ความคิดเห็นทั้งหมด : 4

เครียดมากครับ


   เรียนอาจารย์ที่เคารพ
ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 1 ของ 3 จังหวัดภาคใต้ครับ ตอนนี้ผ่านไป 2เดือน แล้วครับ ผมรู้สึกเครียดกับผลการเรียนของผมมากเพราะว่าผมสอบตก กลางภาคหลายวิชา ถามว่าผมอ่านหนังสือหรือไม่ ผมอ่านนะครับ และติวกันกับเพื่อนเสมอ ผมมานั่งคิดว่าต่อไปผมจะเป็นอย่างไร ถ้าสอบแล้วเป็นอย่างนี้ ตอนนี้ผมรู้สึกว่า ไม่อยากทานอาหาร เวลาหลับตอนกลางคืน ก็จะสะดุ้งตื่น เหมือนมีคนมาปลุก อาทิตย์นี้ไปเรียนก็ รู้สึกแย่มากกับผลการสอบของตนเองเวลาอาจารย์บอก จนกระทั้งไม่อยากไปเข้าเรียน แต่ผมก็เข้าเรียนทุกวิชา ไม่เคยขาดเพราะว่ารู้ว่าหน้าของตนเองคือะไร
ผมไม่ทราบว่าทาง มอ มีเกณฑ์การคัดนักศึกษาออกอย่างไรครับ ไม่ใช้ว่าผมจะออกนะครับแต่ถามเอาไว้ ผมท้อเหมือนกัน ครับ แต่ไม่คิดจะถอย เพื่อนๆน้องเค้าบอกว่าผมอย่าคิดมากไป ถามว่าผมตั้งใจเรียนมั้ยครับ ผมตั้งใจมากครับ วันนี้ขอคำปรึกษาแค่นี้ก่อนนะครับ


Posted by : Yo , E-mail : (werbom@yahoo.com) ,
Date : 2005-08-09 , Time : 09:00:20 , From IP : 61.19.25.86


ความคิดเห็นที่ : 1


   ก่อนอื่นพี่ขอเอาใจช่วย และอยากให้น้องใจเย็นๆและพยายามมองเรื่องนี้อย่าง objective นิดนึง ถอดถอนส่วนที่เศร้าซึม เครียดลงไปก่อน ถ้าทำใจยังไม่ได้ ก็หากิจกรรมผ่อนคลาย เช่น เล่นกีฬา หรือกิจกรรมนอกหลักสูตร เช่น ชมรมต่างๆทำสักวันสองวันเพื่อให้อารมณ์เราสงบลง

Crisis หรือวิกฤตช่วงนี้เป็นภาวะปกติครับ เมื่อผลลัพธ์หรือการประเมินมัน "สะท้อน" ผลงานของเรา ทีนี้มันจะขึ้นอยู่กับว่าเราจะรอดจากภาวะวิกฤตนี้เข้มแข็งกว่าเดิมได้หรือไม่แค่ไหนอย่างไร

ประการต่อมา ไม่ได้มีใครว่าน้องไม่ได้พยายาม หรือไม่ตั้งใจหรอกนะครับ แต่เมื่อผลออกมาแบบนี้ เราคงต้องมาวิเคราะห์ว่า 1. ทำไมที่เราทุ่มเทใช้เวลาไป มันไม่ช่วยให้เราทำข้อสอบได้ และ 2. เราพอจะปรับปรุงอะไรแก้ไขให้สถานการณ์มันดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ 3. เราอยากจะได้ความช่วยเหลือจากภายนอก ภายใน แค่ไหน อย่างไร และมีทางออกอย่างไรบ้าง

