อยู่แบบพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ
เนื่องในศุภวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 60 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2549 กรุงเทพมหานคร ได้จัดทำ โครงการชีวิตพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ เพื่อแสดงความจงรักภักดีถวายเป็นราชสักการะ เชิญชวนให้ประชาชน จำนวน 1 ล้านคน ร่วมใจกันตั้งปณิธานว่า จะทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของตนเองหรือครอบครัว เพื่อให้เกิดวินัยการใช้จ่าย และมีเงินเหลือออม อันเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
สำหรับ คู่มือชีวิตพอเพียงตามแนวพระราชดำริได้เสนอวิธีการออมง่ายๆ ให้กับประชาชนได้นำไปใช้ปฏิบัติ เพื่อสร้างวินัยทางการเงินให้ตนเอง และเหลือเงินออม ไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น
เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย...หลักง่ายๆ ในการออม
การเพิ่มรายได้มีหลายวิธี โดยต้องคำนึงถึงความจริงในโลกว่า ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ทุกอย่างต้องลงทุนลงแรงทั้งนั้น เช่น 1.การลงทุนทำมาค้าขาย 2.หาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ โดยอาจต้องลงทั้งทุน ลงทั้งแรง 3.ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อเป้าหมายในการเพิ่มเงินเดือนหรือหาโอกาสก้าวหน้าในอนาคต
รายจ่ายแต่ละอย่างมีระดับความสำคัญไม่เท่ากัน ควรใช้จ่ายกับสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตก่อน เช่น ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย และพยายามลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
รายจ่ายในแต่ละเดือนของครอบครัว
รายจ่ายในแต่ละเดือนของครอบครัว จำนวน 100% จัดสรรใช้จ่ายไปกับสิ่งต่อไปนี้
ที่อยู่อาศัย (ค่าเช่า หรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ซื้อบ้าน) 25-30%
ค่าอาหาร 25%
ค่าเสื้อผ้า 10%
ค่าเดินทาง(ค่ารถ ค่าน้ำมัน หรือค่าผ่อนชำระเงินกู้รถ)10-15%
ค่าสาธารณูปโภค(ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์) 5%
ค่ารักษาพยาบาล 5%
ค่าใช้จ่ายส่วนตัว และสันทนาการ(ท่องเที่ยว บันเทิง) 5-10%
เงินเก็บออมหรือเงินลงทุน 5-10%
* ถ้าคิดจะก่อหนี้เงินกู้เพื่อเช่าที่อยู่อาศัย ไม่ควรให้มีภาระการผ่อนชำระเกิน 30% ของรายได้ครอบครัว
* ถ้าคิดจะก่อหนี้เงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์ ไม่ควรให้มีภาระการผ่อนชำระเกิน 15% ของรายได้ครอบครัว
ฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ ..ช่วยลดรายจ่ายสบายกระเป๋า
ฉลาดซื้อ คือการเลือกซื้อแต่สินค้าที่คุ้มค่า คุ้มประโยชน์
ฉลาดใช้ คือ การรักษาสิ่งของต่างๆ ให้คงอยู่ในสภาพที่เหมาะกับการใช้งานได้นานๆ รวมถึงประหยัดค่าจ่ายจำพวกค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ด้วย
เพิ่มรายได้ = ฉลาดหา
ลดรายจ่าย = ฉลาดซื้อ+ฉลาดใช้
ฉลาดซื้อ = ซื้อตามความจำเป็น ซื้อของต้นทุนต่อหน่วยต่ำ
ฉลาดใช้ = รักษาข้าวของเครื่องใช้ให้อยู่ในสภาพดี ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ
ฉลาดใช้ชีวิต= มีความสุขอย่างพอเพียง
การออมด้วยสมการง่ายๆ และเลข 10
เงินออม = รายได้-รายจ่าย
สมการง่ายๆ แต่ทำไม่ได้สักที อาจเป็นเพราะ เรามีค่าใช้จ่ายอยู่ตลอดพอมีเงินเหลือ ก็อดใจไม่ได้ที่จะใช้ไปกับการกิน การซื้อของจนหมด
กลยุทธ์การออมแบบลบ 10 บวก 10
1.ใช้สมการ รายได้- เงินออม = รายจ่าย
