ความคิดเห็นทั้งหมด : 3

Debate LXXXIV: Profession (วิชาชีพ)


   เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสไปฝึกอบรมพัฒนาจริยธรรม (คนกระโหลกหนา ต้องเรียนซ้ำๆหลายครั้งหน่อย) ที่ราชวิทยาลัยฯ ได้ฟังเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับคำปฏิภาณนี่แหละครับ ขอเอามา share ให้ฟัง

วิทยากรท่านบอกว่าวิชาชีพ (profession) กับอาชีพ (occupation) นี่ต่างกัน ต่างตรงวิชาชีพนั้นจำต้องมี "จรรยาบรรณวิชาชีพ" และตอนที่คนจะเข้ามาประกอบ ต้องมีปฏิภาณ (Oath; เช่น Hippocrates Oath) ไม่ว่าจะเป็นอาชีพหรือวิชาชีพอยู่ภายใต้กฏหมายประเทศ บ่งบอกว่าจะทำเรื่องนี้ มีระเบีนบยังงี้ๆ อย่างไรก็ตามวิชาชีพต้องมี "ความเป็นอิสระแห่งวิชาชีพ" เพื่อที่คนประกอบการณ์สามารถหันไปพึ่ง "จรรยาบรรณ จริยธรรม" เป็นตัวชี้นำ

วิชาชีพก็เช่น แพทย์ นักกฏหมาย ครู เป็นต้น (จริงๆนักบวชก็มี Protocol คล้ายๆกัน แต่เนื่องจากความเหมาะสม คงไม่จัด) สองอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลกว่ามาตั้งแต่สมัยศิวิไลซ์กรีก โรมัน ก็คือ หมอ กับ นักกฏหมายนี่แหละ ทุกข์กายก็หาหมอ ทุกข์ใจได้รับความไม่ยุติธรรมก็หาหมอความ กลุ่มวิชาชีพจะเรียกค่าตอบแทนว่า "ค่าธรรมเนียม (fee)" ขณะที่กลุ่มอาชีพเรียกค่าตอบแทนเป็น "ค่าจ้าง (wage)"

สำคัญหรือไม่อย่างไร?

มันคงแล้วแต่ "คุณค่า" ของสิ่งที่เคยเป็นความแตกต่างข้างต้นแหละครับ ว่ามันยังคงอยู่หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเอาอาชีพนักกฏหมายหรือการแพทย์ไปเข้ารวมอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ อันนี้สงสัยว่าจะเริ่ม blur เพราะอะไร? เพราะเราจะไปเล่นตามเกม ตามกฏของตลาดหลักทรัพย์ ของอีกกลุ่มอาชีพ คือ Trading ซึ่งเป้าหมายหลักคือ ทำกำไร ประโยชน์หลักตกอยู่ที่ share-holders ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป (ถึงแม้โฆษณาจะว่ายังงั้นก็ตาม แต่ประเด็นนี้จะอยู่ตอน marketing ไม่ใช่ตอนวางแผนบริหารหลักแน่ๆ) หลักจริยธรรมเบื้องต้น คือ autonomy, non-maleficence, beneficence, และ justice นั้น ไม่ได้อยู่ในปฏิภาณของ executives ของบริษัท บรรษัท การค้าขาย เหล่านี้แม้กระผีก ถ้าลองได้เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะล่อเสือสิงห์กระทิงแรดจากต่างประเทศ ทีนี้ถ้าเราเอากลุ่มวิชาชีพมาปนเปื้อน ก็ลองจินตนาการ LOTUS, Carrfour ในรูปของโรงพยาบาล คลินิกกฏหมาย ที่ run โดยนักลงทุนข้ามชาติดู

รัฐบาลที่ไม่ได้ใช้ธรรมาภิบาลนำจะฉลาดในการที่ "นำเสนอ" ให้เราเปลี่ยนแปลงวิชาชีพไปให้คล้ายคลึงกับอาชีพให้มากที่สุด เพราะ "ควบคุมง่าย" ครับ ใช้กฏกำไรขาดทุนเป็น Virtue เป็นคุณค่าองค์กร เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่กลุ่มวิชาชีพยังยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม เป็นสรณะได้อยู่ การบริหารก็จะไปติดแหงกอยู่ที่ อ้าว นี่ไม่ได้นะ นี่เป็นการ abuse resource allocation ตามจริยศาสตร์ นี่ไม่ได้นะ นี่เป็นการ abuse autonomy ของคนไข้ คุณจะโยนคนไข้ออกไปข้างนอกเพราะเขาไม่มีเงิน น่ะผิดจรรยาบรรณ ผิดวิชาชีพ ดังนั้น อิสระแห่งวิชาชีพ นั้นคือ จิตวิญญาณ แห่งวิชาชีพ ตราบใดที่เรายังยืนยันในความเป็นอิสระตรงนี้ ใครจะมาสั่งชี้ว่าเราต้องจัดสรรยังงี้ ยังงั้นเพราะ share-holders หรือ ultimate benefit ของการบริหารว่ายังงั้นๆไม่ได้ สมาชิกองค์กรสามารถที่จะ exert autonomy และดำเนินการทำงานตามที่ตนพิจารณาสมควรตามหลักอิสระแห่งวิชาชีพ ก็คือการ consult Ethics ว่า เราทำอย่างนี้นั้นละเมิด autonomy, non-maleficence, beneficence, และ justice หรือไม่

