเหมือนกำลังเล่นซ่อนหาอ่ะค่ะหรือเวลาได้ทำหัตการ แต่จะรู้สึก fail มาก ๆ เวลาที่ตอบคำถามไม่ได้ บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ควรรู้ตั้งแต่ preclinic แล้วหนูควรทำอย่างไรดีคะ

Posted by : island , Date : 2006-05-24 , Time : 18:48:54 , From IP : 172.29.4.34

ความคิดเห็นที่ : 11


   ดีใจมากที่เวลาน้องอยู่กับคนไข้แล้วสนุก และรู้สึกเหมือนกำลังเล่นซ่อนหากับคนไข้
ถ้าให้พี่เดานะ แสดงว่าในการซักประวัติผู้ป่วยของน้อง น่าจะเป็นว่าน้องกำลังพยายามที่จะฟังคนไข้ให้เข้าใจ แล้วเวลาที่คนไข้ค่อยๆเผยข้อมูลบางอย่างออกมา เพื่อเติมเต็มส่วนที่น้องยังไม่เข้าใจ ซึ่งก็เหมือนกับการดูหนังงัย เรื่องราวของคนไข้มันจะมาเป็นฉากๆ เป็นตอนมีสีสันน้องเลยสนุก พี่ว่าน้องมาถูกทางแล้วหล่ะ เพราะความรู้ส่วนใหญ่นั้นไม่ว่าจะเป็นอาการของโรคใดก็ตาม น้องต้องได้มาจากคนไข้ หนังสือหรือตำรา คือการรวบรวมองค์ความรู้ที่ได้มาจากคนไข้จำนวนมากมาย แล้วนำมาสรุปจัดหมวดหมู่สิ่งที่น่าจะเป็นหรือพบเห็นมากที่สุดในแต่ละโรคนั้นๆ แต่ในโลกของความจริงนั้นคนไข้เราก็จะมีอะไรที่แตกต่าง และvaryออกไปจากตำราอีกมากมาย นั่นแหละคือสิ่งที่น้องต้องเรียนรู้
ถ้าเริ่มต้น น้องมีความรู้สึกแบบนี้ พี่ว่าน้องไม่ธรรมดาเลย เป็นนศพ ที่พี่อยากได้ และหมอที่พิเศษได้แน่นอนในอนาคต
ทีนี้กลับมาที่ความรู้สึกsensitiveง่ายเวลาตอบคำถามไม่ได้
พี่ว่าเป็นเรื่องธรรมดานะ เวลาที่เราตอบคำถามอะไรก็ตามที่อยู่ในตำราไม่ได้ เนื่องจากเรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องของความจำที่เราอาจใส่มันลงไปแค่ระดับ recall memory เมื่อเวลาผ่านไป มันคงต้องลืมเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในระดับผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เราได้ผ่านการทำซ้ำๆเห็นซ้ำๆจนมันเข้าไปอยู่ในremote memory ก็ย่อมจะดูเหมือนว่าเจ๋งกว่าก็เท่านั้น ไม่แปลกถ้าเราตอบอะไรไม่ได้ แล้วต้องไปเปิดตำรา ขอเพียงน้องรู้ว่าต้องเปิดตำราเล่มไหนก็พอ แล้วถ้าน้องได้เปิดซ้ำๆต่อไปเรื่องนี้ก็เลิกเปิดดูได้แล้ว มันก็จะเข้าไปอยู่ในความจำระยะยาวนานของน้องได้
ว่าแต่ เวลาตอบคำถามไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่า น้องเป็นคนไม่ดีนะ มันมีความหมายเพียงแค่ตอบคำถามไม่ได้ก็เท่านั้น ก็ไปแก้ที่ทำอย่างไรให้หาคำตอบนั้นมาได้ แต่สุดท้ายแล้ว น้องต้องอย่าลืมว่า มันก็ต้องมีคำถามต่อไปอีกที่น้องนั้นจะต้องตอบไม่ได้ และมันคงต้องเป็นแบบนี้ไปตลอดชีวิตน้องแน่นอน อาจารย์ต่างๆถึงพยายามบอกน้องงัยว่าต้องเรียนตลอดชีวิตของการเป็นหมอ
แต่ว่าไป สมัยที่พี่เป็น นศพ พี่ก็ตอบคำถามอาจารย์หรือพี่ๆพชทไม่ได้ออกบ่อยไป ขณะตอนนี้เวลาดูคนไข้ก็ยังมีคำถามเกิดขึ้นกับตัวเองเสมอ เปิดตำราได้คำตอบบ้างไม่ได้บ้าง ก็ต้องอาศัยถกกับผู้รู้บ้าง ยอมเป็นคนโง่ก่อนก็ไม่เห็นแปลก เพราะที่สำคัญเรายังเป็นคนดีอยู่งัย
น้องว่างัยหล่ะ...แล้วมาว่ากันต่อนะ


