ความคิดเห็นทั้งหมด : 38

อึดอัดใจใน block history medicine


   อยากจะขออนุญาต feedback การเรียนการสอนในblock นี้นะครับ
1.ในส่วนของ ประวัติศาสตร์การแพทย์ เนื้อหาก็น่าสนใจนะครับ แต่ ในเรื่องความเหมาะสมของเวลา ผมคิดว่าทำไมไม่จัดให้เรียนตอนปีหนึ่งละครับ มันไม่ควรจะนำมาไว้ก่อนสอบ NT อย่างนี้นะครับ
2.ในเรื่องของวิชาการตรวจธาตุเจ้าเรือน มันออกจะเป็นโหราศาสตร์ไปมั้ยครับ
แบ่งธาตุตามวันเกิดเนี่ย
3.มันจำเป็นด้วยหรือครับที่ นศพ. จะต้องออกไปเดินป่าเก็บสมุนไพร ไม่ทราบว่ามันอยู่ในข้อควรรู้ของแพทยสภารึเปล่าครับ
....


Posted by : หัวเหลือง , Date : 2006-01-17 , Time : 23:01:27 , From IP : 172.29.4.161

ความคิดเห็นที่ : 1


   แพทย์เราควรมีการตีกรอบการเรียนรู้ไว้แค่ไหนดี เพียงแค่แพทยสภากำหนดนั้นดีไหม หรือต้องให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่มีขอบเขต
การเรียนการตรวจธาตุเจ้าเรื่อน ถ้าให้พี่มองในมุมบวกนะ เรื่องนี้คือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยที่คนไข้ของน้องในอนาคตนี้แหละมีความศรัธาและเชื่อถืออยู่ มันคือมุมspilitualของคนไข้ ถ้าน้องไม่เข้าใจเรื่องนี้เสียก่อน พอน้องขึ้นwardมันจะมีcontent ทางmedicine overloadน้องมาก แล้วตอนนั้นน้องจะใช้modeไหนรับกันดีหล่ะ และถ้าไม่รับมันเสียแต่ตอนนี้ และสุดท้ายเรื่องพวกนี้มันก็จะหมุมมาตกอยู่ที่น้องอีกนั่นแหละ คืออาจจะไม่เข้าใจคนไข้ของตัวเองในอนาคตได้ว่าทำไมไม่คิดหรือร่วมมือในการรักษากับเรา หรือขอเราไปทำการรักษาด้วยวิถีอื่นที่ไม่ใช่หมอ

พี่ว่าการสอบNT มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันให้มีความสุขมากจริงๆ อย่างนี้ถ้าน้องๆไม่มีความสุขสงบ มัวแต่มานั่งวิตกกังวล คงจะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำอะไรให้สำเร็จได้ด้วยดีไ ทั้งในปัจจุบันที่เรียนอยู่ และการสอบในอนาคต
........


Posted by : aries , Date : 2006-01-18 , Time : 07:25:24 , From IP : 172.29.7.85

ความคิดเห็นที่ : 2


   ในความคิดเห็นของผม
สาขาแพทย์แผนไทยก็มีผู้ที่เรียนอยู่แล้ว ไฉนเลยต้องให้พวกผมที่เรียนแพทย์แผนปัจจุบันต้องมาเรียนเนื้อหาที่มากมายขนาดนี้ หากแม้ต้องใช้ในอนาคตจริง ๆ (เหรอ) ก็คงสามารถปรึกษากํบผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ได้ เพราะอาจารย์ได้พูดเองว่า content มัน overload อยู่แล้ว แล้วยังจะมาอัดใส่สมองที่มีอยู่น้อยนิดอีก
ถามจริง ๆ เถอะว่าตอมผมขึ้น ward อาจารย์จะให้ผมใช้ตำราแพทย์แผนไทยรักษาหรือให้ใช้ Harisson กันแน่

"แพทย์เราควรมีการตีกรอบการเรียนรู้ไว้แค่ไหนดี เพียงแค่แพทยสภากำหนดนั้นดีไหม หรือต้องให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่มีขอบเขต"
อาจารย์ได้กล่าวไว้เองว่าความรู้ในปัจจุบันไม่หยุดนิ่ง มีความรู้ที่มากขึ้นอยู่เสมอจึงสนับสนุนให้เด็กศึกษาด้วยกระบวนการ PBL แต่ด้วยความรู้ที่มากมายก่ายกองนี้ ควรจะมีกรอบอยู่บ้างซึ่งที่แพทยสภากำหนดไว้ดีไม่ดีผมไม่ทราบแต่ยังไงก็ควรรู้แค่เท่านี้ก่อน การจะหาความรู้เพิ่มเติมอะไรนั้นเป็นสิ่งดีครับ แต่ทำเมื่อตอนที่เรามีความรู้ที่เรา"ต้องรู้"ตามที่แพทยสถากำหนดไว้ก่อนดีไหมละครับ เมื่อเราได้ความรู้เหล่านั้นครบแล้วจึงค่อยไปหาความรู้อื่น ๆ เพิ่มเติม
แต่ของเรามันไม่ใช่อย่างนั้นนะสิครับ เนื้อหาตามแพทยสภาสอนไม่ครบ ผมก็ไม่ว่าอะไร อ่านเองก็ได้ แต่ไม่ควรมาเบียดเบียนเวลาอ่านหนังสือของผมด้วยวิชาแบบนี้ บอกตรง ๆ ว่าใจผมไม่ยอมรับมันสักนิดเลย


Posted by : DogTor , Date : 2006-01-18 , Time : 15:09:15 , From IP : 172.29.4.100

ความคิดเห็นที่ : 3


   เรื่องนี้มันเกี่ยวกับการมองเห็นประโยชน์ของความเข้าใจใน "รากเหง้าและที่มา" ของอาชีพเรา และความสามารถในการ "ยอมรับ" สิ่งที่ฟังแปลกหูแปลตาไม่เคยได้ยินมาก่อน ตรงนี้ principle of autonomy

เกณฑ์มาตรฐานแพทยสภาให้ "กรอบ" ไว้ แต่รายละเอียดและวิธีการขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัย แตลองไปสืบดูก็ได้นะครับว่าสถาบันอื่นๆมีวิชา History of Medicine หรือไม่ (เผื่อเปลี่ยนใจย้าย จะหนีเสือปะจระเข้)

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราฟังเรื่องราว แล้ว "ตีค่า" ทันที นั้นไม่ดีครับ เป็นรากเหง้าของการ anti-value ของคนอื่นๆที่ไม่เหมือนตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของโคตรเหง้าแพทย์เราเอง

วิชานี้อยู่ในส่วนหนึ่งของเกณฑ์มาตรฐานพทยสภาที่ "ต้องรู้" ครับ นั่นคือ Ethics ณ สถานการณ์ปัจจุบันเราคงเห็นแล้วว่าหมอที่ขาดคสาสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วย ไม่เข้าใจในสิทธิ คุณค่าในการดำเนเนชีวิตของผู้ป่วยนั้น จะมีแนวโน้มลงเอยอย่างไร เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหมอคนนั้นเท่านั้น แต่กระทบกระเทือนต่อภาพรวมของวงการวิชาชีพแพทย์โดยรวม

ประโยชน์ในการเรียนรู้วิชาแพทยแผนโบราณ หรือประวัติศาสตร์การแพทย์นั้น ให้เราได้พิจารณาถึงความอุตสาหะ สังเกต และบันทึก clinical signs และ symptoms ที่ในอดีตรักษาไม่ได้ ตายไปก็เยอะ แต่แพทย์ยุคนั้นก็ยังทำงานที่หนักและดูเหมือนจะไม่ได้มีประโยชนอะไรมาก สั่งสมจนเป็นความรู้ทางวการแพทย์สมัยใหม่ ถ้าเราสามารถ appreciate ความพยายามตรงนี้ได้ บางทีจะเข้าใจถึง "จิตวิญญาณวิชาชีพแพทย์" ได้ดีขึ้น (หวังว่า)




Posted by : Phoenix , Date : 2006-01-18 , Time : 18:58:02 , From IP : 58.147.31.6

