ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

๑๐๐ ปี ท่านอาจารย์พุทธทาส


   ๑๐๐ ปี ท่านอาจารย์พุทธทาส
ประชา หุตานุวัตร

สำหรับสังคมไทย ท่านอาจารย์พุทธทาสย่อมเป็นประทีปทางสติปัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุคสมัยอย่างไม่ต้องสงสัย บัดนี้ท่านมรณภาพไปแล้วและดูเหมือนสังคมไทยจะระลึกถึงท่านมากขึ้น โดยเฉพาะในสภาพที่คณะสงฆ์อ่อนเปลี้ยถึงขนาดอย่างในปัจจุบัน หลายวงการย่อมพร้อมจะยกย่องเชิดชูท่าน แต่ผมเข้าใจว่าสังคมไทยยังไม่ต้องการเดินตามที่ท่านสอน เพราะจริงๆแล้ว คนส่วนมากยังไม่เข้าใจว่าแก่นคำสอนของท่านคืออะไร ในแง่นี้ก็ดูคล้ายมหาตมคานธีกับอินเดีย คนอินเดียทุกคนพร้อมจะยกย่องกราบไหว้ ท่านมหาตมะ แต่สังคมอินเดีย โดยเฉพาะผู้นำรัฐ เดินอีกแนวทางหนึ่งที่สวนทางกับแนวคิดของท่าน นับแต่ท่านบัณฑิต เนรูห์ เป็นต้นมาเลยทีเดียว
ท่านอาจารย์พุทธทาสทุ่มเทสอนธรรมตลอดชั่วชีวิตท่าน เพราะมีกุศลเจตนาให้สังคมไทยและสังคมโลกประยุกต์หลักธรรมไปใช้ ทั้งระดับส่วนบุคคลและในทางโครงสร้าง เพื่อสันติธรรม เพื่อยุติธรรม และเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืน
นับแต่ท่านมรณภาพไปแล้ว แม้สังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงคลี่คลายไปมาก แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นๆก็ยังไม่ได้นำหลักธรรมที่ท่านสอนไว้ไปใช้อย่างจริงๆ จังๆ ทั้งสองระดับ
จริงอยู่เราเห็นว่ามีผู้จัดสอนคนปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น แต่ก็ยังน้อยมากเมื่อมองทั้งสังคม ที่ปฏิบัติกันอยู่นั้นเล่าก็น่าเป็นห่วงว่า ส่วนมากมักติดกันแต่แค่สมถะภาวนา แม้จะใช้ชื่อว่าวิปัสสนาก็ตาม คำสอนของท่านอาจารย์ในทางปรมัตถสัจน่าจะเป็นประโยชน์มากในเรื่องนี้ โดยเฉพาะสำหรับนักปฏิบัติทั้งหลายผู้สนใจปฏิบัติเพื่อเห็นและเผชิญกับทุกขสัจในตนและในสังคม
ในทางด้านโครงสร้างสังคมนั้นเล่า แม้บ้านเมืองเราจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในบางด้าน แต่ก็ปรากฎวีแววแห่งเผด็จการแบบใหม่ที่ใช้เงินตราและรัฐสภาเป็นเครื่องมือสำหรับรวบอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ นับเป็นแนวโน้มที่อันตรายอย่างยิ่ง นี่จะต่อสู้ยากว่าเผด็จการทหาร และทำให้นึกถึงที่ท่านอาจารย์สอนไว้ว่าแม้เรามีประชาธิปไตย แต่ถ้าประชาธิปไตยนั้นไม่ได้อยู่ตั้งอยู่บนหลักธรรมะ หรือที่ท่านเรียกว่ากฎธรรมชาติแล้ว ประชาธิปไตยก็จะนำไปสู่ความเลวร้ายได้ หากพวกเราที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตระหนักถึงประเด็นนี้มากขึ้น เราน่าจะสามารถวางรากฐานประชาธิปไตยชนิดที่เหมาะกับดินฟ้าอากาศทางวัฒนธรรมและสังคมการเมืองของเราเองอย่างมั่นคงขึ้นตามลำดับ
ในแง่ความเป็นธรรมในสังคมนั้นเราก็เห็นว่าดีขึ้นในบางแง่ ความทุกข์ยามป่วยไข้ของคนจนน่าจะบรรเทาลงได้บ้าง อย่างน้อยเมื่อเทียบกับสังคมไทยยุดสมัยใหม่ที่ผ่านๆมา แม้ว่านโยบายด้านนี้ของรัฐจะยังไม่ลงตัวก็ตาม แต่ช่องว่างระหว่างคนต่างฐานะในสังคมก็ยังกว้างมาก แลจะกว้างมากขึ้นไปอีก ความเสมอภาคทางโอกาสยังเป็นความฝันอันลางเลือนของคนเล็กคนน้อยในสังคมนี้
ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือแนวคิดและคุณค่าพื้นฐานทั้งหมดนั้น จริงๆแล้ว เราก็ยังดำเนินตาม แนวทางวัตถุนิยมแบบตะวันตก ที่ขยายตัวมาเป็นวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่ยั่วยุกิเลสผู้คนอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเยาวชนของเราพากันตกเป็นเหยื่อมากมาย มองในแง่นี้คำสอนของท่าอาจารย์ไม่ได้มีอิทธิพลต่อชนชั้นนำที่กุมอำนาจทางสังคมเลย ถ้าชนชั้นนำฝ่ายประชาสังคมจะคิดเรื่องนี้มากขึ้น และเป็นระบบขึ้น ย่อมจะมีอิทธิพลไปถึงฝ่ายที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองในอนาคตได้บ้าง แต่เราอาจจะต้องหาทางสื่อสารกับประชาชนในระดับรากหญ้าโดยตรงด้วย เพราะเป็นเหยื่อที่ต้องรับทุกข์มากที่สุด
สิ่งที่น่าเศร้าสำหรับสังคมที่ชนชั้นนำเป็นทาสปัญญาของตะวันตกสมัยใหม่ก็คือ ขณะนี้ชนชั้นนำทางตะวันตกกำลังเปลี่ยนแนวคิดและคุณค่าพื้นฐานของตนบ้างแล้ว เพราะโทษของแนวคิดนั้นเริ่มปรากฏให้เห็นชัดขึ้นทุกทีในสังคมของเขา แต่ของเรายังตามเขาไปเซื่องๆโดยที่นึกว่าตัวเองเก่งวิเศษ เพียงเพราะตัวเองเก่งในเรื่องหาทรัพย์ หรือเราจะต้องรอชนชั้นนำรุ่นต่อไปของเรา ไปชุบตัวจากเมืองเขาอีกรอบ กว่าเราต้องกลับมาหาคุณค่าพื้นฐานของเราเองได้ ทั้งๆที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้พูดไว้ก่อนนักคิดยุคใหม่ของฝรั่งมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกลับไปหาธรรมชาติ หรือที่ว่าระบบสังคมทุกแบบ ถ้าจะเป็นธรรม ยั่งยืนและสันติ ต้องตั้งอยู่บนหลักบรมธรรม พูดอีกอย่างให้หมั่นไส้ก็คือผู้ที่เสนอแนวทางออกสู่อนาคตที่ตั้งอยู่กระบวนทัศน์ใหม่คนแรกก็คือท่านอาจารย์พุทธทาส อย่างน้อยก็นับแต่สังคมไทยก้าวเข้าสู่ความทันสมัยเป็นต้นมา แต่ปัญญาชนคนไทยส่วนใหญ่ย่อมจะไม่ตื่นเต้น จนกว่าฝรั่งจะมาเห็นคุณค่าท่านกระมัง อย่างดีเราก็ยกท่านไว้บนหิ้ง แล้วดำเนินแนวทางเดิมๆที่เราเคยชินกันมาแล้ว แม้คนที่ยกย่องท่านในขนวนการประชาสังคมก็มีแนวโน้มนี้เช่นกัน เราทุกคนพากันขยันขันแข็งกันมาก เคลื่อนไหวเอย เขียนวิทยานิพนธ์เอย เขียนหนังสือเอย จัดประชุมสัมนาเอย แต่เราไม่มีพลังและเวลาเหลือที่จะคิดถึงทิศทางในอนาคตจากคุณค่าแท้ที่มีอยู่ในวัฒนธรรมของเราเอง นี่ย่อมเป็นความล้มเหลวพื้นฐานของการศึกษาของเรา ที่ไม่สามารถช่วยให้เราเป็นนักคิดจริงจังเลย หรือมิใช่
ในปีนี้ สำนักพิมพ์โกมลคีมทอง จะจัดพิมพ์หนังสือ”เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา” อันเป็นอัตชีวประวัติที่ผมเคยสัมภาษณ์ไว้ขึ้นอีกครั้ง นอกจากจะเป็นเครื่องสักการะอันน้อยนิด เพื่อบูชาพระคุณที่ท่านได้กระทำต่อพระศาสนาและสังคมไทยแล้ว ผมหวังว่างานชิ้นนี้คงจะเป็นองค์ประกอบเล็กๆชิ้นหนึ่ง ที่จะเอื้อให้ชาวเราหาทางนำธรรมะของท่านมาเป็นประทีปนำทางสังคมอย่างจริงจัง อย่างน้อยก็สามารถเสนอนโยบาย และแนวปฏิบัติทางสังคมเป็นทางเลือกอีกชุดหนึ่ง ที่มีรากอยู่ในวัฒนธรรมและศาสนธรรมของเราเอง และเป็นไปได้ไหมในภาวะที่พระศาสนากำลังซวนเซเช่นนี้ เราจะอธิบายหลักธรรมของท่านให้คนรุ่นใหม่เข้าใจได้และใช้ในชีวิตจริงได้ อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้นที่จะคลี่คลายขยายตัวต่อไป เพื่ออนาคตที่สังคมไทยจะเคลื่อนเข้าใกล้สันติประชาธรรมเข้าไปทุกที



Posted by : ไม้สั้นรันขี้ , Date : 2006-05-06 , Time : 20:22:51 , From IP : 203.113.16.241

ความคิดเห็นที่ : 1


   หนังสือของท่านพุทธทาส ดีมากๆ แนะนำให้ไปหามาอ่านกันดู

Posted by : Bigboss8 , Date : 2006-05-07 , Time : 23:16:04 , From IP : 203.113.16.241

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.005 seconds. <<<<<