มันมี clause หรือกฏหมายมาตราหนึ่งใน พรบ.สุขภาพแห่งชาติ (อย่าไปสับสนกับ พรบ.หลักประกันสุขภาพ หรือ 30 บาท นะครับ) ซึ่งร่างมาตั้งแต่ 2543 กำหนดว่าจะออกใช้ 2546 แต่เผอิญเปลี่ยนการบริหารซะก่อน ทำให้คลอดไม่ได้ซะที เพราะ พรบฬนี้ ร่างและเขียนโดยทีมที่ยึดหลัก "จรรยาบรรณ" อย่างยิ่ง ทั้งทางแพทย์ และทางกฏหมาย มาตราที่ว่านี้กำหนดไว้ชัดเจนว่าสถานบริการสาธารณสุข ต้องไมประกอบการโดยยึดหลักหากำไรเชิงธุรกิจ (ผมก็เพิ่มทราบว่ามี แต่ท่านวิทยากรท่านเป็นหนึ่งในคนช่วยร่างด้วย ก็น่าเชื่อถือท่านแหละครับ) เพราะเกรงว่ากระแส capitalism มันจะมาบุกรุกวิชาชีพนี่แหละครับ และอาจจะเป็นสาเหตุหลักที่ พรบ.นี้ไม่คลอดซะที เพราะคนในรัฐบาลซื้อโรงพยาบาลไว้คนละโรงสองโรง เตรียมตัวจะเชื้อเชิญการลงทุนแพทย์พาณิชย์อย่างเต็มที่

ตรงนี้สงสัยว่าเปนแค่ vision (หรือ nightmare?) หรือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ? วิชาชีพของเราที่มั่นคงอยู่ได้ มีเกี่ยรติมีศักดิ์ศรีอยู่ในขณะนี้ ก็เพราะเรายังทำตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชบิดาอยู่ คือ "ผลประโยชน์ของคนไข้เป็นอันดับหนึ่ง" ตราบใดที่เราทำอย่างนี้ ประชาชนจะยังอยู่ข้างพวกเรา สิ่งที่จะ bankrupt ได้ก็เป็นแค่สิ่งที่เป็นรูปธรรมทั้งหลายแหล่ ค่าตึก ค่าห้อง ฯลฯ แต่จรรยาบรรณยัง intact อยู่ ก็ยังมีทางฟื้นครับ แต่ถ้าเราเป็น business เต็มตัวเมื่อไหร่ bankrupt ก็คือหมดกัน เกลี้ยงเกลา เวลาหาคนช่วยจะไปกู้ก็ต้องใช้ของรูปธรรมมาค้ำประกัน หมดยุคที่ใช้ศักดิ์ศรีของวิชาชีพมาค้ำประกันอีกต่อไป

ความจริงเขียนตอบกระทู้รับเสื้อกาวน์ของน้องปีสาม ไปๆมาๆยาวเกินเลยขออนญาตมารำพันรำพึงตรงนี้ เชิญกัลยาณมิตรร่วม "วิชาชีพ" แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้เลยครับ



Posted by : Phoenix , Date : 2005-02-21 , Time : 03:48:09 , From IP : 172.29.7.156

ความคิดเห็นที่ : 1


   ผมให้ข้อมูลตกไปนิดนึง

พรบ.สุขภาพนั้นมีวัตถุประสงค์จะให้เป็น "แผนแม่บท" ดังนั้นจะเต็มไปด้วยหลักการและเหตุผลที่จะเป็นรากแก้วของกฏหมาบลูก ที่จะแตกแขนงออกไป concept สั้นนิดเดียวครับคือ สร้างนำซ่อม ไอ้ที่ว่า health promotion หรือ สาธารณสุขเชิงรุก นี่ก็เป็นส่วนหนึ่ง (ที่ก่อนจะเริ่มใช้ เริ่มวัด น่าจะมีการกลับไปอ่านดูว่าที่มา และหลักปรัชญามันคืออะไรก้นแน่)