Posted by : aries , Date : 2006-05-24 , Time : 23:32:47 , From IP : 172.29.7.204

ความคิดเห็นที่ : 12


   ของหนูโดนด่ากระแทก โดนประชด โดนไล่กลับไปนอนบ้าง โดนด่าว่าไม่ต้องมาราวด์แล้ว โดนด่าว่าเฉื่อย ว่าขี้เกียจเวลาตอบไม่ได้ แรกๆก็รู้สึกเครียดแล้วก็เคยร้องไห้หลายครั้ง โดนเข้าไปทุกวันๆ มันทำให้ไม่อยากเรียนไปเลยอ่ะค่ะ ทั้งๆที่ตั้งใจมาดูคนไข้ทั้งเช้าและเย็นนะคะ หนูชอบคุยกับคนไข้ค่ะ มันทำให้หนูเกิดมีกำลังใจที่จะเรียนหมอค่ะ หนังสือหนูก็อ่านทุกวัน วันละหลายชั่วโมง นอนก็ไม่ถึง 5 ชม.มาเป็นเดือนค่ะ
สุดท้ายก็โดนบดขยี้ทำลายกำลังใจ ความตั้งใจซะไม่มีชิ้นดีเลยค่ะ ตอบได้ก็โดนต้อนจนตอบไม่ได้แล้วก็โดนด่าว่าเมื่อไหร่จะเลิกทำตัวเฉื่อยซะที หนูว่ามันแรงมากค่ะ คนเป็นอาจารย์ไม่สมควรจะพูดแบบนี้ค่ะ
คิดแล้วก็รู้สึกแย่ ไม่อยากเรียน ไม่อยากเจอหน้าอาจารย์เลยค่ะ
หนูเกิดมาหนูไม่เคยตั้งใจเรียนขนาดนี้มาก่อนเลยนะคะ แล้วชีวิตหนูก็ไม่เคยมีใครทำร้ายจิตใจและเหยียบย่ำหนูได้รุนแรงเท่านี้มาก่อน
สุดท้ายก็ลองถามตัวเองดูว่า แล้วมันจะได้อะไรขึ้นมา มีแต่เสียเวลาอันมีค่าที่เราต้องเรียนรู้ไปเปล่าๆ ช่วงหลังๆก็เลยทนทำใจให้ถูกด่า ถูกว่า แล้วก็อ่านอย่างที่อยากจะอ่านค่ะ
ก็รู้สึกดีขึ้นเยอะ ได้ความรู้ขึ้นมาเยอะเลยค่ะ ตอบคำถาม ให้คำแนะนำคนไข้ได้พอสมควรค่ะ
หนูไม่รู้ว่าหนูทำถูกรึปล่าวนะคะที่ neglect อาจารย์ แต่หนูไม่มีทางออกจริงๆค่ะ
วันๆนึงหนูก็มีเวลาแค่ 24 ชม.เท่าคนอืนๆ ต้องอยู่บนโรงพยาบาล 13 ชั่วโมง หกโมงครึ่งถึงทุ่มครึ่ง กลับมาก็เหนื่อยหมดแรง อ่านหนังสือก็ไม่เข้าหัว จำไปใช้ไม่ได้เลย
ทางออกของหนูคือต้องอดทนใช่มั้ยคะ พี่มีทางออกอื่นดีๆให้หนูไหมคะ
หนูกำลังกลัวค่ะ ว่าวันนึงความตั้งใจจะเรียนหมอของหนูจะหมดไปค่ะ


Posted by : แมงหวี่ , Date : 2006-05-27 , Time : 12:50:41 , From IP : 172.29.4.92

