ยาวหน่อยนะ ลองตั้งใจอ่านดู ข้อมูลน่าสนใจ
********************************
ร่วมกันคัดค้านค่าไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรม
รัฐบาล ฯพณฯ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้เห็นชอบให้ขึ้นค่ากระแสไฟฟ้าอย่างไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ดังนั้นเพื่อเป็นข้อมูลคัดค้านการกระทำดังกล่าว คณะทำงานศึกษาการขึ้นค่าไฟฟ้า-สมาพันธ์ประชาธิปไตย จึงได้ศึกษาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ บมจ. กฟผ. กฟน.และ กฟภ. อย่างรอบด้าน และขอนำเสนอราคาค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ที่ควรจะเป็น เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนดังนี้
ตามที่ปรากฏในรายงานประจำปีของ บมจ. กฟผ. ปี 2547 ตามตารางที่ 1, 2 พบว่า บมจ. กฟผ. มีต้นทุนส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงรวม 1.59 บาท/หน่วย และมีราคาต้นทุนส่วนที่ไม่ใช่เชื้อเพลิง 0.70 บาท/หน่วย คิดเป็นต้นทุนรวม 2.29 บาท/หน่วย ทั้งที่ บมจ.กฟผ.จ่ายค่าก๊าซธรรมชาติที่ราคาเฉลี่ย 132.55 บาท/ล้านบีทียูหรือคิดเป็นค่าก๊าซธรรมชาติที่ 1.25 บาท/หน่วย
เราพบว่า บมจ.กฟผ.ใช้ก๊าซธรรมชาติ ผลิตไฟฟ้าประมาณ 51 % ไม่รวมปริมาณการซื้อไฟฟ้าจาก IPP และ SPP ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติอีกประมาณ 24 % และพบว่า บมจ. กฟผ.ใช้ลิกไนต์ในการผลิตไฟฟ้าด้วยซึ่งมีราคาถูกกว่าก๊าซธรรมชาติมาก และบางส่วนใช้น้ำมันเตาแต่มีสัดส่วนน้อย จึงทำให้ราคาต้นทุนส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงเฉลี่ยรวมที่ 1.05 บาท/หน่วย ตามตารางที่ 3 แต่ต้นทุนดังกล่าวกลับขัดแย้งกับในตารางที่ 1 ที่มีต้นทุนส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงเท่ากับ 1.59 บาท/หน่วย หากเป็นจริงดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า บมจ. กฟผ. บริหารต้นทุนเชื้อเพลิงรวมแพงผิดปรกติมาก หรืออาจเป็นไปได้ว่าราคาต้นทุนส่วนที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงของ บมจ. กฟผ. อาจสูงผิดปรกติถึง 1.24 บาท/หน่วย (2.29 -1.05) ในขณะที่ต้นทุนในส่วนนี้ไม่ควรเกิน 0.27 บาท/หน่วย ตามมาตรฐานสากล โดยสรุปจึงกล่าวได้ว่าการบริหารต้นทุนในส่วนที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงของ บมจ.กฟผ. ต่ำกว่ามาตรฐานมาก ที่ทำให้ต้นทุนสูงเกินกว่าที่จะเป็น
