ความคิดเห็นทั้งหมด : 16

ต้านแปรรูป กฟผ.


    บทความ ต้านแปรรูป กฟผ. ใครทำลายสมบัติชาติกันแน่? โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เจ้าของบทความเรื่อง "การต่อสู้ทางชนชั้นในสังคมไทย" ได้ผลิตผลงานใหม่ล่าสุดลงพิมพ์ใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ วันนี้เอง ( 27 เมษายน 2549) เกี่ยวกับการแปรรูป กฟผ. คลิกไฟล์ pdf ได้ที่นี่
http://www.geocities.com/prapant.geo/electricity.pdf
ขอบคุณครับอาจารย์ ผมยังติดตามงานของอาจารย์อยู่ตลอดเวลา
--------------------------------------
ต้านแปรรูป กฟผ. ใครทำลายสมบัติชาติกันแน่?
มองมุมใหม่ : รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พลันที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้พระราชกฤษฎีกาแปลงสภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้เป็นบริษัทมหาชน ว่า "มิชอบด้วยกฎหมาย" กลุ่มต่อต้านโลกาภิวัตน์ก็ไชโยโห่ร้อง เปล่งเสียง "ชัยชนะ" กันอย่างกึกก้องว่า พวกตน "ปกป้องสมบัติชาติ" ไว้ได้ในที่สุด พวกเขาคัดค้านการแปลงสภาพ กฟผ. โดยอ้างว่า กิจการสาธารณูปโภคจะต้องอยู่ในมือของรัฐเท่านั้น การแปลงสภาพ กฟผ. จะมีผลให้เอกชนเข้ามาผูกขาดกิจการไฟฟ้าของประเทศ ทำให้ไฟฟ้ามีราคาแพงเพราะต้องบวกกำไรของเอกชน และที่เลวร้ายกว่านั้น คือ ทุนต่างชาติอาจเข้ามายึดครอง กฟผ.ทำให้ "ทรัพย์สินของชาติ" จำนวนมหาศาลตกไปอยู่ในมือของต่างชาติ นัยหนึ่ง กฟผ.คือ "ชาติ" และการแปลงสภาพ กฟผ. ก็คือ "ขายชาติ"

แต่ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงการบิดเบือนข้อมูล ปลุกปั่นอารมณ์คลั่งชาติและเกลียดกลัวต่างชาติอย่างไร้เหตุผลโดยกลุ่มต่อต้านโลกาภิวัตน์เท่านั้น โดยไม่สนใจผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศและกิจการไฟฟ้าโดยรวมในระยะยาว ข้อเท็จจริงคือ ปัจจุบัน กฟผ. ไม่ใช่ผู้ผลิตไฟฟ้าเพียงรายเดียวให้กับประเทศไทย แต่มีผู้ผลิตเอกชนร่วมด้วย เพราะที่ผ่านมา เศรษฐกิจและความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น กฟผ.ไม่มีเงินทุนที่จะขยายการผลิตไฟฟ้าให้ทัน จึงต้องมีโครงการให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเข้ามาลงทุนตั้งโรงไฟฟ้า แล้วป้อนไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของ กฟผ.

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 24,000 เมกะวัตต์ เป็นของ กฟผ. 15,000 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 63 เป็นของโรงไฟฟ้าเอกชน 9,000 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 37 แต่ในการผลิตไฟฟ้าจริงคิดเป็นล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี กฟผ. ผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้เพียงร้อยละ 47 ในขณะที่ผู้ผลิตเอกชนผลิตได้ร้อยละ 50 อีกร้อยละ 3 เป็นการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ฉะนั้น ครึ่งหนึ่งของปริมาณไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ จึงเป็นไฟฟ้าที่ผลิตโดยเอกชน และค่าไฟฟ้าทุกวันนี้ก็ได้รวมกำไรและดอกเบี้ยของผู้ผลิตเอกชนไว้ด้วยถึงแม้จะยังไม่มีการแปรรูป กฟผ.เลยก็ตาม ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ เนื่องจาก กฟผ.ยังคงผูกขาดรับซื้อไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียวจากเอกชน ไปขายต่อให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทำให้ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจ่ายทุกวันนี้ต้องรวมกำไรผูกขาดค้าส่งของกฟผ.เข้าไปอีกทอดหนึ่งด้วย

สถานะทางการเงินของ กฟผ. เห็นได้จากทรัพย์สินซึ่งมีทั้งสิ้น 400,000 ล้านบาท หนี้สิน 240,000 ล้านบาท มีภาระจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยสูงถึงปีละ 40,000-50,000 ล้านบาท ในขณะที่มีกำไรปีละ 20,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนต่อทรัพย์สินเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น กฟผ.ยังโอบอุ้มพนักงานเอาไว้มากถึง 30,000 คนทั่วประเทศ มีค่าใช้จ่ายบริหารทั่วไปสูงถึงประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี รวมเงินเดือน โบนัส สิทธิประโยชน์ต่างๆ ค่าตอบแทนผู้บริหาร และค่าบริหารสำนักงานอื่นๆ คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 330,000 บาทต่อพนักงานหนึ่งคนต่อปี ข้อสำคัญคือ หนี้สินของ กฟผ.ปัจจุบันจำนวน 240,000 ล้านบาท เป็นหนี้สินที่รัฐบาลแบกภาระค้ำประกันอยู่ และถูกรวมไว้ในยอดหนี้สาธารณะของรัฐบาลไทยที่เจ้าหนี้และนักลงทุนต่างชาติใช้คำนวณเพื่อประเมินความเข้มแข็งทางการคลังของรัฐบาลไทยด้วย ข้อสังเกตคือ ปัจจุบัน มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรวม 63 โครงการ เป็นเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 300,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับประหยัดเงินลงทุนและหนี้สินของ กฟผ.และลดยอดหนี้สาธารณะที่ค้ำประกันโดยรัฐบาลไปได้ในจำนวนเดียวกัน ถ้าไม่มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเหล่านี้ กฟผ.ก็จะมีหนี้สินสูงถึง 540,000 ล้านบาท มากกว่าทรัพย์สิน เท่ากับว่า กฟผ.จะอยู่ในสภาพล้มละลาย

ปัญหาขณะนี้คือ ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประมาณว่า ประเทศไทยจะต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมอย่างน้อย 30,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2554 คือ เพิ่มจากปัจจุบันอีก 6,000 เมกะวัตต์ เท่ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 6-10 โรง เป็นเงินลงทุนอีก 200,000 ล้านบาท ถ้าจะให้ กฟผ.ขยายตัวรองรับความต้องการส่วนนี้ กฟผ.ต้องมีแหล่งเงินทุนใหม่ที่ไม่ใช่เงินกู้ค้ำประกันโดยรัฐบาล และนี่คือสาเหตุที่ต้องแปลงสภาพ กฟผ.ให้เป็นบริษัทมหาชนแล้วนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 เพื่อให้ กฟผ.สามารถขายหุ้นเพิ่มทุน ระดมเงินจากประชาชนและกู้เงินจากสถาบันการเงินโดยรัฐบาลไม่ต้องค้ำประกัน หาก บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) สามารถขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าได้เต็มจำนวนอีก 6,000 เมกะวัตต์ กฟผ.ก็จะยังคงมีส่วนแบ่งกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศมากที่สุดคือร้อยละ 70 ที่เหลือเป็นของเอกชน และเมื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ใน กฟผ. ยังคงเป็นกระทรวงการคลัง ก็เท่ากับว่า กิจการไฟฟ้าของประเทศยังคงอยู่ในมือรัฐบาลนั่นเอง

