ความคิดเห็นทั้งหมด : 33

รับไม่ได้กับผลการสอบ health promotion ปี4


   ตามหัวข้อครับ รับไม่ได้จริงๆกับเพื่อนๆที่ต้องตก block อย่าง health promotion เห็นใจมากๆครับ

และเท่าที่ทราบมา เกรดใน block นี้ กองกันอยู่ที่ C , C+ , B

ผมไม่เข้าใจจริงๆครับว่า block อย่างนี้จะโหด จะเข้มกันไปถึงไหน

ถ้าลองเปิดใจพูดกันจริงๆ อย่าเอาอคติใดๆมาเจือปน ก็ต้องยอมรับกันว่า block นี้นั้นมีความจำเป็นกับวิชาชีพแพทย์ของเราน้อยมาก จนแทบไม่ต้องมี block นี้ก็ได้

ความจริงให้เด็ก get แต่ mainๆ ของ block ก็น่าจะโอเคแล้ว แต่นี่ดูจากการตัดเกรดและจำนวนคนที่ตก block นี้แล้ว ก็ฟันธงได้เลยว่า ผู้ตัดเกรดคาดหวังว่าเด็กจะต้องเป็นนักวางโครงการตัวยง หรือเป็นคณะแพทยศาสตร์ เอกวางโครงการ ประมาณนั้น (ไม่รู้เป็นเพราะว่าทางคณะกำลังพยามผลักดันให้พวกเราที่เรียนกันด้วยระบบ pbl ให้เป็นหมอ fam med เท่านั้นตามข่าวลือหรือเปล่า)

ถ้าพูดกันจริงๆ ตามความเห็นของเพื่อนๆทั่วไปแล้ว กล้ายืนยันว่ามากกว่า 80-90% มองว่าblock นี้เป็นอะไรที่ไร้สาระมาก

พูดแล้วก็เศร้าใจ ในขณะที่พวกเรากำลังรำไทเก๊ก เล่นโยคะ เตรียม present โครงการ(ที่เป็นได้แค่ความฝัน) ทางศิริราช รามา และที่อื่นๆ เค้าเอาเวลาอันนี้ไปเปิด block การเรียนรู้ต่างๆ เช่น block การอ่าน ekg เป็นต้น

วิชาการเราแน่นขนาดที่มีเวลาว่างมาเปิด block อย่างนี้แล้วหรือ????

ผมเห็นท่านอาจารย์ทาง med sur ambu บ่นตลอดว่า เวลาการเรียนรู้ของพวกคุณน้อยเหลือเกิน ขึ้นแปปๆก็ลงแล้ว กำลังจะเริ่ม get ความรู้ก็ลงอีกแล้ว

เวลามันเสียไปกับอะไรอ่ะครับ เพื่อนๆทุกคนต่างพูดเหมือนกันว่า เอาเวลา 5 สัปดาห์นี้ มาตัดแบ่งย่อยโดยเอา 2 wk ไปโปะ med เอา 2 wk ไปโปะ sur และเอาอีก 1 wk ไปโปะ ambu ไม่ดีกว่าหรือ

ผมเข้าใจครับว่าทางคณะหวังที่จะให้พวกเรา เป็นแพทย์ที่สมบูรณ์แบบ มีความสามารถพร้อมในทุกๆด้าน (แม้กระทั่งรำไทเก๊ก + เต้นโนราบิกเป็น) แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดผมว่าการเป็นแพทย์สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความรู้ที่เราจะไปรักษาคนไข้นะครับ ตรงนี้พวกเรายังอ่อนยวบยาบอยู่เลย

ความรู้เสริมประเภทการวางโครงการเป็น การออกกำลังกายแบบต่างๆเป็น มันสมควรจะเป็นสิ่งที่เสริมหลังจากพวกเราแข็งทางด้านวิชาการแล้วนะครับ

แต่นี่ถ้ามาลองวัดความรู้ทางด้านวิชาการของพวกเราดู ทางคณะอาจจะตกใจก็ได้ เพราะนอกจากเวลาเรียนในแต่ละ ward จะน้อยมากแล้ว เวลาสอบพวกเรายังต้องเสียเวลามานั่งอ่านโพยข้อสอบที่มีมูลค่าการซีรอคร่วม 300 บาทอีกด้วย

ก็แล้วแต่ใครจะคิดนะครับ แต่อันนี้คือความคิดเห็นจากก้นบึ้งหัวใจของผมกับเพื่อนๆอีกหลายๆคนจริงๆ ที่คิดแบบเดียวกัน


Posted by : แพทย์ผู้ด้อยวิชาความรู้ , Date : 2006-02-16 , Time : 15:42:01 , From IP : ppp-210.86.146.198.r

ความคิดเห็นที่ : 1


   ขอเวลาพี่อ่านหนังสือสอบซ่อมวิชาที่ "สำคัญและจำเป็น" กับวิชาชีพของ "เรา" ก่อนนะจ๊ะน้อง แล้วพี่จะมาให้ความเห็น ใจเย็นๆๆๆๆ นะ....นะจ๊ะ


Posted by : Lucifer , Date : 2006-02-16 , Time : 16:14:40 , From IP : 172.29.4.127

ความคิดเห็นที่ : 2


   ผมขออนุญาต แสดงความเห็นนะครับ

"ถ้าลองเปิดใจพูดกันจริงๆ อย่าเอาอคติใดๆมาเจือปน ก็ต้องยอมรับกันว่า block นี้นั้นมีความจำเป็นกับวิชาชีพแพทย์ของเราน้อยมาก จนแทบไม่ต้องมี block นี้ก็ได้"

ผมไม่เห็นด้วยกับข้อความนี้นะครับ จริงๆ อยากให้มองในมุมกว้างกว่าที่เป็นอยู่ คือ การแพทย์อยู่เฉพาะการรักษาคนไข้ที่มีโรคภัยหรือ?? หากหวังจะทำอาชีพนี้ให้ดี ก็ต้องหันมามองเรื่องนี้กันให้มากขึ้น เพราะการป้องกัน การ early Dx อื่นๆ ล้วนแล้วแต่จะนำมาซึ่งการป้องกัน รักษาได้ถูกต้องและรวดเร็ว จริงหรือไม่??

"ถ้าพูดกันจริงๆ ตามความเห็นของเพื่อนๆทั่วไปแล้ว กล้ายืนยันว่ามากกว่า 80-90% มองว่าblock นี้เป็นอะไรที่ไร้สาระมาก "

สาระที่คนนำเสนอมองคืออะไร...หรือ?? เนื้อหาความรู้ทางวิชาการหรือ? เช่นการอ่าน EKG ตามที่กล่าวมาหรือ?? นั้นเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ใช่หรือไม่

จริงๆ อยากให้ลองมองว่า หากคุณเป็นผู้ป่วย, เป็นทีมที่ปฎิบัติการ เป็นบุคคลอื่นๆ หรือหัวหน้างาน ลองมองว่าการเป็นแพทย์ที่มีประสิทธิภาพนั้นควรจะมีความรู้ด้านใดบ้าง (นอกเหนือไปจากเป็นคนดี มีความรับผิดชอบ อัธยาศัยดี)
ต้องบอกว่า การเป็นแพทย์ ตลอดทั้งชีวิตคือการเรียนรู้ เพียงต่อต้องรู้ว่าจะเริ่มอย่างไร จะค้นหาอย่างไร จะทำอย่างไร ในกระบวนการที่นำมาซึ่งความรู้ที่ต้องการมากกว่า เพราะน้องลองมองตัวเองดูว่าขณะนี้น้องผ่านการเรียชั้น พรีคลีนิก หรือ ชั้นคลีนิก น้องมีความรู้เหลือ ในแต่ละวิชามากน้อยเท่าใด ผ่านไป 1 ปี น้องจะมีความรู้เหลือเท่าไร นี้เป็นความจริงที่ว่า หากเราไม่ได้นำมาใช้ตลอดเวลา ความรู้เหล่านั้นจะถูกหลงลืม ต่อให้น้องเรียนเพิ่มอีก 1-2 สัปดาห์ก็ตาม

จริงๆแล้วทางอาจารย์ ไม่ได้คาดหวังว่าน้องต้องรู้ทุกเรื่อง (ถ้ารู้ก็ดีไป) แต่เค้าคาดหวังว่าน้องสามารถหาความรู้ได้เอง โดยเฉพาะหลังจากจบจากมหาวิทยาลัย

