ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

ปรากฏการณ์สังคมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์


   

ในระหว่างการชุมนุมกู้ชาติของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เข้มข้นอยู่ทุกขณะนี้ เราได้เห็นพลังประชาชนหลากหลายอาชีพที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองในครั้งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ กลุ่มแพทย์หรือกลุ่มวิศวกร เป็นต้น แต่เรายังไม่เห็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ออกมาแสดงจุดยืนหรือเลือกข้างกับเหตุการณ์นี้ อย่างไรก็ดีเร็วๆ นี้ก็มีคนในแวดวงวิทยาศาสตร์ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นเปรียบเทียบปรากฏการณ์สังคมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์

ผศ.ประสาท มีแต้ม อาจารย์จากภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่คือคนวงในที่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ออกไปอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม ด้วยการนำเสนอบทความทฤษฏีฟิสิกส์และสังคมศาสตร์กับการยิกทักษิณที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ข่าวประชาไท อีกทั้งก่อนหน้านี้เขาก็เคยแสดงความเห็นคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ด้วยการจับโกหกจากการศึกษาประเด็นปัญหาเรื่องพลังงาน

อาจารย์จากปักษ์ใต้เปรียบเทียบปรากฏการณ์ที่มีคนออกมาขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลตลอด 5 ปีที่ผ่านมา หรือ “ยิก” ตามภาษาถิ่นว่าเป็นไปตามกฎสังคมศาสตร์ที่เรียกว่า “กฎของคนหยิบมือเดียว” (Law of the few) พร้อมกับขยายความว่า “สิ่งเล็กๆสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้เสมอ” เหตุการณ์สำคัญๆ ของโลกมักเกิดมาจากคนจำนวนหยิบมือเดียว ในสังคมทั่วไปคนที่ตื่นรู้ก่อนคนอื่นมักจะมีประมาณเพียง 2.5% ของคนทั้งหมดเท่านั้น คนกลุ่มนี้จะทำหน้าที่ปลุกให้คนอีก 13.5% ตื่นตาม แล้วก็ปลุกกันต่อๆกันไปอีก 68% แต่ในที่สุดจะมีพวกที่ไม่ยอมตื่นอีกประมาณ 16%

นอกจากนี้ ผศ.ประสาทยังได้เปรียบเทียบความตื่นตัวทางการเมืองของคนในสังคมว่าเป็นเหมือนกับ “การหมุนไข่” โดยหากหมุนไข่ต้มสุกแล้วเมื่อใช้เมื่อแตะเพื่อให้ไข่หยุดหมุน ไข่สุกก็จะหยุดหมุนทันที แต่หากหมุนไข่ดิบแล้วทำอย่างเดียวกัน ไข่ดิบจะยังหมุนต่อไปซึ่งเป็นลักษณะของการรักษาความเฉื่อยตามกฎฟิสิกส์ พร้อมทั้งขยายความว่าคนในสังคมที่ตื่นตัวทางการเมืองขึ้นมาแล้วก็จะแสวงหาความรู้และข้อมูลทางการเมืองต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งยากที่จะหยุดเช่นกันกับการหยุดไข่ดิบที่หมุนอยู่

“ถือว่าคนเป็นสิ่งมีชีวิตสามารถเรียนรู้ได้ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ทั้งสิ่งที่ถูกและผิด และตราบใดที่คนเราเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกอย่างมีเหตุมีผลแล้ว ก็จะเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ศัพท์ฟิสิกส์เรียกว่า Inertia มาจากภาษาลาตินแปลว่าขี้เกียจ ปกติสิ่งทุกอย่างที่มีมวลจะมีความเฉื่อยอยู่ ถ้ามีของที่อยู่กับที่มันจะเฉื่อยที่จะเคลื่อนที่ ขณะเดียวกันของที่เคลื่อนอยู่จะขี้เกียจที่จะหยุด เปรียบได้กับปรากฏการณ์ทางสังคม ถ้าคนเราตื่นตัวแล้ว ก็เหมือนกับวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่หรือไข่ดิบที่ถูกหมุน เหมือนคนที่มีปัญญาแล้วจะใช้ปัญญาเคลื่อนไปข้างหน้าเรื่อยๆ”

