ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

ภูมิปัญญาตะวันออก กับ ศาสตร์การเสริมสร้างพลัง




   ภูมิปัญญาตะวันออก กับ ศาสตร์การเสริมสร้างพลัง (2)



ความแตกต่างระหว่างวิถีการสร้างพลังแบบตะวันออก และตก

ดังที่กล่าวมาข้างต้น คำว่า Empower ในศาสตร์ตะวันออก จึงเป็นเรื่องของภายใน บางทีคนจีนเรียกว่า พลังภายใน

มิติของ "ใจ" จึงกลายเป็นหัวใจของศาสตร์ตะวันออก

พุทธสอนไว้ว่า เราต้องสร้าง "ใจ" ที่ว่าง

"ใจ" ที่ลดละอัตตา อ่อนน้อมถ่อมตัว มีเมตตา เบิกบาน และขยันอดทนศึกษาเรียนรู้อย่างไม่สิ้นไม่สุด จะสร้างใจแบบนี้ได้ต้องสร้างขึ้นภายใน เป็นเรื่องของการสร้าง และการฝังค่านิยมที่ดีงามสู่เด็ก ผ่านการศึกษา และการสร้างเสริมวิถีวัฒนธรรมที่งดงาม

ส่วนแนวคิด Empowerment แบบตะวันตก มักจะเน้นเรื่องพลังกาย (สมองบวกกับร่างกาย) เป็นสำคัญ

เขาสร้าง "ใจ" อีกแบบหนึ่งคือ ใจที่เห็นแก่ตัวและละโมบขึ้นบนฐานวัฒนธรรมตัวใครตัวมัน

เวลาคิดถึงเรื่องการเสริมสร้างพลังแบบตะวันตก โดยทั่วไปน่าจะหมายถึงการพัฒนา "ตัวตน" แห่งปัจเจกชน อย่างเช่น การพัฒนาสมองให้ฉลาดทั้งด้าน EQ และ IQ พร้อมๆ กันกับการพัฒนาร่างกายให้เข้มแข็งมีสุขภาพดี มีความสามารถเหนือคนอื่นๆ และสามารถเอาชนะคนอื่นๆ ได้

ในเชิงปฏิบัติ "การพัฒนาสมอง" น่าจะหมายถึง การเรียนรู้และการศึกษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่เน้นการพัฒนาบุคคลคนให้เป็น "หนึ่ง" หนึ่งเหนือคนอื่นๆ ทั้งหมด

มองในแง่ร่างกาย น่าจะหมายถึง การบริโภคอาหารที่มีสารอาหารคุณภาพสูง (เนื้อ นม ไข่) การกินวิตามินบำรุงสมองเป็นประจำ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัยให้เหงื่อออกมากๆ เพื่อช่วยลดความอ้วน

สำหรับบรรดาสาวๆ ก็คือ การสร้างเสริมความงาม (ซึ่งเป็นการ Empower แบบหนึ่ง) เพื่อให้มีรูปร่างเหมือนนางแบบ ก้นเล็ก ตามด้วยความเชื่อเรื่องขาว สวย หมวย อึ๋ม

รวมทั้งการเล่นกีฬาแบบตะวันตกที่ค่อนข้างดุเดือดเอาจริงเอาจัง ซึ่งคนไทยใช้คำนำหน้าว่า "เล่น" แต่ฝรั่งเรียกว่า "การแข่งขัน" แข่งกันแบบเอาจริงเอาจังเพื่อชิงความเป็น "หนึ่ง" ซึ่งมักจะตบท้ายด้วยเงินรางวัลมหาศาล

ถ้าถามว่า ทำไมต้อง Empower ปัจเจก

คำตอบง่ายๆ คือ ในยุคทุนนิยม ปัจเจกชนเหล่านี้ได้หลงเข้าไปอยู่ในโลกของการแข่งขัน หรือสงคราม

