ขออนุญาตcopyมาให้อ่านครับ
วีรกรรมของรัฐบาลชุดนี้
ราชพาหนะ VS แอร์ฟอร์ซวัน เรื่องของการจัดลำดับความสำคัญ !
คำถาม
เห็นคุณสนธิฯพูดในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร(ครั้งที่ 6) ว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับการจัดซื้อ เครื่องบินพระราชพาหนะ แต่ถ้าผมจำไม่ผิด เพิ่งมีมติครม.ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้อนุมัติเงินกว่า 3,000 ล้านบาทซื้อเครื่องบินพระราชพาหนะถวายนี่ครับ ไม่ทราบรายละเอียดของเรื่องเป็นอย่างไร คุณพายัพฯช่วยย้อนหลังบอกเล่าหน่อย เพราะจำได้ว่าเคยมีการอภิปรายคัดค้านกันในสภาผู้แทนราษฎรถึงตอนจะซื้อเครื่องบิน ไทยคู่ฟ้า เมื่อสองสามปีก่อน
สังคม บทจร 3 พ.ย. 48
คำตอบ
มาดูคำพูดของคุณสนธิฯในวันนั้นก่อน
กทม.เขาบอกว่าบีทีเอสใช้เงิน 2 พันกว่าล้านบาท ทักษิณและรัฐบาลชุดพรรคไทยรักไทยบอกว่าไม่คุ้ม ผมก็ขอถามกลับบ้าง... แล้วทีพวกมึงซื้อเครื่องบินส่วนตัวบินไปบินมา 2 พันกว่าล้าน เทียบกับบีทีเอสให้คนฝั่งธนฯเขาใช้ มันจะเป็นยังไง เอาเริ่มด้วยตรงนี้ก่อนดีกว่าแล้วค่อยอธิบายความ....
ทุกวันนี้ พระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จพระราชดำเนิน มีพระราชพาหนะที่จะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจทางภาคใต้ ยังใช้เครื่องบินเก่า ๆ เครื่องบินเก่า ๆ สิบกว่าปีแล้ว แต่ว่าไอ้รัฐบาลชุดนี้มันซื้อเครื่องบินใหม่ แล้วมันเรียกว่าไทยคู่ฟ้า แล้วมันบินไปโน่น บินไปนี่ บินไปยุโรป บินไปอเมริกา บินไปโน่น บินไปนี่ พาคนซึ่งไม่ได้เป็นข้าราชการไป ผมถาม...เอาเพียงแค่นี้เอง ก็รู้ซึ้งเห็นแก่ใจแล้วใช่ไหมว่าคนเราสันดานที่แท้จริงมันเป็นอย่างไร ใจนี่นะ...ที่แท้จริง...ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อเครื่องบิน ต้องประชุมครม. แล้วบอกว่า พวกเรา...พระราชพาหนะนั้นเก่าแล้ว...เราน่าจะซื้อพระราชพาหนะใหม่ให้กับพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมวงศานุวงศ์ แล้วเราเอาเครื่องบินเก่า ๆ ของพระองค์ท่านมาใช้ก็แล้วกัน... แค่นี้ยังคิดไม่ออก แล้วมันยังจะคิดมาปกครองประเทศไทย...
เอาประเทศไทยของเราคืนมา....
เครื่องบิน "ไทยคู่ฟ้า" คู่บัลลังก์นายกฯทักษิณ ชินวัตร
น่าจะไปส่งคำถามที่รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งที่ 7 ที่อาคารลุมพินีสถานในวันนี้โดยตรงนะครับ เพราะดูเหมือนคุณสนธิฯพูดไว้สั้น ๆ เป็นการยกตัวอย่างประกอบ ยังไม่ได้เข้าเรื่องนี้ตรง ๆ วันนี้น่าจะพูดถึงเรื่องนี้โดยตรง
แต่ไม่เป็นไรไหน ๆ ก็ถามมาที่นี้แล้ว ผมจะให้ข้อมูลพื้นฐานก่อน
จริงครับ ว่ารัฐบาลอนุมติซื้อเครื่องบินพระราชพาหนะลำใหม่แล้วเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2548
แต่เป็นการอนุมัติหลังจาก ตะแบง ต่อไปไม่ได้ !
รัฐบาลงบประมาณ 3,017 ล้านบาท หรือ 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737 - 800 จำนวน 1 ลำเป็นเครื่องบินทดแทนเครื่องบินพระราชพาหนะเดิม
สมควรอย่างยิ่งแล้วครับ
เพราะเครื่องบินพระราชพาหนะ ลำปัจจุบัน คือ โบอิ้ง 737 400 มีอายุการใช้งานมากกว่า 13 ปีแล้ว
แต่กว่าจะจัดซื้อ กว่าจะผลิต และกว่าจะได้รับมอบ -- ก็ไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่ ?
