ความคิดเห็นทั้งหมด : 3

สุดวิสัย


   เห็นบทความนี้ในกรุงเทพธุรกิจ online ครับ คิดว่าน่าจะเป็นประโยขน์ต่อผู้ประกอบ (และกำลังจะประกอบ) วิชาชีพเวชกรรม อาจารย์วิโรจน์เป็นปู้หนึ่งที่ทำงานด้านระบบสาธารณสุขของประเทศเรามาตั้งแต่เริ่มร่างพระราชบัญญัติ และไม่ได้เป็นแพทย์ครับ ความเห็นของท่านน่าจะเป็นมุมมองของผู้มีประสบการณ์ และมองภาพใหญ่ได้ครบทีเดียว ลองอ่านดูนะครับ หากไม่สะดวก ตามไปอ่านที่ source ได้ที่

http://www.bangkokbiznews.com/2005/08/18/w017l1_29538.php?news_id=29538

------------------------------------------------------------------------------

การเยียวยา “เหตุสุดวิสัย” ทางการแพทย์

16 สิงหาคม 2548 16:44 น.
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง

กรณีที่ศาลตัดสินให้กระทรวงสาธารณสุขชดใช้ค่าเสียหายให้กับคุณดอกรัก เพชรประเสริฐ ซึ่งตาบอดจากอาการที่เรียกว่า “สตีเว่น จอห์นสัน ซินโดรม” กลายมาเป็นเรื่องใหญ่ในวงการแพทย์ โดยแพทย์จำนวนหนึ่งเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขยื่นอุทธรณ์เรื่องนี้ต่อศาล และมีข่าวปรากฏทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่านายกแพทยสภาบอกว่าถ้า กระทรวงสาธารณสุขไม่ยื่นอุทธรณ์เรื่องนี้ต่อศาลแล้ว อาจมีแพทย์ถึงร้อยละ 80 ที่ลาออกจากราชการ
สาเหตุหนึ่งที่แพทย์เหล่านี้ออกมาเรียกร้องก็เพราะเชื่อว่าการที่คุณดอกรักตาบอดไม่ใช่ความผิดของแพทย์ แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่สามารถเกิดได้ ผมเองยังไม่ทราบรายละเอียดลึกๆ ของกรณีนี้ และยังไม่มีโอกาสอ่านคำพิพากษา อีกทั้งไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้มากพอที่จะตัดสินได้ว่าแพทย์ที่วินิจฉัยและให้การรักษาเมื่อทราบว่าเป็นโรคนี้แล้วนั้น ได้ให้การรักษาครบตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ ในวงการแพทย์เองก็ยังถกเถียงกันอยู่เหมือนกัน
แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า มีกรณีการเจ็บป่วยจำนวนมากที่ถึงแม้ว่าแพทย์จะได้ให้การรักษาอย่างเต็มที่และถูกหลักวิชาการแล้วก็ยังสามารถเกิด “เหตุสุดวิสัย” ขึ้นได้
จริงๆ แล้ว อาการที่เรียกว่า “สตีเว่น จอห์นสัน ซินโดรม” (ซึ่งทำให้คุณดอกรักตาบอด) เป็นกรณีที่ผมมักจะยกมาเป็นตัวอย่างของ “เหตุสุดวิสัย” ในการอภิปรายในที่ต่างๆ อยู่บ่อยๆ เพราะอาการนี้มักเกิดจากการแพ้ยา และเป็นการแพ้ยาแบบที่คนไทยหลายจะเรียกว่าเป็นความ “โชคร้าย” เพราะโอกาสที่จะเกิดการแพ้ยาจนเป็นโรคนี้นั้นมีน้อยมาก เทียบได้กับโอกาสถูกล๊อตเตอรี่รางวัลใหญ่ๆ ซักรางวัล
บางท่านอาจจะถามว่า ทำไมหมอไม่เลิกใช้ยาตัวที่รู้ว่าเคยทำให้คนแพ้หรือเสียชีวิตมาก่อน ที่จริงแล้วประเด็นนี้เป็นสิ่งที่วงการแพทย์ควรให้ความสนใจมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาก็มีการศึกษาอยู่บ้างเหมือนกันว่ายาตัวไหนมีอัตราเสี่ยงมากน้อยเพียงใด และถ้ามียาตัวอื่นที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน แต่มีความเสี่ยงน้อยกว่า และราคาไม่แพงหูฉี่แบบที่จะทำให้ผู้ป่วยหรือประเทศชาติล่มจม ก็ควรจะเลิกใช้กันไป และในความเป็นจริงหมอจำนวนไม่น้อยก็หลีกเลี่ยงการจ่ายยาที่เคยได้ยินว่าทำให้เกิดการแพ้แบบนี้อยู่แล้ว
