อย่าลาออกเลย ท่านคือความหวังของเรา
โรงเรียนแพทย์กับความเสียหายของชาติ
โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
"วงการแพทย์ไทยเข้มแข็ง" "ต่างชาติแห่บินมารักษาในไทย" "บริการสาธารณสุขของไทยถ้วนหน้า" ข้อความข้างต้นมีส่วนจริงอยู่มากในปัจจุบัน แต่ในเวลาอีกไม่นานนักหากไม่มีการแก้ไขในเรื่องโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยของรัฐแล้ว สิ่งที่เป็นจุดแข็งและจุดขายข้างต้นจะหายไป และจะใช้เวลาอีกนานมากกว่าที่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้
การลงทุนในเรื่องบริการสาธารณสุขของภาครัฐไทย ทั้งในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การมีอาคาร เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ติดต่อกันมานานในอดีต ประกอบกับความสามารถในการบริหาร งบประมาณ การมีความคิดริเริ่ม ความทุ่มเทให้แก่งานของบุคลากรแพทย์ไทย ทำให้เราสามารถภาคภูมิใจในข้อความข้างต้นมาเป็นเวลาหลายปี แต่เมื่อหันมาดูเงื่อนไขและสิ่งแวดล้อมประกอบในปัจจุบันแล้วก็ก่อให้เกิดความรู้สึกหวาดหวั่นใจเป็นอย่างยิ่งกับอนาคตคุณภาพบริการสาธารณสุขของลูกหลานไทยในอนาคต
สภาพแวดล้อมปัจจุบันเป็นอย่างไรและอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดทางโน้มน่ากังวลดังกล่าว?
หัวใจของเรื่องในความเห็นของผมอยู่ตรงโรงเรียนแพทย์ หรือคณะแพทย์ที่อยู่ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 13 แห่ง กล่าวคือบุคลากรทางการแพทย์ในโรงเรียนแพทย์ที่มีโรงพยาบาลเป็นของตนเองเหล่านี้ โดยเฉพาะอาจารย์แพทย์เฉพาะทางมีจำนวนลดลงทุกปี ในขณะนี้ภาระงานของคนที่ยังอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีผลทำให้สามารถผลิตแพทย์ออกมาได้น้อยลง และคุณภาพของการรักษาพยาบาลลดลงด้วย
โรงเรียนแพทย์เปรียบเสมือนโรงเรียนผลิตนักบินของภาครัฐ ถ้าโรงเรียนมีจำนวนครูน้อยลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีครูที่สอนให้ขับเครื่องบินเฉพาะรุ่นน้อยลงก็จะทำให้มีจำนวนกัปตันเครื่องบินทั้งประเทศมีน้อยลงด้วย
เมื่อมีกัปตันที่จะขับโบอิ้ง 777 หรือ Airbus A300 น้อยลง บริการที่ให้ผู้โดยสารก็จะน้อยลงเพราะมีเครื่องบินให้บริการอยู่เป็นจำนวนไม่มากนัก ค่าตั๋วเครื่องบินก็ต้องแพงขึ้น สายการบินเอกชนไม่มีสัพพลายของนักบินที่ดีมีความสามารถในจำนวนที่เพียงพออย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ครูสอนการบินก็เป็นนักบินชั้นยอดที่ขับแบบให้บริการชนิดพิเศษแก่ภาครัฐ ถ้าขาดครูเหล่านี้ไปก็เท่ากับขาดทั้งบริการชนิดพิเศษ และขาดการผลิตกัปตันใหม่ไปด้วยในเวลาเดียวกัน
อาจารย์โรงเรียนแพทย์เหล่านี้เป็นแพทย์เฉพาะทาง เป็นคนเก่ง มีดีกรี ได้บอร์ดมีประสบการณ์มากมาย อีกทั้งยังได้ฝึกฝนฝึกหัดในการเป็นครูสอนการแพทย์มายาวนาน(แพทย์ทุกคนไม่ใช่จะสามารถเป็นครูแพทย์ได้ทุกคน เพราะอาจมีอุปสรรคในเรื่องระดับความรู้ ในเรื่อง Certification ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางความคุ้นเคยกับลักษณะการทำงาน ความสามารถในการทำวิจัยหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ จิตวิญญาณของความเป็นครู) กว่าจะได้เป็นอาจารย์แพทย์เฉพาะทางสัก 1 คนนั้นกินเวลานานมากและใช้เงินทองทรัพยากรของรัฐไปมากมาย
