ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

ประสบการณ์การพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ


   ประสบการณ์การพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ
นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล
ศูนย์พัฒนาคุณภาพ รพ.สงขลา
ทิศทางของการพัฒนากระบวนทัศน์ใหม่ในการดูแลผู้ป่วย คงหลีกหนีไม่พ้นการผสมผสานการพัฒนาคุณภาพควบคู่ไปกับการสร้างเสริมสุขภาพ คงเป็นเรื่องไม่ยากนักสำหรับโรงพยาบาลที่มีวัฒนธรรมของการพัฒนาคุณภาพที่ดี เพียงแต่เข้าใจแนวคิด , หลักการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ และนำลงสู่การปฏิบัติ ทำอย่างไรจึงจะให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกว่าทันทีที่เข้ามาในโรงพยาบาลแล้วรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน? ทำอย่างไรจึงจะให้ผู้ให้บริการมีความรู้สึกเสมือนว่ากำลังดูแลรักษาญาติของตนเองอยู่? ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านได้อย่างปกติสุข? และ ทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ของเราปลอดภัยจากความเสี่ยงและมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้มาใช้บริการได้
เหตุที่ต้องทำโรงพยาบาลของเราให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ เพราะในอดีต การดูแลรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจะเน้นการตั้งรับเป็นส่วนมาก (รักษาโรคให้กับผู้ป่วย) แต่รูปแบบใหม่ของการดูแลรักษาจะมุ่งเน้นการรักษาแบบองค์รวมและดูแลเชิงรุกมากยิ่งขึ้น(การส่งเสริม การป้องกันโรค การวิเคราะห์และจัดการกับปัญหาต้นตอก่อนที่จะเกิดภาวะป่วยโดยจะลงลึกถึงการแก้ไขในระดับชุมชน) จะมีบทบาทที่สำคัญขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากประชากรมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น กลุ่มผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากขึ้นทำให้มีภาวะของโรคเรื้อรังมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มที่มีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม, ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือระบบเหมาจ่ายโดยบุคคลที่สาม เช่น ประกันชีวิต จะทำให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลบ่อยครั้งขึ้น ทำให้บุคลากรมีภาระงานมากขึ้นและอาจให้บริการที่มีคุณภาพต่ำลง, ในระยะยาวหากสถานบริการไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาพจะ ทำให้มีการใช้งบประมาณอย่างไร้ประสิทธิภาพ การให้บริการสุขภาพที่ขาดการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมอย่างแท้จริง คงจะไม่ใช่การพัฒนาคุณภาพอย่างสมบูรณ์แบบ, การศึกษาปัญหาที่แท้จริง และการสร้างพลัง อำนาจ ให้กับผู้ป่วยและชุมชน เหมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอ ( Root cause analysis ) และเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้ชุมชนซึ่งอาจจะทำให้อัตราการเจ็บป่วย, Re-admission, ภาวะแทรกซ้อนของโรค ลดลงและทำให้คุณชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น
การพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ มีเกณฑ์ผ่านในระดับแรก (Healthy Thailand) ใน เกณฑ์องค์ประกอบ 1-6 จะต้องได้คะแนนตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป ส่วนโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (HPH) ต้องผ่านเกณฑ์องค์ประกอบที่ 1 - 7 ตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป (หมายเหตุ : ระดับที่ 1 = พอใช้, ระดับที่ 2 = เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง, ระดับที่ 3 = มีแนวโน้มที่ดีใน Area สำคัญ, ระดับที่ 4 = มีผลลัพธ์ที่ดีใน Area ที่สำคัญ, และระดับที่ 5 = ดีเลิศ) ในโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองคุณภาพ (HA) โดย สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.)แล้ว สามารถเข้าสู่กระบวนการตรวจและรับรองโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (HPH) จาก พ.ร.พ. ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านการประเมิน Healthy Thailand ก่อน
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจในเรื่องขององค์ประกอบทั้ง 7 องค์ประกอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ
องค์ประกอบที่ 1 การนำองค์กรและการบริหาร หมายถึง โรงพยาบาลต้องมีวิสัยทัศน์ โครงสร้าง แผนหลัก แผนปฏิบัติการ การติดตามประเมินผล และวัฒนธรรมองค์กร โดยจุดเน้นอยู่ที่ทีมนำ ต้องให้ความสำคัญกับ HPH มาก, ในการปรับโครงสร้างโดยการผสมผสานทีม HA & HPH ในทุกระดับ และผสมผสานงาน HPH เข้าสู่การปฏิบัติงานประจำให้ได้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลรักษาผู้ป่วย และควรมีการติดตามงานดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ สำหรับโรงเรียนแพทย์ต้องมีนโยบายในการเสริมสร้างความตระหนักและความรู้ในเรื่องของการส่งเสริมและป้องกันให้กับนักศึกษาแพทย์/พยาบาล/เภสัชฯ/ทันตฯ เป็นต้น
องค์ประกอบที่ 2 การบริหารทรัพยากรและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล หมายถึง การจัดสรรงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลทุกระดับ โดยมีจุดเน้นที่ต้องมีแผนการจัดสรรงบประมาณด้าน Prevention & Promotion อย่างเหมาะสมและให้การสนับสนุนให้กับเครือข่ายในเรื่อง วัสดุ อุปกรณ์เพื่อการส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้รับบริการและชุมชน, เน้นการเสริมสร้างทักษะ ความรู้ความสามารถ ด้านส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้ป่วยและญาติ, พัฒนาเทคโนโลยี/นวัตกรรม เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ และมีแผนการให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพแก่บุคลากรในโรงพยาบาลและในเครือข่าย
องค์ประกอบที่ 3 การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินงาน HPH หมายถึง โครงสร้างทางกายภาพ การจัดการด้านกายภาพ การจัดการสิ่งแวดล้อมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้มีการส่งเสริมสุขภาพ จุดเน้น โครงการสร้างทางกายภาพต้องมีความสะอาด ( 5 ส.) ปลอดภัย (ความเสี่ยงทางกายภาพ) และมีระบบการถ่ายเทอากาศที่ดีใน ICU. OR OPD และต้องมีระบบ One way ที่ดีในหน่วยงานซักฟอก จ่ายกลาง และโภชนาการ ต้อมีระบบการป้องกันการติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การแยกขยะ การแยกทำลายขยะ ขยะติดเชื้อ ระบบบ่อบำบัดน้ำเสียที่ดี ควรมีมุมส่งเสริมสุขภาพที่เพียงพอ และร้านอาหารที่ถูกสุขอนามัย
