ความคิดเห็นทั้งหมด : 12

ถาม อ.นกไฟ


   รู้สึกว่าตอนนี้ กระแสข่าวคราวเรื่องราวร้ายๆของแพทย์จะขายดี เป็นที่สนอกสนใจของประชาชน มีทั้งที่จริงบ้างไม่จริงบ้างปนกันไป แต่ทำให้เน่าไปทั้งวงการ แพทย์หมดกำลังใจจะทำหน้าที่ เบื่อหน่าย อ.นกไฟคิดว่าพวกเราสามารถทำอะไรได้ดีกว่าการที่แพทย์แต่ละคนจะต่างคนต่างทำงานกันไปวันๆ รอให้สังคมหันมาเห็นใจ หรือเราจะรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องสิทธิ หรือทำอะไรได้บ้างมั้ยครับ ผมทราบว่ามีองค์กรณ์แพทย์มากมายแต่ไม่เห็นมีใครมีบทบาทเลย อย่างน้อยการ deal กับสื่อมวลชน ผมว่าเราน่าจะทำอะไรได้บ้าง สื่อมวลชนที่เสนอแต่ข่าวเสื่อมเสียโดยที่ยังไม่ทราบว่ามีมูลรึเปล่าน่าจะมีการลงโทษมั้ยครับ คงไม่มีใครเข้าใจพวกเราดีเท่าพวกเรากันเอง ผมว่าแพทย์ก็เป็นคน มีสิทธิเหมือนกันนะ วันก่อนฟัง อ.สมศักดิ์พูดในรายการโทรทัศน์ว่า เคยมีหมอถูกถุยน้ำลายใส่หน้าเลยตีคนไข้ เลยถูกฟ้อง ยุติธรรมดีแล้วเหรอ???

Posted by : iris , Date : 2005-05-08 , Time : 22:14:41 , From IP : 172.29.7.97

"ใคร" นี่มีใครบ้าง ผมเสนอมีสามฝ่ายครับ (หรือประมาณสามฝ่ายครึ่ง) คือ ปัจเจกแพทย์ องค์กรแพทย์ และสื่อ (หรือสื่อบวกมวลชน ไม่แน่ใจว่ามวลชนแยกจากสื่อได้แค่ไหน เลยเรียกเป็นสามฝ่ายครึ่ง) ผมขออนุญาตโยนประเด็นหลักนี้ลง และเดี๋ยวจะขอขยายความแค่สองอย่าง คือ professionalism และ ข้อสี่ที่ว่าใครควรจะทำอะไรได้บ้าง ที่เหลือให้พวกเราเสนอความเห็นเพิ่มเติมนะครับ " />
ความคิดเห็นที่ : 1


   Part I

เรื่องนี้เห็นทีจะอภิปรายกันได้ยาวพอสมควร เพราะมีหลายประเด็นสำคัญ และมีหลากความเห็น รวมทั้งมีผลกระทบวงกว้างจากทางเลือกของการกระทำแต่ละอย่าง

ขอ clear โจทย์ก่อน สื่อเรื่องราวร้ายๆของแพทย์ในปัจจุบัน จริงไม่จริง มีผลอย่างไรต่อวิชาชีพโดยรวม และพวกเราในวงวิชาชีพนี้ หรือใคร ควรจะทำอะไรได้บ้าง เนื้อหาที่จะพูดคงจะครอบคลุมแค่นี้ ถ้าจะเติมอะไรก็เสนอแนะมาได้นะครับ

ปัญหาแรก: การสื่อสาร
เหมือนเรื่อง communication ทุกชนิด ประกอบด้วยสามส่วนคือ ผู้สื่อ ผู้รับ และบริบท จุดเด่นที่สุดของบริบทในปัจจุบันเห็นจะเป็นเรื่อง speed and distribution ที่มันทั้งเร็วและกว้าง แถมข้อสำคัญคือ uncensored (มีโดยกฏหมายหมิ่นประมาทเพียงเล็กน้อยซึ่งหลีกเลี่ยงง่าย และแทบจะไม่เลย โดยอุปนิสัยของผู้มีหน้าที่อำนาจโอกาสในการเสนอ) ผู้สื่อเข้าใจว่าเรื่องนี้ "ขายได้" ผู้รับสนใจอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็จริงและทำให้การเสนอเรื่องเหล่านี้ "ถูกต้อง" ตามหลักการของอาชีพสื่อมวลชนนั่นคือเสนอเรื่องที่มวลชนคิดว่ามันมีผลกระทบต่อเขาเยอะๆ

ปัญหาที่สอง: จริง ไม่จริง
ที่ถูกต้องประเด็นนี้ควรจะเป็นประเด็นและความ "รับผิดชอบ" ของผู้สื่อ รวมทั้งเป็นสมรรถภาพของผู้รับที่จะกรองก่อนเชื่อ แต่ปัญหาที่หนักที่สุดก็คือ ความจำเป็นที่พิสูจน์ข้อเท็จจริง(เริ่มต้นจากได้ข้อมูลจากสองฝ่าย) ก่อนนำเสนอนั้นยังกบเป็นเรื่องที่สื่อบ้านเมืองนี้ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แถมความ "เป็นกลาง" ไม่เอียงฝ่ายในการนำเสนอก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในจรรยาบรรณฐานันดรที่สี่รึเปล่า ชักไม่แน่ใจ ขอเสนอไปก่อน ผิดถูกให้คนบาดเจ็บฟ้องเอา ดิ้นรนเอา ถ้าคิดว่าแน่พอ