ฉะนั้น การต่อต้านการแปลงสภาพ กฟผ. ก็คือ การทำให้ กฟผ.เป็นต้นไม้แคระหรือบอนไซ ไม่สามารถเติบโตไปหาแหล่งเงินกู้มาขยายการผลิตไฟฟ้าได้ และถ้าไม่มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหม่เข้ามา ปัญหาที่คนไทยจะประสบในอนาคตอันใกล้คือ วิกฤตการณ์ขาดแคลนไฟฟ้า มีปัญหาไฟฟ้าดับในวงกว้างเป็นช่วงๆ ดังที่กำลังเกิดขึ้นในจีนและฟิลิปปินส์ปัจจุบัน

หากฝ่ายต่อต้านโลกาภิวัตน์สามารถสกัดการแปลงสภาพ กฟผ. ได้ตลอดไป รัฐบาลก็จะถูกบีบให้หาทางออกที่ถูกต่อต้านน้อยที่สุดคือ ให้บริษัทเอกชนเข้ามาขยายการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 6,000 เมกะวัตต์ แทน กฟผ. ผลก็คือ กฟผ. จะลดความสำคัญลงในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าของประเทศ ในขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนจะมีส่วนแบ่งและบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในสภาพเช่นนี้ แม้ว่า กฟผ.จะยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ แต่ก็แคระแกร็น ขณะที่กิจการไฟฟ้าส่วนใหญ่ของประเทศจะถูกแปรรูปเป็นของเอกชนเต็มรูปไปในที่สุด และค่อนข้างแน่นอนว่า เอกชนรายใหญ่ที่เข้ามาจะมีหุ้นส่วนเป็นทุนต่างชาติ ซึ่งมีทั้งเทคโนโลยีและเงินทุนอีกด้วย ส่วนพวกที่อ้างตัวว่า "รัก กฟผ." "ปกป้องสมบัติชาติ" และกำลังได้ดิบได้ดีอยู่ทั้งในสภาและนอกสภาขณะนี้ ถึงวันนั้น ก็คือผู้ทำลาย กฟผ.และ "ทำลายสมบัติชาติ" นั่นเอง

ที่มา : นสพ. กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 เมษายน 2549

เพิ่งอ่านเจอมีคนนำบทความนี้ไปเผยแพร่ในราชดำเนินแล้ว
http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P4319308/P4319308.html



Posted by : ป4 , E-mail : (5555) ,
Date : 2006-04-27 , Time : 16:18:48 , From IP : ppp-124.120.146.83.r


ความคิดเห็นที่ : 1


   ผมเข้าใจว่าที่ศาลตัดสินระงับไปนั้น ไม่ใช่เพราะสาเหตุพิจารณาว่าเป็นการขายสมบัติชาติ แต่เป็นกระบวนการที่ทำนั้นผิดกฏหมาย ไม่โปร่งใส และขาดขนบวนการที่จะทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ต่างหาก

ได้แก่การทำประชาพิจารณ์โดยตั้งคนในคณะรัฐมนตรีเป็นประธาน ตั้งคนที่มี conflict of interest อยู่ในคณะประเมินผลได้เสีย (จากบริษัทชินฯ) ไม่มีการตั้งคณะ independent committee จากภาคอิสระที่จะเข้าควบคุมดูแล รักษาความโปร่งใส

ในต่างประเทศเอกชนที่เข้ามาทำธุรกิจพลังงานนั้น จะมีคณะกรรมการ independent มาตรวจสอบคงบคุม และมีการดูแลเรื่องผลประโยชน์ (หุ้น)ให้อยู่ในสภาพมีการแข่งขัน เพื่อประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดจากความพยายามแข่งกันระหว่างบริษัทที่เข้ามา นั่นคือต้องไม่เป็น monopoly หรือถูกควบคุมหุ้นส่วนใหญ่โดยบางกลุ่ทบางพวกโดยไม่มีการประกวดแข่งขันกัน เช่นบริษัท Transcom ในอังกฤษ จะมีบริษัทอื่นๆที่มีสัมปทานและออกแบบ package ที่มีลักษณะ attractive ต่อลูกค้าสูงกว่า

ดังนั้น "ประเด็น" ที่ กฟผ. ถูกยับยั้งนั้น โดยกฏหมาย ไม่ใช่เรื่องที่กล่าวมาครับ แต่เป็นความไม่โปร่งใส ไม่ตรงไปตรงมา ฝ่าฝืนกฏระเบียบที่วางไว้ในขั้นตอน และมี conflict of interest ของผู้ได้รับมองหมายให้สำรวจและดำเนินงาน (ที่บางคนอาจตั้งข้อสงสับยว่ามีการ "ฮั้ว" หรือการโกงเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มเล็กๆเกิดขึ้น)



Posted by : Phoenix , Date : 2006-04-27 , Time : 17:19:43 , From IP : 58.147.27.25

ความคิดเห็นที่ : 2


   ขอบคุณมากนะคะที่เข้ามาตอบแล้วให้ความกระจ่างในเรื่องของการแปลรูป นั้นเหละคะคือประเด็นที่อยากใด้ความกระจ่างที่ยังหลงประเด็นในเรื่องของการแปลรูปกฟผ.ว่าเป็นการขายชาติ จริงหรือไม่ แล้วประเทศ จะเป็นเหมือนอย่างที่ นิติภูมิ ได้กล่าวไว้ในซีดี อาเจนติน่า หรือไม่ แล้วเราซึ่งเป็นประชาชน จะสามารถตรวจสอบการแปรรูปให้อยู่ในความโปร่งใสได้อย่างไรต่อไป การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องแก้ไขอย่างไร เพื่อให้ประโยชน์สูงสุด ตกอยู่กับประชาชนและประเทศมากที่สุด เพราะเราคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า เราจำเป็นต้องแปรรูปไม่ช้าก็เร็วและไม่อยากให้คนที่ไม่เข้าใจหลงประเด็นตามสื่อในปัจจุบันที่ไม่ค่อยจะเป็นกลางมากเท่าไหร่

Posted by : ป4 , E-mail : (5555) ,
Date : 2006-04-27 , Time : 19:40:03 , From IP : ppp-124.120.146.83.r


ความคิดเห็นที่ : 3


   มีคนไปตามผมมาที่ เว็บบอร์ดนี้

และ นี่คือครั้งแรก ที่ได้มาเยี่ยมเยียน


++++++++++++++++++++++

ประเด็น กฟผ. กับการแปรรูป มีการกล่าวหาว่าแปรรูปเพื่อขายชาติ
แต่ก็มีคำตอบที่ชัดเจน จากหลายๆแหล่ง ซึ่งเป็นการตอบที่หักล้างข้อกล่าวหา ได้ชัดเจน
แต่ คำตอบเหล่านั้น กลับจางหาย และเป็นแค่เสียงแว่วๆ

เสียงเหล่านั้น เลือนลาง และ บางเบา ด้วยถูกกลบด้วยเสียงอื้อ อึงอล ของกลุ่มคนที่เสียประโยชน์ส่วนตัว
ปลุกระดม ชักชวน หลอกลวงให้คนอื่นตะโกนตาม ด้วยความเมามัน แบบไม่รู้ที่มาที่ไป

