ความคิดเห็นทั้งหมด : 6

คุณคิดเห็นอย่างไรกับการแก้ปัญหาการเล่นเกมส์ Ragnarok ของ ICT


   เห็นเรื่องนี้กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วๆไป จึงอยากทราบความคิดเห็นของคนในบอร์ดนี้ครับ

นี่เป็นตัวอย่างบทความครับ ผมรู้สึกเห็นด้วยมากทีเดียวในฐานะ Gamer คนหนึ่ง

"เรื่อง ความเห็นของผมว่าด้วยปัญหา(รึเปล่า)เกมส์ออนไลน์ เรียน ท่านรัฐมนตรี ผู้ให้บริการเกมส์ออนไลน์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง(หรือไม่เกี่ยวข้อง)ทุกท่าน หลังจากที่กระผมได้อ่าน และรับฟังความคิดเห็น ในการแก้ปัญหาเกมส์ออนไลน์ผ่านทางสื่อต่างๆมาพอสมควรแล้วนั้น มีผลทำ ให้ผมเกิดความรู้สึกไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหา เกมส์ออนไลน์ของภาครัฐ ซึ่งคงต้องขอชี้แจงเป็นข้อๆดังต่อไปนี้

1.กรณีการปิดห้ามเล่นเกมส์ออนไลน์หลัง 22.00น. : การสั่งปิดเซอร์ฟเวอร์ และพยายามบล็อคไม่ให้เข้าเซอร์เวอร์เกมส์ออนไลน์ ของต่างประเทศ โดยสรุปก็คือการห้ามเล่นเกมส์ออนไลน์หลัง 4 ทุ่ม เหตุผลคือ ให้ประชาชนมีเวลาพักผ่อนซึ่งผมมองว่าเป็น มาตรการที่มีความเป็นเผด็จการสูงมากๆทีเดียว

ผมมีข้อโต้แย้งดังนี้ครับ

- ทางภาครัฐมีความจำเป็นที่จะต้องใช้อำนาจ กำหนดเลยหรือว่าประชนชนควรจะนอนกี่โมง ด้วยข้ออ้างเหตุผลทางสุขภาพ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงท่านสามารถตัดไฟฟ้าไปได้เลย ช่วยชาติไปได้มากกว่าที่ท่านบอกว่า ให้ช่วยประเทศชาติที่ลงทุนกับระบบ ไอทีไปเยอะ (แต่ไม่อยากให้ใช้?เล่นเกมส์ออนไลน์) แต่หากท่านบอกว่านี่มิใช่การบังคับให้นอน กรุณาพิจารณาข้อต่อไป

- ทางภาครับมีความจำเป็นต้องใช้อำนาจ ตัดทางเลือกในการดำรงค์ชีวิตของประชาชน เพราะจะเกิดผลในด้านบวกจริงหรือ หากลองพิจารณาการห้ามเล่นเกมส์ออนไลน์หลัง 4 ทุ่มก็คือการตัดทางเลือกในการปฏิบัติกิจกรรมหลัง 4 ทุ่มของประชาชน ออก 1 กิจกรรม ซึ่งหากจะลองจินตนาการแบบคร่าวๆ ประชาชนก็จะเหลือทางเลือกคือ นอนพักผ่อน ทำกิจกรรมอื่นๆ อยู่ที่บ้านเช่นดูทีวีเล่นเกมส์ที่ไม่ออนไลน์ ออกไปเที่ยวสถานบันเทิงที่เปิดได้เกิน4ทุ่ม ซึ่งโดยวิจารณญาณของผู้ที่มีวุฒิภาวะ คงพอจะคาดเดาได้ว่า ประชาชนที่เดิมเคยมีพฤติกรรมเล่นเกมส์ออนไลน์เกิน 4 ทุ่ม โดยยังไม่นอนส่วนใหญ่จะเลือกทางเลือกใด หรือการกระจายมีแนวโน้มเป็นอย่างไร (นี่คือสิ่งที่ท่านรัฐมนตรีกำลังศึกษาหาคำตอบ ซึ่งหากพิจารณากิจกรรมส่วนใหญ่นอก จากการนอนก็จะทราบว่าเหตุผลด้านสุขภาพ ไม่ใช่ผลด้านบวกเสมอไป นอนเป็นบวก ดูทีวีเล่นเกมส์ถือว่าเสมอตัว ออกไปเที่ยวนอกบ้านเป็นลบด้วยซ้ำ) โดยหากเป็นเยาวชนก็ขอให้พิจารณาด้วยว่าพฤติกรรมหลัง 4 ทุ่มนั้นโดยส่วนมาก (เกือบทั้งหมด)จะอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองแล้วคือหากจะเล่นเกมส์ออนไลน์ก็คือผู้ปกครองต้องรับรู้และเห็นชอบแล้วและหากเป็นเด็กกลุ่มที่ผู้ปกครองควบคุมไม่ได้การปิดเกมส์ออนไลน์ก็ยังคงทำให้เด็กกลุ่มนี้มีโอกาศเลือกทางอื่นๆไม่ต่างกับผู้ใหญ่ ดังนั้นการปิด4ทุ่มไม่น่าจะใช่การแก้ปัญหา