ตรงนี้พวกเรายังต้องคำนึงอีกอย่างนึงด้วยนะครับคือ ด้วยคำที่ว่าที่ใดไม่มีไฟก็ไม่มีควัน ฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ควันมันโขมงโฉงเฉง เราจะบอกว่ามันไม่มีมูล ไม่มีเชื้อเลยคงจะไม่ได้ซะทีเดียว ตรงนี้สำคัญมากในกลยุทธ์การแก้ไข เพราะถ้าเราเอาแต่ปกป้องอย่างเดียว เรียกร้อง privilege ของวิชาชีพแต่ลืมดูแลเรื่องมาตรฐาน เรื่อง professionalism ไป ความน่าเชื่อถือของสิ่งที่เราจะเรียกร้องมันก็หมดไป อันนี้รวมทั้งหลัก "ทุกประการ" ที่เป็นที่มาของ privilege ที่ว่าด้วย เพราะเมือ่ไหร่ก็ตามที่ที่มาของ privilege เหล่านั้นหย่อนไป หรือเลิกปฏิบัติไป เราก็จะถูกเรียกเอาฐานะพิเศษเหล่านี้คืน (ผมจะอ้างอิงเรื่อง professionalism แยกออกอีกบทความนึงในกระทู้นี้) ถึงตอนนั้นจะโวยวายอะไรก็คงจะยาก (เช่นเลิกเรียกผู้ป่วย ไปเรียกว่าลูกค้าแทน เลิกเรียกหมอพยาบาล ไปเรียกผู้ให้ (ขาย) บริการแทน เป็นต้น)

ปัญหาที่สาม: ฐานะทางวิชาชีพแพทย์ในสังคมตอนนี้เป็นอย่างไร
ตรงนี้ต้องมองในระดับ bird-eye view ไม่งั้นเรากำลัง "เดา" ครับ จาก personal experience ซึ่งไม่เหมือน ไม่เท่า และมีโอกาสแตกต่างกัน เป้นจุดเริ่มต้นในการเกิด bias ที่มีผลต่อการประเมินและวิเคราะห์อย่างแรง ว่ากันตั้งแต่ตกลงแพทย์ปัจจุบันมันเป็น commercial-oriented ไปเรียบร้อยแล้วหรือไม่ หรือสักกี่เปอร์เซนต์ อันนี้ต่างจากคำถามที่ว่า "ควร หรือ ไม่ควร" นะครับ แต่เป็น factual analysis ว่า "จริงๆ" แล้วขณะนี้สังคมที่เราอาศัยอยู่มันเป็นยังไง

ปัญหาที่สี่:ใครควรจะทำอะไรบ้าง/b>
"ใคร" นี่มีใครบ้าง ผมเสนอมีสามฝ่ายครับ (หรือประมาณสามฝ่ายครึ่ง) คือ ปัจเจกแพทย์ องค์กรแพทย์ และสื่อ (หรือสื่อบวกมวลชน ไม่แน่ใจว่ามวลชนแยกจากสื่อได้แค่ไหน เลยเรียกเป็นสามฝ่ายครึ่ง)

ผมขออนุญาตโยนประเด็นหลักนี้ลง และเดี๋ยวจะขอขยายความแค่สองอย่าง คือ professionalism และ ข้อสี่ที่ว่าใครควรจะทำอะไรได้บ้าง ที่เหลือให้พวกเราเสนอความเห็นเพิ่มเติมนะครับ




Posted by : Phoenix , Date : 2005-05-09 , Time : 00:47:36 , From IP : 203.156.119.53

ความคิดเห็นที่ : 2


   Part II Professionalism

reference: จาก slide บรรยายที่คณะฯเชิญ อาจารย์นายแพทย์ปรีดา ทัศนประดิษฐ์ มาพูดเมื่อ 29 มีนาคม 2548 นี้

Profession : Any state-supported organization
staffed by licensed experts with
esoteric knowledge, and to whom
the government has given the
privilege of autonomous, monopolistic
control over the delivery of services
that are essential for promoting
certain vital social values.

ขออนุญาตแปล
"วิชาชีพ" คือ องค์กรที่รัฐเป็นผู้ให้ "อุปถัมป์รับรอง" ที่ประกอบด้วยบุคลากรที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ใช้ความรู้ที่ตจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมเป็นพิเศษ กระทั่งรัฐได้มอบหมายอำนาจแห่งสิทธิเสรีภาพในการทำงานและบริหารองค์กรด้วยตนเอง โดยงานที่กระทำนั้นๆสังคมตระหนักถึงความจำเป็น และนัยสำคัญต่อคุณค่าของส่วนรวม

คำว่า "รัฐอุปถัมป์รับรอง" หมายความว่าอย่างไร?