เพราะธรรมชาติิของคน ย่อมจะรู้สึกว่าตัวเอง - - เป็นฮีโร่ - - -
เมื่อได้ทำอะไรที่ได้รับการตอบสนองว่าทำเพืื่อส่วนรวม

เราจะเห็นได้จาก วัยรุ่นเกเรตามปากซอย
พลันกระโดดตบหน้า หรือช่วยกันรุมประชาทัณฑ์ ผู้ร้ายสักคนที่ตำรวจกำลังทำแผนประทุษกรรม
ความรู้สสึกสะใจ ว่าได้เป็นฮีโร่ เกิดขึ้นทันที ทั้งๆที่ เมื่อครู่ที่ผ่านมา เพิ่งผ่านการ อัพยา มาหมาดๆ

คนที่ไม่ได้รับข่าวสาร ก็รู้สึกว่า น่าภาคภูมิใจ ที่ได้ข่าวว่า มีคนโกง
และได้ร่วมมือกันประณามคนโกง ภูมิมจที่ได้มีส่วนร่วมช่วยด้วยในการประณามนั้น

ฯลฯ

ผมจะไม่ชี้แจงรายละเอียดในกรณี กฟผ.
เพราะนักศึกษาที่นี่ เป็นนักศึกษาที่ผ่านการคัดสรรมาแล้วจากสังคม
ย่อมไม่อับจน ในการค้นหา ที่มาที่ไป ที่ถูกต้องแท้จริง
เพียงแต่จะ มอง และ ขบคิด ว่า สิ่งที่ถูกต้อง อย่างไร เท่านั้น

ผมจะขอติงเอาไว้ เพียง ให้เป็นข้อสังเกต ในการคิด สักเล็กๆน้อยๆ ว่า

ในการกระทำงานใหญ่ ความบกพร่อง ผิดพลาด อาจเกิดได้ทุกจุด
โดยเฉพาะ งานใหญ่ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับส่วนงานอื่นๆ คนหมู่มาก และกฎหมายนับไม่ถ้วน

อยากจะให้ พิจารณา ว่า ความผิดพลาดนั้น เป็นเพราะ ความตั้งใจที่จะให้ผิด หรือ โดยพลั้งเผลอ ไม่ตั้งใจ

ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของชาติ และประชาชน จะได้จาก การแปรรรูป ใช่หรือไม่



วันนี้ ต่างกับวันก่อน
เมื่อ พ.ศ. 2518 ผมเคยเขียนบทความ ถึงความจำเป็นที่รัฐต้องควบคุมกิจการพลังงาน แบบเบ็ดเสสร็จ

แต่วันนี้ วันที่มีการแข่งขันกันสูงระหว่างประเทศ ทั้งเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยน/ร่วมมือ ทั้งอุตสาหกรรรม
พาณิชยกรรม ความคิดเดิมๆต้องเปลี่ยนไป เราจะปิดกั้นประเทศของเรา ให้จมปลัก
เราจะปิดประตูบ้าน จนล้าหลัง และงมโข่ง เหมือนประทสเพื่อนบ้านเราบางประเทศ กระนั้นหรือ ?

ที่จริง เรื่องนี้ มันมีนัยแอบแฝง เป็นการ ยื้อยุด ของกลุ่ม นักวิชาการและกลุ่มทุนล้าหลัง
ซึ่งก้าวไม่ทันนักวิชากาารและกลุ่มทุน ที่ต้องการนำพาประเทศชาติ ก้าวไปให้ทันหรือนำหน้า
ในโลกแห่งการแข่งขันที่เข้มข้น


ผมขอให้นักศึกษา ย้อนกลับไปดู 5 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองเรา เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
ราวกบพลิกหน้ามือเป้นหลลังมือ ไม่ว่าจะการศึกษา วิทยากาาร ดิจิตอล
ระบบราชการ หน่วยงาน การรักษาพยาบาล

และ โอกาส ที่ไม่เคยตกถึงมือ คนรากหญ้า คนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ยากแค้นมาก่อนเลย
นักศึกษาที่นี่ คงคุ้นเคย กับโครงการอาสาพัฒนา ฯ ลองเปรียบเทียบดูว่า คนเหล่านี้ลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้
ได้รับการับรอง ในสิทธิ และ ค่า ของการเป็นคน คนหนึ่งในสังคม

เมื่อออกไปต่างประเทศ ก็ยืดอกได้ เต้มภาคภูมิ ว่า เราคือ คนไทย มีศักดิ์ศรี ในเวทีโลก


ขอเท่านี้ก่อนนะครับ

(ผม --- ฅนคอน )







Posted by : มังกรดำ , E-mail : (-) ,
Date : 2006-04-27 , Time : 19:57:23 , From IP : ppp-58.8.169.95.revi


ความคิดเห็นที่ : 4


   อภิปรายโดยไม่ใช้คำพูดยั่วยุ หรือใช้อารมณ์ น่าจะเป็นสัญญลักษณ์ของคน mature และสามารถใช้เหตุผลได้

พลั้งเผลอนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์จริง แต่ในบาง setting ที่มันชัดเจนมากๆนั้น ใช้พลั้งเผลอบ่อยๆ ก็จะมีคนสงสัยใน credibility ได้ เพราะไม่รู้ว่าท่านจะเผลออีกกี่ครั้ง และถ้ายิ่งเผลอทีไร เกิด conflict of interest ทุกครั้ง เข้าไปที่กลุ่มๆเดียวทุกครั้ง ความน่าสงสัยยิ่งเพิ่มขึ้น วิธีแก้คือการชี้แจง ให้ตรวจสอบได้ accountability นั้นสำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตย มิฉะนั้นคนจะเข้าใจว่าระบอบนี้คือระบอบที่วางอยู่บน "ตัวเลข" เพียงอย่างเดียว

ในขณะที่ "หนี้" ในคน middle class เป็นของที่ดูดี มี credit แต่ถ้าหนี้เกิดขึ้นเป็นความเคยชินของคนรากหญ้า นั่นอาจจะเป็น habit ที่ไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีกลไกเสริมความง่ายในการเป็นหนี้ มีคนมาไถ่หนี้ให้ มันจะเกิดภาพพจน์ที่บิดเบี้ยว และมีโอกาสที่จะสวนทาง "เศรษฐศาสตร์แห่งความเพียงพอ" ออกไปไกลมากขึ้นเรื่อยๆ

การมัธยัสถ์ การเพียงพอ นั้น ไม่จำเป็นต้องล้าหลังเสมอไป และเทคโนโลยีไม่ได้แปลว่า "เจริญ" เสมอไป เพราะการเจริญนั้นต้องไปควบคู่กันทั้งวัตถุและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสังคม ผมว่าทางจิตใจสำคัญกว่าวัตถุเยอะ ระบบใดก็ตามที่เทอดทูนวัตถุมากเกินไป จิตใจ คุณธรรม จริยธรรมมันจะถูกทอดทิ้งได้ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง Machaviallian philosophy หรือ The End justifies the means นั้น น่ากลัวครับ

ใน setting ที่คนสามารถใช้ทรัพยากรท้องถิ่น และ sustainable สามารถทำให้เกิด self-sufficient ได้ พึ่งพาตนเองหรือมี self-reliance ได้ น่าจะดี กว่าระบบที่ความอยากเป็นนายของจิตใจ ความหรูหรา หรือเทคโนโลยีที่ฟุ่มเฟือยกลายเป็นของเชิดชู่ฐานะ เป็น virtue ระบบนี้ทำให้ greed เป็นของดี กำไรเป็นของถูกต้อง ฟุ่มเฟือยเป็นการแสดงฐานะ

