เรื่อง กฟผ เขาตั้งคำถาม 10 ประการได้น่าฟังมากครับ
อุตสาหกรรมสื่อมวลชน โดยเฉพาะโฆษณามักถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เนืองๆ ว่า เป็นธุรกิจที่บอกความจริงแก่ผู้บริโภคเพียงครึ่งเดียว เน้นบอกแต่ข้อดีของสินค้าและบริการ และปกปิดข้อเสียให้มิดชิดที่สุด
โฆษณาขายหุ้นของ กฟผ. เป็นตัวอย่างที่ดีของข้อวิจารณ์ดังกล่าว เพราะบอกแต่ว่า “เรา” (ไม่รู้ใคร) มีความจำเป็นต้องระดมทุนสองแสนล้านบาทไปสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ โดยระดมจากตลาดหุ้น เพื่อไม่ต้องเพิ่มภาระหนี้สินให้ประเทศ
แต่มีข้อมูลที่สำคัญอีกหลายด้าน ที่โฆษณาเรื่องนี้ไม่ได้บอก...
ประการที่หนึ่ง การแปรรูป กฟผ.ให้เป็นเอกชนในครั้งนี้ ไม่มีความชอบธรรมในทางนิติบัญญัติ เพราะรัฐบาลของท่านผู้นำใช้ ครม.ออกพระราชกฤษฎีกา ซึ่งมีศักดิ์ตํ่ากว่าในทางกฎหมาย ไปล้มเลิก พรบ.กฟผ. ซึ่งมีศักดิ์ที่สูงกว่า
ประการที่สอง ใครกันแน่ที่จะได้เป็นเจ้าของ กฟผ.ในอนาคต เพราะไม่มีหลักประกันใดๆ เลย ยกเว้นลมปากของท่านผู้นำที่พูดซํ้าๆ ว่า กระทรวงคลังจะถือหุ้นใหญ่ร้อยละ ๗๕ ดังนั้นในอนาคตจึงมีแนวโน้มว่าเอกชนผู้ซื้อหุ้น (ใครเอ่ย) จะได้เป็นเจ้าของกิจการสาธารณูปโภคที่มีลักษณะผูกขาด กลายเป็นเสือนอนกิน โดยมีประชาชนจ่ายค่าไฟไปให้เรื่อยๆ
ประการที่สาม หนี้ที่กระทรวงการคลังคํ้าไว้ให้ กฟผ. ในพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจได้บัญญัติไว้ว่าให้กระทรวงการคลังรับผิดชอบต่อไป แปลเป็นไทยได้ว่า เอกชนผู้ถือหุ้นเอาไปแต่ทรัพย์สินของ กฟผ. และยกหนี้สินให้คนไทยช่วยกันผ่อน หากวันดีคืนดีกระทรวงการคลังมีเงินไม่พอใช้หนี้ ก็ต้องขายหุ้นออกไปเรื่อยๆ แล้ว “ใครเอ่ย” จะได้เป็นผู้ได้หุ้นรายใหญ่แทนกระทรวงการคลัง
ประการที่สี่ ความเป็นธรรมกับผู้ที่เสียสละ ที่ผ่านมา มีผู้คนจำนวนมากได้ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของ กฟผ. และการพาดเสาไฟฟ้าผ่านที่ดิน ในเวลานั้นพวกเขายอมได้รับค่าชดเชยจาก กฟผ.เพียงน้อยนิด เพราะพวกเขาเห็นแก่ “ส่วนรวม” ที่จะได้ประโยชน์ร่วมกัน แต่เมื่อวันนี้ “ส่วนรวม” กลายเป็น “ใครเอ่ย” ประชาชนผู้เสียสละเหล่านั้นจะรู้สึกอย่างไร เขาควรได้รับค่าชดเชยเพิ่มขึ้นหรือไม่ ใครจะเป็นผู้จ่าย อย่าหวังเลยว่า "ใครเอ่ย” จะเป็นคนจ่าย
ประการที่ห้า “ใครเอ่ย” จะได้ประโยชน์จากการลงทุนไฟเบอร์ใยแก้วของ กฟผ.มูลค่า ๖.๓ พันล้าน (แต่ประเมินราคาไว้แค่ ๒.๒ พันล้านบาท) การลงทุนดังกล่าวของ กฟผ.เป็นไปเพื่อบริหารจัดการระบบผลิตและสายส่ง และเป็นการลงทุนในราคาถูกมาก เพราะพาดไปบนเสาไฟฟ้าที่มีอยู่ ขณะนี้ช่องสัญญาณที่เหลือจำนวนมาก เพราะมีการเร่งลงทุนเพิ่มเติมช่วงใกล้ๆ จะแปรรูปกำลังจะกลายเป็นอาหารอันโอชะของ “ใครเอ่ย” ที่ชอบหากินและรํ่ารวยกับการสื่อสาร