ความคิดเห็นที่ : 4


   ตามปกติ ในการround ward นั้น ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเราและผู้ป่วย คงไม่ใช่ในลักษณะที่เราเป็นผู้นำ สั่งการ และผู้ป่วยเป็ผู้ตาม ทำตามที่เราแนะนำทุกอย่าง แต่หัวใจมันคือ การแลกเปลี่ยน sharing ข้อมูลกับผู้ป่วยในทุกๆเรื่อง เพราะนี่คือการเคารพในautonomyของผู้ป่วย และเป็นการสื่อสารที่ดี
ทีนี้ผู้ป่วยเรา ซึ่งก็คือ คนที่มีวิถีชีวิต และการคิดอยู่ในรากเหง้าของภูมิปัญญาในอาชีพเรา ตามที่คุณphoenixบอก ถ้าเราไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้ ในขณะที่ผู้ป่วยมีข้อมูลเหล่านี้อยู่เต็มอัตรา แถมมีความศรัทธาด้วย แล้วเราจะแลกเปลี่ยนsharingข้อมูลกับผู้ป่วยได้อย่างไร
ถ้าแพทย์เล่นมีทัศนคติในเชิงตัดสินไปแล้วว่าเรื่องแพทย์แผนไทยนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ตนเองต้องรู้ ต้องสนใจ เพราะไม่มีในharrison และคงไม่ดี ก็เท่ากับเราปิดโลกของตนเองให้แคบลง และปิดประตูที่จะพูดคุยกับผู้ป่วย แล้วความเข้าใจกันในการหาทางออกที่ดีที่สุดโดยเฉพาะการเลือกวิถีการรักษาโรคของผู้ป่วยจะเป็นอย่างไร คนไข้ต้องจำยอมทำตามวิถีที่น้องเลือกบนโลกแคบๆนี้ หรือตามวิถีที่คนไข้ศรัทธาคือ ตามแบบแผนโบราณ หรือดีที่สุด มันควรจะเป็นการ combine ทั้งสองวิถี เพราะหมอเปิดmodeการเรียนรู้ที่กว้างขึ้น.....
พี่ยังคงเชื่อ และศรัทธาตัวน้องนะว่า การที่น้องมาเรียนเป็นแพทย์นี้เพราะน้องมีความปราถนาดีและต้องการจะช่วยเหลือผู้ป่วย และคงไม่ได้มีเจตนาหรือมีความคิดที่จะมาทำร้ายผู้ป่วย เพราะฉนั้นความเป็นคนกว้าง จะทำให้น้องมีทางออกของวิชาชีพมากขึ้น และเป็นแสงสว่างนำแนวทางให้ผู้ป่วยได้ดีกว่าแน่นอน.....


Posted by : aries , Date : 2006-01-18 , Time : 19:27:56 , From IP : 172.29.7.180

ความคิดเห็นที่ : 5


   คิดให้กว้าง มองให้ไกล ไม่มีอะไรตรงไปตรงมาหรอกค่ะ

เมื่อถึงเวลาที่ต้องรักษาคน ต้องรักษาแบบองค์รวมนะ มองทุกด้าน รู้ที่มาของพฤติกรรม จึงจะรักษาได้ถูกทาง

แผนไทยใช่ว่าไม่มีดี เก็บไว้มาประยุกต์รวมกันไว้รักษาผู้ป่วย การที่เรารู้รอบ ย่อมดีกว่ารู้ทางเดียว


Posted by : ป้าร่วมวิชาชีพ , Date : 2006-01-18 , Time : 21:14:48 , From IP : 203.113.67.164

ความคิดเห็นที่ : 6


   แล้วการรู้รอบแต่รู้ไม่จริง ไม่รู้ในสิ่งควรรู้ สมควรหรือไม่
ถ้าจะว่าให้รู้ให้หมดก็คงไม่ได้ เพราะผมมีสิ่งที่จำกัดคือ เวลา ครับ
อยากให้รู้โน่น รู้นี่ รู้ทุกอย่าง
อ๊ะ อันนี้สำคัญ นศพ.น่ารู้ จัดไป
เอ๊ะ อันนี้ องค์รวมดี นศพ.น่ารู้ ใส่ไป
โอ้ววว..ว อันนี้ เยี่ยมพระเจ้าช่วยกล้วยทอด ใส่ดีกว่า
อืมมม...อันนี้ น่าสนใจ อีกนิดน่า
เอ๋? ลืมอันนี้ได้ไงเนี่ย สำคัญนะเนี่ย ถึงแพทย์สภา ไม่กำหนดก็เหอะ
ใส่ๆๆๆๆๆ เข้าไป ภายในทรัพยากร"เวลา"มีจำกัดและไม่หวนคืน
อยากถามเพิ่มอีกนิดนะครับ แล้วที่แพทย์สภากำหนดให้รู้หลายเรื่อง
เช่น head&neck อ่านเองครับผม, psychiatric สารพัดก็อ่านเองครับผม และอีกหลายเรื่องที่ต้อง"SDL"เอาเอง ซึ่งสำคัญๆทั้งนั้น
ทำไมทางคณะถึงไม่พิจรณาใส่ในหลักสูตรล่ะครับ
เอาวิชาแบบนี้มาใส่ สนุกแย่เลย ต้องมาอ่านสิ่งที่เรียกว่าแทบจะไม่ได้ใช้และลืมในที่สุด ซึ่งแทนที่จะเอาเวลานั้นไปอ่านสิ่งที่ต้องใช้หรือจำเป็น
ขออภัย ถ้าผมมองโลกแคบไป แต่ขอยืนยันนอนยันนั่งยันว่า ทุกอย่างเกิดขึ้น"จริง"

ปล.จะกลายเป็นกระบวนการ อะไรสักอย่างเรนเจอร์แล้ว
ไหนจะหัวแดง หัวเหลือง หัวเขียว อีกไม่นานคงมี ชมพู ดำ น้ำเงินตามมา



Posted by : หัวเขียว , Date : 2006-01-19 , Time : 00:26:46 , From IP : 172.29.4.146

ความคิดเห็นที่ : 7


   การจะสร้าง "จริยธรรม" นั้นใช้เวลาครับ และในบรรดาองค์ประกอบความเป็นแพทย์นั้น จริยธรรมเป็นสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด ที่ควรจะ "ติดตัว" ไป ส่วนวิชาทาง bio นั้น ยังพอมีเวลาเปืดค้นหาอ่านได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่อะไรที่ค้นได้ search ได้ จึงได้ให้นักศึกษาค้นเอง search เอง แต่ถ้านักศึกษาหรือบัณฑิตแพทย์ขาดจริยธรรมนั้น ถึงเวลาจะไปเปิดอ่านว่าคืออะไร คงจะไม่สำเร็จ

อย่างที่เรียนไว้ในตอนแรก คุณสมบัติของแพทย์ที่ต้องมีจริยธรรม ต้องสามารถเข้าใจและเคารพสิทธิผู้ป่วยนั้นเป็นคุณสมบัติที่ "ต้องมี" การมีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพแพทย์เป็นคุณสมบัติที่ "ต้องมี" และ priority เหนือว่า Harrison เหนือกว่า Nelson เยอะครับ

"ความจริง" อีกประการหนึ่งก็คือมูลเหตุที่ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยมันเริ่มแย่ลงนั้น ลงเอยที่มีข่าวฟ้องร้อง ข่าวอะไรต่อมิอะไรมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ media ก็จริง แต่มูลเหตุที่ต้องมี ต้องเกิดก่อนก็คือ breakdown of relationship ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย สาเหตุหนึ่งที่มีการ breakdown of relationship ก็คือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายไม่เข้าใจและเคารพในสิทธิ คุณค่า วิถีการดำเนินชีวิต ปฏิกิรกยาต่อเหตุการณ์วิกฤตต่างๆนั่นเอง

จริยธรรม จรยิศาสตร์ เป็นหนึ่งในวิชาที่อ่านเองไม่ได้ ต้องเรียนรู้และนำไปใช้ ต้องเรียนรู้และนำมาวิเคราะห์ เพราะมันเกี่ยวกับเจตคติ การใช้คำพูดประชดประชันของคุณหัวเขียวเรื่ององคฺรวม เรืองจริยธรรมนั้นทำให้ผมค่อนข้างเป็นห่วงอยู่พอสมควรทีเดียว

ความรู้ทาง bio นั้นมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากครับ เราควรจะเรียนรู้วิธีวิเคราะหฺ วิธีสังเคราะหฺ วิธีสังเกตและเก็บรวบรวมข้อมูล ของบางอย่างที่เป็น bio เรียนตอนนี้ ในอีกไม่กี่ปีก็จะเปลี่ยนไปอย้างมากมาย ยิ่งในตอนนี้มี nanotechnology กำลังจะ materialize ลงมาในภาคปฏิบัติอยู่วันพร่งนี้มะรืนนี้อยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นกระดูกสันหลังเป็นจิตวิญญาณของวิชาชีพแพทย์คือจริยศาสตร์ และ การเห็นแก่ประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก เป็นอย่างนี้มาตลอด ไม่เคยเปลี่ยน และสำคัญอยย่างยิ่งยวด

เราคาดหวังว่านักศึกษาแพทย์นั้น mature พอที่สนใจเรียนรู้ว่าจะได้อะไรบ้างจากประสบการณ์เรียนการสอนที่จัด ลองถามตนเองว่าทราบหรือไม่ว่าอะไรคือจรรยาบรรณแพทย์ อะไรคือจิตวิญญาณการเป็นแพทย์ สิ่งเหล่านี้มันสั่งสมครับ สั่งสมการการสังเกต จากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์รากเหง้าของตนเอง จากความสามารถที่จะ appraise สิ่งต่างๆที่ปู่แพทย์ พ่อแพทย์ ได้ทำมาก่อนหน้านี้ เมื่อเราบังเกิดความชื่นชมตรงนี้ได้ กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนแพทย์ได้ นั่นคือสิ่งที่ควรจะเป็น



