ความคิดเห็นทั้งหมด : 8

Attitude ของ อาจารย์แพทย์ 2004


   อยากทราบความเห็นว่า อาจารย์คณะแพทย์ มอ.2004 มี attitude เกี่ยวกับการเรียนการสอน และ การบริการ เป็นไปตามอุดมคติมากน้อยอย่างไร?


Posted by : Teacher , Date : 2004-12-16 , Time : 11:37:16 , From IP : 172.29.2.99

ความคิดเห็นที่ : 1


   อาจารย์เริ่มก่อนเลยดีไหมครับ?



Posted by : Phoenix , Date : 2004-12-16 , Time : 13:52:48 , From IP : 172.29.3.206

ความคิดเห็นที่ : 2


   กลางปี 2517 สโมสรนักศึกษามหิดลร่วมกับสภาคณาจารย์จัดการสัมมนาใหญ่ว่าด้วยการพัฒนามหาวิทยาลัย "มหิดล…เราจะไปทางไหนดี" กลเกมในการผลักดันผลการสัมมนาดำเนินไปตั้งแต่การเลือกสถานที่จัด ฝ่ายนักศึกษาเลือกจัดในที่ๆจะสามารถระดมเอาสรรพกำลังทางความคิดจากรุ่นพี่ๆที่จบไปแล้วให้มาช่วยให้มากที่สุด พวกเขาจึงเลือกจัดที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

นั่นหมายความว่า นอกจากเกด ติ๋ม และวิชัย จากโรงพยาบาลสวนหม่อนแล้ว รุ่นพี่ที่จะขาดไม่ได้คือ พี่วิชัยซึ่งจบจากศิริราชไปทำงานอยู่พยัคฆภูมิพิสัย และพี่สุรเกียรติซึ่งจบรามาธิบดีจากโกสุมพิสัยมาร่วมด้วย

เป็นที่รู้กันว่าการสัมมนาครั้งนี้อาจก้าวไปถึงการพัฒนาหลักสูตรว่า ทำอย่างไรที่จะสอนนักศึกษาแพทย์ให้ได้ความรู้ส่วนใหญ่ที่จะไปใช้ในชนบทได้จริงๆ แทนที่จะเรียนวิชาเฉพาะทางที่ยากๆ แต่เมื่อทำงานจริงๆในชนบทกลับนำไปใช้ไม่ได้ เพราะขาดทั้งเครื่องมือที่สลับซับซ้อน ขาดทั้งความสามารถที่จะใช้ ความคิดนี้มีอาจารย์แพทย์จำนวนหนึ่งที่เห็นด้วย แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

ฝ่ายหลังนี้ได้ระดมเอาอาจารย์แพทย์จากศิริราชซึ่งอนุรักษ์ปกป้องวิชาการแพทย์อันสูงส่งมาร่วมสัมมนา การสัมมนาก้าวจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมาเป็นการสับประยุทธ์ทางคารมอย่างเผ็ดร้อน

"กราบเรียนอาจารย์ที่เคารพ และเพื่อนๆนักศึกษาที่รัก ทุกคนคงจดจำคำขวัญที่สมเด็จพระราชบิดาได้พระราชทานไว้แก่ผู้ที่เป็นแพทย์ว่า เราไม่เพียงต้องการให้ท่านสักแต่ว่าเป็น "แพทย์" แต่เราต้องการให้ท่านมีความเป็น "คน" เป็นคนก็คือความเป็นผู้มีมนุษยธรรม ถ้าเป็นแพทย์ก็ทำหน้าที่ของความเป็นแพทย์อย่างสุดชีวิตจิตใจ ด้วยเหตุนี้ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะทบทวนกันดูว่า พวกเราจะเรียนหนังสือไปทำไม เรียนไปเพื่อใคร" ติ๋มลุกขึ้นเปิดประเด็น

"ตัวเลขสถิติจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุไว้ว่าประเทศไทยมีประชากร 25 ล้านคน ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80.59 เป็นชาวนา เหลือคนอีกเพียงร้อยละ 19.41 เท่านั้นที่อยู่ในเมืองใหญ่ อยู่ในกรุงเทพ" เขาเว้นวรรคเพื่อให้ผู้ฟังเกิดความทึ่งในคำพูดของเขา ด้วยน้ำหนักของตัวเลขที่เขากล่าวอ้างถึง

มันเป็นเคล็ดเล็กๆน้อยๆที่นักเรียนแพทย์มักจะใช้พูดข่มกัน เวลาโต้แย้งกันทางวิชาการ พวกเขามักอ้างตัวเลขหรือแหล่งอ้างอิงของวารสารวิชาการให้ผู้ฟังตื่นตกใจ บางครั้งจะเล่นกันโดยอ้างวารสารเล่มที่เท่าไหร่ หน้าไหน บรรทัดที่เท่าไหร่ให้ละเอียดลงไปอีก แต่บางทีผู้อ้างก็อาจโชคร้ายถ้าบังเอิญอาจารย์ได้อ่านข้อความนั้นมาก่อนแล้ว และจำได้ว่า มันไม่ได้เป็นเลขหน้า เลขบรรทัดตามคำกล่าวอ้างสักหน่อย ในกรณีนั้นคนอ้างก็มีอันหน้าแตกไปกลางห้องประชุม

ติ๋มกล่าวต่อ "พี่น้องชาวมหิดลที่รัก จงเหลียวมองชีวิตของชาวนาซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ พวกเขาคือผู้ที่เอาหลังสู้ฟ้าเอาหน้าสู้ดินทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตของสังคม ลำบากตรากตรำปลูกข้าวให้เรากิน ขายข้าวทำรายได้หล่อเลี้ยงสังคมไทยทั้งประเทศ พวกเขาคือผู้มีบุญคุณต่อคนทั่วทั้งสังคม ผลจากหยาดเหงื่อและแรงงานของพวกเขาได้กลายมาเป็นตึกรามบ้านช่องให้เราได้อยู่อย่างสุขสบาย มีถนนหนทาง มีไฟฟ้าให้เราใช้ เป็นมหาวิทยาลัยให้พวกเราได้ศึกษา เป็นหอคอยงาช้างที่เพริศแพร้วพรรณราย

แต่ชีวิตของชาวนาผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติเหล่านี้เป็นอย่างไร เขายากจน เขาขาดการศึกษา เขากินอยู่อย่างแร้นแค้น ทั้งไม่รู้การป้องกันโรค สุดท้ายพวกเขาก็เจ็บป่วย เจ็บป่วยโดยไม่มีหมอรักษา….นี่หรือคือความยุติธรรมของสังคม นี่หรือคือสิ่งที่สังคมไทยตอบแทนให้กับพวกเขา

มหิดล…เราจะไปทางไหนกัน เราจะมุ่งเน้นการเรียนวิชาการที่สูงส่ง เรียนรู้แต่โรคยากๆ ที่มีโอกาสตรวจพบเพียงหนึ่งในล้าน ใครวินิจฉัยได้ถือว่าแน่ เตรียมตัวแข่งขันกันไปสอบ ECFMG ที่เป็นการทดสอบความรู้ด่านแรกของแพทย์เพื่อไปทำงานอเมริกา จบแล้วก็เหมาลำเครื่องบินไปรับใช้คนอเมริกันที่นั่น หรือจะสอนให้เรามีความรู้ไปรักษาคนในชนบท ไปเป็นหมอของพวกเขา" ติ๋มเว้นจังหวะ เสียงปรบมือกราวใหญ่ในที่ประชุมจากน้องๆนักศึกษามหิดลที่เข้าร่วมสัมมนา

"หมอที่ดีต้องมาจากแม่พิมพ์ที่ดี จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกศิษย์ต้องการความรู้อย่างไหนไปใช้กับชนบท ก่อนอื่นครูแพทย์จึงต้องก้าวลงจากหอคอยงาช้าง ไปสัมผัสกับชนบทเพื่อกลับมาปรับปรุงหลักสูตรสอนพวกเราให้มีความรู้ที่จะเอาไปใช้ในชนบทได้" ติ๋มเริ่มแตกประเด็นให้แก่ที่ประชุม เรื่องอุดมคติเป็นเรื่องหนึ่ง แต่นี่ฝ่ายนักศึกษาชักจะเอาใหญ่ เข้าไปแตะต้องชีวิตความเป็นอยู่ของอาจารย์แพทย์เข้าแล้วซิ