เมื่อได้รายรับแล้ว ให้กันเงินส่วนหนึ่งเป็นเงินออมก่อน ส่วนเงินที่เหลือจึงเป็นเงินค่าใช้จ่าย
2.การออมเงินแบบลบ 10
เมื่อเราหาเงินได้มาเท่าไหร่ ให้หักไว้เป็นเงินออม ก่อนที่จะเอาไปใช้จ่ายทันที 10% ของเงินที่หามาได้ เช่น รับเงินเดือน 8,000 ก็หักไว้เป็นเงินออมก่อนเลย 800 บาท การออมเงินแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่มีวินัยทางการเงินค่อนข้างดี
3.การออมเงินแบบบวก 10
ถ้าเราใช้เงินไปเท่าไหร่ ต้องเก็บเงินเพิ่มให้ได้ 10% ของเงินที่ใช้ไป เช่น ซื้อของ 2,000 บาท ก็ต้องออมเงินเพิ่ม 200 บาทไปพร้อมๆ กัน วิธีนี้เหมาะกับคนที่มีนิสัยชอบจับจ่ายใช้สอย เพราะจะช่วยเตือนความจำให้เราเก็บเงินทุกครั้งที่จ่ายไป
ข้อสำคัญในการออมเงิน จะต้องลงมือเก็บออมโดยไม่มีเงื่อนไข ห้ามผลัดวันประกันพรุ่ง และต้องวางแผนการใข้จ่ายเงินอย่างสม่ำเสมอ โดยการจดบันทึก หรือทำบัญชีรับ-จ่าย เพื่อตรวจสอบการใช้จ่าย วีนี้จะช่วยให้รู้ว่าเราหมดเงินไปกับรายจ่ายประเภทไหนบ้าง และจะเลือกตัดทอนรายจ่ายส่วนใดออกไปบ้าง
7 วิธีมีเงินเก็บออม
1.กำหนดเป้าหมายการเก็บออม แต่ละเดือน แต่ละปี จะมีเงินออมเท่าไหร่
2.กำหนดเป้าหมายการใช้จ่าย แต่ละวัน แต่ละเดือน จะมีเงินเท่าไหร่ เมื่อไหร่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่
3.ประหยัดรายจ่าย จ่ายน้อยกว่าหรือเท่ากับเป้าหมายการใช้จ่าย เพื่อให้มีเงินเหลือมากขึ้น
4.จ่ายคุ้มค่า จ่ายเท่าเดิม แต่ได้ประโยชน์มากขึ้น
5.ใช้เท่าที่จำเป็น น้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ
6.พึงระวังค่าใช้จ่ายที่มักจะนึกไม่ถึง ค่าธรรมเนียมรายเดือน รายปี ค่าภาษี ค่าดอกเบี้ยบัตรเครดิต ค่าปรับจ่ายหนี้ช้า
7.ไม่ก่อหนี้โดยไม่จำเป็นและเกินกำลัง หนี้มีได้ แต่ต้องไม่เกินกำลัง และต้องชำระคืนให้หมดโดยเร็ว
ข้อควรคำนึงในการวางแผนเกษียณอายุ
1.หาระยะเวลาแห่งช่วงชีวิต ปัจจุบันนี้ ช่วงชีวิตโดยเฉลี่ยของผู้ชายคือ 72 ปี และผู้หญิง 75 ปี แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นทุกวัน เราอาจยืดอายุไปได้อีก 20 ปี จากค่าเฉลี่ยนั้น
2.ระดับเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มหรือคาดว่าน่าจะเป็นไปในช่วงเวลาของการเกษียณอายุ สามารถทำให้เงินออมที่คุณหามาด้วยความยากลำบากต้องด้อยค่าลงไปอย่างช่วยไม่ได้
3.โดยทั่วไป เราต้องการเงินประมาณ 70-75% ของรายได้ก่อนการเกษียณอายุ เพื่อเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายเมื่อยามเกษียณอายุ ซึ่งจำนวนเงินนี้อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ทั้งนี้สิ่งที่ควรคำนึงถึงมากที่สุดคือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพที่จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเราแก่ตัวลง
รู้จักจด จดทุกครั้งที่จ่าย หลักง่ายๆ ในการบริหารเงิน เมื่อจด ..เมื่อจำ...ไม่มีจน คือการเฝ้าติดตามรายจ่ายพร้อมทั้งบริหารการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับชีวิตจริง ..หมั่นสร้างหลักฐานเตือนตัวเองให้เห็นว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่จำเป็น และไม่จำเป็น อะไรบ้างที่เราพอจะตัดทิ้งได้ในเดือนต่อไป
การทำบัญชีง่ายๆ จะทำให้เราได้รู้ว่า เงินหายไปไหน พอรู้เส้นทางการจากไปของเงินแล้ว เราก็จะได้จัดการปิดเส้นทางนั้นซะ แล้วตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงิน ไม่ปล่อยให้มันไปเที่ยวไหนได้อีกแล้ว
Posted by : ติงด่ง , Date : 2005-12-23 , Time : 16:10:53 , From IP : 172.29.3.61
|