FTA มันเลวร้ายขนาดนี้เลยหรือ เราน่าจะช่วยกันเคลื่อนไหวมากกว่านี้
องค์กรประชาชนเปิดข้อเสนอเอฟทีเอมะกัน หลังพบหลุดไปอยู่ในเว็บไซต์อเมริกา ทั้งที่เป็นเรื่องที่ต้องปกปิด ห้ามเปิดเผย ชี้ชัด โคตรเอาเปรียบ เพราะไม่มีข้อไหนที่ไทยจะได้ประโยชน์ มีแต่เสียอธิปไตย และข้อเสนอที่เรียกร้องมากที่สุดที่สหรัฐฯ เคยเจรจากับประเทศต่างๆ ประกาศจับตารัฐบาลแก้กฎหมายเอื้อเอฟทีเอ ระวังซ้ำรอยแก้ พ.ร.บ.โทรคมนาคมก่อนขายหุ้นชินคอร์ป 1 วัน ฟันธงต้องยกเลิกเจรจา
วานนี้ (7 ก.พ.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในงานแถลงข่าว หายนะประเทศไทย : ข้อเสนอเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของอเมริกา และจุดยืน 11 องค์กรภาคประชาชนต่อต้านการเปิดเสรีและการแปรรูปประเทศ
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากข้อมูลเนื้อหาข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ เรื่องสิทธิบัตรในการเจรจาข้อตกลงเอฟทีเอกับประเทศไทยครั้งล่าสุดที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.bilaterals.org เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 48 ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับสิทธิบัตร 12 ข้อ และข้อเรียกร้องที่เป็นของแถมที่ไม่เกี่ยวกับสิทธิบัตร และไม่อยู่ในวาระในการเจรจาคือเรื่องของการผูกขาดข้อมูลทางยาและเคมีเกษตร
สำหรับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ทั้งหมดสรุปได้ดังนี้ คือ 1.เรียกร้องให้ไทยให้สิทธิบัตรพืชและสัตว์ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ไทยเป็นสมาชิก UPOV 1991 โดยทั่วไป ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ สามารถเอาพืชและสัตว์ที่มีอยู่ในประเทศซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพหลายสายพันธุ์ไปปรับปรุงพันธุกรรมก็เป็นเจ้าของได้แล้ว เพราะสหรัฐฯ มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าประเทศไทย
2.เรียกร้องให้ไทยให้สิทธิบัตรวิธีการวินิจฉัยโรค การรักษาผู้ป่วยและการผ่าตัด จะทำเกิดการผูกขาดการใช้ประโยชน์ เพราะโรงเรียนแพทย์ศึกษาตำราแพทย์จากตะวันตกทั้งสิ้น 3.ไม่ให้มีการคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรก่อนการออกสิทธิบัตร นั่นคือสหรัฐฯ ไม่ยอมให้มีการตรวจสอบจากสาธารณะก่อนการออกสิทธิบัตร เกิดการผูกขาดตลาดอย่างสมบูรณ์กว่าจะมีการตรวจสอบก็ใช้เวลาหลายปี 4.จำกัดการใช้มาตรการการบังคับใช้สิทธิ์เป็นไปอย่างลำบาก ทำให้มาตรการบังคับใช้สิทธ์ถูกขีดกรอบให้ใช้เฉพาะเมื่อประเหตุเกิดเหตุฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของการบังคับใช้สิทธิ์ที่ทำให้ยาราคายุติธรรมและประชาชนเข้าถึงยา
5.ขยายอายุสิทธิบัตรจากความล่าช้าในการจดสิทธิบัตรเช่นหากการขึ้นทะเบียนตำรับยาในสหรัฐฯ ใช้เวลา 5 ปี แต่ไทยขึ้นทะเบียนล่าช้าอีก 5 ปี มีผลให้ประเทศไทยจะต้องขยายอายุสิทธิบัตรยาของสหรัฐฯ อีก 10 ปี 6.ต้องให้โอกาสผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรแก้ไขคำขอได้อย่างน้อย 1 ครั้งเท่ากับเปิดโอกาสให้มีการจองการจดสิทธิบัตรในสิ่งที่ยังไม่ค้นพบ 7.ลดคุณภาพข้ออ้างสิทธิในสิทธิบัตรโดยไม่จำเป็นต้องมีการทดลองทำให้เกิดสิทธิบัตรที่ไม่มีวันตาย เปิดโอกาสให้มีสิทธิบัตรต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยที่อาจเกิดโดยธรรมชาติ
รศ.ดร.จิราพร กล่าวต่อว่า ในกระบวนการเจรจาเรื่องสิทธิบัตรครั้งที่ 6 ที่ผ่านมานั้นสหรัฐฯ ได้ยัดเยียดข้อเสนอที่ไม่อยู่ในวาระ คือ ให้มีการผูกขาดข้อมูลยาใหม่ 5 ปี และข้อมูลคลินิกใหม่ของตัวยาเก่า 3 ปี รวมทั้งข้อมูลสารเคมีการเกษตรใหม่ 10 ปี ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นข้อมูลสาธารณะมาแล้วก็ตาม และต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีการละเมิดสิทธิบัตรโดย อย.จะต้องทำหน้าที่เป็นตำรวจสิทธิบัตรและหากเกิดความผิดพลาด อย.จะตกเป็นจำเลยทันที
บทสรุปของแถมนี้ชัดเจนว่าไม่ใช่เป็นเรื่องของสิทธิบัตร แต่เป็นเรื่องมาตรการขึ้นทะเบียนตำรับยา การนำมาตรการนี้มาใช้ประโยชน์ทางการค้าย่อมส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและความปลอดภัยจากการใช้ยา ดังนั้น ทีมเจรจาสามารถไม่ยอมรับข้อเสนอที่ไม่อยู่ในกรอบการเจรจานี้ได้ หวังว่าจะใช้ประโยชน์จากตรงนี้เพื่อปกป้องคนไทยให้สามารถเข้าถึงยาและบริการทางสาธารณสุข ไม่ยอมเสียอธิปไตยเหนือชีวิตกับผลประโยชน์กับทางการค้าชั่วคราวหรือตัวเลข จีดีพีที่ลวงตา ดร.จิราพร กล่าว
นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการนโยบายฐานทรัพยากรภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าจากข้อเสนอของสหรัฐฯ ทั้งผลส่งผลให้ไทยจะต้องแก้กฎหมาย ซึ่งการแก้กฎหมายจะต้องนำเรื่องเข้ากระบวนการพิจารณาจากรัฐสภา ขณะที่นายกฯ ทักษิณกล่าวมาตลอดว่าจะไม่มีการแก้กฎหมายอย่างแน่นอนจึงไม่จำเป็นต้องนำเรื่องเข้าสู่สภา ซึ่งเป็นคำพูดที่ขัดแย้งกัน ทั้งนี้ อยากให้สังคมจับตามองกระบวนการตรงนี้ให้ดีจะเหมือนกับกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปที่มีการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคมที่มีผลผลบังคับใช้ก่อนการลงนามขายหุ้นเพียง 1 วัน
นายบัณฑูร กล่าวต่อว่า กฎหมายที่จะต้องมีการแก้ไขเพื่อรองรับข้อเสนอของสหรัฐฯคือ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522แก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. 2542 ซึ่งจากเดิมให้การคุ้มครองจุลินทรีย์ ที่มีการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเท่านั้นแต่สหรัฐฯ ต้องการให้ขยายการคุ้มครองไปจนถึงพืชและสัตว์ทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงฉกฉวยทรัพยากรชีวภาพของไทยไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ ส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพของไทย และ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชพ.ศ.2542 ที่สหรัฐฯ ต้องการให้มีการแก้ไขให้เหมือนการคุ้มครองพันธุ์พืชตามระบบอนุสัญญายูปอฟ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพนำไปสู่ปัญหาความไม่เป็นธรรมในการใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชของไทย ส่งผลกระทบต่อสิทธิเกษตรกร
องค์กรภาคประชาชนมีข้อเสนอว่า ไทยไม่ควรยอมรับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในประเด็นเรื่องการคุ้มครองพืชและสัตว์ภายใต้ระบบสิทธิบัตร โดยจะต้องยืนยันในหลักการและสิทธิของประเทศ WTO ซึ่งให้โอกาสปฏิเสธที่จะไม่ให้คุ้มครองพืชและสัตว์ภายใต้สิทธิบัตรได้ และรัฐบาลจะต้องแสดงจุดยืนว่า พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เป็นระบบที่สอดคล้องกับพันธกรณีในข้อตกลงทริปส์อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องนำระบบคุ้มครองพันธุ์พืชตามอนุสัญญายูปอฟมาใช้ รวมทั้งให้ไทยเสนอให้มีการนำหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในเรื่องการเข้าถึงการใช้ประโยชน์และการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมมาบัญญัติไว้ในเอฟทีเอเพื่อป้องกันการนำทรัพยากรพันธุกรรมมาใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ นายบัณฑูร กล่าว
ด้าน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการองค์การความหลากหลายทางชีวภาพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเสนอที่สหรัฐฯ ยื่นให้ต่อไทยนั้น เป็นข้อเสนอที่เรียกร้องมากที่สุดที่สหรัฐฯ เจรจากับประเทศต่างๆ และเป็นข้อเสนอที่น่าเกลียดมาก ทั้งนี้ ตั้งไว้สูงเพื่อให้ไทยต่อรอง แต่ไม่ว่าจะต่อรองอย่างไรก็ยังคงหลักการที่น่าเกลียดไว้แบบเดิม ถือว่าเป็นเพียงหลุมพรางที่สหรัฐฯ ทำกับรัฐบาลไทย เพื่อให้สังคมไทยเห็นว่า แม้สหรัฐฯ จะตั้งข้อเสนอไว้สูง แต่ก็เพื่อให้ไทยสามารถต่อรองได้ ให้ประชาชนไทยได้เห็นว่าได้มีการต่อรองแล้ว บางอย่างที่ยอมได้ก็ควรจะยอมกันไป ขณะที่เจตนาเดิมที่สหรัฐฯต้องการยังคงอยู่ ถือเป็นวิธีการแยบยลแฝงการดูถูกคนไทยอยางมาก
กรณีที่สหรัฐฯ เสนอให้ให้สิทธิบัตรวิธีการวินิจฉัยโรค การรักษาผู้ป่วยและการผ่าตัดนั้น ถือเป็นการละเมิดหลักการขั้นพื้นฐานของสาธารณสุข ละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งยังไม่แคร์ความรู้สึกของคนไทย ข้อเสนอทั้งหมดที่สหรัฐฯ เสนอมาไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย ระบบสาธารณสุขของไทยจะพังพินาศ จึงเห็นว่าการยุติการเจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุด
Posted by : เบื่อ , Date : 2006-02-08 , Time : 13:55:34 , From IP : 172.29.4.110
|