ความคิดเห็นทั้งหมด : 16

หมอแพ้คดีอีกแล้ว


   สั่ง สธ. ชดใช้ 6 แสนคดีลูกสาวฟ้อง รพ. หมอฉีดยาชาแม่ดับ
ศาลนนทบุรี ตัดสินให้กระทรวงสาธารณสุขจ่ายค่าเสียหายให้ลูกสาว ผู้ป่วยโรคไส้ติ่งที่เสียชีวิตเนื่องจากแพทย์รักษาไส้ติ่งผิดพลาด 6 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย ด้านลูกสาวร่ำไห้ดีใจ เตรียมแบ่งเงินให้ผู้ที่เดือดร้อนจากการรักษาของแพทย์รายอื่นไว้เป็นทุนต่อสู้ด้วย


เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 16 กันยายน ศาลจังหวัดนนทบุรี ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่น.ส.สิริมาศ แก้วคงจันทร์ อายุ 22 ปี อยู่บ้านเลขที่ 57 หมู่ 5 ต.หินตก อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2,080,000 บาท จากการที่แพทย์โรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ รักษานางสมควร แก้วคงจันทร์ มารดาของน.ส.สิริมาศ ผิดพลาดจนเสียชีวิต

โดยในการรับฟังคำพิพากษาครั้งนี้น.ส.สิริมาศ ได้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วย น.ส.ปณิตา แก้วคงจันทร์ อายุ 18 ปี น้องสาว และนางดลพร ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์

สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2545 นางสมควร แก้วคงจันทร์ อายุ 49 ปี มารดาของ น.ส.สิริมาศ เกิดอาการปวดท้อง จึงได้ไปตรวจที่สถานีอนามัยบ้านไม้หลา โดยมี พ.ญ.สุทธิพร ไกรมาก เป็นผู้วินิจฉัยโรค และได้แจ้งกับนางสมควรว่า อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นมาจากโรคไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันต้องทำการผ่าตัด จึงได้ทำการส่งตัวไปยังโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอเพื่อผ่าตัดไส้ติ่งในคืนเดียวกัน

ทั้งนี้ น.ส.สิริมาศ ได้นำนางสมควร ไปที่โรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ในเวลาประมาณ 20.00 น. ของวันดังกล่าว เพื่อผ่าตัดไส้ติ่ง โดยมีน.พ.พีระ คงทอง และพ.ญ.สุทธิพร ไกรมาก เป็นผู้ผ่าตัด ซึ่งก่อนการผ่าตัดน.พ.พีระ ได้อนุญาตให้พ.ญ.สุทธิพร ฉีดยาชาให้นางสมควร เข้าทางน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลัง

ปรากฏว่าหลังจากฉีดยาชาแล้ว นางสมควรเกิดอาการช็อก หัวใจไม่ทำงาน ความดันตก สมองขาดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยง เป็นเวลาเกินกว่าสามนาที แพทย์ทั้งสองจึงได้งดทำการผ่าตัดหลังจากกรีดชั้นผิวหนังไปแล้ว และนำตัวนางสมควร ส่งโรงพยาบาลมหาราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางไปโรงพยาบาลมหาราช ออกซิเจนในรถพยาบาลเกิดหมดลง ทำให้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแบบบอลลูนปั๊มไปตลอดทาง เมื่อถึงโรงพยาบาลมหาราช อาการของนางสมควรหนักขึ้น และเริ่มไม่รู้สึกตัวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2545 โดยแพทย์โรงพยาบาลมหาราชสรุปว่า เกิดจากปอดและสมองบวม มีอาการเลือดคั่ง กล้ามเนื้อหัวใจแข็งเกร็ง

