ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

หน้าที่ของนักข่าว กับจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ


   คัดจาก Manager Online

ไม่ได้ต้องการจะมาฟื้นฝอยหาตะเข็บ หรือตำหนิใครต่อใคร ในภัยธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 นี้หรอกครับ

แต่ถ้าไม่พูดเสียเลย – ก็จะเป็นการทำหน้าที่สื่อมวลชนบกพร่องไป

ผมอยากจะพูดถึงการทำหน้าที่ของสื่อในวันนั้น

โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์

เรามีสถานีโทรทัศน์ที่ดูได้โดยไม่ต้องจ่ายสตางค์ 5 ช่อง แต่วันนั้นในช่วงครึ่งวันแรก แต่ละช่องทำหน้าที่ได้น้อยมากในการเตือนภัยประชาชน โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่เวลาประมาณ 08.30 – 09.00 น. อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่คลื่นยักษ์สึนามิจากทะเลอันดามันจะถาโถมเข้าใส่ชายฝั่ง

จริงอยู่ การพยากรณ์แผ่นดินไหวทำได้ยาก หรือแทบทำไม่ได้เลย

จริงอยู่ การพยากรณ์การเกิดของคลื่นยักษ์สึนามิล่วงหน้านาน ๆ นั้นยิ่งทำไม่ได้

แต่หลังจากการเกิดแผ่นดินไหวระดับรุนแรงในมหาสมุทร ที่มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ สามารถเตือนภัยได้ โดยคำนวณระยะห่างจากจุดเกิดแผ่นดินไหวใต้พื้นโลกบริเวณท้องมหาสมุทร กับระยะห่างถึงชายฝั่ง และความเร็วการเดินทางของคลื่น ก็พอจะรู้เวลาที่คลื่นยักษ์ (หากจะเกิดมี) เข้าปะทะชายฝั่ง แม้จะไม่สามารถยับยั้งได้ แต่ก็พอที่บรรเทาความเสียหายได้ ลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้

เพราะคลื่นยักษ์สึมามิมาเร็ว ไปเร็ว ประเภทโครมเดียวเรียบ

ถ้ารู้ตัวล่วงหน้าแม้สักเพียง 15 นาที หรือครึ่งชั่วโมง คนที่อยู่ชายหาดก็พอจะหาทางหลบเข้ามาในแผ่นดินไกลหาดออกมาหน่อย หรือขึ้นที่สูงเกินตึก 3 – 4 ชั้นไปสักนิด ก็จะพอมีโอกาสรอดชีวิต

เหตุการณ์เมื่อวานซืนนี้ – ช่วงเวลาที่คลื่นยักษ์เดินทางจากจุดเกิดเหตุถึงชายฝั่งประเทศไทยกินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ๆ

ผู้รู้ในบ้านเราคำนวณว่าอาจเกิดคลื่นยักษ์ได้ก่อนคลื่นปะทะชายฝั่งประมาณ 30 นาที

และได้ขอร้องสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งแล้วให้ช่วยเตือนภัยประชาชน

แต่ไม่ได้รับการปฏิบัติตาม !

ต้องเข้าใจนะครับว่า ณ วินาทีที่เกิดแผ่นไหวระดับ 8.9 – 9.0 ริกเตอร์ นอกชายฝั่งเกาะสุมาตราเมื่อเวลาใกล้ ๆ จะ 08.00 น.นั้น แผ่นดินในประเทศไทยทางภาคใต้ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานคร ไปจนถึงภาคตะวันออก รู้สึกได้ว่าเกิดเหตุผิดปกติกับพื้นผิวโลก ในตึกสูงบางตึกมีการอพยพผู้คนลงมาบ้าง

ณ นาทีนั้น – คลื่นยักษ์ที่อาจจะเกิดขึ้นยังไม่ได้ปะทะชายฝั่ง

ถ้ามีสัญญาณเตือนจากสถานีโทรทัศน์ในลักษณะจริงจัง คือให้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์พิเศษ อาจจะช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้จำนวนหนึ่ง

แต่ขอโทษ – แม้แต่เพียงแค่ “ตัววิ่ง” ก็ยังไม่มี !