ความคิดเห็นที่ : 13


   เออ.......ถ้ามีการวิจัยเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยใช้สองวิธี คือพูดดีๆ กับพูดดุๆ จะได้ไหมครับ

Posted by : cabin_crew , Date : 2006-05-27 , Time : 19:21:09 , From IP : 172.29.4.84

ความคิดเห็นที่ : 14


   การเรียนแพทย์เรามีครูอยู่หลายอย่าง ...อาจารย์แพทย์.. คนไข้...
ถ้าน้องจะถือว่า น้องจะเลือกเรียนจากใครก็ตามเพื่อมาเป็นครูของน้อง โดยมีข้อกำหนดว่าทำให้น้องได้เรียนรู้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการเลือกให้คนไข้เป็นครูก็คงไม่ผิดกติกาใดๆ อันนี้พี่ขอสนับสนุน
ทีนี้กลับมาที่การโดนอาจารย์ดุ
ถ้ามองในมุมของพี่ โดยลองempathyอาจารย์ที่ดุมากๆ ซึ่งพี่ก็เคยโดนดุมาเหมือนกัน คงพอมองได้แบบนี้ค่ะ
...อาจารย์นั้นอาจidentifyอาจารย์ของตนเองที่ดุมากๆมาอีกที เค้าเรียกว่าidentify with aggressor หน่ะ ไม่ได้ตั้งใจจะดุสักหน่อย แต่พอสวมบทบาทครู ก็นึกออกแต่ในแบบที่ตนเองเคยเจอเคยเห็นมา คือครูของตนเองที่มีท่าทีดุมากๆ มันเลยแสดงอาการดุออกมาแบบไม่รู้ตัวหน่ะ
...อาจารย์อาจคาดหวังในตัวนักศึกษามากไปหน่อย ทีนี้พอเด็กๆตอบไม่ได้ก็รู้สึกผิดหวัง และมีผลต่อตัวตนของอาจารย์เองคือรู้สึกตนเองตกต่ำที่สอนลูกศิษย์ได้ไม่เก่งพอ ตอบอะไรง่ายๆก็ไม่ได้ แต่ว่าความรู้สึกแบบนี้ตนเองก็รับไม่ได้นะ เลยprojectออกไปที่ลูกศิษย์ น้องๆก็เลยต้องรับไปเต็มๆเลย
.....อาจารย์อาจมีความมั่นใจในตนเองต่ำไปหน่อย กลัวเด็กๆจะมาทำร้าย โดยการถามอะไรที่ตนเองตอบไม่ได้ เลยต้องใช้วิธีแย่งถามก่อน พอเด็กตอบไม่ได้ก็ถูกใจเลย เพราะทำให้ตนเองรู้สึกเก่งกว่าเด็ก ความมั่นใจก็มา เอ้อ..ดีขึ้นหน่อย แต่หารู้ไม่ว่าทำลายselfคนอื่นไปเสียแล้ว
..........
นี่เป็นเพียงแค่การลองวิเคาระห์เล่นๆหน่ะ เผื่อทำให้น้องสบายใจขึ้นได้บ้าง เพราะดูเหมือนว่า เรื่องทั้งหมดอาจไม่เกี่ยวกับตัวน้องเลย มันเป็นเรื่องของpathologyในตัวอาจารย์ล้วนๆเลยก็ว่าได้
ว่าแต่น้องก็อาจจะมีความไวต่อการรับรู้เรื่องลบๆต่อตนเองมากไปสักหน่อยก็ได้เหมือนกัน ลองหนักแน่นหน่อยดีไหม แล้วท่องคำนี้ไว้ ตอบคำถามอาจารย์ไม่ได้ ไม่ใช่คนเลว คนเรียนไม่เก่งก็ไม่ใช่คนไม่ดี ไม่เก่งขยันสักหน่อยก็เก่งขึ้นได้ ตราบใดที่น้องไม่ทำร้ายคนไข้หรือทำให้ผู้ป่วยเสียใจ พี่ว่าน้องดีที่ล้ว
สู้ต่อไป.........เป็นกำลังใจให้นะ