Posted by : Phoenix , Date : 2006-01-19 , Time : 01:32:22 , From IP : 58.147.119.202

ความคิดเห็นที่ : 8


   นอกประเด็นหรือเปล่าครับ
ที่ผมต้องการจะ discuss ไม่ใช่ประเด็นจริยธรรมหรือจรรยาบรรณ
แต่ผมหมายถึงสิ่งที่ได้เขียนไปก่อนหน้านี้ครับ


Posted by : หัวเขียว , Date : 2006-01-19 , Time : 02:04:57 , From IP : 172.29.4.146

ความคิดเห็นที่ : 9


   น้องต้องรู้ในสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ให้เชี่ยวตามbasicมาตรฐานที่ต้องรู้
ถ้าเรื่องไหนที่น้องรู้กว้างแล้วแต่รู้ไม่จริงไม่เป็นไร เพราะเราเชื่อว่าน้องเรียนรู้ต่อเองได้ ฉนั้นเราคงต้องสอนให้น้องรู้conceptของเรื่องเหล่านั้นก่อน
แต่อย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งที่พี่ทำมาตลอดชีวิตคือ อะไรที่พี่รู้แต่รู้ไม่จริง รู้ไม่ลึก พี่จะฟังจากคนที่รู้ โดยเฉพาะจากเพื่อนร่วมงานไม่ว่าจะเป็นหมอด้วยกัน พยาบาล หรือจากคนไข้เราเนี่ยแหละน่าจะง่ายที่สุด แต่ถ้าข้อมูลมันสะดุด เราคงต้องค้นคว้าก็เท่านั้น


Posted by : aries , Date : 2006-01-19 , Time : 07:07:53 , From IP : 172.29.7.217

ความคิดเห็นที่ : 10


   ผมได้เรียนไว้ในตอนแรกแล้วว่าวิชา History of medicine เป็นส่วนหนึ่งของจริยศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของการมี principle of autonomy Holistic care หรือการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมนั้นก็เพื่อเกิดผลตามปรัชญาของสมเด็จพระราชบิดาคือมองเห็นประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เปนอันดับแรก เราต้องการจะให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี เราต้องเข้าใจก่อนว่าคุณภาพชีวิตที่ดีมีหลายมิติ bio psycho-social และ spiritual ผมเข้าใจว่านี่เปนประเด็นสำคัญที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ไม่ใช่หรือครับ?



Posted by : Phoenix , Date : 2006-01-19 , Time : 07:13:38 , From IP : 58.147.119.202

ความคิดเห็นที่ : 11


   ตัดวิชานี้ออกไปหรือว่าเอาไปยัดตรงอื่นได้ไหมคะ
ดิฉันเห็นว่าไม่สมควรเอามาใส่ไว้ตอนนี้ เอาเวลาตอนนี้ไปทำอย่างอื่นดีกว่าแยะ
คณะชอบจัดตารางตามใจฉัน อยากให้ฟังกันบ้าง ลองสอบถามดูสิ มีใครชอบมั้ย
แต่ละคนเรียนด้วยความขมขื่น อ้างแต่องค์รวม จิตใจ ปรัชญา
พอทีความรู้ล่ะไม่ยอมเน้น สิ่งที่สำคัญล่ะไม่สอน เหนื่อยใจจริงๆ
ลาออกได้แล้วไม่กระทบนะ ลาออกไปแล้ว
หรือถ้าเลือกได้ ไม่น่ามาเรียนที่นี่เลย
ทำตัวติดดิน ความรู้ติดดิน


Posted by : หัวชมพู , Date : 2006-01-19 , Time : 10:57:40 , From IP : 172.29.4.219

ความคิดเห็นที่ : 12


   เห็นด้วยกะหัวชมพูนะ
สิ่งสำคัญๆคณะนี้ไม่สอน ให้SDL อาจารย์บางท่านยังบ่นให้ฟังเลย
ว่าเรื่องนี้มันต้องสอน ไม่ควรSDL
เรื่องแพทย์แผนไทยก็เหมือนกัน ภูมิใจนักหนาว่าสอนที่เดียวในประเทศที่อื่นไม่มีสอน เด๋วสอบNTแล้วจะรู้สึกตัวล่ะทีนี้


Posted by : หัวน้ำเงิน , Date : 2006-01-19 , Time : 11:59:26 , From IP : 172.29.4.42

ความคิดเห็นที่ : 13


   คิดว่าที่ผ่านมาผมยังไม่สามารถสื่อได้ว่า "องค์รวม จิตใจ และปรัชญาวิชาแพทย์" นั้นสำคัญอย่างไรใช่ไหมครับ แถมคุณหัวชมพูบอกว่าสิ่งเหล่านี้ "ไม่ใช่" ความรู้ซะด้วย

ความรู้ทาง bio นั้น มีเยอะและเปลี่ยนเร็ว ที่นักศึกษาจะแก้ปัญหาได้ จะเผชิญปัญหาได้ ก็ด้วยกระบวนการคิด วิเคราะห์ ตรงนี้ self-directed learning มีส่วนอย่างมากที่จะเตรียมความพร้อมแก่นักศึกษา ประเภทอาจารย์ขบเคี้ยว ย่อย แล้วคาบออกมาให้นักศึกษารับไปง่ายๆตรงๆนั้น ดูเหมือนจะง่ายดี แต่ในระยะยาวมันไม่ช่วยหรอกครับ

ว่าที่บัณฑิตระดับอุดมศึกษานั้นประการหนึ่งคือทำงานให้สัมฤทธิ์ผลตามตารางที่กำหนดครับ ไม่ถึงกับเป็นอิสระ 100% ความรู้ของแพทย์ที่จบ มอ. ออกมาติดดินแค่ไหน ลองพิจารณาจากตัวอย่างที่เห็นๆกันอยู่ก็ได้ ผมเข้าใจว่ามีนักศึกษาแพทย์ที่จบ มอ. ที่มีความภาคภูมิใจในสถาบันอยู่ไม่น้อย เป็นที่น่าเสียดายที่มีบางส่วนไม่สามารถจะมองเห็นคุณประโยชนือะไรจากการเรียนที่นี่ แต่นั่นก็คงเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล

ลำพัง "องค์รวม จิตใจ และปรัชญาวิชาแพทย์" นั้น สำหรับแพทยศาสตรบัณฑิตแล้ว ไม่ใช่เพียง "ข้ออ้าง"ว่าควรจะเรียนหรอกครับ แต่เป็นสิ่งที่ "ต้องเรียน ต้องพัฒนา" ขึ้นมาให้ได้ และความรู้ทาง bio นั้น หาเพิ่มเติมได้ (และจำเป็นด้วย ในอนาคต) ครับ แต่ของอย่างองค์รวม จิตใจและจิตวิญญาณวิชาชีพนั้น ต้องรีบๆสร้างให้เกิดให้เร็วที่สุด มิฉะนั้นจบออกมาเป็นหมอ bio ด้านเดียวจะลำบากครับ คือเป็นหมอแต่ร่างกาย ไม่ได้เข้าใจเรื่องคุณค่าของชีวิต ไม่สามารถชื่นชมในสิ่งที่บรรพบุรุษได้สั่งสมองค์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้ยินคำว่า "แผนไทย" ก็ร้องยี้ ร้องแหวะ ชาวบ้านข้างนอกนั้นยังมีอีกมากมายที่เขาเชื่อและศรัทธาเรื่องเหล่านี้ และเรื่องบางเรื่องมันก็พิสูจน์แล้วมา work จนกระทั่งภาควิชา biomed เอาสมุนไพรต่างๆมาสังเคราะห์ มา purify เพื่อหา active ingredient กันหลายโครงการ

หลักสูตรที่ มอ. เขียนมา ก็จากตุ๊กตาแพทย์ที่พึงประสงค์ของเรา และเราจัดประสบการณ์การเรียนการสอนตามนั้นครับ ผมคิดว่าถ้าเราพิจารณาดูอย่าวงดีแล้ว ตัวเราเองไม่ชอบตุ๊กตาแบบนี้ ไม่ชอบหลักสูตรนี้ แค่ปีสามยังมีเวลาที่จะตัดสินใจใหม่ หาของที่อื่นที่ตุ๊กตาความเป็นแพทย์เหมาะต่อตนเองมากที่สุด น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย แต่ผมขอให้ clue ไว้อย่างหนึ่งก็คือโรงเรียนแพทย์ทุกสถาบันยังให้ความสำคัญขององค์รวม จิตใจ และปรัชญาวิชาชีพสูงสุดเหมือนกันทั้งสิ้น เพียงต่วิธีอาจจะต่างกันในรายละเอียด ของศิริราชมรการจัดไปอบรมกับคุณแม่ศิริ 2 อาทิตย์ซะด้วยซ้ำไป (ไม่ได้ถามอาจารย์ที่คุมว่ามีนักศึกษาคนไหนเดือดร้อน คิดว่าเสียเวลาการเรียนแพทย์ของท่านมากน้อยแค่ไหน) ก็เลือกดูดีๆก็แล้วกันครับ