สถานีโทรทัศน์ทุกแห่งยังคงมีรายการบันเทิงตามปกติ

กว่าจะเริ่มมีรายการพิเศษก็ต่อเมื่อเหตุร้ายเกิดขึ้นไปนานแล้ว

จริงอยู่ ตั้งแต่ในช่วงบ่ายไปจนถึงเย็น สถานีโทรทัศน์บางช่องเริ่มมีรายการพิเศษอย่างจริงจัง เกาะติด โดยเฉพาะช่อง 11, ช่อง 9 และไอทีวี

การแข่งขันเสนอข่าวสูงมากในช่วงนั้น

ผมเองไม่ได้เกาะติดสถานีโทรทัศน์ทุกช่องในช่วงเวลานั้น แต่เพื่อนฝูงที่เขามีมิตรสหายอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ และต้องการข่าวสารอย่างแรงในช่วงต้น ๆ โทรศัพท์มาบ่นให้ฟัง และขอให้ช่วยเขียนเตือนสติโทรทัศน์ไทยให้ด้วย ผมก็เลยขอให้เขาเขียนเปรียบเทียบการทำงานของสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ มาให้หน่อย

นี่คือรายงานของเขานะครับ

1. ต้องบอกว่าเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่จุดศูนย์กลางนานแล้ว เว็บไซด์เกี่ยวกับแผ่นดินไหวของอเมริการายงานแล้ว ข่าวต่างประเทศ-วิทยุต่างประเทศรายงานแล้ว แต่จนกระทั่ง 09.00 น. โทรทัศน์ไทยกลับแทบไม่มีความสนใจเลย เห็นมีแต่ช่อง 11 นำเสนอข่าวอยู่แทบจะช่องเดียวในช่วงแรก ต่อมาจึงมีช่องอื่น ๆ ตามมา

2. ต้องบอกว่าโทรทัศน์ – ที่น่าจะเป็นสื่อที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ด่วนแบบนี้ - ทำงานกันไม่เป็นระบบเลย (หรือว่าเป็นเพราะวันหยุด) มีการติดตามข่าวสารกันน้อยมาก แม้ว่าจะทราบแล้วว่ามีภัยพิบัติรุนแรงเกิดขึ้น บางช่องแทบไม่ให้ความสำคัญเลย เช่น 3, 5, 7 ไม่คืนกำไรแก่สังคมเลย เอาแต่มอมเมาประชาชนด้วยรายการไร้สาระทั้งนั้น

3. บางช่องเมื่อเห็นว่าต้องนำเสนอข่าวแล้ว ก็มีการเตรียมการที่น้อยมาก ๆ รวมทั้งการนำผู้ประกาศข่าวที่ไม่มีประสบการณ์มาทำหน้าที่ ซึ่งทำให้ข่าวที่นำเสนอออกมาไม่ดีเท่าที่ควร แต่ต้องบอกว่าบางช่องก็ดีมาก เช่น ช่อง 9 และ ช่อง ITV ก็นำผู้ประกาศข่าวหลักมาใช้อย่างทันที

4. โทรทัศน์บางช่อง 3, 5, 7 แม้รู้ถึงภัยพิบัติ และรู้ว่าประชาชนให้ความสำคัญข่าวนี้มาก แต่ก็ยังฉายรายการตามผังรายการเดิมอยู่ ไม่เกาะติดข่าวอย่างช่อง 9, 11 และ ITV แม้จะเป็น “วัฒนธรรม” ที่ดู “ปกติธรรมดา” ของพวกเขา แต่ผมปวดหัวใจมาก ที่เห็นเพื่อนร่วมแผ่นดินตายกันคะเนแล้วว่าเป็นร้อย ๆ แต่กลับต้องมานั่งดูรายการตลก รายการเกมโชว์ อยู่