องค์ประกอบที่ 4 การส่งเสริมสุขภาพของบุคลากรของโรงพยาบาล หมายถึง การมีกฎระเบียบ ข้อตกลง ด้านสุขภาพของเจ้าหน้าที่, การทบทวนความรู้และทักษะและระบบข้อมูลสุขภาพ/พฤติกรรมสุขภาพ ของเจ้าหน้าที่ จุดเน้น เจ้าหน้าที่ต้องเป็น Model ที่ดีในการส่งเสริมสุขภาพ, มีการตรวจสุขภาพประจำปีแก่เจ้าหน้าที่, มีการให้การดูแลรักษาในกลุ่มป่วยและมีการจัดกลุ่มบำบัดในเจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยง, มีการจัดสถานที่ให้เอื้อต่อการสร้างสุขภาพ เช่น ลานแอร์โรบิค สนามกีฬาต่าง ๆ ที่พอเพียง ฟิตเนตเซ็นเตอร์ เป็นต้น และที่สำคัญที่สุด คือการป้องกันอุบัติเหตุหรือโรคที่เกิดจากการทำงาน
องค์ประกอบที่ 5 การส่งเสริมสุขภาพผู้รับบริการ ครอบครัว และญาติ หมายถึง การปรับระบบบริการของโรงพยาบาล ระบบข้อมูล/ข่าวสาร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้ป่วย ครอบครัว และญาติ การส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มสุขภาพดี และการบริการข้อมูลข่าวสารสุขภาพ จุดเน้น เนื่องจากเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด ที่มีบทบาทที่สำคัญ คือ PCT และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องปลูกฝังแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพ ให้กับผู้รับบริการทุกเมื่อ โดยเน้นในเรื่อง H-E-L-P H หมายถึง Holistic : เราดูแลมิติด้านจิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม ของผู้ป่วยดีแล้วหรือไม่ อย่างไร Empowerment : เราจะ empower ผู้ป่วยและครอบครัวอย่างไรได้ผลและเพียงพอหรือไม่ Lifestyle : เราจะเตรียมผู้ป่วยอย่างไร จึงจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ โดยสอดคล้องกับวิถีชีวิต และข้อจำกัดเรื่องสิ่งแวดล้อม Prevention : เราวางแนวทางป้องกันการกลับเป็นซ้ำของผู้ป่วยรายนี้ ได้อย่างไร จะป้องกันคนอื่นได้อย่างไร เพียงแค่นี้ ผลงานในเรื่อง HPH ก็จะออกมาอย่างมากมาย, การใช้สื่อต่าง ๆ ที่เพียงพอต่อการส่งเสริมสุขภาพ, การจัดกิจกรรมกลุ่มที่ต้องการปรับพฤติกรรม การสร้างทางเลือกให้กับผู้รับบริการ การทบทวนกิจกรรม C 3 THER และแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพ และที่สำคัญ คือการเชื่อมโยงการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่แรกรับจนจำหน่ายและกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านได้อย่างปกติสุข โดยใช้เครื่องมือ Discharge Planning, Case Management และ Disease Management มีการติดตามการดูแลผู้ป่วยถึงชุมชน / โรงพยาบาลที่รับดูแลต่อและมีการ Feedback ข้อมูลกลับมายัง PCT อย่างสม่ำเสมอ
องค์ประกอบที่ 6 การส่งเสริมสุขภาพในชุมชน หมายถึง การบริการส่งเสริมสุขภาพในชุมชนและการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนในที่นี้ ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลระดับเล็ก อาจมีชุมชนที่อยู่ในความดูแลมาก ส่วนโรงพยาบาลระดับใหญ่ หรือโรงเรียนแพทย์ ชุมชน อาจหมายถึงกลุ่มผู้ป่วยที่มารับการรักษาและหากิจกรรมทำร่วมกัน ก็จัดว่าเป็นชุมชนได้ โดยจุดเน้นอยู่ที่ จะ Empowerment ชุมชนอย่างไร สร้างพลังให้กับชุมชนสามารถดูแลและขับเคลื่อนกลุ่มได้ด้วยตนเอง, ควรมีการวิเคราะห์หากลุ่มเสี่ยงและมีกิจกรรมตอบรับ สำหรับนักศึกษา ควรมีโปรแกรมในการฝึกลงเยี่ยมชุมชน วิเคราะห์ปัญหาและจัดกิจกรรมในชุมชน เพราะบุคลากรดังกล่าว ส่วนใหญ่จบแล้วจะต้องไปปฏิบัติงานในชุมชนและเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ
ตัวอย่างกิจกรรมที่ PCT/หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการด้านส่งเสริมสุขภาพ
1. ห้องฉุกเฉิน วิเคราะห์ปัญหาความชุกของโรค (Top 5 diseases) พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่เป็นปัญหาสำคัญคืออุบัติเหตุจาการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ก็ควรจะมีแนวคิดและกิจกรรมในเรื่องการรณรงค์เรื่อง เมาแล้วไม่ขับหรือการสวมหมวกกันน๊อกให้กับประชาชน
2. ห้องฉุกเฉินพบว่ามีหญิงไทยรายหนึ่งต้องมาขอรับการรักษา(นอนที่ห้องฉุกเฉิน)เกือบทุกวันด้วยเรื่องหอบหืด(ถึงแม้บางวันไม่ได้หอบจริง) ก็ควรจะวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง เช่น ค้นหาปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้านอนที่บ้านต้องมานอนโรงพยาบาลทุกคืน มีทีมลงเยี่ยมบ้านหาแนวทางแก้ปัญหาแบบองค์รวมและ Empowerment แก่ผู้ป่วยรายนี้จนผู้ป่วยมานอนโรงพยาบาลน้อยลง
3. หอผู้ป่วยอายุรกรรมพบว่ามีผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานเป็นจำนวนมาก จึงมีแนวคิดแก้ปัญหาร่วมกับ OPD อายุรกรรม โดยทำเป็น Disease Management ในการเสริมสร้างพลังอำนาจให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถอยู่ในชุมชนได้อย่างมีความสุขพร้อมทั้งมีการค้นหากลุ่มเสี่ยง กลุ่มเริ่มป่วยเพื่อให้การส่งเสริมดูแลและป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวานที่รุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อน
4. หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม มีการปรับรูปแบบ Discharge Planning ในการดูแลรักษาผู้ป่วยขาดสารอาหารให้มีการดูแลแบบองค์รวม และมีการติดตามการดูแลรักษาต่อเนื่องถึงชุมชน
5. ผู้ป่วยเด็กหลังผ่าตัด colostomy จะมีลำไส้ใหญ่เปิดออกทางหน้าท้อง ทำให้พ่อและแม่มักจะวิตกกังวลกับภาพลักษณ์ของเด็ก ทีม PCT / หน่วยงาน เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว (องค์รวม) ได้นำมาทบทวนและสร้างนวัตกรรมผ้าปิดหน้าท้อง ซึ่งผลลัพธ์ทำให้พ่อและแม่คลายความวิตกกังวล และเด็กสามารถใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวและสังคมได้อย่างปกติสุข
6. ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้พบปัญหาทารกถูกทอดทิ้งในโรงพยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ร่วมกับ PCT สูติกรรม ได้เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว พร้อมทั้งจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรองรับและช่วยแก้ไขปัญหา เช่น มีการค้นหากลุ่มเสี่ยงต่อการทอดทิ้งบุตร ตั้งแต่ตั้งครรภ์ ให้ Family Counseling เพื่อลดการทอดทิ้งบุตร มีการช่วยเหลือมารดาและเด็ก โดยการประสานงานกับองค์กรภายนอก NGO จัดหากองทุนช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ
7. แม้แต่หน่วยงานสนับสนุนทางคลินิกก็ยังสามารถดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีได้ เช่น งานทันตกรรม งานเภสัชกรรม งานโภชนากร เป็นต้น

