ความคิดเห็นทั้งหมด : 9

เรื่องดี ๆ ที่ฝากมาให้อ่านกัน


   คงไม่มีคำกล่าวใดที่จะชัดแจ้งไปกว่านี้อีกแล้ว สำหรับอาจารย์แพทย์ผู้ทรงภูมิท่านนี้ ว่าเป็น “แบบอย่างของอาจารย์และแพทย์ผู้ให้” แท้จริง


ด้วยมิใช่เพราะโล่เกียรติคุณอาจารย์แพทย์ดีเด่นที่เป็นแบบอย่างในเชิงจริยธร รมคุณธรรมจากแพทยสภา เมื่อปี ๒๕๔๗

หรือรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติจากที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห ่งประเทศไทย ปี ๒๕๔๖

หากแต่เป็นเพราะเนื้อนาบุญในจิตใจที่สั่งสมด้วยการทำงานทั้งแพทย์ผู้รักษาคน ไข้และอาจารย์ผู้ให้แก่ลูกศิษย์มาตลอดหลาย ๑๐ ปี

“ผมคิดว่าการประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ได้อยู่ที่มีอะไรมากมายในชีวิต แต่อยู่ที่ว่ายืน เดิน นั่ง นอนอย่างสงบใจ จริงอยู่ ความสุขคือเป้าหมายของทุกคน แต่สำหรับผมไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย ความสุขสำหรับผมสร้างได้ไม่ยาก ผมคิดว่าคนที่ให้มากกว่า ย่อมมีความสุขมากกว่า”

ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ ทองสง อายุ ๔๘ ปี เริ่มต้นชีวิตการเป็นอาจารย์แพทย์ตั้งแต่ปี๒๕๒๘ มาอย่างต่อเนื่อง และมีความสุขอยู่กับการให้มาโดยตลอดชีวิตการทำงาน

“ผมอาจจะใช้ชีวิตแปลกหน่อยนะครับ คือผมไม่ได้เปิดคลินิกนอกเวลางาน จริง ๆ ผมก็น่าจะทำนะ เพราะว่ามาจากตระกูลยากจน แต่ก็เป็นความภาคภูมิใจหนึ่งในความเป็นครูที่มีเวลาสอน ได้ทำวิจัยต่าง ๆ และนอกเวลางาน ผมก็สอนแพทย์เฉพาะทางด้วย

ผมเลือกที่จะเป็นอย่างนี้ เพราะว่าความสุขในชีวิตคนเรา คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินทองอย่างเดียว คนที่มีเงินในบัญชีมากที่สุด ก็ไม่ได้แปลว่ามีความสุขที่สุด ยังมีความสุขอีกหลายอย่างที่คนเราสามารถเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งไม่ใช่เงินทอง

ทุกวันนี้ ผมอยู่ในฐานะของหมอหรือครู ก็ไม่ควรจะคิดว่าเราจะได้อะไรจากอาชีพนี้ แต่น่าจะคิดว่าเราจะให้อะไรกับลูกศิษย์มากกว่า”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ ทองสง พื้นเพเดิมเกิดที่จังหวัดพัทลุง เป็นลูกชาวนาโดยกำเนิด การศึกษาในช่วงประถมศึกษาตอนต้น เรียนที่โรงเรียนบ้านทุ่งยางเปล ซึ่งห่างไกลจากตัวเมืองพัทลุงมาก จากนั้นจบประถมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนปรางค์หมู่ศรีวิทย์ศึกษา จังหวัดพัทลุง มาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนพัทลุง ก่อนจะเข้ามาศึกษาระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในกรุงเทพฯ

จบแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จบแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางสูติ-นรีเวช เคยผ่านการฝึกอบรมด้านเอ็นโดครีนทางสูติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และฝึกอบรมเวชศาสตร์มารดาและทารก (อุลตร้าซาวน์ด์) ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

