ความคิดเห็นทั้งหมด : 2

วันนี้...กฟผ. พรุ่งนี้...ประเทศไทย


   วันนี้...กฟผ. พรุ่งนี้...ประเทศไทย

หากจะพูดกันชัดๆ ตรงๆ ไม่ต้องเสียเวลา และไม่ต้องมากมารยาท เรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในวันนี้ก็คือ เรื่องของคอร์รัปชั่นนั่นเอง เป็นอภิมหาคอร์รัปชั่นเลยทีเดียว คอร์รัปชั่นประเภทนี้มีลักษณะพิเศษก็คือว่า ไม่ใช่แบบชักหัวคิวกันง่ายๆ อย่างที่เราเห็นกันดาษดื่นทั่วไป แต่เป็นคอร์รัปชั่นที่มีแง่มุมในเชิงศิลปกรรมสูง นอกเหนือจากมีความโหด มันส์ ฮาแล้ว มันยังมีแง่มุมของความสวยงามประกอบอยู่มากมาย มันไม่เพียงแต่โหดกว่าในอดีต อำมหิตกว่าในอดีต มันส์กว่าในอดีต แต่วันนี้มันแนบเนียน นุ่มนวล สุขุม และลุ่มลึก จนการคอร์รัปชั่นรูปแบบนี้ได้กลายไปเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ซึ่งเราเรียกกันว่า “วิจิตรโจรกรรม” แล้วก็บังเอิญที่เราได้ผู้ที่มาประกอบวิจิตรโจรกรรมที่มีความสามารถสูง ในระดับที่ผมคิดว่าน่าจะได้รับการยกย่องสรรเสริญให้เป็นศิลปินแห่งชาติในสาขาวิจิตรโจรกรรมนี้เลยทีเดียว
นอกจากจะมีมูลค่ามหาศาลแล้ว วิธีการยังแนบเนียนและยอกย้อน และไม่ได้ทำกันทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่เด็กๆ จะสามารถทำได้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในระดับสูง มีขนาดใหญ่ มีความซับซ้อน และถูกกฎหมายทั้งสิ้น ที่คอร์รัปชั่นแบบนี้เป็นกิจกรรมที่ถูกกฎหมาย ก็เพราะคนที่ทำการคอร์รัปชั่นนั้นเป็นคนเขียนกฎหมายเอง ถ้ายังไม่พอใจกฎหมายก็สามารถที่จะแก้กฎหมายได้ และในระหว่างดำเนินการคอร์รัปชั่น ก็มีที่ปรึกษากฎหมายที่ยอดเยี่ยมระดับเนติบริกรมาให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวก เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกต้องตามกฎหมายทุกตัวอักษร นี่ก็เป็นสภาพที่เกิดขึ้น
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขออนุญาตยกตัวอย่างตรงๆ ง่ายๆ ที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และพวกเราก็คงมีส่วนรับรู้รับเห็นอยู่พอสมควรแล้ว ก็คือเรื่องของการแปรรูป กฟผ. แต่ผมจะขอยกบางแง่มุมมาแสดงเพียงแค่ 4 ประเด็นเท่านั้น
ประการแรก หากเราถามรัฐบาลว่าคุณเอา กฟผ. ไปขายในตลาดได้ยังไง เพราะ กฟผ. มีทั้งสายส่ง มีทั้งเขื่อน มีทั้งเหมืองถ่านหิน รัฐบาลก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก แท้จริงแล้วเราขาย กฟผ. แต่เราไม่ได้ขายเขื่อนไปด้วย เขื่อนนั้นเราโอนไปไว้กับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง รัฐบาลยังเป็นเจ้าของเขื่อนเหมือนเดิม แล้วก็ให้ กฟผ. ซึ่งวันนี้ไม่ใช่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตอีกต่อไป แต่เป็น บมจ.กฟผ. เข้ามาเช่า วิธีการเช่าก็ไม่ยากเย็นอะไร เขื่อนทั้งหมด 21 แห่ง ตีมูลค่าออกมาประมาณ 23,000 ล้านบาท มีพื้นที่ประมาณ 38,000 ไร่ รัฐบาลก็ตีราคาค่าเช่าให้กับ บมจ.กฟผ. 30 ปี เป็นเงินทั้งหมด 9,443 ล้านบาท ถ้าเอา 30 หาร ก็คงตกประมาณปีละ 300 ล้านบาท