- การเล่นเกมส์ออนไลน์เป็นภัยขนาดนั้นเลยหรือ อย่างที่ท่านรัฐมนตรียอมรับว่า เนื้อหาตัวเกมส์ไม่ได้มีปัญหาความก้าวร้าว รุนแรง และหากพิจารณาจากสถานที่ในการเล่นเกมส์นี้ สามารถเล่นได้ 2 ทางหลักๆคือ จากที่บ้านซึ่งมีความปลอดภัยสูงสุด (อยู่บ้านไม่ปลอดภัยจะให้ไปอยู่ไหนครับท่าน) หรือที่ร้านอินเตอร์เน็ต ซึ่งถูกพยายามมองว่าเป็นแหล่งมั่วสุมในปัจจุบัน แต่เมื่อ พิจารณาเปรียบเทียบกับสถานบันเทิง ที่ถูกสั่งให้ปิดตี 2 เพราะเป็นภัยหรือมีความเสี่ยงสูง การที่ท่านจะปิดเซอร์ฟเวอร์เกมส์ เพราะกลัวประชาชนไปมั่วสุมที่ร้านอินเตอร์เน็ตนั้น ท่านมีข้อใดพิสูจน์ว่า ร้านอินเตอร์เน็ตเป็นภัยกว่า ผับ บาร์ เธค อาบอบนวด ครับท่าน หรือการเล่นเกมส์ออนไลน์อันตราย กว่าการดื่มเหล้า (ยกตัวอย่าง) ดื่มเหล้าอยู่บ้านยังดื่มได้ยันเช้า หรือถ้าท่านมี มาตรการที่ปฏิบัติได้ ท่านคงจะห้ามประชาชนดื่มเหล้าหลัง 4 ทุ่ม ซึ่งก็ถือว่าดีในแง่ความห่วงใย แต่ไม่ใช่แนวคิดแบบประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนครับ

2.กรณีการให้จำกัดเวลาเล่นเพราะข้ออ้างด้านสุขภาพ : อันนี้ดูตลกนะครับผมก็ไม่เห็นด้วยอีกแหละ เป็นการจำกัดพฤติกรรม แบบเผด็จการ แม้แต่ในสิ่งปลีกย่อยซึ่งไม่สมเหตุสมผล (หวังว่าจะเข้าใจคำว่าความสมเหตุสมผล) ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน และไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะผมและท่านและทุกๆคนน่าจะมีสิทธิ์คิดเองได้นะครับ ว่าจะยอมเสียสุขภาพของร่างกายซัก เล็กน้อยแลกกับอะไร ที่มันคุ้มค่าหรือไม่ (ในเรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างนี้ เน้นว่าเรื่องเล็กๆน้อยๆนะครับหากเป็นเรื่องใหญ่ๆที่เห็น เด่นชัดขนาดปัญหายาเสพติด หรือของผิดกฎหมายยกให้ท่านทำเลยครับ) ไม่ต้องให้ท่านมาตัดสินแทน ว่ามันคุ้มหรือไม่คุ้ม ผมจะลองยกตัวอย่างเอาแบบขำๆนะครับลองไปคิดดู - ถ้าการดูทีวีต่อเนื่องเกิน 2 ชม.เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่บางครั้ง ผมดูหนังยาว 3 ชม.ผมก็ยอมแลกเสียสุขภาพนิดนึง ขอดูให้จบ หรืออาจอย่างดูอีกเรื่องวันนี้ยอมเสียสายตาหน่อย ดูมัน 6 ชม. ถามว่าผมไม่มีสิทธิ์เลยเหรอครับ ถ้าใช้วิธีการของท่าน ผมคงไม่มีทางได้ดูหนังเกิน 2 ชม.เพราะท่านจะปิดสถานีโทรทัศน์สลับเปิดทุก 2 ชม.เพื่อรักษาสุขภาพประชาชน - ถ้าการคุยโทรศัพท์มือถือเกิน 5 นาทีเป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่ผมต้องคุยตกลงธุรกิจ หรือไถ่ถามสารทุขสุกดิบจากญาติพี่น้อง ที่แสนคิดถึงผมรู้ว่ามันเสียสุขภาพเล็กน้อย แต่ผมยอมแลกกันกันได้คุยต่อ ถามว่าผมไม่มีสิทธิ์เลยหรือครับ เพราะท่านคงสั่งให้ บริษัทมือถือตัดทุก 5 นาทีแล้วรอระยะหนึ่งถึงโทร.ต่อได้