Posted by : Phoenix , Date : 2006-01-19 , Time : 13:07:54 , From IP : 172.29.3.138

ความคิดเห็นที่ : 14


   ถ้าน้องๆใช้ความก้าวร้าวในการสื่อสาร พี่ขอset limit การใช้กระดานส่วนนี้ เพราะพี่setกระดานส่วนนี้ไว้สำหรับคนที่ต้องการจะเข้ามาปรึกษาหารือจริงๆ โดยมีการรับฟังและแลกเปลี่ยนเป็นที่ตั้ง ด้วยความตั้งใจจริง
ขอความกรุณาถ้าคนใดคิดจะมาป่วนกรุณาให้เกรียติกระดานส่วนนี้ด้วย


Posted by : aries , Date : 2006-01-19 , Time : 15:10:04 , From IP : 172.29.3.75

ความคิดเห็นที่ : 15


   ผมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดการเรียนการสอนก็คือ "เวลา"
โดยความเห็นส่วนตัวแล้วแผนการสอนที่ดีนั้นจะต้องมีสิ่งที่ "ต้องรู้" (ซึ่งในบางเรื่องยังขาดไป)
จากนั้นจึงค่อยคิดที่จะใส่เพิ่มเติมในส่วนที่ "ควรรู้" (อย่างเรื่อง องค์รวม เป็นต้น)
และส่วนที่เหลือ จัดเป็น SDL ไป นั่นก็คือเรื่องที่ "น่ารู้"
ถ้าจัดได้แบบนี้ ผมว่าก็คงจะแก้ปัญหาเรื่อง overload และ เรื่องของ เวลาไม่เพียงพอลงได้ล่ะครับ


Posted by : P|atino , Date : 2006-01-19 , Time : 16:05:07 , From IP : 172.29.4.172

ความคิดเห็นที่ : 16


   เห็นด้วยกับคุณ platino ว่าต้องบริหารจัดการเวลาและลำดับความสำคัญ

แต่เข้าใจผิดครับว่าเรื่อง "องค์รวม" เป็นเพียงแค่ "ควรรู้" เพราะการดูแลผู้ป่วยแบบองคฺรวมนั้นเป็นเรื่องที่ต้องรู้

ทำไม?

ปรัชญาที่สำคัญที่สุดของแพทย์คืออะไร ก็คือ การเห็นแก่ประโยชน์เพื่อนมนุษย์อันดับหนึ่ง อะไรก็ตามที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ตรงนี้ เป็นสิ่งที่ "ต้องรู้" วิชาชีพของแพทย์นั้น golder goal คือ เพื่อ "คุณภาพชีวิต" (quality of life) ใช่ไหมครับ ทีนี้ถ้าวัตถุประสงค์ในการทำงานของเรา ต้องการให้ผู้ป่วย (และประชาชนธรรมดาๆ) มีคุณภาพชีวิตที่ดี เรา "ต้องรู้" ว่าอะไรประกอบเป็นคุณภาพชีวิตที่ดี นี่คือที่มาของสาระแห่ง "องค์รวม" เพราะมนุษย์นั้นมีหลายมิติในการมีทุกข์ มีสุข WHO ให้มาสี่มิติได้แก่ กาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ ขณะที่ผู้ป่วยมาหาเราเพราะมีทุกข์นั้น ถ้าเราเน้นแต่ bio อย่างเดียว บางทีๆตรวจหมดแล้วไม่เจออะไร ก็หาว่าคนไข้แกล้งทำ หาว่าสำออย หาว่าจะเอาใบรับรองแพทย์ปลอม หารู้ไม่ว่า psychosomatic ปัญหาทางกายที่เกิดนั้น บางอย่างมันมาจากทางใจก็ได้ ปัญหาทางสังคมก็กระทบถึงทางกายและใจได้ ปัญหาทางจิตวิญญาณยิ่งสามารถกระทบต่อทางกาย ทางจิต ทางสังคมได้

เรื่องที่ "ต้องรู้" นั้นหมายถึงเป็นสิ่งพื้นฐานสำคัญที่แพทย์ต้องมี "ติดตัว" อยู่ตลอดเวลา เช่นความรู้ bio ในส่วน emergency ในส่วนการวินิจฉัยและรักษาเบื้องต้นเพื่อส่งต่อ ในส่วนที่ต้องรู้ว่าอย่างนี้จะประทังอาการไว้ก่อนอย่างไร แล้วส่งไปหาผู้เชี่ยวชาญ ที่เหลือก็เป็นสิ่งที่ "ควรรู้" ลืมบ้างก็ได้ เพราะลืมก็ยังทราบว่าจะไปเปิดตำรา จะไปหาคำตอบได้ที่ไหน

พื้นฐานทางจริยธรรม จริยศาสตร์นั้น มันออกกับการแสดงออก ออกมากับอวจนภาษา การตีคุณค่าคนหรือไม่ตี คนไข้รับรู้ได้ครับ เขารู้ว่าหมอคนนี้ทำหน้าอย่างนี้เวลาเขาไปเอายาหม้อมากิน หมอคนนี้เข้าใจ คนนี้ไม่เข้าใจ คนนี้รังเกียจ คนนี้คิดว่าเขางมงาย ฯลฯ จริยธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการให้ "ติดตัว" แพทย์ที่จบออกไป และอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ "ต้องรู้" การซักประวัติ การ approach แบบองค์รวมเป็นการสืบหาว่าคนไข้ทุกข์ "จากอะไร" เราจะวินิจฉัยได้แม่นยำขึ้น เราจะวางแผนการรักษาได้ดีขึ้น เราจะไม่หลงทางในการเข้าใจผิด หรือคิดตำหนิคนไข้ว่าเป็นโรคจิต หรือว่าสำออย เราจะเข้าอกเข้าใจและมีเมตตาคนไข้ สิ่งเหล่านี้มันจะไม่ถูกเปิดอ่าน หรือค้นคว้าตอนจบไปแล้วหรอกครับ มันต้องเพาะ ต้องสร้างมาเป็นเวลานานตั้งแต่ตอนเรียน จึงเป็นสิ่งที่ "ต้องรู้"



Posted by : Phoenix , Date : 2006-01-19 , Time : 16:26:55 , From IP : 172.29.3.150

ความคิดเห็นที่ : 17


   ถ้าอาจารย์มาเรียนดูจะรู้เลย ว่าไม่ใช่อย่างที่อาจารย์บอก
ที่ผมกำลังเรียนอยู่มัน เอ่อ... ค่อนข้าง ไสยศาสตร์ (รึเปล่า)
ขอถามอาจารย์ว่านอกจากเอาไปเข้าใจผู้ป่วยแล้วเนี่ย
อาจารย์จะเอาวันเกิดไปรักษาคนมั้ยครับ? จะดูผู้ป่วยแล้วนั่งเพ่งดูธาตุไหม?
ผมเป็นคนที่ค่อนข้างยึดติดกับอะไรๆที่มันมีเหตุผลน่ะครับ
แล้วที่อาจารย์บอกว่าผู้ป่วยเอายาหม้อมากิน
เป็นผม ถึงผมไม่เรียนBlockนี้ผมก็น่าจะManageได้ครับ
เพราะเมื่อก่อนบ้านผมก็ใช้อะไรๆแบบนี้อยู่ จึงเข้าใจว่าคิดยังไงถึงไปใช้มัน
แล้วยาหม้อเนี่ยเป็นแพทย์แผนไทยไหมครับ?
ผมเคยถามพวกซินแซหรือหมอบ้าน พวกนี้จะตอบมาว่าเป็นยาประจำตระกูล พระบอกมา ผีเข้าฝัน ประมาณนี้
ผมว่าเอาเวลามาเรียนนี้ไปเรียนพวกPsychiน่าจะworkกว่านะครับ


ปล กลายเป็นกระบวนการ 5 ไปแล้วจ่ะ


Posted by : หัวเขียว , Date : 2006-01-19 , Time : 21:07:46 , From IP : 172.29.4.216