เขื่อนทั้ง 21 แห่งนี้ก็สามารถนำมาปั่นไฟได้โดยแทบจะไม่มีต้นทุน เพราะว่าใช้พลังน้ำทั้งหมด วันนี้พลังไฟฟ้าทั้งหมดที่ กฟผ. ขายให้กับผู้บริโภคทั้งประเทศตกประมาณ 130,000 ล้านหน่วย โดย 12% เป็นการผลิตจากกำลังน้ำ ถ้าเอาตัวเลขกลมๆ ว่าผลิตจากน้ำสัก 10% ก็ประมาณ 13,000 ล้านหน่วย แล้วคูณด้วยราคาไฟฟ้าประมาณ 2.50 บาทต่อหน่วย มูลค่าทั้งหมดก็ออกมาประมาณ 32,500 ล้านบาท เอาเศษนิดๆ ประมาณ 300 ล้านบาท มาจ่ายเป็นค่าเช่าเขื่อน อีก 30,000 ล้านบาทเก็บเข้ากระเป๋าไป ทำอย่างนี้ทั้งหมด 30 ปี เป็นเงิน 900,000 ล้านบาท
แต่ไม่ใช่แค่ 30 ปี เพราะรัฐบาลเปิดโอกาสให้ บมจ.กฟผ. สามารถต่อสัญญาได้อีก 30 ปี รวมเป็น 60 ปี ถ้าเอา 60 คูณก็จะเป็น 1.8 ล้านล้านบาท นี่แหละครับ “รวยแล้ว ไม่โกง” คนรวยย่อมไม่โกงทีละเล็ก
ทีละน้อย เพราะถือคติว่า “เล็กเล็กไม่ ใหญ่ใหญ่เอา” สำหรับจำนวนเงิน 1.8 ล้านล้านบาทนี้ เพื่อที่จะให้ท่านทราบว่ามันมากมายขนาดไหน วันนี้งบประมาณแผ่นดินปี 2549 ทั้งปี เท่ากับ 1.36 ล้านล้านบาท คอร์รัปชั่นนี้ขนาดใหญ่กว่างบประมาณ 1 ปีไปอีกเกือบ 50% วันนี้เราไม่ได้พูดถึงการโกงเพียงแค่เก็บหัวคิว 5% 10% 15% อีกต่อไปแล้ว วันนี้คือการโกงใหญ่กว่ามูลค่าของงบประมาณแผ่นดินทั้งปีเลยทีเดียว
ความจริงตัวเลขข้างต้นเป็นการคิดแบบอนุโลม เพราะเราคิดค่าไฟฟ้ากันที่ 2.50 บาทต่อหน่วย ถ้าเราพูดกัน 30 ปีจากนี้ ค่าไฟฟ้าคงจะไม่ใช่ 10 สลึงต่อหน่วยแน่นอน คงจะเป็น 10 บาทต่อหน่วยเสียมากกว่า แล้วถ้าเราพูดกัน 60 ปีจากนี้ เราคงจะโชคดีมากถ้าค่าไฟฟ้ายังไม่ถึง 40-50 บาทต่อหน่วย แต่ว่า บมจ.กฟผ. จ่ายให้กับรัฐบาล จ่ายให้กับประชาชนแค่ 2 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า
แม้เขาจะบอกว่าท้ายสุดกรรมสิทธิ์ของเขื่อนก็ไม่ได้อยู่กับ บมจ.กฟผ. ผมไม่อยากให้เราถูกตบตาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความเป็นเจ้าของที่แท้จริงไม่ใช่เพียงมีชื่อที่แสดงอยู่ในเอกสารสิทธิ์ ผู้ที่เป็นเจ้าของที่แท้จริง คือผู้ที่เป็นคนใช้ เป็นคนตัดสินใจในการใช้ เป็นคนวางแผนการใช้ และเป็นคนได้ประโยชน์จากการใช้ หากผมมีหุ้นจำนวนมาก แล้วยืมชื่อคนรับใช้บ้าง คนขับรถบ้าง เอามาใส่ว่าเป็นเจ้าของ ไม่ได้หมายความว่าคนรับใช้และคนขับรถเป็นเจ้าของหุ้น แต่เจ้าของหุ้นตัวจริงก็ยังเป็นผมเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น การที่เพียงบอกว่าเอาเขื่อน 21 แห่งไปไว้ใต้ชื่อของกระทรวงการคลัง ไม่ได้ทำให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าของ ผู้ที่ใช้ ผู้ที่ควบคุม ผู้ที่วางแผน และผู้ที่ได้ประโยชน์จากการใช้ ก็ยังเป็น บมจ.