ต่อมาน.ส.สิริมาศ ได้พยายามหาสาเหตุการเสียชีวิตของนางสมควร และได้ทำเรื่องถึงแพทยสภา เพื่อขอข้อมูลการรักษา แต่แพทยสภาแจ้งว่าการสอบสวนกรณีนี้ไม่มีมูลความผิดของแพทย์ แต่ทาง น.พ.พีระกลับยอมรับว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจากการรักษาผิดพลาด และพร้อมที่จะชดใช้ค่าเสียหายให้ 5 หมื่นบาท อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นเรื่องกลับเงียบหายไปโดยน.ส.สิริมาศ ยังไม่ได้รับค่าชดเชย จึงทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงาน แต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ จนกระทั่งแพทย์โรงพยาบาลศิริราช ได้ตรวจสอบประวัติการรักษา และเวชทะเบียนพบว่า สาเหตุที่นางสมควรเสียชีวิตเกิดจากการวินิจฉัยโรคผิดพลาด และทำการรักษาไม่ถูกวิธี น.ส.สิริมาศ จึงได้เข้าแจ้งความที่ สภ.อ.ร่อนพิบูลย์ เมื่อต้นเดือนมกราคม 2547 เพื่อขอให้ดำเนินคดีกับแพทย์ทั้งสอง ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจทำสำนวนสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญา แต่ทางสำนักงานอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราช กลับมีความเห็นสั่งฟ้อง เรื่องอยู่ระหว่างดำเนินคดี

นอกจากนี้ น.ส.สิริมาศ ยังได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนนทบุรีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 เพื่อเรียกค่าเสียหายจากสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2,080,000 บาท ซึ่งศาลจังหวัดนนทบุรีได้รับเรื่อง และนัดพิจารณาคดีในวันที่ 16 กันยายน 2548 โดยนายเชาว์ จันทนชูกลิ่น ผู้พิพากษา เป็นผู้อ่านคำตัดสินพิจารณาคดี ที่ห้องพิจารณาคดี 18

ท้งนี้คำพิพากษาระบุว่า ให้สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้กับน.ส.สิริมาศ 6 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2545 ซึ่งเป็นวันที่นางสมควร เสียชีวิต ในฐานกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จ น.ส.สิริมาศ ได้ร้องไห้ออกมา และตรงเข้าสวมกอดน.ส.ปณิตา และนางดลพร หลังจากนั้นได้ให้สัมภาษณ์ทั้งน้ำตาว่า รู้สึกดีใจอย่างมากที่ได้รับความยุติธรรมจากศาล เพราะก่อนหน้านี้ถ้ามีผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาผิดพลาดของแพทย์หรือโรงพยาบาล มักจะไม่ชนะคดี และยังถูกฝ่ายแพทย์หรือโรงพยาบาลฟ้องกลับ

"กระบวนการยุติธรรมดีขึ้นกว่าเดิมมาก ฉันเริ่มสู้คดีมาตั้งแต่ปี 2545 ตลอดระยะเวลาที่ต่อสู้มา ไม่เคยคิดเคยฝันว่าจะมีวันที่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมกลับคืนให้กับครอบครัวได้ ซึ่งหากถามว่าตัวเงินที่จะได้รับเป็นที่พอใจหรือไม่ บอกได้เลยว่าไม่อยากได้เป็นตัวเงิน อยากได้ชีวิตของแม่กลับคืนมามากกว่า ซึ่งก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยในวันนี้ฉันก็ได้ทำเพื่อแม่ ต่อสู้เพื่อแม่ เรียกร้องความยุติธรรมให้กับแม่ได้แล้ว หลังจากแม่เสียชีวิตไปเกือบสี่ปี" น.ส.สิริมาศ กล่าว

น.ส.สิริมาศ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ไปตนพร้อมที่จะทำงานให้กับเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ส่วนเงินที่ได้มาก็จะเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาให้ตัวเองกับน้องสาว ทำบุญให้แม่ และจะแบ่งบางส่วนให้เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วย นอกจากนี้ตนก็จะไปเรียนต่อคณะนิติศาสตร์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดจะเรียนสาขานี้เลย

reference : http://www.komchadluek.net/news/2005/09-17/p1--11673.html

=============================================

มันเกิดอะไรขึ้นเนี่ย แล้วยังงี้ต่อไปจะกล้าบล็อคหลังผู้ป่วยเองได้ยังไง


Posted by : จขกท , Date : 2005-09-17 , Time : 02:38:56 , From IP : 172.29.4.229

ความคิดเห็นที่ : 1


   มีข้อคิดอย่างอื่นอีกไหมครับจากเรื่องนี้ นอกจากที่กล่าวมา?



Posted by : Phoenix , Date : 2005-09-17 , Time : 03:03:59 , From IP : 203.156.150.18

ความคิดเห็นที่ : 2


   ผู้รู้ช่วยวิจารณ์หน่อยได้ไหมครับว่ามีความผิดพลาดในขั้นตอนใดของการรักษา

Posted by : สงสัย , Date : 2005-09-17 , Time : 12:32:43 , From IP : 172.29.4.123

ความคิดเห็นที่ : 3


   ส่งไปเรียน 10 ปี ได้แค่นี้?