State-support :
- legal protection
- financial support
- education
- services
- research
- prosecutor practices without license
- social privilege with condition (e.g. - acceptable quality of services)
- not for individual benefit
- extremely conscientious in carrying duties)


รัฐออกกฏหมายรับรององคกร แนวทางปฏิบัติ และปกป้องสิทธิเสรีภาพของวิชาชีพ ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ การฝึกอบรม การบริการ การวิจัย การให้สิทธิและกฏหมายควบคุมใบอนุญาตประกอบกิจการทำงาน ตอบแทนกับ ศักดิ์ฐานะพิเศษทางสังคม โดยแพทย์การันตีมาตรฐานคุณภาพของบริการที่สัญญาว่าจะทำ ไม่ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน และตระหนักถึงหรือมีมโนสำนึงในหน้าที่ ความรับผิดชอบอยู่ตลอดเวลา

ผลแปลเองโดนไม่ได้รับการยินยอมหรือ approved จากใคร ผิดพลาดตรงไหนผมรับผิดชอบครับ

อะไรคือ "ศักด์ฐานะพิเศษ" ที่ว่า? (social privilege)
นั่นคือสิทธิที่พวกเรา "ปกครองกันเอง" ตรวจสอบกันเอง มีสภา มีกฏเกณฑ์ ของวิชาชีพเรากันเอง เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมีเสรีภาพในการเลือกการรักษา (ตราบใดที่เสรีภาพนั้น serve the only purpose คือ "คุณภาพชีวิตประโยชน์ ของประชาชน") ทั้งนี้เพราะเวลาเรารักษาผป. แต่ละคน เขาก็มี autonomy ที่จะต้องการๆก้หลากหลาย หมอก็ต้องสามารถมีสิทธิพลิกแพลง ใช้ความรู้ความสามารถที่ดีที่สุดตามบริบทของตน ทำให้แก่ผป.เป็นรายๆไปให้ได้

ทีนี้ตราบใดที่เรายังทำ "ให้" สังคม รัฐ หรือสังคมก็ยังให้การอุปถัมป์เราอย่างที่เราสมควรจะได้ตรงนี้น่าจะตอบคำถามที่มีคนถามกันหลายต่อหลายครั้งว่า "แล้วหมอมีสิทธิแพทย์ เหมือนๆกับผป.มีสิทธิผป.หรือไม่" คำตอบคือ "มี" ครับ จริงๆแล้วที่เขาพูดถึงสิทธิผป.กันมากขึ้นนั่นเป็นเพราะ หมอเรา take over autonomy ผป."มากเกินไป" หรือกำลังจะมากเกินไปขึ้นเรื่อยๆต่างหาก มีการให้ ผป. เซ็น consent form โดยยังไม่ได้ inform ซักกะหน่อย (ชื่อเต็มของ form นี้คือ "informed consent" นะครับ แปลว่า ต้อง informed แล้วค่อย consent) ผป. บอกความลับอะไรต่อมิอะไรมากมาย หมอยังถามล้วงลึกมากกว่านั้นได้อีก นี่ก็เป็น privilege แลกกับการที่เราจะต้องใช้ข้อมูลดังกล่าวเกี่ยวกับ "ประโยชน์ของ ผป." เท่านั้น และต้องรักษา confidentiality เอาไว้เหนืออื่นใด (ยกเว้นผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง เช่น ภาวะโรคระบาด) สิทธิของหมอโดยอาชีพนั้นเยอะมาก แต่ต้องแลกกับ "หน้าที่ ความรับผิดชอบ" ของเราที่รัฐ และประชาชนได้ประโยชน์นะครับ ถ้าเมื่อไหร่หน้าที่ความรับผิดชอบของเราไป serve share-holders, stake-holders (literally) หรือผลประโยชน์ส่วนบุคคล ด้านอื่นๆ privilege และ protection, legal protection, supportive system ที่ว่าก็ไม่ applied อีกต่อไป




Posted by : Phoenix , Date : 2005-05-09 , Time : 01:16:12 , From IP : 203.156.119.53

ความคิดเห็นที่ : 3


   Part III

ส่วนนี้จะค่อนข้าง controversy นะครับ

คำ "ยุติธรรม" นี้ยากครับ ยากจริงๆ เพราะมันมี perception เข้าเกี่ยวข้องได้เยอะ เรื่องมันง่ายถ้าถามถึง equality มีเค้กสองชิ้นแบ่งให้คนสองคน ก็เอาไปคนละชิ้น ยุติธรรมดี แต่ถ้าพูดถึง equity (ความเหมาะสม) ถ้าคนนึงเป็นเด็กอายุ 12 ปี อีกคนเป็นเด็กสามขวบ แบ่งครึ่งๆก็ดูจะไม่ตรงไปตรงมาซะแล้ว หรืออย่างภาษีให้ทักษิรจ่ายภาษีเท่าผมก้คงจะดูทะแม่งๆ คนที่ "ได้" จากสังคมเยอะ ก็ต้องจ่ายกลับสู่สังคมเยอะ ตรงนี้แหละที่เป็นจุดอ่อนของสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่พยายาม pool ทุกอย่างเข้ากลางแล้วหาร มันก็ทำไม่ได้แล้วก็เละในที่สุด

