"ทีดีอาร์ไอ"แนะ"แม้ว"เว้นวรรค กลุ่มธุรกิจไฮโซออกโรงห่วงศก.
ผอ.ทีดีอาร์ไอ แนะ"ทักษิณ"เว้นวรรคการเมือง ชี้เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่า เตือนถ้าดึงดันเลือกตั้ง แม้ชนะเข้ามาอีก ก็เดินหน้าโครงการเมกะโปรเจ็คต์ลำบาก ฟันธงแม้นายกฯไม่ชื่อ "ทักษิณ"เศรษฐกิจไทยก็ไม่ลำบาก ลูกชาย"โส ธนวิสุทธิ์" นำทีมนักธุรกิจไฮโซฯ 300 คนออกโรง
**ทีดีอาร์ไอแนะ"ทักษิณ"เว้นวรรค
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "ทักษิณอยู่หรือไป เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร" จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจเว้นวรรคทางการเมืองจะทำให้ความเชื่อใจของประชาชนมีมากขึ้น เพราะในภาพรวม พ.ต.ท.ทักษิณ ถือเป็นคนมีความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะในระยะ 3 ปีแรก (2544-2546) แม้ไทยจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าประเทศที่ประสบปัญหาพร้อมๆ กัน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์ แต่เป็นการขยายตัวที่มาจากนโยบายผันเงินของรัฐบาลผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ ที่ใช้เงินในอนาคต และทำให้หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ขณะที่ปี 2547-2548 เศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอตัว เพราะอัตราการเติบโตต่ำกว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ และผลงานของ พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรเลย เพราะเมื่อเงินนโยบายประชานิยมที่อัดฉีดไปหมดลง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ไม่มีอะไร
**ชี้แม้ชนะเลือกตั้งเมกะโปรเจ็คต์ก็สะดุด
นายสมชัยกล่าวว่า สถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ หากได้รัฐบาลเดิมเข้ามาจะทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆ มีความต่อเนื่อง แต่ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงจะทำให้โครงการต่างๆ ที่ได้ดำเนินไปบางส่วน เช่น โครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ (เมกะโปรเจ็คต์) หรือการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ต้องชะลอไป หรือเกิดความไม่แน่นอน และความไม่มั่นใจของประชาชน เพราะฝ่ายค้านเองก็ทำหน้าที่ไม่ปกติ
"อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังขณะนี้คือ หากหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคไทยรักไทยเข้ามาบริหารประเทศได้ แต่อำนาจบริหารอาจไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร และเชื่อว่าจะต้องถูกตรวจสอบการบริหารงานจากสังคมตลอดเวลา เท่ากับว่าเป็นผลกระทบในทางลบไม่ว่าจะเลือกตั้งวันไหนก็ตาม และการถอยจะต้องถอยไม่ให้มีคำว่าระบอบทักษิณอีกต่อไป ซึ่งผมเชื่อว่าขณะนี้ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนในบ้านเมืองไม่ต่อต้านทักษิณ ผมฟันธงว่าหากนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ พ.ต.ท.ทักษิณก็คงกระทบบ้าง แต่ไม่ลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 1- 2 ปีนี้ คงจะมีผลไม่มาก เพราะไทยไม่ได้อยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว ประกอบกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น จีน กำลังฟื้นตัวอย่างแท้จริง รวมถึงหากได้รัฐบาลใหม่ที่มีฝีมือและได้รับโอกาสให้พิสูจน์ฝีมืออย่างน้อย 3-6 เดือน ก็น่าจะช่วยได้" นายสมชัยกล่าว
นายสมชัยกล่าวว่า นอกจากนี้หาก พ.ต.ท.ทักษิณถอยเร็วเท่าไหร่ก็จะดีกับระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะสิ่งที่นักธุรกิจต้องการคือความสงบในระยะยาว และหากเป็นรัฐบาลชุดเดิมเข้ามาอีก ตนอยากจะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษเข้ามาร่วมรับฟังการตัดสินใจลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็คต์ และการทำเอฟทีเอร่วมกับคณะรัฐมนตรี หรือใช้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ให้เป็นประโยชน์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจนกระทั่งประชาชนคืนอำนาจให้