ส่วนกฎทางสังคมที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น ผศ.ประสาทยังได้เปรียบเทียบในเชิงคณิตศาสตร์ว่ากฎดังกล่าวเป็นได้ทั้งระบบแบบเชิงเส้น และระบบแบบไม่เชิงเส้น เช่น อาจจะมีการเพิ่มจำนวนของผู้ที่ตื่นตัวทางการเมืองแบบ 1, 2, 3,... ไปเรื่อยๆ หรืออาจจะเพิ่มขึ้นแบบ 1, 4, 9,... ก็ได้ ส่วนทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่เขายกให้ใกล้เคียงกับกฎดังกล่าวคือ “ทฤษฎีความโกลาหล” (Chaos theory) ซึ่งมักจะมาพร้อมกับการยกตัวอย่าง “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือ “กรณีผีเสื้อขยับปีกทำให้เกิดพายุ” (Butterfly Effect)

ผศ.ประสาทกล่าวว่าทฤษฏีดังกล่าวมีความใกล้เคียงแต่ก็มีความแตกต่าง เพราะกฎทางสังคมเป็นได้ทั้งระบบแบบเชิงเส้นและไม่เชิงเส้น ในขณะที่ทฤษฎีความโกลาหลนั้นจะเป็นแบบเชิงเส้น ซึ่งมีที่มาจากนักคณิตศาสตร์ที่ทำงานทางด้านพยากรณ์อากาศที่สหรัฐอเมริกาชื่อ เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ (Edward Lorentz) ที่พบว่าการละเลยความละเอียดในการคำนวณเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ผลที่ได้ต่างจากที่ควรจะเป็นอย่างมหาศาล พร้อมทั้งยกสมการกำลัง 2 ของทฤษฎีประกอบคือ Xn+1 = kxn(1-xn)

“เวลาคำนวณค่า x1 ก็จะหาค่า x1, x2,... ไปได้เรื่อยๆ แต่จะมีบางค่าที่ปรากฏว่าคำตอบจะมั่วมาก ซึ่งเกิดขึ้นจริงที่ศูนย์พยากรณ์อากาศสหรัฐอเมริกา ค้นพบโดยลอเรนซ์ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์พยากรณ์อากาศ ซึ่งใช้สมการทำนองนี้ป้อนทศนิยม 4 ตำแหน่งจากที่ควรจะป้อน 5 ตำแหน่ง ปรากฏว่าผลที่ได้ต่างกันถึง 1 ในหมื่น ทำให้ทำนายได้ไม่ถูกเลย จึงกล่าวว่าผีเสื้อกระพือปีกที่ฮ่องกงในเดือนนี้จะทำให้เกิดพายุเทอร์นาโดในสหรัฐอเมริกาอีก 3 เดือนข้างหน้า”

“ปรากกฎการณ์นี้เหมือนน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำนายไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การเปลี่ยนแปลงเพียงนิดเดียวอาจจะได้ผลลัพธ์คนละเรื่อง สถานการณ์ขณะนี้จึงมีการแก้เกมกันทุกวัน แต่ก็จะกลายเป็นเรื่องรัดคอทักษิณทุกวัน” ผศ.ประสาทชี้แจง พร้อมทั้งยอมรับคนในวงการวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจไม่มากนัก ตัวเขาเองก็ได้รับผลกระทบจากการออกมาแสดงตัวไม่น้อย หลายคนไม่สนใจ หลายคนไม่เข้าใจ และบางคนถึงขั้นเกลียดก็มี