1. การใช้เวลาของเรา
ก็คงมีสองแบบครับ หนึ่งคือ ใช้ยังไม่มากพอ และสองคือใช้ผิดที่หรือประสิทธิภาพต่ำ (จริงๆแล้วมีแบบที่สาม คือ ใช้เต็มที่และเต็มประสิทธิภาพแต่เรื่องนี้มันเกินความสามารถของเรา แต่ผมว่าประเด็นที่สามนี้เรายังไกลเกินกว่าที่จะไปสู่ข้อสรุปขนาดนั้นได้ในขณะนี้)
เราคงต้องวิเคราะห์อย่างจริงใจและตรงความเป็นจริงที่สุดจึงจะได้ผลนะครับ การเรียนในมหาวิทยาลัยนั้น เด็กต้องควบคุมตนเองเป็นส่วนใหญ่ และต่างจากการเรียนสมัยมัธยมอย่างสิ้นเชิง เพราะอาจารย์จะไม่มาจ้ำจี้จ้ำไชว่าอ่านตรงนั้นรึยัง อ่านตรงนี้รึยัง แต่จะเน้นที่การประเมินที่ค่อนข้างเข้มงวดแทน ที่เราว่าเราทำเยอะแล้ว เปรียบเทียบกับเพื่อนๆ (ที่ระดับการเรียนในอดีตใกล้เคียงกัน) ที่ได้คะแนนดีกว่า มันเท่ากันไหม เราอ่านวันละ 1 ชั่วโมงทุกวัน เพื่อนอาจจะอ่านวันละ 3 ชั่วโมง เราอ่านอาทิตย์ละ 2 วัน เพื่อนอาจจะอาทิตย์ละ 6 วันเป็นต้น เพราะบางทีเราอาจคิดว่าเราก็เพิ่มจากปกติเดิมตอนมธยมตั้งเยอะแล้วนา แต่ตอนอยู่มหาวิทยาลัยเราต้องปรับเปลี่ยนเยอะจริงๆครับ
อีกประการคือใช้เวลาเยอะจริงๆ แต่ไม่ effective ตรงนี้การเข้าใจ styles การเรียนของเราว่าเราถนัดแบบไหน และการประเมินเขาจะประเมินเรื่องอะไรบ้างเป็นสิ่งสำคัญ นั่นคือน้องเคยนั่งอ่าน curriculum objectives หรือวัตถุประสงค์การเรียนหรือไม่ ในคู่มือแต่ละรายวิชาที่บอกว่าเรื่องนี้ๆ นักศึกษาต้องรู้อะไรบ้างน่ะครับ เพราะนั่นคือสิ่งที่จะปรากฏในข้อสอบเป็นส่วนใหญ่หรือทั้งหมด ถ้าปรากฏว่าน้องใช้เวลาเยอะไปในเรื่องที่น้องสนใจแต่ไม่อยู่ในวัตถุประสงค์การเรียนของรายวิชานั้นๆ เราก็กำลังเสียเวลาอันมีค่าไปกับสิ่งที่คณะฯไม่เห็นว่าสำคัญไปมากเกินไปรึเปล่า และยังมีเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวกับการใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกหลายประการ

2. เราเองจะปรับปรุงอะไรได้บ้าง
ซึ่งต้องเริ่มหลังจากวิเคราะห์ข้อหนึ่งให้แตกฉานก่อน แล้วแก้ไปตามสาเหตุ เราจะเพิ่มเวลาอ่านมากขึ้นไหม ถ้าเราเข้า lecture อยู่แล้วแต่ตามไม่ทัน เราจะอ่านไปก่อนเข้า lecture ดีไหม เรามีสมุด lecture เก่าๆของรุ่นพี่อ่านไหม เราจดไม่ทันก็สามารถยืมของเพื่อนที่จดดีๆได้รึเปล่า เป็นต้น
การปรับ styles การเรียน เช่น การฝึกอ่านจับใจความที่ใช้เวลาสั้นๆได้เนื้อหาเยอะๆและจำได้ ก็มีเคล้ดของมันอยู่ ลองปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาด้านวิชาการดูว่าเขาจะให้คำแนะนำด้านนี้ได้มากน้อยแค่ไหน
ที่แน่ๆก็คือต้อง "เข้าใจ" ในความสามารถของเราเองก่อนนะครับ เราอาจจะเรียนช้ากว่าเพื่อน เราก็ต้อง "ยอมรับ" เพราะนั่นแปลว่าเราจะใช้เวลามาตรฐานเหมือนเพื่อนๆไม่ได้ เพื่อนอ่านสองรอบในสามชั่วโมง เราอาจจะต้องอ่านสี่รอบในสองวันเป็นต้น ถ้าเราเลียนแบบเพื่อนที่เขามีความสามารถในการรับรู้ต่างจากเราเยอะๆ เราก็อาจจะกำลังหลอกตนเอง หรือหลงทางไปได้