น้องต้องตอบตัวเองก่อนว่า Primary prevention มีประโยชน์หรือไม่?? ต้องมีประโยชน์แน่นอน จริงไหม?? เค้าสอนน้องเพื่ออะไร โครงการเพ้อฝันที่ว่า เพื่ออะไร ... เพื่อเริ่มคิด เริ่มสร้างโครงการ ต่อไปหากน้อง(ส่วนใหญ่) ต้องดูแล รพ. ชุมชน น้องเข้าใจชุมชน คราวนี้ น้องก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นโครงการเลื่อนลอยอีกต่อไป

ส่วนเรื่องเกรด สำหรับผมเอง ผมไม่ยึดติดกับสิ่งนี้เลย เกรดดีแล้วเป็นไร ไม่ดีแล้วเป็นไร ผมเคยได้ตั้งแต่ 2.2 - 3.8 มาแล้ว (แต่ผมกลับรู้สึกว่าถ้าเราตั้งใจ สนุกกับการศึกษา ไม่มีอคติ ผมมักจะได้เกรดดีๆ) ผมไม่อยากให้ยึดติดกับสิ่งที่เป็นรูปธรรมเหล่านี้เลย เพราะต่อไป อาจทำให้น้องยึดติดเรื่องอื่นๆได้(เช่น การเงิน)
สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกดีกับการเป็นแพทย์ คือ รอยยิ้มของคนไข้ มันเหมือนเป็นกำลังใจนะ ผมว่า ยิ่งเค้าหาย ยิ่งรู้สึกดี ผมว่าสิ่งนี้มากกว่าที่ควรยึดติดนะครับ

เอาเป็นว่า การเรียนรู้มีตลอดทั้งชีวิต อย่าคิดว่าจบ 6 ปีแล้วจะสามารถรักษาได้ดีตลอด หากไม่ค้นคว้าเพิ่ม สิ่งที่เค้าสอนก็ตั้งใจ สิ่งที่ไม่สอน ถ้าสนใจก็ศึกษาเองเพิ่มเติม

ขอบคุณครับ


Posted by : Araidee , Date : 2006-02-16 , Time : 16:31:20 , From IP : 172.29.1.112

ความคิดเห็นที่ : 3


   สารภาพตรงไปตรงมาว่า การเรียน Block health promotion เมื่อ เดือนที่ผ่านมา มันไม่สนุกเอาเสียเลยอย่างน่าเสียดาย (เนื่องจากอาการป่วยถึง 3 รอบใน 1 เดือน หนักหัวจะบ้า อย่าว่าแต่ health pro เลย เรียนอะไรก็ไม่สนุกทั้งนั้นแหละ)

ในเวลาที่เราเรียกว่า ยุคแห่งการสื่อสารไร้พรมแดน เมื่อ Free market democracy มันกะจะรับประทานคนทั้งโลก นี่ ส่วนหนึ่งเราได้เรียนรู้ว่า คนเราเอาเปรียบกันด้วยวิธีการอย่างไร (จากการวิเคราะห์ข่าว FTA) ความรู้ที่ได้จาก block นี้ คืออาวุธสำคัญที่ “เรา” จะใช้สู้มัน

DALYs ของ unsafe sex เป็น burden of disease อันดับ 1 ถ้าเรายังจำกันได้
คณะเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี เรียกร้องข้อตกลงเกี่ยวกับกรณีสิทธิบัตรยา ที่สำคัญที่น่าเป็นห่วงอยู่มากคือ ความสามารถในการเข้าถึงยาต้านไวรัส AIDs ของประเทศคู่ค้า (Thailand ) มูลค่าการตลาดมหาศาลในตลาด asia ที่เป็นรองเพียงแค่ sub Saharan เท่านั้น พิจารณากำลังซื้อที่เหนือกว่าแล้วคนขายของที่ไหนจะบ้ามา promote health ให้หมดทางทำมาหากิน แต่คนของเรา ประชาชน คนจนตาดำๆ ที่ไม่ค่อยจะมี “โอกาส” ทางการศึกษา อย่างที่เรากำลัง มีกันอยู่ จะรู้มั้ยว่าจะต้องป้องกันตัวอย่างไร ในขณะที่สื่อยั่วยุต่างๆ ครองเมือง ไหนจะ CD เอย นักร้องนักแสดงที่อยู่ในโทรทัศน์(สื่อที่ทุกชนชั้นเข้าถึง) ตามแผงหนังสือที่มีบันเทิงแมกกาซีนราคาถูกแถมยังน่าอ่านกว่า หมอชาวบ้านหรือ วารสารคลินิค เรามีทางเข้าถึงเค้าได้มีประสิทธิภาพกว่าสื่อเหล่านี้แล้วหรือ หรือเพียง “รอ” ให้เค้ามาหาเรา เราจ่ายยา รัฐบาลจ่ายตังค์(ค่ายา) ถือเป็นอันสิ้นสุดหน้าที่อันสำคัญและจำเป็น

เราอภิปรายกันไปหลายรอบเกี่ยวกับ cost effectiveness เมื่อใดก็ตามที่เกิดโรค เราต้อง “จ่าย” ค่าซ่อม ถ้ายังไม่เกิดเรา จ่ายเพื่อป้องกัน เราได้ผลสรุปแทบจะเหมือนเดิมทุกครั้งว่า จ่ายเพื่อป้องกันคุ้มกว่าจ่ายเพื่อรักษา จำกันได้มั้ย
ประเด็นก็คือ ที่เราต้อง “จ่าย” ออกไปคืออะไรบ้าง เพียงแต่เงินเท่านั้นหรือ ทรัพยากรในแผ่นดิน ในผืนน้ำที่ใช้แลกเงินมาเล่า เราคิดถึงมั้ย ชาวนาคนหนึ่งต้องทำนากี่ไร่ กี่ปีให้มีเงินพอจ่ายค่า “คุณภาพชีวิต” เมื่อป่วย โรคบางโรคไม่รักษาก็หายเองได้ โรคหลายโรครักษายังไงก็ไม่กลับไปเป็น “ปกติ” อย่างที่เคย โรคกี่โรคที่อัดทั้งยา ผ่าก็แล้วแต่ก็ไม่หาย ตัวพี่เองเก๊กซิมจัดกับการมีเนื้อเยื่อโง่ๆกลุ่มหนึ่งในร่างกายไปโตในที่ๆมันไม่ควรจะโต แต่ช่างมันเพราะมันไม่ได้รบกวนอะไรนัก ลองไปเดินเล่นที่หอผู้ป่วยศัลยกรรม อายุรกรรม มีกี่คนที่มีก้อนเนื้อฉลาดๆ อยู่ในร่างกาย รู้จักอยู่ รู้จักออกแม่แผ่ลูกหลบยา หลบมีด เคยสงสัยกันมั้ยว่า...เค้าและครอบครัว...รู้สึกอย่างไร “เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วและยังคงอยู่”

ในขณะที่การเรียนวิชา health promotion ในเดือนที่ผ่านมา ตอบโจทย์เหล่านี้ว่าเพียง กินให้ดี ออกกำลังกายให้เหมาะสม โรคที่ยังไม่เกิด อาจจะไม่เกิด หรือเกิดช้ากว่าที่ควรจะเกิด โรคที่เกิดแล้วอาจจะชะลอการดำเนินโรคลงเมื่อเรากินให้ดี อยู่ให้ดี คงจะดีกว่าถ้าเราจะดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว ดูแลประชาชนของเราให้แข็งแรงแทนที่จะรอซ่อมเค้าเมื่อเค้าป่วย ความสำคัญของเราอาจจะลดลงไปเพราะไม่ป่วยก็ไม่ “จำเป็น” ต้องพึ่งหมอ แต่ก็น่าแลกกับการที่เราทุกคนไม่ต้องเป็นลูกไล่ผู้ผลิตเทคโนโลยีเพื่อการรักษานะ ...เห็นด้วยมั้ย...