“ผมได้รับผลกระทบมาตั้งนานแล้ว เป็นหมาหัวเน่ามาตั้งนานแล้ว แต่ไม่เป็นไร เราคิดว่าเราทำถูก แต่ตอนนี้ก็มีคนมาร่วมเยอะ แต่เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้วซึ่งต่อสู้ในเรื่องท่อก๊าซนั้นกระทบเยอะ คนเขาก็ไม่สนใจผม เกลียดผม เพราะเขาไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้เขาเริ่มเข้าใจแล้ว”

นอกจากนี้เขายังได้วิพากษ์ถึงผลกระทบจากนโยบายทางการศึกษาของ พ.ต.ท.ทักษิณว่าจะทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เดือดร้อนจากการผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบซึ่งจะทำให้แต่ละสถาบันต้องขึ้นค่าเรียน เด็กที่มีฐานะยากจนก็จะเรียนไม่ได้ ขณะเดียวกันก็จะทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนแข่งขันกับมหาวิทยาลัยของรัฐได้ง่ายขึ้นเนื่องจากค่าเรียนใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้มหาวิทยาลัยในต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจทางการศึกษาแข่งกับมหาวิทยาลัยในประเทศด้วย

“ทำให้คนเลือกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนมากขึ้น ตรงนี้พิจารณาเฉพาะกรณีที่ไม่คำนึงถึงเรื่องศักดิ์ศรีของสถาบัน ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยต่างประเทศซึ่งอาศัยชื่อเสียงของตัวเองมาหากินกับประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งเมื่อมหาวิทยาลัยของไทยออกนอกระบบค่าเทอมที่แพงขึ้นก็ทำให้ไม่ต่างกันมาก คนชั้นกลางก็สามารถที่จะกลั้นใจส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยของต่างประเทศเหล่านั้นได้”

ในแง่ของคุณภาพการศึกษาเขากล่าวว่าสถาบันแต่ละแห่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่แล้ว แต่ค่าเทอมที่แพงขึ้นจะทำให้การแข่งขันลำบากและมหาวิทยาลัยต่างๆ จะอยู่ไม่ได้ ต่างจากมหาวิทยาลัยของต่างประเทศซึ่งมีรายได้จากการทำวิจัยสินค้าระดับโลก ในขณะที่มหาวิทยาลัยของไทยไม่มีการวิจัยที่สร้างรายได้อย่างนั้น

“มหาวิทยาลัยต่างประเทศอยู่ได้เพราะเขาทำงานวิจัยระดับโลก เช่น ออกแบบรถยนต์คันหนึ่งก็สามารถขายได้ทั่วโลก แต่บ้านเราไม่มีสินค้าแบบนี้ ไม่มีสินค้าที่ครอบตลาดโลก แม้จะทำสมุนไพรแต่ก็ขายได้ไม่มากและก็ถูกละเมิดลิขสิทธิ์อยู่เรื่อย โดยทั่วไปแล้วมหาวิทยาลัยจะกระทบมาก คนจนจะไม่สามารถเข้าเรียนได้ อีกทั้งมหาวิทยาลัยก็จะขาดทุนเพราะถูกตัดงบประมาณ” ผศ.ประสาทให้ความเห็นตบท้ายถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวงการศึกษาจากนโยบายของผู้นำประเทศประเทศที่กำลังถูกหลายคนขับไล่

...สำหรับการแสดงความเห็นทางการเมืองของ ผศ.ประสาทในครั้งนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับทุกคนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ที่มีสิทธิเท่าเทียมกันไม่ว่าจะมีอาชีพใดก็ตาม ส่วนความเห็นของเขาจะใช่หรือใกล้เคียงกับความเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ เราก็สามารถตัดสินได้ด้วยบรรทัดฐานแห่งวิทยาศาสตร์เช่นกัน...




Posted by : fullmetal_alchemist , Date : 2006-03-29 , Time : 15:32:08 , From IP : 125.24.4.72

ความคิดเห็นที่ : 1


   อืม..ได้ความรู้ดีมากเลยคับ
ขอบคุงคับ


Posted by : i love mum , Date : 2006-03-30 , Time : 12:06:55 , From IP : 172.29.4.48

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<