เสียงปรบมือมีขึ้นจากซีกนักศึกษา ขณะที่มีการซุบซิบพร้อมกับส่ายหน้าในหมู่อาจารย์แพทย์ที่นั่งเกาะกันเป็นกลุ่มในอีกซีกหนึ่ง หลายคนพยักพะเยิดให้แก่กัน ดูว่าใครจะลุกขึ้นกล่าวตอบโต้ และแล้วศาสตราจารย์ผู้ได้รับยกย่องประดุจกระบี่มือหนึ่งของภาควิชาศัลยศาสตร์ศิริราชก็ลุกขึ้น

"วิชาแพทย์เป็นวิชาการอันสูงส่ง ถ้าเปรียบแล้วก็เสมือนยุทธศิลป์ที่สำนักตักศิลา ในอดีตนั้นมีแต่ลูกเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ในแว่นแคว้นชมพูทวีปเท่านั้นที่พึงจะเรียนได้ กระนั้นก็ดีหาใช่ว่าอาจารย์จะสอนวิชาให้ในชั่วไม่กี่เดือน

ก่อนอื่นจะต้องเรียนการเลือกไม้ที่จะเอามาทำคันศรสักหนึ่งปี เรียนการทำสายธนูอีกสักหนึ่งปี เรียนการเลือกไม้ทำลูกธนูในปีที่สาม แล้วจึงเรียนการหล่อโลหะทำปลายธนูเป็นปีที่สี่ ผู้ที่จบจากตักศิลา อย่าว่าแต่การน้าวศรยิงกวางหรือสมันเลย แม้พญาราชสีห์ก็อาจสามารถพิชิตได้ด้วยศรศิลป์เพียงดอกเดียว

ศิลป์และศาสตร์ของตักศิลาเป็นฉันใด วิชาแพทย์ก็เป็นเฉกเช่นกัน การแพทย์เป็นศิลปะขั้นสูงในการเยียวยาผู้ป่วย มหาวิทยาลัยต้องก้าวให้ทันวิทยาการของโลก ต้องธำรงความเป็นเลิศทางวิชาการเอาไว้ให้ได้ ถ้าอาจารย์แพทย์ไปชนบทแล้ว จะก้าวทันวิชาการต่างๆ ได้อย่างไร

ถ้าเป็นศิลปะก็ต้องกล่าวว่าการไปสัมผัสชนบทจะมีศิลปะขั้นสุดยอดใดให้ศิลปินได้เชยชม ผลงานอันวิจิตรบรรจงจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในท่ามกลางชนบทหรือในหมู่ชาวนา จะมีก็แต่พวกเมาเซตุงเท่านั้นที่คิดกันแบบนี้"

เสียงปรบมือมีขึ้นเปาะแปะจากกลุ่มอาจารย์จำนวนหนึ่ง ที่ประชุมตกอยู่ในความเงียบ เรื่องทิศทางของมหาวิทยาลัย เรื่องวิชาการทางการแพทย์ ทำไมต้องถูกมองเป็นเมาเซตุง เป็นประเด็นทางการเมืองไปได้เล่า อาจารย์อาจจะคิดว่าถ้าสวมหมวกแดงให้กับผู้พูดเข้าสักใบ คงทำให้น้ำหนักและเหตุผลของอีกฝ่ายมีน้อยลง เรื่องชักจะไปกันใหญ่



คับข้องและอุกอั่งเป็นความรู้สึกของติ๋ม วิชัยและเกด ซึ่งชีวิตครึ่งปีที่โคราช ประสบการณ์การสัมผัสชนบทที่พวกเขาไปรู้จักมา มันได้สร้างจุดแตกต่างทางความคิดระหว่างพวกเขากับอาจารย์บางคนที่อยู่แต่ในกรุงอยู่แต่ในโรงเรียนแพทย์อย่างสิ้นเชิง