หมอถูกถุยน้ำลายใส่หน้าโดยคนไข้ แล้วหมอตีกลับ ถูกฟ้อง ยุติธรรมดีแล้วหรือ? ถามกลับกัน "หมอสามารถตีผป.ที่ถุยน้ำลายใส่หน้า แล้วมี immunity ไม่มีใครฟ้องได้ นั่นเป็น "ความยุติธรรม" หรือไม่?" ที่จริงคำว่า "ถูกฟ้อง" ไม่ได้แปลว่าถูกตัดสิน เป็นการที่ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม เกินเลยไป ก็เลบยขอพึ่งอำนาจศาลสถิตย์ยุติธรรมมาช่วยตัดสินครับ ผมว่าก็ยุติธรรมดี ไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก ก็ว่ากันไปตาม "บริบท" ตามข้อเท็จจริง

ปัญหามันอยู่ที่ว่าขณะที่เกิดเรื่อง "ใครมี handicap ในการตัดสินใจ หรือใครอยู่ในฐานะ vulnerable บอบบาง อ่อนแอ และอาจจะมีข้อบกพร่องในการตัดสินใจเหตุการณ์เฉพาะหน้า หมอ? หรือ คนที่กำลังป่วย?" ตรงนี้แหละครับที่เราจะถูกตุ๊ยหนัก

อย่างที่ผมเรียนให้ทราบ มีสาม parties หรือ สาม parties ครึ่งในเรื่องนี้ ปัจเจกแพทย์ องค์กรแพทย์ และสื่อมวลชน เรากำลังต้องการวิธีแก้ปัญหาที่ effective and practical and possible นะครับ ในบรรดาสามกลุ่มที่ว่า อะไรที่เรา "ทำได้เลย" และ "ง่ายที่สุด" ล่ะครับ? ถ้าเราได้ฟังบรรยายจาก อ.แสวง บุญเฉลิมโอภาส หรือ อ.เอนก ยมจินดา เรื่องกฏหมายที่เกี่ยวกับวงวิชาชีพแพทย์ รวบรวมเอาอุบัติการณ์การฟ้องร้องเป็นคดี ที่ถูกตัดสิน ที่ค้างโรงศาลมาศึกษา ปัญหามันมีรากลึกมาจาก autonomy ของ ผป. นั้นถุกล่วงละเมิด (หรือเขารู้สึกว่าถูกละเมิด) มันก็ต้องฟ้องกัน เมื่อไหร่ที่ autonomy ของ ผป. ถูกละเมิด ที่พบบ่อยที่สุดในการฟ้องร้องในประเทสไทยคือเรื่อง "มาตรฐานการดูแลรักษา" หย่อนไป พูดอีกอย่างก็คือ expectation of standard of treatment is beyond what has happened ความคาดหวังของผู้ป่วย นี่แหละครับตัวดี และ ผป. (หรือญาติ) จะมีความคาดหวัง (ผิดๆ) จากอะไรได้บ้าง? หมอไม่บอก หมอไม่อธิบาย อธิบายแล้วไม่รับฟัง หมอเข้าใจว่าเข้าใจแล้วแต่ยังไม่เข้าใจ หมอลืม หรือไม่ได้ตรวจสอบถามว่า ผป. มีความคาดหวังไว้แค่ไหน เราสัญญาไว้มากน้อยแค่ไหน เรา "เผื่อ" ความผิดหวังไว้กับ ผป. บ้างหรือไม่ตอนให้ข้อมูล ตรงนี้ผมว่าเป็นสิ่งที่ถ้าแก้หรือป้องกันแล้ว คดีที่มีอยู่มากมายในแพทยสภา ณ ขณะนี้จะลดฮวบลงเลยทีเดียว

ทีนี้คนรับฟังสื่อแล้วฐานะของวิชาชีพเราเป็นยังไง ตรงนี้ผมไม่แนะนำเลยว่าเป็นหน้าที่ของปัจเจกแพทย์ที่จะต้องสู้อย่างโดดเดี่ยว องค์กรแพทย์ โรงพยาบาลครับที่ต้องเป็นเจ้าภาพ แต่สู้ในฐานะของแพทย์ที่เป็น profession นะครับ ไม่ใช่เพื่อปกป้องแบบ absolute no matter what ตราบใดที่เราถือไพ่ high moral ground card ไว้ได้ integrity เรายังดี ยัง intact และแม้แต่ state ก็ยัง "อุปถัมป์รับรอง" เราอยู่ครับ ยังปกป้องอยู่ แต่ถ้าเราเล่นเกมคนเดียว กระโดดออกไปเป็นปัจเจกบุคคลฟ้องกลับ หรือเปิดโปงข้อมูลความลับ หรือเริ่มสาดโคลน ชุดขาเพื่อน หาคนลงหลุมด้วยกัน ตอนนั้นเรากลายเป็นสามัญชนที่กำงอยู่ในวังวนกฏหมายเท่านั้น privilege protection ต่างๆมันสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว

คำถามว่าแล้วองค์กรแพทย์ หรือพวกแพทย์ควรจะลุกมาทำอะไรบ้างหรือไม่? ผมว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการแสดงให้คนรู้ว่า principle of professionalism ที่ทำไมวิชาชีพที่ควรได้รับการเคารพ ได้ privilege ได้การปกป้องจากแร้ง หนอน ที่คอยจิกกินมูตคูถ นั้นยังอยู่ใน safe hands