จากการศึกษาต้นทุนค่าไฟฟ้าจากการผลิตจากก๊าชธรรมชาติของโรงไฟฟ้าชนิด กังหันแก๊ส+ความร้อนร่วม (CCGT) ขนาด 725 เมกกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าชนิดเดียวกับที่ บมจ.กฟผ.ใช้อยู่ และได้รับอนุมัติให้สร้างใหม่อีก 4 แห่ง จะมีต้นทุนค่าก่อสร้างประมาณ 14,500 ล้านบาท เมื่อคิดเป็นเงินกู้ร้อยละ 75 ของเงินลงทุน ที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี ระยะเวลาคืน เงินกู้ 7 ปี และใช้ค่าตัวประกอบส่วนลด (NPV Discount Rate) ที่อัตราร้อยละ 7.5 อัตราการบริโภคเชื้อเพลิง (HHV) เฉลี่ย ที่ 7,330 บีทียู/หน่วย (กิโลวัตต์-ชม.) เดินเครื่องที่ Load Factor เท่ากับ 78% อายุการเดินเครื่อง 25 ปี และค่าใช้จ่ายก๊าซธรรมชาติ ค่าเดินเครื่องและบำรุงรักษา เพิ่มขึ้นปีละ 0.5%
เราสามารถคำนวณต้นทุนของค่าไฟฟ้าโดย กำหนดให้ บมจ.กฟผ. มีผลตอบแทนการลงทุน 20 % (IRR- ROE, Discounted Cash Flow Method) จะสามารถคิดค่ากระแสไฟฟ้า (Levelize) ขายส่งตลอดอายุการเดินเครื่อง 25 ปี ซึ่งเป็นราคาที่ บมจ.กฟผ. ขายให้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และราคาขายปลีกของสองการไฟฟ้าบวก 20 % ได้ตามตารางที่ 4 และ
หรือสามารถเขียนเป็นสูตรได้ดังนี้
1. ต้นทุนผลิตไฟฟ้า (บ./หน่วย)
ต้นทุนไฟฟ้า = ต้นทุนส่วนที่เป็นเชื้อเพลิง + ต้นทุนส่วนที่ไม่ใช่เชื้อเพลิง
โดยที่ ต้นทุนส่วนที่เป็นเชื้อเพลิง = 0.007639 x (G)
G = ราคาก๊าซ (บาท/ล้านบีทียู)
ต้นทุนส่วนที่ไม่ใช่เชื้อเพลิง = 0.269512
2. ราคาขายส่งของ กฟผ . (บ./หน่วย)
ราคาไฟฟ้า = ต้นทุนและกำไรส่วนที่เป็นเชื้อเพลิง+ต้นทุนและกำไรส่วนที่ไม่ใช่เชื้อเพลิง
โดยที่ ต้นทุนและกำไรส่วนที่เป็นเชื้อเพลิง = 0.007639 x (G)
G = ราคาก๊าซ (บาท/ล้านบีทียู)
ต้นทุนและกำไรส่วนที่ไม่ใช่เชื้อเพลิง = 0.598956
3. ราคาขายปลีกของ กฟน และ กฟภ . (บ./หน่วย)
ราคาไฟฟ้า = ต้นทุนและกำไรส่วนที่เป็นเชื้อเพลิง+ต้นทุนและกำไรส่วนที่ไม่ใช่เชื้อเพลิง
โดยที่ ต้นทุนและกำไรส่วนที่เป็นเชื้อเพลิง = 0.009167 x (G)
G = ราคาก๊าซ (บาท/ล้านบีทียู)
ต้นทุนและกำไรส่วนที่ไม่ใช่เชื้อเพลิง = 0.718747
จากตารางที่ 4 หรือสูตรที่ 3 พบว่าราคาขายปลีกไฟฟ้าที่ประชาชนรับภาระที่ราคาก๊าซธรรมชาติ 160 บาท/ล้านบีทียู จะเท่ากับ 2.185 บาท/หน่วย หรือที่ 188 บาท/ล้านบีทียู จะเท่ากับ 2.442 บาท/หน่วย ในการนี้จะเป็นราคาจากก๊าซธรรมชาติที่ 1.466 บาท/หน่วย (2.185-0.718) และที่ 1.723 บาท/หน่วย (2.442-0.718) เท่านั้น
รัฐบาลกำลังสมคบกับ บมจ. กฟผ. บวกค่าไฟฟ้าที่สูงก่อน เพื่อประโยชน์ของการนำหุ้นของ บมจ.กฟผ.เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น แต่ไม่เคยแถลงข้อเท็จจริงของต้นทุนการผลิตของ บมจ. กฟผ. ให้ประชาชนทราบ ว่าต้นทุนส่วนที่ไม่ใช่เชื้อเพลิง ได้ แก่ เงินเดือน โบนัส สวัสดิการ (รวมถึงเงินกู้ซื้อหุ้น บมจ.กฟผ. ของพนักงาน และเงินเดือนเพิ่มอีกหลังเข้าตลาด) ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าใช้จ่ายจากค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินต่างๆ เป็นเท่าไร