ท้ายนี้ขอจัดลำดับโทรทัศน์ทุกช่องที่นำเสนอข่าวนี้ จากดีมากลงไป ดังนี้ครับ

ช่อง 11 -- เพราะนำเสนออย่างต่อเนื่อง แม้ผู้ประกาศข่าวไม่ดี

ช่อง 9 – ต้องให้เครดิตคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่อุตส่าห์มานำเสนอข่าวตลอด แต่ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าแกถูก “ใช้สิ้นเปลือง” มากไปหรือเปล่า ช่อง 9 ไม่คิดจะพัฒนามือดี ๆ ที่เป็นดาวรุ่งขึ้นมาบ้างหรือ คนเราไม่ใช่อิฐไม่ใช่หินนะ

ช่อง ITV – นำเสนอข่าวอย่างตลอดต่อเนื่อง หลังตั้งหลักได้

ช่อง 3, 5 และ 7 – ขอให้ปรับตัวด้วย

นี่ก็เป็นมุมมองของเพื่อนคนหนึ่งของผมเท่านั้น ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย

แต่ทั้งหมดนั้นก็ “สายไป” เพราะพ้น 15 นาทีแห่งชีวิต หรือครึ่งชั่วโมงแห่งชีวิต ไปเสียแล้ว !

มันน่าเจ็บปวด ที่หลังเกิดเหตุร้ายหมาด ๆ คนที่ภูเก็ต พังงา กระบี่ และแม้แต่กรุงเทพมหานคร ได้เห็นข่าวทางสื่อโทรทัศน์เป็นครั้งแรกจากสถานีโทรทัศน์ของต่างประเทศ ถ้าไม่ CNN ก็ BBC สถานีโทรทัศน์บ้านเราทำอะไรกันอยู่ มันจะสูญเสียรายได้ไปกี่มากน้อยเชียวถ้าเร่งยกรายการปกติออกแล้วจัดรายการพิเศษในทันที

การส่งสัญญาณเพื่อช่วยชีวิตเป็นเรื่องหนึ่ง

การแสดงออกซึ่งความห่วงใยและการเอาใจใส่ชะตากรรมของเพื่อนร่วมแผ่นดิน และการให้ความรู้ให้ปัญญา ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

พระคุณท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) หรือสมณศักดิ์ก่อนหน้านี้ที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าพระธรรมปิฎก แสดงธรรมไว้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2537 เนื่องในวันประชุมสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยประจำปีนั้น เนื้อหาจับใจนักว่า ผู้ประกอบวิชาชีพนักข่าว-สื่อมวลชนมีหน้าที่อย่างน้อย 4 ประการ

1. เป็นแหล่งข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้อง

2. ระวังภัยให้แก่สังคม ยามมีปัญหาอันจะก่อให้เกิดอันตรายแก่สังคม จะต้องยกกรณีนั้นขึ้นมาบอกกล่าว และเตือน

3. ชี้ขุมทรัพย์ และบอกแหล่งโชคลาภ ไม่ใช่หมายความว่าใบ้หวย แต่หมายความว่า เมื่อมีความรู้ ไม่ว่าด้านใดแขนงไหนเกิดขึ้นใหม่ต้องนำมาเผยแพร่

4. เป็นผู้นำในหนทางสร้างสรรค์ นำสังคมทางความคิด เพื่อสร้างทัศนคติ, ค่านิยม และมติมหาชนที่ถูกต้อง



Posted by : ไท , Date : 2004-12-27 , Time : 23:48:05 , From IP : 203.150.217.111

ความคิดเห็นที่ : 1


   อยากบอกว่าเวลาที่มองย้อนกลับนั้นพูดง่าย คนที่มีประสบการณ์มาก่อนคงจะรู้ดีกว่า บ้านเรายังมีประสบการณ์ทางด้านนี้น้อย คงได้บทเรียนจากเหตุการณ์นี้

Posted by : ร่วมคิด , Date : 2004-12-28 , Time : 09:01:58 , From IP : 172.29.3.147

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<