ประการที่หก ในหนังสือชี้ชวนการลงทุนระบุว่า ปี ๔๙-๕๒ กฟผ.จะส่งรายได้ให้รัฐจากปัจจุบันร้อยละ ๓๕ เหลือเพียงร้อยละ ๒๕ รายได้ที่ควรจะเข้ารัฐนั้นจะหายไปหา “ใครเอ่ย” ขณะที่หนังสือชี้ชวนยังระบุว่าจะปันผลจากกำไรสุทธิ (เฉลี่ยปีละ ๓ หมื่นล้าน) ร้อยละ ๔๐ ให้เอกชนผู้ถือหุ้น และแนวทางกำหนดผลตอบแทนการลงทุนที่บริษัทที่ปรึกษากำหนดไว้ และครม.อนุมัติไปแล้วอยู่ที่ร้อยละ ๘.๗ ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ ๔ แปลว่า การ “แปรรูป” กฟผ. ในครั้งนี้ คือการขายให้เอกชนเอาไปทำกิน โดยมีการกำกับระดับผลตอบแทนเอาไว้ให้สูง สิ่งที่จะตามมาก็คือ ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น เพื่อทำให้ “ใครเอ่ย” รวยขึ้น ตามคำสอน “มีออมไม่มีอด”
ประการที่เจ็ด องค์กรอิสระดูแลกิจการไฟฟ้า จะมีการจัดการให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นอิสระได้หรือไม่ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่กี่วันก่อน ครม.เพิ่งตั้งกรรมการที่ว่ามา ๑ ชุด เหมือนตั้งแก้เกี้ยว เพราะอำนาจไม่ได้มีอยู่จริง และในอนาคตเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว กฟผ.กลายเป็นเอกชนไปแล้ว ใครจะไปล้วงลูกเพื่อดูแลค่าไฟได้ ดูตัวอย่างรถไฟฟ้านั่นไง ง้างราคาลงได้ซะที่ไหน
ประการที่แปด เราคงต้องหันไปพิจารณาว่าเมืองไทยมีไฟฟ้าไม่พอจริงหรือ ต้นทุนไฟฟ้าที่สูงส่วนหนึ่งเพราะเราสำรองไฟฟ้ามากเกิน คือสำรองในระดับร้อยละ ๔๐ ขณะที่ประเทศอื่นเขาสำรองที่ร้อยละ ๑๕ ประเด็นต่อเนื่องก็คือเราได้ทำเรื่องประหยัดพลังงานจริงหรือไม่ รถยนต์บนถนน และนโยบายดีทรอยต์แห่งเอเชียเป็นพยานให้ลูกช้างด้วย
ประการที่เก้า หากเราต้องเพิ่มโรงไฟฟ้าจริงๆ เราสามารถระดมทางพันธบัตรก็ได้ โอกาสเจ๊งยากนัก เพราะกิจการไฟฟ้าไม่มีทางล้ม เว้นแต่คอรัปชั่นกันจนเพลิน แต่ทำไมจึงเลือกขายหุ้นให้ “ใครเอ่ย”
ประการที่สิบ ประสิทธิภาพจากการแปรรูปจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากการปราบคอรัปชั่น รีดไขมัน โดยไม่ขายหุ้นได้หรือไม่ ทำอย่างไรคนที่เคยบอกว่าจะปราบคอรัปชั่นโดยไม่รอใบเสร็จ จะรักษาลมปากตัวเอง
สิบประเด็นเล็กๆ ข้างต้น เป็นประเด็นที่หาชมไม่ได้ในโฆษณาชวนเชื่อของ กฟผ. เอเยนซีที่รวยเป็นกอบเป็นกำจากโฆษณาชิ้นนั้น น่าจะแสดงสปิริตทำหนังสิบประเด็นนี้ออกฉายให้ฮือฮาบ้าง
เขาจะได้เลิกวิจารณ์กันเสียทีว่า โฆษณาเป็นธุรกิจที่พูดความจริงครึ่งเดียว
Posted by : เอามาจาก คุณน้ำเชี่ยวไหลลึก , Date : 2005-12-02 , Time : 21:18:00 , From IP : 172.29.7.98
|