ระบบหรือปรัชญาหารระดมทุนบางอย่างนั้นดีตามหลักการ ในเงื่อนไขที่ต้องควบคุมได้ และประโยชน์ตกไปอยู่กับคนส่วนใหญ่ ถูกต้องตามกฏหมาย (โดยไม่ต้องมี "พลั้งเผลอ" ในการวางคน หรือลืมตรวจสอบกฏหมาย ติ๊กผิดช่อง honest mistakes บ่อยจนกลายเป็น routine) และในระบอบประชาธิไตยนั้น ยิ่งมีคนตรวจสอบเยอะ มีคนถามเยอะ ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่องโหว่ต่างๆจะได้น้อยลง ประชาชนช่วยกัน และมีบทบาทในการตรวจสอบการทำงาน ยิ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี ไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าขุ่นเคือง โกรธแค้น



Posted by : Phoenix , Date : 2006-04-27 , Time : 22:05:25 , From IP : 58.147.27.25

ความคิดเห็นที่ : 5


   ผมว่าบทความที่คุณ copy มาลงในความเห็นที่ 1 ยังขาดข้อมูลที่สำคัญ ในส่วนของสมบัติที่ต้องเป็น ของส่วนกลางนั้นคือเรื่องของสายส่ง และเรื่องของเขื่อน ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้การแปรรูป กฟผ. ใน ครั้งนี้ขาดความชอบธรรม เรื่องการก้าวสู่โลกาภิวัฒน์ ผมยอมรับว่าท้ายสุดเราก็หนีไม่พ้น แต่ถ้าต้อง ยอมให้ กฟผ. แปรรูปโดยเอาสมบัติที่เวรคืนมาจากประชาชนไปด้วยและจัดว่าเป็นสมบัติส่วนกลางที่ ไม่ว่าเอกชนรายใด ก็ตามต้องส่งไฟฟ้าผ่านสายส่งเดียวกัน ยอมเท่ากับเป็นการผูกขาด อันก่อให้เกิดปัญหา ในอนาคตได้ ยิ่งกว่านั้นหนี้สินที่เคยพอกพูน เหตุไฉนตอนแปรรูป กลับยกให้ คลังเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่รับภาระพูกพันไปพร้อมการแปรรูปด้วยเล่า จะอ้างว่าเพื่อก่อให้เกิดความน่าสนใจ ในการลงทุนของนักลงทุน คงไม่ต่างอะไรกับการจับใส่ตะกร้าล้างน้ำ แล้วยกภาระหนี้ให้ประชาชน 60 สิบล้าน แต่คนที่ได้ประโยชน์คือคนที่จะมาซื้อหุ้น ไม่กี่คน ไม่กี่ตระกูลมิใช่หรือ เหตุใดไม่แปรรูปเฉพาะโรงไฟฟ้านี้คือคำถามที่รอคำตอบ


แหละด้วยเหตุเหล่านี้ จึงเท่ากับเป็นความไม่โปร่งใสที่อยู่ในข่ายทำให้ศาลตัดสินให้ การแปรรูป กฟผ. "มิชอบด้วยกฎหมาย"


Posted by : ร่วมด้วยช่วยกัน , Date : 2006-04-27 , Time : 23:55:36 , From IP : 172.29.5.227

ความคิดเห็นที่ : 6


    ผมพยายามอ่านหลายรอบ ทั้งของผมเอง และ คนอื่นๆในนี้
ไม่ทราบว่า หมายถึงผมหรือเปล่า ที่ว่าใช้คำอภิปรายยั่วยุ ?

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ผมเห็นด้วย กับกาารเจริญ ทั้งทางด้าน จิตใจ และ วัตถุ

เมื่อหลายสิบปีก่อน เราเคยมีการวิพากษกันถึงเรื่อง
จิตนิยม
กับ
วัตถุนิยม

คราวนั้น เมื่อยังวัยรุ่นและมีอุดมการณ์ร้อนระอุ ผมจะสุดมากๆไปทางเห็นว่า วัตถุนิยม เป็นนของเลวร้าย
จิตนิยม เท่านั้น จึงจะนำพาไปสู่ความสุข

แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น จากประสบการณ์ชีวิต และโลกไร้พรมแดน
ผมเริ่มมีความคิดเห็นว่า วัตถุนิยม มิใช่เรื่องเลวร้ายอันใด
เพราะหากไม่มี วัตถุนิยม นั่งบริกรรมคาถา เพื่อให้จิตใจสงบเพียงอย่างเดียว
เป็นไข้ ไม่สบาย ไม่มียารักษา
นอนหนาวตัวเปล่าเปลือย ไม่มีเสื้อผ้า

ไม่จำเป็นว่า ทั้งสองอย่างจะต้องไปด้วยกัน โดยมีน้ำหนักเท่ากัน
ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเแพาะ ที่จำเป็น
+++++++++++

เรื่องการผิดพลาด อย่างที่ผมแจงเอาไว้
การแปรรูป กฟผ. มีความยุ่งยาก สลับซับซ้อน ยิ่งกว่าสายไฟซึ่งระเกะระกะโยงยางตามเสาไฟฟ้าหน้าอาคาร

ผมอยากจะให้ดู เจตนา มากกว่า ว่า ทำแล้วได้ประโยชน์กับส่วนรวมมากหรือน้อย กับการเสียประโยชน์

ยิ่งให้ดูว่า ช่วงห้าปีที่ผ่านมา มีสารพัดสิ่งหมักหมมในสังคมและปัญหาบ้านเมือง ที่จะแก้ไข
ทุกอย่างเร่งรีบและสำคัญทั้งนั้น ด้วยคนบริหารสามสี่สิบคน แม้จะมีมือรอง ระดับรองๆ ลงไปช่วยทำงานบางอย่าง โดยความไว้วางใจ โดยให้ช่วยกลั่นกรอง บางที คนที่ลงไปทำแทน ก็อาจไม่รอบคอบ ข้างบนก็แต่งตั้งตามไปโดยเห็นว่าเลือกมาแล้ว


ยิ่งได้ดูตามศาลปกครองฯ ตัดสิน ว่า การแปรรูป กฟผ. ทำได้
เพียงแต่ผิดขั้นตอน ก็น่าจะได้รับคำตอบ
เพราะหากมองลึกลงไป ผลประโยชน์ เช่น เรื่องที่บอกว่า สัญญาณโทรคมนาคมที่จะกอดกันไปกับสายไฟฟ้านั้น แท้จริง จะได้กับทุกบริษัทคมนาคม ทีีทำธุรกิจแข่งขันกันอยยู่ในขณะนั้น

ยิ่งเรื่องการขายหุ้น ซื้อหุ้น
หากจะมองกลุ่มตระกูล ก็กี่ตระกูลล่ะหรือ ? ที่เป็นอำนาจทุนเก่าผูกขาด
คงจะเป็นข้อกล่าวหาเดียวกับ หุ้น ปตท. ซึ่งเมื่อลงไปดูจริงๆ ข้อกล่าวหานั้นกลับดูเบาเ้ป็นปุยนุ่น



++++++++++++++

นักศึกษาครับ

กาลามสูตร
ใช้เป็นหลักให้แม่นๆครับ

อย่าเชื่อเพราะ ได้ฟังมา
อย่าเชื่อเพราะมีในตำรา
อย่าเชืื่อเพราะ เป็นครูบาอาจารย์ของเรา
ฯลฯ

ในความเชื่อ บางที เราให้เครดิต คนที่มีปริิญญาหลายใบ เป็นคนมีวัยวุฒิ
มีฐานะดี เป็นชนชั้นสูง

ตัวอย่างก็มีให้เห็น
เช่น คนรากหญ้า ยึดมั่น ในกติกา นายกต้องมาจากการเลือกตั้ง ตามระบอบรัฐธรรมนูญ
ในขณะที่อาจารย์ นักวิชาการ หลากหลาย ออกมาสสร้างกระแส ขอใช้ ม.7 นายกพระราชทาน

นักศึกษา ต้อง ค้นคว้า หาเหตุผล ไม่เชื่ออะไรง่ายๆครับ
อนาคตประเทศชาติ อยู่ในมือพวกเธอ !