ความคิดเห็นที่ : 18


   สิ่งที่ผมอยากจะบอกนะครับผมก็เห็นว่าวิชานี้เป็นสิ่งที่ควรรู้นะครับ แต๋ เฉพาะบางส่วนเท่านั้นนะครับ เช่น ในส่วนของประวัติศาตร์ ชนิดและคุณสมบัติของสมุนไพรต่างๆ การปรุงยา แต่ มันก็ยังมีสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยนะครับไม่ว่าจะเป็น เรื่องการดูธาตุเจ้าเรือนจากเดือนเกิด แล้ว มาบอกว่าคนเกิดเดือนนี้เป็นอย่างนี้นะ ต้องทำอย่างนี้นะผมไม่เห็นด้วยนะ มันเอาอะไรมาพิสูจน์หรอครับ อีกเรื่องคือเรื่องการไปเดินป่าเก็บสมุนไพร ทำไมเราต้องไปเก็บเองด้วยครับในเมื่อผมคิดว่าเราแค่รู้จักชนิด ประโยชน์ โทษ ของมันก็พอแล้วนิครับ
อีกเรื่องคือเรื่องของความเหมาะสมของเวลา ผมคิดว่าไม่ควรจะนำเรื่องนี้มาเรียนก่อนการสอบ NT แค่หนึ่งเดือน มันจะทำให้เวลาที่ผมจะได้อ่านเนื้อหาที่ใช้สอบที่มีอยู่น้อย ลดลงไปอีก ควรจะไปจัดไว้เรียนช่วงอื่นดีมั้ยครับ


Posted by : หัวเหลือง , Date : 2006-01-19 , Time : 21:33:46 , From IP : 172.29.4.147

ความคิดเห็นที่ : 19


   content กับเวลาจะmatch กันได้อย่างไร
ปีหนึ่งเรียนเพื่ออะไร รู้จักปรับตัว สังคม หรือต้องการวิชาการ ส่วนตัวผมว่าเราไม่ได้รู้จักเพื่อนต่างคณะมากขึ้นจากปีหนึ่งเพราะเราก็เรียนแต่กลุ่มของเรา บางวิชาเรียนซ้ำกับ ม.ปลาย หลายวิชาปัจจุบันยังไม่เห็นผล history med commed ehtic biochem physio เป็นไปได้ไหมที่จะเรียนตอนปีหนึ่ง แค่ความเห็นและข้อสงสัยเล็กๆที่งงๆมานานเหมือนกัน
ผมว่าทุกอย่างจะลงตัวครับถ้าเป็นการจัดการแบบ down top &top down มาพบกันตรงจุดหนึ่งที่ถอดหัวโขนคุยกัน


Posted by : mumoo , Date : 2006-01-19 , Time : 21:36:40 , From IP : 172.29.4.102

ความคิดเห็นที่ : 20


   องค์รวมทางด้านกาย จิต สังคม นั้น คงเป็นเรื่องที่ "ต้องรู้" อย่างที่อ.บอกนั่นแหละครับ
แต่ในเรื่องของ แผนไทยในแบบที่ดูธาตุ ดูวันเกิด ผมว่า "ไม่" น่าจะอยู่ในหัวข้อที่ "ต้องรู้" หรือ "ควรรู้" เลยนะครับ หากจะจัดคงอยู่ในประเภท "น่ารู้" เสียมากกว่า
และอื่นๆ อย่างพวก พืช ผัก สมุนไพร พื้นบ้าน ผมว่า ก็ "ควรรู้" แต่การจะให้เดินป่าหาสมุนไพรนั้น คง "ไม่ควรทำ" เป็นแค่ "น่าทำ"
แค่ความคิดเห็นส่วนตัวน่ะครับ


Posted by : P|atino , Date : 2006-01-19 , Time : 23:28:07 , From IP : 172.29.4.226

ความคิดเห็นที่ : 21


   เวลาที่คนเรารับรู้เรื่องราว และเชื่ออะไรนั้น มีสอง mode ใหญ่ๆ คือ ตรรกะ ได้แก่การใช้เหตุผล ผ่านทาง frontal lobe และอีก mode หนึ่งมาทาง อารมณ์ ได้แก่ ความรู้สึก ความเชื่อ ศรัทธา ผ่านทาง limbic system

ทราบไหมครับว่ากิจกรรมที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ ใช้ modes ทั้งสองนี้ในสัดส่วนประมาณเท่าไร?

1:24 หรือ 96% เป็นส่วน emotional ครับ ไล่ตั้งแต่ตื่นมาทำอะไรก่อน/หลัง หยิบเสื้อกางเกงตัวไหนมาใส่ หยิบกิ๊บอะไรมาติดผม กินหรือไม่กินข้าวเช้า ฯลฯ น้อยมากที่เราใช้ "ตรรกะ" debate ภายในหัว "ก่อน" ที่เราจะแปรงฟันว่าแปรงเพราะเพื่อปากสะอาด เหงือกและฟันแข็งแรง กินข้างเช้าเพื่อให้มี calories เพียงพอสักเท่าไหร่กับการเรียนเช้านี้

ที่มีอาจารย์กำลังบอก (ไม่อยากจะเรียกว่าสอนหรอกครับ เพราะดูจะเชื่อยากเหลือเกิน) ว่าให้รู้กว้างไว้ว่ามีอะไรที่ชาวบ้านเขาเชื่อบ้าง ไม่ได้แปลว่าให้เราไปเชื่อหรือวิเคราะห์ว่า astrology มันมี mechanism อย่างไรในการกำหนดดวงชะตาคน แต่ประเด็นสำคัญคือ มีคนเชื่อ เรื่องแบบนี้ และแบบอื่นๆที่เรายังคิดไม่ถึงอีกมากมาย

คุณหัวเขียวบอกว่ายึดติดกับเหตุผลนั้นส่วนหนึ่งดีครับ แต่เรื่อง spiritual เรื่องของศรัทธา เรื่องของศาสนาและจิตวิญญาณนั้น มันใช้เหตุผลรึเปล่านะครับ? ทราบหรือไม่ว่านอกจาก physics แล้ว ยังมี metaphysics ที่เป็นศาสตร์อยู่ด้วย ยังมีปรัชญา และอภิปรัชญาที่เปนศาสตร์อยู่ด้วย?

ประเด็นสำคัญคือเรามีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อเราเจอเรื่องที่เรา "ไม่เห็นด้วย"? นี่คิอสิ่งสำคัญครับ ถ้า "ใจ" ของเราไม่ยอมรับ ไม่เปิดกว้าง ถึงเราไม่พูด อากัปกิริยาเราก็บ่งบอก สีหน้าเราก็บอก เวลาเราพูดถึงเรื่องนั้นลับหลังให้คนอื่นฟังวยิ่งบ่งบอก แล้วในที่สุดสิ่งที่เราเชื่อ หรือไม่เชื่อ สิ่งที่เราคิดว่าไร้สาระ ไม่มีเหตุผลนั้นก็จะรับรู้โดยคนไข้จนได้

คุณ Mumoo บอกว่าขอเรียน ethics ตอนปีหนึ่งได้ไหม ตอนปีหนึ่งจะเข้าใจไหมครับว่าอะไรคือ refusal of treatment ไม่ต้องปีหนึ่งก็ได้ครับ ตอนปีสามนี่แหละ Bioethics นั้นแพทย์ต้องเรียนรู้ "ตลอดชีวิต" ครับ ใครที่คิดว่าจบแพทย์แล้วจะสลัดวิชา bioethics ก็ขอแจ้งข่าวร้ายได้เลย ถึงแม้ว่า Principle of Ethics มีแค่ 4 ข้อ แต่ possible scenario มันมีเป็นล้านๆแบบ เพราะชีวิต ความมีปฏิสัมพันธ์ของคนและความเห็นคุณค่าของชีวิตของคนน้นมันช่างต่างกันได้มากมาย ลองเอาโจทย์ ethics เล่นๆไปสักนิดก็ได้ครับ ถ้าชาย 65 ปี มาที่ ER หมอตรวจพบ gas gangrene รอบๆแผลที่หัวแม่เท้าขึ้นมาถึงข้อเท้า หมอบอกว่าต้องตัดขาระดับต่ำกว่าเข่า คนไข้ไม่ยอม หมอจะทำอย่างไร? หรือถ้าอีกแบบนึง ถ้าชายคนนี้มาลูกอายุ 8 ขวบมาแทน ที่เป็นมี gas gangrene ที่ข้อเท้า และไม่ยอมให้หมอตัดขาลูก หมอจะทำอย่างไร? ลองพิจารณาดูครับว่า bioethics จริงๆนั้น มันต้องมาจากทั้งความรู้ที่หนักแน่นทาง bio และทางจริยศาสตร์ และนำมาใช้อย่าง compassion เพียงไร ที่นักศึกษาปีหนึ่งนั้น ไม่มีทางที่จะเข้าใจและเรียนรู้ได้หมอหรอกครับ (ต่อให้เรียนจนถึง resident ก็เถอะ) คุณ mumoo คิดว่ามีมหาวิทยาลัยที่สอบถามนักเรียนปีหนึ่งคณะแพทย์ว่าอยากจะเรียนอะไรก่อนหลัง มากน้อยแค่ไหนด้วยหรือครับ? การมาสมัครเลือกเรียนนั้น ผมเข้าใจว่าตอนสัมภาษณ์น่าจะมีการ clear เรื่องระบบการเรียน เรื่องอะไรที่ต้องทราบ ต้องกระทำไปแล้วรึเปล่า?