**กลุ่มธุรกิจไฮโซฯออกโรงห่วงศก.
วันเดียวกันที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ประตูน้ำ ตัวแทนของกลุ่มนักธุรกิจภายใต้ชื่อกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ห่วงใยประเทศชาติ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงสังคมชั้นสูงหรือไฮโซ ประกอบด้วย นายพัฒพงษ์ ธนวิสุทธิ์ (ลูกชายโส ธนวิสุทธิ์) ประธานกรรมการ บริษัทไฮโซปาร์ตี้ดอทคอม นายนนทิวัช ประภานนท์ ผู้ก่อตั้งบริษัท MILLE FLEURS ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทาลิก้าและนายประทักษ์ มหาวงศ์ตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทใบโพธิ์ ประเทศไทย จำกัด ทำธุรกิจขายส่งเครื่องสังฆทานให้กับห้างสรรพสินค้า และไฮเปอร์ มาร์เก็ตได้เปิดแถลงข่าวเรียกร้องให้ทั้ง 3 ฝ่ายคือรัฐบาล ฝ่ายค้านและผู้คัดค้าน หันหน้าหารือกันเพื่อให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วไม่ให้ยืดเยื้อออกไป เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น
นายพัฒพงษ์กล่าวว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 ในเมษายนเชื่อว่าจะได้รัฐบาลไม่ครบ 500 เสียง และสถานการณ์จะยังคงยืดเยื้อต่อไปไม่ต่ำกว่า 1 ปี เมื่อมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่แล้ว ควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ประชาชนลงมติในเรื่องสำคัญๆ ที่มีผลกระทบ เช่น การสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอส การทำเอฟทีเอ การสร้างเขื่อน หรือแม้แต่เรื่องของนายกรัฐมนตรีว่าจะอยู่ต่อไปหรือลาออก เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาที่รัฐธรรมนูญจะเปิดโอกาสให้ประชาชนลงมติในเรื่องสำคัญๆ ได้
**แนะปรองดอง-ชี้"แม้ว"มีปัญหาจริยธรรม
"ในนามกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ห่วงใยประเทศชาติ ราว 300 คน อายุระหว่าง 30-45 ปี จะนัดรวมตัวกันที่สวนลุมพินีในวันเสาร์ที่ 18 มีนาคมนี้ และจุดเทียนร่วมกันในเวลาประมาณ 19.00 น. เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างสงบ ทุกฝ่ายสามารถปรองดองกันได้ และเป็นเวทีเปิดกว้างที่เปิดโอกาสให้ทั้ง 3 ฝ่ายเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถือว่าเศรษฐกิจเติบโตได้ดี แต่นายกรัฐมนตรีมีข้อบกพร่องเรื่องจริยธรรม" นายพัฒน์พงษ์กล่าว
นายประทักษ์กล่าวว่า หากเหตุการณ์ยื้อออกไปเชื่อว่าจะมีการผลกระทบต่อเศรษฐกิจแน่นอน โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับนำเข้าและส่งออก ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ไม่มีเสถียรภาพ ที่ผ่านมามีนักธุรกิจต่างชาติ เช่น จีนได้สอบถามถึงสถานการณ์ในประเทศไทย โดยบางรายแสดงความห่วงใยว่าเหตุการณ์ประเทศไทยเหมือนเทียนอันเหมิน ซึ่งได้ชี้แจงไปว่า ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง เพราะประเทศไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจ
**3-4อุตฯกระทบแล้ว-สอท.แนะชะลอลงทุน
ทางด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มีการประชุมเช่นกันเพื่อประเมินถึงผลกระทบทางการเมืองต่อภาคอุตสาหกรรม โดย นายเกียรติพงษ์ น้อยใจบุญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสายงานพัฒนาอุตสาหกรรมวาระพิเศษว่า จากการประเมินเบื้องต้นพบว่า มี 3-4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองมาก ประกอบไปด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการและอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น เนื่องจากนักลงทุนได้ชะลอการลงทุนและผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย
"ส่วนอีกหลายอุตสาหกรรมแม้จะไม่ได้รับผลกระทบในขณะนี้ แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อเกิน 3 เดือน ก็จะทยอยได้รับผลกระทบ ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีความเห็นร่วมกันหากอุตสาหกรรมใดจะมีการขยายการลงทุน หรือเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงนี้ให้ชะลอออกไปก่อนอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อรอดูสถานการณ์ เพราะหากลงทุนไปแล้วเศรษฐกิจชะลอตัวจะยิ่งลำบาก" นายเกียรติพงษ์กล่าว