Posted by : aries , Date : 2006-05-27 , Time : 22:01:03 , From IP : 172.29.7.69

ความคิดเห็นที่ : 15


   ขอบคุณสำหรับคำแนะนำดี ๆ ค่ะ แล้วหนูจะพยายามลองประยุกต์ใช้ดูนะคะ หนูอยากรู้ว่าถ้าเราเป็นคนคุยไม่เก่ง เราควรจาปรับตัวอย่างไรในการอยู่บน ward ไม่ว่าจะเป็นการคุยกับคนไข้ หรือพี่ ๆ พชท อ่ะค่ะ

Posted by : island , Date : 2006-05-29 , Time : 19:46:48 , From IP : 172.29.4.208

ความคิดเห็นที่ : 16


   ลองไปคุยในอีกมุมมองหนึ่งจะดีไหมครับ คือตั้งวัตถุประสงค์ว่าเรา "อยากจะรู้จัก" คนไข้ให้มากที่สุด อยากรู้ว่าเขาทุกข์เรื่องอะไรจึงมา รพ. ต่อเมื่อเรา "เข้าใจ" ความทุกข์ของเขา เราจึงจะสามารถช่วยเหลือเขาได้ การซักประวัติหรือการพูดคุยกับผป.นั้นเป็นศิลปที่สำคัญอย่างหนึ่ง บุคลิกของเราเป็นอย่างไรอาจจะไม่เท่าความรู้สึก "อยากจะช่วย" คนไข้ที่ควรจะมีเป็นพื้นฐาน ถ้ามีตรงนี้แล้ว จะพูดอะไร อย่างไร ส่วนใหญ่จะถูกต้องครับ นี่คือการใช้ "ความเป็นมนุษย์" ในการรักษาคนไข้ มันจะช่วยต่อไปว่าถ้าคนไข้รู้สึกเสียใจ ตกใจกลัว ในฐานะ "คนๆหนึ่ง" (ไม่ใช่ นศพ. หรือ หมอ) จะทำอะไรให้คนอื่นที่กำลังเศร้า กำลังทุกข์ได้บ้าง

กับพี่ resident ก็เหมือนกัน พี่เป็นครูชั่วคราว เป็นผู้ร่วมงานระดับสูงกว่า เป็นที่ปรึกษา ที่สามารถจะให้คำแนะนำเราได้ ก็ใช้กิริยามารยาทธรรมดาที่เคยถูกอบรมมานั่นแหละครับ คนเราพูดจามีสัมมาคารวะ แสดงความนับถือในวัยวุฒิ คุณวุฒิ เป็นอย่างดีแล้ว ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟก็ไม่ไหม้ ข้อสำคัญคือเป็นแพทย์ไม่จำเป็นต้องคุยเก่งเป็นต่อยหอย ขอเพียงมีจิตใจที่ถูกต้อง คุยออกมาตามที่ตัวเราเป็นจะดีที่สุด



Posted by : Aquarius , Date : 2006-05-29 , Time : 20:37:29 , From IP : ppp-124.120.216.217.

ความคิดเห็นที่ : 17


   พูดไม่เก่ง ถ้ามองให้มีทางออก ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการพูดคุยและเรียนรู้กับผู้ป่วย โดยมีข้อแม้ว่า น้องต้องเป็นผู้ฟังที่ดี
น้องลองremindตนเองในclass holistic appoarchที่อาจารย์ อานนท์ สอนน้องในblock adult ดูนะ นั่นแหละ อาจารย์ได้สอนให้น้องเป็นผู้ฟังที่ดี ซึ่งพี่ก็ได้แนวทางมาจากอาจารย์นั่นแหละ ทำตัวเหมือนเราเป็นนักสืบ.... แต่ถ้ายังไม่ได้เรียน อดทนรอหน่อยนะ แล้วอย่าลืมตั้งใจเรียนในclassนี้หล่ะเพื่อจะได้มีแนวทางในการปฎิบัติ เพราะพี่ว่า หาไม่ได้ง่ายๆนะที่นศพจะได้เรียนรู้เรื่องแบบนี้
สู้ สู้ และอดทนไว้นะ