คนเราสามารถเรียนรู้อะไรได้แตกต่างจากคนอื่นนั้น เป็นเพราะส่วนหนึ่งคือ attitude ในตอนเรียนนี่แหละครับ Michael Faraday สามารถบันทึกข้อสังเกตของเทียนไขที่จุดไฟหนึ่งเล่มได้ถึงร้อยกว่าหัวข้อ ถ้าคนเราพยายามเปลี่ยนโอกาสทุกโอกาสเป็นการเรียนนั้น มันได้เรียนแน่นอน

พวกหมอยังมีเหตุการณ์สำคัญๆต่อชีวิตที่จะเจอมากกว่า NT มากมายนักครับ และการสอบ NT นี้ เป็นการวัดผลการเรียนสามปีครับ ไม่ใช่ผลการเร่งอ่านหนังสือสามเดือน และผมคิดว่าคณะฯพร้อมจะยอมรับผลที่เกิดขึ้นครับว่านักเรียนของเราได้อะไรแค่ไหน (ไม่ยอมรับจะให้ทำอย่างไร?)



Posted by : Phoenix , Date : 2006-01-20 , Time : 00:44:53 , From IP : 58.147.119.202

ความคิดเห็นที่ : 22


   ผมค่อนข้างสนใจการรับรู้เรื่องยาหม้อของคุณหัวเขียวพอสมควรทีเดียว

จาก"ประสบการณ์" ของคุณหัวเขียวจะสรุปได้หรือไม่ว่ายาหม้อคือะไร? ทุกหม้อเหมือนที่คุณหัวเขียวทราบว่าคืออะไร (หรือคิดว่าทราบว่าคืออะไร) หรือไม่? คิดว่ายาหมือมีกี่ตำหรับ และทุกตรับมีประสิทธิภาพ (หรือไม่มีประสิทธิภาพ) เป็นอย่างไร?

จริงหรือครับที่เชื่อทุกอย่างโดยตรรกะ?

เคยเห็น CD4+CD8+ เข้าต่อมไทมัส แล้วออกมาเป็น CD4+CD45+ ไหมครับ ตามตำราว่าอย่างนั้น เชื่อเพราะตำราบอกหรือว่าเพราะใช้ตรรกะ? ที่ท่องเภสัชตำหรับว่า antibiotics กลุ่มนี้สำหรับเชื้อกลุ่มนี้นั้น เพราะตำราเขียนไว้ หรือว่าเพราะใช้ตรรกะ เหตุผล? แล้วที่เซลล์หน้าตาไม่เข้าท่าร่างกายไม่รับมันก็ฆ่าตัวตายไปเองนั่น เชื่อเพราะเหตุผลหรือว่าเพราะอะไรครับ?

ทั้งตำราฝรั่ง ตำราไทย ตำราจีน ฯลฯ มาจากการ observe ตามวิธีการ observe กว่าจะเป็นตำราแผนปัจจุบัน ตำราแผนไทย ได้ คิดว่ามัน case ที่ประสบความสำเร็จสักแค่ไหนครับ? คิดว่าบรรพบุรุษแพทย์ของไทยสังเกตอยู่มากน้อยแค่ไหนก่อนจดบันทึกลงไปเป็นตำรา

และเชื่อตามตำรานี่เป็น "ตรรกะ" กระนั้นหรือ?

คุณหัวเขียวจะเอาเวลาไปเรียน psychi ผมยิ่งสงสัยมากขึ้น Psychiatry นี่ คุณหัวเขียวคิดว้ามันเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจตรระกะเป็นส่วนใหญ่ หรืออารมร์เป็นส่วนใหญ่ครับ?

แนะนำว่าจะเรียนอะไรก็ตาม อย่าทำตัวเป็นชาที่ล้นถ้วยครับ มันจะเติมอะไรลงไปอีกไม่ได้ จะเปิดแต่ mode ตรรกะ นั้น ทำความเข้าใจก่อนดีไหมครับว่าตรรกะมีข้อจำกัดอย่างไร?

สมัยก่อนที่ชาวบ้านคิดว่าจันทรุปราคาคือราหูอมจันทร์ ก็เพราะตรรกะที่ว่าเอาฆ้อง เอาฉิ่งฉาบกลองมาตีไล่ทีไร ราหูมันก็หนีไป ถ้ามันไม่ได้ยิน มันจะหนีไปได้อย่างไร สมัยนั้นก็ดูสมเหตุสมผล เป็นตรรกะดี จริงไหมครับ เปิดประตูการรับรู้ไว้มากๆเถิดครับ มีแต่ผลดี surprise จะได้น้อยลง ข้อสำคัญจะเข้าใจคนไข้ดีขึ้น เข้าใจชีวิตดีขึ้น



Posted by : Phoenix , Date : 2006-01-20 , Time : 01:55:02 , From IP : 58.147.119.202

ความคิดเห็นที่ : 23


   ผมจะไม่ทำตัวเป็นชาล้นแก้วละกันครับ จะทำตัวเป็นยาผีบอกล้นหม้อแทน
อีกอย่างแนะนำใหคุณmumoo จะตัดขาหรือไม่ ไปดูวันเกิดผู้ป่วยสิเผื่อช่วยได้
ขำๆน่ะครับ อย่าเครียด
เรื่องยาหม้อเนี่ยผมไม่รู้หรอครับว่ามีกี่ตำหรับ จะว่ามันดีหมด คงไม่ใช่ จะเลวซะหมด ก็คงไม่ใช่เช่นกัน
แต่จะให้ผมไปเชื่อ ซินแซที่ฟังๆกันมา ฟังผิดรึเปล่าก้อไม่รู้ หรือจะให้ไปเอายาจากคนที่ฝันว่าผีมาบอกสูตรยาแล้วไปใช้เนี่ย ผมรับไม่ได้น่ะครับ
หรือว่าผมควรเชื่อดี? งั้นอย่าเรียนหมอเลย กินยานอนหลับรอให้ผีมาบอกสูตรดีกว่า
ส่วนที่อาจารย์ถามว่าเรียนpsychiใช้อะไรเป็นส่วนใหญ่ ผมไม่ทราบหรอกนะครับ ผมก็คงจะใช้ทั้งคู่แหละครับ จะวัดว่าอะไรมากกว่าน้อยกว่า มันไม่มีหน่วย ผมบอกไม่ได้หรอกครับ คงบอกได้แค่ว่าใช้ทั้งคู่อย่างเหมาะสม ส่วนความจริงเป็นอย่างไรนั้น ช่วยบอกด้วยนะครับ
ส่วนเรื่อง CD4+ CD8+ ที่อาจารย์กล่าวไปนั้น ผมจะไปหาอ่านดูนะครับ คงเป็นควรรู้ คณะถึงไม่ได้ใส่ในหลักสูตร(หรือว่าน่ารู้)
และเรื่องสุดท้าย ผมเชื่อ"ทุกอย่าง"โดยใช้ตรรกะนั้นจริงหรือ ขอตอบว่าไม่จริงครับ ผมเองก็บอกไปแล้วว่าค่อนข้างยึดติด ไม่ใช่100%นะครับ ส่วนสาเหตุนั้น เพราะผมก็ทำได้แค่เอาข้อมูลจากหลายๆแหล่งแล้วก็คัดเอาอันที่น่าเชื่อถือไว้โดยเฉพาะที่มีทดลอง สำรวจ อันไหนที่ไม่ใช่ก็จำๆไว้บ้างครับ
อย่างงี้ดีหรือเปล่าครับ?

ไม่โดนกับตัวเอง ไม่มีทางรู้


Posted by : หัวเขียว , Date : 2006-01-20 , Time : 04:14:35 , From IP : 172.29.4.216

ความคิดเห็นที่ : 24


   เรื่องบางเรื่องไม่สมควรพูดใน class นศพ.ด้วยซำ คิดก่อน ให้กำเนิด lacture นั้นสิครับ เรื่อง ไม่วิทยาศาสตร์ พอได้แล้ว
รากเหง้า ของเราอันนี้ผมว่าไม่เกี่ยว ผมเป็นหมอเพราะพร้อมรักษาคนทั้งโลก รับทุกวัฒนธรรมและวิทยาการ ไม่ยึดติด ไม่ผูกมัด
หมอนะครับ the master and commander ต้องนำได้อย่างมีความคิด ผมไม่เคยดูธาตุเจ้าเรือน แต่ผมก็ ทำเต็ม steam ผ่านมาได้ ชีวิต ไม่ใช่เรื่องตลก และไม่ใช่การระบายสีนำ (ยุติการสร้างภาพเถิด)


Posted by : i will go pataya , Date : 2006-01-20 , Time : 06:58:34 , From IP : 172.29.4.214

ความคิดเห็นที่ : 25


   ถ้าน้องคิดว่าเราเรียนเป็นแพทย์เพื่อตัวเอง ทุกอย่างก็ควรต้องถูกตัดออกหมดเพื่อให้น้องได้สอบNTผ่าน
แต่ถ้าน้องเรียนแพทย์เพื่อผู้ป่วยของน้องจริงๆในอนาคต สิ่งที่จะผ่านเข้ามาในชีวิตน้องๆตอนนี้ไม่ว่าวิชาอะไรก็ตาม มันก็จะมีความหมายกับตัวตนของน้องในปัจจุบันและนั่นก็คงมีผลต่อผู้ป่วยของน้องในอนาคต......
ลองทบทวนดูว่าเรียนเพื่ออะไร