ตัวอย่าง เช่น อาจารย์ 1 คน ที่จบแพทยศาสตร์บัณฑิตมาได้เงินเดือน 16,000 บาท เมื่อไปเรียนต่อเฉพาะทางซึ่งใช้เวลา 8 ปี รัฐจ่ายให้เงินเดือนร้อยละ 65 ของเงินเดือนเป็นเวลา 8 ปี ใช้เงินไป 998,400 บาท ต้นทุนในการศึกษาปีละ 1 ล้านบาท เป็นเวลา 8 ปี รวมเป็นเงินเบ็ดเสร็จ 8,998,400 บาท เมื่อกลับมาก็ใช้ทุน 16 ปี ถ้าเกิดจบแล้วแต่ไม่ต้องการเป็นอาจารย์อยากไปเป็นแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องชดใช้เงิน 9,996,800 บาท(ค่าทุนการศึกษา เงินเดือน และดอกเบี้ย)
ซึ่งโรงเรียนแพทย์เสียหายเนื่องจากไม่ได้ต้องการเงินหากต้องการคนมีความสามารถที่ได้ลงทุนไปยาวนาน
ถามว่าทำไมแพทย์เฉพาะทางหรืออาจารย์แพทย์เหล่านี้มีจำนวนลดน้อยลงทุกที
คำตอบก็คือมีทั้งปัจจัยผลักดัน(Push) และ ปัจจัยดึง(Pull)
เอาแค่เบาะๆ ของปัจจัยดึง โรงพยาบาลเอกชนประกันเงินเดือนขั้นต่ำให้แก่แพทย์เฉพาะทางประมาณ 400,000-800,000 บาทต่อเดือน(โปรดสังเกตคำว่าประกันเงินเดือนขั้นต่ำ) ตัวเลขนี้แตกต่างกันในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ความเชี่ยวชาญแต่ละสาขาและระดับความรู้
การได้ Certification ตลอดจนฝีมือ ซึ่งก็ว่ากันไม่ได้เพราะกลไกตลาดของค่าจ้างมันเป็นเช่นนั้น ไม่เช่นนั้นบางคนก็อาจไปทำงานในต่างประเทศ หรือในองค์การอื่นที่จ่ายค่าจ้างในราคาตลาดเช่นกัน
ปัจจัยผลัก ประกอบด้วยสาเหตุต่อไปนี้
หนึ่ง การเป็นอาจารย์แพทย์ใหม่ได้เงินเดือนหลัก 12,000-17,000 บาท ขึ้นกับว่าเป็นข้าราชการหรือพนักงานมหาวิทยาลัยของสถาบันใด ได้เงินพิเศษไม่เปิดคลีนิคเดือนละ 10,000-15,000 บาท หรืออื่นๆ อีกรวมแล้วอาจถึงสองหมื่นกว่าบาท
สำหรับอาจารย์เฉพาะทางที่เก่งๆ รับเงินเดือนข้าราชการและทำงานพิเศษให้โรงพยาบาลเอกชน อาจได้ผลตอบแทนเหยียบแสนๆ บาทต่อเดือน แต่ก็ต้องวิ่งรอกจนเหนื่อย กว่าจะได้สักร้อยละ 50-60 ของรายได้ที่แพทย์เฉพาะทางที่ทำงานในโรงพยาบาลเอกชนเต็มเวลา ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ คุณภาพการสอนและคุณภาพการรักษาพยาบาลลดลง และในเวลาไม่นานนักก็อาจย้ายไปทำงานโรงพยาบาลเอกชนเลย
อาจารย์แพทย์เฉพาะทางที่อยู่มหาวิทยาลัยนั้นเกือบทั้งหมดอยู่ด้วยอุดมการณ์ที่อยากเป็นครู ไม่อยากเป็นลูกจ้างเอกชนเต็มเวลา อยากมีความเป็นอิสระ อยากทำงานวิจัย อยากค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ฯลฯ แต่ "ราคา" ของสิ่งเหล่านี้ก็แพงขึ้นทุกที เมื่อผลตอบแทนของแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลเอกชนสูงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อมีดีมานของคนไข้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
จำนวนอาจารย์แพทย์(ส่วนใหญ่เป็นแพทย์เฉพาะทาง) ในมหาวิทยาลัยของรัฐที่ผลิตแพทย์ของรัฐลดน้อยลงเป็นลำดับใน 3 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 2545 มีอาจารย์แพทย์ที่ลาออก 87 คน(จำนวนอาจารย์แพทย์รวมทั้งหมด 2,590 คน) ปี 2546 ลาออก 115 คน(จากยอดรวม 2,528 คน) และปี 2547 ลาออก 118 คน(จากยอดรวม 2,584 คน) สรุปได้ว่าลาออกประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งยากที่จะทดแทนได้ทันในแต่ละปี
โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยแพทย์ที่มีการลาออกมากที่สุดก็คือ ศิริราช(2545 ลาออก 30 คน 2546 ลาออก 29 คน 2547 ลาออก 40 คน) รามาธิบดี(2545 ลาออก 14 คน 2546 ลาออก 13 คน 2547 ลาออก 15 คน) ธรรมศาสตร์(2545 ลาออก 19 คน 2546 ลาออก 14 คน 2547 ลาออก 27 คน) เฉลี่ยคร่าวๆ ลาออกประมาณปีละ ร้อยละ 5
สอง หาผู้เหมาะสมที่ต้องการเป็นอาจารย์แพทย์ได้ยากเพราะอัตราเงินเดือนเมื่อแรกบรรจุต่ำ มีผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ น้อย มีเงินพัฒนาอาจารย์น้อย อีกทั้งหลายแห่งโครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้อต่อการทำงาน แพทย์เก่งๆ เหล่านี้มีทางเลือกไปทำงานในภาคเอกชนที่รวยได้ทันใจ แต่รู้ไม่ลึกเพราะอยู่ในโรงเรียนแพทย์ไม่นาน การหาแพทย์ที่มีผลการเรียนดีมาทดแทนอาจารย์แพทย์ที่ลาออกจึงเป็นไปได้ด้วยความลำบาก