- และสุดท้ายหากผมจะเลือกเล่นเกมส์ออนไลน์เกิน 2 ชม.ต่อเนื่อง(หรือกี่ ชม.ที่ท่านกำหนดมาให้ผม) โดยอาจทำให้ผม เสียสุขภาพไปเล็กน้อย ถามว่า ผมไม่มีสิทธิ์เลยเหรอครับ

3.กรณีการซื้อขายเงินและการพนัน? : อันนี้ผมมีความคิดเห็นในหลายประเด็นดังนี้ครับ - การห้ามซื้อขายเงินในเกมส์ถูกต้องแล้วหรือ หากท่านได้ศึกษาในต่างประเทศ จะพบว่าการซื้อขายของในเกมส์ออนไลน์นั้นเป็น เรื่องปกติครับ แต่ผมไม่อยากจะอ้างถึงต่างประเทศ เพราะเราไม่จำเป็นต้องเดินตามเขา แต่โดยความเห็นของผมเองก็คิดว่ามัน ไม่น่าจะผิดตรงไหนเลยด้วยซ้ำ ของแบบนี้ใครอยากซื้อก็ซื้อใครอยากขายก็ขายครับ มันไม่ใช่ของผิดกฎหมาย ผู้ซื้อพอใจผู้ขาย พอใจและสินค้าไม่ได้ทำอันตรายใคร

ถามว่าทำไมถึงต้องห้าม จุดเริ่มต้นของการห้ามซื้อขายเงิน มันน่าจะเนื่องมาจากผู้ให้ บริการ ตระหนักดีของความไม่แน่นอนของสินค้า ซึ่งเป็นเพียงสิ่งอุปโลกขึ้นมาในโลกอิเล็คทรอนิกส์ จึงได้ประกาศห้ามซื้อขาย เพราะไม่รู้วันไหนมันจะหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย แล้วไม่อยากจะให้มีปัญหา ที่ต้องมารับผิดชอบ หรือเกิดความไม่พอใจ แก่ผู้ใช้บริการอย่างรุนแรง เพราะข้อมูลที่ไม่มีความแน่นอน เกิดมีมูลค่าและเกิดความรับผิดชอบ อันที่จริงทางผู้ให้บริการแค่แจ้งให้ ทราบว่าจะไม่รับผิดชอบ ในความเสียหายที่เกิดขึ้น ก็จบแล้วนี่ครับพวกที่อยากจะซื้อจะขายกัน ก็ไปแบ่งความรับผิดชอบกันเอา เอง (ในส่วนของความเสียหายของสินค้านะครับ)

- การมองว่าเป็นการพนัน บอกตามตรงไม่ว่าจะมองอย่างไร ผมก็ยังมองไม่ออกว่าเกมส์ออนไล์แบบ Ragnarok มันเข้าข่ายการ พนันได้อย่างไรเพราะเป็นการเล่นเพื่อสะสม และซื้อขายแลกเปลี่ยน ไม่ใช่การวางเดิมพัน แล้วใช้โชคตัดสินว่าได้หรือเสีย ผมไม่รอบรู้ข้อกฎหมายมากนัก แต่ถ้าท่านจพยายามเหมารวมเกมส์แบบนี้ ว่าเข้าข่ายการพนันเกมส์ RPG หรือเกมส์แทบทุก เกมส์ที่มีการ Save data ได้ก็เป็นการพนันหมดเหรอ So crazy!!!! มนุษย์นะครับทกคนต้องการความก้าวหน้า ต้องการสะสมเพิ่มเติม โดยเฉพาะระบอบทุนนิยม การห้ามสะสม มันเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ครับ ขออภัยถ้ากล่าวแรงไป เกมส์นี้มันก็คือสังคมทุนนิยมที่อุปโลกขึ้นมา ถ้าท่านจะบอกว่าเป็นการพนันชีวิตเราทุกวันนี้ ก็มีแต่การพนันครับ ผมคงไม่เถียง ว่าที่จริงชีวิตเราทุกวันนี้ก็มีแต่การพนันจริง ๆ แต่โดยวิจารณญาณของผู้มีวุฒิภาวะ น่าจะจัดแบ่งขอบเขตว่าอะไรคือกิจกรรมที่มี ส่วนของการพนันน้อยมากจนไม่เรียกว่าเป็นการพนันนะครับ