เคยได้รับทุนอานันทมหิดล (ส่งเสริมบัณฑิต) จากมูลนิธิอานันทมหิดลถึง ๓ สมัย ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ ระดับ ๑๐ แห่งภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนั้น ยังเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวช ประจำโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (โรงพยาบาลสวนดอก) จังหวัดเชียงใหม่
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ เล่าว่าเมื่อสมัยเด็กๆนั้นยังไม่ค่อยมีความรู้มากว่าสาขาการเรียนด้านใดที่จ ะเหมาะกับตนเอง แต่เป็นเพราะค่านิยมในสมัยนั้น ที่ส่วนใหญ่มักจะเลือกเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์กับคณะแพทยศาสตร์กันมาก

“ผมเป็นเด็กชนบทแท้ๆเลยครับ ...พอสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ จนถึงปีนี้ รวม ๓๐ ปีพอดี ผมก็ตั้งรกรากอยู่ที่นี่เลย ตอนสมัยเป็นนักเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมก็เรียนด้วยทุนมูลนิธิช่วยเหลือนักเรียนขาดแคลน

บรรยากาศการเรียนสมัยนั้นก็เหมือนนักเรียนแพทย์ทั่วไป คือเรียนไปด้วยทำกิจกรรมควบคู่กันไปด้วย ผมเองก็ชอบทำกิจกรรม ส่วนใหญ่ก็จะอยู่กับชมรมพุทธครับ

อีกด้านหนึ่งเราก็นึกภาพออกว่า วันหนึ่งเราจะเป็นอะไร อยากจะเป็นแพทย์แบบไหน เริ่มต้นจริง ๆ ก็ตั้งแต่ย่างเท้าก้าวแรกเข้ามหาวิทยาลัย คิดว่าอยากเป็นหมอ เพื่อกลับไปดูแลรักษาญาติพี่น้องรวมทั้งคนในชุมชนของเรา รู้สึกหลาย ๆ คนก็คิดอย่างนี้ ผมเองก็ตั้งใจอย่างนั้นอยู่หลายปี แต่ต่อมาเมื่อเรียนมากขึ้น ได้รู้อะไรมากขึ้น ถึงแม้ตอนนั้นจะเรียนแพทย์จบแล้ว ก็ยังรู้สึกว่าไม่ค่อยพอ ยังอยากจะเรียนต่อด้านเฉพาะทางมากขึ้น จึงได้เลือกเรียนทางด้านสูติ-นรีเวชต่อ

พอเรียนจบก็คิดว่าผมอาจจะทำประโยชน์ได้มากกว่าที่เคยคิด ถ้าเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ได้คงดี เลยเปลี่ยนแนวคิดตั้งแต่นั้นมา ทางบ้านก็เห็นด้วย”

ในที่สุด เมื่อศึกษาจบแพทย์เฉพาะทางแล้ว คุณหมอธีระได้รับคัดเลือกให้เป็นอาจารย์แพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่นั้นมา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ ทองสง กล่าวมาถึงตรงนี้ว่า

“แน่นอนครับ หน้าที่ของอาจารย์ หน้าที่หลักประการแรกก็ต้องสอน โดยทั่วไปผมสอนทั้ง 3 ระดับ คือสอนนักศึกษาแพทย์ แพทย์เฉพาะทาง และก็แพทย์ต่อยอดทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารก

งานเป็นครูหรืองานสอนนี่แหละครับ ที่ผมภาคภูมิใจที่สุด ผมสอนมา ๒๐ ปีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราก็ต้องตามความรู้ให้ทันสมัยอยู่เสมอด้วย ยามว่างจากงานแพทย์ งานสอน และงานวิจัย ผมก็จะใช้เวลาอยู่ในโลกอินเทอร์เนตเพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ลูกศิษย์ที่จบไปเป็นแพทย์แล้ว ก็ยังสามารถโทรศัพท์มาปรึกษาได้ตลอดเวลา หรือถ้ามีเวลาว่าง ผมมักจะทำสื่อการสอนประเภทมัลติมีเดียต่าง ๆ”

และที่น่าทึ่งยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด เมื่อคุณหมอเปิดเผยถึงการเดินทางจากบ้านมาที่โรงพยาบาลสวนดอกหรือที่ทำงาน

“ผมมาทำงานด้วยมอเตอร์ไซค์ครับ ผมไม่มีรถยนต์ ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ” (และก็เป็นแพทย์ที่ตามตัวได้ไม่ยากอีกด้วย)

