ความคิดเห็นทั้งหมด : 5

รับน้อง


   บทความนี้เกี่ยวเนื่องกับก่อนหน้าและเข้ากับยุคสมัย โดย อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://www.matichon.co.th/weekly ครับ น่าจะทำให้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตามสะดวกครับ แต่น่าจะลองศึกษาดู

ตามตำนานการรับน้องใหม่ที่พวกจุฬาฯ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่มีประเพณีรับน้องเล่า ว่ากันว่าเริ่มจากนิสิตในหอพักก่อน (ตั้งแต่สมัยที่ยังมี "หอวัง" ซึ่งอยู่ในสนามกีฬาศุภชลาศัยปัจจุบัน) โดยนำเอาประเพณีทำนองเดียวกันซึ่งมหาวิทยาลัยของอังกฤษทำมา "เล่น" บ้าง

ประเพณีพิธีกรรมคือเครื่องมือการสร้างและ/หรือตอกย้ำแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคม แม้ว่าอังกฤษและพวกจุฬาฯ รุ่นแรกๆ ทำพิธีแกล้งน้องเพียงวันเดียว (ที่จริงคืนเดียว) แต่ที่จริงก็คือการสร้าง/และหรือตอกย้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องต่อจากนั้นนั่นเอง

แน่นอนครับ ด้วยความหวังว่า ความเหลื่อมล้ำของอำนาจระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง ซึ่งแสดงให้เห็นในพิธีกรรมนี้ จะดำรงอยู่อย่างถาวร

ส่วนพิธีกรรมจะได้ผลแค่ไหนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคม ในอังกฤษพิธีกรรมรับน้องล้มเหลว เพราะเงื่อนไขทางสังคมที่จะทำให้คนยอมรับอำนาจของคนอื่นเพียงเพราะเขาเป็น "รุ่นพี่" มีน้อย หรือแทบไม่มีเลย จึงยากที่จะทำให้เกิดแบบแผนความสัมพันธ์ชนิดที่พิธีกรรมรับน้องสร้างขึ้นอย่างถาวร

ตรงกันข้าม สังคมไทยสมัยใหม่ (คือหลัง ร.5 เป็นต้นมา) มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้แบบแผนความสัมพันธ์เช่นนี้เป็นความสัมพันธ์กระแสหลัก จึงทำให้การรับน้องขยายตัวอย่างแพร่หลายในสถาบันการศึกษาทุกแห่งและทุกระดับ รวมทั้งขยายตัวออกไปสู่พิธีกรรมอื่นๆ ในชีวิตน้องใหม่ทั้งปี เช่น การประชุมเชียร์และการออกกำลังกายทุกเย็น เพื่อตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของอำนาจ และการยอมรับในความเหลื่อมล้ำนั้น

มีเรื่องที่ผมอยากสะกิดให้คิดเพื่อเข้าใจประเด็นตรงนี้อยู่สองเรื่อง

เรื่องแรก การรับน้องในเมืองไทยนั้นเป็นเรื่องของอำนาจอย่างชัดเจน อย่าไปดัดจริตหาเหตุผลอื่นๆ เลยครับ เพราะมันชัดเสียจนน่าจะขวยปากที่จะไปยกให้เรื่องอื่น นอกจากนี้ เรื่องอำนาจก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายนะครับ ในทุกสังคม สมาชิกย่อมต้องเรียนรู้ แบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสังคมที่ตัวจะต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไปทั้งนั้น

เรื่องที่สองก็คือ การศึกษาโดยเฉพาะอุดมศึกษาเป็นประตูเข้าสู่ความเป็นชนชั้นนำของสังคมไทยสมัยใหม่ และในวัฒนธรรมของชนชั้นนำสมัยใหม่ของไทยนั้น แบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ลดหลั่นเป็นลำดับชั้นอย่างชัดเจนมีความสำคัญมาก เพราะจำลองมาจากความสัมพันธ์ขององค์กรราชการ การเรียนรู้แบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจเช่นนี้จึงมีความสำคัญสำหรับคนที่จะก้าวเข้าสู่ชนชั้นนำของสังคม

