ความคิดเห็นทั้งหมด : 9

วิถีแห่งเสื้อกาวน์และหมวกขาว มือหนึ่งยื้อชีวิตอีกมือปาดน้ำตา


    เสียงกัมปนาทแห่งระเบิด เสียงรัวกระสุนปืนที่แผดก้อง เสียงครวญครางด้วยความเจ็บปวด และเสียงไซเรนของรถตำรวจที่พาผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในห้วงเวลาเกือบ 2 ปีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ปัญหาความไม่สงบที่ยืดเยื้อและเรื้อรังในดินแดนแห่งนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะชาวบ้านตาดำๆ ครู หรือเหล่าทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเท่านั้น ทว่าเจ้าของมือที่สาละวนยื้อชีวิตของเหยื่อความรุนแรงวันแล้ววันเล่า คนแล้วคนเล่า ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน



ชีวิตของแพทย์และพยาบาลซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางไฟใต้ที่โหมกระหน่ำ เป็นมิติของปัญหาที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงมากนักตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นต้องตกอยู่ในสภาพกดดัน ตึงเครียด และหวาดผวากับสถานการณ์ร้ายแรงไม่น้อยไปกว่าผู้คนกลุ่มอื่นๆ

ที่โรงพยาบาลรามัน อ.รามัน จ.ยะลา หนึ่งในสถานพยาบาลระดับอำเภอที่ได้รับความเชื่อถือว่าดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บุคลากรทางการแพทย์นับร้อยคนต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตปกติของตัวเอง เพื่อรับมือกับหมอกควันแห่งความรุนแรง

“เราต้องปรับตัวกันไม่น้อย เริ่มตั้งแต่เรื่องการเดินทาง และการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในโรงพยาบาล” น.พ.รอซาลี ปัตยะบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน เอ่ย และว่า
“หลังเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 และสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผมได้สั่งให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนงดใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ หรือรถยนต์ก็ตาม แต่ให้ใช้รถรับส่งของโรงพยาบาลแทน”

สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในโรงพยาบาลนั้น น.พ.รอซาลี บอกว่า ได้จัดซื้อกล้องวีดีโอวงจรปิด 14 ตัว ติดตั้งบริเวณจุดล่อแหลมทุกจุด ตั้งแต่ประตูหน้าโรงพยาบาลเลยทีเดียว

“เราจำเป็นต้องทำ เพราะโรงพยาบาลรามันมีคนไข้มาก เราไม่ได้รับคนไข้เฉพาะใน อ.รามัน แต่รับจากอำเภอใกล้เคียงทั้งจาก จ.นราธิวาส และปัตตานีด้วย ขณะที่ความรุนแรงก็เกิดใกล้โรงพยาบาลเข้ามาเรื่อยๆ จึงต้องดูแลให้ดีที่สุด น.พ.รอซาลี กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าโรงพยาบาลจะมีมาตรการเข้มเพื่อรักษาความปลอดภัย แต่แล้วเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เหตุร้ายก็มาเยือนถึงหน้าประตู เมื่อยามรักษาความปลอดภัยของโรงพยาบาลถูกยิง และเสียชีวิตคามือหมอของโรงพยาบาลที่เขาทำงานอยู่นั่นเอง

“ถ้าจะพูดกันตรงๆ มันก็กลัวนะ เพราะเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร” น.พ.มนตรี มหัศนียานนท์ แพทย์ซึ่งนั่งตรวจคนไข้ในโรงพยาบาลแห่งนี้มานานถึง 7 ปี เผยความรู้สึก

“สถานการณ์ขณะนี้ทุกคนเสี่ยงเท่ากันหมด ไม่มีหมออิสลาม หรือหมอไทยพุทธ เพราะกลุ่มก่อการร้ายเล่นงานทุกคนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือทำงานอยู่ในหน่วยงานของรัฐ” น.พ.มนตรี กล่าว

เขาเล่าว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเป็นต้นมา ก็ต้องระวังตัวมากขึ้น เพื่อนๆ หลายคนต้องพักอยู่ในโรงพยาบาล เพราะไม่กล้าเดินทางกลับบ้าน