กฟผ. เหมือนเดิม อย่าสับสนนะครับ หากสับสนนานๆ ครั้งยังพอให้อภัยได้ ว่าเป็นการ “บกพร่องโดยสุจริต” แต่ถ้าทำบ่อยๆ มันจะกลายเป็น “ทุจริตโดยไม่บกพร่อง”
ประการที่สอง บมจ.กฟผ. วันนี้มีส่วนของผู้ถือหุ้น (equity) ประมาณ 170,000 ล้านบาท เอามาจัดเป็นหุ้น 6,000 ล้านหุ้น แล้วก็เพิ่มหุ้นใหม่อีก 2,000 ล้านหุ้น โดยเอา 2,000 ล้านหุ้นนี้มาจัดจำหน่ายให้กับพนักงาน กฟผ. เพื่อลดแรงเสียดทานจำนวน 510 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25.5% และกันไว้สำหรับผู้ลงทุนที่ไม่ประสงค์ออกนามอีก 12.5% คิดเป็น 245 ล้านหุ้น ส่วนที่เหลืออีก 62% หรือ 1,245 ล้านหุ้น เอามาแบ่งขายให้กับประชาชนจำนวน 31% หรือ 622.5 ล้านหุ้น ขายให้กับสถาบัน 12.5% หรือเท่ากับ 249 ล้านหุ้น และขายให้กับผู้ลงทุนต่างชาติ 18.5% หรือเท่ากับ 373.5 ล้านหุ้น
พนักงาน บมจ.กฟผ. รับไปแล้ว 510 ล้านหุ้นที่ราคาพาร์ ใช้เงินซื้อ 10 บาทต่อหุ้น แต่ราคาที่จะขายสู่ท้องตลาด คือ 25-28 บาทต่อหุ้น คิดคร่าวๆ ที่ราคากลาง 26.50 บาทก็แล้วกัน เพราะฉะนั้น พนักงาน กฟผ. จะได้กำไรทันที (capital gain) หุ้นละ 16.50 บาท ถ้าเอามาคูณกับ 510 ล้านหุ้น คิดเป็นเงิน 8,400 ล้านบาท ฟังดูก็น่ากลัว แต่แท้จริงเป็นเพียงเศษเนื้อที่เขาโยนมา เพื่อให้แน่ใจว่าสุนัขจะไม่เห่าเวลาโจรขึ้นบ้าน ขออภัยเพื่อนพนักงาน กฟผ. ด้วยนะครับ แต่ผมเชื่อว่าเขามองอย่างนั้นจริงๆ
ของจริงก็คือส่วนของหุ้นที่ผู้ซื้อไม่ประสงค์จะออกนาม หรือที่เรียกว่า “นอมินี” (nominee) ในส่วนที่ขายในประเทศไทยได้กันไว้ให้นักลงทุนต่างชาติทั้งหมด 373.5 ล้านหุ้น กับอีกส่วนที่ขายให้ผู้ไม่ประสงค์ออกนามจริงๆ อีก 245 ล้านหุ้น เมื่อบวกกันแล้วจะเป็น 618.5 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 31% ของหุ้นทั้งหมด ฟังแล้วคล้ายๆ กับการขายหุ้น ปตท. ซึ่ง 30% ของหุ้นทั้งหมดขายไปให้กับกองทุนนอมินีในสิงคโปร์ 2 กองแต่ชื่อเดียวกัน คราวนี้ต่างไปเล็กน้อยก็คือ 31% แทนที่เราจะเป็น 30% ผมเชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับการขายหุ้นของ กฟผ. จะทำให้สิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับ ปตท. กลายเป็นเรื่องเด็กๆ