น่าสังเกตนะครับว่า ประเพณีรับน้องใหม่เริ่มที่มหาวิทยาลัยก่อน แล้วจึงขยายไปสู่โรงเรียนมัธยมและประถม ที่น่าสังเกตต่อมาก็คือ โรงเรียนมัธยมที่รับประเพณีรับน้องใหม่มาอย่างถึงพริกถึงขิงคือโรงเรียน "ผู้ดี๊ผู้ดี" เช่น โรงเรียนสาธิตของทุกมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนดังอื่นๆ เพราะเด็กมัธยมเหล่านี้ล้วนอยู่ในครรลองที่จะก้าวผ่านประตูไปสู่ความเป็นชนชั้นนำทั้งสิ้น

ผมไม่เคยได้ยินว่าโรงเรียนประชาบาลวัดหลังเขามีการรับน้องใหม่เลย ก็เด็กทุกคนในโรงเรียนต่างรู้ว่า จบแล้วกูก็ออกไปทำนา หรือรับจ้างเหมือนพ่อแม่กูนั่นเอง และในสังคมแบบนั้นมีแบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ได้จำลองมาจากความสัมพันธ์ขององค์กรราชการ



แหล่งที่มาของอำนาจในวัฒนธรรมไทยเดิม ซึ่งยังปรากฏให้เห็นในชุมชนเกษตรกรรมชนบทของปัจจุบัน มีความหลากหลายมาก ผมหมายความว่า เราไม่อาจจัดบันไดเพียงอันเดียวเพื่อวางทุกคนลงไปตามขั้นบันไดได้หมด คนรวยก็มีอำนาจบนบันไดอันหนึ่ง กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็มีอำนาจบนบันไดอีกอันหนึ่ง จ้ำหรือ แก่วัดซึ่งอาจจะยากจน แต่มีความรู้ที่ชาวบ้านเห็นว่าจำเป็นแก่ชุมชนก็มีอำนาจอยู่บนอีกบันไดหนึ่ง จนถึงที่สุดลุงแก่ๆ คนที่หุงข้าวกระทะได้เก่ง ก็มีอำนาจในอีกบันไดหนึ่ง เพราะถ้าแกไม่ช่วย ก็จัดงานเลี้ยงขนาดใหญ่ไม่ได้

ฉะนั้น อำนาจในวัฒนธรรมชาวบ้านจึงกระจายไปยังคนต่างๆ ในชุมชนอย่างกว้างขวาง ไม่ได้อยู่ในระบบลำดับขั้นของอำนาจเพียงระบบเดียว เหมือนองค์กรราชการ

ถ้านิยามอำนาจในระดับพื้นฐานเลย อำนาจคือความสามารถที่ทำให้คนอื่นทำตามความปรารถนาของตัว และในทุกสังคมมนุษย์การใช้อำนาจย่อมมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาก็คือคนในวัฒนธรรมชาวบ้านอย่างที่ผมกล่าว ซึ่งมีอำนาจจากฐานที่ต่างกันจะใช้อำนาจแก่กันอย่างไร ?

นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก วัฒนธรรมชาวบ้านเชี่ยวชาญด้านกลวิธีที่หลากหลายและสลับซับซ้อน ในอันที่จะทำให้ความปรารถนาของตัวสัมฤทธิผล นับตั้งแต่แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ รวมไปถึงสร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์, ใช้เส้น (เช่น ดึงเอาญาติผู้ใหญ่หรืออุปัชฌาย์ของคนที่เราจะใช้อำนาจมาอยู่ฝ่ายเดียวกับเราก่อน), ใช้เสียงของคนหมู่มากบีบบังคับทางอ้อม, ยกย่องให้เป็นผู้นำอย่างเป็นทางการ, ฯลฯ

พูดให้ฟังขลังๆ ก็คือ ปฏิบัติการทางอำนาจ ของชาวบ้านละเอียดอ่อน และต้องใช้สติปัญญามากกว่าพวก "ปัญญาชน" ในมหาวิทยาลัยอย่างมาก

