แกะปมซุกหุ้น ที่ทักษิณพูดไม่หมด ปริศนาบริษัทโคตรรวย (จบ)
ถัดมาคือ ปมบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสต์เมนต์ ลิมิเต็ด พ.ต.ท.ทักษิณชี้แจงว่า หลังวันที่ 1 ธันวาคม 2543 ไม่มีหุ้นในมือแม้แต่หุ้นเดียว เนื่องจากได้โอนหุ้นให้กับ "พานทองแท้ ชินวัตร" "บรรณพจน์ ดามาพงศ์" และ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" หมดแล้ว
แต่ในข้อเท็จจริงสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยปริปากบอกก็คือ การโอนหุ้นชินคอร์ป จำนวน 103 ล้านหุ้นให้กับพานทองแท้ บรรณพจน์ และยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 เป็นการโอนหุ้นหรือซื้อขายกันจริงๆ หรือไม่ หรือเป็นเพียงเจตนาลวง (ในราคาหุ้นละ 10 บาท มีส่วนต่างจากราคาตลาดที่ 150 บาท กว่า 1 หมื่นล้านบาท) เพราะปรากฏว่าการขายครั้งนั้นไม่มีการจ่ายเงินแม้แต่สลึงเดียว แต่ทำเป็นสัญญาเงินกู้ไว้กล่าวคือ พานทองแท้ซื้อหุ้นไป 73 ล้านหุ้น ก็คือ 730 ล้านบาท นายพานทองแท้จึงเป็นหนี้คุณหญิงพจมานและ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ 730 ล้านบาท (ดูในบัญชีทรพย์สินและหนี้สินที่ครอบครัวชินวัตร ยื่นต่อ ป.ป.ช.) ในเฉพาะส่วนของหุ้นชินคอร์ป เช่นเดียวกับกรณียิ่งลักษณ์ และบรรณพจน์
นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังถือหุ้นผ่านแอมเพิล ริชอยู่ 32.9 ล้านหุ้น แต่กลับไม่ได้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยอ้างว่าไม่มีหุ้นเหลือแล้ว
แต่หลังจากวันที่ 1 ธันวาคมก็ได้โอนหุ้นแอมเพิล ริชให้พานทองแท้ ดังนั้นสิ่งที่คนไม่เคยรู้ก็คือว่า หุ้น 32.9 ล้านหุ้นที่แอมเพิล ริชถืออยู่เป็นของใคร กระทั่ง ก.ล.ต.ตรวจพบในปี 2544 ถึงมีการแจ้งย้อนหลังกลับไป ถามว่าเป็นการเจตนาปกปิดด้วย
หรือไม่ ?
ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณชี้แจงว่า หลังจากโอนหุ้นไปแล้วลูกๆ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาให้เป็นผู้ดูแลเรื่องหุ้น แต่จากข้อมูลที่ตรวจสอบพบอาจไม่เป็นอย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวถึง เนื่องจากคนที่เข้า
ไปจัดการหุ้นทั้งหมดล้วนแต่เป็นลูกน้องคนสนิทของคุณหญิงพจมานทั้งสิ้นอย่างน้อย 2 คน
คนแรกคือ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขาฯส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน โดยมีบทบาทตั้งแต่การเอาหุ้นไปฝากไว้ที่คนรับใช้ นำเอกสารไปให้คนรับใช้เซ็นในคดี "ซุกหุ้น ภาคคนรับใช้"
เช่นเดียวกัน การนำหุ้นชินคอร์ปขายต่อให้เทมาเส็ก เมื่อ 23 มกราคม 2549 รวมทั้งแอมเพิล ริชขายหุ้นให้กับพานทองแท้ และพินทองทา เมื่อ 20 มกราคม 2549 ซึ่งในแบบรายงานที่ต้องแจ้งต่อ ก.ล.ต.ในการเปลี่ยนแปลงการซื้อขายหุ้น (แบบ 246-2) เขียนชัดเจนว่าบุคคลที่ให้ติดต่อก็คือ นาง กาญจนาภา
คนถัดมาคือ "นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์" มีบทบาทในการจัดการภาษีให้กับคุณหญิงพจมาน โดยเฉพาะกรณีที่คุณหญิงโอนหุ้นให้กับคนรับใช้ ซึ่งหลังจากสรรพากรเข้าไปตรวจสอบ คุณหญิงพจมานได้มอบอำนาจให้นางสาวปราณีผู้นี้เป็นตัวแทนไปติดต่อจัดการในเดือนพฤษภาคม 2544 ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏเป็นหลักฐานในหนังสือของกรมสรรพากรที่ทำโต้ตอบกับนางสาวปราณีไว้อย่างชัดเจน
ผลงานของ "ปราณี" อีกกรณีก็คือ ก่อนที่บริษัทแอมเพิล ริชจะขายหุ้นในราคา 1 บาทให้กับพานทองแท้และพินทองทา ปรากฏว่าในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 น.ส.ปราณีผู้นี้ได้ทำหนังสือหารือถึงสรรพากรในเรื่องนี้ว่า การที่แอมเพิล ริชจะขายหุ้นชินคอร์ปให้กับพานทองแท้และพินทองทาหุ้นละ 1 บาท ต้องเสียภาษีอย่างใดหรือไม่ โดย น.ส.ปราณีได้เป็นตัวแทนของแอมเพิล ริชในการทำหนังสือถึงสรรพากร
คำถามก็คือ คนที่มีบทบาทในการจัดการหุ้นให้ทั้งหมดคือคนสนิทของคุณหญิงพจมาน ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าทั้งพานทองแท้และพินทองทาไม่ได้มีบทบาทในการซื้อขายหุ้น แต่คนจัดการคือคุณหญิงพจมานหรือไม่ ?