ราคาเสนอขายหุ้นของ กฟผ. (IPO) ก็ประมาณ 25-28 บาท คิดกลมๆ เป็น 25 บาทก็แล้วกัน เวลาที่เขาประเมินราคาหุ้นกันในท้องตลาด เขาคำนวณโดยใช้สัดส่วนที่เรียกว่า “ไพรซ์เอิร์นนิ่งเรโช” (price-earnings ratio) หรือเรียกสั้นๆ ว่า P/E หมายความว่าถ้าจะซื้อหุ้นสักตัว ต้องดูว่ามีกำไรมากน้อยสักแค่ไหน ถ้ามีกำไร 1 บาท ราคาหุ้น 10 บาท ก็เท่ากับว่าหุ้นตัวนั้นมี P/E เท่ากับ 10 หมายความว่าถ้าอยากกำไร 1 บาท ก็ต้องลงทุน 10 บาท ถ้าธุรกิจไม่ค่อยดี P/E ก็อาจจะต่ำกว่า 10 ได้ แต่ถ้าธุรกิจดีๆ P/E ก็จะสูง เพื่อสะท้อนลักษณะของธุรกิจ
รัฐบาลก็แสนจะใจดี เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ก็บอกกับประชาชนว่า รัฐบาลจะยกค่าเอฟที (ต้นทุนพลังงานผันแปรในการผลิตไฟฟ้า) ในปี 2548 ทั้งปีให้ประชาชนฟรีๆ ไม่คิดเงิน หารู้ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้กำไรของ บมจ.กฟผ. ทรุดฮวบไปเป็นหมื่นๆ ล้านบาท ทรุดฮวบไปเป็นหมื่นๆ ล้านแปลว่าอะไร กำไรที่เคยมีนั้น ก็ตกไปประมาณ 30-40% เมื่อกำไรตก ราคาเสนอขายหุ้นของ กฟผ. ก็จะตกไปด้วย แล้วก็ใช้กำไรนั้นคิดคำนวณราคาที่จะขายในท้องตลาด หรือที่เรียกว่าราคา IPO ออกมาเป็น 25 บาท ถ้าสมมติเราตัดเหตุการณ์ที่ไม่ปกตินี้ออก เราจะพบว่ากำไรที่ควรจะเป็นสูงกว่ากำไรที่เกิดขึ้นจริงประมาณ 1.6 เท่า ซึ่งก็แปลว่าราคาหุ้น กฟผ. ที่ตั้งไว้มันต่ำไป 1.6 เท่า ดังนั้นราคาที่ตั้งไว้ที่ 25 บาทแท้จริงควรจะเป็น 40 บาท
แต่นั่นก็ยังเป็นราคาที่คิดที่ P/E เท่ากับ 7.5 เท่า หมายความว่ากำไร 1 บาท ราคาหุ้น 7.50 บาท แต่หุ้นในกลุ่มพลังงาน กลุ่มสาธารณูปโภค กลุ่มไฟฟ้า ตัวเลขไม่ใช่ 7.5 แน่ๆ ถ้าคิดกันง่ายๆ โดยเอา P/E ของ ปตท.มาเทียบดูก็จะได้ประมาณ 15 ก็แสดงว่ามันผิดไป 2 เท่าตัว เมื่อเอา 40 คูณด้วย 2 จะได้เท่ากับ 80 บาท เพราะฉะนั้น แปลว่ารัฐบาลเอาของที่ควรมีมูลค่า 80 บาท มาขายในราคา 25 บาท กำไรทันที 55 บาท เอา 618 ล้านหุ้นคูณ 55 บาท เจ้าของกองทุนนอมินีก็จะกำไรถึง 34,000 ล้านบาท
นี่แค่ประเดี๋ยวประด๋าว ก็กำไรเหนาะๆ 34,000 ล้านบาทแล้ว ลองคิดต่อเล่นๆ ถ้าผมเข้าไปยึดกุม กฟผ.ได้แล้ว ผมจะขยับราคาค่าไฟฟ้าขึ้นไปสัก 50 สตางค์ได้ไหมครับ? ถ้าค่าไฟฟ้าจาก 2.50 บาทเพิ่มขึ้นเป็น 3 บาท ทราบไหมครับว่าราคาที่ควรจะเป็นของหุ้น กฟผ. จะพุ่งขึ้นไปเป็น 186 บาทต่อหุ้น ถ้าเอาราคา 186 บาท ลบด้วยต้นทุน 25 บาท แล้วคูณด้วย 618 ล้านหุ้น เป็นเลขกลมๆ ประมาณ 100,000 ล้านบาทพอดีๆ ถ้าผมสามารถขยับราคาไฟฟ้าจาก 2.50 บาทเป็น 3.50 บาท ราคาหุ้น กฟผ. ก็จะพุ่งไปเกือบ 300 บาท ผลกำไรของกองทุน
นอมินีนั้นจะสูงถึง 166,000 ล้านบาท ถ้าราคาไฟฟ้าเป็น 4, 5 หรือ 6 บาทต่อหน่วยจะกำไรกันเท่าไหร่ ก็คำนวณกันเองแล้วกัน ผมไม่กล้า...ขนลุก