โชดร้ายที่ผมว่ามันยากขึ้นเรื่อยๆที่เราจะหยิบไพ่ moral ใบนี้มาใช้ต่อไป ตั้งแต่ รพ. เข้าตลาดหุ้น ยุคที่เราบอกว่าทุกอย่างเพื่อ ผป. เป็นหลักนั้น เขากำลังไปถาม executive board แทนครับ ไม่ได้ถาม ผอ.รพ. หรือถามหมอ ข้อมูลที่เขาเห็นอาจจะเป็นแผ่นกำไรขาดทุน แทนที่จะเป็นรายงานสิ่งที่ชุมชนได้รับบริการจากรพ. และเมื่อไหร่ก็ตามที่เรา ไม่สามารถใช้ไพ่ high-moral-ground-card นี้ได้ นั่นก็ถึงยุคที่เราเกิดวิกฤติศรัทธาอย่างแท้จริง เกิดภาวะ morally corrupted อย่างแท้จริง แต่ผมว่าเรายังห่างจากจุดนั้นพอสมควรครับ



Posted by : Phoenix , Date : 2005-05-09 , Time : 01:47:05 , From IP : 203.156.119.53

ความคิดเห็นที่ : 4


   สุดยอดจริงๆครับอาจารย์ ได้ความรู้มากครับ

Posted by : Tamujin , Date : 2005-05-09 , Time : 02:26:50 , From IP : 172.29.4.132

ความคิดเห็นที่ : 5


   ผมอยากเรียนถามความเห็นของคุณ iris ในเรื่องนี้บ้างครับ ไหนๆเริ่มกระทู้แสดงว่าน่าจะมีอะไรอยู่พอสมควร เชิญครับ



Posted by : Phoenix , Date : 2005-05-09 , Time : 20:35:59 , From IP : 172.29.7.143

ความคิดเห็นที่ : 6


   ขอบคุณมากครับสำหรับกระทู้ข้างบน เรื่องหลักวิชาการผมคงจะไม่ค่อยสันทัดเท่าไรนัก แต่ผมคิดอย่างปัจเจกชนคนธรรมดาแล้วรู้สึกตะหงิดๆในหลายๆประเด็น เช่น
1. เราไม่เคยบอกคนไข้ว่า การรักษาทุกอย่างไม่ได้มีแต่ข้อดี (อาจเป็นเพราะไม่มีเวลา เพราะคนไข้เยอะมาก หรือขี้เกียจ เพราะพูดไปก็ไม่เข้าใจ รังแต่จะทำให้เป็นกังวลเปล่าๆ เช่น เราไม่ได้บอกคนไข้ของเราทุกคนว่า กินparacetamol หรือibuprofen แล้วมีโอกาสเกิด Steven Johnson syndrome
2. คนไข้ไม่เข้าใจว่า supportive Rx คือ การรักษาอย่างนึง อาจเป็นเพราะความคาดหวังของคนไข้ที่อยากให้เราทำหลายๆย่างให้ เช่น X-rays ซึ่งถึงแม้หลายๆครั้งเค้าจะได้รับการอธิบายอย่างดีแล้วก็ตาม และหลายต่อหลายครั้งก็เป็นเพราะพวกเราด้วยกันเองนี่แหละที่ทำให้คนไข้สับสน เพราะพอคนไข้ shopping around ก็อาจเจอหมอที่ X-rays ให้เค้าเพื่อตัดความรำคาญ คนไข้จะ appreciated กับหมอคนที่สองมากกว่ามากๆ ถึงแม้ว่า ผล x-raysจะ -ve ก็ตาม
3. คนไข้ไม่เข้าใจว่า early Dx มันยาก ทุกโรคมีอาการแสดงคล้ายๆ หรือเหมือนกันมาก บางโรคอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นอะไรด้วยวิทยาการในปัจจุบัน พอไปที่นึงหมอแต่ละคนอาจจะคิดถึงโรคไม่เหมือนกัน tryรักษาไปคนละทาง แล้วกะจะนัด F/Uดู เลยยิ่งทำให้สับสนไปกันใหญ่ ทีนี้เลยไม่เชื่อใครสักคน หมอคนไหนพูดไม่เก่งอาจถูกหาว่าโกหกหรือมั่วก็ได้
4. ความคาดหวังของคนไข้ที่มักจะสูงมากๆเสมอ ถึงแม้ว่าจะได้รับการอธิบายอย่างดีแล้วก็ตาม พอผลการรักษาไม่เป็นอย่างที่หวังก็เป็นเรื่องขึ้นมา
5. ไม่มีใครเข้าใจว่า "ไม่มีอะไร100% ในmedicine" เช่น คนไข้ trauma Fx long bone รักษาแล้วดูดีขึ้นมาก กำลังจะให้กลับบ้าน แต่แล้วเกิด PE ขึ้นมา แล้ว sudden death
*** คงจะเป็นส่วนน้อย ที่พอจะคิดออกตอนนี้ ผมว่าความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน บางคนอาจมองว่าแก้ง่าย ก็แค่ให้เวลากับคนไข้เยอะหน่อย คุยกับเค้า อธิบายเค้าให้ละเอียด คงช่วยได้ แต่โดยส่วนตัว ผมว่าเป็นอะไรที่แก้ยากมากๆ เพราะผมเคยเห็นคนที่ทำทุกอย่างแบบที่บอกแล้วก็ยังมีปัญหา และในสถานะการณ์ปัจจุบัน จะมีหมอสักกี่คนที่ทำได้ เพราะบางเรื่องเราเองก็ไม่คาดคิดเลยด้วยซ้ำ
*** ผมไม่ได้เป็นอาจารย์เลยไม่รู้ว่า มีมาตราการอะไรบ้างเพื่อจะแก้ไขเรื่องเหล่านี้ ผมไม่เห็นว่า แพทยสภาที่พวกเราเลือกเข้าไปจะทำอะไรได้มากกว่า มาออกรายการทีวี ตอบคำถาม แล้วสัญญาว่าจะไปเอาผิดแพทย์ให้เลย