ทราบกันหรือไม่ครับว่า ปัจจุบันนี้เครื่องบินพระราชพาหนะมีไม่พอ และเก่ามาก เครื่องสำรองอีก 2 ลำมีอายุใกล้เคียงกัน ลำหนึ่ง 25 ปี อีกลำหนึ่ง 18 ปี
บางครั้งถึงขั้นที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ต้องเสด็จโดยเครื่อง ซี 130
กองทัพอากาศต้องปรับเครื่องบินลำเลียง ซี 130 มาใช้ โดยเอานำเก้าอี้ของสายการบินมาติดบนแผ่นอลูมิเนียม ปูพื้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่สะดวกสบายนัก
แต่ถึงจะตัดสินใจจัดซื้อไปแล้ว เรื่องก็ยังไม่จบง่าย ๆ แค่นั้น
ยังจะต้องตำหนิติติงกันอย่างรุนแรงต่อไป
ประการแรก เพราะรัฐบาลไม่แสดงความใส่ใจที่จะจัดซื้อเครื่องบินพระราชพาหนะทูลเกล้าฯถวายให้ทันการณ์
ทั้ง ๆ ที่กองทัพอากาศเสนอซื้อไปตั้งแต่ ปี 2546 แต่กลับถูก แช่เรื่อง ไว้
ทั้ง ๆ ที่โดยสำนึกแล้ว ไม่ว่าใครพรรคไหนจะมาเป็นรัฐบาล ถ้ายังถือว่าตัวเองเป็นคนไทยอยู่ จะต้องเร่งรัดภารกิจนี้
เป็นภารกิจเร่งด่วน เพราะนี่เป็นเรื่องของการถวายความปลอดภัย
แต่กลับมาคิดจัดซื้อเอาตอนปลายปี 2548
และกว่าจะได้เครื่องใหม่มาทดแทนลำเดิมที่ใช้งานมานานกว่า 13 ปี ต้องรออย่างน้อย 2 ปี หรืออาจจะเป็น 3 ปี
ประการที่สอง - ร้ายแรงมาก เพราะนอกเหนือจากไม่เร่งรัดแล้ว ยังใช้ข้ออ้างที่มิบังควรมาชะลอการจัดซื้อ ก็คือไม่มีเงิน ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง
ข้ออ้างเมื่อปี 2546 ดังกล่าวก็คือรัฐบาลยังไม่มีงบประมาณ
แต่ปรากฏว่าในปี 2546 เดียวกันนั้น รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีมติครม.เพื่อจัดซื้อเครื่องบินลำเลียงขนาดกลางมาใช้ เป็นเครื่อง แอร์บัส 319 ACJ ซึ่งในที่สุดเครื่องลำนี้ ก็กลายมาเป็น ไทยคู่ฟ้า หรือที่ชาวบ้านเรียกตามแบบเครื่องบินประจำตัวประธานาธิบดีอเมริกัน แอร์ฟอร์ซ 1 นั่นเอง
ไม่มีเงินซื้อเครื่องบินพระราชพาหนะ แต่มีปัญญาซื้อเครื่องบินประจำตำแหน่ง
เป็นข้ออ้างที่ไม่สมควร !
ไหนประกาศนักหนาว่ามีเงินเยอะ ใช้หนี้ไอเอ็มเอฟก่อนหมดก่อนกำหนด ทำโครงการเมกกะโปรเจ็คได้มากมาย
ประการที่สาม - เครื่องแอร์ฟอร์ซ 1 ที่ได้มานั้น มาจากกระบวนการที่มิบังควร
เป็นการเล่นแร่แปรธาตุ เอาเครื่องเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะไปแลก
แทนที่คิดจะแลกเพื่อจัดหาเครื่องบินพระราชพาหนะลำใหม่ แต่กลับเอามาแลกเพื่อนำมาใช้เอง
สมองในส่วนที่ใช้ จัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง ผิดเพี้ยน !