Posted by : มังกรดำ , Date : 2006-04-28 , Time : 00:58:13 , From IP : ppp-58.8.170.52.revi

ความคิดเห็นที่ : 7


    ผมพยายามอ่านหลายรอบ ทั้งของผมเอง และ คนอื่นๆในนี้
ไม่ทราบว่า หมายถึงผมหรือเปล่า ที่ว่าใช้คำอภิปรายยั่วยุ ?

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ผมเห็นด้วย กับกาารเจริญ ทั้งทางด้าน จิตใจ และ วัตถุ

เมื่อหลายสิบปีก่อน เราเคยมีการวิพากษกันถึงเรื่อง
จิตนิยม
กับ
วัตถุนิยม

คราวนั้น เมื่อยังวัยรุ่นและมีอุดมการณ์ร้อนระอุ ผมจะสุดมากๆไปทางเห็นว่า วัตถุนิยม เป็นนของเลวร้าย
จิตนิยม เท่านั้น จึงจะนำพาไปสู่ความสุข

แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น จากประสบการณ์ชีวิต และโลกไร้พรมแดน
ผมเริ่มมีความคิดเห็นว่า วัตถุนิยม มิใช่เรื่องเลวร้ายอันใด
เพราะหากไม่มี วัตถุนิยม นั่งบริกรรมคาถา เพื่อให้จิตใจสงบเพียงอย่างเดียว
เป็นไข้ ไม่สบาย ไม่มียารักษา
นอนหนาวตัวเปล่าเปลือย ไม่มีเสื้อผ้า

ไม่จำเป็นว่า ทั้งสองอย่างจะต้องไปด้วยกัน โดยมีน้ำหนักเท่ากัน
ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเแพาะ ที่จำเป็น
+++++++++++

เรื่องการผิดพลาด อย่างที่ผมแจงเอาไว้
การแปรรูป กฟผ. มีความยุ่งยาก สลับซับซ้อน ยิ่งกว่าสายไฟซึ่งระเกะระกะโยงยางตามเสาไฟฟ้าหน้าอาคาร

ผมอยากจะให้ดู เจตนา มากกว่า ว่า ทำแล้วได้ประโยชน์กับส่วนรวมมากหรือน้อย กับการเสียประโยชน์

ยิ่งให้ดูว่า ช่วงห้าปีที่ผ่านมา มีสารพัดสิ่งหมักหมมในสังคมและปัญหาบ้านเมือง ที่จะแก้ไข
ทุกอย่างเร่งรีบและสำคัญทั้งนั้น ด้วยคนบริหารสามสี่สิบคน แม้จะมีมือรอง ระดับรองๆ ลงไปช่วยทำงานบางอย่าง โดยความไว้วางใจ โดยให้ช่วยกลั่นกรอง บางที คนที่ลงไปทำแทน ก็อาจไม่รอบคอบ ข้างบนก็แต่งตั้งตามไปโดยเห็นว่าเลือกมาแล้ว


ยิ่งได้ดูตามศาลปกครองฯ ตัดสิน ว่า การแปรรูป กฟผ. ทำได้
เพียงแต่ผิดขั้นตอน ก็น่าจะได้รับคำตอบ
เพราะหากมองลึกลงไป ผลประโยชน์ เช่น เรื่องที่บอกว่า สัญญาณโทรคมนาคมที่จะกอดกันไปกับสายไฟฟ้านั้น แท้จริง จะได้กับทุกบริษัทคมนาคม ทีีทำธุรกิจแข่งขันกันอยยู่ในขณะนั้น

ยิ่งเรื่องการขายหุ้น ซื้อหุ้น
หากจะมองกลุ่มตระกูล ก็กี่ตระกูลล่ะหรือ ? ที่เป็นอำนาจทุนเก่าผูกขาด
คงจะเป็นข้อกล่าวหาเดียวกับ หุ้น ปตท. ซึ่งเมื่อลงไปดูจริงๆ ข้อกล่าวหานั้นกลับดูเบาเ้ป็นปุยนุ่น



++++++++++++++

นักศึกษาครับ

กาลามสูตร
ใช้เป็นหลักให้แม่นๆครับ

อย่าเชื่อเพราะ ได้ฟังมา
อย่าเชื่อเพราะมีในตำรา
อย่าเชืื่อเพราะ เป็นครูบาอาจารย์ของเรา
ฯลฯ

ในความเชื่อ บางที เราให้เครดิต คนที่มีปริิญญาหลายใบ เป็นคนมีวัยวุฒิ
มีฐานะดี เป็นชนชั้นสูง

ตัวอย่างก็มีให้เห็น
เช่น คนรากหญ้า ยึดมั่น ในกติกา นายกต้องมาจากการเลือกตั้ง ตามระบอบรัฐธรรมนูญ
ในขณะที่อาจารย์ นักวิชาการ หลากหลาย ออกมาสสร้างกระแส ขอใช้ ม.7 นายกพระราชทาน

นักศึกษา ต้อง ค้นคว้า หาเหตุผล ไม่เชื่ออะไรง่ายๆครับ
อนาคตประเทศชาติ อยู่ในมือพวกเธอ !


Posted by : มังกรดำ , Date : 2006-04-28 , Time : 00:58:25 , From IP : ppp-58.8.170.52.revi

ความคิดเห็นที่ : 8


   เรื่องกาลามสูตรนี้น่าสนใจครับ และพบว่ามักจะมีการ quote เอาเฉพาะส่วนที่เป็นเปลือก แต่ลืมส่วนสุดท้ายที่สำคัญที่สุดไปเสมอ

ตอนหัวหน้าหมู่บ้านกาลามได้ถามพระพุทธเจ้าว่าจะทราบได้อย่างไรว่าสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง นั้นดีแล้ว สมควรแล้ว ถูกต้องแล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงสาธกว่า "อย่าพึ่ง" เชื่อเพราะ... แต่ให้พิจารณาโดยปัญญาว่าสิ่งนั้นเป็นมงคล ถูกต้อง หรือนักปราชญ์ผู้มีศีลธรรมพิจารณาว่าดีควรหรือไม่ หัวใจคือการ พิจารณาให้ถ่องแท้โดยปัญญา แต่น่าเสียดายที่พระสูตรบทนี้ถูกเรียกเป็นกฏการไม่เชื่อสิบประการไปเฉยๆ

สมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงมีพระราชดำรัสว่าขอให้แพทย์ดำรงไว้ซึ่งธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ ทรัพย์สินลาภยศสรรเสริญจะตกเป็นสมบัติของเราเอง ถึงจะไม่ร่ำรวยมากล้นฟ้า แต่จะเป็นทรัพย์สินบริสุทธิ์ มาจากการทำงานที่ซื่อสัตย์สุจริต ช่วยเหลือผู้อื่น ที่ร่ำรวยถึงจะไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นจากจิตใจที่สงบ ไม่พลุ่งพล่านโลภทะยานอยากได้

สิ่งเหล่านี้เราคาดหวังว่าประสบการณ์ การได้เรียนรู้ชีวิตอย่างวิเคราะห์ การได้ขบคิดตามคำสั่งสอนจากพระบรมปราชญ์แห่งชาติเรื่องความพอเพียง เรื่องความอยู่อย่างมัธยัสถ์ จะเกิดขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็จะกลายเป็นเพียง "แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน" เท่านั้น

คงจะมีปรัชญาข้ออ้างมากมายว่าวัตถุนิยมเป็นเรื่องดีอย่างนั้น อย่างนี้ แต่เชื่อหรือไม่ว่ายังมีปรัชญาอีกด้านหนึ่งที่จิตใจที่สะอาด มั่นคง และซื่อสัตย์สุจริต จะไม่เป็นที่วิตกกังวลต้องแก้ตัวในความโลภ ในความอยาก หวาดระแวงต้องปกป้องตัวเองตลอดเวลา

คำสั่งสอนของครู ของตำรา ตัวอักษรในตัวบทกฏหมายนั้น ที่พระพุทธเจ้าสอนให้เราหยุดไม่เชื่อทันที ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้เชื่อเด็ดขาด แต่ให้เราพิจารณาให้เข้าใจถ่องแท้ด้วยปัญญาเสียก่อน กาลามสูตรมิได้สอนให้ทิ้งครู ทิ้งตำรา แต่สอนให้เราตรวจสอบ "ความหมายเจตนา" ที่แท้จริงของคำนอน ของตำรา ของกฏหมาย นั้นๆว่าคืออะไร กฏหมายทุกกฏหมายมีที่มา มีเจตนา ไม่ได้มีไว้เพียงแค่หาช่องโหว่หรือจงใจเล่นคำแปลเอาตามใจ เพื่อจะหาประโยชน์

การเป็นผู้นำที่ดีนั้น ไม่ blame คนข้างล่างมาสะเพร่า หาแพะรับบาป โยนความผิดให้คนเบื้องล่างครับ นั่นไม่ใช่บุคลิกของคนที่เป็นผู้นำ ไม่ใช่บุคลิกของคนที่คนอื่นจะไว้ใจ ฝากความหวัง เพราะการที่เป้นผู้นำได้นั้น แปลว่าเขาคิดว่าคนๆนั้นจะตรวจสอบ และมีความรอบคอบที่สุดแล้ว และข้อสำคัญ มีความรับผิดชอบ เป็นคนจริงเพียงพอที่จะยืดอกรับความถูกความผิด ไม่ได้เสาะแสวงหาคนตายแทนทันทีที่มีคนจับได้ อีกอย่างผู้นำที่ดีนั้นควรจะไว่ใจ "คนที่ไว้ใจได้" ทำงาน ถ้าเลือกคนใช้งานไม่เป้น เบือกคนสะเพร่า เลือกคนสกปรกประมาทมาทำงาน แล้วยังไม่สามารถช่วยตรวจสอบได้ด้วย มันจะมีผลร้ายมากกว่าผลดี ก็น่าเสียดายที่เดี๋ยวนี้ผู้นำไม่ต้องรับผิดชอบ แต่อ้างผู้นอ้ยว่าทำงานไม่ดีแทน นิยามของผู้นำ ตัวอย่างสำหรับคนรุ่นหลังก็น่าเป้นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ



Posted by : Phoenix , Date : 2006-04-28 , Time : 02:37:10 , From IP : 58.147.27.25

ความคิดเห็นที่ : 9


   คุณมังกรดำ
------------------------
เข้ามาปลุกระดม ให้ข้อมูลสนับสนุนทุนนิยม ซึ่งคนเหล่านี้จะเข้ามาลงทุนและทำทุกอย่างที่จะซื้อเพื่อหวังกำไร โอบอุ้มธุระกิจนายหน้า ขายเอากำไร โดยไม่คำนึงถึงผลผลิตของชาติ ของคนไทย

ซึ่งไม่ใช่การมีศักดิ์ศรีที่กล่าวอ้างอย่างแท้จริง คนที่ไม่มีสมบัติ ไม่มีผลผลิตเป็นของตัวเอง จะมีศักดิ์ศรีได้อย่างไร

เศรฐกิจพอเพียงคืออะไร น่าจะกลับไปศึกษาให้ถ่องแท้

ทุกวันนี้เศรษฐีเมืองไทย เป็นนายหน้าทั้งนั้น ซื้อมาขายไป ขูดรีดเอาจากประชาชนคนไทย รวมทั้งผู้นำรัฐบาล ถ้าไม่คิดจะผลิตหรือมีอะไรเป็นของตัวเอง จะไปเชิดหน้าที่ไหนได้

หวังว่าคงรู้จักคำว่า "นายหน้าคนกลาง"


Posted by : ขอเอี่ยว , Date : 2006-04-28 , Time : 09:33:16 , From IP : 172.29.1.144

ความคิดเห็นที่ : 10


   ขอฝากให้คิด
-----------------
คนที่ขาดจริยธรรม ขาดมโนธรรม ขาดศีลธรรม มักจะอ้างตัวบทกฏหมาย เพื่อความชอบธรรม


Posted by : ขอเอี่ยว , Date : 2006-04-28 , Time : 09:37:54 , From IP : 172.29.1.144

ความคิดเห็นที่ : 11


   คุณมังกรดำกลับแล้วหรือ
----------------
ช่วยให้ความกระจ่างแก่ความเห็นที่ 5 ของคุณ "ร่วมด้วยช่วยกัน" ด้วย

รอคำตอบ น่ะ
รอคำตอบ น่ะ
รอคำตอบ น่ะ
แล้วอย่าลืม คนรากหญ้า ที่คุณกล่าวถึง ไปบอกความจริงกับเขาบ้าง คนไทยด้วยกัน อย่าดูถูกหรือเอาเขามากล่าวอ้างเพื่อความชอบธรรม


Posted by : ขอเอี่ยว , Date : 2006-04-28 , Time : 09:51:50 , From IP : 172.29.1.144

ความคิดเห็นที่ : 12


   เรื่องการผิดพลาด อย่างที่ผมแจงเอาไว้
การแปรรูป กฟผ. มีความยุ่งยาก สลับซับซ้อน ยิ่งกว่าสายไฟซึ่งระเกะระกะโยงยางตามเสาไฟฟ้าหน้าอาคาร
ผมอยากจะให้ดู เจตนา มากกว่า ว่า ทำแล้วได้ประโยชน์กับส่วนรวมมากหรือน้อย กับการเสียประโยชน์
- ยกหนี้ของกฟผ. ให้คลังรับผิดชอบ = โยนให้ประชาชน 60 ล้านรับภาระหนี้แทน ทำไมไม่เอาหนี้ไปด้วยล่ะตอนแปรรูป ?????
- แปรรูปสายส่งและโรงไฟฟ้า ส่วนเขื่อนให้เป็นสัมปทานแก่กฟผ. รายเดียว = ผูกขาดผลประโยชน์ที่มาจากการเวรคืนสมบัติของประชาชน ก่อปัญหาให้เอกชนรายอื่น ๆ ที่ต้องส่งไฟฟ้าเข้าระบบเพราะสายส่งเป็นของ กฟผ.ไปแล้ว ไม่มีทางเลือก ทำไมไม่แปรรูปเฉพาะโรงไฟฟ้า ????


