ความคิดเห็นทั้งหมด : 4

หลายคนคงยังไม่ลืมชื่อนี้ "ราเกซ สักเสนา" พ่อมดทางการเงิน


   ผู้ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยพังทลายลงเมื่อปี 2538

ชะตากรรม ราเกซ สักเสนาคดีหลักทรัพย์...ไม่หมดอายุ!



ชื่อ "ราเกซ สักเสนา" เจ้าของฉายา "พ่อมดการเงิน" กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง หลังเงียบหายไปเกือบ 10 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์มณฑลบริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา พิพากษายืนตามคำตัดสินของ นายมาร์ติน คูชอน รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมแคนาดา ที่จะให้ส่งตัวนายราเกซ อดีตที่ปรึกษาธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี) มาให้ทางการไทยดำเนินคดีในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน และไม่ให้ประกันตัว เพราะเกรงว่าจะหลบหนี

ย้อนรอยเส้นทางชีวิตพ่อมดการเงินคนนี้กันอีกสักนิด เผื่อใครจะหลงลืมไปแล้วว่า นายราเกซฝากรอยแผลฉกรรจ์ทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยอย่างไรบ้าง...

นายราเกซ ก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างสูงในวงการเมือง และเศรษฐกิจ เมื่อมีโอกาสเป็นที่ปรึกษา นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ซึ่งถูกทางการไทยยื่นฟ้องเมื่อปี 2539 ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์บีบีซี ราว 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,000 ล้านบาท อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธนาคารเก่าแก่ของไทยแห่งนี้ตกอยู่ในภาวะล้มละลายในปี 2538

การยักยอกทรัพย์ของนายเกริกเกียรติ และนายราเกซพร้อมพวกจะใช้วิธีการปล่อยกู้ที่มีความเสี่ยงสูง และกิจกรรมที่ใช้เงินทุนสูงมากให้พรรคพวกที่เป็น "นักการเมือง" จำนวนหลายหมื่นล้านบาท จากนั้นจึง "ตบแต่งบัญชี" ให้มีผลกำไรนับร้อยนับพันล้านบาท ทั้งที่ขาดทุนย่อยยับ!

ต่อมา บีบีซี จึงล่มสลายลง เนื่องจากมีหนี้สินมหาศาลราว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 1.2 แสนล้านบาท) ตามมาด้วยการปิดตัวของสถาบันการเงินกว่า 50 แห่งจนเป็นชนวนสำคัญให้เกิดการขาดความเชื่อมั่นในระบบธนาคารไทย และนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจการเงินในเอเชียหรือที่เรียกว่า “โรคต้มยำกุ้ง” ในปี 2540

สำหรับต้นตอการ "แฉ" ขบวนการเขมือบบีบีซีเริ่มต้นขึ้นเมื่อ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายแฉกลโกงบีบีซีด้วยกลวิธีอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนต่อสภาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539

ผลสะท้านสะเทือนของการแฉอย่างหมดเปลือกครั้งนั้นทำให้ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) สั่งให้ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ในขณะนั้น) ดำเนินการสั่งปิดบีบีซี ตามมาด้วยปฏิบัติการ "ล้างบาง" ในธนาคารแห่งประเทศไทย

กระทั่งวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 กระทรวงการคลัง จึงตั้งคณะกรรมการเข้าควบคุมธนาคารแห่งนี้แบบเบ็ดเสร็จจากนั้นนายเกริกเกียรติเดินทางไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ก็กลับมาสู้คดีในประเทศไทยในเดือนถัดมา

ท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 นายเกริกเกียรติ ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ตัดสินจำคุกรวมทั้งหมด 3 คดี คดีละ 10 ปี รวมเป็น 30 ปี และปรับรวมกันทั้งหมด 3,330 ล้านบาท !!!

ส่วน นายราเกซหลบหนีไปประเทศแคนาดาตั้งแต่ปี 2539 และถูกทางการไทยออกหมายจับเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2539 จากนั้นถูกตำรวจแคนาดาจับกุมที่เมืองวิสต์เลอร์ แหล่งท่องเที่ยวเล่นสกีชื่อดังในมณฑลบริติช โคลัมเบีย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมปีเดียวกัน

แต่นายราเกซก็ดิ้นรนสู้คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อจะไม่ต้องถูกส่งตัวกลับมาไทยทุกวิถีทาง ซึ่งเป็นการต่อสู้คดีที่กินเวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์แคนาดา โดยอ้างว่าถูกใส่ร้ายให้เป็น “แพะรับบาป” จากกลุ่มผู้บริหารของบีบีซี และผู้กำกับดูแลระบบการเงินของไทย ซึ่งพยายามปกปิดเรื่องอื้อฉาวในบีบีซี

กระทั่งในปี 2546 นายมาร์ติน คูชอน รมว.ยุติธรรมแคนาดา ตัดสินให้ส่งตัวนายราเกซให้ทางการไทย แต่นายราเกซดิ้นรน ต่อสู้ในศาลอุทธรณ์ เพื่อที่จะไม่ต้องถูกส่งตัวกลับ โดยอ้างว่าถ้าถูกส่งกลับประเทศไทยอาจถูกสังหารหรือถูกขังในคุกอย่างโหดร้ายทารุณ

จนล่าสุดเมื่อศาลอุทธรณ์มณฑลบริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา พิพากษายืนตามคำตัดสินของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมแคนาดา ชะตากรรมของนายราเกซจึงอยู่ที่ผลการฎีกา ซึ่งถือเป็น "ฟางเส้นสุดท้าย" ซึ่งจะตัดสินชะตากรรมของ "พ่อมดการเงิน" ว่าจะต้องลงเอยอย่างไร