ประการที่สาม ผลประโยชน์อีกอันก็คือ ในระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. ไม่ว่าจะเป็น 230 KV, 500 KV หรือ 115 KV สายส่งนี้สอดไส้ตรงแกนกลางด้วยใยแก้วนำแสงหรือที่เรียกว่าไฟเบอร์ออฟติค (fiber optics) หรือออฟติเคิลไฟเบอร์ (optical fiber) ซึ่งสามารถส่งสัญญาณได้จำนวนมหาศาล ถามว่ามากเท่าไหร่ เขาบอกว่าประมาณ 155 Mbps มันมากแค่ไหนอาจจะนึกไม่ออก แต่เวลาถ่ายทอดสดบอลโลกเข้ามา ใช้ประมาณ 1 Mbps ถ้าเป็นระบบ DVD คุณภาพดีหน่อยก็ประมาณ 2-3 Mbps เพราะฉะนั้นอันนี้สามารถที่จะใช้ทำช่องทีวีได้เป็นร้อยช่อง ถ้าเติมเงินอีกนิดหน่อย สามารถขยายช่องสัญญาณอันนี้ได้อีก 32 หรือ 64 เท่า พูดง่ายๆ ก็คือสามารถที่จะสร้าง UBC ขึ้นมาได้อีก 10 บริษัท หรือ 20 บริษัท หรือ 50 บริษัทได้ในชั่วพริบตา
แต่นั่นก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์อันเดียว ความจริงใยแก้วนำแสงสามารถใช้เชื่อมต่อกับสัญญาณโทรศัพท์ได้ ใครก็ตามที่มีอุปกรณ์ปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์มือถือ สามารถมาเชื่อมต่อได้ เพราะฉะนั้นเวลาจะโทรศัพท์จากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ ก็แค่โทรไปถึงสถานี “substation” ในกรุงเทพฯ แล้วสัญญาณก็จะวิ่งไปที่ “substation” ที่เชียงใหม่ คนที่มีโทรศัพท์มือถือที่เชียงใหม่ก็สามารถจะรับได้ทันที โครงข่ายอันนี้จะเป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์ที่สุด ไม่แพ้องค์การโทรศัพท์ หรือ ทศท.คอร์ปอเรชั่น และการสื่อสารฯ
ทว่าเรื่องก็ยังไม่จบ เพราะสายส่งของ กฟผ. เป็นแค่สายหลัก หรือ “trunk line” หรือ “backbone” เท่านั้น จึงยังไม่ถึงบ้านท่าน แต่ถ้าเราผนวกกับสายซึ่งเป็นสายทองแดงของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าไป ก็จะถึงทุกบ้านช่องรวม 15 ล้านครัวเรือน ต่อไปสายทองแดงของท่านจะไม่เพียงนำกระแสไฟฟ้าเท่านั้น ยังสามารถที่จะนำสัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้ามาด้วย อันนี้เราเรียกว่า BPL หรือชื่อเต็มว่า “Broadband over Power Line” หรือ “Power Line Communication” พูดง่ายๆ ปลั๊กไฟที่บ้านท่านอีกหน่อยก็คือแจ๊คโทรศัพท์ อีกหน่อยก็คือแจ๊คสำหรับเสียบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อีกหน่อยก็สามารถที่จะเสียบเคเบิลทีวีช่องใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นมาแข่งกับ UBC ใครก็ตามที่เป็นเจ้าของโครงข่าย กฟผ. บวก กฟน. บวก กฟภ. นี้ ก็คือคนที่จะเป็นเจ้าของโครงข่ายโทรคมนาคมที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศ
สิ่งที่ไม่ปรากฏเป็นข่าวในการแปรรูป กฟผ. ก็คือ การแยกบริษัท กฟผ. ออกมาอีกหนึ่งบริษัทเป็นบริษัทลูก ชื่อ EGAT Telecom ซึ่งเป็นเจ้าของระบบ “fiber optics” ทั้งหมด แต่ EGAT Telecom มีปัญหาที่บริหารไม่เป็น อยากหา “partner” ทางธุรกิจ ผมก็ยังนึกไม่ออกว่าจะเป็นใคร ฝากท่านช่วยคิดให้ผมด้วยนะครับ ใครก็ตามที่โชคดีได้เป็น partner ทางธุรกิจของ EGAT Telecom จะเป็นคนที่มีเครือข่ายโทรคมนาคมที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย
ประการสุดท้าย การแปรรูป กฟผ. ที่กำลังเดินหน้าอยู่นี้ เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการต่อภาพอาณาจักรชินคอร์ปให้สมบูรณ์ วันนี้ภาพจิ๊กซอว์เริ่มลงตัวแล้ว ธุรกิจของ ปตท. เป็นด้านพลังงาน แต่ธุรกิจพลังงานยังไม่สมบูรณ์ถ้ามีเพียงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สายพลังงานจะสมบูรณ์ได้จะต้องมีไฟฟ้าด้วย อันนี้เขาถึงจะเรียกว่า “Energy Sector” ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ถ้าได้ EGAT ด้วย Energy Sector นี้ก็จะสมบูรณ์ Energy Sector อันนี้เราเรียกว่าอะไรรู้ไหมครับ เราเรียกว่า Shin Energy ซึ่งสามารถเขียนเป็นสมการทางคณิตศาสตร์สั้นๆ ง่ายๆ ได้ว่า
PTT + EGAT = Shin Energy
ส่วนโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติคของ EGAT Telecom ก็จะช่วยให้ธุรกิจโทรคมนาคมของชินคอร์ปแข็งแกร่งและสมบูรณ์ ดังนั้น เราจึงสามารถเขียนสมการที่ 2 ได้ว่า
AIS + SATTEL + CS Loxinfo + EGAT Telecom = Shin Telecom
และการควบรวมสถาบันการเงินโดยอำพรางมาในนามของการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ที่ได้เกิดก่อนหน้านี้ไม่นานนัก ก็นำมาสู่สมการที่ 3 คือ
TMB + IFCT + DBS/TDB + Capital OK = Shin Bank
นอกเหนือจาก Shin Energy, Shin Telecom และ Shin Bank แล้ว เราก็ยังมี Shin TV และ Shin Air
สมการผูกเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ก็ต้องแก้สมการด้วย ถ้าท่านถามต่อว่าในฐานะที่คุณวุฒิพงษ์เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ช่วยพยากรณ์เศรษฐกิจเมืองไทยปีหน้าหน่อยได้ไหม? ผมก็ขออาสาพยากรณ์เศรษฐกิจปีหน้าและปีต่อๆ ไปพร้อมกันทีเดียวเลยว่า จะมีลักษณะเป็น “เศรษฐกิจคู่ขนาน” แต่ไม่ใช่คู่ขนานแบบที่รัฐบาลบอกเราหรอกครับ ไม่ได้หมายความว่ามีเศรษฐกิจรากหญ้า มีเศรษฐกิจสากล เพราะว่าเวลารัฐบาลพูดอย่าง ท่านมักจะทำอีกอย่าง รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาล “คิดใหม่ ทำใหม่” หรอกครับ แต่ทว่าเป็นรัฐบาลที่ “พูดอย่าง ทำอย่าง"