Posted by : ff , Date : 2005-09-17 , Time : 13:13:48 , From IP : ppp-210.86.142.193.r

ความคิดเห็นที่ : 4


   "อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางไปโรงพยาบาลมหาราช ออกซิเจนในรถพยาบาลเกิดหมดลง ทำให้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแบบบอลลูนปั๊มไปตลอดทาง "
Error บางอย่างก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นนะครับ


Posted by : Rx , E-mail : (-) ,
Date : 2005-09-17 , Time : 13:40:03 , From IP : ppp-210.86.142.193.r


ความคิดเห็นที่ : 5


   เห็นทีคงไม่มีใครอยากทำงานแน่เลย ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็ไม่อยากเรียนแพทย์แล้ว

Posted by : ... , Date : 2005-09-17 , Time : 13:42:24 , From IP : 203.157.217.5

ความคิดเห็นที่ : 6


   สำหรับผมคิดว่าไม่ใช่การวินิจฉัยและรักษาผิดพลาดครับ เพราะวินิจฉัยได้ว่าเป็น acute appendicitis และทำการรักษาโดยการทำ appendectomy เพียงแต่เลือกใช้ spinal block แล้วมี complication เกิดขึ้นซึ่งสามารถมีได้อยู่แล้ว
แต่ที่ผมเป็นห่วงเรื่อง O2 หมดระหว่างทาง? ซึ่งถ้าเป็นจริงก็เป็นความผิดพลาดที่รับไม่ได้ แต่คงยากมากที่จะให้แพทย์ไป check ปริมาณ O2 ก่อน refer
สรุปความเห็นผมคือ ไม่เห็นด้วยต่อการตัดสินของศาลหากจะตัดสินว่า วินิจฉัยโรคและให้การรักษาผิดพลาด
อีกอย่างหนึ่งคือ ผู้พิพากษาเรียนนิติศาสตร์ 4 ปี ต่อเนติฯ 2 ปี รวมแล้ว 6 ปี แต่ตัดสินคดีความได้ทุกสาขาอาชีพ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเอาความรอบรู้มาจากไหน โดยเฉพาะวิชาการแพทย์ ซึ่งละเอียดซับซ้อนมาก ผมคิดว่าผมเรียนแพทย์ตลอดชีวิตก็ไม่สามารถรอบรู้ได้หมด และไม่มีอะไร 100% ในวงการแพทย์ ความเห็นของอีกคนอาจไม่เหมือนกับอีกคน แต่ก็ไม่มีใครถูกใครผิด
เพราะฉะนั้นผมคิดว่าแพทย์เมืองไทยเริ่มลำบากในการทำงานหากเป็นแบบนี้


Posted by : แพทย์ , Date : 2005-09-17 , Time : 18:19:05 , From IP : 172.29.3.247

ความคิดเห็นที่ : 7


   ให้ความเคารพศาล หน่อยซิครับ ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด คุณก็บอกเองไม่ใช่เหรอ ว่าหมอก็มีสิทธิ์ผิดพลาดได้ ในกรณีนี้ อาจจะผิดเองจริงๆก็ได้ ส่วนที่บอกว่าต่อไปหมอลำบาก น่ะ ผมมองว่าคนที่ลำบากจริงๆ น่าจะเป็นผู้ป่วยมากกว่า เพราะว่าเมื่อตัวเองได้รับการปฎิบัติที่ไม่ถูกต้องจากหมอ กว่าจะเอาผิดได้มันยากจริงๆ

Posted by : x , Date : 2005-09-17 , Time : 20:35:50 , From IP : 61.7.144.250

ความคิดเห็นที่ : 8


   เมื่อประมาณ 2 เดือนที่แล้ว มีประชุมแพทยศาสตร์ศึกษาที่อาคารเฉลิมพระบารมีฯ กทม. ได้มีการสืบสาวเล่าที่มาของคำว่า professional (ยังไม่มีศัพท์บัญญัติไทย แต่มีบางท่านเรียก "อาชีวปฎิญาน")

professional ต่างจาก occupation อยู่บ้าง รากศัพท์มาจากทางศาสนศาสตร์นิดหน่อย profess เป็นการกล่าวประกาศออกมาต่อสาธารณะในสิ่งที่ตนเองเชื่อ ศรัทธา และว่าตนเองจะมีวิถีการทำงาน การดำรงชีวิตอย่างไร แต่เดิมกลุ่มที่ใช้คำนี้คือพวกนักบวช ศาสนาต่างๆ