Posted by : aries , Date : 2006-01-20 , Time : 07:13:08 , From IP : 172.29.7.222

ความคิดเห็นที่ : 26


   คุณหัวเขียวครับ

สงสัยผมจะพิมพ์ยาวไป สื่อเลยค่อนข้างตกบกพร่อง ผมไม่ได้บอกให้คุณหัวเขียวเชื่อหรือไม่เชื่ออะไรเลยเท่าที่ผ่านมา ขอให้เรียนรู้โดยเปิดรับตอนแรกไว้ก่อน เพราะนี่เป็นวิธีที่เราจะ "เข้าใจคนไข้" ครับ ไม่ใช่เข้าใจ "วิธีคิด" นะครับว่าเขามีกลไกคิดยังไง เพราะว่ามันซับซ้อน มันมีหลากหลายวิธี และมี background ของอะไรต่อมิอะไรเยอะ ขอให้รับทราบว่าคนเรานั้นมีหลายมิติ และเราจะไม่ "เข้าใจ" ใครได้ง่ายๆ พื้นๆอย่างอ่านตำรา อย่างดูหนังซะทีเดียว

วิธีการ "บอกต่อ" ของตำรายากลางบ้านนั้น อาจจะเป็นธรรมเนียมได้หรือไม่ว่าต้องมาโดยฝันว่าผีบรรพบุรุษมาให้ยา เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ นี่ยกเป็นตัวอย่างนะครับ (กลัวเดี๋ยวจับเอาไปอภิปรายต่อว่าผีมีจริงรึเปล่า) ไม่ว่าตำหรับยาจริงจะมาอย่างไร สมัยก่อน เขาอธิบายไม่ได้เหมือนกัน คำว่า "ทดลอง ลองผิดลองถูก" มัน "ฟังไม่เข้าที" ในยุคนั้นๆ เป็นสาเหตุที่ในยุคแรกๆ จึงเกิดเทพเจ้า หรือ superstition เกิดขึ้นเยอะ พอคุณหัวเขียวได้ฟังคนไข้บอกปุ๊บว่าขอใช้ยาผีปู่เข้าฝันแล้ว "รู้สึก" ว่ารับไม่ได้จริงๆนั้น สีหน้าท่าทางของคุณหัวเขียวมันก็จะฟ้องออกมาเรียบร้อยแล้วล่ะครับว่ามัน "รับไม่ได้จริงๆ" ลองคิดต่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างหมอและคนไข้จะเป็นยังไงต่อนะครับ

คุณ I will go Pattaya

คุณทราบหมดแล้วใช่ไหมครับว่าที่บรรดาครูอาจารย์ที่เชิญมาน้อมสอนนักเรียนแพทย์นี่ อะไรควรพูด ไม่ควรพูด? เรื่อง Bioethics นี่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ครับ ถ้าคุณ I will go Pattaya บอกว่าทนไม่ได้ทีจะต้องเรียน non-science คงจะลำบากมากทีเดียวครับในอนาคตอันใกล้นี้

ความหมายของ "เข้าใจรากเหง้าตนเอง" นั้น เกี่ยวกับทุกวงการครับ ลองคิดดูดีๆ ก่อนจะประกาศว่าอะไรไม่เกี่ยว หรือเกี่ยวมากน้อยแค่ไหน คนเรานั้น ควรเข้ารู้ถึงที่มาของตนเอง รู้ถึงที่มาของวิชาชีพตนเอง ศึกษาเข้าใจที่มาของจิตวิญญาณของงานที่เรากำลังจะทำครับ เรื่องบางเรื่องผมอาจจะไม่ encourage ให้พวกคุณใช้เวลาศึกษาที่มาของอาชีพมากนัก เช่น ขายบะหมี่ หรือ ก่อสร้าง แต่วิชาชีพแพทย์นี่คุณต้องเข้าใจคน ต้องเข้าใจชีวิตคน จะเข้าใจได้ ทุกๆคนนั้นมีที่มาครับ ที่มาบ่งบอกต่อได้บ้างถึงความคิด ความรู้สึก ความเชื่อ ความศรัทธา

ถ้าคุณ I will go Pattaya คิดว่าผมกำลังสร้างภาพ หรืออะไรที่มันไม่จริง เวลาคุณขึ้น clinic ผมก็จะสอนคุณแบบนี้แหละครับ อาจารย์ aries และอาจารย์ท่านอื่นๆที่สอยจริยศาสตร์ จริยธรรมก็สอนคุณแบบนี้ คุณจะคิดว่าพวกอาจารย์เหล่านี้พูดอะไรในสิ่งที่ไม่สมศักดิศรีนักศึกษาแพทย์ระดับคุณฟัง เอาอะไรที่มัน "ไม่วิทยาศาสตร์" เลยมาระบายสีให้ฟัง มันจะเป็นอุปสรรคต่อการที่คุณจะเป็นแพทย์ที่ดีได้ ลองรับไปพิจารณาด้วยเถอะครับ





Posted by : Phoenix , Date : 2006-01-20 , Time : 07:49:26 , From IP : 58.147.119.202

ความคิดเห็นที่ : 27


   เราว่านะเรียนๆไปเหอะ อย่าโวยวายอะไรเลย
ใครไม่พอใจ ไม่อยากเรียน ก็โดดเลยสิ ง่ายดี
คุณ I will go pataya
Lecture ไม่ใช่ Lacture


Posted by : ปี3 , Date : 2006-01-20 , Time : 15:02:13 , From IP : 172.29.4.157

ความคิดเห็นที่ : 28


   เฮ้อออออ น่าเหนื่อยใจแทน

ถ้ามาคุยกับคนไข้จริงๆ อย่างที่เราคุย แล้วน้องจะรู้

ความเชื่อคนเราเปลี่ยนไม่ได้เลย

นี่ถ้าเราไม่รู้เขา รู้แต่เรา

รบร้อยครั้งแพ้ร้อยครั้งแหละน้องเอ๋ย

ตอนเราอายุน้อยๆ เราก้เคยคิดแบบน้องแหละ

เชื่อในความรู้ที่ตัวเองมี

แต่โลกนี้ มีความรู้อีกเยอะ ศึกษาไม่มีวันหมด ต้องใช้เวลา

ฟังอาจารย์ไว้บ้างก็ดีค่ะ เห็นใจความเหนื่อยของน้องด้วยเหมือนกัน


Posted by : ป้าร่วมวิชาชีพ , Date : 2006-01-20 , Time : 22:23:05 , From IP : 203.113.67.168

ความคิดเห็นที่ : 29


   อืมๆ ปลงซะและ

Posted by : หัวเขียว , Date : 2006-01-21 , Time : 01:30:15 , From IP : 172.29.4.164

ความคิดเห็นที่ : 30


   ในภาพยนต์ The Master and The Commander นั้น Captain Aubrey ประสบความสำเร็จ และรบชนะเพราะอะไร? (หนังคัดมาแค่ episode เดียว เรื่องนี้เป็น series books ยาวเหยียด) เพราะ captain พร้อมที่จะรับฟังและนำเอาความรู้จากทุกชนชั้น จากลูกน้องทุกระดับ เอามาทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

มีอยู่ตอนนึงหมอเคยทักท้วงเรื่องตำนานลูกเรือที่เป็น "กาลี" ภาพยนต์ได้ถ่ายทอดการแสดงออกของ captain ไว้ค่อนข้างน่าดู ส่วนหนึ่งของ captain รู้ว่าลูกเรือส่วนใหญ่ "เชื่อเรื่องนี้มาจริงซะยิ่งกว่าจริง แต่หมอซึ่งเป็นเพื่อน ใช้ logic และวิทยาศาสตร์ไม่เชื่อ จำได้หรือไม่ว่าเขาทำอย่างไรจึงปกครองเรือต่อไปได้?

เมื่อมีลูกเรือนำเอา model ของเรือทั้งลำ ต่อเองจากฝีมือเพื่อน ออกมาจากแค่ความทรงจำ แล้วบอกว่า accurate ทั้สัดส่วน ความหนา โครงสร้าง captain แสดงความคิดเห็นอย่างไรต่อ seaman ธรรมดาคนนั้น?

Captain ฟังเรื่อง camouflage จากหมอและลูกเรืออีกคน มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการรบทางเรือเลยแม้แต่น้อย แต่พอฟังแล้วกัปตันถึงกับบอกว่าวิชานี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าของยุทธนาวีใหม่!!

