แก้ รธน.หลังเลือกตั้ง...?????
วันนี้(27 ก.พ.)พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย รักษาการนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธการลงสัตยาบันแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 313 เพื่อการปฏิรูปการเมืองตามข้อเสนอของพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่เสนอให้พรรคร่วมฝ่ายค้านทำสัญญาประชาคมแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง จากนั้นค่อยมาพิจารณาจัดตั้งคนกลางยกร่างแก้ไขภายหลัง
ในการแถลงที่พรรคไทยรักไทยเมื่อเวลาประมาณ 16.10 น.พ.ต.ท.ทักษิณ ยังปฏิเสธข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้านที่ให้ 4 พรรค(พรรคไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยและพรรคมหาชน) ร่วมหารือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าควรเปิดทางให้ทุกพรรคการเมืองเข้าร่วม และพรรคไทยรักไทยสนับสนุนให้มีการปฏิรูปทางการเมืองและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตลอด
สำหรับรายละเอียดคำแถลงของหัวหน้าพรรคไทยรักไทยในเรื่องดังกล่าวมีดังนี้
พี่น้องประชาชนที่เคารพรัก ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้รับหนังสือฉบับลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 จากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคมหาชน ฉบับหนึ่ง และจากหัวหน้าพรรคชาติไทย อีกฉบับหนึ่งแล้ว ด้วยความขอบพระคุณที่ยังประสงค์จะเห็นการคลี่คลายสถานการณ์ไปในทางที่ดีอย่างรวดเร็ว พรรคไทยรักไทยได้ประชุมคณะกรรมการบริหารแล้ว มีความเห็นต่อข้อเสนอของพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค ดังนี้
ข้อที่ 1 พรรคไทยรักไทยยินดีที่จะดำเนินการให้มีการประชุมหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ แต่โดยที่ปัญหาที่จะหารือเป็นเรื่องอนาคตของชาติ และขณะนี้ต้องถือว่าทุกพรรคการเมืองไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่เลย จึงควรให้โอกาสทุกพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งแล้ว เข้ามามีส่วนร่วมในการหารือด้วย เพื่อไม่ให้การปฏิรูปการเมืองถูกจำกัดให้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองเพียง 4 พรรคเท่านั้น
ข้อที่ 2 พรรคไทยรักไทยขอยืนยันว่า ได้สนับสนุนการปฏิรูปการเมืองมาโดยตลอด ทั้งได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มาจากการปฏิรูป โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเคร่งครัด พรรคได้ศึกษาถึงข้อบกพร่องและปัญหาอันเกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเนื้อหาสาระ และกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคไทยรักไทยจะได้นำเสนอเรื่องนี้ต่อประชาชนอย่างเป็นระบบในการเลือกตั้งครั้งนี้
ข้อที่ 3 ในเรื่องกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 313 ที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชน และพรรคชาติไทย เสนอให้มีบุคคลหรือคณะบุคคลที่เป็นกลาง เป็นผู้ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น พรรคไทยรักไทยเห็นด้วยในหลักการ แต่ข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคมหาชน กับพรรคชาติไทย ยังแตกต่างกันในรายละเอียด ในส่วนพรรคไทยรักไทยนั้น เห็นด้วยกับการให้มีคณะบุคคลจำนวนหนึ่ง ประกอบกันขึ้นเป็นคณะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งอาจเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญอย่างเมื่อครั้ง พ.ศ. 2539 หรือจะมาจากการเลือกกันเองของบุคคลที่เสนอชื่อมาจากหลากหลายสาขาอาชีพทั่วประเทศ และมีจำนวนมากกว่าที่ต้องการหลายเท่าก็ได้ แนวทางนี้ ผู้ที่เคยเห็นระบบสมัชชาแห่งชาติ และสภาสนามม้า มาแล้วอาจพอจำได้ แต่ต้องดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัย และแก้ไขข้อบกพร่องบางส่วนเสียใหม่ แต่เมื่อยกร่างเสร็จแล้ว ควรมีการเชื่อมโยงกับประชาชนด้วยการขอประชามติ โดยเฉพาะในประเด็นที่ยังมีความขัดแย้ง ไม่มีข้อยุติ
ข้อที่ 4 พรรคไทยรักไทยขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมือง นำเสนอจุดยืนและแนวทางของตนในการปฏิรูปการเมือง ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอในการแก้ไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือข้อเสนออื่นใดต่อประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ อย่างเป็นระบบ และเป็นรูปธรรม เพื่อให้เป็นสัญญาประชาคมว่า หากพรรคการเมืองของตนได้รับเลือกตั้งแล้ว จะปฏิบัติตามสัญญาประชาคมดังกล่าว และในระหว่างนี้ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในครรลองประชาธิปไตยโดยเคร่งครัดเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง หลังจากนี้เราจะขอเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค บวกกันไม่เกิน 3 คน ของแต่ละพรรคบวกไม่เกิน 3 ไปพบกันที่ห้อง 309 อาคารวุฒิสภา เวลา 18.00 น. เพื่อที่จะได้พูดคุยกันว่าเราควรจะ เราเห็นด้วยกันไหม เห็นร่วมกันไหมว่าจะมีการปฏิรูปการเมือง เราเห็นด้วยกันใช่ไหมว่าเราจะมีคนกลาง แต่ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไรนั้นเป็นรายละเอียดที่จะต้องมาทำร่วมกันหลังการเลือกตั้ง แต่ขอให้ทุกคนไปบอกกับประชาชนเสียว่าจุดยืนของแต่ละพรรคจะเอาตรงนี้ แล้วรายละเอียดมาคุยกันหลังจากที่เข้าสภาแล้ว เราคงมีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้นำไปสู่การตั้งคนกลางได้ จะตั้งคนกลางแบบไหนนั้นจะไปคุยกัน ตกลงกันตอนเข้าสู่สภาแล้ว อันนั้นจะเป็นหลักกว้าง
( นสพ.ผู้จัดการ)
Posted by : สหายหุบเขาฝนโปรยไพร , Date : 2006-02-27 , Time : 18:43:07 , From IP : 172.29.1.146
|