Posted by : aries , Date : 2006-05-30 , Time : 19:30:46 , From IP : 172.29.7.198

ความคิดเห็นที่ : 18


   แล้วหนูจะตั้งใจฟัง(ถ้าไม่หลับซะก่อน)ในclass holistic apporach ที่ขออาจารย์เลื่อนไปเพราะใกล้สอบนะคะ ตอนนี้เปลี่ยนมาอยู่ชั้นmedชาย รู้สึกว่าคุยกับคนไข้ยากขึ้น เหมือนคนไข้รู้สึกรำคาญ และไม่ค่อยอยากคุยกับเรา เลยทำให้หนูไม่ค่อยกล้าเข้าไปดูคนไข้ เวลาทำหัตถการ เช่นวันนี้เปิดแผลที่ femeral คนไข้ก็ดูขัดเขินพยายามเอามือมาปิด หนูก็เลยให้คนไข้ช่วยแกะพลาสเตอร์เองเลยค่ะ อาจารย์ว่าหนูควรทำอย่างไรคะ

Posted by : swans , Date : 2006-06-03 , Time : 13:59:00 , From IP : 172.29.4.172

ความคิดเห็นที่ : 19


   ลองพยายามเข้าใจว่า "ทำไม" คนไข้ถึงอยากเอามือมาปิด?

พวกเราเคยชินกับร่างกายมนุษย์ก็จริง แต่ชาวบ้านธรรมดาเขาไม่คุ้น และบางคนก็รู้สึกว่าไม่ควรเปิดเผยร่างกายให้คนอื่นเห็น นั่นเป็น background ความเชื่อ หรือความเคยชินของพฤติกรรม ดังนั้นเวลาทำหัตถการ ทำแผลคนไข้ เราอาจจะเริ่มต้นด้วยการปฏิสันถารทักทาย ทำความรู้จัก ตรงนี้เพื่อลด "ความแปลกหน้า" ลงนิดหน่อย แนะนำตัวด้วยย่งดี เป็นสิ่งพึงกระทำ หลังจากนั้นเราจะทำอะไรก็อธิบายให้คนไข้ฟังก่อน ไม่ใช่เฉพาะจะทำอะไรเท่านั้น แต่ร่วมทั้งอธิบายขั้นตอนต่างๆอย่างละเอียด เราเองก็ได้ประโยชน์จากการทบทวนขั้นตอน คนไข้ก้ได้ประโยชน์จากการเข้าใจ และให้ความร่วมมือในที่สุด

สำหรับบางคน บางครอบครัว private part หมายถึงทุกอย่างใต้ร่มผ้า ไม่ใช่เฉพาะบางอวัยวะ ดังนั้นเราควรจะตระหนักและ sensitive ในเรื่องนี้ อาจจะถามคนไข้ว่าต้องการปิดม่านหรือไม่ ต้องการให้ญาติอยู่ด้วย หรือเราอาจจะเชิญพยาบาลมาอยู่ด้วย (ถ้าต่างเพศ)

ผมคิดว่าเราไม่ควรให้คนไข้เปิดแผลเอง เพราะเขาไม่ได้ train มา บางทีถ้าแผลติด พวกเราจะทราบว่าต้องใช้กอซชุบ saline ช่วยก็จะทำให้ลอกง่ายขึ้น หรือเราสามารถจะสังเกตว่ามันติดกับอะไร ควรจะหยุดดึงหรือไม่ และเขาจะลุกมาล้างมือฟอกสบู่อย่างเราตอนทำเสร็จแล้วไม่ค่อยสะดวก พวกเราจึงควรทำให้คนไข้ครับ

เวลาคนธรรมดาป่วย ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่จะลดความอยากสังสรรค์ พูดคุยลง เพราะมันทุกข์ ทุกข์ขนาดต้องมานอน รพ. นี้ไม่ธรรมดา ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆสำหรับคนทั่วไป ยกเว้นในกรณีที่เขารู้สึกว่าการคุยนั้นจะได้ประโยชน์ ซึ่งวก็อาจจะเป็นหน้าที่ของเราว่าเรามาคุยทำไม จะมาช่วยได้อย่างไร เข้าไปพูดคุยอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่อึดอัด และเข้าอกเข้าใจ ตั้งวัตถุประสงค์ว่าเราอยากรู้จักคนไข้มากขึ้นเพื่อจะได้ช่วยเหลือเขา ในครั้งแรกๆถ้ายังไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ถอยออกมาก่อน เข้าไปใหม่เมื่อมีโอกาส อธิบายว่าเขาเป้นคนไข้ในความดูแลของเรา และเราอยากจะช่วย