ส่วนค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่คือ ก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าโรงไฟฟ้าในปัจจุบันของ บมจ.กฟผ.จะมีอายุการใช้งานยาวนานมีอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงสูง ประมาณ 8600 บีทียู/กิโลวัตต์-ชม. แต่โรงไฟฟ้าใหม่ที่ บมจ.กฟผ.ได้รับอนุมัติให้สร้างอีก 4 โรง เป็นโรงไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่มีอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงน้อยลง ที่ประมาณ 7200 บีทียู/กิโลวัตต์-ชม. ต้นทุนในส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงจึงถูกลง แม้ว่าราคาก๊าซธรรมชาติจะสูงขึ้น
การคำนวณดังกล่าวที่แสดงให้เห็นนี้นับว่าสมเหตุผลเพราะอยู่บนพื้นฐานของโรงไฟฟ้าใหม่ของ บมจ กฟผ.ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นแม้จะยังสร้างไม่เสร็จ แต่สามารถคำนวณต้นทุนของ บมจ.กฟผ. ในอนาคตอันใกล้ว่าจะถูกลงอย่างแน่นอน แต่ค่าไฟฟ้าจะไม่ถูกลง เพราะ บมจ.กฟผ.อาจอ้างว่าราคา ก๊าซธรรมชาติ แพงขึ้นอีก เพื่อตบตาประชาชน ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ รัฐบาลไม่เคยเปิดเผยต่อประชาชน
การกระทำดังกล่าวเพื่อประกันรายได้หรือความมั่งคั่งของ กฟผ.ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงเท่ากับเป็นการปล้นประชาชน เพราะรัฐบาลโยนภาระต้นทุนของ บมจ.กฟผ. ที่ไม่มีประสิทธิภาพทั้งในส่วนของต้นทุนเชื้อเพลิง และส่วนที่ไม่ใช่เชื้อเพลิง มาให้ประชาชน โดยเฉพาะต้นทุนเชื้อเพลิง เพราะหากรัฐบาลบังคับให้ปตท.ขายก๊าซธรรมชาติให้ บมจ.กฟผ.ที่125 บาท/ล้านบีทียู ซึ่งเท่ากับหรือใกล้เคียงกับราคาที่ ปตท. ขายให้แก่โรงงานแยกก๊าซที่เป็นธุรกิจในเครือของปตท.เองจะพบว่าราคาขายไฟฟ้าปลีกจะเหลือเพียง 1.891 บาท/หน่วย เท่านั้น คิดเป็นกำไรส่วนเกิน ประมาณ 1 บาท/หน่วย (2.185 1.89) หรือคิดเป็นเงินกว่าแสนล้านบาทต่อปี (1 บาท/หน่วย คูณ 120,000 ล้านหน่วยต่อปี)
แต่รัฐบาลกลับกำหนดค่าไฟฟ้าฐานใหม่เป็น 2.72 บาท/หน่วย บวกกับค่าเอฟทีใหม่อีก 10 บาท/หน่วย รวมเป็น 2.82 บาท/หน่วย เราจึงสรุปได้ว่ารัฐบาลไม่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนแต่รัฐบาลปกป้องอุ้มชูผลประโยชน์ของ ปตท. และ กลับปล้นและขูดรีดค่าไฟฟ้าจากประชาชนอีกทอดหนึ่งโดยไม่บีบบังคับให้ บมจ.กฟผ.บริหาร ต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ รัฐบาลต้องการให้กิจการของทั้ง ปตท. และ บมจ.กฟผ. มีกำไรโดยซึ่งกำไรทุกบาททุกสตางค์จะตกเป็นผู้ถือหุ้นเอกชน 25%-30% ซึ่งจากหลักฐานของการล็อกหุ้น ปตท.ในอดีตพบว่าผู้ถือหุ้นในส่วนนี้เป็นกลุ่มคนไม่กี่ตระกูลที่มีความสัมพันธ์เป็นเครือข่ายกับผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล
ดังนั้น บมจ. กฟผ.จะต้องทำการผลิตไฟฟ้าให้มีต้นทุนเป็นไปตามมาตรฐานสากลให้ได้คือต้นทุนส่วนที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงจะไม่เกิน 0.269 บาท/หน่วยและมีราคาขายส่งและปลีกของส่วนที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงไม่เกิน 0.598 บาท/หน่วย และ 0.718 บาท/หน่วยตามลำดับ หาก บมจ.กฟผ.ไม่สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานได้ก็ไม่ควรได้รับการอุ้มชูจากรัฐบาลให้เป็นผู้ผูกขาดรับซื้อไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียว แต่ควรเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตอื่นๆทำการผลิตแข่งกับ บมจ. กฟผ. เพื่อขายให้แก่ กฟน และ กฟภ โดยตรง เพื่อไม่ให้ กฟผ.เป็นเสือนอนกิน ซึ่งผลเป็นประโยชน์ส่วนเกินที่เข้า บมจ.กฟผ. โดยไม่เป็นธรรมก็จะตกแก่ประชาชนโดยตรง
การปล่อยให้ประชาชนรับภาระไปเต็มๆ แต่ตัวปัญหาที่รัฐบาลแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นหรือมองข้ามไปคือต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในส่วนที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงของ บมจ. กฟผ. ที่เราได้วิเคราะห์ให้ดูแล้วว่าน่าจะสูงที่สุดในโลกซึ่งสะท้อนถึงการไร้ประสิทธิของ บมจ. กฟผ.อย่างยิ่ง หรือพูดได้คำเดียวว่าต่ำกว่ามาตรฐาน บริษัทฯอย่างนี้จะไปแข่งกับใครได้นอกจากใช้ระบบผูกขาดอย่างเดียว
จากความจริงดังกล่าวจึงสามารถสรุปได้ว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าแพงเกิดจาก กฟผ.ไม่สามารถบริหารต้นทุนโดยเฉพาะในส่วนที่ไม่เป็นต้นทุนเชื้อเพลิง ให้ได้ตามมาตรฐานนั่นเอง แทนที่รัฐบาลจะสั่งการให้ บมจ. กฟผ. ลดต้นทุน และ บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ดันไปขึ้นเงินเดือนให้พนักงานทุกคน และ ให้หุ้นฟรี และ/หรือ หุ้นขายในราคาพาร์
ซึ่งต้องบอกว่านี่คือเศษเนื้อที่รัฐบาลเอามาประเคนให้พนักงาน กฟผ. โดยแท้จริงแล้วที่เงินเพิ่มในส่วนนี้ก็คือค่าไฟใหม่ 2.82 บาท/หน่วย ที่ บมจ. กฟผ.จะปล้นเอาจากพี่น้องคนไทยทั้งหลายภายหลังนั่นเอง ต้องนับว่าเป็นวีรกรรมที่เด็ดเดียวน่าประณามเป็นอย่างยิ่งที่ครั้งนี้ รัฐบาล ปล่อยให้ บมจ.กฟผ. ปล้นพี่น้องคนไทยทั้งหกสิบห้าล้านกลางวันแสกเลยทีเดียว
ดังนั้นเมื่อเทียบกับการไฟฟ้าอื่นๆในภูมิภาคนี้หรือผู้ผลิตเอกชนอื่นๆในมาตรฐานเดียวกัน บมจ.กฟผ.จะมีศักยภาพในการแข่งขันกับคนอื่นได้อย่างไร หรือว่า บมจ.กฟผ.คือ เนชั้นแนลแชมเปี้ยนที่มีมาตรฐานสูงกว่าหน่วยงานอื่นค่าไฟจึงได้แพงกว่า
เรามีตัวอย่างผลงานของ บมจ.กฟผ. จำนวนหนึ่งที่สามารถกล่าวได้ว่าคำว่ามาตรฐานสูง ของ กฟผ. ไม่จริง แต่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแพงกว่าที่ควรก็ได้ ตัวอย่างแรก โรงไฟฟ้าน้ำพองของ บมจ.กฟผ. ที่ขอนแก่น กำลังผลิต 710 เมกกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแต่สามารถเดินเครื่องได้ครึ่งเดียวเพราะก๊าซไม่พอ ถ้าต้องการให้ได้กำลังผลิตเต็มต้องใช้น้ำมันดีเซลซึ่งมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แพงที่สุดหากเดินเครื่องมากก็ขาดทุนบักโกรก
