"ฟ้าเป็นของทักษิณ ดินเป็นของซีพี"
จากกัลยาณมิตรถึงนายกฯทักษิณ ชินวัตร (4) นี่ไง...ใบเสร็จซื้อเสียง !
โดย เซี่ยงเส้าหลง 20 มิถุนายน 2548 00:07 น.
เมื่อ 4 ปีก่อน ตอนเย็น ๆ เวลาประมาณ 17.45 - 18.00 น. ของวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พุทธศักราช 2544 นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า....
ต่อไปนี้ประเทศไทยจะไม่มีคำว่าปัญหาทางการเมืองอึมครึมอีกต่อไป ต่อไปนี้การตัดสินใจทุกเรื่องของรัฐบาลนี้จะตัดสินใจบนพื้นฐานแห่งอนาคตของชาติ ไม่ได้ตัดสินใจบนพื้นฐานของการเมืองแน่นอน
การเมืองจะไม่มีความหมายกับรัฐบาลนี้
รัฐบาลนี้จะทำทุกอย่างเพื่อตอบแทนน้ำใจและความปรารถนาดีของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ได้ให้กำลังใจกับผมมาตลอดในช่วงของฝันร้ายใน 5 - 6 เดือนที่ผ่านมา
และในอีกตอนหนึ่งมีว่า....
ผมอยากให้เครดิตทั้งหมดนี้เป็นเครดิตของคนไทยทั้งประเทศ เพื่อพระเจ้าอยู่หัวของเราครับ ท่านทรงเหนื่อยพระวรกายมามากแล้ว ทรงห่วงพสกนิกรทั้งประเทศ แต่วันนี้พวกเรามาช่วยกันแบ่งเบาพระราชภาระ ช่วยกันทำงาน ตามที่ท่านอยากเห็น มีพระราชประสงค์อยากเห็นคนไทยได้พ้นทุกข์ คนไทยได้หายยากจน
เป็นคำกล่าวที่กินใจคนทั้งประเทศ
เป็นคำกล่าวที่กินใจคนทั้งประเทศที่เบื่อการเล่นการเมืองแบบเก่าที่คิดแต่เพียงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปเท่านั้น
เป็นคำกล่าวที่กินใจคนทั้งประเทศที่คนทำงานคนสำคัญของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรถึงกับบันทึกที่มาที่ไปไว้เป็นหนังสื่อเล่มย่อม ๆ ชื่อ นาทีเปลี่ยนประวัติศาสตร์ ทีเดียว
........................
อีก 3 ปีต่อมา....
วันที่ 18 กันยายน 2547 นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรให้สัมภาษณ์ก่อนกล่าวปาฐกถาเรื่อง สิ่งที่ค้างคาใจนายกรัฐมนตรี ในงานประกาศเกียรติคุณนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่นประจำปี 2547 ถึงกรณีที่มีการปรามรัฐมนตรีไม่ให้นำเรื่องการหาเงินเข้าพรรคไทยรักไทยไปอ้างเพื่อขอเงินจากภาคเอกชนว่า...
ได้สั่งรัฐมนตรีทุกคนว่า ไม่ต้องเอาเงินมาให้ผม หรือเอาเงินมาให้พรรค เพราะพรรคไทยรักไทยช่วยตัวเองได้ ดังนั้น ขอให้ทุกคนทำงานอย่างตรงไปตรงมา ทำโดยไม่ต้องเกรงใจใคร เอาบ้านเมืองเป็นหลัก
อย่าคิดว่าการจะได้เป็นรัฐมนตรี หรือไม่ได้เป็น อยู่ที่การให้เงินพรรค เพราะผมพิจารณาจากการทำงาน คนที่ทำงานดีมีความทุ่มเทก็มีโอกาส รับรองว่าการพิจารณาจะมาจากพื้นฐานของการทำงานเป็นหลัก
ครั้นถึงช่วงการปาฐกถาพิเศษ สิ่งที่ค้างคาใจนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรบอกว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นต้องใช้เวลา เพราะเป็นเรื่องที่กัดกินสังคมไทยมานาน จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ
ถ้าเมื่อใดการเมืองมีต้นทุน เมื่อนั้นการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นไม่สามารถทำได้
เมื่อใดประชาชนยังรับเงินซื้อเสียง เมื่อนั้นประชาชนจะลำบากต่อไป
การเมืองในสมัยก่อนในตอนเลือกตั้งมีการไปขอทุนจากเอกชนมาใช้ในการเลือกตั้ง เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลต้องตอบแทนบุญคุณ ทำให้ไม่มีผลงานอะไรให้แก่ประชาชน อยู่ไป 3 - 4 เดือนล้ม ต้องเลือกตั้งใหม่ ก็ต้องหาทุนใหม่ และตอบแทนบุญคุณ เป็นวงจรอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
เราจะเห็นว่าผู้รับเหมารายใหญ่กับนักการเมืองใหญ่คือคนๆ เดียวกัน
............................