เพราะ "ปัญญาชน" มีวัฒนธรรมของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่จัดอำนาจไว้ในลำดับขั้นของบันไดเดียว ฉะนั้น การใช้อำนาจจึงง่ายมาก นั่นก็คือออกคำสั่ง ถ้าเกรงว่าเขาไม่เชื่อก็ข่มขู่ตะคอก ไปจนถึงใช้กำลังบังคับเอาด้วยวิธีต่างๆ ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

ชนชั้นนำไทยรู้จัก ปฏิบัติการเชิงอำนาจ อยู่อย่างเดียว คือบีบบังคับ อีกทั้งไม่รังเกียจความรุนแรงที่จะใช้ในปฏิบัติการเชิงอำนาจอีกด้วย ขอแต่ให้ผู้ใช้ความรุนแรงนั้นยืนในตำแหน่งที่ถูกต้องของบันไดแห่งอำนาจเท่านั้น

นี่คือเหตุผลที่ผู้คนในสังคมซึ่งเข้าถึงสื่อพากันสนับสนุนการฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด, เคยสนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้, สนับสนุนการขจัดอาชญากรรมด้วยโทษที่รุนแรง เช่น จับอาชญากรคดีข่มขืนตอน หรือนำโทษประหารชีวิตมาใช้กับคดีอุกฉกรรจ์เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการลดหย่อน ฯลฯ

ก็สั่งแล้ว ไม่ฟังนี่หว่า

ฉะนั้น ทุกครั้งที่ผู้คนซึ่งได้รับการศึกษาสูงๆ และสังกัดอยู่ในชนชั้นนำพูดว่า คนไทยชอบให้ใช้อำนาจเด็ดขาด, เฉียบขาด, เฉียบพลัน และรุนแรง ผมอดรู้สึกทุกครั้งไม่ได้ว่า พวกมึงเท่านั้นหรอกที่เป็นอย่างนั้น ชาวบ้านไทยหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจในลักษณะเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง

กว่าชุมชนในชนบทจะตัดสินใจทำอะไรร่วมกันได้สักอย่าง มีการเจรจาต่อรอง โอ้โลมปฏิโลม รวมทั้งนวดเส้นเกาหลังกันมามาก จึงจะได้มติเอกฉันท์ของชุมชน โดยไม่มีใครสั่งให้ใครทำอะไร (อย่างออกหน้า) เลย

วัฒนธรรมราชการจึงเป็นเรื่องตลกในหมู่บ้านเสมอมาไงครับ เพราะทุกคนขอรับกระผมกับนายอำเภอเสมอ โดยไม่เคยทำตามที่นายอำเภอสั่งสักครั้งเดียว

ก็นายอำเภอทุกคนต่างจบมหาวิทยาลัยและผ่านพิธีกรรมรับน้องมาแล้วทั้งนั้น ทั้งในฐานะรุ่นน้องและรุ่นพี่

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของรุ่นพี่ก็คือ จะกลืนอำนาจเถื่อนของตัวเข้าไปในระบบแห่งอำนาจที่เป็นทางการได้อย่างไร ตราบเท่าที่กลืนไม่ได้ ก็ยากที่จะทำให้รุ่นน้องยอมรับบันไดแห่งอำนาจอันเดียวได้

รุ่นพี่ที่จุฬาฯ ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องกลายเป็น "ประเพณี" ซึ่งเป็นหนึ่งในคำขวัญของนิสิตมหาวิทยาลัยนั้น

อะไรที่เป็น "ประเพณี" ไปแล้วนี่เลิกยากนะครับ เพราะถ้าเลิก "ประเพณี" นี้ได้ เดี๋ยวก็จะพาลไปเลิก "ประเพณี" โน้นเข้าอีก และมหาวิทยาลัยไทยโดยเฉพาะจุฬาฯ นั้น เขาตั้งขึ้นมาทำไมหรือครับ หนึ่งในหน้าที่หลักคือตั้งขึ้นมาเพื่อรักษา "ประเพณี" น่ะสิครับ โดยเฉพาะ "ประเพณี" ทางสังคมและการเมืองซึ่งให้อภิสิทธิ์แก่อภิสิทธิ์ชน