ถามว่าการวางแผนผิดพลาดที่ต้องลงทุนเป็นหมื่นๆล้านโดยเครื่องแทบกองไว้เป็นเศษเหล็กมีใครใน บมจ.กฟผ. เคนออกมาแสดงความรับผิดชอบบ้าง แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือในกรณีที่ กฟผ. พิพาทกับชาวเขื่อนปากมูล บมจ.กฟผ. มักขู่ว่า การเปิดประตูเขื่อนจะทำให้กำลังผลิตไม่พอ ต้องเดินเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อจ่ายไฟให้ภาคอีสานที่มีปัญหาขาดแคลนแหล่งผลิต ไฟฟ้า
แต่แท้จริงแล้วเขื่อนปากมูลมีกำลังผลิตติดตั้งแค่ 102 เมกกะวัตต์ แต่มีความสามารถผลิตได้จริง (Capacity Factor) เพียง 32 เปอร์เซ็นเท่านั้น และมักทำงานได้ดีในเฉพาะฤดูน้ำหลาก เพราะแม่น้ำมูลมีความต่างระดับของน้ำระหว่างหน้าเขื่อนกับหลังเขื่อนต่ำ
นอกจากมีพฤติกรรมเอาแต่ความดีใส่ตัวแต่ความชั่วโยนให้ชาวบ้านเช่นชาวปากมูลที่ถูกใส่ร้ายว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ทั้งๆ บมจ. กฟผ.ก็รู้ๆอยู่เขื่อนปากมูลไม่มีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้ภาคอีสานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บมจ. กฟผ. ก็รู้อยู่แก่ใจว่าไอ้ปัญหาที่แท้จริงคือข้อบกพร่องของโรงไฟฟ้าน้ำพองที่ก่อสร้างเพื่อจ่าย ไฟฟ้าช่วยภาคอีสานแต่ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ทุกวันนี้ต้องเดินโดยใช้น้ำมันดีเซลซึ่งคือสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพงจริง แต่ บมจ. กฟผ.ไม่เคยยอมรับความผิดพลาดนี้และที่ถูก บมจ. กฟผ. ควรต้องขออภัยต่อสังคมว่าตัวเองดำเนินผิดพลาดไปแล้วสำหรับโครงการทั้งสอง และเลิกโยนความผิดให้ชาวบ้านที่เขื่อนปากมูลเสียที
อีกตัวอย่างหนึ่งก็ได้คือ บมจ. กฟผ สมัยสร้างโรงไฟฟ้าราชบุรีไม่เสร็จตามกำหนด ปตท. และ บมจ. กฟผ. ต้องเสียค่าปรับให้ พม่า เป็นปีๆ ก็ไม่เคยเห็นออกมาขอรับผิดชอบความเสียหายและขออภัยต่อสังคมว่าตัวเองดำเนินผิดพลาดไปแล้ว
อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ตัวอย่างสุดท้าย คือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าความร้อนกระบี่โรงที่สอง ขนาด 300 เมกกะวัตต์ ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมกว่าสองปีทำให้ บมจ.กฟผ.มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าพันล้านบาทเกินจากงบประมาณที่ตั้งไว้ ซึ่งเกือบทุกกรณีก็ว่าได้ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด บมจ.กฟผ.จะผลักไปใส่ในค่า เอฟ.ที ให้ประชาชนรับภาระไปตามเคย หรือว่าไม่จริง ?
อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่า บมจ.กฟผ บริหารด้วยความโปร่งใสหรือไม่คือ การไม่เลิกสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอก ขนาด 700 เมกกะวัตต์ และ หินกรูด ขนาด 1400 เมกกะวัตต์ เนื่องจากคู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา เช่น เรื่องการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่สมบูรณ์ การบุกรุกใช้ที่สาธารณ การไม่สามารถยืนยันจัดหาแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินได้
แต่รัฐบาล และ บมจ.กฟผ.เห็นชอบอนุมัติ ให้ทั้งสองโครงการได้รับสัญญาใหม่โดยการเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็น ก๊าซธรรมชาติ และ เปลี่ยนสถานที่ไปที่ จ.สระบุรี และ จ.ราชบุรี ตามลำดับ โดยเฉพาะที่ จ.สระบุรี ของ บมจ. กัลฟ์ อิเล็คทริก บมจ.กฟผ.ให้สัญญาเพิ่ม จาก 700 เมกกะวัตต์ เป็น 1400 เมกกะวัตต์ โดยไม่มีการประมูล
การให้สัญญาเพิ่มเติมนี้ถือเป็นเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มพวกพ้องของตัวเองอย่างที่สุดสำหรับโครงการมูลค่าก่อสร้างกว่าหกหมื่นล้านบาท มูลค่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากว่าสามหมื่นล้านบาทต่อปี การกระทำดังกล่าวถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ประกวดราคา IPP เดิมโดยไม่เป็นธรรม
นอกจากนั้น บมจ.กฟผ.ยังมอบหมายให้บริษัทลูก คือ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (เอกโก้) และ บมจ. ราชบุรีเพาเวอร์ เข้าไปถือหุ้นร่วมในโครงการทั้งสอง และ บมจ.กฟผ. เองเข้าไปรับงานบริการวิศวกรรม และควบคุมคุณภาพในโครงการก่อสร้างด้วย ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ บมจ.กฟผ.ได้รับโดยเปิดเผยแต่ไม่โปร่งใส
ในอนาคตอันใกล้อาจมีข่าว บมจ.กฟผ. ร่วมกระทำทุจริตในการสร้างโรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิ ที่ขณะนี้มีผู้ร้องเรียนต่อกรรมาธิการวิสามัญสอบสวนศึกษาการทุจริตวุฒิสภาแล้ว และ รวมทั้งมีการร้องเรียนกรณีการกระทำเชื่อได้ว่ามีมูลเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณี เช่น ที่เหมืองแม่เมาะเป็นต้นซึ่งได้สร้างความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสแก่ชาวบ้านนับร้อยๆครัวเรือน
บมจ.กฟผ.ก็คือหน่วยงานที่ไม่ต่างจากหน่วยงานอื่นที่น่าเชื่อได้ว่าควรได้รับการตรวจสอบระดับความโปร่งใส จรรยาบรรณ จริยธรรม และ คุณธรรม อย่างหนักหน่วง ถึงแม้ จะมีคำขวัญว่า รักองค์การ มุ่งงานเลิศ เทิดคุณธรรม แต่ก็อาจเป็นคำขวัญที่มีไว้ฟังหวานหูเท่านั้น
จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่า บมจ.กฟผ. จะไม่สามารถแข่งกับเอกชนได้แม้จะลดต้นทุนเชื้อเพลิงให้ บมจ.กฟผ. ใกล้เคียงกับรายอื่นๆ ได้แต่ยังมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในส่วนที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงสูงผิดปรกติ บมจ.กฟผ.ทุกวันนี้จึงเปรียบได้ว่าเป็นเสือที่ถูกขังอยู่ในกรงที่ดูน่ากลัวถูกป้อนอาหารโดยพี่เลี้ยงอย่างดีตั้งแต่เกิดจนเป็นระยะเวลานานถึง 35 ปี แต่เมื่อถูกปล่อยออกจากกรงให้มาต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ไม่แน่เสือตัวนี้อาจถูกหมากัดตายก็ได้ถ้ามันเป็นเสือจริงเพราะมันไม่เคยต่อสู้หาเลี้ยงด้วยตัวของมันเองเลย หรืออย่างดีมันอาจเป็นแค่เสือในกระดาษเท่านั้นที่มีแต่คนที่ฉลาดกว่าเอามาหลอกขายหาประโยชน์
ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดคือ ให้ บมจ.กฟผ. เป็น ผู้ซื้อรายเดียว และเป็นเจ้าของสายส่งด้วย โดยบังคับให้เอกชนอื่นขายส่งผ่าน บมจ.กฟผ.เพื่อให้ บมจ.กฟผ.เอากำไรก่อน และขึ้นราคาค่าไฟฟ้าฐานให้อย่างน่ารังเกียจ เพื่อประกันรายได้ในการเข้าตลาดหุ้น เพื่อประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่เมื่อถามว่า ถ้า กฟผ.แปรสภาพเป็นบริษัทเอกชนแล้วจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าได้หรือไม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวกได้หรือไม่ คิดว่าปัจจุบันยังไม่มีใครให้คำตอบนี้ได้
นอกจากไม่ลดต้นทุนแล้วกลับเพิ่มเงินเดือนพนักงานเฉลี่ยคนละ 15 เปอร์เซ็นต์ ผู้บริหารสูงสุดยังมีรถประจำตำแหน่งระดับ เอส คลาส ระดับรองๆก็ใช้รถระดับ อี คลาส, ซี-คลาศ ตามลำดับเหมือนเดิม วันทำงานเท่าเดิม อย่างมากก็เพิ่มเวลางานวันละ 1 ชั่วโมง บ้านพักรับรองหรูๆตามเขื่อนต่างๆก็ยังมีเหมือนเดิม สำหรับรับรอง ผู้ใหญ่ ที่ชอบไปตรวจงานต่างจังหวัด พร้อมกับไปออกรอบสนามกอล์ฟ ต่างๆทั่วประเทศที่มีถึง 12 สนาม (ดูรายชื่อสนามกอล์ฟ ของ บมจ.กฟผ)
แต่ที่เปลี่ยนไปที่เห็นชัดคือเมื่อแปรสภาพเป็น บมจ. แล้ว แนวที่ดินใต้สายส่งทั่วประเทศ สิ่งอำนวยความสะดวกตามเขื่อนเหล่านี้ซึ่งเดิมเป็นสินทรัพย์อันมีค่าได้แก่ตัวเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ที่เคยเป็นที่
สาธารณะ และบางแห่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ หลายแห่ง บมจ.กฟผ.ได้มาบนคราบน้ำตาของชาวบ้านในที่ห่างไกลในชนบท ที่ต้องเสียสละพื้นที่ๆซึ่งถูกทำเป็นอ่างเก็บน้ำ เป็นเหมือง เป็นโรงไฟฟ้า โดยพวกเขาเหล่านั้น ต้องทิ้งทิ้งบ้าน ที่ทำกิน บ้านแตกกระสานซ่านเซ็น ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิต จาก เกษตรกรสมถะ ทำไร่ ทำนา หาของป่า ตัดฟืนเผาถ่าน ประมงพื้นบ้าน อยู่อย่างพอเพียง มาเป็นกรรมกร ขายตัว ปากกัด ตีนถีบ ต่อสู้กับสังคมที่พวกเขายังไม่พร้อมจะต่อกรด้วย เสมือนสู้เอาไปตายดาบหน้าครอบครัวแล้วครัวเล่า สถานที่สาธารณะเหล่านั้นกำลังจะถูกโอนสิทธิการใช้ไปให้เอกชน โดยผ่านขบวนการแปรสภาพ บมจ.กฟผ. ซึ่งแม้รัฐจะมีหุ้นใหญ่ 75 เปอร์เซ็นต์ แต่ในอนาคตจะมีหลักประกันอะไรที่จะรับรองว่าจะยังสามารถดำรงสัดส่วนดังกล่าวได้
หากวันหนึ่งในอนาคตถ้ารัฐถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละหาสิบ สินทรัพย์เหล่านั้น หรือสิทธิการใช้และครองครองก็จะเป็นของบริษัทเอกชนทันทีซึ่งอาจถูกยักย้ายถ่ายเทโดยการขายหรือแปรสภาพตามนโยบายของบริษัทก็เป็นได้เพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นทุน(หรือเงินสด) ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ชุดนี้