“ผมเองก็เช่าบ้านอยู่หน้าโรงพยาบาล พอตกค่ำก็ไม่กล้าเปิดประตูแล้ว เช้าตอนมาทำงานก็ต้องเหลียวซ้ายแลขวาให้ดี ก็เครียดเหมือนกัน” เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะความรุนแรงก็ยังไม่ส่อเค้าว่าจะคลี่คลาย แต่ก็มาเกิดข่าวลือเรื่องหยุดวันศุกร์ขึ้นมาอีก คราวนี้ทำเอาร้านอาหารภายในโรงพยาบาลถึงขั้นไม่กล้าเปิดขาย

“วันศุกร์นี่ไม่มีอะไรกินเลย ออกไปข้างนอกโรงพยาบาล ร้านค้าก็ปิดเกือบหมด ล่าสุดท่าน ผอ.ต้องใช้มาตรการให้บุคลากรซื้อคูปอง แล้วให้โรงครัวของโรงพยาบาลทำอาหารให้แทน” น.พ.มนตรี ระบุ

ด้านความรู้สึกของพยาบาล น.ส.นงเยาว์ พรหมจันทร์ หัวหน้าแผนกอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน โรงพยาบาลรามัน เล่าว่า เหตุการณ์ความไม่สงบส่งผลต่อสภาพจิตใจอย่างมาก เพราะไม่มีความมั่นใจเลยว่า เดินทางออกจากบ้านในวันนี้แล้วจะได้ไปถึงโรงพยาบาลหรือเปล่า

“ฝ่ายโน้นเขาทำร้ายได้ทุกคน” นงเยาว์ เอ่ยพลางถอนใจ “ดิฉันเข้าเวรที่ห้องฉุกเฉินทุกวัน เห็นคนถูกทำร้ายเข้ามาแล้วก็รู้สึกว่า ทำไมต้องทำคนดีๆ ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วย และครอบครัวของพวกเขาจะอยู่อย่างไร”

เธอบอกว่า ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ที่พักอยู่นอกโรงพยาบาล ต้องเปลี่ยนเวลามาทำงานจนแทบจำเวลาเดิมไม่ได้

“อย่างคนที่เข้าเวรดึก ต้องมาถึงโรงพยาบาลก่อน 6 โมงเย็น ทั้งๆ ที่เข้าเวรจริงๆ เวลาเที่ยงคืนครึ่ง ส่วนคนที่ออกเวรตอนเที่ยงคืน ก็ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล เพราะกลับบ้านไม่ได้”

ด้วยเหตุนี้เอง ภาพของความร่วมแรงร่วมใจจึงเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อเหยื่อของความรุนแรงถูกส่งเข้ามาถึงห้องฉุกเฉิน โดยแพทย์และพยาบาลทุกคนที่พักอยู่ในโรงพยาบาล จะรีบวิ่งออกมาช่วยเจ้าหน้าที่ที่เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่ เพื่อยื้อชีวิตผู้บาดเจ็บไม่ให้ถูกพรากไปจากครอบครัว ญาติมิตร และคนที่เขารัก

“จนถึงวันนี้มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงถูกส่งเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลถึง 71 คนแล้ว และบางรายก็เสียชีวิต” เธอเสียงเศร้าเมื่อพูดถึงสถิติที่ทางโรงพยาบาลบันทึกไว้อย่างไม่เป็นทางการ

“ที่ร้ายไปกว่านั้น คนเจ็บหลายคนก็เป็นคนที่เรารู้จัก อย่างยามของโรงพยาบาลที่ถูกยิง ตอนนั้นสะเทือนใจมาก เรียกว่าช่วยชีวิตเขาไปพลาง ก็ร้องไห้ไปพลาง เพราะมันกลั้นไม่ไหวจริงๆ”

“นอกจากนั้นก็มีตำรวจที่เคยมาดูแลความปลอดภัยที่นี่ เคยเห็นหน้ากัน พออีกวันก็ถูกยิงอาการสาหัสเข้ามาแล้ว เราก็รู้สึกว่าทำไมต้องทำกันถึงขนาดนี้...”