เวลาท่านพูดถึงเศรษฐกิจคู่ขนานความจริงท่านหมายความอย่างนี้ ด้านหนึ่งท่านบริหารองค์การโทรศัพท์หรือ TOT และการสื่อสารหรือ CAT ส่วนอีกด้านหนึ่งท่านก็มี Shin Telecom ขณะที่ท่านบริหารการบินไทยและนกแอร์ อีกด้านหนึ่งท่านก็มี Shin Air ของท่าน ขณะที่ท่านบริหาร ช่อง 9 อสมท. และช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์ อีกด้านหนึ่งท่านก็มี Shin TV ต้องดูแล ขณะที่ท่านบริหารธนาคารกรุงไทย ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารอะไรต่อมิอะไรที่รัฐยึดมา รวมถึงธนาคารชาติ และกระทรวงการคลัง อีกด้านหนึ่งก็มี Shin Bank ของครอบครัวที่ต้องคอยใส่ใจดูแล นี่ยังไม่รวมถึง Shin Energy ที่ไร้เทียมทานจนหาคู่แข่งไม่ได้
สำหรับท่านที่มาจากการบินไทยหรือองค์การโทรศัพท์ ก็ไม่ต้องห่วงใยว่ารัฐวิสาหกิจของท่านจะเสียชีวิตลง เพราะดันไปทำธุรกิจแข่งขันกับชินคอร์ป รัฐบาลไม่มีเจตนาจะทำให้ท่านตายหรอก แต่ต้องการจะเลี้ยงไว้ให้เป็นง่อยเท่านั้น เพราะว่ายังมีงานที่ท่านยังจะต้องรับใช้สังคมอยู่ ดังนั้น อะไรที่มีต้นทุนสูงๆ กำไรน้อยๆ เช่น จะต้องลากสายโทรศัพท์ไปในที่ทุรกันดาร ทศท. TOT และการสื่อสาร CAT ก็จะรับไป ส่วนสัมปทานของดีๆ ก็มาทาง Shin Telecom ในทำนองเดียวกัน เที่ยวบินที่ขาดทุนก็ยกให้การบินไทยและนกแอร์ ส่วนเที่ยวบินดีๆ ก็ประเคนให้ Shin Air เศรษฐกิจคู่ขนานในความหมายของรัฐบาลก็คือ ด้านหนึ่งเป็นของประชาชน ก็จะถูกใช้เป็นกระโถนท้องพระโรง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นธุรกิจของเศรษฐีนักการเมืองและวงศ์วานว่านเครือ ก็จะได้รับการดูแลประคบประหงมเป็นอย่างดี
ในท้ายที่สุดแล้ว ขณะนี้เศรษฐกิจไทยถูกบริหารโดยคนเพียงคนเดียว ที่จะเป็นคนตัดสินใจระหว่างผลประโยชน์ของประชาชนคนไทยทั้งชาติ หรือผลประโยชน์ของธุรกิจของตนเองและครอบครัว คำถามก็คือว่า เราจะยอมจำนนเอาชะตากรรมของคนไทยทั้งประเทศไปเป็น “ลูกไก่ในกำมือ” ของเศรษฐีนักการเมืองบางคนอย่างนั้นหรือ?
-----------------------------------------------------------
เรียบเรียงและแก้ไขเพิ่มเติมจากคำบรรยายสาธารณะ ในการประชุมสมัชชาประชาชนต้านคอร์รัปชั่น เนื่องในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2548


Posted by : . , Date : 2006-01-16 , Time : 23:51:55 , From IP : 172.29.7.44

ความคิดเห็นที่ : 1


   
โชคร้ายจริงๆ ที่เกิดเป็นคนไทย มิน่า สามจังหวัดภาคใต้จึงอยากไปขึ้นกับมาเล


Posted by : สืบชาย/กองบิน/สงขลา , Date : 2006-01-23 , Time : 09:53:14 , From IP : 172.29.4.135

ความคิดเห็นที่ : 2


   
โชคร้ายจริงๆ ที่เกิดเป็นคนไทย มิน่า สามจังหวัดภาคใต้จึงอยากไปขึ้นกับมาเล


Posted by : สืบชาย/กองบิน/สงขลา , Date : 2006-01-23 , Time : 09:56:19 , From IP : 172.29.4.135

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<