ด้วยเหตุดังนั้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่รุ่นพี่สร้างขึ้นครอบงำรุ่นน้อง (และแสดงออกให้สังคมได้รู้ผ่านพิธีกรรมรับน้อง) จึงได้รับการยอมรับและส่งเสริมโดยนัยยะจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เสมอมา

สมัยผมเรียนจุฬาฯ บางคณะมีกฎห้ามไม่ให้น้องใหม่ใช้บันไดหน้าขึ้นตึกบางแห่ง อาจารย์คณะนั้นก็รู้ แต่ไม่เคยมีใครบอกน้องใหม่ว่า นี่ไม่ใช่กฎของมหาวิทยาลัย น้องใหม่ต้องแต่งเครื่องแบบของมหาวิทยาลัยให้ถูกต้องเป๊ะ บางครั้งมหาวิทยาลัยก็ช่วยกวดขันให้ด้วย แต่ไม่เคยกวดขันกับรุ่นพี่เลย (เช่น เด็กผู้หญิงต้องสวมถุงเท้าขาวจนกว่าจะผ่านปี 1 แล้ว)

มาในภายหลัง ผมพบว่าน้องใหม่ถูกบังคับขืนใจโดยเปิดเผยมากขึ้นในทุกมหาวิทยาลัย บังคับให้วิ่งและซ้อมเชียร์กันทุกเย็นจนดึกดื่น มีว้ากเกอร์ออกมา "ปฏิบัติการทางอำนาจ" ที่สิ้นปัญญาให้เห็น ฯลฯ แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนร้อนใจต่อแบบปฏิบัติของความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไร้ความเท่าเทียม และทำลาย "มนุษยภาพ" อย่างซึ่งๆ หน้าเช่นนี้เลยสักแห่งเดียว

ถึงส่วนใหญ่ของน้องใหม่ไม่ได้ฆ่าตัวตายทางกาย แต่ทุกคนตายทางวิญญาณ และสติปัญญาไปหมดแล้ว ภายใต้สายตาของมหาวิทยาลัยนั้นเอง



ที่มหาวิทยาลัยไม่กระดิกทำอะไรตลอดมานั้น ก็เพราะลึกลงไปจริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้คือวัฒนธรรมของอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั่นเอง ก็ถูกแล้วไม่ใช่หรือที่น้องใหม่ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นชนชั้นนำของสังคม จะต้องเรียนรู้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในวัฒนธรรมนี้

ปัญหารับน้องใหม่จึงไม่ใช่นอกหรือในสถานที่, หรือท่าเต้นที่น้องถูกบังคับให้ทำมันลามกอนาจารหรือไม่, หรือครูดูแลได้ทั่วถึงหรือไม่ ฯลฯ มันลึกกว่านั้นแยะครับ

เพราะมันเกี่ยวกับวัฒนธรรมอำนาจของชนชั้นนำไทย ซึ่งรุ่นพี่, อาจารย์, ผู้บริหาร, สังคมคนอ่านหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่ตัวน้องใหม่เอง ต่างสังกัดอยู่ในวัฒนธรรมอำนาจอันเดียวกันนี้

ฉะนั้น ถ้าอยากแก้ไข ไม่ใช่ไปแก้ที่ตัวพิธีกรรมซึ่งทำหน้าที่เพียงช่วยตอกย้ำความสัมพันธ์ทางสังคมที่ผู้คนยอมรับอยู่แล้วเท่านั้น แต่ต้องไปแก้ให้ระบบการศึกษาเป็นระบบการเรียนรู้ที่ไม่สร้างบันไดแห่งอำนาจบันไดเดียว เช่น มีเด็กที่ได้เป็นวีรบุรุษ-สตรีเต็มไปทั้งห้อง (เมื่อไหร่เด็กคะแนนบ๊วย แต่วาดเขียนเก่งจึงจะได้รับการยกย่องเท่ากับที่หนึ่งของห้องเสียที) ในขณะเดียวกันก็ต้องไปแก้ที่ระบบการเมือง, เศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มชนชั้นนำนั่นแหละ ให้ยอมรับอำนาจที่หลากหลาย และ ปฏิบัติการทางอำนาจ ที่ต้องใช้เหตุผลกันมากขึ้น แทนที่จะใช้แต่ตำแหน่งบนขั้นบันได