3. หาความช่วยเหลือ
ที่น้องทำมานี่ก้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้วครับ ยังมีคนอื่นๆอีก ว่าตั้งแต่อาจารย์ผู้สอนlecture ที่เราอาจจะไม่ค่อยรู้เรือง เพื่อนๆที่อาจจะติวให้เราได้ (เอาคนที่มันเก่งๆและพูดรู้เรื่อง อย่าเอาพวกที่มีปัญหาในการเรียนเหมือนกันมาติวกันนะครับ) จนไปถึง supportive system อื่นๆ เช่น การหย่อนใจที่พอเหมาะจะช่วย refresh สมองได้ ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นดีกว่าการเคร่งเครียดเกินไป หันไปหาครอบครัว ญาติพี่น้องบ้างเพื่อหาคนคุย คนระบาย หรือเพื่อนๆก็ได้ บางคนอาจจะหาหนังสือปรัชญา ธรรมะไปอ่านโน่นเลยก็แล้วแต่ครับ แต่จุดประสงค์ก็คือทำให้สมองเราฟื้นฟูและทำงานได้เต็มที่อีกครั้งนึง ผมคิดว่าหน่วยกิจการนักศึกษาทราบเรื่องราวทั้งหมดแล้ว และรู้ผลการสอบของทุกคนด้วย เราจะพยายามหาทางช่วยเหลือน้องๆให้มากที่สุดครับ


Posted by : Aquarius , Date : 2005-08-09 , Time : 10:17:06 , From IP : 172.29.3.189

ความคิดเห็นที่ : 2


   ดีค่ะที่น้องรู้ตัว และต้องการทางออกเพื่อการแก้ไข
แต่ก่อนอื่นอยากให้น้องช่วยบอกหน่อยนะว่า น้องมีlearning style เป็นแบบไหน เพราะน้องเคยได้ทำแบบวิเคราะห์learning styleแล้วก่อนที่จะไปทางปัตตานี เราจะได้วิเคาระห์ได้ตรงจุดหน่อยดีไหม อีกอย่างน้องน่าจะบอกสักหน่อยนะว่า การสอบที่ผ่านมาเป็นการสอบแบบไหน เขียนบรรยาย หรือ MCQ แล้วน้องได้คะแนนน้อยในการสอบแบบไหน จะได้หาแนวทางแก้defectของน้องถูกงัย
อย่างไรเสียอย่าเพิ่งท้อ ค่อยๆหาทางออกกันไปนะ


Posted by : aries , Date : 2005-08-09 , Time : 10:31:21 , From IP : 172.29.3.120

ความคิดเห็นที่ : 3


   เคยเป็นแบบนี้เหมือนกันค่ะ แต่นานมาแล้ว ความรู้สึกแรกคือ เสียใจมากๆ ไม่คิดว่าจะเป็นแบบนี้ แต่หลังจากทำความเข้าใจในตัวเองแล้ว ก้อได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ประมาณว่า เริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกำลังใจ ขอบอกว่า ให้กำลังใจกับตัวเองก่อน และพร้อมที่จะก้าวต่อไปโดยไม่อายใคร แล้วก้อพยายามอ่านใหม่ เนื้อหาในมหาวิทยาลัย ไม่เหมือนกับมัธยม ต้องอ่านและสามารถบรรยายถึงสาเหตุ เหตุผล และผลสรุปแล้ว ไม่เหมือนกับมัธยมที่จำไปก้อตอบได้ และตรงที่ยาก นั่นแหละ คือสิ่งที่จะถาม ไม่เป็นไรนะคะ ทุกคนก้อเคยเป็นอย่างนี้ แต่เราอาจจะไม่รู้

