ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

FTAกับหลักประกันสุขภาพ


   ข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น
ผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ความเป็นมา
เหตุผลของรัฐบาลในการทำข้อตกลงเขตการ ค้าเสรี ที่ได้ยินซ้ำซากอยู่เกือบตลอดเวลาว่า “เราจะส่งทุเรียน มังคุด ไปขายกับคนเป็นพันล้านคนแทนที่จะเป็นเพียงคนไทย 63 ล้านคน” “อะไรที่ปลูกสู้เขาไม่ได้ก็ต้องเลิกปลูก” หรือบอกว่า “เราจะได้กินแอปเปิ๊ล พีช ราคาถูก” ทำให้ดูเหมือนว่า ข้อตกลงเขตการค้าเสรี มีเพียงการลดภาษีนำเข้าส่งออกเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วข้อตกลงเขตการค้าเสรีนั้นครอบคลุมหลากหลายสาขา เช่น การลงทุน การบริการ และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ตัวอย่างเช่นการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น ได้รวมการเปิดเสรีการบริการ จำนวน 65 สาขาย่อย เป็นต้น
รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์แห่งเอเชีย (Medical Hub) เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ ทันตกรรม สปา หรือนวดแผนไทย อีกทั้งมีนโยบายสนับสนุนให้ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่รวมถึงบริการด้านสุขภาพ ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีนโยบายส่งเสริมหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ดำเนินการในนามโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งนโยบายสองขา(Dual Policy)นี้ ต่างต้องการทรัพยากรบุคคลด้านสาธารณสุขกลุ่มเดียวกัน ทรัพยากรบุคคลดังกล่าวมีจำนวนจำกัดและไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทของประเทศ

สาระสำคัญของข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น
ผลของข้อตกลงการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยญี่ปุ่น(Japan-Thailand Economic Partnership Agreement, JTEPA) ซึ่งใกล้แล้วเสร็จนั้น ได้ยอมรับการเปิดเสรีบริการการแพทย์ โดยญี่ปุ่นตกลงให้คนญี่ปุ่นที่ป่วยมารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยได้ โดยสามารถเบิกจ่ายเงินจากกองทุนสวัสดิการรักษา พยาบาลของรัฐได้เท่ากับการรักษาตามกฎหมายญี่ปุ่นในอัตรา 70 % ซึ่งประเทศไทยภูมิใจมากว่า ญี่ปุ่นไม่เคยให้สิทธินี้แก่ประเทศใด

นโยบายศูนย์กลางธุรกิจสุขภาพ
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวว่า “รัฐบาลประกาศนโยบายชัดเจนที่จะทำให้เมืองไทยก้าวสู่ การเป็น World Health service Center โดยเริ่มจากการเป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเซีย” และได้จัดสรรงบประมาณกว่า 2,600 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2547-2551) โดยพัฒนาจุดขายบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ไว้ 3 ด้าน คือ
1. กลุ่มธุรกิจบริการรักษาพยาบาล เน้นความเป็นเลิศในการบริการทางการแพทย์ มีการประเมินรายได้ไว้ที่ประมาณ 142,899 ล้านบาท
2. กลุ่มบริการส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ ธุรกิจสปา บริการนวดแผนไทย และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประเมินตัวเลขกลุ่มนี้ไว้ที่ 50,419 ล้านบาท
3. ธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพร ตั้งเป้าหมายของรายได้กลุ่มนี้ประมาณ 17,500 ล้านบาท[1]

สถานการณ์การใช้บริการของชาวต่างชาติในปัจจุบัน
จากการศึกษาของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในปี 2544 มีผู้ป่วยต่างชาติ มาใช้บริการมากถึง 470,000 คน เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน 7 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2543 ถึงร้อยละ 38 ขณะที่ในปี 2545 มีจำนวนผู้ป่วยชาวต่างชาติ 630,000 รายเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 33 แห่ง โดยมีมูลค่าถึง 339,658 ล้านบาทในปี 2545 รัฐบาลจึงได้กำหนดให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชีย(medical Hub) โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เชียงใหม่ และสุราษฏร์ธานี

