หมอแบบไหน ถูกใจคนไข้
เป็นคำถามที่หมอเองถูกถามบ่อยๆ ถึงจะตอบยาก แต่ก็มีข้อสังเกตมาชวนคุยให้คิดกันครับ
ตั้งแต่ประกอบอาชีพเป็นหมอมาก็ประมาณ 20 ปีแล้ว ผมเคยพูดและเขียนเกี่ยวกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บและเรื่องของคนไข้มาไม่น้อยเลยที่เขียนลงในนิตยสารดวงใจพ่อแม่เองก็ไม่น้อย แต่ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของหมอ ผมยังไม่เคยพูดและเขียนถึงในลักษณะสู่สาธารณชนมาก่อนเลย จะพูดกันก็เฉพาะกับเพื่อนฝูงในวงการเดียวกันเท่านั้น
ในระยะหลังๆ นี้ผมรู้สึกว่าผมถูกถามเกี่ยวกับเรื่องของหมอไม่น้อยเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นคำถามเกี่ยวกับว่า เจ็บป่วยอย่างนี้จะไปหาหมอคนไหนดี หมอคนไหนเก่งคนไหนไม่เก่ง ซึ่งคำถามเหล่านี้ผมค่อนข้างอึดอัดใจที่จะตอบ เพราะตอบยาก เอาเป็นว่าผมอยากชวนคุยเกี่ยวกับเรื่องของหมอเท่าที่จะพอเล่าได้ก็แล้วกัน เผื่อใครไปหาหมอจะได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ ต้องบอกตรงนี้ก่อนนะครับว่าทั้งหมดที่เขียนเป็นความคิดของผมนะครับ หมอคนอื่นเขาอาจจะไม่คิดเหมือนผมก็ได้
ในวงการหมอด้วยกัน ส่วนมากเราพอจะบอกกันเองได้ว่าหมอคนไหนเก่ง คนไหนไม่เก่ง วิธีบอกง่ายที่สุด คือดูผลการเรียนว่าดีเด่นกว่าคนอื่นไหม ผมต้องเน้นว่าดีเด่นนะครับ เพราะหมอส่วนมากก็มักจะคิดว่าตัวเองเก่นกันทุกคน จะยอมรับว่าคนอื่นเก่งกว่า คนนั้นต้องมีผลงานดีกว่าจริงๆ นอกจากนี้อาจจะดูที่ฝีมือในการผ่าตัดรักษาโรค หมอบางคนผ่าตัดดีกว่าเพื่อนฝูงอย่างชัดเจน หรือหมอบางคนสอนหนังสือหรืออภิปรายปัญหาทางวิชาการได้ดีกว่าหมอคนอื่น หมอเหล่านี้ก็มักจะได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูงหรือน้องพี่ในวงการของหมอว่าเก่ง
แต่สำหรับคนไข้แล้วข้อมูลข้างต้นอาจไม่เป็นจริงเสมอไป ผมเคยแนะนำคนไข้ที่สนิทกันหลายคนให้ไปหาหมอบางท่านที่ผมคิดว่าเก่ง แต่ภายหลังคนไข้กลับมาบอกผมว่าไม่เก่งหรือดีอย่างที่บอกเลย
เท่าที่ประมวลดูแล้วผมคิดว่าหมอเก่งหรือไม่เก่ง หมอดีหรือไม่ดีในความคิดเห็นของคนไข้เป็นเรื่องของ ความถูกใจ มากกว่า
แบบนี้เก่ง
หมอเก่งหรือหมอดีที่คนไข้มาเล่าให้ฟัง ผมสรุปได้ดังนี้ครับ
หมอพูดหรืออธิบายเก่ง หมอบางคนพูดให้คนไข้และญาติเข้าใจถึงโรคที่คนไข้กำลังประสบอยู่และวิธีการรักษาได้เป็นอย่างดี ซึ่งบางคนแค่ฟังเสร็จก็คลายทุกข์ไปได้เยอะแล้ว หมอแบบนี้เป็นหมอเก่งประเภทหนึ่ง
หมอพูดถูกใจหรือเอาใจ คนไข้บางคนต้องการคนเอาใจหรือยอมทำตาม ถ้าเจอกับหมอแบบนี้รับรองว่าเข้ากันได้ดีเลย หมอแบบนี้มักยอมตรวจหรือรักษาตามใจคนไข้ ซึ่งการตรวจหรือรักษาบางอย่างตัวเองก็รู้ว่าไม่จำเป็น หรือบางทีรู้ด้วยซ้ำว่างี่เง่าอีกต่างหาก แต่ไม่อยากขัดใจหรือขี้เกียจที่จะเถียงกับคนไข้ให้หมางใจกันเปล่าๆ อยากโง่ก็ให้โง่ไป แถมตรวจเยอะๆ หมอก็ได้ตังค์เยอะด้วย มีความสุขกันทั้งสองฝ่าย หมอแบบนี้เป็นหมอเก่งอีกประเภทหนึ่ง
หมอท่าทางน่าเลื่อมใส หมอพวกนี้มักมีบุคลิกลักษณะดี ท่าทาง ท่าเดิน หรือการแต่งกายดูดี หมอแบบนี้เหมาะสำหรับคนไข้ที่ชอบคนที่ดูน่าเลื่อมใส หมอบางคนที่ดูดี แต่ในวงการของหมอด้วยกันรู้ว่าไม่มีความรู้หรือความชำนาญในโรคนั้นก็มีเยอะ เพียงแต่ไม่รู้จะบอกคนไข้อย่างไร หรือถึงบอกไปก็ไม่เชื่อ ก็ต้องพิจารณากันเอาเองก็แล้วกัน