ขณะเดียวกัน จากสภาพและพฤติกรรมเป็นตัวชี้ให้เห็นได้หรือไม่ว่า พานทองแท้ พินทองทา บรรณพจน์ และยิ่งลักษณ์ อาจมีสถานะเป็นตัวแทนไม่แตกต่างจากกรณีโอนหุ้นให้คนรับใช้หรือไม่ ?
โอน-ขายหุ้นโปร่งใสจริงหรือ ?
นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่ยอมพูดถึงเรื่องการขายหุ้นชินคอร์ปว่าได้ทำถูกต้องตามกฎหมายอีกเลย เพราะก่อนมีการขายหุ้นชินคอร์ปให้กองทุนเทมาเส็ก หัวหน้าพรรคไทยรักไทยยืนยันตลอดว่า การขายและโอนหุ้นทำถูกต้องโปร่งใสมาโดยตลอด
ทว่า เมื่อไม่นานมานี้ ก.ล.ต.แถลงข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวพบว่า พานทองแท้ได้ถือครองหุ้นโดยผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตลอด แต่ พ.ต.ท.ทักษิณกลับไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ คำยืนยันที่ว่าซื้อขายหุ้นถูกต้องนั้นกลับไม่ได้ยินจากปาก พ.ต.ท.ทักษิณที่สาบานต่อหน้าวัดพระแก้ว
เช่นเดียวกับกรณีโอนหุ้นให้พานทองแท้ พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่าโอนแบบพ่อให้ลูกโดยธรรมจรรยา แต่จากข้อเท็จจริง พ.ต.ท.ทักษิณ "ขาย" หุ้นให้กับพานทองแท้ หากเข้าข่ายพ่อให้ลูกต้องเป็นการให้โดยไม่มีมูลค่า ถามว่านี่คือการบิดเบือนอย่างชัดเจนหรือไม่
ต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณพูดชัดเจนว่า การขายหุ้นชินคอร์ปของครอบครัวตนเองผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯให้เทมาเส็ก 7.3 หมื่นล้านไม่ต้องเสียภาษี
ลักษณะเช่นนี้เป็นการพูดตัดตอนหรือไม่ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณพูดแต่ตอนจบในการขายหุ้น 7.3 หมื่นล้านให้กับเทมาเส็กเท่านั้น แต่หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงกระบวนการขายหุ้นซึ่งไม่น่าจะชอบตั้งแต่ต้น โดยมีกรมสรรพากรสนองรับผู้มีอำนาจ ทำให้ไม่มีการประเมินหรือเก็บภาษี
เพราะจะเห็นว่ามี 2 ช่วงที่ขายหุ้นแล้วมีข้อสงสัยถกเถียงในหมู่นักวิชาการว่าสรรพากรใช้อำนาจโดยมิชอบหรือไม่ เป็นการทำลายระบบภาษีหรือไม่
กรณีแรกคือ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานขายหุ้นชินคอร์ปให้กับบุคคล 3 คน เมื่อ 1 กันยายน 2543 ในราคา 10 บาท ขณะที่ราคาตลาด 150 บาททำให้เกิด "ส่วนต่าง" กว่าหมื่นล้านบาท ถ้าคิดภาษีเต็มๆ เป็นมูลค่ามหาศาลก็กว่า 7 พันล้านบาท หากเก็บจนถึงวันนี้ก็ทะลุเป็นหมื่นล้านบาท
กรณีที่ 2 คือ กรณีแอมเพิล ริชขายหุ้นชินคอร์ปในราคา 1 บาทให้กับพานทองแท้และพินทองทา ขณะที่ราคาตลาดกว่า 40 บาท "ส่วนต่าง" ก็หมื่นกว่าล้านบาทเช่นเดียวกัน ประเด็นเหล่านี้สรรพากรได้เปลี่ยนแนวคำวินิจฉัยของตนเองกลับไปกลับมาถึง 3 ครั้ง
ครั้งแรกเกิดขึ้นช่วงที่ ป.ป.ช.ตรวจสอบคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ปลายปี 2543 ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงการคลัง ได้ทำหนังสือตอบ ป.ป.ช.ชัดเจนว่า ส่วนต่างของราคาหุ้นหากผู้ซื้อซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าตลาดหรือราคาพึงประเมินต้องถือเป็นเงินได้พึงประเมิน แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลเป็นพรรคไทยรักไทย เรื่องก็เงียบหายไป จนมาเปลี่ยนแนวคำวินิจฉัยว่า ผู้ซื้อไม่ต้องเสียภาษีเงินได้หรือยังไม่มีเงินได้พึงประเมินจนกว่าจะเอาหุ้นที่ซื้อในราคา 10 บาทไปขายแล้วมี "ส่วนต่าง" หรือ "กำไร"