ยิ่งให้ดูว่า ช่วงห้าปีที่ผ่านมา มีสารพัดสิ่งหมักหมมในสังคมและปัญหาบ้านเมือง ที่จะแก้ไข
ทุกอย่างเร่งรีบและสำคัญทั้งนั้น ด้วยคนบริหารสามสี่สิบคน แม้จะมีมือรอง ระดับรองๆ ลงไปช่วยทำงานบางอย่าง โดยความไว้วางใจ โดยให้ช่วยกลั่นกรอง บางที คนที่ลงไปทำแทน ก็อาจไม่รอบคอบ ข้างบนก็แต่งตั้งตามไปโดยเห็นว่าเลือกมาแล้ว
- ผลประโยชน์ของชาติ สมบัติของแผ่นดิน สมบัติของประชาชน 60 ล้านคน ทำอะไรก็น่าจะถามกันบ้าง นี้ไม่ถาม แล้วยังอ้างว่ารีบร้อนได้อย่างไร งานสำคัญต้องละเอียดถี่ถ้วน ผิดพลาดย่อมยากแก้ไข ไม่ใช่เด็ก ๆ กันแล้ว สักแต่เซ็นแล้วชงตามกัน คุณทำงานกันอย่างนี้เหรอ ที่บอกว่าเป็นการสร้างความเจริญให้ประเทศ หรือความเสียหายกันแน่ ?????
ยิ่งได้ดูตามศาลปกครองฯ ตัดสิน ว่า การแปรรูป กฟผ. ทำได้
เพียงแต่ผิดขั้นตอน ก็น่าจะได้รับคำตอบ
เพราะหากมองลึกลงไป ผลประโยชน์ เช่น เรื่องที่บอกว่า สัญญาณโทรคมนาคมที่จะกอดกันไปกับสายไฟฟ้านั้น แท้จริง จะได้กับทุกบริษัทคมนาคม ทีีทำธุรกิจแข่งขันกันอยยู่ในขณะนั้น
- พูดให้ถูำกดีกว่าครับ "ผิดขั้นตอน" กับ "มิชอบด้วยกฏหมาย" มันต่างกันนะครับ ผิดกฏหมายตรงไหน ? ผิดที่ตั้งคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามามีส่วนรวมในการแปรรูป ผิดที่เอาสมบัติที่เวรคืนมาจากประชาชนไปแปรรูป อย่างนี้เรียกผิดขั้นตอนหรือครับ !!!!!
แล้วสัญญาณโทรคมนาคม (สายไฟเบอร์ในแกนกลางสายไฟ)ที่คุณว่านะ แปรรูปให้ กฟผ. ไป ผลประโยชน์ก็ตกกับ กฟผ. ที่จะให้สัมปทานกับใครต่อก็ได้ เห็นอยู่ไว ๆ ว่าบริษัทในเครือตระกูลผู้นำประเทศ รับสัมปทานกันไปแล้วด้วย !!!! แล้วไหนเอกชนรายอื่นที่คุณว่าครับ

ยิ่งเรื่องการขายหุ้น ซื้อหุ้น
หากจะมองกลุ่มตระกูล ก็กี่ตระกูลล่ะหรือ ? ที่เป็นอำนาจทุนเก่าผูกขาด
คงจะเป็นข้อกล่าวหาเดียวกับ หุ้น ปตท. ซึ่งเมื่อลงไปดูจริงๆ ข้อกล่าวหานั้นกลับดูเบาเ้ป็นปุยนุ่น
- ถ้าคุณแปรรูปอย่างยุติธรรม คุณจะแปรรูปไปเพื่อแข่งกับโลกาภิวัฒน์ก็ไม่ว่ากันครับ แต่อย่างที่ทำมันเอาประโยชน์ใส่ตน และเอาหนี้สินให้ประชาชนมันหมายความว่าอย่างไร ผมไม่เห็นว่ามันจะ เบาเป็นปุยนุ่น ตรงไหนหากคุณใส่ใจกับประโยชน์ของส่วนรวมของคนไทย คุณไม่น่าจะเอาคำนี้มาใช้


Posted by : ร่วมด้วยช่วยกัน , Date : 2006-04-28 , Time : 10:56:43 , From IP : 172.29.1.126

ความคิดเห็นที่ : 13


   ความคิดเห็นที่ 12 ผมขอ Post แย้งกับสิ่งที่คุณมังกรดำ Post ซ้ำ ๆ ไว้ใน ความคิดเห็นที่ 6-7 นะครับ ลองช่วยตอบคำถามให้กระจ่างหน่อยแล้วกันครับ !!!!

Posted by : ร่วมด้วยช่วยกัน , Date : 2006-04-28 , Time : 10:59:35 , From IP : 172.29.1.126

ความคิดเห็นที่ : 14


   ผมเข้าใจเรื่องจิตนิยมและวัตถุนิยมแตกต่างไปจากคุณมังกรดำ

มันเกี่ยวกับ "อะไรนำพฤติกรรมความคิด" ไม่ใช่การเลือกเอาไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

ทางหนึ่งนั้น เราสามารถจะมีคุณธรรม มีจริยธรรม มีจรรยาบรรณได้ และผลดีเราก็ยังมีอาชีพ มีรายได้ มีฐานะพอสมควร มี "วัตถุ" เพียงพอต่อความจำเป็น (ไม่ใช่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งนั่นอาจจะไม่เคยพอ) ของเราได้ เช่นวิถีพุทธฉือจี้ที่ไต้หวัน ที่ยึดการทำความดีต่อคนอื่นเป็นสรณะ อาสาสมัครเป็นสิ่งที่ popular มาก (คิวจะเป็นอาสาสมัครมากวาดลาน รพ.ฉือจี้ จะต้องรอเป็นปี เพราะคนรอคิวยาวมาก) ฉือจี้ run โดยมีผู้นำจิตวิญญาณเป็นกลุ่มภิกษุณี มีอุบาสกอุบาสิกาหาเงินจากบริจาค จากอาสาสมัครช่วยกันเก็บของ recycle ไปขาย จนกระทั่งสามารถหาเงินตั้งสถานีโทรทัศน์ของตนเอง รายการของสถานีมี theme เดียว คือเสนอเรื่องความดีที่คนช่วยเหลือคนอื่น คนช่วยเหลือสังคม ว่าใครทำอะไรที่ไหนบ้าง ฉือจี้ไม่ได้เกลียดเงิน เห็นว่าการหาเงินมาได้นั้นแปลว่าสามารถนำมาช่วยเหลือคนอื่นๆได้มากขึ้น