นงเยาว์ ยอมรับว่า กับสภาพที่ต้องเผชิญทำให้เธอและเพื่อนๆ เคยคิดย้ายหนีออกจากพื้นที่นี้เหมือนกัน

“แต่ที่นี่คือบ้านของเรา เราก็ต้องอยู่ต่อไป” เธออธิบายถึงสาเหตุที่ไม่ทำตามที่คิด และว่า “ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ ทุกคนก็จะถามว่าทำไมต้องเป็นอย่างนี้ แล้วถ้าเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นญาติพี่น้องของเราล่ะ เราจะทนได้ไหม เราอยากให้เหตุการณ์แบบนี้จบลงเร็วที่สุด”

ทั้งหมดนี้ภาพชีวิตของแพทย์และพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อมนุษยธรรมท่ามกลางเสียงระเบิดและควันปืน!




Posted by : superman , Date : 2005-09-21 , Time : 10:39:23 , From IP : 172.29.1.167

ความคิดเห็นที่ : 1


   ขอเป็นกำลังใจทุกๆคนครับ หวังว่าเหตุกการณ์ต่างๆจะสงบลงโดยเร็ว

Posted by : The Saint , Date : 2005-09-21 , Time : 12:03:13 , From IP : 172.29.4.67

ความคิดเห็นที่ : 2


   
เพิ่งได้รับบทความนี้จากเพื่อน เขาเอามาจาก "ข่าวประชาไท" เลยส่งมาให้พิจารณาประกอบ เผื่อจะต่อจิกซอร์เห็นภาพปัญหามากขึ้น แล้วช่วยกันคิดดูว่าปัญหา 3 จว.ชายแดน( ที่ไม่รู้ว่าจะลามถึงบ้านเราด้วยเมื่อไหร่) จะช่วยกันได้อย่างไร เราช่วยได้อย่างหนึ่งตอนนี้คือ ช่วยกันเปิดหูเปิดตานะ


***************************************
ข่าวประชาไท

สำรวจกลันตันพบผู้อพยพ–สายลับเต็มเมือง


ระหว่างวันที่ 9 – 10 กันยายน 2548 ผู้สื่อข่าว “ประชาไทออนไลน์” ได้เดินทางเข้าไปสำรวจบรรยากาศในรัฐกลันตันประเทศมาเลเซีย ตามหมู่บ้านต่างๆ บริเวณชายแดนมาเลเซีย ด้านตรงข้ามกับอำเภอสุไงโก–ลก จังหวัดนราธิวาส

จากการพบกับคนไทยจำนวนมาก ที่เข้าไปพักอาศัยอยู่ในหลายหมู่บ้าน บริเวณแนวพรมแดน ฝั่งตรงกันข้ามอำเภอสุไหงโก–ลก เพื่อติดต่อขอพบกับชาวมุสลิมที่ลี้ภัยเข้ามาอาศัยอยู่กับญาติ หรือคนรู้จัก ได้รับคำบอกเล่าจากชาวมุสลิมจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เข้าอยู่อาศัยทำมาหากินในฝั่งมาเลเซียเกือบ 20 ปีว่า มีคนจากฝั่งไทยเข้ามาขอความช่วยเหลือ ขอให้หาที่หลบภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถนำผู้สื่อข่าวไปพบได้ เพราะเกรงจะได้รับความเดือดร้อน ถูกกดดันจากทางการไทยและมาเลเซียในภายหลัง

ในจำนวนผู้อพยพข้ามฝั่งที่ผ่านมา มีชาวบ้านหลายรายจากอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อเดือนตุลาคม 2547 รวมอยู่ด้วยด้วย ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ยอมกลับไปจังหวัดนราธิวาส เพราะเกรงจะถูกทางการไทยจับกุม

อีกส่วนหนึ่งเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านที่ถูกปล้นปืน แต่กลับถูกทางการไทยสงสัยว่า ร่วมมือกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ นำปืนของทางการไปใช้ก่อความไม่สงบ