ใน พรบ.นี้มีบทแนะนำว่าควรจะต้อวมีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งต้องประกอบด้วยหลายหน่วยงาน ว่าไปตั้งแต่ กระทรวงวัฒนธรรม (ซึ่งน่าจะทำงานเกี่ยวกับ การทำให้เด็กศึกษาธรรมะ ออกกำลัง ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร ไม่ใช่เน้น ขายผ้านุ่ง ผ้าถุง ขณะเดียวกันบริษัทนายกฯมอมเมาการใช้ SMS ฟังผลบอล) ตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพ (หมอ เภสัช ทันตะ พยาบาล) นักกฏหมาย และภาคประชาชน ที่เป็น Independent มาร่วมกันใช้ "ฐานข้อมูลสุขภาพ" (ซึ่งเละตุ้มเป๊ะ ใครได้ลอง analyse ข้อมูล 1 ปีของกระทรวงสาธารณสุข ที่มี 4,600,000+ records ใน 1 file จะได้รสชาติว่าการอยากดึงผมตัวเองเป็นยังไง)

และกฏหมายมาตรา 71: "การบริการสาธารณสุขให้เป็นไปตามมาตรา 7..... และไม่เป็นไปเพื่อแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ"



Posted by : Phoenix , Date : 2005-02-21 , Time : 04:11:42 , From IP : 172.29.7.156

ความคิดเห็นที่ : 2


   ได้ข่าว(ลือ)ว่าเหตุที่ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ยังดองอยู่ในสภาฯ ก็เป็นเพราะกลุ่มทุนที่มีนักการเมืองใหญ่หนุนหลังพยายามให้เป็น เนื่องจากจะทำให้โรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ อันนี้ไม่รู้ว่าจะเป็นจริงแต่ประการใดครับ

ในความคิดผมรู้สึกไม่ค่อยอยากแยกความแตกต่างระหว่างอาชีพ เพราะแต่ละอาชีพก็มีความสำคัญพอๆกันและคงต้องมีจรรยาบรรณสำหรับอาชีพของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น คนที่เรียนบริหารฯก็ยังต้องเรียนวิชาจริยธรรมทางธุรกิจอยู่เลย แต่ไม่รู้ว่าทำไมภาพลักษณ์ส่วนใหญ่จึงออกมาในรูปแบบพ่อค้าหน้าเลือดกันหมด อยากรู้ว่ามันจะเป็นยังไงถ้าลองเอาระบบจริยธรรมมาเป็น"หลัก"ในการดำเนินธุรกิจ

ถ้าจะว่าไปจริงๆ หมอก็เอาเปรียบสังคมอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ผู้ใช้แรงงานหรือมนุษย์เงินเดือนบางคนทำงานหนักไม่น้อยไปกว่าหมอเท่าไหร่ แต่ทำไมผลตอบแทนและฐานะทางสังคมถึงไม่เท่ากัน อันนี้จะเรียกว่าส่วนเกินได้หรือเปล่า


Posted by : favor , Date : 2005-02-21 , Time : 19:17:24 , From IP : 172.29.4.75

ความคิดเห็นที่ : 3


   พรบ.สุขภาพแห่งชาติหรือ "สร้างนำซ่อม" นั้นไม่แสวงหาผลกำไร ใช้เงินเยอะ และผลที่ได้ค่อนข้าง abstract คือประชาชนสุขภาพดี ไป รพ.น้อยลง สูบบุหรี่น้อยลง กินเหล้าน้อยลง ดูดีมากนะครับ แต่ รมต.คลังอาจจะไม่ชอบเพราะสูญเสียเงินรายได้ไปจากภาษีมากมายมหาศาล และ "ธุรกิจ" จากการ "ซ่อม" ก็จะไม่รุ่งเรื่องอย่างนโยบาย "ซ่อมนำสร้าง"

จากการแช่เย็น "สร้างนำซ่อม" มาเป็นเอาเงินงบประมาณมหาศาลมาถม "ซ่อมทุกโรค สามสิบบาท" เกิด double standard ระหว่าง รพ.รัฐที่ต้องรัดเข็มขัด ประหยัดยาแพง มี option น้อยลง และ รพ.เอกชน ที่เสพย์ลูกค้า "คุณภาพ" เช่น health insurance BUPA หรือ package insurance ต่างๆ marketing ของเอกชนในขณะนี้ที่ aggressive มากขึ้นเรื่อยๆ hospital fee ที่ชาวบ้านคิดว่าเงินส่วนใหญ่จ่ายให้หมอนั้น ตัวเลขจาก รพ.เอกชนในกรุงเทพฯจะพบว่าเป็น doctor fee ไม่ถึงหรือประมาณ 10% ที่เหลือตกเป็นค่าบริการของโรงแรม... เอ้อ... โรงพยาบาล fee กลายเป็น 10 เท่าของต้นทุน ไม่ใช่แค่ 2-3 เท่าอย่างแต่ก่อน ต้นทุนที่ลงไปในรูปของ vanity serving ต่างๆ เช่น เครื่องแบบสะดุดตาของ receptionist หรือ พยาบาล furniture ในห้องรับรอง ห้อง VIP ห้องยา ห้องน้ำ ฯลฯ รับประกันว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของฟรีที่เจ้าของกิจการทำเพื่อประชาชนเฉยๆ