- ผลกระทบด้านเศรษฐกิจของผู้ที่ซื้อเงิน กับที่บอกว่าคนไม่มีเงินจะซื้อ ต้องพยายามไปหาเงินมาซื้อเรื่องนี้ เป็นเรื่องตลกอีกแล้วครับ ท่านกำลังจะทำการตัดสินใจแทนผู้ซื้ออีกแล้ว ว่าอะไรไม่ควรซื้อ ห้ามซื้อ และทำการลงโทษกับผู้ขาย ห้ามขาย ช่วยกรุณา พิจารณาตัวอย่างแบบไม่เครียดนะครับ

(1) ผมอยากได้รถBenzมาขับเลยต้องกู้เงินไปซื้อมาจนเป็นหนี้ ถามว่าใครผิดครับ คนที่ขายรถให้ผม คนผลิตรถ หรือตัวผมที่ดันดิ้นรนไปซื้อมา แล้วท่านจะบอกว่าผมทำผิดกฎหมายเลยไหม ถ้าตามแนวทาง ของท่านคือ ปิดบริษัท Benz ซะหรือห้ามซื้อขายรถBenzเพราะมันทำให้คนอยากซื้อ

(2) ส.ส.ท่านหนึ่งอยากได้เครื่องบินเจ็ต เป็นของตัวเองเลยต้องคอรัปชั่นหาเงินไปซื้อ ถามว่าใครผิดครับ บริษัทที่ดันผลิตเครื่องบินมาล่อใจ หรือนายหน้าที่ดันเอา เครื่องบินเจ็ตมาเสนอขาย หรือท่านส.ส.ผู้ทรงเกียรติ (ท่านส.ส.คงสั่งผิดบริษัทผลิตเครื่องบิน พร้อมจับนายหน้าฐานที่มันมา ล่อใจให้เราโกง)

- เกี่ยวกับปัญหาด้านอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ถ้าพิจารณาดูดีๆไม่ได้มีต้นตอมาจากปัญหาเกมส์เลย คนจะมีชู้ยังไงก็ต้องมีคน จะบ้าฆ่าคนรักยังไงซักวันไปมีชู้ก็ต้องฆ่า คนจะปล้นเงินปล้สทรัพย์ยังไงซักวันก็ต้องปล้น ไม่ใช่เกมส์ครับ ที่สร้างคนอย่างนี้ขึ้น มาในสังคมไทย แต่เป็นสังคมครับ สังคมเรายังไม่สูงพอเข้าใจไหมครับ ความต้องการมนุษย์มีไม่จำกัดครับ แต่ทรัพยากรมีจำกัด จึงอยู่ที่ดุลยพินิจ และการตัดสินใจของบุคคล หากการซื้อขายเงิน ก่อให้เกิดปัญหาการจัดการด้านการเงินของผู้ซื้อจริง ก็เกิดจากปัญหาระดับสังคมครับ การยกระดับชั้นการตัดสินใจ (ไม่ใช่ระดับเศรษฐกิจนะครับอันนั้นยกได้ก็ดี)

ทางสังคมคือการแก้ปัญหาที่ รากเหง้าเหมือนที่องค์ในหลวง ทรงประทานแนวความคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียงครับ นั่นใช่เลย แต่ที่ท่านทำคือการฟันกิ่งที่งอก ผิดทางทิ้งไปเรื่อยๆให้ดูเหมือนต้นไม้งอกตรง แต่ที่จริงต้นไม้มันงอกเอียงครับ ทำอย่างนี้ท่านต้องฟันอีกหลายกิ่งแน่และต้นไม้ต้น นี้(สังคมไทย)ก็คงไม่มีโอกาศงอกสูงขึ้นง่ายๆ เพราะมันงอกเอียง และถูกฟันอยู่เรื่อยๆ ไม่ได้แก้ปัญหาที่รากเหง้าเลยครับ