Posted by : iris , Date : 2005-05-09 , Time : 22:45:00 , From IP : 172.29.7.231

ความคิดเห็นที่ : 7


   ขอบคุณครับ ผมคิดว่าเราน่าจะมาคุยกันต่อในประเด็นที่เพิ่มเติมมาได้พอสมควรครับ

มีสองสามช่วงในประเด็นที่คุณ Iris นำเสนอมาในครั้งหลังที่ผมยังไม่แน่ใจว่าเข้าใจดีพอ อยากจะรบกวนใหเช่วยขยายความสักนิดหน่อยถ้าไม่มากเกินไปนะครับ

เราไม่เคยบอกคนไข้ว่า
คนไข้ไม่เข้าใจว่า supportive Rx คือ การรักษาอย่างนึง
คนไข้ไม่เข้าใจว่า early Dx มันยาก
ทีนี้เลยไม่เชื่อใครสักคน
ความคาดหวังของคนไข้ที่มักจะสูงมากๆเสมอ
ไม่มีใครเข้าใจว่า "ไม่มีอะไร100% ในmedicine"


ไม่แน่ใจว่าคุณ Iris ยกตัวอย่างมาเป็น profile ของกลุ่มไหนครับ? คนไข้ที่เคยเจอ? ส่วนใหญ่? ส่วนน้อย? exceptional cases?

ประเด็นที่น่าสนใจใน "สาเหตุ" แห่งปัญหาที่ยกมาเป็นตัวอย่างคือ "คนไข้ไม่เข้าใจ" ดูเป็นปัจจัยร่วมหลัก ที่จริงๆแล้วคุณ Iris เองเสนอวิธีการแก้ไขมาเรียบร้อยแล้ว "ผมว่าความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน บางคนอาจมองว่าแก้ง่าย ก็แค่ให้เวลากับคนไข้เยอะหน่อย คุยกับเค้า อธิบายเค้าให้ละเอียด คงช่วยได้ แต่โดยส่วนตัว ผมว่าเป็นอะไรที่แก้ยากมากๆ เพราะผมเคยเห็นคนที่ทำทุกอย่างแบบที่บอกแล้วก็ยังมีปัญหา และในสถานะการณ์ปัจจุบัน จะมีหมอสักกี่คนที่ทำได้ เพราะบางเรื่องเราเองก็ไม่คาดคิดเลยด้วยซ้ำ" เพียงแต่ว่าบทสรุปของวิธีแก้ปัญหาตรงนี้ ดูมันจะตันไปซะแล้ว..... จริงหรือไม่ที่มันตัน?

ถ้าจาก "รากปัญหา" คือความไม่เข้าใจของผู้ป่วย ผมคิดว่าวิธีการแก้โดยการเพิ่ม doctor right หรือ "สิทธิแพทย์" มันคงจะไม่ได้ address ปัญหาสักเท่าไหร่กระมังครับ อาจจะดูเป็นการแก้ที่ปลายเหตุคือ คนไข้ยังไม่เข้าใจ ก็จงไม่เข้าใจต่อไป แต่ห้ามฟ้องหมอก็แล้วกัน ฝ่ายที่ happy อาจจะมีฝ่ายเดียวก็คือเรา มองมุมกลับกัน คนไข้ที่ "มีทุกข์" จริงๆเพราะความไม่เข้าใจ ไม่ว่าเกิด Steven -Johnson ได้หรือไม่ได้ X-ray อย่างที่คาดหวัง หมอพูดไม่เก่ง คิดว่าหมอโกหก หรือมั่ว หรือ sudden death จาก Pulmonary emobolism พวกเราคิดว่าคนไข้ที่มีปัญหาไม่เข้าใจเรื่องต่างๆเหล่านี้มีทุกข์อย่างสมเหตุสมผลหรือไม่? พูดง่ายๆถ้าเป็นเรา หรือเป็นญาติเรา มีความไม่เข้าใจหรือเกิดปัญหาต่างๆอย่างในตัวอย่างที่ยกมา ปฏกิริยาโดยธรรมชาติแล้วจะเกิดความทุกข์หรือไม่? นี่เป็นประการที่หนึ่ง