**ไม่แสดงจุดยืนการเมือง-ให้นายกฯคิดเอง
นายเกียรติพงษ์กล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้กำหนดจุดยืนต่อเรื่องการเมือง เพราะ สอท.จะไม่ยุ่งเรื่องการเมือง จะดูเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจเท่านั้น ตอนนี้การเมืองนำเศรษฐกิจอยู่ ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เศรษฐกิจจะนำการเมือง ซึ่งภาคอุตสาหกรรมต้องการให้ปัญหาการเมืองยุติ เพราะถ้ายืดเยื้อนานกว่า 3 เดือนจะกระทบต่อการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่เคยมียอดคำสั่งซื้อมากอาจจะสะดุด ซึ่งท้ายที่สุดก็จะกระทบต่อจีดีพีด้วย นอกจากนี้ยังจะทำให้เสียโอกาสการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญ
"ต้องการให้จบโดยเร็ว แต่จะจบแบบไหนนั้นไม่ทราบ นายกรัฐมนตรีจะลาออกหรือไม่ คงต้องไปถามนายกรัฐมนตรีเอง อย่างไรก็ตาม ก็อยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายคุยกันว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร มีกติกาอะไรที่ต้องแก้ไขก็มาตกลงกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็หาคนกลางที่มีความรู้แต่ละฝ่ายมาแก้" นายเกียรติพงษ์กล่าว
นายเกียรติพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้ สอท.ได้มีการสอบถามความเห็นไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เรื่องผลกระทบวิกฤตการเมืองต่อสภาพเศรษฐกิจ เพื่อเสนอต่อนายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธาน สอท.ภายใน 1-2 วันนี้ หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับนายประพัฒน์ว่าจะกำหนดเป็นข้อเสนอรัฐบาล หรือกำหนดจุดยืนร่วมกับหน่วยงานอื่นเช่น คณะกรรมการการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) หรือไม่ แต่เท่าที่ทราบ กกร.ไม่อยากให้ออกจุดยืนต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนี้
**อุตฯสิ่งพิมพ์วูบหมื่นล.-ลดโฆษณา60%
นายปฐม สุทธาธิกุลชัย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กล่าวว่า กลุ่มสิ่งพิมพ์ได้รับผลกระทบหนัก เพราะตามที่รัฐบาลได้ประกาศตัวจะเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค (ฮับ) แทนสิงคโปร์ แต่ต่างประเทศชะลอการลงทุนและการย้ายฐานการลงทุนมาไทยแล้ว เพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์ ในขณะที่ทุกบริษัทก็ลดงบประมาณทำโฆษณาลงมากกว่า 60% ภาคการบริโภคเองก็ลดลง 20-30% ส่งผลให้การเติบโตของอุตสาหกรรมการพิมพ์จากที่ตั้งเป้าไว้ 15% น่าจะลดลง 50%
"ประเมินในช่วงสั้นๆ นี้ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ได้รับผลกระทบจากการใช้ที่ลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาท ทั้งที่ในปีนี้จะมีการเลือกตั้งอีกครั้ง ซึ่งตอนแรกคาดว่าจะมีเงินสะพัดกว่า 2-3 พันล้านบาท แต่มีส่งผู้สมัครเพียงพรรคเดียว จึงคาดว่าจะมีเงินสะพัดเหลือเพียง 1 พันล้านบาท " นายปฐมกล่าว
นายปรีชา เต็มพร้อม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ กล่าวว่า ความจริงอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์นี้ได้รับผลกระทบมานานแล้ว เพราะขาดการดูแลที่ดีจากรัฐบาล ทั้งเรื่องระบบภาษีและการส่งเสริม ยิ่งมีปัญหาการเมืองแล้วโครงการเมกะโปรเจ็คต์ต้องชะงักไป ยิ่งได้รับผลกระทบหนัก อุตสาหกรรมนี้คงจะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่เลย
**ระบุเอกชนด้านพลังงานก็ผวาลงทุน
นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนกล่าวว่า ขณะนี้เอกชนที่จะเข้ามาลงทุนแปลงขยะเป็นพลังงาน ตามที่รัฐบาลได้ส่งเสริม ซึ่งใช้เงินลงทุน 800-900 ล้านบาทต่อโครงการ ได้เริ่มชะลอแผนการลงทุนแล้ว เพราะเกิดภาวะความไม่มั่นใจ ถ้ารัฐบาลไม่เข้มแข็งหรือไม่ต่อเนื่องในนโยบาย กลัวจะเกิดภาวะ "มึงสร้าง กูเผา" จะส่งผลต่อการลงทุน จึงอยากให้ปัญหาการเมืองยุติโดยเร็ว
นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า จากการหารือกับนักลงทุนต่างประเทศพบว่าส่วนใหญ่ยังมองว่า สถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบันยังไม่น่าห่วงมากนัก หากการชุมนุมยังเป็นไปด้วยสันติวิธี ก็ยังมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในทุกโครงการของโครงการเมกะโปรเจ็คต์ แต่สิ่งที่นักลงทุนสนใจคือ เรื่องของระยะเวลาที่เกิดขึ้นว่าจะยืดเยื้อหรือไม่ หากการชุมนุมยืดเยื้อไปถึง 6 เดือนหรือ 1 ปี ก็อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนได้
หน้า 1
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01p0109160349
Posted by : ผ่านมา , Date : 2006-03-16 , Time : 14:39:48 , From IP : 172.29.4.62
|