แต่การที่จะเลิกใช้ยาที่เคยทำให้เกิดการแพ้แบบนี้ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เช่นกัน เพราะเมื่อผมลองไปค้นดูจริงๆ พบว่ามียาจำนวนมากกว่าสิบกลุ่ม และเป็นร้อยๆ ตัวที่มีประวัติว่าทำให้เกิดการแพ้แบบนี้ และยาที่ยังไม่ค่อยมีประวัติเองก็ใช่ว่าจะรับประกันได้ว่าจะไม่ทำให้เกิดการแพ้นี้ เพราะยาเหล่านั้นมักเป็นยาใหม่ ซึ่งนอกจากจะมีราคาแพงแล้ว ในอดีตเราก็พบอยู่เรื่อยๆ ว่ายาใหม่ที่บริษัทยาต่างก็คุยว่าดีกว่ายาเก่านั้น เมื่อมีการใช้กันมากเข้า ก็พบปัญหาตามมาเช่นกัน หลายตัวมีความเสี่ยงต่อผู้ป่วยมากกว่าการแพ้ยาจนต้องถูกห้ามขายไปแล้ว
แต่เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยประเภทนี้ขึ้นแล้ว ผู้ที่ได้รับความเสียหายคือผู้ป่วย และในหลายๆ กรณี ความเสียหายที่เกิดขึ้นมักจะรุนแรง เช่น ตาบอด (หรือแพ้ยาแล้วช็อคจนเสียชีวิต) คนไข้เหล่านี้ก็รู้สึกเหมือนกับว่าไม่ใช่ความผิดของเขา จะผิดบ้างก็คือการเจ็บป่วย ที่ทำให้ต้องมารักษาแล้วเกิดปัญหาทำนองนี้ขึ้น ในขณะที่คนไข้อีกเป็นพันเป็นหมื่นที่ป่วยด้วยโรคเดียวกันก็ไม่ต้องประสบกับเคราะห์กรรมเช่นนี้
ผมเชื่อว่าเมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น แพทย์ทุกคนต่างก็เห็นใจคนไข้ และให้ความช่วยเหลือตามกำลังของตน แต่ในขณะเดียวกันแพทย์จำนวนไม่น้อยก็คิดว่าต้องหาทางปกป้องตัวเองเอาไว้ก่อน เพราะห่วงว่าคนไข้และญาติจะคิดว่าความผิดของตนและอาจจะนำไปสู่การฟ้องร้อง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะคนไข้และญาติที่เจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ก็มักจะมีข้อกังขาอยู่ในใจว่าเป็นเหตุที่เกิดจากความผิดพลาดของแพทย์หรือไม่
ถ้าเรายอมรับกันว่า ไม่ว่าแพทย์จะใช้ความระมัดระวังสักเพียงใด ก็จะไม่สามารถทำให้ปัญหานี้หมดไปได้ และในหลายกรณีความเสียหายนี้มีความรุนแรงเกินกว่าที่ผู้เสียหายจะสามารถแบกรับได้ วิธีแก้ปัญหาที่น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายก็คือการตั้งกองทุนเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัยทางการรักษาพยาบาล เพราะถ้ามีกองทุนนี้แล้ว เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นมา แพทย์ก็จะได้ใช้สติปัญญาช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่ รวมทั้งช่วยชี้แนะช่องทางให้ผู้ป่วยไปรับความช่วยเหลือเยียวยาต่อไป แทนที่จะต้องมาคิดหาวิธีปกป้องตัวเองเอาไว้ก่อนก่อน (จนมีกรณีที่มาอ้างกันข้างๆ คูๆ ว่าไม่สามารถให้ผู้ป่วยดูเวชระเบียนเพราะเป็นทรัพย์สินของทางราชการหรือโรงพยาบาล ซึ่งตรงนี้ก็น่าจะหมดปัญหาไปนานแล้วเพราะแพทยสภาและสภาวิชาชีพทุกแห่งรวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขต่างก็ประกาศรับรองสิทธิผู้ป่วย รวมถึงสิทธิการเข้าถึงเวชระเบียนและสิ่งตรวจต่างๆ ของคนไข้ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนแล้ว)
ในเรื่องนี้ ผมต้องขอชมเชยกลุ่มแพทย์และองค์กรภาคประชาชนที่ผลักดันให้เกิดโครงการ 30 บาท ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มานานแล้ว และผลักดันจนเกิด มาตรา 41 ใน พรบ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดสรรเงินจากกองทุน 30 บาทมาไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาล ทั้งในกรณีที่มีและไม่มีผู้ผิด