การออกกำลังกายตอนเย็น ๆ นั้นเป็นกิจกรรมที่น่าเบื่อสุดๆ เพราะมันไม่ตรงกับความต้องการ ความชอบ จริต ของเรา ....จำความรู้สึกนี้ให้นาน...เมื่อไรที่ต้องให้คำแนะนำผู้ป่วยระลึกว่าเราเคยเบื่อ เคยไม่ชอบอย่างไร เอาไปใช้ว่าอย่าทำ อย่าให้คำแนะนำที่จะทำให้เค้ารู้สึกเบื่อและไม่อยากอย่างที่เราเคยรู้สึก

การวางโครงการเป็นแค่ ตัวอย่าง ของแบบฝึกหัด เราจะวางโครงการได้อย่างไรถ้าเราไม่เข้าใจถึงความสำคัญและความจำเป็นของปัญหาที่ต้องแก้ เราต้องทราบต้องมีอะไรบ้างเพื่อจะจัดโครงการของเราให้ประสบความสำเร็จ “เป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมาย” ถ้าเรายึดติดกับ “กระบวนการ” เราก็คงจะเป็นทุกข์อย่างที่เรารู้สึกกันอยู่ อยากให้เรา ปล่อยเงื่อนไขต่างๆ หรือความคาดหวังที่ผูกพันเรา เช่น ทำเพื่อเกรด เพื่อคะแนน หรือ เพื่อลำดับที่ แล้วให้เวลาเพื่อทบทวนเรื่องไร้สาระต่างๆ ที่เกิดขึ้น “ระหว่างกระบวนการ” บ้าง เกินจะเดาว่าแต่ละคนได้ “อะไร” บ้างจากการวางโครงการทั้ง 2 รอบ สำหรับพี่สิ่งที่มีค่าที่สุด คือตอนที่เต้มันหันมามองหน้าแล้วยิ้มทั้งปากทั้งตา ว่ามันทำได้ มันเปลี่ยนแปลง และมันดีขึ้น เป็นเรื่องไร้สาระที่พี่จะจำมากกว่าว่าพี่ได้ตัวอักษรอะไรมาจากการตัดเกรด จริงๆ แล้วตอนนี้พี่ก็จำไม่ได้ว่า คะแนน “ค่า” โครงการที่เรา vote กันมันเฉลี่ยออกมาเป็นเท่าไร

ทั้งหมดคือเรื่องไร้สาระที่สำคัญและจำเป็นในทัศนะของพี่ หากมันจะมีคุณค่าเพียงใด ขอให้น้องชั่ง ประมาณเอาด้วยตัวของน้องเองเถิด

เอ่อ...กลัวไฟแดงมันขึ้นอ่ะ เลยรีบมาตอบ ไปอ่านหนังสือก่อนนะ....ก็สำคัญและจำเป็นแหละ และไม่ได้เข้าข้างใครเลยนะ แต่อย่าถึงขนาดให้ไปสบถสาบานเลย


Posted by : Lucifer , Date : 2006-02-16 , Time : 18:05:14 , From IP : 172.29.4.127

ความคิดเห็นที่ : 4


   มันเป็นเรื่องของระบบการศึกษาอีกแล้วครับ

จะเล่าอะไรให้ฟังสักอย่างน่ะครับ

น้องสาวผมเรียนคณะเภสัช อยู่มหาลัยหนึ่ง เขาก็บ่นว่า วิชา public health เรียนเรื่องระบบสาธารณสุข ระบบประกันคุณภาพ การทำวิจัย จริยธรรมวิชาชีพ เขาเองก็ไม่ชอบวิชานี้ นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากเข้าเรียนวิชานี้ สอบก็ไม่ค่อยอ่านหนังสือ เพราะไม่เห็นความสำคัญ และเห็นความสำคัญของวิชา Pharmacology วิชา Pharmacotherapy มากกว่า และหวังว่าจะได้เกรดดีๆ มาง่ายๆ

แน่นอนครับ วิชาพวกนี้หากเป็นคนที่ทำงานแล้วมาเรียน อาจจะมองภาพได้ดีกว่า สนุกกับการเรียนได้มากกว่า

ผมเอง มองว่าวิชาพวกนี้ จะเรียนให้ได้ เกรด A มันยากครับ เพราะต้องอาศัยประสบการในการทำงานช่วยเหลือ แต่อันที่จะไม่เรียนเลย คงไม่เห็นด้วยเพราะเราควรรู้เรื่องพวกนี้เช่นกัน

เอาเป็นว่า เรียนไปเถอะสักวันจะเห็นคุณค่า ฝ่ายอาจารย์เองก็อย่าตัดเกรดให้โหดนัก เด้กจะได้มีกำลังใจ


Posted by : สมพร , E-mail : (sompon@hotmail.com) ,
Date : 2006-02-16 , Time : 18:45:15 , From IP : 61.7.158.132


ความคิดเห็นที่ : 5


   ก็เห็นด้วยกับเจ้าของกระทู้นะในประเด็น

"ผมเข้าใจครับว่าทางคณะหวังที่จะให้พวกเรา เป็นแพทย์ที่สมบูรณ์แบบ มีความสามารถพร้อมในทุกๆด้าน (แม้กระทั่งรำไทเก๊ก + เต้นโนราบิกเป็น) แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดผมว่าการเป็นแพทย์สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความรู้ที่เราจะไปรักษาคนไข้นะครับ ตรงนี้พวกเรายังอ่อนยวบยาบอยู่เลย
ความรู้เสริมประเภทการวางโครงการเป็น การออกกำลังกายแบบต่างๆเป็น มันสมควรจะเป็นสิ่งที่เสริมหลังจากพวกเราแข็งทางด้านวิชาการแล้วนะครับ "

วิชาการของเรายังอ่อนจริงๆนะ

และเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับข้อความ

"แต่นี่ถ้ามาลองวัดความรู้ทางด้านวิชาการของพวกเราดู ทางคณะอาจจะตกใจก็ได้ เพราะนอกจากเวลาเรียนในแต่ละ ward จะน้อยมากแล้ว เวลาสอบพวกเรายังต้องเสียเวลามานั่งอ่านโพยข้อสอบที่มีมูลค่าการซีรอคร่วม 300 บาทอีกด้วย "

โพย 300 บาทใน block med นั้นก็ซีรอคเอากันเกือบทุกคน หลายคนอาจเถียงว่าอ่านโพยก็ได้ความรู้เหมือนกัน แต่ผมขอเถียงคับ เพราะว่าหลายคนใช้วิธีการอ่านโพยโดย ถ้าเจอโจทย์ขึ้นต้นด้วย มีหญิงชราเจ็บข้อเท้าซ้ายและบวมที่ข้อเข่าซ้าย ให้ตอบแchoice SLE นะ ................เศร้าใจมั้ยคับ ผมโคตรเศร้าใจกับระบบโพยในคณะเราเลย

สุดท้ายก็เห็นด้วยกับผู้ตอบกระทู้นะครับ

"การออกกำลังกายตอนเย็น ๆ นั้นเป็นกิจกรรมที่น่าเบื่อสุดๆ เพราะมันไม่ตรงกับความต้องการ ความชอบ จริต ของเรา ....จำความรู้สึกนี้ให้นาน...เมื่อไรที่ต้องให้คำแนะนำผู้ป่วยระลึกว่าเราเคยเบื่อ เคยไม่ชอบอย่างไร เอาไปใช้ว่าอย่าทำ อย่าให้คำแนะนำที่จะทำให้เค้ารู้สึกเบื่อและไม่อยากอย่างที่เราเคยรู้สึก "

พี่อ้อมนี่ตอบกระทู้ไว้ลายจิงๆ

แต่ผมว่าประเด็นที่เจ้าของกระทู้ต้องการถ้าวิเคราะห์ดูแล้วนอกจากประเด็นว่า block นี้จำเป็นต้องมีมั้ยแล้ว ยังมีอีกประเด็นที่หลงไปนะครับ ก็คือ ประเด็นที่ว่าทางคณะเราให้ความสำคัญกับ block หลักๆน้อยไปมั้ย และไปให้ความสำคัญกับ block เสริมๆ มากเกินไปรึเปล่า????