ผมแสดง ความคิดเห็นวิจารณ์แนวความคิด ของทางรัฐมามากแล้ว คงไม่ยุติธรรมหากผมไม่แสดงแนวความคิดของผมออกมาบ้าง เพราะ การติผู้อื่นนั้นง่ายครับ ผมก็มีแนวความคิดมาให้ติเหมือนกัน (เพราะผมเองก็คงไม่รู้ดีไปกว่าท่านหรอกครับ เพียงแต่มองคนละ มุม)จึงขออนุญาตินำเสนอความคิดของผมเอง ในการแก้ปัญหาเกมส์ออนไลน์เพื่อให้เป็นแนวทางการติเพื่อก่อนะครับ

1.การแก้ปัญหาเยาวชน : ซึ่งถือว่ามีวุฒิภาวะน้อยในการตัดสินใจ

- ให้มีการสมัคร ID เป็น 2 แบบคือ IDทั่วไป(สำหรับ ผู้มีอายุเกินกว่า 18 ปี) และ ID เยาวชน (ผู้มีอายุต่ำกว่า18ปี) - ให้มีควบคุมการสมัครIDอย่างเข้มงวดโดยการกรอกแบบฟอร์มที่ร้าน 7-11 หรือตัวแทน (เหมือนการสมัครสมาชิกอินเตอร์เน็ต รายเดือน) และการสมัคร ID ทั่วไปสำหรับผู้มีอายุเกินกว่า 18 ปีต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนร่วมด้วย โดยมีฐานข้อมูลออนไลน์ เช็คว่าห้ามคนหนึ่งมีเกิน 1 ID เพราะจะเอาไปใช้เปิดบอทผลิตเงินมาขายได้ (ไม่มีIDก็เปิดบอทไม่ได้ ID เดียวเปิดไปก็ได้ไม่ เท่าไร) ซึ่งรองรับอนาคตเกมส์ออนไลน์จะเปิดให้ใน 1 ID สามารถสร้างตัวละครได้มากขึ้น (แต่เล่นได้ทีละตัว) เพราะไม่ต้องการ ให้คนหนึ่งมีหลายID

- ควบคุมการใช้งานเฉพาะ ID เยาวชนดังต่อไปนี้ห้ามเข้า server เวลา 8.00-16.00 ซึ่งเป็นเวลาเรียน ส่วนเวลากลางคืน ถือว่าอยู่ในการควบคุมของผู้ปกครองแล้วไม่น่าจะต้องไปบังคับกันอีก (ถ้าเล่นก็แสดงว่ามีผู้บรรลุนิติภาวะเห็นชอบไม่งั้นคงแจ้ง ความคนหายไปแล้ว) และอาจมีการห้ามเล่นเกินเวลาที่กำหนดเพราะเยาวชนอาจมีความยับยั้งชั่งใจได้น้อย โดยหากต่อเนื่อง เกินเวลาอาจใช้วิธีการปรับเงินค่าบริการเพิ่มเป็น 2 เท่า แต่ไม่ควรใช้การตัดออก เพราะบางทีมีกิจกรรมในเกมส์ที่ต้องทำต่อเนื่อง ไปอีกเล็กน้อย (เหมือนดูหนังอีก 5 นาทีจะจบจะปิดทีวีเลยก็ไม่ไหวเลิก ดูกันหมดแน่) ซึ่งเชื่อว่าเยาวชนส่วนใหญ่ พอเข้าช่วงปรับ (อาจมีเตือนบนหน้าจอ) ก็จะรีบเลิกเป็นส่วนใหญ่ และค่าเติมเวลาสำหรับ ID เยาวชนควรจะถูกกว่า IDแบบทั่วไปด้วยนะครับ

เซอร์ฟเวอร์เปิด 24ชม.เหมือนเดิมและ ID ประชาชนผู้มีวุฒิภาวะแล้ว ควรสามารถเลือกกิจกรรมที่จะเล่นได้ 24 ชม.ถูกไหมครับ