คงจะยังจำได้ใช่ไหมว่าเมื่อปี 2540 เฮลิคอปเตอร์ซูเปอร์พูม่า MK 2 ตามขบวนเสด็จที่ภาคใต้ เกิดอุบัติเหตุตกที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2540 นับจากนั้นจึงได้ถอนเครื่องชุดนี้ออกจากภารกิจ โดยรัฐบาลจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ชุดใหม่ถวายเมื่อเดือนสิงหาคม 2546 แล้วก็ถอนซูเปอร์พูม่า 2 เครื่องที่เหลืออยู่ออกมา เพราะถือว่าไม่ปลอดภัย
แล้วก็เอาซูเปอร์พูม่าไปแลกเป็นเครื่องบินไทยคู่ฟ้า
ทั้ง ๆ ที่กระบวนการจัดหาเครื่องบินพระราชพาหนะลำใหม่ตั้งแต่ก่อนปี 2546 นั้น กองทัพอากาศได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา สรุปมีแนวทางดำเนินการ 2 แนว
1. จัดซื้อลำใหม่เลย ซึ่งที่สุด แล้วรัฐบาลบอกว่ายังไม่มีเงิน
2. ใช้เครื่องเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะซูเปอร์พูม่า MK 2 จำนวน 2 ลำ ไปแลกซื้อ
ในเมื่อแนวทางแรกทำไม่ได้ ก็หันมาแนวทางที่ 2 ซึ่งในที่สุดได้มีการเจรจากับบริษัทต่างประเทศ 4 บริษัท โดย 2 เจ้าแรกคือค่ายโบอิ้ง กับค่ายแอร์บัส ส่วนอีก 2 รายเป็นนายหน้า ก็เลยตัดไป
โบอิ้งกับแอร์บัสเสนอเงื่อนไขที่แตกต่างกัน
แอร์บัส เสนอ แอร์บัส 319 ACJ ก็คือรุ่นที่กลายมาเป็น ไทยคู่ฟ้า ทุกวันนี้
โดยรัฐบาลต้องจ่ายเงินเพิ่ม 29.6 ล้านเหรียญสหรัฐ !
ส่วนโบอิ้งเสนอ โบอิ้ง 737 - 800 ก็คือรุ่นเดียวกันกับที่คณะรัฐมนตรีชุด ความรู้สึกช้า เพิ่งมีมติจัดซื้อถวายเป็นเครื่องบินพระราชพาหนะเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2548
ถ้าซื้อรุ่นนี้ รัฐบาลต้องจ่ายเพิ่ม 51.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
และได้รับเครื่องทันที(ปี 2546) !
ประเด็นอยู่ตรงนี้ - ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจจัดซื้อเครื่องบินพระราชพาหนะมาทูลเกล้าฯถวายโดยเร็ว ก็ควรจะต้องตัดสินใจแลกซื้อกับ โบอิ้ง 737 - 800 ไปตั้งแต่ปี 2546 โน้น
แต่ก็ไม่ทำ
ใช่เพราะว่ามีคนอยากมีเครื่องบินส่วนตัวใช้หรือไม่ ผมไม่กล้าแม้แต่จะคิด
ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคนทักท้วงในช่วงนั้น คนของรัฐบาลก็แก้ตัว ออกตัว ไปคนละทิศคนละทาง แต่โดยสาระคือพยายามปฏิเสธว่าไม่ใช่เครื่องบินประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เป็นเครื่องบินสำหรับบุคคลสำคัญทั่วไป
นายวิษณุ เครืองาม (อีกแล้ว) ชี้แจงได้พิสดารที่สุด
นายคนนี้บอกว่าเครื่องบินแอร์บัส 319 ACJ ที่จะจัดซื้อได้ขึ้นทะเบียนเป็น เครื่องบินพระที่นั่งสำรอง เหมือนกับอีก 2 ลำก่อนหน้า
นายคนนี้บอกว่าเครื่องบินลำใหม่นี้ในครั้งแรกไม่คิดจะจัดซื้อ แต่เป็นความจำเป็นที่ต้องกำจัดเครื่องซูเปอร์พูม่า ในเมื่อขายไม่ได้ จึงได้นำมาแลกเปลี่ยนกับเครื่องบินลำใหม่ ซึ่งต้องเพิ่มเงิน แต่ได้เปิดการประมูลให้ทั่วโลกมาร่วมด้วย และสาเหตุที่ต้องเร่งจัดซื้อเนื่องจากหากปล่อยให้ข้ามปีราคาของเครื่องบินซุปเปอร์พูม่าจะตกลงไปอีก
วันที่ 22 ตุลาคม 2547 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกหนังสือชี้แจงความชัดเจนของเครื่องบินลำนี้ว่าใช้สำหรับรองรับภารกิจของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ในโอกาสต่าง ๆ เช่น การต้อนรับบุคคลสำคัญ แขกของรัฐบาล การเดินทางไปราชการต่างประเทศ หรือต่างจังหวัด ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเสริมสร้างศักยภาพการบริหารงานราชการแผ่นดิน
ที่ชัดเจนก็คือการตั้งชื่อเครื่องบินลำนี้ว่า "ไทยคู่ฟ้า" และมีตราสัญลักษณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรีประดับอยู่
ส่วนข้อแตกต่างของการจัดซื้อเครื่องบินพระราชพาหนะ ระหว่างถ้าได้ทำไปเมื่อปี 2546 กับที่เพิ่งจะทำเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2548 ก็คือ...