เปิดประเด็นให้ครับ แต่อย่าใช้คำดุเดือดกันเลยนะ



Posted by : กินรวบ , Date : 2006-02-16 , Time : 19:34:08 , From IP : 203.209.104.144

ความคิดเห็นที่ : 6


   พูดตามตรงนะครับ พี่ก็เบื่อวิชานี้เหมือนกัน ตั้งแต่ปี 2-3 commed แล้วด้วย ความจริงวิชานี้น่าจะเอาความรู้ทาง medicine ที่เรียนมาไปประยุกต์ใช้ในทางที่เป็นรูปธรรมมากกว่า ที่ใช้ในชีวิตจริงอ่ะครับ ไม่ใช่ไปทำวิจัยที่สิ้นเปลืองโดยไร้ประโยชน์ประมาณมาก โดยสรุปคิดว่าไม่เคยได้ประโยชน์จากวิธีเหล่านี้น้อยมาก ตอน selective รพช ได้มากกว่านี้อีกและได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริงด้วยครับ

Posted by : chewa , Date : 2006-02-16 , Time : 20:02:41 , From IP : 172.29.4.57

ความคิดเห็นที่ : 7


   คนมีโพยมากก็ยอมเก่งมาก

Posted by : chewa , Date : 2006-02-16 , Time : 20:09:04 , From IP : 172.29.4.57

ความคิดเห็นที่ : 8


   อ้าว เกรดออกแล้วเหรอ
แต่เราว่า block นี้ให้อะไรกลับมาไม่น้อยนะ ในฐานะที่จะจบเป็นแพทย์ต่อไป เหมือนเป็นการเปิดให้รู้ว่า จะจบเป็นหมอที่ดี แค่ความรู้ MED ศัลย์ และอีกต่างๆอาจจะไม่พอด้วยซ้ำ เป็นอีกblock ที่เรียนแล้วมีความสุขค่ะ


Posted by : ปิดเทอมแสนสุข , E-mail : (-) ,
Date : 2006-02-16 , Time : 22:53:33 , From IP : p1141-adslbkkct1.C.c


ความคิดเห็นที่ : 9


   Block นี้สอนว่าการจะให้ประชาชนทำอะไรนั้นต้องทำให้เขามีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องนั้นก่อนแต่ผมคิดว่าการที่มีคนตกมากและเกรดอยู่ในเกณฑ์ต่ำนั้นจะทำให้นักศึกษามีทัศนคติที่ไม่ดีต่อรายวิชานี้ ผมกลัวว่าระยะเวลาที่เราอุตส่าห์เรียนมาตั้งนานเพื่อให้นักศึกษาเรารักและเห็นความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพจะเสียเปล่า ด้วยการตัดเกรดที่มองตามหลักสถิติมิได้มองโดยองค์รวม

Posted by : นักศึกษาที่มีเพื่อนตก , Date : 2006-02-17 , Time : 00:05:25 , From IP : 172.29.4.59

ความคิดเห็นที่ : 10


   น้องตกกันกี่คนเหรอครับ? ที่ว่ารับไม่ได้ ได้ a กี่คน ได้ b กี่คนทราบข้อมูลของทั้งชั้นปีไหมครับ พี่อยากทราบข้อมูลอ่าครับจะได้ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ถูก เพราะถ้าตกกันประมาณ 4-5 คนพี่ว่าวิชาอื่นๆก็มีคนตกกันประมาณนี้มาตลอด จึงไม่น่าเป็นปัญหาที่ระบบการตัดเกรดของรายวิชานี้อ่ะครับ อยากให้ลงรายละเอียดให้ ถารายวิชานี้ตัดเกรดอย่างไม่เป็นธรรมกับนศพ พี่ว่าเรามีสิทธิเรียกร้องอย่างเป็นทางการได้นะครับ ถึงจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แต่อย่างน้อยก็อาจมีประโยชน์สำหรับน้องๆ ปีหน้าได้ครับ

Posted by : รุ่นพี่ , Date : 2006-02-17 , Time : 00:34:07 , From IP : 172.29.4.225

ความคิดเห็นที่ : 11


   นักศึกษาแพทย์ของเราอ่อนวิชาการจริงๆ อ่อนทั้งด้านความรู้และทัศนคติ เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ได้อ่านกระทู้เริ่มต้นในครั้งนี้
นักศึกษาส่วนใหญ่ให้ความสำคัญรายวิชานี้น้อยมาก ในขณะที่จบไปแล้วอาชีพแพทย์ต้องให้ความสำคัญกับวิชานี้
เนื้อหาน่าสนใจหรือไม่
ข้อสอบยากไปหรือไม่
ตัดเกรดโหดไปหรือไม่
ก่อนอื่นจงพิจารณาว่า
1. พวกเราได้เข้าเรียนในวิชานี้มากน้อยเพียงใด
2. ได้ศึกษารายวิชานี้มากน้อยเพียงใด
3. จากการอ่านกระทู้ก็ไม่แปลกใจหากนักศึกษาจะได้คะแนนรายวิชานี้ไม่ดีนัก
แต่ข้อเท็จจริงของการสอบของรายวิชานี้
1. ข้อสอบเป็นประเภทอัตนัย
2. สามารถเปิดหนังสืออ่านได้ (open book examination)
3. ข้อสอบออกเชิงวิเคราะห์
4. ข้อสอบมีทั้งหมด 9 ข้อ แต่ละข้อมีคนได้เต็ม และคะแนนเฉลี่ยแต่ละข้อสูงกว่าร้อยละ 60 คะแนนเฉลี่ยทุกข้อสูงกว่า ร้อยละ 60 ในขณะที่เกณฑ์ผ่านคือ ร้อยละ 50 นักศึกษาที่สอบไม่ผ่านคือคนที่ไม่ตอบบางข้อและส่งกระดาษเปล่าซึงหมายความว่าไม่รู้เรื่องเลย ในขณะที่คนส่วนใหญ่ตอบได้



Posted by : help and heal , Date : 2006-02-17 , Time : 01:39:23 , From IP : 172.29.7.180

ความคิดเห็นที่ : 12


   ความรู้ที่ว่าที่บัณฑิตแพทย์เรียนไปนั้น ประโยชน์สูงสุดควรตกอยู่ที่ผู้ป่วย มาเริ่มกันตรงนี้ก่อน

การเรียนแพทย์ วัตถุประสงค์หลักมุ่งที่การบริการให้แก่ "ผู้อื่น" และในปัจจุบันแผนสาธารณสุขระดับครอบครัว ชุมชน ประเทศนั้น ทั่วโลกใช้ "สร้างนำซ่อม" ไม่ใช่ "มาซ่อมกันเถอะ รักษาได้ทุกโรค" ถ้าจะมีวิธีอะไรที่ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี ไม่ต้องมาพบแพทย์ หรือมาพบก็มาแต่เนิ่นๆ หรือมารักษาแล้วกลับไปเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตจะได้ไม่เป็นซ้ำ เอาคำแนะนำไปปลูกฝังให้ลูกหลานต่อๆไปได้อีก สาธารณสุขของประเทศมันถึงจะ survive

คำถามที่ว่า "Health Promotion" มีสาระอะไร สำคัญอย่างไรต่อการเป็นแพทย์ ถ้าไม่เข้าใจ ก็ออกจะน่าเสียดายที่ไม่ได้ถาม ไม่ได้อภิปรายกันตอนเรียน 5 อาทิตย์ แต่สู้อดทนเรียนโดยไม่เห็นความสำคัญมาโดยตลอด ตรงนี้ก็ควรจะวิเคราะห์ว่ามีอะไรที่จะปรับปรุงได้หรือไม่ ทำไมกว่าครึ่งของชั้นปีถึงทำคะแนนเกิน 60% ทำไมบางคนจึงทำได้ไม่ถึง 10 คะแนน หรือ 0 จาก 100 ใน 1 ข้อ

การเรียน block นี้ รวมทั้งกิจกรรม มีช่วงที่จะอภิปรายทำความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถึงเหตุผล หลักการ และ "สาระสำคัญ" ของบทเรียนมากมายหลายช่วง เราได้ใช้เวลาเหล่านั้นเป็นประโยชน์อย่างเต็มที่หรือไม่? ถ้ากว่า 80-90% เห็นว่า health promotion เป็นเรื่องไร้สาระ ผมคงจะพลาดประเด็นนี้ตอน feedback ไปรึเปล่า? หรือว่าตอนนั้นมันเป็นการ feedback แบบเปิดใจ เปิดหน้าตา เกือบทั้ง class จึงไม่ได้ให้ข้อมูลเบื้องลึกแก่ block แต่ก็ต้องย้อนกลับไปใหม่ว่า ที่ claim 80-90% นั้นเป็น "คิดว่า" หรือว่า "รู้ว่า" อย่างที่เราเคยพูดกันมาหลายครั้ง

ผมคิดว่าคะแนนดิบนั้นมีอยู่นะครับ ถ้าชั้นปีต้องการขอดูหลักการตัดเกรด เทียบกับคะแนนก็น่าจะได้ ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกนิดนึง เท่าที่เคยมีส่วนร่วมในการตัดเกรดมาก็หลายครั้ง อาจารย์ตัดเกรดด้วยความเมตตาและ leniency อย่างยิ่ง อะไรช่วยได้ ปัดได้ก็ช่วยอย่างเต็มที่ คะแนน attitude ไม่ผ่านก็หักเฉพาะกิจกรรมนั้นๆ ไม่ได้หักทั้งหมด ถ้าต้องการตัดเกรดโดยตามหลักการ restrict ของศึกษาศาสตร์ทุก block ผมคิดว่าคะแนนจะลด "ความเฟ้อ" ลงทีเดียว โดยส่วนตัวก็อยากเห็นอย่างนั้นอยู่เหมือนกัน