วัตถุนิยมนั้น เป็น "วัตถุนำพฤติกรรมความคิด" ฉันต้องมีก่อน ต้องสบายก่อน ต้องรวยก่อน จึงค่อยคิดถึงคนอื่น ปัญหาคือ ต้องมี ต้องสบาย ต้องรวย นั้น เป็นกับดักทางจิตใจ เพราะมันมีแต่จะทำให้ "อยาก" มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด มีเงินเป็นหมื่นล้าน ก็ขอประหยัดพันล้านไม่จ่ายให้คนอื่น หรือประเทศที่ตนเอง exploit ประโยชน์ แล้วมันก็จะออกมาเป็นภาษาอย่างที่มีนักเลี่ยงภาษีมืออาชีพแถลงการณ์ว่าวันนี้มาพูดเรื่องถูกไม่ถูกกฏหมาย ไม่ได้มาพูดเรื่องจริยธรรม นั่นแหละครับ ครูบาอาจารย์ที่สอนกฏหมายคงจะสะดุ้งเป็นแถวๆ หรือนอนกระสับกระส่ายพลิกตัวในหลุมศพ ที่มีลูกศิษย์รุ่นหลังแยกกฏหมายออกจากจริยธรรม ถ้าไปอ่านหนังสือ "สอนลูกให้รวย" มีอยู่ตอนหนึ่งเขียนว่า เราควรจะเสียภาษีเพื่อประเทศอย่างถูกต้อง ไม่หลีกเลี่ยง ถึงแม้อาจจะเสียมากหน่อย แต่ก็ภาคภูมิใจ มีศักดิ์ศรี ไม่รู้ว่ายังจำได้ไหม (ถ้าไม่ได้จ้างใครมาเขียนแบบนี้ให้) เพราะฟังดูแล้ว อ่านดูแล้ว เกิดความไม่แน่ใจว่าท่านแน่ใจในสิ่งที่ตนเองเขียนสอนคนอื่นไปมากน้อยแค่ไหน หรือว่าเน้นที่ยอดขายหนังสือแค่นั้น

เวลาอภิปรายคุณธรรม จริยธรรมนั้น ผมว่าแปลกมากที่จะ reference ว่าก็มีคนทำมาก่อน หรือคนอื่นก็ทำกัน มันจะเกี่ยวอะไรกับจริยธรรม? ทีอย่างนี้ไม่ยักจะอิงกาลามสูตร ไปเชื่อที่ครอบครัวอื่นทำ ที่บริษัทไม่รักชาติที่อเมริกาทำไปเปิดบริษัทที่เกาะบริติชเวอร์จินทำ ใช้ปัญญาวิเคราะห์แบบกาลามสูตร ก็เคยมีคนให้ความเห็นถูกต้องแล้วในอดีต ก็คือพวกนี้มันหลีกเลี่ยงภาษี ไม่รักชาติ (แต่ความจำไม่ค่อยดี ตอนนี้ลืมไปหมดแล้ว)

การมี ความรับผิดชอบ ในสิ่งที่ตนเองทำ ก็เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำ ไม่ใช่จะนำเฉพาะตอนได้ชื่อเสียง มันจะวัดตอนรับผิดได้ take responsibility ได้มากกว่า น่าสงสารเด็กๆ ลูกๆที่ต้องมารับเป็นหนังหน้าไฟ ดีที่เป็นสื่อเมืองไทย ที่บอกว่าดุเดือดแล้วนี่ ลองไปอเมริกาหรืออังกฤษ เด็กๆที่ถูกซัดทอดรับรองจะหลีกเลี่ยงการแถลงการซักฟอกใน press conference ไม่ได้ ก็จะเป็นการ grill ลูกหลานตนเองไปโดยปริยาย



Posted by : Phoenix , Date : 2006-04-28 , Time : 11:33:37 , From IP : 172.29.3.95

ความคิดเห็นที่ : 15


   เห็นด้วยกับความคิดเห็นที่ 4 ไม่ว่าความเจริญหรือความล้าหลังไม่ว่ามากไปหรือน้อยไปก็ไม่เหมาะทั้งนั้น แต่มันยากที่จะตัดสินว่าความพอดีของแต่ละคนมันอยู่ตรงไหน ตอนนี้เสียงสะท้อนที่แท้จริงไม่รู้อยู่อย่างไร คนรากหญ้าบางคนในบ้านเราก็เปรียบได้กับประเทศที่กำลังพัฒนาที่อยากให้มีความทัดเทียม ความเจริญให้เทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยอาจจะหลงลืมไปว่าแท้จริงแล้วบ้านเมืองเราต้องการ การอยู่อย่างพอเพียงที่เพียงพอจริง ๆ ไม่ใช่การแข่งขัน เปรียบเทียบ และผู้ที่ด้อยกว่าต้องโดนดูถูก ทุกวันนี้สังคมบ้านเราค่อนข้างอ่อนแอ เพราะเรารักวัตถุ > จิตใจ เฮ้อ เหนื่อยใจ แต่เราก็ต้องไปต่อไป แบบ ปลง ปลง

Posted by : ... , Date : 2006-04-29 , Time : 13:08:50 , From IP : 172.29.1.249

[ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน ] ถ้า กฟผ. ซึ่งมีสินทรัพย์ 4 แสนล้าน กู้เงินมาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าอีก 3 แสนล้าน คือมีหนี้สินเพิ่มขึ้น เงินลงทุน (หนี้สิน) ก็จะกลายมาเป็น "สินทรัพย์" เพิ่มขึ้นในอีกฝั่งหนึ่งด้วยเป็นสัดส่วนกัน ทำให้ กฟผ. มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนล้านบาท แล้วหนี้สิน 5 แสนกว่าล้านจะมามากกว่าสินทรัพย์ (ที่ ดร. แกเรียกว่าทรัพย์สิน) ได้ยังไง ??? * สรุปว่า ดร. แกมั่วแล้วครับผม อย่าไปฟังแกมากเลย * " />
ความคิดเห็นที่ : 16


   ดร. แกบอกว่า..

"ข้อสังเกตคือ ปัจจุบัน มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรวม 63 โครงการ เป็นเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 300,000 ล้านบาท

ซึ่งเท่ากับประหยัดเงินลงทุนและหนี้สินของ กฟผ.และลดยอดหนี้สาธารณะที่ค้ำประกันโดยรัฐบาลไปได้

ในจำนวนเดียวกัน ถ้าไม่มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเหล่านี้ กฟผ.ก็จะมีหนี้สินสูงถึง 540,000 ล้านบาท

มากกว่าทรัพย์สิน เท่ากับว่า กฟผ.จะอยู่ในสภาพล้มละลาย"

---

เพ้อเจ้อครับ.. แกเป็น ดร.ทางเศรษฐศาสตร์ แต่ทำไมเหมือนไม่มีความรู้พื้นฐานทางบัญชี

เคยได้ยินไหมครับ ที่ว่า ------------> [ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน ]

ถ้า กฟผ. ซึ่งมีสินทรัพย์ 4 แสนล้าน กู้เงินมาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าอีก 3 แสนล้าน คือมีหนี้สินเพิ่มขึ้น

เงินลงทุน (หนี้สิน) ก็จะกลายมาเป็น "สินทรัพย์" เพิ่มขึ้นในอีกฝั่งหนึ่งด้วยเป็นสัดส่วนกัน

ทำให้ กฟผ. มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนล้านบาท

แล้วหนี้สิน 5 แสนกว่าล้านจะมามากกว่าสินทรัพย์ (ที่ ดร. แกเรียกว่าทรัพย์สิน) ได้ยังไง ???

* สรุปว่า ดร. แกมั่วแล้วครับผม อย่าไปฟังแกมากเลย *


Posted by : jerasak , E-mail : (no_thaksin@lycos.com) ,
Date : 2006-05-09 , Time : 15:20:05 , From IP : ppp-58.8.86.233.revi


ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.008 seconds. <<<<<