ราคาจัดซื้อเมื่อปี 2546 ใช้เงินเพิ่ม 51.5 ล้านเหรียญ ตีเป็นเงินไทย 2,000 ล้านบาทกว่า ๆ แล้วได้รับเครื่องทันที
แต่ราคาที่จัดซื้อปี 2548 นี้ต้องใช้เงิน จำนวน 3,017 ล้านบาท หรือ 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,171 ล้านบาท
ที่สำคัญ -- ไม่รู้ว่าจะได้รับเครื่องเมื่อไหร่
นี่คือคำถามที่รัฐบาลจะต้องตอบ
1. ทำไมในช่วงปี 2546 รัฐบาลอ้างว่าไม่มีเงิน ชะลอการจัดซื้อ แต่กลับมาซื้อ ไทยคู่ฟ้า ให้ตัวเอง ?
2. ทำไมมีการแปรกระบวนการพิจารณาจัดหาเครื่องบินราชพาหนะ โดยวิธีการแลกเครื่องเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะซูเปอร์พูม่า ให้กลายมาเป็นการแลกเครื่องบินให้รัฐบาลใช้เอง จุดเปลี่ยนแปลงนี้มาจากใครสั่ง ?
3. ทำไมไม่ตัดสินใจแลกซื้อเครื่องโบอิ้ง 737 - 800 ทูลเกล้าฯถวายให้เป็นเครื่องบินพระราชพาหนะตั้งแต่ขณะนั้น ?
4. ตั้งแต่ปี 2546 - สิงหาคม 2548 ขั้นตอนการจัดหาเครื่องบินพระราชพาหนะหายไปไหน ทำไมไม่เร่งรัด ?
ที่สำคัญไปกว่านี้ก็คือในช่วงใกล้ ๆ กับการอนุมัติซื้อเครื่องบินพระราชพาหนะลำใหม่เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2548 นี้ รัฐบาลก็ยังมีความพยายามที่จะจัดซื้อเครื่องบินสำหรับบุคคลสำคัญอีก
กระทรวงกลาโหมได้เตรียมเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 เพื่อให้กองทัพบกก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณในโครงการจัดหาเครื่องบินแบบใช้งานทั่วไป 2 เครื่อง วงเงิน 1,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (2548 2549) เพื่อสนับสนุนการเดินทางให้กับผู้บังคับบัญชาระดับสูงและบุคคลสำคัญในรัฐบาล ในการเดินทางตรวจราชการที่สำคัญ
โดยเฉพาะภารกิจในการรักษาความสงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
รวมทั้งการปฏิบัติและการส่งกลับ ผู้เจ็บป่วยจาการปฏิบัติหน้าที่มารักษาพยาบาล
แต่พอมีข่าวออกไปในช่วงเช้าวันที่ 20 กันยายน 2548 นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมน ตรีก็ได้ตัดสินใจถอนเรื่องกลับก่อน โดยรอให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาเพื่อมาเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจเอง
และในวันที่ 27 กันยายน 2548 ก็ได้มีการอนุมัติในหลักการ
เพียงแต่เปลี่ยนเป็นระบบแลกเปลี่ยนทางการค้าแทนเท่านั้น
ก็เท่ากับเป็น การยืนยัน อีกครั้งว่า ไทยคู่ฟ้า นั้นมีไว้ใช้สำหรับภารกิจนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเท่านั้น
ข้อมูลมากกว่านี้ เห็นจะต้องตามไปฟังคุณสนธิฯที่ลุมพินีสถาน (เวทีลีลาศเก่า) เย็นวันนี้ตั้งแต่ 16.00 น.เป็นต้นไป
พายัพ วนาสุวรรณ 3 พ.ย. 48
นำมาจาก http://www.manager.co.th/politics/PoliticsQAQuestion.asp?QAID=5553
Posted by : กทม , Date : 2005-11-03 , Time : 23:26:41 , From IP : 172.29.4.39
|