เมื่อไม่กี่วันมานี้
วันที่ 13 มิถุนายน 2548 นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรให้สัมภาษณ์ถึงโครงการนำร่องปลูกยาง 1 ล้านไร่ในจังหวัดพะเยาว่า
ไม่มีปัญหาอะไร เพราะผมได้บอกกับทางซีพีที่เป็นผู้รับเหมา เขายืนยันว่าจะดูแล ไม่ยอมให้เสียชื่อ ขาดทุนไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วง เขาจะดูแลอย่างดี และตรงไหนที่มันเสียหายหรือตาย ก็จะเปลี่ยนหมด ฉะนั้นไม่ต้องห่วงว่าเกษตรกรจะเดือดร้อน เพราะเขายืนยันว่าไม่ยอมเสียชื่อแน่นอน ขาดทุนเขาก็ไม่ว่า
บังเอิญมันเกิดในช่วงหนึ่งที่ใกล้เลือกตั้ง ผู้แทนฯเร่งเอาไปแจกชาวบ้าน โดยที่ช่วงนั้นเขาไม่แนะนำให้นำไปปลูก เพราะฝนมันไม่มี แต่ก็ยังรีบไปแจก พอแจกไปก็ตาย พอมันตายชาวบ้านก็เลยเดือดร้อนเพราะไปปลูกแล้วตาย อันนี้ทางกระทรวงเกษตรฯกับทางซีพีจะประสานกันไปแก้ไข
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าความผิดอยู่ที่ผู้แทนฯเร่งไปแจกใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรกล่าวว่า...
คนมันรีบเอาไปแจกกัน พอดีช่วงนั้นก่อนเลือกตั้งนิดหน่อย คล้าย ๆ กับคงบอกว่าประชาชนทวงแล้ว ถึงเวลาแล้วต้องเอาไปให้ ขณะที่ทางกระทรวงเกษตรฯก็ไปเบรกว่าฝนมันไม่มี เดี๋ยวไปปลูกแล้วตาย และมันก็ตายจริงๆ แต่ทั้งหมดก็มีไม่มาก
เมื่อถามว่าเกี่ยวกับการทุจริตหรือไม่ นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรกล่าวว่า...
ไม่เกี่ยว ถ้าเป็นเรื่องทุจริต ทางซีพีก็ไม่ต้องมารับผิดชอบหรอก ซีพีเขายืนยันเลยว่าพร้อมที่จะมาทดแทนให้ โดยที่ขาดทุนเขาก็ยอม เพราะเขาไม่ยอมให้เสียชื่อ ถ้าเป็นการทุจริต เรื่องอะไรซีพีเขาจะมารับผิดชอบ
เมื่อถามว่าที่บอกว่านำไปแจกก่อนเลือกตั้งเป็นช่วงเดือนไหน นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรกล่าวว่า แถว ๆ เดือนกันยายน มันเป็นก่อนเลือกตั้งที่ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
......................................
คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2548 คือใบเสร็จ
ไม่ใช่แค่ใบเสร็จที่ยืนยันว่า ฟ้าเป็นของทักษิณ ดินเป็นของซีพี เท่านั้น
แต่ยังเป็นใบเสร็จที่ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีคนนี้ เสียสัจจะ ที่ให้ไว้กับประชาชน
เพราะนอกจากจะไม่สร้างการเมืองใหม่ขึ้นมาแล้ว ยังพัฒนาการเมืองเก่าให้แยบยลลึกซึ้งและหลอกลวงมากยิ่งขึ้นไปอีก
..................................