2.การแก้ปัญหาการซื้อขาย : ที่จริงผมไม่อยากเรียกว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา เอาเป็นว่าควบคุมการซื้อขายดีกว่าครับ - ยกเลิกการห้ามซื้อขายไปเลยครับ แต่ให้ผู้ให้บริการทุกรายประกาศให้ผู้เล่นเข้าใจว่า ทรัพย์สินทุกชนิดในเกมส์เป็นเพียงสิ่งที่ อุปโลกขึ้น มีความเป็นไปได้ที่จะสูญหาย หากเกิดเหตุสุดวิสัยที่ทางผู้บริการ ไม่สามารถแก้ไขได้ และจะไม่มีการรับผิดชอบความ เสียหายที่เกิดขึ้น จากการตีมูลค่าทรัพย์สินในเกมส์เป็นมูลค่าจริง ดังนั้นการให้มูลค่าของทรัพย์สินต่างๆในเกมส์ โปรดกระทำโดยมีวิจารณาณ ใครยังอยากซะซื้อจะขายจะตีมูลค่า น่าจะเป็นสิทธิของผู้อยู่ในระบบทุนนิยมครับ เพราะตัวสินค้าไม่ได้เบียดเบียน ตัวเองหรือผู้อื่น

- ให้ทางรัฐทำการตีความและประกาศให้ประชาชนเข้าใจว่า ทรัพย์สินในเกมส์เป็นทรัพย์สิน ซึ่งสามารถฟ้องร้องเอาความกันได้ หรือไม่ ในกรณีมีการฉ้อโกงกัน(ไม่นับการทำร้ายร่างกายนะครับ) เช่นถ้าบอกว่าฟ้องร้องได้คนจะเชิดก็คงไม่กล้าเชิด เพราะเดี๋ยวโดนแจ้งความ หรือถ้าฟ้องร้องไม่ได้คนขาย ก็จะได้ไม่ต้องพยายามตามเอาความ หรือไม่กล้าซื้อขายเพราะโดนโกงก็บอก ใครไม่ได้ก็จะลดซื้อขายกันไปเอง เพียงแต่รัฐให้ความชัดเจนเท่านั้นครับ ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งก็คงจะหมดไป (ส่วนเรื่อง มีชู้รัฐคงห้ามไม่ได้ ฮาา)

- เนื่องจากเยาวชนเป็นเป็นผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ดังนั้นนิติกรรมใดๆที่ทำกับเยาวชนเป็นโมฆะ นั้นคือการซื้อ-ขายเงินกับ เยาวชน (โดยเฉพาะIDเยาวชน) แล้วถูกเยาวชนเบี้ยว ไม่สามารถเอาผิดใดๆกับเยาวชนได้ น่าจะช่วยลดการซื้อขายโดย เฉพาะการขายเงินให้เยาวชนลงได้บางส่วน ซึ่งรัฐและผู้ให้บริการต้องประกาศให้ทราบ นั่นคือโดยสรุป ผมคิดว่าการซื้อขาย เงินในเกมส์ไม่ใช่สิ่งผิด แต่ต้องกระทำอย่างมีวิจารณญาณ และมีวุฒิภาวะเพียงพอนะครับ ส่วนการที่ผู้ที่มีวุฒิภาวะสูงแล้วจะ แจกเงินในเกมส์หรือเงินจริงๆ ให้กับเด็กฟรีๆ ก็ไม่น่าผิดอะไรใช่ไหมครับ

3.เกี่ยวกับการควบคุมร้านอินเตอร์เน็ต : ผมเห็นท่าน รมต.มีท่าทีที่ค่อนข้าง จะผ่อนปรนอยู่แล้ว แต่น่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนใน การปฎิบัติเพื่อป้องกันการฉวยโอกาศจากเจ้าหน้าที่ที่ไม่ดี

- มีการขึ้นทะเบียนร้านอินเตอร์เน็ตและเกมส์โดยเฉพาะ
- เรื่องเวลาปิดยังไงก็ได้แล้วแต่ผู้ประกอบการ (ถ้าท่านยังเห็นว่าร้านเน็ตเป็นภัยน้อยกว่าสถานบันเทิง) - หลัง 4 ทุ่มห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 เข้า
- ห้ามขายของมึนเมา บุหรี่
- กำหนดทัศนวิสัยหน้าร้าน ต้องสามารถมองเข้าเห็นในร้านได้ชัดเจน เท่านี้น่าจะพอแล้วมั๊งครับ ผมว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่สบายใจ ด้วยซ้ำที่รู้ว่าลูกอยู่ร้านอินเตอร์เน็ตไม่ได้ไปอยู่ไหน

