ห้ามใช้มือถือในรพ. คิดผิดคิดใหม่
ห้ามใช้มือถือในรพ. คิดผิดคิดใหม่
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 31 มกราคม 2549 12:55 น.
การศึกษาครั้งล่าสุดชี้ว่าโทรศัพท์มือถือมีส่วนช่วยลดความผิดพลาดทางการแพทย์มากกว่าที่จะเป็นการรบกวนอย่างที่เคยคิด พร้อมกับระบุว่า ข้อห้ามที่ไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือในโรงพยาบาลอาจจะทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี
ที่ผ่านมา การห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงพยาบาลเป็นข้อปฏิบัติที่เกิดขึ้นจากคำเตือนที่ระบุชัดในผลิตภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์บางชนิด เพื่อป้องกันความผิดพลาดใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ แต่การศึกษาครั้งใหม่พบว่า แพทย์บางรายที่ไม่สนใจต่อข้อห้ามดังกล่าวกลับทำให้เห็นผลการรักษาที่ดีกว่า
ผลการศึกษานี้สามารถสรุปได้ว่า การใช้โทรศัพท์มือถือในเวลาที่จำเป็นก็ช่วยลดข้อผิดพลาดทางการแพทย์ได้ เนื่องจากความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากต่อการรักษาพยาบาล
ผลการศึกษานี้ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Anesthesia & Analgesia ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ อ้างถึงผู้เข้าร่วมการประชุมสมาคมวิสัญญีแพทย์สหรัฐฯ (American Society of Anesthesiologists) ประจำปี 2003 จำนวน 4,018 คน พบว่า 65% ของผู้เข้าประชุมทั้งหมดระบุว่าใช้วิทยุติดตามตัวหรือเพจเจอร์เป็นเครื่องมือหลักในการติดต่อสื่อสาร และอีก 17% ใช้โทรศัพท์มือถือในการติดต่อสื่อสาร
โทรศัพท์มือถือและเพจเจอร์ถูกนำมาเปรียบเทียบเรื่องความล่าช้าในการติดต่อสื่อสาร แน่นอนว่า โทรศัพท์มือถือช่วยให้แพทย์สามารถติดต่อสื่อสารได้รวดเร็วกว่าเพจเจอร์ โดย 31% ของกลุ่มแพทย์ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ ลงคะแนนว่าการใช้โทรศัพท์มือถือเกิดการสื่อสารที่ล่าช้า ขณะที่กลุ่มแพทย์ที่ใช้เพจเจอร์เทคะแนนให้จำนวนถึง 40%
ความล่าช้าในการติดต่อสื่อสารของแพทย์มีความสำคัญมาก เนื่องจากการติดต่อที่ล่าช้าจะส่งผลต่อการรักษาผู้ป่วยที่ล่าช้าตามมา แน่นอนว่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ป่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับประเด็นความกังวลเรื่องผลเสียที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากคลื่อนความถี่โทรศัพท์มือถือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล (Yale School of Medicine) ยืนยันว่า แท้จริงแล้วโทรศัพท์มือถือนั้นทำให้เกิดการรบกวนหรือการแทรกแซงการทำงานของเครื่องมือแพทย์ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้น้อยมาก ตามการรายงานของเว็บไซต์เอ็มเอสเอ็นนิวส์
ด้านคีธ รัสคิน (Keith Ruskin) รองศาสตราจารย์ คณะวิสัญญีวิทยาและศัลยกรรมประสาท (Departments of Anesthesiology and Neurosurgery) กล่าวว่า การรบกวนที่เกิดจากคลื่นโทรศัพท์มือถือนับว่าเป็นเรื่องสมัยโบราณแล้ว
"โทรศัพท์มือถือดิจิตอลยุคใหม่ใช้พลังงานและทำงานในความถี่ที่แตกต่างกัน เราควรที่จะชั่งน้ำหนักหาความสำคัญระหว่าง ความเสี่ยงเพียงน้อยนิดของการรบกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือที่จะมีผลต่ออุปกรณ์ทางการแพทย์ กับ การกีดกันเพื่อพัฒนาศักยภาพการติดต่อสื่อสารให้ทันเวลา" รัสคิน กล่าว
ถึงเวลาเปลี่ยน
รัสคินให้ข้อมูลกลับไปคิดว่า มีเพียง 2.4% ที่การรบกวนของคลื่นไฟฟ้าจะมีผลกระทบต่อชีวิตและการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ อาทิเช่น เครื่องช่วยหายใจ (ventilators), เครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ (intravenous infusion pumps) และอุปกรณ์ควบคุมต่างๆ
เทียบกับความเสี่ยง 14.9% ที่จะเกิดขึ้นต่อความผิดพลาดในการรักษาผู้ป่วยจากการติดต่อสื่อสารที่ล่าช้า
ผลวิจัยดังกล่าวสนับสนุนผู้ใช้โทรศัพท์ที่อยู่ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ไม่ได้สนับสุนนผู้ที่นั่งคุยโทรศัพท์อยู่ในห้องนั่งเล่นแต่อย่างใด
Company Related Links :
Anesthesia & Analgesia
Posted by : หน้ากากเสือ , Date : 2006-02-01 , Time : 12:09:51 , From IP : 172.29.1.102
|