ใคร คือผู้ชนะ ก็จะได้ผลตอบแทนมหาศาล

นั่นคือ เงิน เงิน และเงิน

เป็นโลกที่ใช้ "ความละโมบ" เป็นใจกลางของชีวิต

คนที่มีชีวิตอยู่ในโลกแบบนี้ ทุกคนจึงกลายเป็นศัตรูกับทุกคน

โลกแบบนี้ เราต้องแสดงความเหนือกว่า เพราะคนทุกคนคือคู่แข่งของเรา

เราต้องพร้อมเสมอที่จะฉกฉวยโอกาส "ทุกโอกาส" เท่าที่จะทำได้

เราเรียกว่า "โลกแห่งมือใครยาว สาวได้สาวเอา"

คนที่ติดหลงงมงายจะให้ความสำคัญของมิติแห่งเวลาสูงมาก ทุกอย่างในโลกตะวันตก "เวลา" จึงเป็นเงินเป็นทอง

ชีวิตอยู่ในสภาวะรีบเร่งอยู่ตลอดเวลา

ต้องตื่นนอนแต่เช้า ต้องรีบกินข้าวเช้า กลัวไม่ทัน "เวลา"

ยิ่ง Empower ตัวเองมาก ก็ทำให้กลายเป็นคน "ขยัน" มาก บางคนขยันมากจนงานล้นท่วมตัวไปหมด เรียกว่า พวก "บ้า" งาน แต่ไม่รู้ตัวเองว่า "บ้า" และคนเหล่านี้ "หยุด" ไม่เป็น ได้แต่บ่นว่าเหนื่อยแสนเหนื่อย แต่ก็หยุดไม่ได้

คนเหล่านี้ ไม่ต่างจากเด็กๆ ที่เกิดมาแล้วต้องเผชิญกับปัญหาที่เรียกว่า ไฮเปอร์ (Hyper)

ผู้ใหญ่หลายคนก็เป็นโรคนี้ แต่ไม่รู้ตัวเองว่าเป็นโรค

"บ้างาน หยุดไม่ได้"

จะหยุดได้ เมื่อเหนื่อย หรือล้มป่วย

พอมีอายุมากเข้า ก็เจอกับโรคเครียด ตามด้วยมะเร็ง และโรคที่เกี่ยวกับตับ ไต และหัวใจ

บางคนเครียดมาก จนความเครียดกลายเป็นอาภรณ์แห่งชีวิต ต้องกินยาแก้เครียดเป็นประจำ หรือไม่ก็ลดความเครียดด้วยการกินอาหารเยอะๆ

ถ้ามอง Empower แบบตะวันออก พลังที่แท้จริงจะเกิดขึ้น ก็เมื่อเรารู้จักการประสานพลังกับผู้อื่นๆ เปิดให้ผู้อื่นๆ เข้าร่วมและแสดงพลัง

"หัวใจ" ไม่ใช่เรื่อง "สมอง" เรื่องของ EQ หรือ IQ

ที่ "ใจ" ใจเราต้องกว้าง มีเมตตา และอ่อนน้อมถ่อมตน ต้องลดละความคิดว่า "ข้าแน่" คนเดียวลงไป

มองในแง่การดูแลร่างกาย ก็แตกต่างกัน

เวลาเล่นกีฬา คนไทยใช้คำว่า "เล่น" และคำว่า "สนุก" นำหน้าการแข่งขัน โดยไม่เอาเรื่องชัยชนะ ความเป็นหนึ่ง หรือ "เงินทอง" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

เราเล่นกับเพื่อน เพื่อให้เกิด "ความรู้จัก" และ "รักใคร่กัน"

มิติของเวลาในโลกตะวันออก เกือบจะไม่มีความหมายมากนัก

สมัยเด็กๆ ผมชอบการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องอิคิวซัง การ์ตูนมีช่วงหยุดพัก อิคิวจะพูดประโยคทองว่า "จะรีบไปไหน จะรีบไปไหน"

ต้องคิดก่อน ก่อนจะลงมือทำอะไร

อิคิวซังจะเริ่มคิดด้วยการไม่คิด หรือการนั่งสมาธิ

ศาสตร์ตะวันออกจะสอนคนให้รู้ "ค่า" ความสงบ และการหยุดพัก ว่าคือรากฐานแห่งพลัง

พูดอีกอย่างหนึ่งคือ พลังสมองจะก่อตัวขึ้นจาก "ความว่าง" และ "การปล่อยวาง"