ความจริงอีกประการหนึ่ง ที่ทุกคนทราบดีว่างานในเวลาราชการ ครั้นถึงเวลาสี่โมงเย็นก็สามารถกลับบ้านไปพักผ่อนได้ แต่คุณหมอธีระมิใช่เช่นนั้น ท่านยังทำงานต่อไปจนเวลาสี่ถึงห้าทุ่ม ซึ่งคุณหมอบอกว่าเป็นงานสอนบ้าง หรือไม่ก็อยู่ในห้องวิจัย ไม่เว้นแม้แต่เสาร์-อาทิตย์ ก็ยังมาทำงาน

“ผมมีความสุขนะครับ เพราะผมคิดว่าในฐานะที่เป็นอาจารย์ เราควรต้องทำแบบอย่างให้ลูกศิษย์เห็น

ตอนเช้า ผมต้องมาก่อนลูกศิษย์ ไม่ได้คิดว่าวันนี้จะมาเอาอะไรแต่จะถามตัวเองว่า เราจะให้อะไรใครได้บ้างมากกว่า

ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นอยากจะถามหาสิ่งสวยงามในชีวิต ด้วยคำถามว่าเราให้อะไรใครได้บ้าง ลูกศิษย์กับคนไข้เป็นหลักเลยที่ผมจะคิดถึง”
ฟังดังนี้แล้ว คำถามหนึ่งที่ “สกุลไทย” อดจะถามต่อไปมิได้ก็คือว่า เมื่อคุณหมอเรียนมาขนาดนี้ ทำงานมากขนาดนี้ ไม่คิดว่าตนเองน่าจะได้รับสิ่งตอบแทนที่มากกว่าที่เป็นอยู่หรือ คุณหมอธีระท่านก็ตอบอย่างใจเย็นว่า...

“เราต้องคิดอย่างนี้ ไม่มีความดีใดที่มนุษย์ทำแล้วไม่มีความสุข เพราะฉะนั้น หลายคนอาจจะอยากทำอย่างนี้ แต่ไม่มีโอกาส ถ้าเราคิดที่จะรับ โอกาสคิดที่จะให้ มันก็จะลดลง และถ้าอยากได้อยู่เรื่อย เท่าไหร่จะพอ ถ้าผมมีเงิน ๑๐๐-๒๐๐ ล้าน ผมก็ยังยากจนอยู่ดี ในเมื่อผมต้องการถึง ๘๐๐ ล้าน


ผมรู้สึกโชคดีมากที่ได้มายืนอยู่ตรงจุดนี้ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้โอกาสผมได้มีศักยภาพในการให้ได้สูง เมื่อผมมีโอกาสในการให้แล้ว ผมก็ไม่อยากสูญเสียตรงนี้ไป

และผมคิดว่า ‘แบบอย่าง’ นี่สำคัญมากนะครับ ผมมักจะสอนให้ลูกศิษย์ขยัน ตรงเวลาต่อคนไข้ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย รับให้น้อยแต่ให้ให้มาก การสอนที่แท้จริงของผม ผมสอนด้วยการกระทำมากกว่า คิดอยู่เสมอว่าถ้าอยากให้ลูกศิษย์ดี เราต้องทำดีให้เขาดู”

นอกเหนือจากความเป็นอาจารย์แพทย์ การสอน การเขียนตำราวิชาการแพทย์ต่าง ๆ มากมายซึ่งมีทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ รวมทั้งผลงานวิจัยที่ปรากฏในวารสารมาตรฐานสากลนานาชาติมากกว่า ๑๐๐ เรื่อง ส่วนในบทบาทของแพทย์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ ทองสง ประสบความสำเร็จในด้านการวิจัยอันเกี่ยวโยงไปถึงงานวินิจฉัยโรคทารกในครรภ์ก ่อนคลอด

“งานด้านการแพทย์และวิจัยเด่นๆของผมส่วนใหญ่จะเน้นด้านอุลตร้าซาวด์น์ เราบุกเบิกด้านอุลตร้าซาวด์น์เป็นหลัก โดยมีคณาจารย์แพทย์ช่วยกันทำเป็นทีม เช่น โรคธาลัสซีเมียในเด็ก เราวินิจฉัยได้หมดตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย คุณแม่ไม่ต้องรอให้เด็กคลอดออกมาแล้วบวมน้ำจนเสียชีวิต จากงานวิจัยเราก็นำมาประยุกต์ใช้ในการบริการการรักษาแก่คนไข้ รวมไปถึงดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง

เมื่อก่อนเราวินิจฉัยก่อนคลอดได้น้อยมาก แต่ทุกวันนี้ เรารู้ภาวะของเด็กในครรภ์ก่อนคลอดเป็นส่วนใหญ่แล้ว โรคบางอย่างถ้าเรารู้ล่วงหน้า ก็ช่วยในการรักษาได้ คือถ้าอยู่ในครรภ์ต่อไป อาจจะเป็นอันตราย เพราะฉะนั้น ทำคลอดก่อนดีกว่า เพื่อนำเด็กมารักษาข้างนอก หรือโรคน้ำในปอดเด็ก ถ้าไม่มีปัญหาอย่างอื่นร่วมด้วย เราก็อาจจะเจาะดูดเอาน้ำออกตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์ได้ ซึ่งแล้วแต่กรณีไป หรือเด็กบางคนซีด เป็นโรคเลือดอยู่ในครรภ์ แต่ไม่ใช่ธาลัสซีเมียนะครับ เราก็จะเติมเลือดให้เขาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยการให้เลือดผ่านทางสายสะดือ เพราะทุกวันนี้ การเจาะเลือดทารกในครรภ์เพื่อตรวจธาลัสซีเมีย เราก็เจาะทางสายสะดือ

แพทย์บางท่านเก่งมาก ทำวินิจฉัยก่อนตั้งครรภ์ โดยการตรวจโครโมโซมของทั้งพ่อและแม่ หรือเช็คว่าเด็กจะมีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมียหรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยเรื่องนี้ เราได้ทำเป็นรายแรกของประเทศด้วย นอกจากนี้ เรายังพัฒนาห้องแล็บในการวิเคราะห์เรื่องของการตรวจระดับดีเอ็นเอ หรือเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม เดี๋ยวนี้เราก็สามารถวินิจฉัยได้เร็ว ตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์”

โดยเฉพาะโรคธาลัสซีเมียหรืออีกนัยหนึ่งก็คือโรคโลหิตจาง อันเนื่องมาจากเม็ดเลือดแดงไม่ทำงาน เมื่ออดีตนั้นภาคเหนือจะพบมากที่สุดในประเทศไทย สาเหตุหลักเกิดจากยีนพันธุกรรมจากแม่ที่ถ่ายทอดไปยังลูก

“แต่ปัจจุบันโรคธาลัสซีเมียในเชียงใหม่ ลดลงไปมากแล้วนะครับ ด้วยอิทธิพลของการวินิจฉัยทางการแพทย์ก่อนคลอด ซึ่งถึงอย่างไร ก็อาจจะมีข้อโต้แย้งทางจริยธรรมอยู่บ้าง กฎหมายไทยไม่ได้เอื้ออำนวยให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ หากพบว่าทารกในครรภ์เป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง แต่เราก็มีนโยบายระดับกระทรวงสาธารณสุข ที่อนุญาตให้คนไข้เลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้ ถ้าพบว่าทารกในครรภ์นั้นเป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ถ้าเป็นชนิดรุนแรงที่สุด เด็กจะเสียชีวิตในครรภ์เลย ถ้าชนิดที่รองลงมา เด็กมีชีวิตรอด แต่ก็ต้องมาเติมเลือดอยู่เป็นประจำ”

งานด้านการแพทย์ต่างๆของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ ทองสง คงไม่หมดลงเพียงเท่านี้แน่นอน ตราบใดที่จิตวิญญาณของท่าน ยังคงไว้ซึ่งความเป็นอาจารย์ และแพทย์ผู้ให้โดยไม่มีวันหยุดหรือจบสิ้นไปอย่างง่าย ๆ เพราะท่านบอกไว้แล้วว่า

“คนที่ให้มากกว่า ย่อมมีความสุขมากกว่า”