สอบซ่อมจะเป็นการสอบข้อสอบ learning objective เดิมที่ไม่ผ่าน เปิดหนังสือได้ เวลาเท่าเดิม ลองปรึกษาเพื่อนร่วม class คนที่ได้คะแนนเกิน 60% (ซึ่งมีมากกว่าครึ่งชั้น) ว่าเขาวิเคราะห์มาได้อย่างไร ตอบมาได้อย่างไร ใครที่ไม่เข้าใจสาระความสำคัญของวิชานี้ จะมาปรึกษาพูดคุยกับอาจารย์ หรือคุยกับเพื่อนก็ได้

แพทย์ที่สังคมต้องการนั้น คือคนที่ช่วยให้พวกเขาไม่เจ็บไข้ได้ป่วย มากกว่าคนที่จะมาซ่อมเขาทีหลัง ลองพิจารณาเรื่องนี้ดูดีๆ



Posted by : Phoenix , Date : 2006-02-17 , Time : 02:25:10 , From IP : 172.29.7.204

ความคิดเห็นที่ : 13


    คิดว่าการทำข้อสอบในครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีผลมากๆที่จะทำให้ทำข้อสอบได้หรือไม่เป็นเรื่องของเวลาที่น้อยมากจริงๆอย่างที่ได้ feedback กันไปแล้ว เชื่อว่าถ้าให้เวลามากกว่านี้1-2ชั่วโมง จะมีคนตกน้อยมาก หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ ข้อสอบที่บอกว่าส่งกระดาษเปล่านั้นคงไม่ใช่เป็นการทำไม่ได้แน่นอน ข้อสอบทุกข้อที่ออกมานั้น เป็น open book ถ้ามีเวลาพอไม่มีนักศึกษาแพทย์คนไหนหรอกที่จะส่งกระดาษเปล่า แต่เป็นเพราะยังไม่ได้อ่านโจทย์เลยมากกว่า จริงอยู่ว่าเป็นความผิดของผู้สอบเองว่าไม่รู้จักแบ่งเวลาให้ดี หรือกรรมการออกข้อสอบอาจจะคิดว่าถ้าให้ทำข้อสอบในเวลาจำกัดอาจจะวัดอะไรได้มากกว่า อันนี้ก็ไม่ทราบได้
แต่เท่าที่มองดูเนี่ย คนที่ตกที่รู้เนี่ย ก็ไม่เห็นจะเป็นคนที่ไม่รู้เรื่อง ไม่ใส่ใจที่จะเรียนรู้ในวิชานี้เลย ส่วนคนที่ผ่านเนี่ย บางคนก็แทบไม่เคยเข้าเรียนเลย คนที่รู้สึกว่ามีทัศนะคติต่อวิชานี้ดีที่สุดเนี่ยก็อยู่ในกลุ่มที่ตกด้วยซ้ำ ก็เลยรู้สึกสงสารเพื่อนที่ตกน่ะ ยังไงๆ ต้องตก ต้องสอบซ่อมแล้ว ก็ไม่อยากให้เข้าใจผิดเลยว่าเป็นกลุ่มคนที่หันหลังให้วิชานี้ สมควรแล้วที่ต้องตก


Posted by : เกรดไม่เห็นจะบอกอะไรเลย , Date : 2006-02-17 , Time : 14:17:44 , From IP : 203.113.16.241

ความคิดเห็นที่ : 14


   เห็นด้วยกับผู้ตอบกระทู้ก่อนหน้านี้มากๆ ของคุณ "เกรดไม่เห็นจะบอกอะไรเลย"

แต่เท่าที่มองดูเนี่ย คนที่ตกที่รู้เนี่ย ก็ไม่เห็นจะเป็นคนที่ไม่รู้เรื่อง ไม่ใส่ใจที่จะเรียนรู้ในวิชานี้เลย ส่วนคนที่ผ่านเนี่ย บางคนก็แทบไม่เคยเข้าเรียนเลย คนที่รู้สึกว่ามีทัศนะคติต่อวิชานี้ดีที่สุดเนี่ยก็อยู่ในกลุ่มที่ตกด้วยซ้ำ ก็เลยรู้สึกสงสารเพื่อนที่ตกน่ะ ยังไงๆ ต้องตก ต้องสอบซ่อมแล้ว ก็ไม่อยากให้เข้าใจผิดเลยว่าเป็นกลุ่มคนที่หันหลังให้วิชานี้ สมควรแล้วที่ต้องตก


จำนวนคนที่ตกทั้งหมด 13 คน ดูๆแล้วเข้าเรียนมากกว่าคนสอบผ่านหลายขุมนัก ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน แต่ละคนก็ดูท่าทางฝอยข้อสอบเก่งๆทั้งนั้น เลยไม่รู้เหมือนกันว่าใช้เกณฑ์อะไรในการตัดคะแนน ......... เห็นใจเพื่อนๆครับไม่ใช่อะไร

ก็คงต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ที่ตกเป็น heath pro รอบแรก ก็อย่างที่รู้ๆกันว่าเพราะอะไร ต่อไปปี 5 จะทำอะไรก็คงต้องคิดให้ดีก่อนล่ะคับ จะได้ไม่ซ้ำรอยฉาวๆแบบตอนใกล้สอบแต่ละ block ในปี 4

(อาจารย์ก็น่าจะเปลี่ยนข้อสอบบ้างนะครับ เพราะตอนนี้โพยมันได้กลายไปเป็นวัฒนธรรมการส่งเสริมความโง่ประจำคณะไปซะแล้ว........ต้องซีรอคโพยมูลค่า 300บาท ไม่ธรรมดาจริงจริ๊งงงนะ)


Posted by : เจ้าเก่า , Date : 2006-02-17 , Time : 14:39:59 , From IP : 203.209.97.57

ความคิดเห็นที่ : 15


   ผมรับรองได้ว่าอาจารย์จะไม่แปลผลเกินกว่าที่สามารถจะแปลได้แน่นอนครับ ส่วนหนึ่งของการทำข้อสอบอัตนัยไม่ผ่านนั้น ตัวผมเองเชื่อว่าเป็นด้านเทคนิกก็มีส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับเจตคติอะไรนั้น (ซึ่งประเมินในอีกรายวิชาครับ)

บางข้อสอบอัตนัยที่เขียนมา โจทย์ถาม 3 คำถาม แต่ตอบแค่คำถามเดียวมาสามสี่หน้ากระดาษ คะแนนมันก็ยังไงๆก็ได้แค่หนึ่งในสาม บางคำถามตอบแค่สี่ห้าบรรทัดก็ครอบคลุม ได้เต็ม 100 คะแนน เมื่อเปรียบเทียบกับที่ใช้พลังงานไป มีมากมายหลาย papers ที่สิ้นเปลืองพลังงานโดยไม่ได้คะแนน ไม่ได้เป็นแค่ข้อใดข้อหนึ่งด้วย แต่อาจารย์ที่ช่วยกันตรวจข้อสอบพบว่า การจับประเด็น เป็นจุดอ่อนที่สำคัญมากของนักศึกษาเรา อาจจะเป็นเพราะคุ้นเคยกับการทำข้อสอบปรนัยมากเกินไปรึเปล่าคงต้องมามองย้อนหลัง

Key การให้คะแนนข้อสอบอัตนัยนั้น ถูกตั้งไว้ก่อนตรวจแล้ว และแบ่งสัดส่วนชัดเจนว่าคำถามไหนได้เต็มกี่คะแนน เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ นักศึกษาควรจะหา key words ให้ดีว่าเขาถาม definition หรือว่าให้ยกตัวอย่าง หรือว่าให้วิเคราะห์ ถ้าเราให้ definition ไปหน้าหนึ่งสำหรับโจทย์ที่ให้ยกตัวอย่าง คำถามนั้นก็ได้ 0 คะแนน เสียเวลาไป 15 นาทีได้ศูนย์คะแนนก็เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

คำถามเชิงอัตนัยนั้นเป็นคำถามที่ตรวจสอบ "ความเข้าใจ" ในระดับวิเคราะห์ได้ดีที่สุด ซึ่งปรนัยหรือ choice นั้นทำไม่ได้เลย สำหรับรายวิชาส่วนใหญ่แล้วระดับความเข้าใจสำคัญมากกว่าพวก definition หรือ ตัวอย่าง(ที่อาจจะถูกยกมาตอน lecture แล้วจำมาตอบโดยยังไม่เข้าใจ) ดังนั้นใน MEQ CRQ short essay นั้น ก็ยังมีเกรดตามลักษณะคำถามว่าตรวจสอบ cognition ระดับลึกแค่ไหน