ยิ่งต้องเผชิญ "ปัญหาใหญ่" ที่แก้ไม่ตก อิคิวก็จะนั่งสมาธินานหน่อย และค่อยๆ คิดไป แก้ไป อย่าง "สนุก" และ "ไม่ร้อนรน"

คำว่า "สนุก" ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีแบบตะวันออก

อิคิวซังไม่เคยคิดเอาชนะ "ใคร" หรือทำสงครามกับ "ใคร" เพราะทุกคนคือเพื่อนร่วมทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น

แต่ไม่ได้หมายความว่า คนตะวันออกไม่รู้ค่าของเวลา คนตะวันออกจะไม่ยอมเป็นทาสเวลา

เราต้องรู้ว่า "เวลาช่วงนี้" ควรจะทำ หรือไม่ทำอะไร

พูดง่ายๆ คนตะวันออกมองเวลาเป็นลูกคลื่นขึ้นและลง มีเวลาพัก และหยุด ในขณะที่คนตะวันตกมองว่าทุกเวลามีค่าเป็นเงินเป็นทอง และเข้าใจมิติเวลาเป็นเส้นตรง

วันก่อนผมเจอเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ทุกคนล้วนร้อนรน ผมก็บอกว่า "เราต้องเข้าใจเรื่องเวลา"

เวลาที่ร้อนรน คือเวลาที่ต้อง "ใจเย็น" และ "มีสติ"

การเปลี่ยนแปลงของทุกสิ่งล้วนแต่ใช้เวลา ช่วงเวลาที่มีค่ามากๆ สำหรับทุกคนคือ "ช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลง"

ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ ศึกษา ศึกษาข้ออ่อน และข้อด้อยของเราเอง

ถ้าเราใช้ช่วงเวลานี้ เรียนรู้และพัฒนาได้ เราก็จะเติบใหญ่ และสามารถก้าวไปข้างหน้าได้

ชนะ หรือ แพ้ หาได้สำคัญไม่ จุดสำคัญคือ เราสามารถชนะตัวเราเองได้แค่ไหน

เวลาที่เร่าร้อนจึงต้องกลายเป็นเวลาที่ไม่เร่งร้อน คนตะวันออกจะพูดเสมอว่า "ถ้าเร่งร้อนก็จะเสียการใหญ่" และ "อย่าชิงสุกก่อนห่าม"

เมื่อจะคิดทำการใหญ่ ต้องเริ่มด้วยการหยุด หรือนั่งสมาธิ

สำคัญที่สุดคือ "การเริ่มต้น" ถ้าเริ่มต้นถูก ก็ชนะไปแล้วเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์

เวลาทำอะไร คนตะวันออกจะค่อยๆ ปล่อยให้เวลาผ่านไป แม้เวลาทานอาหารก็คือ เวลาคุย เวลาคิด และเวลาสนุก

คำว่า "เพื่อน" "เล่น" และ "สนุก" นี่สะท้อนภาพการเข้าใจโลกแบบตะวันออก พุ่งตรงไปที่การสร้างสภาวะ "จิตใจ" ดีงาม และมี "เวลาพัก" ตลอดเวลา

แม้เวลาเล่นกีฬา ก็ต้องเล่นเพื่อสนุก ยิ่งสนุก ยิ่งเล่นได้นาน และใช้พลังน้อย

ทุกวันนี้ แม้อายุมากแล้ว ผมก็ยังเล่นแบดมินตันเป็นประจำ เล่นไป ก็ "สนุก" ไป แต่ส่วนใหญ่ผมจะเล่นกับคนที่อายุน้อยกว่ามาก เพราะหาคนรุ่นเดียวกัน "เล่น" ได้น้อย

ต้องเล่นกับพวกหลานๆ และเหลนๆ

ผมมองเห็นการเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ไม่ได้ "เล่น" กีฬาอีกต่อไปแล้ว เพราะทุกอย่างในโลกของคนรุ่นใหม่คือ "ชัยชนะ"