กระทั่งเกิดกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ไปซื้อหุ้นบริษัททางด่วนในราคาต่ำกว่าตลาดจากบิดาตนเอง ปรากฏว่าเมื่อมีการยื่นแบบภาษีสรรพากรก็คิดเป็นภาษีส่วนต่าง เมื่อนายเรืองไกรร้องเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้อ้างว่าเป็นการเข้าใจผิด แล้วรีบให้สรรพากรคืนเงินส่วนต่างที่เก็บภาษีคืนนายเรืองไกร และยังยืนยันว่านายเรืองไกรไม่ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับครอบครัวชินวัตร ด้วย เหตุว่ายังไม่มีเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน
กระทั่ง เมื่อ 29 ธันวาคม 2548 สรรพากรมีหนังสือถึงนายเรืองไกรฉบับหนึ่งอ้างว่า เหตุที่นายเรืองไกรไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากเป็นการซื้อสินค้าราคาต่ำกว่าราคาตลาด เป็นการตกลงราคาที่ซื้อขายกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แล้วถือส่วนต่างจากเหตุผลหลายอย่างเช่น การมีโปรโมชั่น ความพอใจ หรือความสัมพันธ์ส่วนตัว เป็นต้น เงินส่วนต่างดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นเงินได้จึงไม่เข้าลักษณะเงินได้พึงประเมิน ดังนั้นนายเรืองไกรไม่ต้องเสียภาษี
น่าสังเกตว่า ลักษณะเช่นนี้คล้ายกรณีเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ซื้อหุ้นจากบิดาในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่งทางกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษี แต่ต่อมาสรรพากรกลับคืนเงินให้กับเรืองไกร และยืนยันว่านายเรืองไกรไม่ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับครอบครัวชินวัตร ด้วยเหตุว่ายังไม่มีเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน แต่มาเปลี่ยนแนวคำวินิจฉัยว่าซื้อสินค้าต่ำกว่าราคาตลาด "ส่วนต่าง" ราคาไม่เข้าลักษณะเงินได้พึงประเมิน ซึ่งเห็นชัดว่าเป็นการวินิจฉัยเพื่อรองรับการขายหุ้นแอมเพิล ริช
กรณีการตั้งบริษัทบนเกาะบริติชเวอร์จิน พ.ต.ท. ทักษิณอ้างว่าบริษัทธุรกิจไทยหลายคนก็ไปเปิดบริษัทที่เกาะดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติ
หากย้อนดูคำพูด พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อ 20 พฤษภาคม 2545 พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่าดู CNN แล้วสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายตัวนี้ ดังนั้นคนที่ไปเปิดบริษัทที่เกาะบริติชเวอร์จินเป็นคนไม่รักชาติ แสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณพูดกลับไปกลับมาหรือไม่ โดยไม่ยอมอ้างคำพูดเก่าของตนเอง
ปิดปากเงียบวิน มาร์ก
นอกจากนี้ ประเด็นที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ยอมพูดและดูเหมือนจะพยายามหลีกเลี่ยงสุดชีวิตก็คือ กรณีบริษัทวิน มาร์ก ลิมิเต็ด กล่าวคือเมื่อ 2 สิงหาคม 2543 ได้ปรากฏหลักฐานว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้โอนหุ้นที่ตนเองถืออยู่ 5 บริษัท คือ "บริษัทโอเอไอ พร็อพเพอร์ตี้" "บริษัทเอสซี ออฟฟิตปาร์ค" "บริษัทเวิร์ธ ซัพพลายส์" "บริษัทเอสซีเค เอส เตท" และ "บริษัทพีที คอร์ปอเรชั่น" มูลค่าเกือบ 1.5 พันล้านบาทให้กับวิน มาร์ก