จากการตรวจสอบถึงสาเหตุที่คนมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลบหนีเข้าไปยังรัฐกลันตันพบว่า มี 3 ประการคือ เกรงว่าตกเป็นผู้ต้องสงสัยของทางการไทย แล้วจะถูกยิงทิ้ง หรือไม่ก็ถูกอุ้ม หรือจะถูกจับกุมดำเนินคดี

“ช่วงนี้มีคนมลายูจาก 3 จังหวัดเข้ามาในกลันตันมาก บางคนเข้ามาหาข่าว มาสอบถามว่ามีคนไทยมุสลิมเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านไหนบ้าง พวกเราไม่มั่นใจว่าคนที่มาเป็นใคร มาจากไหน ทางที่ดีที่สุด ก็คือ ไม่เปิดเผยข้อมูลให้กับใครเลยจะดีกว่า” มุสลิมจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เข้าไปทำงานในรัฐกลันตันรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาไทออนไลน์”

ชายคนหนึ่งอายุประมาณ 35 ปี ซึ่งเป็นชาวมุสลิมจากภาคใต้ ซึ่งเข้าอาศัยอยู่ในหมู่บ้านมาแจ ในรัฐกลันตัน เล่าว่าตอนนี้ทางการไทยจ้างคนมลายูจาก 3 จังหวัด เป็นสายลับเข้ามาหาคนที่ทางการไทยสงสัยว่า อยู่ที่ไหน เรื่องนี้เพื่อนที่อยู่ด้วยกันกับตนเจอด้วยตัวเอง

“สายลับเข้ามาหาคนที่เขาต้องการ พอรู้ว่าอยู่ที่ไหน ก็ให้สินบนตำรวจมาเลเซีย ซึ่งเห็นแก่เงินไปจับตัวเวลากลางคืน แล้ววางยาสลบมัดมือจับใส่กระโปรงท้ายรถเก๋ง ข้ามไปฝั่งไทย เพื่อนคนนี้รู้จักกับตำรวจมาเลเซีย 2 คนที่รับเงิน แล้วบังเอิญไปเปิดฝากระโปรงหลังรถคันนั้นเข้า” ชายคนดังกล่าว ยืนยัน

ประชาชนในรัฐกลันตันคาดการณ์ว่า จะมีคนอพยพจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ามาเรื่อยๆ แต่ส่วนใหญ่จะหลบไปทำงานกับญาติ ทั้งในรัฐกลันตันและรัฐตรังกานู

ชาวมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้ามาอยู่ในรัฐกลันตันมานานอีกราย กล่าวว่า ตอนนี้คนรัฐกลันตัน โดยเฉพาะในหมู่บ้านตามแนวชายแดนหวาดระแวงคนแปลกหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะกับคนที่มาจากประเทศไทย เพราะเกรงว่าจะได้รับความเดือดร้อน ถูกตรวจสอบว่ามีคนไทยเข้ามาหลบภัยหรือไม่ หากทางการมาเลเซียเข้ามาตรวจสอบ จะพบว่ามีคนไทยเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านบริเวณแถบชายแดนมานานแล้ว บางคนเข้าอยู่อย่างผิดกฎหมาย บางคนถือ 2 สัญชาติ แต่ละคนจึงหวั่นว่า จะถูกทางการมาเลเซียถือโอกาสนี้จัดการกับพวกตนด้วย

“คนที่อพยพมา เพราะอยู่ในหมู่บ้านไม่ได้ เขากลัวเจ้าหน้าที่รัฐ จริงอยู่ว่ามีพวกแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดภาคใต้จริง แต่คนพวกนั้นเขาจะจัดการกับเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นไม่ยิงมั่ว คนที่อพยพเข้ามามีมาก ที่เข้าไปอยู่กับญาติในกัวลาลัมเปอร์ก็มากเช่นกัน เพราะถ้าอยู่แถวรัฐกลันตัน ทางการไทยส่งสายลับเข้ามาสืบหาได้ง่าย” ชาวมุสลิมผู้นี้ กล่าว