ผลกระทบต่อประเทศ และประชาชน
1. ผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพ
ผลการวิจัยการให้บริการทันตกรรมในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องการให้บริการกับชาวต่างชาติ พบว่า ความคิดเห็นของทันตแพทย์มองว่าการใช้บริการของชาวต่างชาติไม่มีผลกระทบการใช้บริการของคนไทย แต่หากคาดการณ์ว่า จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด จะมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการทันตกรรมร้อยละ 5 จะทำให้มีชาวต่างประเทศใช้บริการทันตกรรม มากถึง 72,671 คน จากจำนวนนักท่องเที่ยว 1,453,426 คน และเมื่อพิจารณาจากศักยภาพด้านทันตกรรมที่มีอยู่ ทั้งจากจำนวนเก้าอี้ทำฟันและชั่วโมงที่ใช้ต่อคนไข้หนึ่งคน ขณะนี้จังหวัดภูเก็ตสามารถรองรับคนไข้ทำฟันได้เพียง 60,840 คน ซึ่งหากสนับสนุนให้มีชาวต่างประเทศมาใช้บริการเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อบริการของคนไทยแน่นอน[2]
2. ผลกระทบต่อการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรอื่นๆ
หากมีคนไข้จากต่างประเทศมากขึ้น ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการไหลของแพทย์จากภาครัฐ โดยเฉพาะชนบทเข้าสู่ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ดังการศึกษาของน.พ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย และ ดร.ครรชิต สุขนาค ที่พบว่า “การเปิดการค้าเสรีด้านบริการ จะทำให้แพทย์หลั่งไหลไปสู่ภาคเอกชน การลงทุนผลิตแพทย์สูญเปล่าไปถึง 420-1,260 ล้านบาทต่อการรับผู้ป่วยต่างชาติ 1 แสนคนต่อปี
ขณะนี้ประเทศไทยมีแพทย์น้อยมาก ประมาณ 27,000 คนที่ยังเป็นแพทย์ หรือแพทย์หนึ่งคนต่อประชาชนประมาณ 2,400 คน ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ฮ่องกง ยุโรป อเมริกา... ถ้าเอาชาวต่างชาติเข้ามารักษามากในขณะที่แพทย์ไทยยังไม่พอจะเกิดอะไรขึ้น ผู้ที่ได้ประโยชน์แน่นอน คือ โรงพยาบาลเอกชน แพทย์ที่ทำงานเอกชน และในเมื่อมีผู้ป่วยที่เอกชนมาก แพทย์ที่ทำงานให้ภาครัฐก็จะลาออก... ใครจะดูแลผู้ป่วย 30 บาท และใครจะเป็นครูแพทย์?![3]
3. ผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการรักษาพยาบาล
1. ข้อเสียที่อาจจะพบเห็นกันได้ชัดเจนทุกคน คือ การต้องรอหรือเข้าคิวในการรักษาพยาบาลทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เพราะมีจำนวนคนรับบริการที่เพิ่มขึ้น
2. การเข้าไม่ถึงบริการในกลุ่มโรคที่ไม่มีความเร่งด่วน โดยอ้างเหตุผลบุคลากรไม่เพียงพอ เช่น สัดส่วนจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการในระบบอาจจะน้อยลงเพราะต้องให้บริการชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น ดังที่เริ่มเป็นปัญหาในปัจจุบัน เช่น การใส่เล็นส์ตาเทียมในผู้สูงอายุ อาจจะต้องรอมากกว่า 3-6 เดือน แต่ถ้าใช้บริการผ่านคลินิกพิเศษซึ่งจ่ายเงินประมาณ เกือบสองหมื่นห้าพันบาท อาจได้ใส่เล็นส์ตาในวันถัดไป เป็นต้น
3. สองมาตรฐานในการรักษาพยาบาล ทั้งปัญหาเรื่องการตรวจหรือการใช้เทคโนโลยีที่มากเกินความเป็นจริง ซึ่งส่งผลต่อปัญหางบประมาณด้านสุขภาพ และทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นบริการชั้นสองมากขึ้น