ข้อสอบ FRCS ที่อังกฤษของศัลย์นั้น เขาถามสั้นๆเช่น จงอธิบาย pancreatic enzyme แล้วให้กระดาษคำตอบมาเล่มหนึ่งประมาณ 30-40 แผ่น อาจารย์ของเราท่านนึงที่เคยไปเรียนที่นั่นมาเล่าให้ฟังว่า ท่านเขียนไปชั่วโมงได้ไม่กี่หน้า ไอ้ฝรั่งที่นั่งข้างๆมันไปขอกระดาษเพิ่ม!!! ต่อมาถึงรู้ว่ามันเรียนสอบแบบเขียน essay มาตั้งแต่เล็ก หัดมีความคิดรวบยอด ตอบแบบตรงประเด็น จัด structure ของกระบวนความคิดแล้ว elaborate ออกมาได้ communication skill มันจึงดีมาก พวกที่ทำเป็นแต่ choice แต่ปรนัยนี้ แทบจะไม่ได้ฝึก communication skill หรือความสามารถในการถ่ายทอดความคิดเลย ความสามรถในการรับรู้ จัดกลุ่มข้อมูลที่ได้รับก็พลอยไม่ได้ฝึกไปด้วย ฟังโจทย์ ฟังอะไร key words key questions มันหายหกตกหล่นไปหมด

แต่ยังคิดว่า "เจตคติ" ต่อรายวิชานี้ยังสำคัญอยู่นะครับ ยังไงตัวเราเองแหละครับที่ทราบว่าเราเข้าใจมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าถึงขนาดสรุปว่า health promotion ไม่มีสาระละก็ คงจะไปลำบากในหลักสูตรแพทยศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นสถาบันไหน ประเทศไหน



Posted by : Phoenix , Date : 2006-02-17 , Time : 14:54:35 , From IP : 172.29.3.96

ความคิดเห็นที่ : 16


   เอาเป็นว่า ให้เจ้าของกระทูเข้ามาระบายก็แล้วกันนะครับ แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนจะออกไป อยากให้สิ่งที่พี่ๆหรืออาจารย์เขียนบอก จุดประกาย หรือเป็นสิ่งเริ่มต้นมุมมองใหม่ๆ ต่อวิชานี้นะครับ ^_____^

Posted by : Araidee , Date : 2006-02-17 , Time : 16:32:57 , From IP : 172.29.1.178

ความคิดเห็นที่ : 17


   อยากขอออกความเห็นในฐานะที่เป็นคนธรรมดา ไม่ใช่แพทย์ และไม่ใช่นักศึกษาแพทย์ แต่เป็นเจ้าหน้าที่ธรรมดา ๆ คนหนึ่งและเป็นผู้รับบริการจากคุณ และโรงพยาบาล
คุณรุ้ไหมสิ่งคนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการสาธารณสุขต้องการ ทางด้านสุขภาพคือ ความไม่เจ็บป่วย อย่างคำกล่าวว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เราต้องการอย่างนี้จริง ๆ การที่เราเจ็บป่วยแล้วต้องไปโรงพยาบาลจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย เพราะอะไรหรือ เพราะไป รพ.แล้วรอนาน ไม่ต่ำกว่า 2 ชม พบพยาบาลบางท่านที่หน้าตาเหมือนไม่เคยยิ้มมาเลยตลอดชีวิต พบแพทย์ (บางคนก็ดูเหมือนหุ่นยนต์ที่มีหน้าที่ตรวจให้เสร็จ ๆ ไป) แค่ 2-3 นาที พบเจ้าหน้าที่ที่จ่ายเงินหน้าตาก็เหมือนพยาบาลที่ว่า ต้องหยุดงาน ต้องเดินทาง เสียเวลาบางรายมาจากต่างจังหวัดที่ไกล ๆ มันไม่คุ้มหรอกนะ
ปัญหาส่วนใหญ่ที่ผู้มีความรู้ออกมาวิจารณ์กันถึงการแก้ปัญหาว่าควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อย่าแก้ที่ปลายเหตุก็ทำนองเดียวกันนี่แหละ
รู้มั๊ยว่าถ้าเลือกได้เราขอมีความรู้ในการป้องกันที่ไม่ให้เจ็บป่วยดีกว่า ได้อ่านที่คุณ นศพ.เล่า ๆ มา เหมือนกับวิชานี้เป็นวิชาพื้นฐานที่แพทย์ต้องเรียนรู้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว คิดว่าคน 60 กว่าล้าน มีไม่มากเท่าไรที่เป็นโรคที่ต้องใช้การรักษาสลับซับซ้อน คิดว่าส่วนใหญ่คงเป็นโรคพื้นฐานนี่แหละ อย่าง ความดัน เบาหวาน ท้องร่วง ปวดหัว ตัวร้อน ถ้าหมอมีแต่สายรักษาโรคเฉพาะ แล้วคนป่วยส่วนใหญ่ล่ะ อย่างเรามีความรู้ด้านสาธารณสุขก็ตอนที่เรียนชั้นประถม มัธยมโน่นแหละ และปัจจุบันแทบจะไม่เหลือความรู้นั้นอยู่เลย
คนธรรมดาไม่รู้วิธีปฏิบัติตัว หรือวิธีการป้องกันที่ดีที่จะไม่ให้เป็นโรคพวกนี้ อย่างเบาหวานเรารู้แค่ว่าเป็นพันธุกรรม และไม่ควรกินของหวาน ความดันไม่ควรกินของมัน ของเค็ม แค่นั้นจริง ๆ
ถ้าหากขอได้นะ อยากให้รัฐแจกคู่มือแก่ทุกบ้าน คนเกิดมารัฐควรให้คู่มือการดูแลสุขภาพเบื้องต้นมาเลย เช่น คู่มือเลี้ยงดูเด็กให้ถูกต้อง การเลี้ยงลูกเมื่อเป็นวัยรุ่น การดูแลคนชราในครอบครัว และที่สำคัญการป้องกันการเกิดโรคและการปฎิบัติตัวเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคสามัญดังกล่าว
ในฐานะที่เราไม่มีความรู้ด้านสาธารณสุขพวกนี้ คุณรู้มั๊ยคำว่า แพทย์ กับ คำว่าหมอในความรู้สึกเรามันต่างกันนะ คำว่าแพทย์เรามีความรู้สึกว่าเขารักษาแค่ตัวชื่อโรคของเราตามหน้าที่ของเขา แต่คำว่าหมอมันฟังแล้วอบอุ่น มีความหวังว่าเขาจะช่วยเราได้ เหมือนกับจะเด็ดเอาความเจ็บป่วยของเราออกไปได้ อย่างคุณ phoenix อ่านข้อความแล้วคงเป็นคุณหมอ
สำหรับเรื่องการเรียนคิดว่าผลออกมาอย่างไรไม่สำคัญ สำคัญที่ตัวคุณเองว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับอาชีพของคุณในอนาคต คุณมุ่งมั่น คุณเรียนรู้ด้วยใจจริง IQ แต่ละคนไม่เท่ากันนะ แต่ขอให้มี EQ ที่เหนือกว่าคุณก็คือผู้เก่งกล้า
อย่างไรก็ขอขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคุณ นศพ.ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ที่ happy กับการเรียนวิชานี้นะ ชาวบ้านอย่างเราต้องการ คุณหมออย่างคุณด้วยใจจริง ขอเรียกคุณว่า คุณหมอไว้ล่วงหน้านะ



Posted by : ไม่ใช่แพทย์ไม่ใช่ นศพ. , Date : 2006-02-17 , Time : 17:38:44 , From IP : 172.29.3.100

ความคิดเห็นที่ : 18


   เจ็บนี้อีกนาน

Posted by : นักการ , Date : 2006-02-18 , Time : 00:28:36 , From IP : 172.29.7.211

ความคิดเห็นที่ : 19


   โดนไปหนึ่งเม็ด ปัง!!!