ประการที่สอง ถึงแม้ว่า "มันยาก" อย่างที่บอก แต่มัน "จำเป็น" ไหมล่ะครับ? ถ้าสาเหตุส่วนใหญ่ที่หมอถูกฟ้องร้อง ลงข่าวหนังสือพิมพ์ มีสาเหตุหลักที่ "คนไข้ไม่เข้าใจ" จริงๆ ผมว่านี่คงต้องจัดเป็น priority ต้นๆของวงการวิชาชีพเราที่ต้องแก้ไขเรื่องนี้ก่อน ก่อนที่จะเริ่มต้นด้วยการปกป้องตนเองจากการฟ้องร้องโดยคนไข่และญาติที่ถูก left in the dark เพราะการเรียกร้องของเราจะยากครับที่จะ gain public support ยากที่จะ gain state support ตราบใดที่คนที่ฟ้องร้องเราคือ victims ของ ความไม่เข้าใจ การคาดหวังที่ไม่ตรง

ผมเห็นด้วยที่ว่ามีโอกาสครับที่เราป้องกันทุกอย่างปัญหาก็ยังเกิด เพราะไม่มีอะไรที่มัน "ทุกอย่าง" ได้จริงๆนั่นเอง แต่นั่นน่าจะเป็นส่วนน้อยหรือส่วนใหญ่ที่เหบืออยู่? หลังจากที่เรา "ทำทุกอย่าง" ล่ะครับ? ลดลงไปสัก 50-60 หรือ 70% คุ้มหรือไม่?

สุดท้าย ประโยคที่ว่า หมอคนไหนพูดไม่เก่งอาจถูกหาว่าโกหกหรือมั่วก็ได้ ผมบังเกิดความไม่สบายใจขึ้นมานิดหน่อยครับ เพราะมีสองความหมายที่แฝงเร้นอยู่
๑) หมอต้องพูดเก่ง ไม่งั้นจะเป็นหมอที่ถูกมองว่าโกหก หรือมั่ว
๒) ถ้าหมอพูดเก่ง คนไข้ก็จะเชื่อและไม่คิดว่ามั่ว ทั้งๆที่อาจจะกำลังโกหก หรือมั่วจริงๆ

เราคงต้องหาทางที่ว่าขอให้หมอจริงใจ สามารถพูดคุยอธิบายคนไข้ได้ตรงไปตรงมา สามารถพูดเปิดอกว่าเรา "รู้ หรือ ไม่รู้" อะไรโดยไม่เสีย self น่าจะดีกว่าที่จะพึ่งความพูดเก่งเป็นยันต์ป้องกันตัว เพราะที่สุดแล้ว ยันต์ป้องกันตัวของเรามีสองประการเท่านั้นครับที่เชื่อถือได้มากที่สุด ๑) เจตนาอันดีตามหลักวิชาชีพแพทย์ และ ๒) clinical competency ที่เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องพัฒนา ทั้งสองอย่างขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ หมอขยันเจตนาดีแต่ไม่ competent ยิ่งอันตราย (มีคนใช้คำ "ขยันแต่โง่ จะทำความเสียหายมากกว่า ฉลาดแต่ขี้เกียจ") ถึงตอนนั้น ผมว่าถ้าเราจะเรียกร้อง "สิทธิของแพทย์" เราต้องพูดได้เต็มปากเต็มคำ และเอาสองอย่างนี้แหละครับเป็นกองหน้า เราไม่ควรใช้ emotional mode แบบเดียวกับสื่อในปัจจุบัน เพราะเทียบฝั่งกันแล้ว emotional ของคนไข้ กับของหมอ เราแพ้ตั้งแต่ในมุ้งแล้วครับ แถมจะบอบช้ำกลับมาถ้าเราเอาประเด็นนี้เป็นหลัก



Posted by : Phoenix , Date : 2005-05-10 , Time : 00:03:43 , From IP : 172.29.7.44

ความคิดเห็นที่ : 8


   เฮ้อ ! เป็นหมอเนี่ยเศร้าจังนะครับ ทั้งหมดที่คุยกันไป ผมทราบอยู่แล้วครับว่า เราควรแก้ตรงไหน แก้แล้วได้แค่ไหน แต่มันคงเป็นความคับข้องและน้อยเนื้อต่ำใจของหมอคนนึง มั้งครับ ที่สถานะปัจจุบันของพวกเรา มันไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ทั้งที่เราก็พยายามและทุ่มเทมาก ขอบคุณมากครับ อ.นกไฟ เราก็คงเป็นเรา ต้องต่อสู้กันต่อไป คงได้แต่หวังว่าหมอคนต่อไปต้องที่ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิพม์คงไม่ใช่เรา

Posted by : iris , Date : 2005-05-10 , Time : 19:03:19 , From IP : 172.29.7.154

ความคิดเห็นที่ : 9


   ในความเห็นส่วนตัวของผม คิดว่าเมื่อเปรียบระหว่างความรู้สึก "เศร้า น้อยเนื้อต่ำใจ" กับความรู้สึกที่ดีอื่นๆ ผมยังหวังว่าหมอส่วนใหญ่ยังมีกำลังใจที่จะทำอาชีพนี้ต่อไปอย่างภาคภูมิใจ อย่างมีศักดิ์ศรี รวมทั้งคุณ Iris ด้วยนะครับ จำนวนหมอที่มีเรื่องขึ้นหน้าหนังสือพิมพ์บวกกับที่อยู่ใน case รอพิจารณาของแพทย์สภาก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณแพทย์ทั้งหมด