ข้อเสนอ
ต้องทบทวนการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีทั้งหมด และทำให้กระบวนการในการดำเนินการเรื่องนี้ ต้องผ่านขั้นตอนของรัฐสภา และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการศึกษาถึงผลได้และผลเสียในการทำและไม่ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี การกระจายของรายได้จากการทำเปิดเสรีบริการสุขภาพ และสิ่งสำคัญจะต้องรีบดำเนินการปฏิรูประบบสุขภาพดังนี้
1. การปฏิรูประบบบริการ งบประมาณและทรัพยากร
ต้องจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยบริการโดยตรงหรืออย่างน้อยจัดสรรให้โดยตรงกับระดับจังหวัด เพื่อทำให้เกิดการกระจายบุคลากรด้านสุขภาพที่เป็นธรรมและเพิ่มการสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน
2. การปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข
ผลักดันให้เกิดมาตรฐานเดียวในการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านการรักษา คุณภาพยา ในหน่วยบริการระดับต่าง ๆ ของกองทุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหมด เช่น สวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ประกันสังคม 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น
3. การปฎิรูปแนวคิดด้านสุขภาพ
“บริการสาธารณสุข ไม่เป็นไปเพื่อแสวงกำไรเชิงธุรกิจ” ดังหลักการของ(ร่าง)พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ได้กำหนดไว้ หรือมติขององค์การสหประชาชาติ ให้การทำกิจการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคสำคัญบางด้าน เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า เป็นสินค้ามนุษยธรรม ที่ต้องไม่มีการทำกำไรสูงสุด หรือเกิดขึ้นเช่นเดียวในกรณีของการผลิตยาสามัญ เพื่อส่งให้ประเทศต่าง ๆ โดยประเทศในยุโรป ได้กำหนดข้อตกลงที่จะทำกำไรได้ไม่ควรเกิน 3 % ในการจำหน่ายยาให้กับประเทศอื่น ๆ ตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก ที่เมืองโดฮา ประเทศการ์ตา
4. การพัฒนาความเข้มแข็งของผู้บริโภค
ให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานด้านสุขภาพ และส่งเสริมให้ดูแลตนเองเพิ่มขึ้น
5. การสนับสนุนให้ชุมชนหรือท้องถิ่น พัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ
6. การมีส่วนร่วมของกลุ่มต่าง ๆ
การตัดสินใจด้านนโยบายในปัจจุบัน นับว่ายังไม่ได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 57 ที่กำหนดให้มีองค์การอิสระผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นในการกำหนดนโยบาย ซึ่งนับแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 8 ปี ยังไม่มีการดำเนินการให้มีกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภค
7. การรายงานสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างเช่น การรายงานสถานการณ์การกระจายของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้กับสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง
8. นำเข้าบุคลากรทางการแพทย์ มาให้บริการในประเทศในกรณีที่จำเป็น






--------------------------------------------------------------------------------

[1] เวปไซท์กระทรวงสาธารณสุข และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 30 กันยายน 2547
[2] รศ.ดร ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา และคณะ ,เอกสารประกอบการสังเคราะห์ประเด็น ประชุมสมัชชาสุขภาพ ว่าด้วยผลกระทบต่อสุขภาพจากนโยบายการค้าเสรี
[3] นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ “บทความส่องโลกส่องสุขภาพกับแพทยสภา” มติชน กันยายน 2547

ที่มา : www.ftawatch.org


Posted by : รักสุขภาพ , Date : 2006-02-06 , Time : 09:17:28 , From IP : 172.29.3.163

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<