Communication skill เป็นสิ่งที่ต้องหัดจากประสบการณ์จริงๆ ดีที่สุด เพราะทฤษฎีนั้นไม่มีทางเหมือนจริง และสำคัญมากๆๆๆ ที่ต้องฝึก ต้องทำให้ดีให้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิด doctor-patient relationship ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อความสำเร็จในการดูแลคนไข้อย่างมหาศาล อย่ารีบท้อถอยครับ เพราะ psychomotor นั้น เป็นอะไรที่จะดีขึ้นเองเมื่อฝึกบ่อยๆ หัดเป็นคนช่างสังเกต อากัปกิริยาคนไข้ ทั้ง วจน และอวจนภาษา หัดกับเพื่อนๆเราก็ได้ ลองสังเกตเวลาอยู่กับเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ลองพยายามเดาว่าแต่ละคนกำลังคิดอะไรอยู่ กำลัง "รู้สึก" อย่างไรอยู่



Posted by : Aquarius , Date : 2006-06-03 , Time : 20:38:42 , From IP : ppp-124.120.218.55.r

ความคิดเห็นที่ : 20


   การที่เรามีความไวต่อการรับรู้ความรู้สึกของคนไข้นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันคงดีกว่าการที่เราไม่เคยสังเกตหรือรู้สึกเลยว่าเราทำให้คนไข้เกิดความรู้สึกอะไร ทีนี้รู้แล้วสัมผัสได้แล้วควรมีทางออกอย่างไร ......
empathyคงน่าจะเป็นคำตอบ น้องลองนึกดูว่าถ้าเราเป็นผู้ป่วยแล้วต้องเปิดเผยที่ที่เราไม่อยากเปิดเผย เราอยากให้คนคนนั้นทำอย่างไร น้องก็ควรทำอย่างนั้นกับผู้ป่วย แต่อย่างไรก็ตามมันก็มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่เราจะคิดไม่ออก หรือคิดได้แต่ไม่โดนใจผู้ป่วย ถ้าน้องคิดไม่ออก แต่รับรู้ได้ว่าผู้ป่วยเป็นทุกข์กับพฤติกรรมเรา น้องควรถามผู้ป่วยดีกว่าว่า ผู้ป่วยอยากให้น้องทำอย่างไรกับเขา ผู้ป่วยจะได้สบายใจและไม่เป็นการทำร้ายจิตใจผู้ป่วย และตัวเราก็จะได้เรียนรู้ไปด้วยว่าสิ่งที่เราคิดนั้นมันตรงกับความต้องการของผู้ป่วยหรือไม่ เมื่อเราฝึกไปเรื่อยๆแบบนี้ต่อไปเราก็จะเดาใจคนได้แม่นขึ้น
ว่าแต่เมื่อเรารับรู้ความรู้สึกคนไข้ได้แล้วนั้น คงไม่ดีมั้งที่เราจะมานั่งเป็นกังวล หรือคิดมากไปในเชิงลบว่า ผู้ป่วยไม่ชอบเรา ยกเว้นผู้ป่วยบอกเราเอง เพราะทางที่ดี เราควรเชื่อcontentที่ได้จากverbalมากกว่า การตีความเอาเองจากnonverbal behaviorที่สามารถแปลความท่าทีนั้นได้มากมายและอาจไม่ถูกต้องนัก
สรุปก็คือ nonverbal behavior ที่น้องสัมผัสได้ เป็นเพียงสัญญาณเตือนให้น้องตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของคนไข้ และต้องตามมาด้วยการถามความรู้สึกของคนไข้และการตอบสนองของเราที่ผู้ป่วยต้องการให้เราทำให้ เพื่อให้ผู้ป่วยสบายใจ เราก็จะได้ไม่ต้องเป็นคนทำร้ายผู้ป่วยงัย
....คนไข้คงไม่ได้เบื่อน้องมั้ง
....แต่อาย อาจจะใช่
....สิ่งที่น้องได้เรียนคือ ต่อไปต้องหาผ้ามาปิดให้มิดชิดหน่อยดีไหม...หรือถามผู้ป่วยว่าอยากให้น้องทำอย่างไรดี
น้องว่างัย มาว่ากันต่อนะ


Posted by : aries , Date : 2006-06-03 , Time : 21:47:04 , From IP : 172.29.7.40

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.012 seconds. <<<<<