ถ้าคุณ I will go pataya คิดว่าชอบหนังเรื่องนี้ แต่ quote หนังเรื่องนี้มาต่อต้านการเรียนรู้เรื่องรอบด้านว่าไม่เกี่ยวกับการเรียนแพทย์ ผมแนะนำว่า ภาพยนต์เรื่องนี้ดีครับ ดัดแปลงมาจาก series หนังสือที่ดีที่สุด series หนึ่งของอังกฤษ และ "เน้น" ว่า การเป็นผู้นำนั้น ลูกเรือต้องไว้ใจเขาได้ ไว้ใจเขาได้ว่าอย่างไรบ้าง? ไว้ใจว่าจะพาเขาไปรอดในสงคราม อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีแต่น้ำกับฟ้าชั่วนาตาปี และข้อสำคัญคือ ลูกเรือสามารถนำเอาเรืออะไรก็ได้มาพูด มาคุย มาบอกเล่าให้กัปตันฟัง ไม่ว่ามันจะดูไร้สาระ งมงาย ผีบอกแค่ไหน เพราะเขาทราบว่ากัปตันจะไม่เคยแสดงอะไรที่ดูหมิ่นในความเขื่อของเขา ในทั้ง series นี้กัปตันออร์เบร แสดง WIT แบบนี้มามากมายหลายต่อหลายครั้ง เก็บเอาเกร็ดความรู้สัพเพเหระมากมายดัดแปลงให้เข้ากับยุทธนาวีแล้วประสบความสำเร็จมากมาย

เกี่ยวกับหมอหรือไม่?

ผมว่าเกี่ยว และเกี่ยวอย่างลึกซึ้งด้วย ถ้าเรายอมรับฟังคนไข้อย่างจริงจัง ให้เกียรติในสิ่งที่คนไข้เชื่ออย่างไม่เสแสร้ง เราก็สามารถผูกใจคนไข้ได้อย่างเดียวกับที่กัปตันทำ คนไข้จะยินดีกระทำตามคำแนะนำของเราเพราะว่าเรา "ไว้ใจได้" ความไว้วางใจนั้นไม่ใช่ unilateral ครับ มันเป็นสิ่งที่ต้องแลกกันมา มันเกิดจากการที่หมอ "ยอมรับ" คนไข้ก่อนในสิ่งที่เขาเป็น ในสิ่งที่เขาเชื่อ

ในตอนนี้ผมอาจจะต้อง "ข้อร้อง" ให้คุณ I will go pataya เล่นบทลูกเรือ ไว้ใจอาจารย์แพทย์ในคณะฯว่าจะนำคุณไปถึงท่าเรืออีกแห่งนึง (ไม่ใช่ฝั่งนะครับ) คือท่าเรือแห่งบัณฑิตแพทย์ นั่นคือความเป็นบัณฑิต และความเป็นแพทย์ บางทีเรือมันโคลงเคลงบ้างก็เรื่องธรรมดาเพราะมันอยู่ในทะเล แต่เราทำอย่างนี้มาสามสิบกว่าปีแล้วครับ คณะเรารับฟังคำแนะนำจากทุกสารทิศ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในคณะฯนั้นมีมาโดยตลอด เพียงแต่นักศึกษาร่นหนึ่งๆ จะเห็นก็เพียง curriculum ของปีตนเอง ที่เหลือเป็น "รับฟังมาว่า" ก็ลองพิจารณาไตร่ตรองดู

ดูหนังให้สนุก และดูให้เข้าใจครับ บางทีเราอาจจะ quote หนังเรื่องเดียวกัน และสอนตรงประเด็นกันได้ในอนาคต



Posted by : Phoenix , Date : 2006-01-21 , Time : 04:41:31 , From IP : 58.147.118.150

ความคิดเห็นที่ : 31


   มันเป็นเช่นนั้นเอง~

ปล.ทำไงถึงจะพิมพ์ยาวๆแบบนั้นได้มั่งนะ


Posted by : หัวเขียว , Date : 2006-01-21 , Time : 16:55:57 , From IP : 172.29.4.164

ความคิดเห็นที่ : 32


   ------ ขอยุติบทบาทการเล่นเวปบอร์ดของผมเองลงในการโพสครั้งนี้ครับขอขมา อ.ฟีนิกส์และเพื่อนๆที่เคยเล่นเวบบอร์ดมาหากทำพลาดไปขออภัย -----------



THE TRUST IS THE AXIS.
ALL THE WORLD NEED IS THE TRUST.
i will go pataya
12.36 22/01/2006
THAILAND


Posted by : i will go pataya , Date : 2006-01-22 , Time : 12:45:31 , From IP : 172.29.4.94

ความคิดเห็นที่ : 33


   ผมสนับสนุนการแสดงออก และการพยายามแสดงออกความเห็น ความรู้สึก ในที่สาธารณะครับ และเห็นว่าถ้ามีโอกาสอยากให้ทุกคนทำ ทีนี้การแสดงออกนั้นมันรวมทั้งการรับฟัง การตอบรับ กับความเห็นของคนอื่นๆด้วย

ไม่มีใครทราบจริงๆหรอกครับว่าที่ทำมันพลาดหรือมันตรง แต่วิธีที่ดีที่สุดถ้าคิดว่าพลาด ไม่ใช่หยุดครับ แต่เป็นปรับปรุงแก้ไข น่าจะดีที่สุด



Posted by : Phoenix , Date : 2006-01-22 , Time : 13:23:36 , From IP : 58.147.117.168

ความคิดเห็นที่ : 34


   ขี้งอนจิงๆเล้ย
พับผ่า
เรียนรู้จากความผิดพลาด ประวัติศาสตร์สอนไว้งั้น


Posted by : หัวเขียว , Date : 2006-01-22 , Time : 16:36:47 , From IP : 172.29.4.164

ความคิดเห็นที่ : 35


   เราว่าเรียนตอนนี้ก็ดีนะ เพราะเวลาว่างเยอะกว่า block อื่นๆเนื่องจากไม่ต้องเน้นอ่าน pbl แต่มันก็มีเหนื่อยหน่อยก็ตรงที่ต้องเดินทางไปๆมาๆเนี่ยแหละแต่ถ้าคิดว่าไปคลายเครียดก็จะหายเครียดนะ เอาเป็นว่ามองแต่มุมดีๆดีกว่านะเพราะพวกเราก็เครียดกันเรื่องสอบ NT มาเยอะแล้วอย่าหาเรื่องอื่นที่ทำให้ต้องเครียดเพิ่มมาใส่หัวอีกเลย อาจารย์ให้ทำอะไรก็ทำไปแล้วพยายามมองในมุมดีๆเข้าไว้นะ สู้ๆ

Posted by : แดจังกึม , E-mail : (p@hotmail.com) ,
Date : 2006-01-22 , Time : 22:03:44 , From IP : 172.29.4.193


ความคิดเห็นที่ : 36


   ยังไงๆกระทู้หัวเหลืองคงไม่ป๊อปปูลู่เท่าของDogTorเนอะ

Posted by : หัวเขียว , Date : 2006-01-23 , Time : 12:34:13 , From IP : 172.29.4.69

ความคิดเห็นที่ : 37


   ผมเป็นรุ่นพี่คนหนึ่งที่ผ่านการเรียนรายวิชาข้างต้น ผมมองในแง่ดีนะครับ ผมเห็นด้วยกับคำกล่าวของอาจารย์ทั้งสอง รายวิชามีประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ โดยเฉพาะเมื่อซักประวัติผู้ป่วยพบว่าการเอาแต่ Content อย่างเดียวแบบตามตำรา มันเป็นไปไม่ได้ การรอบรู้เรื่องเหล่านี้กลับมีประโยชน์มากต่อการสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้ได้ซึงข้อมูล อันเป็นประโยชน์ต่อการรักษาแน่นอนครับ
อีกอย่างครับ น้องหัวเขียวครับ พี่ว่าภาษาที่น้องใช้กับอาจารย์มันไม่ค่อยสุภาพนะครับ ควรให้เกียรติอาจารย์ถึงแม้เป็นการอภิปรายในกระดานข่าวครับ


Posted by : Tachyon , Date : 2006-01-26 , Time : 02:41:33 , From IP : 172.29.4.132

ความคิดเห็นที่ : 38


   ขอบคุณที่เตือนครับ ผมเป็นอย่างนี้แหละครับพี่ ผมเคารพอาจารย์นะครับ แต่บางทีผมพิมพ์ไปเรื่อย ไม่ได้กลับมาเกลาน่ะครับ มันเลยเป็นแบบนั้น
ขออภัยอาจารย์ทุกท่านด้วยที่ผมใช้ภาษาไม่สุภาพ
ขออภัยอย่างสูงครับ

ปล ถ้าเป็น อันนี้ ผมบอก I will go pataya น่ะครับ ไม่ใช่อาจารย์
ขี้งอนจิงๆเล้ย
พับผ่า
เรียนรู้จากความผิดพลาด ประวัติศาสตร์สอนไว้งั้น

Posted by หัวเขียว() 2006-01-22 , 16:36:47 , 172.29.4.164


Posted by : หัวเขียว , Date : 2006-01-27 , Time : 00:31:49 , From IP : 172.29.4.195

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.015 seconds. <<<<<