อย่างไรก็ตาม ผมออกจะสงสัยด้วยว่า ถึงเราไม่ทำอะไรเลยสักอย่าง ระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่จำลองมาจากองค์กรราชการซึ่งเป็นระบบความสัมพันธ์กระแสหลักในหมู่ชนชั้นนำไทย กำลังจะถูกท้าทายมากขึ้นจากระบบความสัมพันธ์แบบอื่นเรื่อยๆ ถึงจะยกกันขึ้นไปเป็นซีอีโอ นับวันซีอีโอก็ทำอะไรไม่สำเร็จมากขึ้น จนเกือบจะกลายเป็นตัวตลกไปแล้ว

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในพิธีรับน้องและการปฏิบัติต่อน้องใหม่ในมหาวิทยาลัย คือสัญญาณของการล่มสลายของระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กำลังจะพ้นสมัยไปเสียแล้ว



Posted by : Dr.Sid , Date : 2005-06-26 , Time : 14:26:09 , From IP : 172.29.7.175

ความคิดเห็นที่ : 1


   ขออภัยนะครับ Link ที่ให้มามันไม่ "จำเพาะ" กับบทความของ อ.นิธิ เลยไม่ทราบว่าส่วนไหนเป็นบทความ ส่วนไหนเป็นความเห็นของคุณ Dr Sid ช่วย post original link ของบทความที่ว่ามาอีกทีได้ไหมครับ (ถ้าเป็น frame อาจจะต้องใช้วิธี right link บนบทความแล้วดูตรง property จะได้ link ของบทความจริงๆ มากกว่าหน้าหลักครับ)



Posted by : Phoenix , Date : 2005-06-26 , Time : 20:30:25 , From IP : 203.156.122.115

ความคิดเห็นที่ : 2


   ขอโทษทีครับ เอาใหม่
http://www.matichon.co.th/weekly/weekly.php?srctag=0418170648&srcday=2005/06/17&search=no

เป็นของ อ.นิธิ เกือบทั้งหมดครับยกเว้น 3 บรรทัดแรก


Posted by : Dr.Sid , Date : 2005-06-26 , Time : 21:37:17 , From IP : 61.7.144.67

ความคิดเห็นที่ : 3


   ขอบคุณครับ

ผมคิดว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ และเปิดให้ "แปลความ" เยอะทีเดียว น่าจะเป็นเพราะ past experience ทีแตกต่างกันนั่นเองทำให้ "มุมมอง" แตกแขนงออกไป ผมสนใจใน "ข้อสรุป" ที่ว่ามหาวิทยาลัย "จงใจ" จะ inert และสนับสนุนให้ระบบรับน้องอย่างที่ว่า survive อย่างต่อเนื่อง คล้ายๆกับเป็น conspiracy theory ของระบบ fraternity หรือ secret society หรือ mason ในต่างประเทศ

ที่สนใจเพราะผมสงสัยว่า "มหาวิทยาลัย" (ซึ่งหมายถึง คน อาจารย์ หรือ คณบดี หรือ อะไร ที่แน่ๆคงจะเป็น "คน" นี่แหละ แต่หมายถึง "ใคร"?) มีส่วน active หรือ passive สักกี่มากน้อยใน "ทิศทาง" การรับน้องแบบกักขฬะ ลามกอนาจาร และการกระทำอย่างที่ว่านั้น มันเอระบบ authority ที่ "เป็นประโยชน์" ต่อวัฒนธรรมเบื้องลึกที่ได้มีการ "วางแผนไว้ล่วงหน้า" ไว้มากน้อยแค่ไหน

ผมมีอีกทฤษฎีนึงที่จะอธิบาย ซึ่งเป็นแค่ pure speculation ไม่มีหลักฐาน เป็นแค่ความคิดคำนึงเท่านั้น นั่นคือ แนวโน้มที่คนแสวงหาคุณค่าของตนเองโดยการกดขี่หรือทำให้ "ค่า" ของคนอื่นดูลดลง (และ relatively ค่าตนเองสูงขึ้น) ไม่ได้เกี่ยวกับระบบ authority แต่เป็น failure ของการค้นหาความหมายคุณค่าของระบบสังคมยุคใหม่มากกว่า