แต่คุณ"ไม่ใช่แพทย์ไม่ใช่ นศพ."จะมารักษากับคุณหมอที่รักษาไม่ถูกทำไม่เป็นไหมล่ะ?
ถ้าคุณมาเรียนแล้วคุณจะรู้ครับ ให้ไปเต้นอะไรน่ะ ไม่เกี่ยวแป๊ะอะไรเลย


Posted by : คนไร้หน้ากาก , Date : 2006-02-18 , Time : 12:33:54 , From IP : 172.29.4.189

ความคิดเห็นที่ : 20


   มันเป็น All or None อย่างที่คุณคนไร้หน้ากากว่ามารึเปล่า ก็คงจะเป็นโจทย์ที่ดีในการคิด

เราสามารถเป็นทั้ง "แพทย์" และ "หมอ" (ตามนิยามของคุณ "ไม่ใช่แพทย์ ไม่ใช่ นศพ.) ได้หรือไม่? ให้คำแนะนำป้องกันโรค ให้มีสุขภาพแข็งแรง แล้วก็ "สามารถ" รักษาโรคธรรมดาๆที่ประชาชนส่วนใหญ่เขาเป็นกันได้หรือไม่ (ไม่นับ case ที่พวก post-graduate เขาเรียนกันนะครับ)

เคยมีรุ่นน้องหมอบอกว่า ขอเรียนพวกวิชาสังคมศาสตร์ (Ethics เป็นวิชาสังคมศาสตร์ด้วยนะครับ) แค่ตอนปีหนึ่งได้ไหม ที่เหลือขอเรียน "วิชาสำหรับหมอจริงๆ" ก็พอ ฟังแล้วหนักใจครับ

เป้าหมายของวิชาชีพ เราคืออะไรกันแน่? expert ทางด้าน bio หรือว่าคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน? เรื่องราวที่เราจะเรียนรู้นั้น มันมีมิติด้านลึกอยู่ทั้งสิ้น ถ้าเราสามารถสัมผัสได้ เรียนรู้ได้แค่ face value คงจะยากที่จะเข้าใจว่าอะไรคือคุณภาพชีวิต อะไรคือสิ่งที่ผป.กำลังคาดหวังจากการมาพบแพทย์ที่ OPD ที่ clinic การขาดความเข้าใจตรงนี้ ที่สุดก็นำไปสู่การฟ้องร้อง เพื่อจะได้ใช้กฏหมายที่อ่านแล้วแปลตามตัวอักษรไปอีก เป็นวงจรอุบาทว์

การจะปลูกเจตคตินั้นใช้เวลาครับ เหมือนอย่างเราจะจีบใครสักคน ถ้สจีบเพราะรูปร่างหน้าตา มันคงจะอยู่ได้ไม่ถาวร พอเข้าไปใกล้ชิดขึ้นเราจะรู้ว่าสวยหล่อแต่รูปนั้นมีเยอะ รับรองได้อย่างนึงคือตามทฤษฎีการศึกษานั้น หากขาดฉันทาไปแล้ว ยากที่เราจะดูดซึมอะไร เรียนรู้อะไรได้ ไม่สนใจ health promotion คุณก็จบออกมาเป็นช่างซ่อมเท่านั้น จะซ่อมได้ลึกซึ้งยังไง เฉพาะทางยังไง ก็จะไม่เคยเข้าใจว่า "ซ่อมไปเพื่อใคร ซ่อมไปเพื่ออะไร" รู้แต่ว่าซ่อมเป็นก็เลยทำอาชีพซ่อม



Posted by : Phoenix , Date : 2006-02-18 , Time : 16:16:26 , From IP : 203-118-113-73.stati

ความคิดเห็นที่ : 21


   HP เป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจ อันนี้แน่นอนที่สุดครับ เป็นความจริงที่เราต้องยอมรับ

ผมเองรู้สึกว่าโชคดีที่ออกไป selective ก่อนเรียน HP ทำให้ได้เห็นความสำคัญของ HP ที่ รพ.ชุมชน และเป็นหัวข้อหลักที่ รพ.ชุมชนที่ผมไปเกือบไม่ผ่าน HA เพราะไม่ได้ HP ในชุมชนเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ รพ.มีระบบให้บริการและการรักษาที่ดีเยี่ยม

ขอวิเคราะห์นิดนึง ในประเด็นหัวข้อกระทู้ น่าคิดว่า "การปลูกเจตคติ" ของคณะให้พวกเราๆ สนใจ HP ถ้าไม่มี "คะแนน" หรือ "เกรด" มาเป็นสิ่งเร้า จะมีใครเหลียวมาสนใจบ้าง มันก็คงคล้ายๆ วิชา ethics ที่หลายคนคิดว่า เรียนไปทำไม เรียนแล้วได้อะไร สู้เอาเวลามาสนใจเนื้อหาวิชารักษาคนไข้ดีกว่า

อันนี้คงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ให้เขา คาดหวังว่า วิชานี้น่าจะผ่านได้อย่างสบาย เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องความคิดเห็น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ process of thought ยังไม่เข้าเป้า แต่เชื่อแน่ว่า ทุกคนที่ผ่าน block นี้แม้สนใจบ้างไม่สนใจบ้าง ก็น่าจะได้อะไรติดไม้ติดมือไปบ้าง จากการที่ฟังเพื่อนๆ feedback ไปแล้ว

อย่างน้อยก็เป็นอะไรที่ติดหูว่า DALY = YLL+YLD (โปรดอย่าถามเรื่องคำนวณ)


Posted by : MR.mos , Date : 2006-02-18 , Time : 16:41:58 , From IP : p66-lirnrtmt1.S.cslo

ความคิดเห็นที่ : 22


   ~มีนิทานเรื่องหนึ่ง~
ผมหิวข้าวสุดๆ มีตังอยู่20บาท
ผมหันไปเห็นก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่งเขียนป้ายว่าถ้วยละ20บาท ผมจึงเดินเข้าร้านนั้นไป
ผมสั่งก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กน้ำไปถ้วยหนึ่ง
ผมนั่งรอด้วยความหิวโหย และแล้วก๋วยเตี๋ยวก็มา
ในถ้วยก๋วยเตี๋ยวนั้น...
ผมพบว่าเจ้าของร้านได้ใส่ อัลมอนด์ ขิง สะคร้าน เจตมูลเพลิง ชะพลู กล้วยหอม แตงโม ลำใย มาด้วย แต่เส้นเล็ก ลูกชิ้น และเนื้อน้อยจัง
ผมก็งงๆ เอ๊ะมันใส่มาทำไมหว่าแล้วทำไมเส้นกับเนื้อมันน้อยนัก เลยหันไปถามเจ้าของร้าน ว่าไหงงี้ละ ลุง!!!
เจ้าของร้านก็บอกว่า กินๆไปเหอะ มีประโยชน์ทั้งนั้น อยากได้เส้นกับเนื้อค่อยไปหากินเอาเองที่อื่น
แต่ผมตังหมดแล้วผมเลยต้องจำใจกินไปอย่างั้นแหละ
~จบนิทาน~


Posted by : ก๋วยเตี๋ยวแถมออฟชั่น , Date : 2006-02-18 , Time : 17:47:50 , From IP : 172.29.4.189

ความคิดเห็นที่ : 23


   ผมนึกว่าจะจบตอนพอเงยหน้าขึ้น ก็พึ่งสังเกตเห็นว่ามีป้ายข้างฝาเขียนบอกว่าก๋วยเตี๋ยวร้านนี้ใส่อะไรบ้างซะอีก

เรื่องความ "คาดหวัง" นี้น่าสนใจ เพราะสองอย่างที่อาจจะตามมาคือ "สมหวัง" กับ "ผิดหวัง" ไม่ว่าจะมีส่วนของ "แปลกใจ" ปนหรือไม่ก็ตาม

เวลาที่เราจะ "ลงทุน" ทำอะไรซักอย่างนึง เช่น วันหยุดยาว 5 วันนี้ทำอะไรดี ปิดเทอมใหญ่ 2 เดือนทำอะไรดี ใช้ทุน 3 ปีข้างหน้าทำที่ไหนดี จะแต่งงานกับใครดี ก็จะมีการเตรียมตัวต่างกันตามความสำคัญของ "สาระ" นั้นๆ สิ่งที่เราต้อง "ลงทุน" ลงไป ต้อง "ลงแรง" ลงไป ฯลฯ

บางทีเราก็ยอมจ่ายตังค์เพื่อซื้อความแปลกใจก็มี แต่คงไม่บ่อย และคงไม่ "ลอง" อะไรสักอย่างที่ต้องทุ่มเทเวลา 5 ปี ติดเงิน ติดทุนอีก 3 ปีสำหรับอะไรก็ไม่รู้ (ถึงแม้จะไม่ใช่เงินเราเอง ก็เงินของบุพการีของเรา มาโปะกับเงินภาษีประชาชนที่ส่งให้เรียน) ยังไงๆ มันก็เป็น 6 ปีของชีวิตเรา ซึ่งเป็นเวลาไม่น้อย จะคิดเตรียมการให้ลวกๆเหมือนซื้อก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่ง หรือคิดเตรียมการศึกษาข้อมูลสักเดือนนึง ก็คงจะแล้วแต่ style การจัดการชีวิตของแต่ละคน แล้วแต่ความ maturity ของแต่ละคน