บางทีขอบเขตที่ว่าเราจะช่วยกันแก้ไขได้แค่ไหนมันอาจจะสามารถดันไปได้ไกลกว่าที่พวกเราคิดอยู่ก็เป็นได้ ฉะนั้นความหวังยังมีอยู่ จะหาอาชีพไหนที่น่าจะมีโอกาสได้กำลังใจ มี conviction ในการทำงาน และได้บุญจากเนื้องานประจำอย่างอาชีพเราก็ไม่ใคร่มี คงจะเป็นที่น่าเสียดายที่ mood ส่วนใหญ่ของเราตกอยู่ในอารมณืเศร้าซึม แทนที่จะอิ่มเอิบ นอนหลับฝันดี

โชคดีครับสำหรับพวกเราทุกคน



Posted by : Phoenix , Date : 2005-05-10 , Time : 20:19:40 , From IP : 172.29.7.210

ความคิดเห็นที่ : 10


    ผมคิดว่าคนที่จะเรียนหมอได้ดีและมีความสุขใจ สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องมีคือ พรหมวิหาร4 พื้นฐานด้านจิตใจต้องมีเมตตามาก่อนเลยครับ
หากมาเรีีียนหมอเพราะอย่างอื่น เช่น เรียนเพราะอยากให้พ่อแม่ดีใจ เรียนตามเืืพื่อน(กระแส) ครูแนะแนวในโรงเรียนกระตุ้นให้เลือกเพราะจะไ้ด้สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน เรียนเพราะมีหน้าตาในสังคม เรียนเพราะรายได้ดี เรียนเพราะเราเรียนเก่งและไม่รู้ว่าตนเองถนัดอะไรกันแน่ ซึ่งอย่างหลังนี่ผมว่าเป็นกันเยอะ เพราะกว่าจะรู้ว่าตัวเองรัก-ชอบทำงานด้านไหน มันมักจะล่วงเลยจนยากที่จะเปลี่ยนสายงาน เหมือนกับผม
ผมเข้าใจเอาเองว่า หมอที่สลด-เสร้า น้อยเนื่อต่ำใจ คงเป็นประเภทมีอารมณ์ศิลปินค่อนข้างมาก คือจะค่อนข้างอ่อนไหวง่าย ความมั่นคงทางอารมณ์อาจจะมีน้อยกว่าคนอื่น ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวบุคคลที่ยากจะแก้เหมือนกัน


Posted by : แจมด้วยคน , Date : 2005-05-12 , Time : 22:50:16 , From IP : 172.29.7.151

ความคิดเห็นที่ : 11


    ตายละหว่า ขอโทษด้วยครับ ลืมชื่อกระทู้ไปว่าเขาถามอ.นกไฟ


Posted by : แจมด้วยคน , Date : 2005-05-12 , Time : 23:27:25 , From IP : 172.29.7.151

ความคิดเห็นที่ : 12


   คงไม่เป็นไรครับ ที่นี่เป็น public board และความเห็นที่หลากหลายยิ่ง healthy

ในบริบทสถานการณ์ปัจจุบัน เท่าที่ผมเคยได้เสวนากับอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านนึงที่ได้กรุณายกตัวอย่างคดีต่างๆที่อยู่ในคั่งค้างของแพทยสภารอตัดสินอยู่ ผมคิดว่าก็ค่อนข้างจะ legitimate ที่แพทย์สามารถจะมีอาการเศร้าซึมได้โดยไม่ต้องเป็นศิลปิน และผมคิดว่าก่อนที่เราจะสรุปว่าใครมีหรือไม่มีความมั่นคงทางอารมณืนั้น อาจจะต้องพิจารณาถึง stress ที่แต่ละคนกำลัง cope อยู่รวมไปถึงผลแห่งการ cope นั้นเป็นเช่นไรด้วย น่าจะออกมาได้ accurate ขึ้น

เหมือนๆกับปัญหาทุกชนิด การ "ตระหนัก" ถึงมันก่อน หรือภาวะคุกคาม หรือความเสี่ยง มีประโยชน์ครับ อย่างน้อยก็เราจะได้มีสติถ้ามันเกิดขึ้นกับเราหรือคนที่เรารู้จัก ผมรู้จักอาจารย์ท่านนึงที่อุทิศตนทำงาน แต่รสชาติการถูกฟ้องโดย "ค่านิยม" นั้นยังทิ้งรสฝาดในปากอย่างเห็นเป็นหลักฐานได้ชัดทุกครั้งที่คุยกัน

เราอยู่ในยุคที่อาจจะไม่ใช่ในอุดมคติมากนักแล้ว ยังไงๆเราก็ยังต้องครองสติและสามารถทำงานอย่างมีความสุขให้ได้ แต่เท้าข้างนึงก็ยังต้องติดดิน หูฟังเสียงรอบข้าง อ่านหนังสือพิมพ์ขยะๆบ้าง



Posted by : Phoenix , Date : 2005-05-13 , Time : 00:59:25 , From IP : 172.29.7.78

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.008 seconds. <<<<<