องค์ประกอบที่ 7 ผลลัพธ์ของกระบวนการส่งเสริมสุขภาพ หมายถึง ผลที่เกิดจากการดำเนินงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพทั้ง 6 องค์ประกอบ
ผลลัพธ์ของกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ มักจะเน้นผลลัพธ์ที่เป็นกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าผลลัพธ์ที่เป็นเพียงตัวเลขหรือสถิติต่าง ๆ ผลลัพธ์ขององค์ประกอบที่ 1 และ 2 เป็นผลลัพธ์ในระดับของทีมนำหรือภาพรวมของโรงพยาบาล ในเรื่องโครงสร้าง และการบริหารจัดการ ทั้งด้านทรัพยากร และทรัพยากรบุคคล การสร้างเสริมสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนผลลัพธ์ขององค์ประกอบที่ 3 ในมุมมองของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพมักจะเน้นที่สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพและปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่ ผู้รับบริการ และชุมชน (นอกเหนือจากความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ) จุดเน้นของผลลัพธ์ มักจะเน้นผลลัพธ์ในองค์ประกอบที่ 4-6 เป็นสำคัญ เช่น ผลลัพธ์ขององค์ประกอบที่ 4 มักจะดูพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพของเจ้าหน้าที่ ( เช่น การบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การหลีกเลี่ยงสิ่งเสพติด และการใช้อุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน) และผลลัพธ์ของสภาวะสุขภาพ เช่น ผลการตรวจสุขภาพประจำปี การลาป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ ระดับความเครียดของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ผลลัพธ์ขององค์ประกอบที่ 5 และ 6 เน้นพฤติกรรมสุขภาพและสภาวะสุขภาพของผู้รับบริการทั้งในกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มผู้ป่วย (โดยใช้แนวคิดของ Holistic / Empowerment / Life Style / Prevention ) และเชื่อมโยงกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยและกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป โรงพยาบาลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบสุขภาพ เป็นศูนย์รวมของผู้มีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือและศรัทธาจากผู้รับบริการและชุมชน และได้รับความคาดหวังที่น่าจะเป็นผู้นำด้านสุขภาพ การที่โรงพยาบาลมุ่งเน้นกระบวนการส่งเสริมสุขภาพควบคู่กับคุณภาพด้านการดูแลรักษาที่ดี ถือได้ว่าเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ในการดูแลสุขภาพที่จะเกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนและยั่งยืน