ผมเขียนข้อความนี้ ด้วยความพยายามอย่างที่สุด ที่จะออกความเห็นหนึ่งจาก ประชาชนผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่แน่ใจว่าจะมีใครได้อ่านหรือไม่ แต่ก็ยังหวังว่าจะมีเสียงการติเพื่อก่อเพิ่มพูนขึ้น จากสังคมไทย เรื่องนี้แม้อาจไม่เกี่ยวกับท่าน แต่เป็นตัวอย่างแสดง ถึงแนวทางการตัดสินใจของรัฐบาลผู้บริหารประเทศ ในการแก้ปัญหา (ซึ่งผมรู้สึกว่ามันค่อนข้างเอียง ไปในแนวทางแบบเผด็จการนะครับ ไม่ใช่ว่าเผด็จการไม่ดีนะครับ มันต้องผสมผสานกันไปนะ ครับ) ก่อนที่แนวทางนี้จะถูกนำไปใช้กับปัญหาอื่นๆซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมเองต้องขอออกความเห็นมาก่อน ณ ที่นี้ครับ

ผู้ลงนาม : ตำรวจคนหนึ่ง
หน่วยงาน/สังกัด : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ : 11 ก.ค. 2546 "

ของกติกาของคุณ Phoenix หน่อยนะครับ ^^ be mature, be positive, be civilised




Posted by : โบทซึมุ , Date : 2003-07-15 , Time : 15:03:14 , From IP : 172.29.2.235

ความคิดเห็นที่ : 1


   ไม่ทราบสถานการณ์จริงว่ามีผลกระทบเพียงไรและไม่ทราบ exact words ของกฏหมายฉบับนี้ แต่มีความเห็นโดยประเด็นกว้างๆสองสามข้อ

๑) กฏหมาย ban เป็นกฏหมายที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของระบบที่มีผลกระทบต่อคุณภาพของประชาชนในชุมนุมชนนั้นๆ เนื่องจากว่าประชาชนที่รัฐต้องการจะควบคุม (Target group) ไม่สามารถจำแนกแจกแจงและวินิจฉัยด้วยตนเองถึงโทษภัยที่อาจจะเกิดจากการกระทำที่ ban นั้นด้วยตนเองได้ รัฐจึงต้องยื่นมือมาควบคุม เพราะสิ่งที่สูญเสียมีผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวม

๒) เป็นการแก้ปลายๆๆๆเหตุ หรือจริงๆแล้วอาจจะไม่ได้แก้อะไรเลย เนื่องจาก implication of pathogenesis จากข้อหนึ่ง หมายถึง trend ที่จะมีการ break the law สูงกว่าปกติอยู่ด้วยทำให้กฏหมายแบบนี้ ineffective

ขออนุญาตขยายความทั้งสองประเด็น

ถ้า ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีคุณภาพดีพอ จะไม่มีเรื่องอะไรที่รัฐต้อง ban เลย นั่นป็น optimal condition of society แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น มีพิสัยของเรื่องราวมากมายที่ประชาชนที่มีเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาและอยู่มนสิ่งแวดล้อมที่เกณฑ์มาตรฐานสื่อสารมวลชนไม่เท่ากัน ทำให้ประเทศต่างๆยังจำเป็นต้องมีการ BAN ใช้ในรูปแบบต่างๆ ที่เจริญมากหรือ media ดี ก็อาจจะยัง ban ในเรื่องที่เป็น controversy ต่อสุขภาพเช่น genetic modified food หรือ cloning ส่วนประเทศหลังเขาที่ค่านิยมยังล้าหลังอาจจะจำเป็นต้องมีกฏต่างกัน เช่น ban การแซงคิว (คิวคืออะไรวะ? one bull asked) หรือประเทศที่ล้าหลังกว่านั้น อาจจะยังไม่รู้ว่าต้อง ban อะไรบ้าง (ทำของข้ายังงี้ตามใจ ถูกที่สุด)
ประเทศที่ประชาชนมีการศึกษาดี กฏหมาย BAN จะดู patronize ประชาชนอย่างมาก และจะถูกโจมตีตกไป อันนี้มีข้อยกเว้นเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ปกครองโดย socialism ที่คิดว่าประชาชนส่วนใหญ่โง่ ต้องให้รัฐบอกซ้ายหันขวาหัน เดินหน้าหยุดอยู่กับที่ เอ้า หายใจได้ เอ้า กินได้ ขี้ได้ เยี่ยวได้ ถ้ารัฐไม่บอกพวกโง่เหล่านี้จะตายหมดหรือทำให้ชาติฉิบหายขายตนในที่สุด

ดังนั้นความพอดี ไม่พอดีของกฏหมาย Ban ขึ้นอยู่กับรัฐบาลมองประชาชนว่ามีคุณภาพเช่นไร