เท่าที่ผมเคยติดตามเรื่องนี้ กลุ่มแพทย์ที่ริเริ่มเรื่องนี้ต้องการให้มีกองทุนสำหรับเยียวยาความเสียหายโดยไม่ต้องสนใจว่าใครผิด (no-fault compensation) แต่เมื่อจะร่างขึ้นมาเป็นกฎหมาย ก็มีผู้แย้งว่าจะต้องเขียนให้ครอบคลุมกรณีที่มีผู้กระทำผิดด้วย อีกทั้งกองทุนที่เป็น “เงินหลวง” จะต้อง “สงวนสิทธิ์” ในการไล่เบี้ยจากผู้กระทำผิดด้วย ซึ่งเป็นที่มาของมาตรา 42 ที่ทำให้กระบวนการร่าง พรบ. นี้กลายมาเป็นสนามรบของวิชาชีพแพทย์ แพทย์บางกลุ่ม (ซึ่งหลายท่านได้ใช้ประเด็นนี้หาเสียงและได้รับการเลือกเข้าไปในแพทยสภา) ก็ได้พยายามจำกัดบทบาทของมาตรา 41 ตั้งแต่การผลักดันให้กำหนดเพดานวงเงินชดเชยเอาไว้ไม่เกิน 20,000-80,000 บาท และกำหนดระเบียบที่จะไม่ให้มีการจ่ายในกรณีที่เกิดจาก “เหตุแทรกซ้อนที่เป็นผลจากการวินิจฉัยตามปกติหรือรักษาโรคตามมาตรฐาน” ซึ่งถ้าตีความตามระเบียบนี้ตรงๆ แล้ว ก็จะไม่สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีแพ้ยาได้ (แต่ที่ผ่านมา ผมพบว่าในบางจังหวัดผู้ที่เกี่ยวข้องก็ใช้เหตุผลเชิงมนุษยธรรมตีความเลี่ยงข้อห้ามประการเหล่านี้)
ในความเห็นของผมนั้น ในระหว่างที่ยังไม่มีกองทุนเยียวยาระดับชาตินั้น สิ่งที่โครงการ 30 บาท ควรทำต่อไปคือแก้ไขระเบียบข้างต้นเสีย เพื่อให้ครอบคลุมกรณีเหตุสุดวิสัย และในขั้นต่อไปควรยกเลิกหรือปรับเพิ่มเพดานเงินชดเชยเพื่อให้สามารถชดเชยในระดับที่บรรเทาความเสียหายได้อย่างสมเหตุสมผล และในขณะเดียวกันก็แก้ พรบ. กำหนดให้ผู้ที่รับเงินชดเชยไปแล้ว ไม่สามารถไปฟ้องร้องทางแพ่งอีก ซึ่งก็จะช่วยแก้ความหนักใจของแพทย์ที่กลัวว่าผู้ป่วยจะนำการตัดสินให้เงินชดเชยมาเป็นมูลเหตุผลในการฟ้องร้องต่อไป (ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนั้นปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายที่กำหนดให้ผู้เสียหายฟ้องได้แต่เฉพาะหน่วยงานเท่านั้น เช่น กรณีคุณดอกรักที่ฟ้องกระทรวงสาธารณสุข)
สำหรับในขั้นต่อไปนั้น ควรมีการตั้งกองทุนเยียวยาระดับชาติขึ้นมาแทน โดยมีที่มาของเงินจากกองทุนสุขภาพทุกกองทุน และเก็บเบี้ยประกันเพิ่มเติมจากสถานพยาบาลนอกระบบกองทุนเหล่านี้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้ค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเหล่านี้แพงขึ้นบ้าง แต่ก็คงจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการเยียวยาความเสียหายจากเหตุสุดวิสัย พร้อมกับช่วยเปลี่ยนความหวาดระแวงและการเผชิญหน้าของทั้งแพทย์กับผู้ป่วยและญาติที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ให้กลายเป็นความสมานฉันท์ขึ้นมาแทน
แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ไม่ว่ากองทุนดังกล่าวจะอยู่ใน พรบ.หลักประกันสุขภาพ หรือ พรบ. อื่นใด กองทุนนี้จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งผู้บริหารจากกองทุน ผู้ป่วย/ผู้บริโภค ผู้ให้บริการทั้งในภาครัฐและเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่สังคมยอมรับ จึงจะทำให้การดำเนินการของกองทุนนี้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และก่อให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นมาได้จริง