ด้าน นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อธิบดีอัยการฝ่ายคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินคดีนายราเกซ ว่า ตามกฎหมายของประเทศแคนาดาสามารถยื่นฎีกาภายในระยะเวลา 1 เดือน เมื่อยื่นแล้วศาลฎีกาจะให้อัยการพิจารณาคัดค้านภายในระยะเวลา 1 เดือน จากนั้นศาลจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะรับฎีกาหรือไม่ ซึ่งจะใช้เวลาในการพิจารณา 6-8 สัปดาห์

การพิจารณาจะรับฎีกานั้นมีเหตุผล 2 ประการ คือ

1.ต้องเกี่ยวกับความมั่นคง และผลประโยชน์ของประเทศแคนาดา

2.เกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญ

นายอรรถพล ระบุว่า จากการประสานงานระหว่างอัยการไทยกับแคนาดาเชื่อว่า เรื่องของนายราเกซ ไม่เข้าข่ายทั้งสองกรณี จึงน่าเชื่อว่า ศาลจะ "ไม่รับฎีกา" ของนายราเกซ และถ้าศาลไม่รับฎีกาก็จะต้องส่งตัวนายราเกซมาดำเนินคดีในประเทศภายในระยะเวลา 45 วัน นับจากวันที่ศาลฎีกาไม่รับพิจารณาคดี

สำหรับการประสานขอตัวนายราเกซมาดำเนินคดีในประเทศไทยนั้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา มีอัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลางรับตัวนายราเกซ กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย และสามารถดำเนินคดีต่อในประเทศไทยได้ทันที

ส่วนฐานความผิดของนายราเกซ เป็นคดีร่วมกันยักยอกทรัพย์ และผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นคดีเดียวกับที่นายเกริกเกียรติ ถูกตัดสินจำคุก 30 ปีไปแล้วก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ในคดียักยอกทรัพย์ไม่สามารถเอาผิดนายราเกซได้ เนื่องจากมีอายุความ 10 ปี และหมดอายุความไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2548

ในส่วนคดีความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ มีอายุความ 15 ปี จึงสามารถดำเนินคดีได้ทันที เมื่อนายราเกซกลับมาในประเทศไทย

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับคดีอื่นๆ ถ้าจะดำเนินคดีเพิ่มเติมกับนายราเกซ ต้องแจ้งไปที่กระทรวงยุติธรรมของประเทศแคนาดาก่อน เพราะนายราเกซ แจ้งว่า กลัวถูกกลั่นแกล้ง และคดีอื่นที่นายราเกซ เข้าไปพัวพันร่วมกับคนอื่นนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งต่างกรรมต่างวาระกัน จึงจะสรุปกันอีกครั้งว่าจะดำเนินคดีอะไรเพิ่มบ้าง

แม้จะถือเป็น "ข่าวดี" ที่คนไทยจะได้ "คิดบัญชีย้อนหลัง" กับอาชญากรเศรษฐกิจตัวฉกาจ แต่คอการเมืองในสภากาแฟอดคันปากตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า ข่าวนายราเกซจะจัดเข้าข่าย "ข่าวกลบกระแส" หรือไม่ ท่ามกลางอุณหภูมิการเมืองที่ทะลักจุดเดือดอยู่ในขณะนี้ เพราะนายราเกซ ถือว่า เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์อันดีกับนักการเมืองทั้งสองฝ่าย และมี "ข้อมูลลับ" ที่ออกมาแฉเมื่อไรก็คง "ตายหมู่" เมื่อนั้น!


Posted by : Eset , Date : 2006-03-17 , Time : 03:14:01 , From IP : 172.29.4.248

ความคิดเห็นที่ : 1


   โอโห้ Eset ทำได้ไงเนี่ย น่าสนใจมากๆ เก่งจังเลย รัก Eset น่ะ เด็กโง่

Posted by : เด็กจุดจุด , Date : 2006-03-17 , Time : 03:22:10 , From IP : 172.29.4.39

ความคิดเห็นที่ : 2


   ดีครับแฉให้หมดนะพวกนักการเมืองโกงชาติจะได้ติดคุกกันมากๆชดใช้กรรมซะบ้าง

Posted by : ดีจัง , Date : 2006-03-18 , Time : 10:50:25 , From IP : 172.29.5.107

ความคิดเห็นที่ : 3


   เรียนคุณ ราเกซ
รีบกลับมานะ จะได้ร่วมมือกัน
เอกยุทธ อัญชันบุตร


Posted by : fff , Date : 2006-03-20 , Time : 09:36:09 , From IP : 172.29.3.75

ความคิดเห็นที่ : 4


   ....อายุความนี่ ไม่รู้นับกันยังไง จากที่เคยๆศึกษากันมากฎหมายไทยเนี่ย ...ตรงเรื่องนี้ อายุความน่าจะสะดุดหยุดพลง เพราะมีเรื่องที่ต้องพิจารณาทางแคนาดา เพราะมีเหตุขัดข้อง ...สรุป จึงน่าจะยังดำเนินคดีได้ ไม่ต้องเอา 10 ปี อย่างว่ามาคิดหรอกครับ คุณๆ .. เสียเดปรียบ ตาย ห่...ฮา ถ้าเป็ฯ งี้.-*- (ผมว่าช่วยตีความกันใหม่ที กฎหมายไทยจะได้ จับราเกซ ตัวดูเงิน เข้ากระเป๋าอย่างโกงๆ พันนี้)--(เป็นข้อ แนะนำชวนคิดครับ)

Posted by : นะคะรับบคับผม , E-mail : (nakaraa3@hotmail.com) ,
Date : 2007-02-10 , Time : 16:56:26 , From IP : 202.41.167.246


ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<