การตระบัดสัตย์โดยผู้มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดเคยมีให้เห็นมาก่อนแล้ว แม้ที่วัดยังซื้อขายได้เมื่อแปรสภาพ บมจ.กฟผ. แล้วคิดหรือว่าในอนาคตจะไม่มีการตระบัดสัตย์อีกซักครั้งเพื่อถอนทุนคืน
การแปรสภาพ บมจ.กฟผ. เพื่อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯไม่ได้มีหลักประกันใดๆเลยๆว่า กฟผ. จะเพิ่มประสิทธิภาพและแข่งกับเอกชนได้ เพราะ บมจ.กฟผ.เองก็ไม่เคยคิดจะแข่งขันกับเอกชนจนขอสิทธิสร้างโรงไฟฟ้าใหม่สี่แห่งโดยไม่ต้องประมูล
เมื่อได้สิทธินั้นแล้ว บมจ. กฟผ. ก็รู้ว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้ารวมของโรงไฟฟ้าใหม่ไม่เกิน 1.49 บาท/หน่วย (ที่ราคาก๊าซธรรมชาติ 160 บาท/ล้านบีทียู, ดูตารางที่ 4) ขณะที่ราคาปัจจุบันเท่ากับ 2.29 บาท/หน่วย (ดูตารางที่ 1) ดังนั้น ถ้าจะแปรสภาพเป็น บมจ.เข้าตลาดหุ้น สิ่งที่ บมจ.กฟผ.ควรทำอย่างแรกคือลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนทันที 0.80 บาท/หน่วย (2.29 1.49) เมื่อโรงไฟฟ้าใหม่สร้างเสร็จ และเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ซะด้วยซ้ำไป สำหรับส่วนที่ บมจ.กฟผ. ผลิตเอง ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ทำได้ถูกต้องตามตรรกศาสตร์
คน บมจ. กฟผ.เอง ไม่มองตัวเอง ไม่แก้ไข ไม่ปรับปรุงไม่เปลี่ยนแปลงอะไรทั้งนั้น ทุกวันนี้อยู่ได้เพราะเป็นเสือนอนกิน ผูกขาดเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าคนเดียว บมจ. กฟผ. ถ้าเปรียบเป็นเสือ ก็อยู่ในอาการป่วยใกล้อัมพาตเต็มทน ตัวโตอ้วนเทอะทะ แต่ขารีบทั้ง 4 ข้าง ใช้การแทบไม่ได้ สมองไม่ทำงาน คอยแต่ขออาหารไปเลี้ยงให้พอมีชีวิตอยู่ได้เท่านั้นเอง ถ้าไม่มีเอกชนปั่นไฟราคาถูกขายให้ (ต้นทุนประมาณที่ 1.68 บ/หน่วย ขาย 2.14 บ/หน่วย) ป่านนี้ก็ม้วนเสื่อไปแล้ว รัฐบาลเองในฐานะกำกับดูแลก็อาจโง่ หรือ แกล้งโง่ ทำเป็นไม่รู้เท่าทัน บมจ. กฟผ. และ ปตท. ก็ได้เรียกว่าเจือสมกัน คิดว่าแปรสภาพ กฟผ.ให้เหมือน ปตท. แล้วจะได้ลูกเสือตัวใหม่แก้ไขปัญหาทุกอย่างได้
แทนที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆที่หมักหมมกันมาอย่างช้านาน รีบทำในสิ่งที่ควรทำอย่างเร่งด่วน เอาตัวให้รอด ไม่เป็นภาระของประชาชน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพ ป้องกันการรั่วไหล จนในที่สุด สามารถลดค่าไฟให้ประชาชนได้บ้าง แต่ไม่ทำอะไรเลยคอยแต่จะแปรสภาพเป็น บมจ. อย่างเดียว ซึ่งนอกจากไม่ลดค่าไฟแล้วยังบวกค่า เอฟที เข้าไปอีก 0.58 บาท/หน่วย และจะขึ้นไปเรื่อยๆ แถมเอารัฐวิสาหกิจสำคัญและที่ดินสาธารณสมบัติของชาติไปแปรรูปอีก
หากรัฐบาลยังยืนยันที่มีพฤติกรรมปล้นชาติและปล้นประชาชนกันอย่างนี้ สมาพันธ์ประชาธิปไตยก็ต้องขอแรงประชาชนช่วยกันคัดค้านค่าไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมกันจนถึงที่สุด
คณะทำงานศึกษาการขึ้นค่าไฟฟ้า
สมาพันธ์ประชาธิปไตย
9 พฤศจิกายน 2548
Posted by : เอามาฝากอีก , Date : 2005-11-11 , Time : 23:58:43 , From IP : 172.29.7.121
|