ทีนี้มันมีบางอาชีพที่ โดยเนื้อหาแห่งอาชีพนั้นๆ มันมีผลกระทบต่อชีวิตคน ต่อสังคม ต่อความทุกข์ทรมานของผู้อื่น อาชีพที่ว่านี้ก็มีลักษณะอีกคือ ต้องผ่านการฝึกอบรมเป็นพิเศษอยู่เป็นเวลานาน ทั้งทางด้านความรู้ ความชำนาญ และข้อสำคัญก็คือเนื่องจากตัวงานมันมีผลกระทบกว้าง เป็นกลุ่มอาชีพที่ต้อง "มีราก" วางอยู่บนจรรยาบรรณวิชาชีพ อาชีพเหล่านี้ได้แก่ แพทย์ นักกฏหมาย ครู นักบวช และเนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องฝึกฝนเรียนรู้อยู่เป็นเวลานานนี่เอง ทำให้คนภายนอกบางครั้งจะทำความเข้าใจว่าอะไรถูก อะไรผิดยาก มันต่างจากขายบะหมี่ ตัดเสื้อผ้า ที่ลูกค้าถึงทำไม่เป็นก็พอจะบอกได้ว่าไอ้นี่มันแพงไป มันไม่ดี ไม่เหมาะ แต่ในกลุ่ม professional แล้ว มันมีอะไรที่ลึกซึ้งซับซ้อนกว่า นี่คือความจำเป็นที่ต้องมีสมาคม หรือสภาวิชาชีพเพื่อสอดส่องและตรวจสอบดูแลกันเอง จับผิดกันเอง (ไม่ใช่ "ปกป้อง" นะครับ) ว่าเกิดการผิดจรรยาบรรณ วิชาชีพแล้วหรือไม่

ในกรณีนี้ ผมคิดว่าตามข่าว (จาด bangkok post และ The Nation) เรื่องส่งไปให้ทางแพทยสภาตรวจสอบในประเด็นความถูกต้องก่อนครับ ไม่ใช่ผู้พิพากษาฟังจากทนาย อัยการ แล้วตัดสินเลย



Posted by : Phoenix , Date : 2005-09-17 , Time : 20:49:38 , From IP : 58.147.54.76

ความคิดเห็นที่ : 9


    งงครับ ช่วยอธิบายนิดนึงว่าอาการพวกนี้เกิดจาก high block ได้หรือเปล่าครับ แล้วก็ที่ว่าวินิจฉัยผิดพลาดแล้วจริง ๆ diag. เป็นอะไรครับ ใครที่พอทราบข่าว รบกวนบอกทีนะครับ

Posted by : v13 , Date : 2005-09-17 , Time : 23:05:06 , From IP : dns2.mahidol.ac.th

ความคิดเห็นที่ : 10


   อีกนิด พี่สุทธิพรนี่ คนเดียวกับที่ train med ที่เราใช่หรือเปล่าครับ ถ้าใช่แล้วทำไมถึงไป block หลังด้วยล่ะครับ

Posted by : v13 , Date : 2005-09-17 , Time : 23:08:58 , From IP : dns2.mahidol.ac.th

ความคิดเห็นที่ : 11


   อีกนิด พี่สุทธิพรนี่ คนเดียวกับที่ train med ที่เราใช่หรือเปล่าครับ ถ้าใช่แล้วทำไมถึงไป block หลังด้ว%

Posted by : v13 , Date : 2005-09-17 , Time : 23:12:57 , From IP : dns2.mahidol.ac.th

ความคิดเห็นที่ : 12


   ทุกอาชีพมีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติงานทั้งนั้นค่ะ อยู่ที่ว่าจิตสำนึกของเรา
คิดว่าเราได้พยายามทำเต็มที่แล้วหรือยัง เรารับผิดชอบเต็มที่หรือยัง
เราพร้อมหรือยัง อุดมการณ์ความมีเสมอ ในอาชีพที่ตนได้ร่ำเรียนมา
ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพใดก็ตาม ความรับผิดและรับชอบจะต้องมีในสายเลือด
ของคนเรา