ภาพของบ้านกลางทุ่งที่ฝากระดานจะปกปิดให้มิดทั้งสี่ด้านก็ทั้งยาก ภาพของยายที่กุลีกุจอจ้วงตักข้าวสารซึ่งเหลืออยู่ถังสุดท้ายมานึ่งให้พวกเขาได้กิน ภาพของเด็กน้อยที่ขาดอาหาร เฝ้าน้ำซับอยู่กลางทุ่ง ภาพเด็กป่วยด้วยมาเลเรียขึ้นสมอง นอนเจ็บอยู่บ้านริมชายป่า ถ้าในวันนั้นพวกเขาไม่พอดีผ่านไปพบเข้า เด็กคนนั้นก็คงตายไปแล้ว ภาพต่างๆ ฉากแล้วฉากเล่าผ่านเข้ามาในห้วงคิดคำนึง

ทันใดนั้นเองพี่วิชัยจากพยัคฆภูมิพิสัย ก็ยืนขึ้นพูด เขากล่าวว่า "การพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลกำลังก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญทางประวัติศาสตร์ เรากำลังเผชิญหน้ากับคำถามที่ว่า ควรฤๅที่จะเทอดทูนวิชาแพทยศาสตร์ไว้ในที่อันสูง ให้สูงส่งควรบูชาอันยากที่จะเอื้อมถึง หรือจะเร่งการฝึกสอนให้ง่ายแก่การเรียนรู้ ให้ง่ายจะการนำไปปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่มวลประชาชนอันไพศาลทั่วแผ่นดิน" พี่วิชัยร่ำวาจาประดุจนักประพันธ์

"ที่อาจารย์ท่านอภิปรายมานั้นก็ถูกอยู่ ถูกต้องในประเพณีปฏิบัติในอดีตอันไกลโพ้นของสำนักอย่างตักศิลา และด้วยเหตุเช่นนั้นนั่นเอง ความสูงส่งของสำนักตักศิลาที่เปรียบประดุจหอคอยงาช้างอันเริศหรูอยู่กลางนภากาศ มันไม่อาจเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนคนส่วนใหญ่ได้

เหตุฉะนี้ตักศิลาจึงถูกลืมเลือน กาลเวลาผ่านไปสำนักตักศิลาต้องล่มสลายไปกับประวัติศาสตร์ ไม่มีคุณค่าอันพึงจดจำสำหรับมวลมหาประชาชน….มหาวิทยาลัยมหิดล เราจะเลือกเดินไปทางไหน คำถามมีอยู่ต่อหน้าของเราทุกคนแล้วในวันนี้" เสียงปรบมือมีขึ้นอย่างเกรียวกราว ในที่สัมมนาแห่งนั้o

พี่วิชัยของน้องๆกลับไปนั่ง ตามด้วยร่างสูงโปร่งของวิชัยคู่หูของติ๋มและเกดก้าวขึ้นมาสับหว่าง

"ท่านอาจารย์ที่เคารพ เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย ผมแปลกใจว่า เรากำลังสัมมนาด้วยเรื่องทิศทางของมหาวิทยาลัยอยู่แท้ๆ ทำไมจึงถูกพาดพิงไปถึงเรื่องการเมืองได้ เอาละครับถ้าจะพูดกันในเรื่องการเมืองบ้าง ผมก็มีข้อมูลบางอย่าง ผมมีเอกสารอยู่ชิ้นหนึ่งในมือของผมนี้ เป็นเอกสาร "ลับ" ก่อนหน้า 14 ตุลาคม มีจากสำนักอธิการบดีมหิดลไปยังคณบดีคณะต่างๆ บังเอิญมีอาจารย์ท่านหนึ่งที่รักในความเป็นธรรม จึงส่งเข้ามือมายังพวกเรานักศึกษา