โครงการส่งเสริมปลูกยาง 1 ล้านไร่ที่เริ่มต้นด้วยหลักการอันสวยหรู แต่ดำเนินการด้วยความไม่โปร่งใสในทุกขั้นตอน ได้สร้างหนี้สินสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรอย่างย่อยยับโดยหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ มิหนำซ้ำเกษตรกรนับแสนครอบครัวยังต้องลุ้นระทึกในอีก 7 ปีข้างหน้าว่า ยางทักษิณ ที่ รัฐบาลไร้ยางอาย แจกจ่ายนั้นจะให้น้ำยางคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ จบลงง่าย ๆ เพียงการรับประกันของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
มีประเด็นที่จะต้อง โชว์ใบเสร็จ และ จับโกหก กันอีกมากมาย
แต่เฉพาะวันนี้ จะ โชว์ใบเสร็จ กันเฉพาะประเด็นการเพิ่มรายชื่อเกษตรกรเพื่อหาเสียง และผู้สมัครส.ส.บางคนของพรรคไทยรักไทยรับโควตาทำยางชำถุงขายให้ซีพี เป็นการกิน 2 ต่อ
เพราะนี่คือสุดยอดของการเมืองเก่าที่ทั้งแยบยล ลึกซึ้ง และหลอกลวงประชาชน
ที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากนโยบายของรัฐบาลผ่านทางกระทรวงเกษตรฯ
...................................
ต้นยางของเกษตรกรบ้านมอเจริญ อ.แม่วงศ์ จ.นครสวรรค์ ที่ตายเพราะแล้งและกล้าที่ได้รับไม่สมบูรณ์
นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรยอมรับว่า กล้ายางฯที่แจกไปแล้วตายนั้น เป็นเพราะส.ส.รีบนำไปแจกก่อนเลือกตั้ง
นั่นหมายถึงการเร่งรีบตั้งโครงการและดำเนินการอย่างร้อนรนเพื่อสนองเป้าหมายทางการเมือง
โดยไม่ได้คิดถึงสิ่งที่เกษตรกรจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
เรื่องนี้พูดลอย ๆ ไม่ได้
ต้องลำดับการเร่งรัดโครงการ การเพิ่มพื้นที่เป้าหมาย และการเพิ่มจำนวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ เพื่อหวังผลทางการเมืองเอา ยางทักษิณ ไปแจกแลกคะแนนเสียง ให้เห็นกันกระจะ ๆ
......................................
26 พฤษภาคม 2546 คณะรัฐมนตรีอนุมัติเห็นชอบโครงการเป้าหมาย 1 ล้านไร่ แยกเป็นภาคอีสาน 7 แสนไร่ และภาคเหนือ 3 แสนไร่
19 มิถุนายน 2546 ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ออกประกาศกรมวิชาการเกษตร ที่ 4/2546 เรื่องประกวดราคาจ้างเหมาผลิตต้นยางชำถุง
20 มิถุนายน 2546 แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ เป็นประธานคัดเลือก เนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรฯ เซ็นคำสั่งแต่งตั้ง
26 มิถุนายน 2546 สรอรรถ กลิ่นประทุม รมว.เกษตรฯ ประกาศกระทรวงฯกำหนดพื้นที่เป้าหมายปลูกยางเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกยางใหม่ ระยะที่ 1 ในภาคเหนือ 7 จังหวัด คือ เชียงราย, เชียงใหม่, พะเยา, น่าน, ลำปาง, แพร่, ลำพูน ส่วนภาคอีสาน มี 13 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์, บุรีรัมย์, มุกดาหาร, เลย, นครพนม, สกลนคร, สุรินทร์, หนองคาย, อุดรธานี, อุบลราชธานี, อำนาจเจริญ, ยโสธร และศรีสะเกษ
30 มิถุนายน 2546 สรอรรถ กลิ่นประทุม ประกาศหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการฯ ที่สำคัญคือ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการที่ไม่เคยมีสวนยางมาก่อนจะได้รับอนุมัติให้ปลูกยางไม่น้อยกว่า 7 ไร่ และไม่เกิน 30 ไร่
29 กรกฎาคม 2546 คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ ที่มีจิรากรณ์ โกศัยเสวี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธาน คัดเลือกบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์จำกัด เป็นผู้ชนะประมูล