Posted by : ไบโอ , Date : 2005-09-18 , Time : 14:48:48 , From IP : 172.29.2.123

ความคิดเห็นที่ : 13


   ถ้าวิเคราะห์เฉพาะข้อเท็จจริงจากข่าว เข้าใจว่าน่าจะมีปัญหาจากการทำ spinal block เช่น อาจจะเกิดจาก high block แล้วแก้ไขไม่ทัน รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นตอน refer ด้วย สิ่งที่ศาลตัดสินกับแพทยสภาตัดสินอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ ลูกสาวผู้ตายบอกว่า เรื่องนี้เคยร้องไปทางแพทยสภาแล้ว บอกว่าคดีไม่มีมูล แต่ญาติคนไข้ก็คงไม่ได้รับคำอธิบายให้กระจ่างชัดว่ามันแปลว่าอะไร คนทั่วไปซึ่งมักจะคิดว่าแพทย์ก็ช่วยแพทย์ด้วยกันเองอีกตามเคย ในความเป็นจริงการรักษาผู้ป่วยทุกราย มีโอกาสจะเกิดความผิดพลาดหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ตลอดเวลา ทั้งที่ระมัดระวังอย่างดีแล้ว แต่ก็อยากจะเตือนน้องๆ นศพ.รวมทั้ง extern, intern ด้วยว่าให้ตั้งใจเรียนและขยันดูแลคนไข้ให้ดี อย่าประมาท เพราะความผิดพลาดของแพทย์ อาจจะเกิดผลเสียที่ร้ายแรงแก่คนไข้ได้ อย่างในรายนี้ถ้า refer มาผ่าที่รพ.มหาราชตั้งแต่ต้น ก็อาจจะไม่เกิดเรื่อง (แต่ถ้าเชื่อเรื่องดวงว่าคนไข้ชะตาขาด ผ่าที่ไหนก็คงตายเหมือนกัน แต่หมอที่รับผิดชอบอาจจะเป็นคนละคนกัน)

เรื่องนี้ ถ้าให้ความเป็นธรรมแก่ญาติ การจ่ายค่าเสียหายก็เหมาะสม เพราะเขาก็สูญเสียจริง แต่สธ.จะไล่เบี้ยกับหมอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงทางการแพทย์ว่าหมอผิดหรือไม่ ถ้าไม่ผิดก็ไม่ต้องชดใช้ แต่ปัญหาจะเป็นการฟ้องร้องคดีอาญามากกว่าที่ตัวหมอที่ถูกฟ้องต้องไปขึ้นศาลและต่อสู้เอง ส่วนใหญ่แล้วหมอจะถูกฟ้องว่าประมาท ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่หรือไม่ในการทำ spinal block ถ้าขั้นตอนถูกต้อง ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ก็ต้องมาดูว่าการช่วยเหลือคนไข้เมื่อเกิดเรื่อง ทำได้ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ตรงจุดนี้ต่างหากที่อาจจะทำให้หมอแพ้ (ตามเนื้อข่าว) นอกจากนี้เขาอาจจะดูว่า หมอที่ทำ spinal block จบอะไรมา เคยทำมากี่รายแล้ว ชำนาญแค่ไหน แพทยสภาอนุญาตให้ทำได้หรือเปล่า ถ้าตอบตรงนี้ได้ไม่ชัดเจน โอกาสแพ้คดีก็จะสูง

อ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส เคยบอกว่าอีกหน่อย หมอก็จะชินเอง เวลาถูกฟ้อง ต้องขึ้นศาลก็ให้คิดว่าเหมือนไปตลาด ไป shopping อะไรทำนองนี้ (แต่ถึงยังไงไม่ต้องขึ้นก็ดีกว่าใช่มั้ยล่ะ)