งานของอาชีพที่พวกว่าที่บัณฑิตแพทย์จะทำนั้น มันไม่ได้ serve ความคาดหวังของตัวคุณเอง ของพ่อแม่คนส่งเสียคุณเท่านั้นหรอกนะครับ มันมีความคาดหวังของชาวบ้านอีกมากมาย ที่ทุกคนเดินเข้ามาหาที่ OPD ที่ clinic อยากจะให้พวกคุณช่วยเหลือ บางทีถ้าการเตรียมตัวเรียนแพทย์ มันเป็นเหตุการณ์บังเอิญที่ทำตอน hypoglycemia หรือตอนกำลังเมาอยู่ อะไรๆมันก็อาจจะออกมาไม่ตรงตามที่ตั้งใจไว้ ไม่ว่าจะของฝ่ายไหนก็ตาม



Posted by : Phoenix , Date : 2006-02-18 , Time : 18:38:57 , From IP : 203-118-113-129.stat

ความคิดเห็นที่ : 24


   อิทธิพลของเรื่องราวดีๆ ในสัปดาห์แห่งความรักหรือคะ
เดี๋ยว "จีบใครสักคน" อีกเดี๋ยวก็ "จะแต่งงานกับใครดี"

ได้โปรด.....อย่าเอาเรื่องเอาราวอะไรกับหนูเลยนะคะอาจารย์
หนูจะสอบซ่อมอยู่วันจันทร์นี้แล้ว

^ ^"


Posted by : Lucifer , Date : 2006-02-18 , Time : 19:05:46 , From IP : 172.29.4.127

ความคิดเห็นที่ : 25


   "เคยมีรุ่นน้องหมอบอกว่า ขอเรียนพวกวิชาสังคมศาสตร์ (Ethics เป็นวิชาสังคมศาสตร์ด้วยนะครับ) แค่ตอนปีหนึ่งได้ไหม ที่เหลือขอเรียน "วิชาสำหรับหมอจริงๆ" ก็พอ ฟังแล้วหนักใจครับ "

เดี๋ยวคะแนนสอบ NT ออกมาจะหนักใจกว่านี้ครับ เฮอๆๆๆๆๆ
(ไม่มี comment สำหรับหัวข้อกระทู้นี้หรอกครับ เข้ามาสังเกตุการณ์เฉยๆ)


Posted by : DogTor , Date : 2006-02-18 , Time : 19:11:21 , From IP : 172.29.4.134

ความคิดเห็นที่ : 26


   ผมคิดว่าไม่ว่าผลสอบ NT จะออกมาอย่างไร จะเป็นตกกราวรูด หรือต่อให้ได้ top ของประเทศ ไม่มีอันไหนที่จะทำให้ผมหนักใจเท่ากับการที่นักศึกษาแพทย์คิดว่าจริยศาสตร์"ไม่"รวมอยู่ในวิชาที่ "ทำให้เขาเป็นหมอ" ได้หรอกครับ



Posted by : Phoenix , Date : 2006-02-18 , Time : 19:57:53 , From IP : 203-118-113-172.stat

ความคิดเห็นที่ : 27


   "Health Promotion" is need for all Healthcare provider


Posted by : ็ำHealthcare provider , E-mail : (-) ,
Date : 2006-02-18 , Time : 20:04:46 , From IP : 210-86-142-193.stati


ความคิดเห็นที่ : 28


   สำหรับตัวเองแล้วคิดว่า HP ก็ยังจำเป็นต้องมีต่อไปนะคะ และการที่มีคนตกนั้น ก็จะได้เป็นสิ่งเตือนใจรุ่นน้องว่าจะมาเล่นๆกับวิชานี้ไม่ได้ ต้องตั้งใจมากกว่ารุ่นของพี่

ยังไงก็เป็นกำลังใจให้เพื่อนๆที่จะต้องสอบซ่อมนะคะ


Posted by : med30 , Date : 2006-02-18 , Time : 22:44:09 , From IP : p211-rasbkksp9.C.csl

ความคิดเห็นที่ : 29


   "Health Promotion" is need for all Healthcare provider
เห็นด้วยครับ แต่น่าจะแก้เป็น "Health Promotion" is needed for all of Healthcare provider ไม่ทราบว่าเห็นด้วยอ่ะเปล่า
ขำขำ



Posted by : DogTor , Date : 2006-02-18 , Time : 23:30:10 , From IP : 172.29.4.134

ความคิดเห็นที่ : 30


   บังเอิญเป็นหนึ่งในคนที่ตก และเข้าใจสาเหตุส่วนตัวว่ามาจากเทคนิคในการทำข้อสอบ แบ่งเวลาไม่ดีพอในการตอบคำถามแต่ละข้อทำให้ทำข้อสอบไม่ทัน>>ไม่มีคะแนนพอที่จะผ่านเกณฑ์ที่คณะกำหนดไว้ของ health promotion I

"การที่มีคนตกนั้น ก็จะได้เป็นสิ่งเตือนใจรุ่นน้องว่าจะมาเล่นๆกับวิชานี้ไม่ได้ ต้องตั้งใจมากกว่ารุ่นของพี่ "

กับประโยคนี้ ด้านหนึ่ง ยังมั่นใจตัวเองว่าตั้งใจกับวิชานี้อย่างมากพอๆกันกับวิชาอื่นที่ผลการเรียนออกมาเป็นที่น่าพอใจสมความตั้งใจ เลยไม่ค่อยมั่นใจว่า "ตั้งใจ" กับ "เล่นๆ" ที่ว่าจะตัววัดการตก หรือ ผ่านรายวิชานี้ได้(HP I,II) และก็ไม่มีเกณฑ์ที่ตรงนักสำหรับเรื่องนี้ แล้วก็วัดยากทีเดียวน้า

ถ้าเช่นนั้นมองอีกด้าน ถือว่าเราเองได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่คณะทีเดียว ที่การสอบตกของเรามีโอกาสจะทำให้น้องรุ่นต่อๆไปตั้งใจเรียนกับวิชานี้ได้ เป็นส่วนช่วยเสริมวิธีการต่างๆที่คณะได้พยายามทำมา ??? อาจจะแปลกแต่ก็คงจะจริง ;D

ยังไงก็ขอบคุณสำหรับกำลังใจของเพื่อนๆมา ณ ที่นี้
ทุกคนเตรียมตัวกันเต็มที่..จ้า


Posted by : คนสอบตกแอบเศร้า , Date : 2006-02-19 , Time : 01:25:40 , From IP : 58.147.112.252

ความคิดเห็นที่ : 31


   แล้วเกรดจะออกเมื่อไรอ่ะ อยากรู้จัง
แต่ก็เห็นด้วยกับคนตั้งกระทู้นะ น่าจะแบ่งเวลาไปเรียนบลอกอื่นให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ว่าจะให้ตัด hp ไปเลยนะ แต่ว่าพบกันครึ่งทาง เรียน HP ซัก 2 wks แล้ว แบ่งอีก 3 wks ไปเรียนอย่างอื่นบ้างก็น่าจะดีนะ จะได้มีความรู้ทุกด้านไง ทั้งวิชาการ ทั้ง HP


Posted by : ที , Date : 2006-02-20 , Time : 00:15:57 , From IP : 203.113.71.196

ความคิดเห็นที่ : 32


   เท่าที่ผ่านมาพี่ว่า block HP นี้ก้อสำคํญนะคะ น้องๆอาจยังไม่รู้ว่ามันสำคัญอย่างๆไร แต่จากการที่พี่ได้ไปสัมผัสชีวิตข้างนอก พี่ก้อคิดถึงความสำคัญของ block นี้ขึ้นมาทันที ทั้งๆที่ตอนแรกๆพี่ก้อเคยคิดเหมือนน้องๆนี่แหละ
ยังไงพี่ก้อขอยืนยันนะคะว่าพอน้องๆออกไปข้างนอก น้องๆได้ใช้ความรู้จาก block นี้แน่นนอน


Posted by : พี่ , Date : 2006-02-20 , Time : 01:38:27 , From IP : 172.29.4.42

ความคิดเห็นที่ : 33


   block นี้ก็มีประโยชน์นะเราว่า เพราะเราพึ่งไปแนะนำ quadriceps exercise ให้คนไข้ด้วย ตามที่อาจารย์สอน เย้ เย้ ดีใจจัง เริ่มเป็นหมอขึ้นมาบ้างแล้ว

Posted by : เพื่อนในชั้นปี , Date : 2006-03-04 , Time : 23:41:22 , From IP : p203-lirylamt1.S.csl

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.013 seconds. <<<<<