ประโยชน์ของ share-holder จะเป็น Prime objective เสมอ ตั้งแต่มีการเอา รพ. เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้เมื่อหลายปีก่อน แนวโน้มที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และที่กำลังมุ่วหน้าไปในอนาคตดูจะหลีกเลี่ยงยากมากขึ้นเรื่อยๆ

นโยบาย "สร้างนำซ่อม" นั้นทำให้ประชาชนฉลาดขึ้น คิดเป็น คำนึงถึงเงินภาษีที่ตอบกลับคืนแก่สังคม แต่สำหรับคนบางกลุ่มแปลว่า ปกครองยากขึ้น คนประหยัดขึ้นแปลว่าเศรษฐกิจไม่เหมุนเวียน คนรู้จักพอมากขึ้นแปลว่า vanity หรือความฟุ้งเฟ้อขายไม่ออก นโยบายเศรษฐกิจยุคใหม่คือ creating demand หรือการ "ปั่นอุปสงค์" ดำเนินการไม่ได้ผล ขออนุญาตนำบทความจากหนังสือแพทยสมาคม บทหนึ่ง อ้างถึงพลโทนายแพทย์อรุณ เชาวนาศัย ดังนี้
1. Commercial medicine ตรงไปตรงมานะครับแพทย์พาณิชย์หรือพาณิชย์แพทย์ หลังจากที่ประเทศไทยมีการนำหุ้นของโรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์ หวังเก็งกำไรรายวันกันได้ แสวงหาผลกำไรตอบแทนทางธุรกิจเป็นหลัก ท่านพุทธทาสเคยสอนว่า "เมื่อหมอเป็นพ่อค้า หมาก็พึ่งไม่ได้" (quoted จาก Medical Ethics, Collections of Five Year Reports สุขิต เผ่าสวัสดิ์, สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล, เยื้อน ตันนิรันดร, บุญชัย เอื้อไพโรจน์กิจ)
2. Overtreatment การรีบร้อนแสวงหากำไร ทำให้แพทย์ไม่มีเวลาหรือขาดความชำนาญในการแสวงหาประสิทธิภาพด้วยการศึกษาด้วยตนเอง ต้องพึ่งเทคโนโลยียาราคาแพงหรือเวชภัณฑ์ใหม่ๆมา guide มาเป็นจุดขายความมีประสิทธภาพในการรักษา เข้าทางของ "ผู้ผลิตคือผู้สร้างอุปสงค์"
3. Unncessary investigation เดี๋ยวนี้น่าจะน้อยลงเพราะถูกควบคุมไปเยอะ ได้แก่ การ kickback จากการส่งตรวจ สมัยก่อนดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เริ่มต้นมีเครื่องมือ Investigation ใหม่ๆ ส่ง CT ข้างนอกหมอจะได้ kick-back ทันที 500 บาท ครั้งหนึ่งเคยมีการประมาณว่าประเทศไทยมีเครื่องมือระดับ CT scanner และอื่นๆ ต่อโรงพยาบาลมากกว่าของประเทศอังกฤษเสียอีก
4. Medical Mafia ในโลกของ "specialist" และ "authority" ผู้ป่วยถูก "แบ่ง" ร่างในการรักษามากขึ้น โดยแพทย์เฉพาะที่เก่งสามารถ (และแพงกว่า) ผลักดันค่าบริการให้สูงขึ้น
5. Overcharge อาศัยหลัก marketing และเหมือนการ "ขายบริการ" ทั่วๆไป เรากำลังตกอยู่ในภาวะคล้ายๆ European Football Association เผชิญคือ การ "ปั่น" ราคาค่าบริการต่างๆ ตราบใดที่เราสามารถ "สร้าง" อุปสงค์ เพดานค่าบริการก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆโดยไม่ได้ based on ต้นทุนอีกต่อไป
6. Incompetence physician การ "ครอบจักรวาล" ของใบประกอบโรคศิลป์ ทำให้หมอจบออกมาแล้ว สามารถเกือบจะ "ทำอะไรก็ได้" ตรงนี้ต้องอาศัยองค์กร หรือสมาคมวิชาชีพที่แข็งแกร่งร่างแม่บทกฏควบคุมให้ดี เช่น cosmetic, การรักษาความอ้วน ต่างๆ



Posted by : Phoenix , Date : 2005-02-21 , Time : 21:07:43 , From IP : 172.29.7.201

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.005 seconds. <<<<<