Posted by : อ.มอ. , Date : 2005-09-18 , Time : 15:11:23 , From IP : 172.29.7.139

ความคิดเห็นที่ : 14


   เรื่องนี้มีหลายประเด็นที่เราสามารถเรียน เช่น

หัตถการบางอย่างเป็นหัตถการที่ไม่ซับซ้อน แต่ complications ไม่จำเป็นต้องน้อยตามความยากง่ายเสมอไป มีบริบทมาเกี่ยวข้องเยอะ สำหรับ case นี้คงไม่ใช่เรื่องไส้ติ่งอักเสบ แต่เป็นเรื่อง spinal block กอปรกับเหตุการณ์ตามคือเมื่อ refer แล้วมีปัญหาออกซิเจนหมด เป็นอุทธาหรณ์ว่าเวลาคนเราจะโชคร้ายแล้ว มันมาเป็นระลอก ไม่มาเดี่ยว ลำพัง case มีปัญหาอย่างเดียวอย่างในกรณีนี้ มันจะไม่มีปัญหาเท่าไหร่ถ้าไม่เกิดอะไรซ้ำเติมจน ผป.เสียชีวิต ขั้นตอนในการ resuscitate ก็ฟังดู OK ข้อมูลในส่วนที่ว่าตั้งแต่ตอนแรกที่ว่า เกิดอาการช็อก หัวใจไม่ทำงาน ความดันตก สมองขาดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยง เป็นเวลาเกินกว่าสามนาที ผมสงสัยในความแม่นยำของ event ดังกล่าวมาถูกต้องแค่ไหน สำหรับเรื่องนี้ผมว่าหมอทั่วๆไปไม่ถึงกับเลิกทำ spinal puncture หรือ spinal block หรอกครับ แต่เป็นเรื่องของความรอบคอบและจัดการกับระบบความปลอดภัย routine ให้ดี เช่น รถ resuscitate นั้นมีคนตรวจสอบอุปกรณ์ ยา ถ่านไฟฉาย (อันนี้ก็เป๋นเรื่องแปลกอย่าง ถ่านมันมักจะหมดตอน acse ยุ่งๆทุกที) หลอดไฟของเครื่องช่วยใส่ ET Tube (เช้นกัน มักจะพบว่าขาดตอยจำเป็นเสมอ ไม่ยักขาดตอนทดสอบ หรือฉายเล่นๆ) หรือรถ ambulance นั้น มันจะต้องมีเครื่องไม้ เครื่องมือ และยาอะไรบ้าง หมดอายุเมื่อไหร่

ประการทีสอง บางทีความหวังดีที่เราต้องการช่วยญาติๆเมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้นมา ต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนและระวังการเข้าใจผิด เช่น การให้เงินช่วยเหลือนั้นเป็นคนละความหมายกับเงินชดเชย ตอนที่จะให้ อาจารย์แสวงสอนไว้ให้ระวังด้วยว่าเราบอกเขาว่าออะไร ถ้าบอกว่าหมอผิดไปแล้วนี่เป็นเงินชดเชย อันนี้อาจจะทำให้เรื่องใหญ่ขึ้นและหาทางออกไม่ได้ถ้าเราเกิดไม่ได้ผิดจริง แต่เป็นเหตุสุดวิสัย หรืออุบัติเหตุ เดี๋ยวนี้มีทนายมากมายที่สามารถทำคดีมห้เกิดขึ้นง่ายๆถ้า "มีมูล" ได้แก่ การสารภาพผิดโดยที่ไม่ได้สอบสวนเรื่องราวมห้ดี

อีกประการที่มีคดีมากมายแล้วหมอถูกตัดสินว่าผิดเป็นส่วนน้อยนั้น คำอธิบายอีกอย่างนอกเหนือจากเราช่วยกันเองก็คือ มันอาจจะเป็นเหตุสุดวิสัย หรือเป็นอุบัติเหตุจริงๆ ฉะนั้นคดีที่ออกมาหมอพ้นผิด ควรจะมีการเปิดเผยข้อเท็จจริงให้ทางสาธารณะทราบว่าข้อสรุปมาได้อย่างไร ผลการสอบสวนควรจะโปร่วใสและตรวจสอบได้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจแก่สาธารระว่าเราไม่ได้ช่สวยกันเอง แต่ได้พยายามตรวจสอบควบคุมกันเองโดยมี strict academic and strict ethics




Posted by : Phoenix , Date : 2005-09-18 , Time : 15:33:22 , From IP : 58.147.54.76