Posted by : kissy , Date : 2005-08-22 , Time : 18:36:51 , From IP : 172.29.4.98

ความคิดเห็นที่ : 4


    คำแนะนำของอาจารย์และรุ่นพี่ข้างต้นดีมากเลยค่ะ เท่าที่เห็นเด็กๆปี1 เรียนกันวิชาส่วนใหญ่ยังเป็นวิชาหลักทางสายวิทยาศาสตรืเหมือนสมัยมัธยม แต่เนื้อหามากและลึกซึ้งยิ่งขึ้นและอาจารย์สอนใช้เวลาน้อยลง บางครั้งเหมือนต้องอัดเนื้อหาและต้องไปเร็ว บางครั้งสอนเนื้อหาน้อยเพราะไม่มีเวลา เราต้องอ่านเองเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นผลการสอบไม่ดีไม่ได้แสดงว่าเราจะเรียนแพทย์ต่อไปไม่ได้ แต่อาจแสดงว่าเรายังปรับตัวและมีวิธีเรียนวิธีสอบที่ยังไม่เหมาะสมกับการประเมินผล ขอแนะนำให้เข้าเรียนทุกวิชาอย่างสมำเสมอ ทำจิตใจให้สบายไม่ต้องวิตกกังวลเพื่อจะได้เรียนได้อย่างเข้าใจ วิชาไหนหรือชั่วโมงไหนไม่เข้าใจอย่าปล่อยให้ผ่านไป ต้องถามอาจารย์ทันทีภายในวันนั้น และอาจถามเพื่อนถ้าบังเอิญหาอาจารย์ไม่พบ ต้องรู้ว่าเราอ่อนวิชาใด เพื่อจะได้เอาใจใส่วิชานั้นเป็นพิเศษห้ามทิ้งเด็ดขาดเพราะจะเป็นตัวฉุด แต่โดยรวมต้องเรียนให้ผ่านทุกวิชา ต้องมีวิชาที่เราเรียนได้ดีเพื่อไว้ช่วยดึงด้วย ต้องแบ่งเวลาให้ถูกด้วย เราอาจไม่เก่งหรือไม่ถนัด แต่เราต้องสู้ต่อไป ดังนั้นต้องศึกษาอย่างสมำเสมอและอย่างหนักสมำเสมอเพราะการเรียนหมอนั้นเรียนหนักตลอดและงานหนัก ดังนั้นต้องฝึกฝนตั้งแต่ตอนนี้ คำแนะนำทั้งหลายอาจช่วยให้เราคิดได้รอบด้านยิ่งขึ้นแต่ปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จคือตัวเราเองที่ต้องเรียนเป็นและเรียนหนักยิ่งขึ้น ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่จะช่วยได้คือเพื่อนๆโดยเฉพาะเพื่อนกลุ่มที่เรียนเก่งต้องช่วยเหลือเรื่องการเรียนตามที่เพื่อนคนนี้ต้องการด้วย ที่จริงคงมีอีกหลายคนที่มีปัญหาการเรียน ทำยังไงจึงจะช่วยกันพาเพื่อนร่วมชั้นเรียนพิเศษนี้(หลักสูตรนี้เราถือว่าพิเศษ)ให้ถึงจุดหมายทุกคน แต่ต้องช่วยบางคนมากเป็นพิเศษ
อีกคำแนะนำที่อยากให้ทำด้วยคือการทำสมาธิโดยวิธีใดก็ได้ตามความถนัด เช่นการติดตามลมหายใจเข้าออก การสวดมนต์บทที่เราถนัด การทำสมาธิเหล่านี้อาจใช้เวลารวมๆเพียงวันละ 10-20 นาทีเพื่อให้จิตมีความสงบจะช่วยให้เรียนหนังสือและทำสิ่งต่างๆได้ดีขึ้น แต่สำหรับเด็กมุสลิมซึ่งเราเองไม่มีความรู้เลยนะแต่เราคิดเอาเองว่าการละหมาดและการไปมัสยิดก็มีส่วนช่วยเรื่องสมาธิได้อย่างแน่นอน ส่วนการออกกำลังกายเช่นวิ่งหรือเดินจนมีเหงื่อออก หรือเล่นกีฬาที่ชอบก็เป็นสิ่งที่ควรทำด้วยอาจจะสัปดาห์ละ3 ครั้งเป็นอย่างน้อยเพราะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง และหายเครียดรวมทั้งช่วยให้นอนหลับได้ดีด้วย
ขอเอาใจช่วยให้เรียนได้ดีนะ


Posted by : เคยตกแคลคูลัสและประสาทวิทยา , Date : 2005-08-27 , Time : 12:23:48 , From IP : 172.29.3.198

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.005 seconds. <<<<<