13 สิงหาคม 2546 สรอรรถ กลิ่นประทุม ขยายพื้นที่ปลูกยางเพิ่มเติมในภาคอีสานอีก 6 จังหวัด คือ ขอนแก่น, ชัยภูมิ, หนองบัวลำภู, นครราชสีมา, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม พร้อมกับขยายเวลารับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการไปถึง 30 กันยายน 2546
10 พฤศจิกายน 2546 เนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรฯ ปฏิบัติราชการแทนรมว.กระทรวงเกษตรฯ เซ็นคำสั่งประกาศเพิ่มพื้นที่เป้าหมายอีก 10 จังหวัดในภาคเหนือ ตามรายการ คุณขอมา เพราะส.ส.อยากได้กล้ายางไปแจกชาวบ้าน คือ พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี เพชรบูรณ์ และกำหนดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546
10 พฤศจิกายน 2546 ในช่วงเช้าวันนี้ เนวิน ชิดชอบเซ็นอนุมัติรับราคาตามผลการประกวดราคาว่าจ้างซีพีผลิตต้นยางชำถุงตามที่ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์เสนอมา ทั้ง ๆ ที่ในช่วงบ่าย สมศักดิ์ เทพสุทินจะเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่งรมว.เกษตรฯ
17 พฤศจิกายน 2546 กรมวิชาการเกษตรเซ็นสัญญาว่าจ้างซีพี ผลิตต้นยางชำถุง 90 ล้านต้น วงเงิน 1,397 ล้านบาท จากราคากลาง 1,440 ล้านบาท
29 มีนาคม 2547 ประกาศรายชื่อเกษตรกรมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการฯจำนวน 106,235 ราย เนื้อที่ 844,024 ไร่ แยกเป็นภาคอีสาน 81,828 ราย เนื้อที่ 631,058 ไร่ และภาคเหนือ 24,407 ราย เนื้อที่ 212,966 ไร่ ลงนามอนุมัติโดยสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงเกษตรฯ
28 พฤษภาคม 2547 ประกาศรายชื่อเกษตรกรมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมจำนวน 34,880 ราย เนื้อที่ 139,512 ไร่ แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 397 ราย เนื้อที่ 1,588 ไร่ เซ็นอนุมัติโดยสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.เกษตรฯ
13 กันยายน 2547 ประกาศรายชื่อเกษตรกรมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม ในจังหวัดกาฬสินธุ์ 1,185 ราย พื้นที่ 11,850 ไร่ เซ็นอนุมัติโดยสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.เกษตรฯ
...............................
คำถามคือ ทำไมถึงประกาศพื้นที่เป้าหมายถึง 3 ครั้ง
คำตอบตรงไปตรงมาก็คือ เป็นเพราะส.ส.อยากหาเสียง อยากเอากล้ายางไปแจก จากเดิมซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกยางจริง ๆ แค่ 20 จังหวัดในภาคเหนือและอีสาน ก็กลายมาเป็น 36 จังหวัด
ส่วนรายชื่อเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการก็เพิ่มเติมเข้ามาถึง 3 รอบ
จะเห็นว่าแม้กระทั่งในวันที่ 13 กันยายน 2547 ซึ่งเข้าปลายฤดูฝนแล้ว หมดฝนแล้ว ก็ยังประกาศรายชื่อเกษตรกรที่มีสิทธิ์ปลูกในปี 2547 อีก
เรื่องนี้ ทำไมนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรไม่พูดบ้าง
เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นตามที่ลำดับให้เห็น มันไม่ใช่แค่ส.ส.อยากแจก แต่มันเป็นเรื่องนี้นโยบายของรัฐบาลยินยอมให้มีการเข้าร่วมโครงการอย่างชนิดมุ่งปริมาณมากกว่าคุณภาพ และยอมให้จนถึงช่วงเวลาที่ไม่เหมาะแก่การปลูกแล้ว
ซึ่งเด็กอนุบาลก็พอจะคาดหมายได้ว่าการขยันรับใช้ประชาชนเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้น ถ้าทุกคนไม่รู้อยู่แน่ ๆ แล้วว่าภายในปลายปี 2547 หรือต้นปี 2548 จะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่เกิดขึ้น
เยี่ยงนี้เป็นการซื้อเสียงหรือไม่ เด็กอนุบาลก็ตอบได้
แต่แน่นอน ต้องเป็นคำตอบที่ตรงกันข้ามกับการวินิจฉัยของก.ก.ต.ชุดปัจจุบัน
..............................
Posted by : ร่วมด้วยช่วยกันแฉ่ , Date : 2005-06-24 , Time : 11:58:37 , From IP : 172.29.1.174
|