ความคิดเห็นที่ : 15


   ก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นว่ากล่าวผู้ใดน่าจะมีการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนมิดีกว่าหรือ รายละเอียดของคดีควรมีอยู่ในคำพิพากษาฉบับเต็ม ซึ่งจะมีเนื้อความบอกกล่าวอย่างแจ้งชัดว่า คู่กรณีฟ้องคดีในมูลเหตุใด มีข้อเท็จจริงที่ได้จากการนำสืบว่าอย่างไร ผู้พิพากษามิใช่พหูสูตรที่จะรู้ไปหมดทุกเรื่อง แต่การพิจารณาคดีของผู้พิพากษาตามระบบกระบวนการยุติธรรม จะพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่คู่กรณีกล่าวอ้าง และพิเคราะห์จากพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาแสดงให้ปรากฏต่อศาล แล้วจึงนำข้อมูลที่ได้รับทั้งหมดมาพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือและความเป็นไปได้ เพื่อหาความจริงที่เกิดขึ้น จากนั้นจึงนำมาปรับเข้ากับหลักกฏหมาย และจารีตประเพณีตลอดจนสามัญสำนึกที่ดีเยี่ยงวิญญูชนพึงมีในสังคมนี้ จากนั้นจึงนำเข้าหารือกับองค์คณะผู้พิพากษาแล้วจึงมีคำพิพากษาออกมา นอกจากนี้หากคู่กรณีไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา ก็ยังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ หรือยื่นฎีกาต่อศาลสูงได้อีกตามลำดับชั้น
เห็นได้ว่ามิใช่แค่ผู้พิพากษาที่เรียนนิติศาสตร์ 4 ปี สอบเนติบํณฑิตผ่าน สอบคัดเลือกผู้ช่วยผู้พิพากษา แล้วอบรมอีก 2 ปี แค่เพียงคนเดียวจะดำเนินการตัดสินคดีได้
แต่ละวิชาชีพก็ย่อมมีความเชี่ยวชาญในสาขาที่แตกต่างกัน จึงดำรงอยู่ในสถานะที่แตกต่างกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกันมิดีกว่าหรือ ทุกสาขาอาชีพก็สามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้เท่าๆกัน
ที่สำคัญที่สุดอยากให้ศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนวิจารณ์ แค่ข่าวจากสื่อก็เชื่อถือหมดใจแล้วหรือ


Posted by : คนผ่านทาง , Date : 2005-09-19 , Time : 18:12:41 , From IP : 172.29.5.247

ความคิดเห็นที่ : 16


   ผมอยากทราบว่าศิริราชให้ความเห็นในใบชันสูตรว่า วินิจฉัยผิดพลาดและให้การรักษาไม่ถูกจริงหรือครับ กรณีนี้ถ้าเป็น Acute appendicitis จากความรู้อันน้อยนิดของหมออย่างผมก็ต้องรักษาโดย appendectomy ก็ถูกแล้วนี่ครับ ส่วนการดมยาหรือ spinal block ก็แล้วแต่เจ้าของสถานะการณ์จะเลือกเอา
อาการที่เกิดขึ้นขณะผ่าตัดที่ รพ. ร่อนพิบูลย์ นอกจากสงสัย high block แล้วมีอย่างอื่นหรือเปล่า
กรณีนี้คิดว่าเป็นความผิดของระบบมากกว่า ( o2 หมดระหว่างทาง) แต่ ผอ. ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานต้องรับผิดชอบอยู่แล้วครับ และกระทรวงในฐานะที่ต้องดูแลระบบสาธารณสุขทั้งประเทศไม่ควรนิ่งดูดายกับความผิดพลาดที่เกิดขิ้น ควรมีมาตรการกระต้นบ้าง
ในกรณีที่ข้าราชการถูกฟ้องขณะปฏิบัติงานให้กับราชการ ท่านสามารถที่จะร้องขอให้อัยการในฐานะทนายของแผ่นดินมาเป็นทนายให้กับข้าราชการคนนั้นได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายครับ
ในฐานะแพทย์คนหนึ่ง ขอให้เพื่อนแพทย์ทำงานต่อไปเถิดเพื่อคนไข้ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือแต่ขอให้ยึดอยู่บนหลักวิชาการ ความสามารถของผู้รักษา ทรงไว้ซึ่งจริยธรรมจรรยาบรรณแห่งเกียติภูมิวิชาชีพ และคำปฎิญาณที่ให้ไว้


"ฉันไม่ได้ต้องการให้เธอเป็นหมอเท่านั้น แต่ฉันต้องการให้เธอเป็นคนด้วย"


Posted by : ผ่านมา , Date : 2005-09-23 , Time : 11:43:33 , From IP : 61.19.152.66

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.008 seconds. <<<<<