สาม ภาครัฐใช้กฎระเบียบ วิธีปฏิบัติต่อโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์เหมือนกับโรงพยาบาลทั่วไป ไม่ว่าในเรื่องอัตรากำลังคน การจ้างค่าตอบแทนในโครงการต่างๆ งบประมาณอุดหนุน(จำกัดอย่างมากในเรื่องครุภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์และงบฯวิจัย) ฯลฯ ทำให้แพทย์จำนวนไม่น้อยท้อใจ
สี่ โรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ทั้งหมดแบกรับการ "ขาดทุน" (ส่วนต่างระหว่างรายได้รับจากโครงการของรัฐและรายจ่ายของโรงพยาบาลเอง) จากโครงการของรัฐที่มากขึ้นทุกที ในขณะที่งบประมาณอุดหนุนไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอ ทำให้รายได้ของโรงเรียนแพทย์ที่ควรได้ใช้ไปในการพัฒนาการเรียนการสอน วิจัย ให้บริการคนป่วยไข้ในกรณีอื่นๆ ต้องลดน้อยลง
สำหรับโครงการประกันสังคม ในปี 2545 ส่วนต่าง(ขาดทุน) ของ 4 โรงเรียนแพทย์ใหญ่(ศิริราช รามาฯ จุฬาฯ เชียงใหม่) รวมกันทั้งหมดประมาณ 37 ล้านบาท 2546 รวม 92 ล้านบาท 2547 รวม 205 ล้านบาท
สำหรับโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า(30 บาท) ในปี 2546 ส่วนต่าง(ขาดทุน) ของโรงเรียนแพทย์ใหญ่บางแห่งที่คิดตัวเลขได้เช่น โรงพยาบาลศิริราชเท่ากับ 192 ล้านบาท(2547 ส่วนต่างเท่ากับ 463 ล้านบาท) โรงพยาบาลจุฬาฯ เท่ากับ 210 ล้านบาท
ภาระงานที่เพิ่มขึ้นภายใต้สองโครงการของรัฐดังกล่าวมีส่วนอย่างสำคัญในการ "ผลัก" ให้อาจารย์แพทย์จำนวนหนึ่งลาออกไปอยู่ภาคเอกชน เมื่อโรงพยาบาลในต่างจังหวัดของรัฐจำนวนหนึ่งไม่อยากเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องโดยคนป่วยก็จะส่งต่อคนไข้ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ของโรงเรียนแพทย์จนทำให้ภาระงานเพิ่มขึ้นพร้อมทั้ง "ส่วนต่าง" ที่มากขึ้นเป็นลำดับ เมื่ออาจารย์แพทย์คนหนึ่งลาออกไปภาระงานก็ตกอยู่กับคนที่ยังเหลืออยู่
ซึ่งยิ่ง "ผลัก" ให้คนที่ยังอยู่อยากลาออกมากยิ่งขึ้น
โรงเรียนแพทย์เป็นหัวใจสำคัญของคุณภาพและขอบเขตของการให้บริการสาธารณสุขของประเทศ ถ้าโรงเรียนแพทย์ของประเทศอ่อนแอก็จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างไกล กล่าวคือต่อคุณภาพของแพทย์ทั้งหมดในประเทศไม่ว่าในภาครัฐหรือเอกชนในเวลาต่อไป และคนที่จะถูกกระทบในขั้นสุดท้ายก็คือประชาชนไทยทั้งหลาย การนำเข้าแพทย์จากต่างประเทศมาเพื่อแก้ไขความขาดแคลนอาจช่วยได้เป็นการชั่วคราว แต่ไม่จีรังและมีผลกระทบต่อคุณภาพของบริการแพทย์อย่างแน่นอน(ถ้าเก่งและประสบความสำเร็จในบ้านตัวเองแล้วจะมาหากินในต่างประเทศทำไม)
ภาครัฐควรให้ความสนใจแก่ปัญหาโรงเรียนแพทย์ในระดับต้นๆ และอย่างเร่งด่วน เพราะหากไม่เยียวยาแล้วจะเกิดผลเสียหายต่อสุขภาพของคนในชาติ ผ่านการลดลงของคุณภาพของแพทย์ทั้งประเทศไม่ว่าจะอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนอันเนื่องมาจากอาจารย์แพทย์ที่มีความสามารถลาออกไปและที่ยังอยู่ก็ไม่สามารถสอนหนังสือ ทำวิจัย และให้บริการได้เต็มความสามารถของตน
นับว่าเป็นการสูญเสียโอกาสในการใช้ศักยภาพของคนไทยที่มีความรู้ ความสามารถเพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างน่าเสียดายยิ่ง
Posted by : ดังได้อ่านมา , Date : 2005-09-08 , Time : 00:56:11 , From IP : 172.29.4.113
|