เอกสารอ้างอิง
โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ วิถีชุมชน คู่มือการเรียนรู้ ที่ทำให้งานชุมชนง่าย ได้ผลและสนุก.
สถาบันวิจัยสังคมและสุขภาพ. บริษัทดีไซร์ จำกัด. กทม , 2545.
สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข. แนวคิด มุมมอง เรื่องโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ.
กรุงเทพฯ , 2546.
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มาตรฐานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและแบบประเมินตนเอง.
กรมอนามัย , 2545.
นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล การนำมาตรฐาน HPH ไปปฏิบัติควบคู่กับมาตรฐาน HA.
สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล , 2546
วารสารการส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อม ปีที่ 22 ฉบับที่ 2 เม.ย. – มิ.ย.42.
กรมอนามัย , 2542.
การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล (HA) และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (HPH).
คณะกรรมการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลสงขลา , 2547


Posted by : กิมจิ , Date : 2006-04-20 , Time : 11:19:20 , From IP : 172.29.2.197

ความคิดเห็นที่ : 1


   อยากทราบคำจัดกัดความ ของคำว่า "กลุ่มเสี่ยง" กลุ่มปกติ และกลุ่มเป็นโรค ว่ามีคำนิยามที่จำกัดหรือไม่ หรือแล้วแต่ตอนนั้นว่ากำลังกล่าวถึงเรื่องใด เช่นกลุ่มเสี่ยงในเรื่องโรคความดันโลหิตสูง กลุ่มเสี่ยงในโรคมะเร็งปากมดลูก การตอบแบบประเมินตนเองของ HPH ยังับสนในเรื่องนี้อยู่ ผู้ใดมีคำตอบกรุณาช่วยตอบหน่อยนะคะ ขอบคุณค่ะ

Posted by : mj t , Date : 2006-07-05 , Time : 16:13:04 , From IP : p4237-adslbkksp13.C.

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<