ขณะที่ชาวมาเลเซีย ในเมืองรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ฝั่งตรงกันข้ามเทศบาลตำบลสุไหงโก–ลก กล่าวว่า สาเหตุของปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ของไทย มาจากความไม่เป็นธรรมมากกว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน สถานการณ์ในภาคใต้ของไทย ไม่ใช่เป็นการต่อสู้ทางศาสนา เพราะหากต่อสู้เพื่อศาสนา คนที่ก่อเหตุคงไม่ทำร้ายชาวบ้านที่ดีๆ แน่นอน คนที่จะถูกทำร้าย คือ เจ้าหน้าที่รัฐ กับคนที่เป็นสายให้กับรัฐเท่านั้น แค่ความสงสัยและหวาดระแวง ก็อาจจะทำให้มีการทำร้ายคนบริสุทธิ์ได้เช่นกัน ความหวาดระแวงขณะนี้ขยายเข้ามาในกลันตันแล้ว เพราะฉะนั้น คนที่เข้ามาหาข้อมูลในกลันตัน จึงมักจะถูกมองว่า เป็นสายลับของทางการไทย หรือเป็นฝ่ายก่อความไม่สงบเอง

จากการตระเวนตามหมู่บ้านต่างๆ บริเวณใกล้ชายแดนมาเลเซีย – ไทย พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ มักจะมองคนแปลกหน้าด้วยสายตาหวาดระแวง โดยเฉพาะคนไทยที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านตามแนวพรมแดน

นอกจากนี้ ยังพบว่า บางหมู่บ้านเริ่มมีการหารือกัน เพื่อเตรียมรับชาวมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คาดว่าจะอพยพเข้ามาอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม ต้นเดือนตุลาคม 2548 จะมีการก่อเหตุครั้งใหญ่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย จำเป็นต้องเตรียมรับมือผู้อพยพอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้อพยพที่เป็นผู้หญิง เด็ก และคนชรา








Posted by : ยังรักปักษ์ใต้ , Date : 2005-09-21 , Time : 13:04:53 , From IP : 172.29.3.230

ความคิดเห็นที่ : 3


   รู้สึกเครียด

Posted by : ไบโอ , Date : 2005-09-21 , Time : 13:19:32 , From IP : 172.29.2.123

ความคิดเห็นที่ : 4


   เป็นกำลังใจให้พี่ๆทุกคนครับ สู้ๆคับ

Posted by : smallrock007@yahoo.com , Date : 2005-09-21 , Time : 19:08:49 , From IP : 172.29.4.139

ความคิดเห็นที่ : 5


   ยุคนี้เราต้องทั้งเปิดรับข้อมูล และหัดวิเคราะห์ และข้อสำคัญข้อสรุปที่ได้ขอให้นำไปสู่ความสงบ สันติ ไม่นำไปสู่ความเกลียด หรือความรุนแรง



Posted by : Phoenix , Date : 2005-09-21 , Time : 19:49:58 , From IP : 58.147.127.254

ความคิดเห็นที่ : 6


   ขอแสดงความเสียใจกับน้องหวาน เด็กมหา ที่คุณพ่อถุกทำร้ายจนเสียชีวิตวันนี้

ชาวบ้านช่างโหดร้ายหลายร้อยรุม 2คน

ทำร้ายคนอื่นอย่างไม่ปราณี

ทำไมคนไทยถึงเป็นแบบนี้


Posted by : พี่เองอะ , Date : 2005-09-21 , Time : 21:13:27 , From IP : 203.113.76.13

ความคิดเห็นที่ : 7


   จากข่าวบอกว่าเป็น "กลุ่มวัยรุ่น" ซึ่งการยืนยันตรงนี้ยังคงเป็นปัญหา แต่ผมคิดว่าถ้ายังไม่แน่นอน เราไม่ควรทำเรื่องหม้ sensational มากขึ้น จากเหตุการณ์ที่เศร้าสลดใจครั้งนี้ พวกเราต้องครองสติให้มั่นคง มองให้ไกล หาหนทางออกโดยยึดหลักสันติธรรม



Posted by : Phoenix , Date : 2005-09-21 , Time : 22:05:11 , From IP : 58.147.127.254