ถ้าคุณธรรมยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและนับถือกันอยู่ แม้ระบบ authority จะถูกนำมาใช้ แต่มันจะถูก "วางกรอบ" ไว้โดยการที่ "ผู้นำ" นั้นจะต้องเป็นผู้นำทั้งทางคำสั่ง และตัวอย่างทางความประพฤติจิตวิญญาณด้วย ฉะนั้นการกดขี่ผู้อื่นเหมือนเป็นคนชั้นต่ำหรือแม้เหมือนสัตว์เดียรัจฉาน มันไม่ได้ support ปรัชญาผู้นำที่ดีสักเท่าไหร่ มันเป็นการแสดงอำนาจในระดับสัตว์นั่นเองคือการแข็งแรงกว่า เป็นผู้นำฝูง ฉะนั้นถ้าจะหาสาเหตุที่คนแสวงหาความเป็นผู้นำในแบบนี้ ผมว่ามันไม่ได้อยู่ที่ "สภาวะผู้นำ" แต่อยู่ที่ "นิยามหรือองค์ประกอบ" ของผู้นำต่างหาก ที่รุ่นพี่ หรือคนจัดพิธีรับน้องมีอยู่ในใจ

ผมคิดว่าผู้รับผิดชอบจัดรับน้องในแบบต่างๆที่ไม่พึงประสงค์นั้น ไม่ได้ submit โครงการให้อาจารย์ที่ปรึกษารับทราบก่อน คิดว่าน่าจะเป็นตรงกันข้ามคือแอบทำ หรือทำโดยไม่ได้ปรึกษา ตรงนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษารุ่นใหม่ หรือรุ่นพี่ยุคใหม่สามารถฉีกตัวเองออกจากรูปแบบเดิม โดยที่เราไม่จำเป็นต้อง debate ว่าแบบดั้งเดิม original นั้นใครทำ ทำเพื่ออะไร แต่เรา (รุ่นพี่) ควรจะมาคิดกันเองในแต่ละรุ่นมากกว่าว่า อะไรคืองานรับน้องที่เราต้องการให้ represent รุ่นเรา ต้องการให้เป็นสัญญลักษณ์ของรุ่นพี่รุ่นนี้ต่อๆไป

ผมคิดว่ามันเป็น free will ของคนแต่ละรุ่น ไม่ต้องไปโทษว่ารุ่นแล้วๆเขาทำกันมาตลอด แล้วเราต้องทำตามหรอกครับ จริงๆวัยรุ่นนั้นมันมีแนวโน้มจะ rebellion หรือฉีกแนวจากเดิมอยู่แล้ว แต่ทำไมทีเรื่อง barbarian แบบนี้จึงอ้างประเพณีของเก่า? มันเป็นเพราะมัน match กับจิตใต้สำนึกคนจัดเองนั่นมากกว่า ไม่มีใครมาบังคับฝืนใจให้ทำอย่างนั้น

ไม่ต้องพูดถึง original idea ที่รุ่นพี่ทรมานน้องจนเป็นคดี จนเป็นข่าวกัน



Posted by : Phoenix , Date : 2005-06-26 , Time : 22:08:25 , From IP : 172.29.7.52

ความคิดเห็นที่ : 4


   ผมว่าผมอ่านของ อ.นิธิ เข้าใจนะครับ แต่ไม่เข้าใจของอาจารย์ น่าจะใช้ภาษาไทยให้หมดเลยได้มั้ยครับ

Posted by : อยากเข้าใจครับ ไม่ใช้ประชดนะ , Date : 2005-06-27 , Time : 03:35:39 , From IP : 172.29.7.229

ความคิดเห็นที่ : 5


   อ่านข้ามภาษาอังกฤษไปเลยครับ ไม่ถึงกับสูญเสียอรรถรส ความหมายมากอย่างมีนัยสำคัญ บางคำไม่กล้าแปล บางคำเคยชิน บางคำมันสั้นกว่า



Posted by : Phoenix , Date : 2005-06-27 , Time : 12:45:04 , From IP : 172.29.3.213

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.005 seconds. <<<<<