Posted by : Shonigega , Date : 2005-08-18 , Time : 09:37:12 , From IP : pedsurg.med.osaka-u.

ความคิดเห็นที่ : 1


   การที่หมอ 80% จะลาออกจากความเป็นหมอถ้ากระทรวงไม่อุทรณ์ ก็ให้เค้าลาออกไป เหตุสุดวิสัยมีหลายกรณี จากกรณีดังกล่าวควรคิดถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นที่ตั้ง ผู้ถูกกระทำหรือไม่ โอกาศทางสังคม ศาลมี 3 ศาล ก็จริงอยู่บางเรื่องบางคดีไม่ควรเอามารกศาล ถามหมอหน่อยลาออกแล้วคุณจะไปทำอาชีพอะไร อาชีพหมอเป็นอาชีพเฉพาะทางคุณได้รับโอกาศทางสังคมมากถึงเวลาหรือยังที่จะคืนบ้าง

Posted by : เนติ , Date : 2005-08-20 , Time : 23:23:44 , From IP : 172.29.7.91

ความคิดเห็นที่ : 2


   ผมคิดว่าเราอาจจะตีความ out off the context จากที่ท่านนายกแพทยสภาพูดไปนิดนึง ที่ท่านพูด (จากบทความข้างต้น) ดูเป็น emotional มากกว่าเป็นแบบเงื่อนไข คือมีคำ "อาจ" อยู่

เมื่อคิดดูแล้ว ที่ท่าน (นายกแพทยสภา) ว่า จะเป็น "ข้อเท็จจริง" ต่อเมื่อมีการทำแบบสอบถามที่ประกอบด้วยรายละเอียดของเรื่องราวต้นเหตุไปยังสมาชิกแพทย์ ถามความเห็นว่าถ้าอุทธรณ์ไม่อุทธรณ์ อะไรจะเป็นปฏิกิริยา ในใจผมประเมินดู ไม่น่าจะมีแพทย์ถึง 80% ลาออกจากราชการทันทีทันใดเพราะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเรือ่งเดียวทำนองนี้ และคิดว่าถ้าจะมีเหตุการณ์ใดๆก็ตามที่ทำให้แพทย์ลาออกทีเดียว 80% จริงๆ ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ "ช่างเค้าเถอะ ปล่อยเขาไป" ด้วย เพราะแสดงว่ามันต้องมีอะไรที่เลวร้ายเข้าขั้นจึงจะทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ขึ้นมาได้

ผมเชื่อเหมือนกันว่าคดีหรือเรื่องราวหลายเรื่องบนศาลทั้ง 3 ศาล ในสายตาของคนทั่วไปอาจจะไม่เห็นด้วยว่าทุก case เหมาะสมหรือน่าจะมาตัดสินตรงนี้ น่าจะตกลงกันได้ไปก่อนหน้านี้ แต่ในทำนองกลับกัน ผมคิดว่าจะมีเรื่องจำนวนมากที่คนทั่วๆไปคิดว่าไม่น่าจะทุกข์ใจ จะเดือดร้อนมากมาย แต่ "คนในสถานการณ์" เขารู้สึกเป็นทุกข์แสนสาหัสหรือทนไม่ได้อีกต่อไป ใครผิดใครถูกคงไม่สำคัญ แต่ผมว่าสำคัญตรงนี้ "ถ้า" เราคิดว่าไม่สำคัญแล้ว จำเป็นหรือไม่ว่าคนที่เดือดร้อนจะเห็นด้วยกับเราว่ามันไม่สำคัญ? ทางการแพทย์ตรงนี้เราเรียกว่าเป็นปัญหาทาง principle of autonomy ครับ แต่ละคนมีวิถีการดำเนินชีวิตตามแบบที่ตนเองได้อบรมผ่านพ้นมีประสบการณ์กันมา ยากที่ใครจะมีเหมือนกันเป๊ะๆ ถ้าเราใช้ "มาตรฐาน" ของเราไปตัดสินคนอื่น โอกาสที่แทงผิดก็มีไม่น้อย เอาง่ายๆแค่ข่าวเรื่องเดียวกัน ลองเอาไปถามความเห็นพี่น้องครอบครัวเพื่อนฝูงดูว่าเขาจะเห็นตรงกันหมดไหม

ประเด็นที่ว่าหมอลาออกจากราชการแล้วจะทำอาชีพอะไรคงเป็นคำถามเล่นๆมากกว่า ใช่ไหมครับ เพราะลาออกจากราชการกับ validity ของใบประกอบโรคศิลป์เป็นคนละเรื่องกันตามกฏหมาย ไม่งั้นหมอเอกชนก็คงจะไม่มีในประเทศนี้

ประเด็นสุดท้าย ผมเชื่อเหลือเกินว่างานของแพทย์นั้นเป็นงานหนึ่งที่ "ให้สังคม" ก่อนครับ เราจึงได้โอกาสอะไรต่อมิอะไรตามมา "ทีหลัง"




Posted by : Phoenix , Date : 2005-08-20 , Time : 23:51:34 , From IP : 172.29.7.222

ความคิดเห็นที่ : 3


   เรียนอาจารย์ไปที่เวบนี้ครับ http://consumer.pantown.com

Posted by : อืม , Date : 2005-08-22 , Time : 23:40:08 , From IP : 172.29.3.94

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.006 seconds. <<<<<