ความคิดเห็นที่ : 8


   อาจารย์ครับ รู้สึกว่าข่าวอาชญากรรมต่างๆที่เกิดขึ้นมักเป็นกลุ่มวัยรุ่นทั้งนั้นเลยครับ อาจารย์ว่าเราควรจะไปแก้ตรงไหนดีล่ะครับ

Posted by : Cruz , Date : 2005-09-22 , Time : 10:32:28 , From IP : 172.29.4.67

ความคิดเห็นที่ : 9


   สองสถาบันที่สำคัญที่สุดคือ สถาบันครอบครัว และสถาบันการศึกษา เป็นสิ่งที่ทุกๆประเทสจำเป็นต้องให้ความสำคัญและดูแลพัฒนาอย่างจริงจัง เพราะมันส่งผลกระทบต่อ "สังคม" ได้กว้าง นาน และมาก

ผมละสถาบันศาสนาไว้ เพราะไม่คิดว่าเราควรจะใช้ "ระบบ" มาก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพในด้านความเชื่อศรัทธา

ครอบครัวของเราใกล้ชิดขึ้น หรือเหินห่างขึ้นครับ? จากภาระหน้าที่การงาน การเคลือนย้ายที่อยู่อาศัย ประชากรที่ขยายตัว ทางกายภาพแล้วมันมีแต่จะห่างออก และอยู่ใกล้กันยากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีด้านสื่อสารทำให้โลกดูแคบลงก็จริง แต่ virtual closeness มันชดเชย physical contact ได้จริงหรือ? ถ้าเราเกิด disillusion ว่ามือถือ webside webcam ทำให้เรายังคงความ "ใกล้ชิด" เหมือนเดิม เราก็จะให้ความสำคัญของอะไรๆที่เราจะได้จาก "ครอบครัว" ที่อบอุ่น ดูแลซึ่งกันและกันอย่างดีลดน้อยลง ผมยังจำที่คุณโน้ม (อุดม แต้พานิช stand-up solo comedian คนเดียวของไทย) พูดคำ "มนษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยเงิน" เมื่อประมาณ 10+ ปีที่แล้วได้เลย ว่ามันช่างเป็น classic sarcasm ที่ "ถึง" จริงๆ

ครอบครัวต้องขวนขวายปากกัดตีนถีบหาเงิน เวลาที่จะมาอบรมสั่งสอนก็น้อยลง เห็นแก่ลูกก็เลยใช้วิธี "ซื้อของ" มาประเคน (ในครอบครัวที่มีเงิน) ในขณะที่บางบ้านขวนขวายก็แล้ว เวลาก็น้อย เงินก็ยังไม่พอที่จะหาอะไรมาให้ อดทั้งนม อดทั้งของ

สถาบันการศึกษาถ้าเน้นที่จบแล้วต้องมีงาน ต้องมีเงิน มันจะลดความสำคัญของสุนทรียศาสตร์ลง คนจะหมดความสามารถหรือ skill ในการที่จะ appreciate อะไรที่เป็น abstract ได้ ตัวอย่างของอะไรที่เป็น "นามธรรม" ได้แก่ ความดี ความงาม ความซื่อสัตย์สุจริต ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเคารพในสิทธิของผู้อื่น นั่นเอง พูดง่ายๆก็คื่อคุณสมบัติเดิมของ "คนดี" ทั้งหมดแทบจะเป็นนามธรรมทั้งสิ้น

การเรียนที่เน้น achievement ทางรุปธรรม ได้แก่ งาน เงิน ตำแหน่ง หน้าที่ ความก้าวหน้า สิ่งเหล่านี้เป็น "ความสำเร็จทางมุมมองสังคม" แต่ไม่ได้วางอยู่บนคุณธรรม ความสำเร็จเหล่านี้มันเลือนลอย และหมดง่าย และเมื่อมีจะก่อให้เกิดความอยากได้เพิ่ม จนความอยากนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ คนที่เก่งจะ "ต้องทะเยอทะยาน" ตรงนี้เป็น thin ice ที่คนที่กำลังเดินอยู่อาจจะหล่นลงไปเมื่อไหร่ก็ได้



Posted by : Phoenix , Date : 2005-09-22 , Time : 13:19:05 , From IP : 172.29.3.202

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.007 seconds. <<<<<