แต่หลังจากมองคุณภาพของประชาชนแล้ว ก็จะมาถึง "กึ๋น" ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา ถ้า ROOT ของปัญหาอยู่ที่กลุ่มเป็หมาย "ไม่รู้ หรือไม่สามารถ" ตัดสินใจได้อย่าง appropriate นักศึกษา PBL ทุกท่านก็สามารถตอบได้ว่าควรแก้ที่ ROOT ของปัญหาจึงจะสามารถคงผลระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ในปัจจุบันการกระทำใดๆก็ตามโดย ADULT ที่ไม่เดือดร้อนต่อผู้อื่น รัฐไม่ควรก้าวก่ายหรือเหวี่ยงแห ban ถ้ากลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะ กฏหมายก็ควรจะมี effect ครอบคลุมแค่นั้น adult มีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะ screw ตัวเองยังไงก็ได้ ตราบที่ไม่เดือดร้อนต่อบุคคลที่สาม เห็นชัดๆคือ การสูบบุหรี่ หลังจากที่มี evidence ว่า passive smoking สามารถก่อให้เกิดดรคได้ รัฐก็มีเหตุผลที่จะ ban การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ แต่รัฐก็ยังไม่สามารถ ban การสูบบุหรี่ในที่ที่จัดไว้เป็นพิเศษ หรือในบ้านของ adult ได้ สูบบุหรี่นั้น documented เรื่องโทษชัดเจนกว่าการเล่น internet เยอะ หาก ban บุหรี่ไม่ได้ ก็จะเป็น hypocrisy trying to ban internet

ทีนี้ว่าถึงเด็ก หรือเด็กในวัยเรียนล่ะ ควรจะ ban หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ definition of maturity ล่ะครับ อันนี้ไม่ใช่ physical maturity แต่หมายถึง mental maturity ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานอาจจะต้องดูที่พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมประกอบเป็นสำคัญ ถ้าอายุ 26 ปี แต่ดันเล่นเกม internet จนมา round ward ไม่ทันหรือดูคนไข้ไม่ดี อันนี้ก็ไม่ค่อยเข้าท่า อายุอาจจะเข้ามาเกี่ยวถึงระดับหนึ่ง หลังจากนั้นคงต้องมี affective domain evaluation tool ที่ดีกว่านี้มาบอก

นอกเหนือจากนี้อาจจะยังสามารถอภิปรายเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน การใช้ resource ของประเทศ เป็นประเด็นที่มองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ และเป็น weak point ของประเทศกำลังพัฒนา (ทำไมกูต้องสนใจสิ่งแวดล้อมด้วย global warming มันก็ hot มาตั้งแต่กูเกิดแล้ว) ปิดไฟเมื่อเลิกใช้ หรือ campaign ประหยัดพลังงานอาจจะเป็น government advertisement ที่ควรยกย่องแต่ประสบความล้มเหลวมากที่สุด




Posted by : Phoenix , Date : 2003-07-15 , Time : 23:46:20 , From IP : 172.29.3.219

ความคิดเห็นที่ : 2


   หมอเลี๊ยบอีกแล้วครับ กระทรวง ICT

Posted by : ... , Date : 2003-07-16 , Time : 00:25:27 , From IP : 172.29.2.102

ความคิดเห็นที่ : 3


   อ๋อย.. เหลือไม่ถึง 20 นาที(เวลาพัก) ขอข้ามไว้ตอบวันหลังนะครับ

Posted by : ArLim , Date : 2003-07-16 , Time : 14:23:33 , From IP : netturbo2.cscoms.com

ความคิดเห็นที่ : 4


   ยาวจัง อ่านแล้วตาลาย

Posted by : สาวน้อยร้อยชั่ง , Date : 2003-07-16 , Time : 16:53:22 , From IP : 172.29.2.161

ความคิดเห็นที่ : 5


   ปิดไปสิดี เล่นมากๆ ไม่มีประโยชน์ เอาเวลาไปดูคนไข้มั่ง โม่จะตายอยู่แล้ว

Posted by : เกมส์ไม่ยุ่ง มุ่งแต่หญิง , Date : 2003-07-16 , Time : 21:45:11 , From IP : 172.29.3.146

ความคิดเห็นที่ : 6


   เรียนหมอ โง่ได้ แต่ห้ามชั่ว
รายนี้ เอาครบเลย


Posted by : เกลียดเลี้ยบ , Date : 2003-07-17 , Time : 03:16:08 , From IP : mugwback.mahidol.ac.

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.006 seconds. <<<<<