หมอฝีมือดี หมอพวกนี้คือหมอเก่งจริง โดยเฉพาะเก่งในวิชาชีพที่เรียนมา เช่น บางคนผ่าตัดหัวใจเก่งมาก บางคนทำคลอดเก่งมาก หมอพวกนี้บางคนก็พูดไม่เก่ง แถมบางคนปากร้ายเอาใจยากอีกต่างหาก แต่ก็ถูกใจคนไข้ไม่น้อย คนไข้หลายคนมาบอกผมว่าแม้จะต้องรอนานกว่าจะได้ตรวจหรือถูกหมอว่าเวลาขัดใจหมอก็ต้องทนเอา หมอแบบนี้เหมาะสำหรับคนไข้ที่ต้องการผลงานการรักษาที่ดี แต่อาจต้องทนต่อความรู้สึกบางอย่าง เช่น รอนาน หรือหมอหงุดหงิดใส่
แบบนี้ไม่เก่ง
ในทางตรงกันข้ามกับหมอเก่งหรือหมอดีดังกล่าวข้างต้น หมอไม่เก่งหรือหมอไม่ดีมักมีลักษณะดังนี้
หมอพูดไม่เข้าใจ หรือจะว่าพูดไม่รู้เรื่องก็ได้ ภาษาของหมอที่ใช้กันเป็นภาษาที่เข้าใจยากสำหรับคนนอกวงการ ส่วนมากแล้วหมอไม่ได้ต้องการจะพูดให้มันดูภูมิฐานหรอกครับ แต่ไม่รู้จะพูดเป็นภาษาชาวบ้านอย่างไรมากกว่า หมอบางคนพยายามจะแปลชื่อโรคจากภาษาอังกฤษ (หรือบางทีก็เป็นภาษาละติน) ให้ฟังง่ายขึ้น แต่ยิ่งทำบางครั้งก็ยิ่งสับสนหรือน่าตกใจ เช่น โรคกระเพาะปัสสาวะเสื่อมสมรรถภาพ โรคหัวใจอ่อน คนไข้บางคนหลังฟังหมอพูดเลยต้องเลิกทำงานหรือเปลี่ยนอาชีพไปเลยก็มี เพราะกลัวหัวใจจะหยุดเต้นแล้วตาย ทั้งที่หมอก็ไม่ได้มีเจตนาจะให้เข้าใจในทางเลวร้ายเช่นนั้น แต่หมอก็พูดไม่เป็นเหมือนกัน ผมเคยประสบพบเจอหมอบางคนที่มีตำแหน่งวิชาการใหญ่โต แต่ไม่ค่อยมีคนไข้มาหาเพราะพูดแล้วคนไข้ไม่เข้าใจ
หมอไม่พูดหรือไม่บอก หมอบางคนก็ขี้เกียจพูดจริงๆ คนไข้บางคนจนหมออนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นโรคอะไร เพราะหมอไม่พูดหรือไม่บอก หรือบอกแต่ไม่เข้าใจ ยิ่งถ้าเจอคนไข้ประเภทขี้เกรงใจ ไม่กล้าถามยิ่งไปกันใหญ่ ผมคิดว่าเป็นสิทธิ์อย่างเต็มที่ของคนไข้เลยนะครับที่จะถามหมอว่า ตัวเป็นโรคอะไร รักษาไปอย่างไรบ้าง ถ้าได้รับการผ่าตัดก็ควรจะถามว่าผ่าตัดอะไรไป จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรต่อไป หัดกล้าบ้างนะครับ
อย่างไรก็ตาม บางครั้งที่หมอไม่บอกก็เพราะคนไข้เป็นโรคร้ายแรง หมอเลยไม่กล้าบอกเพราะเกรงว่าถ้าบอกไปคนไข้จะช็อกตายเสียก่อน หรือบางทีก็อยากบอกแต่ยาติขอร้องไม่ให้บอก กรณีนี้หมอก็ต้องยอมเป็นหมอไม่ดีหรือไม่เก่งแล้วละครับ
หมอไม่มีฝีมือหรือไร้ความรู้ หมอประเภทนี้ตรงข้ามกับหมอฝีมือดีที่กล่าวถึงข้างต้น กล่าวคือ รักษาผู้ป่วยแล้วมีปัญหาหรือผิดพลาดบ่อยๆ ผ่าตัดก็ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งที่ไม่ควรจะเกิด ใครที่ไปเจอหมอแบบนี้ก็ถือว่าโชคร้ายละครับ แต่จะให้ชี้ชัดไปเลยว่าหมอคนไหนที่เป็นแบบนี้ คงไม่มีใครกล้าบอกหรอกครับ เดี๋ยวฆ่ากันตาย ก็ต้องลองสืบๆ ดูเอาเองก็แล้วกัน อย่างไรก็ตามหมอประเภทนี้ไม่น่าจะมีมากหรอกครับ
ความจริงยังมีเรื่องเกี่ยวกับหมอที่คนไข้น่าจะรู้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะพิเศษของคนที่เป็นหมอ ประเภทของหมอ เพื่อที่คนไข้จะได้เข้าใจและเลือกหาหมอตรงตามที่ตัวเองต้องการ แต่คิดว่าต้องขอจบแค่นี้ก่อนนะครับ เพราะเดี๋ยวผมจะถูกเพื่อนผองน้องพี่หมอๆ ของผมรุมเหยียบเอาที่เอาเรื่องภายในมาเผยแพร่มากเกินไป ขอให้โชคดีเจอหมอที่ถูกใจนะครับ
(update 28 กรกฎาคม 2005)
[ ที่มา..นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ปีที่ 10 ฉบับที่ 112 กุมภาพันธ์ 2548 ]
Posted by : P , Date : 2006-04-17 , Time : 21:39:58 , From IP : 172.29.7.139
|