อาจจะค่อนข้างยาวไปหน่อย แต่ผมเชื่อว่าถ้าอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ได้ คงจะได้อะไรกลับไปคุ้มค่ากับที่อ่านมาครับ :)


Posted by : อยากเป็นพ่อมดฮับ , Date : 2005-11-05 , Time : 01:05:17 , From IP : dns2.mahidol.ac.th

ความคิดเห็นที่ : 1


   ภูมิใจจังเป็นรุ่นพี่สมัยม.ต้น กลับมาเยี่ยมร.ร.บ้างนะคะ

Posted by : aee , Date : 2005-11-05 , Time : 03:50:25 , From IP : 172.29.3.143

ความคิดเห็นที่ : 2


   มีผู้ให้ดีๆ เเบบนี้อีกไหม ที่นี่ หรือ ที่ไหน ๆ

Posted by : .. , Date : 2005-11-05 , Time : 09:21:45 , From IP : 172.29.7.122

ความคิดเห็นที่ : 3


   เชิญคุณไม้บรรทัดเหล็กไหลมาอ่านด้วยก็ดีครับ



Posted by : Phoenix , Date : 2005-11-05 , Time : 10:41:21 , From IP : 58.147.76.219

ความคิดเห็นที่ : 4


   ได้มีโอกาสรู้จักอาจารย์ค่ะ เป็นคนดีมากจริงๆ อยากให้นศพ.และอาจารย์ทุกท่านศึกษาความคิดและแนวทางการทำงานของท่าน แล้วจะรู้ว่าความสุขที่แท้จริงในชีวิตคืออะไร เวลาที่ท้อแท้ เพราะงานหนัก เหนื่อย อยากลาออกไปอยู่รพ.เอกชน อยากได้เงินเยอะๆ ก็จะนึกถึงอ.ธีระ แล้วเปลี่ยนใจ แพทย์รุ่นใหม่มีแนวโน้วจะยึดติดกับวัตถุนิยมและคิดถึงแต่ตัวเองมาก อ.คงต้องช่วยกันปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องและทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์มากขึ้น

ขอบคุณที่เอาบทความดีๆ มาให้อ่านค่ะ


Posted by : อ.มอ. , Date : 2005-11-05 , Time : 12:29:56 , From IP : 172.29.7.45

ความคิดเห็นที่ : 5


   ขอแสดงความนับถือ1จอก

Posted by : อัตโต้ย , Date : 2005-11-05 , Time : 15:32:24 , From IP : 172.29.4.130

ความคิดเห็นที่ : 6


   ขอบคุณครับที่มีเรื่องดี ๆ มาให้อ่าน

Posted by : Dhan , Date : 2005-11-05 , Time : 18:44:53 , From IP : 172.29.3.130

ความคิดเห็นที่ : 7


   ป๋าจร(อ.ขจรศักดิ์) ของเราก็คล้ายๆอาจารย์ธีระนะ ผมว่า รู้สึกดีมากเลยครับที่ มอ ก็มีอาจารย์ดีๆเช่นกัน

Posted by : ดีคับ , E-mail : (-) ,
Date : 2005-11-06 , Time : 10:49:10 , From IP : ppp-210.86.142.193.r


ความคิดเห็นที่ : 8


   เห็นด้วยว่า "ป๋าจรที่ มอ.ก็เป็นแบบอย่างแพทย์และครูที่ดีมากๆที่หาได้ยากในสังคมนี้ค่ะ ถึงอาจารย์จะไม่มี"ศาสตราจารย์"นำหน้า แต่สิ่งที่อาจารย์ทำมากกว่าตำแหน่งหรือดีกว่าคนที่มีตำแหน่งบางคนมากมายนะ เรามาช่วยกันยกย่องคนดีให้มีกำลังใจและเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นยต่อไปกันเถอะ

Posted by : ชม อ.ขจรศักดิ์ด้วยคน , Date : 2005-11-07 , Time : 08:59:09 , From IP : 172.29.3.153

ความคิดเห็นที่ : 9


   มีอาจารย์ที่ดีและน่านับถืออีกหลายคนครับ

Posted by : เด็กแนว , Date : 2005-11-07 , Time : 10:42:01 , From IP : 172.29.1.102

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<