โลกของเขาคือ โลกแห่งสงคราม แม้แต่กีฬาก็คือสงคราม

พวกเขาใช้พลังทั้งหมดเท่าที่มีเพื่อ "ชัยชนะ" ไม่คิดจะเก็บพลัง

เสร็จแล้วก็นั่งหอบ หมดแรง

ผมเล่นกีฬาเพื่อคลายเครียด และเล่นสนุกๆ ไปตลอดเวลา

ปรากฏว่า ผมถึงมีอายุมากกว่า ผมก็เล่นได้นานกว่าหลานๆ และเหลนๆ

เรื่องนี้ ทำให้ผมคิดถึงนิทานเรื่องกระต่ายกับเต่าแข่งกัน กระต่ายวิ่งไปอย่างรวดเร็วจนหมดแรง และนอนหลับไป พอตื่นขึ้นมาก็พบว่า เต่าค่อยๆ เดินเข้าเส้นชัยไปแล้ว

แปลกอยู่อย่างหนึ่ง คนไทยใช้คำว่า "เล่น" แม้แต่เรื่อง "การเมือง" นี่อาจสะท้อนภาพความคิดแบบตะวันออกที่ไม่ถือว่า "การเมือง คือเรื่องสงคราม" (ยังมีต่อ)

โดย ยุค ศรีอาริยะ 9 กุมภาพันธ์ 2549 18:32 น.



Posted by : check mated!!!!! , Date : 2006-02-17 , Time : 15:57:48 , From IP : 172.29.4.153

ความคิดเห็นที่ : 1


   ผมเห็นด้วยว่า "กระบวนทัศน์" ของความคิดอาจจะแบ่งเป็นขั้วได้

แต่จะให้ "ฝ่าย" ใดฝ่ายหนึ่ง ตะวันตกตะวันออก causasian/mongoloid ผิวขาว/เหลือง ได้ monopolize ขั้วดีไป อีกฝ่ายเอาขั้วไม่ดีไป ตรงนี้ผมว่าเกิดบรรยากาศ racism/ethnicism ขึ้นมาโดยไม่จำเป็น

เรา claim ว่าตะวันออกเน้นจิตภาวะมากกว่า แต่ฝั่งตะวันตกรวบรวมจัดระบบ "จริยศาสตร์" มาก่อน ฝั่งตะวันออกใช้ระบบการปกครอง paternalism, omnipotent, monarchy, แต่กรีกตั้งแต่สมัย Plato ก็ได้เขียนหนังสืออ้างอิง The Republic ที่ยังคงน่าอ่านจนปัจจุบัน และเผยแพร่ concept ของ autonomy มาเปรียบเทียบกับระบบ paternalism เป็นขั้วต่างๆได้

จะมี concept ที่ "ไร้ขั้ว" เพราะอยู่สายกลาง ที่ผมว่าอาจจะ claim ความเป็น neutrality และ "เอื้ออาทร" ที่สุด ก็ไม่กี่อัน แต่คงไม่ represent โลกตะวันตก/ตะวันออก

ขณะที่อเมริกาเคยมีกฏหมายห้ามคนดำนั่งในรถเมล์เป็น racism แต่กฏหมายอังกฤษที่บังคับให้นายจ้างต้องกระจายการจ้างคนอังกฤษ คนตะวันออก คนจีน เท่าๆกันโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมกับงานก็เป็น racism อย่างนึงเหมือนกัน

ฉะนั้นสรุปว่าเรา "ทราบ" ว่าขั้วไหนน่าจะดีกว่ากันก็ดีพอแล้ว แต่ไม่ต้อง "แบ่งขั้ว" แล้วต้อง "แบ่งข้าง" กันให้ชัดเจนขนาดนั้นเลย เพราะขั้วมันก็ไม่ต้องได้รวมกันซะทีนึง



Posted by : Phoenix , Date : 2006-02-17 , Time : 16:44:41 , From IP : 172.29.3.96

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.002 seconds. <<<<<