หลังปรากฏเป็นข่าว พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่าบริษัทวิน มาร์กเป็นของนักลงทุนต่างประเทศที่ต้องการเข้าซื้อหุ้น 5 บริษัทดังกล่าวที่มีแนวโน้มเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และต้องการผลประโยชน์จากการซื้อขายในตลาดหุ้น คนที่ยืนยันอีกคนก็คือ สุรเธียร จักรธรานนท์ กรรมการผู้อำนวยการเอสซี แอสเสท ในขณะนั้น
นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังทำหนังสือชี้แจง ป.ป.ช.ครั้งกรณีซุกหุ้นในประเด็นเดียวกันโดยยืนยันในลักษณะนี้เช่นกัน ทว่าในข้อเท็จจริงกลับมีการค้นพบว่าบริษัทวิน มาร์ก ลิมิเต็ดที่ผู้นำบอกว่าไม่ใช่ของตัวเอง กลับมีที่ตั้งที่เดียวกันกับบริษัทแอมเพิล ริช คือ P.O.BOX 3151, Road Town, Tortola บนเกาะบริติชเวอร์จิน
คำถามคือ เข้าใจได้หรือไม่ว่าเจ้าของแอมเพิล ริช และวิน มาร์ก น่าจะเป็นคนคนเดียวกัน ?
นอกจากนี้ ยังพบว่ากองทุน "แวลู แอสเซตฟันด์" ในประเทศมาเลเซียที่รับโอนหุ้นจากเอสซี แอสเสท ประมาณ 61 ล้านหุ้น ได้สละสิทธิ์การซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดให้กับพินทองทาและแพทองธาร ทำให้แวลู แอสเซตฟันด์ขาดผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาประมาณ 100 ล้านบาท
ต่อมาก่อนเข้าตลาดหุ้น 5 วัน กองทุนแวลู แอสเซตฟันด์ได้โอนหุ้น 61 ล้านหุ้นของตนเองไปให้กับกองทุน 2 กองทุน คือ
"ออฟชอร์ ฟันด์อิ้ง" กับ "โอเวอร์ซี ฟันด์อิ้ง" ซึ่งตั้งอยู่ที่เดียวกับกองทุนแวลู แอสเซตฟันด์ เช่นกันคือเกาะบาบัวในมาเลเซีย
ประเด็นสำคัญคือ หากกองทุนทั้ง 2 เป็นของครอบครัวชินวัตร การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลในการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ของบริษัทเอสซี แอสเสทต่อ ก.ล.ต.ในวันที่ 5 กันยายน มีการแจ้งข้อมูลเท็จในไฟลิ่งอาจเข้าข่ายกระทำความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ ?
เพราะในการยื่นไฟลิ่งครอบครัวชินวัตร แจ้งว่าถือหุ้นเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับไม่มีพูดถึง 2 กองทุนดังกล่าว
เพราะเอาเข้าจริงหากรวมออฟชอร์ และโอเวอร์ซี ซึ่งถือหุ้นอยู่ประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์ ครอบครัวชินวัตร ก็จะมีหุ้นเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์
หากมีการพิสูจน์ว่ากองทุนดังกล่าวเป็นของครอบครัวชินวัตร จริง เท่ากับว่ามีการแจ้งเท็จในการยื่นไฟลิ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 2 เท่าของหุ้นที่นำเสนอขายกว่า 1,900 ล้านบาท
นี่คือคำถามที่ผู้นำไทยรักไทยไม่มีคำตอบที่ท้องสนามหลวง
http://www.norsorpor.com/go.php?u=64854%3B557B%7Efi%2B%3E985%3B695qtu75BlfydxDumu3qnfyjidywfmhfmhfwu4ywfmhfmhfwu4my3th3stmhnyfr3%7C%7C%7C44%3Fuyym6
Posted by : บกพร่องโดยสุจริต , Date : 2006-03-16 , Time : 02:30:09 , From IP : 172.29.4.62
|