ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

พนักงานมหาวิทยาลัยต้องอ่าน


   ร่างพระราชบัญญัติ ม.อ. อยู่ไหน หลังยุบสภา

ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่จะนำมหาวิทยาลัยสู่หน่วยงานในกำกับรัฐบาล ค้างอยู่ที่สภาหลังผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ตามร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ส่วนจะมีการสานต่อหรือส่งคืนขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่

อาจารย์พิชิต เรืองแสงวัฒนา รักษาการในตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาระบบบริหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวถึงขั้นตอนทางเดินของร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หลังการยุบสภาว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ใช้เวลานานในปีที่ผ่านมาในขั้นตอนของการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากร่างฯที่มหาวิทยาลัยเสนอโดยผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาคมมหาวิทยาลัย และผ่านสภามหาวิทยาลัยแล้ว มีความแตกต่างกับร่างที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขในประเด็นที่สำคัญ และมหาวิทยาลัยต้องยืนยันร่างเดิมกลับไปหลายครั้ง โดยได้อธิบายส่วนที่ต่างกันและเหตุผลว่าทำไมเราจึงมีความเห็นเช่นนั้น โดยส่วนที่ต่างที่สำคัญคือองค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัย บทบาทหน้าที่และองค์ประกอบของบางองค์กร แต่ในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ส่งร่างฯที่ได้รับการแก้ไขไปให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และส่งไปรอการพิจารณาของรัฐสภา แต่เนื่องจากมีการยุบสภาจึงไม่ได้มีการดำเนินการต่อไป

โดยระบบของการออกพระราชบัญญัติ เมื่อมีการยุบสภา กฎหมายที่ค้างอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะถูกหยุดไว้ และรัฐบาลใหม่จะเป็นผู้ทบทวนทั้งหมดที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของทั้ง สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา เพื่อยืนยันร่างกฎหมายเหล่านั้น จึงจะมีการดำเนินการต่อ เช่น มหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มที่ 1 ซึ่งผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภาแล้ว ก็ยังต้องนำกลับมาให้คณะรัฐมนตรียืนยันก่อน ว่าต้องการผลักดันร่างกฎหมายนี้ต่อหรือไม่ หากยืนยันก็ดำเนินการต่อไปได้เลยโดยไม่ต้องมาตั้งต้นใหม่ แต่หากไม่ยืนยันร่างนั้นก็จะตกไป
สำหรับร่างพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยในกำกับนั้น ทิศทางจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลใหม่ ถ้านโยบายรัฐบาลใหม่ยังยืนยันหลักการเดิม ในเรื่องการสนับสนุนส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ มหาวิทยาลัยทั้งหลายก็จะเดินหน้าต่อ ร่างพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ถือว่ามีการสะดุดเพราะการยุบสภา ดังนั้น ที่เคยคาดการณ์กันไว้ว่ามหาวิทยาลัยจะสามารถเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับได้ภายในปี 2550 ก็คงอาจจะไม่ทัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของฝ่ายการเมือง แต่ถ้าร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกลุ่มที่ 1 สามารถผ่านได้ก็คาดว่ากลุ่มที่เหลือจะตามออกมาได้เร็ว เพราะมีมหาวิทยาลัยที่เป็นต้นแบบแล้ว และร่างพระราชบัญญัติส่วนใหญ่ก็มีความคล้ายคลึงกัน

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ทราบข่าวว่ามีบางมหาวิทยาลัยจะขอถอนร่างพระราชบัญญัติของตนคืน สาเหตุอาจจะเนื่องจากไม่มั่นใจว่า รัฐบาลจะมีความเข้าใจในรูปแบบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยในกำกับอย่างลึกซึ้งหรือไม่ เพราะถ้ายังไม่เข้าใจจะเกิดการขัดข้องในระบบการบริหารงาน การงบประมาณ โดยเฉพาะการบริหารบุคลากร เนื่องจากที่ผ่านมาทุกมหาวิทยาลัยมีบุคลากร 2 ระบบ คือข้าราชการ และพนักงานซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย บางมหาวิทยาลัยมีพนักงานมากกว่าข้าราชการ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจพนักงานเหล่านี้เท่าที่ควร จนมหาวิทยาลัยต้องมีข้อเรียกร้องหลายครั้งให้รัฐหันมาดูแลพนักงานบ้าง เช่นเรื่องเงินเดือน สวัสดิการพนักงาน และสิทธิประโยชน์ในหลายอย่าง ล่าสุดเป็นเรื่องของการเรียกร้องการเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงาน 11 เปอร์เซนต์เพื่อให้สอดคล้องกับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งรัฐบาลควรจะดูแลไปด้วยกันมากกว่าจะดูเป็นกรณีไป เนื่องจากในระยะหลังรัฐบาลมีนโยบายให้จ้างพนักงานแทนข้าราชการ มหาวิทยาลัยจึงรู้สึกว่า ถ้าออกเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับโดยรัฐบาลยังไม่มีความเข้าใจเรื่องการบริหารงานบุคคล และระบบการเงิน จะกระทบกับการทำงานของมหาวิทยาลัยมาก จึงเกิดความไม่มั่นใจ

อีกเหตุผลหนึ่งคือ ระยะหลังรัฐบาลหันมาดูแลข้าราชการดีขึ้นกว่าเดิม ทั้งแง่สวัสดิการ เช่นล่าสุด ให้ข้าราชการเบิกค่าเล่าเรียนบุตรระดับอุดมศึกษาได้ถึง 15,000 บาท การใช้ค่าที่พักเหมาจ่าย การมีระบบโบนัส รวมทั้งด้านวิชาการที่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้กระจายอำนาจการตัดสินใจทางวิชาการให้กับสภามหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยมีอิสระทางวิชาการมากขึ้น เป็นต้น การปรับปรุงนี้ มีขึ้นหลังจากที่มหาวิทยาลัยได้ยกร่างพระราชบัญญัติเสนอไปแล้ว มหาวิทยาลัยบางแห่งจึงเกิดความรู้สึกว่า อุปสรรคที่เคยมีได้ถูกแก้ไขไปหลายส่วนแล้ว

และถึงแม้หลายมหาวิทยาลัยไม่ได้ดำเนินการถึงขนาดถอนร่างพระราชบัญญัติของตน แต่ความกระตือรือล้นในการผลักดันมหาวิทยาลัยสู่มหาวิทยาลัยในกำกับดูจะเบาลง

อย่างไรก็ตามจุดยืนเรื่องนี้ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังเหมือนเดิม เพราะการผลักดันเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับเป็นนโยบายของชาติ แต่สงขลานครินทร์จะอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยชุดหลังๆ ที่จะออกเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ เพื่อจะได้เห็นแบบฉบับของพระราชบัญญัติที่ผ่านการเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา ของมหาวิทยาลัยชุดแรก และจะได้เห็นปัญหา อุปสรรคของมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปก่อนหน้าเรา ซึ่งคาดว่าห่างกันประมาณ 1 ปี เพื่อเป็นตัวอย่างในการร่างข้อบังคับที่รอบคอบขึ้นต่อไป


Posted by : พป. , E-mail : (ไม่เปิดเผย) ,
Date : 2006-04-21 , Time : 09:17:18 , From IP : 172.29.7.217


ความคิดเห็นที่ : 1


   สนใจอ่านหัวข้อ post จัดตั้งชมรมพนักงานมหาวิทยาลัย

Posted by : Mr. Jesus , Date : 2006-04-29 , Time : 10:03:09 , From IP : 172.29.1.158

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<