เอกสารระบุว่า เป็นคำสั่งจากนายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเราก็รู้ดีว่าคือหนึ่งในสามอดีตผู้นำของประเทศที่ปัจจุบันระเห็จออกไปนอกประเทศแล้วจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เขาสั่งว่าขอให้ทุกแห่งสนับสนุนกิจกรรมของนักศึกษาในเรื่องการลีลาศจัดงานบอลล์ ระบบซีเนียริตี้ การเชียร์กีฬา เพื่อที่กิจกรรมเหล่านั้นจะได้ดึงดูดนิสิตนักศึกษาไม่ให้หันไปสนใจการเมือง"

"คำว่า การเมือง คืออะไร การเมืองก็คือระบบระเบียบของสังคม คือความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม ประเทศไทยเราถือกันว่าอยู่ในโลกเสรีประชาธิปไตย ที่ถือหลักเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ

ประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับการอยู่ดีกินดีของผู้คนร่วมสังคมนั้นๆ การสนใจการเมืองก็หมายความว่า สนใจในชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องร่วมสังคมนั่นเอง ในทางตรงข้ามการกีดกันนิสิตนักศึกษาไม่ให้สนใจการเมือง ก็หมายความว่า พยายามไม่ให้นิสิตนักศึกษาสนใจชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน พวกผู้ปกครองประเทศเหล่านั้นกลัวอะไร….

สิ่งที่พวกเขากลัวก็คือ กลัวว่าพวกเราจะพบความเป็นจริงถึงความไม่เสมอภาคของสังคม กลัวว่าถ้านักศึกษารู้ความจริงเข้าแล้ว จะเกิดความเห็นใจประชาชน แล้วก็เรียกร้องหาเสรีภาพ เรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเราไม่รู้ความจริงพวกเขาก็เผด็จอำนาจอยู่ได้นับสิบปี

คิดดูซิรัฐบาลอะไรจะใจร้ายขนาดนี้ พยายามแบ่งแยกระหว่างคนชนบทกับคนในเมือง คนจะจบเป็นบัณฑิตของประเทศ แต่ไม่ให้รู้จักประเทศของตัวเอง ทั้งหมดเพียงเพื่อให้พวกผู้ครองอำนาจอยู่ได้ต่อไป" วิชัยเว้นจังหวะเพื่อผู้ฟังได้ซึมซับ บรรยากาศเขม็งเกลียวยิ่งขึ้น

"ถ้านักศึกษาและอาจารย์ของเรามัวแต่กักตัวเองอยู่ในมหาวิทยาลัยไม่รู้จักกับโลกภายนอกจะเกิดผลเสียหลายอย่าง ไม่แต่เพียงเราไม่รู้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บของคนชนบท ที่สำคัญคือ สังคมแคบๆ ของเราในมหาวิทยาลัยจะสร้างทัศนคติที่ทำให้เราแปลกแยกจากสังคมไทย

เราหลงบูชาเมืองนอกเป็นสวรรค์ ดูถูกชีวิตชนบท เราจัดงานบอลล์อย่างหรูหราฟุ้งเฟ้อ เราจัดกิจกรรมสอนกินอาหารแบบโต๊ะดินเนอร์ เราดูถูกข้าวจี่และน้ำพริกปลาร้า เราสร้างทัศนคติกันเช่นนี้ แล้วจบออกมาใครเล่าอยากไปชนบท ถ้าเทียบกับการไปเป็นแพทย์ในอเมริกาเหมือนได้ขึ้นสวรรค์ชั้นฟ้า

เราหลงใหลได้ปลื้มกับชีวิตที่เสพสุขมามากแล้ว ตามเจตนารมณ์ของผู้ปกครองทรราชย์ที่วางนโยบายไว้ให้ บัดนี้ทรราชย์มีอันพ้นไปจากประเทศไทยแล้ว ถ้ามหิดลของเรายังกักตัวเราเองเดินไปบนเส้นทางสายเก่า ก็มีแต่สมใจของผู้เผด็จการเดิม สังคมไทยจะพัฒนาไปไม่ได้ ประชาชนก็จะยังคงจน…เจ็บ…โง่อยู่ต่อไป" วิชัยยิ่งพูด เสียงยิ่งดัง จนกลายเป็นการพูดปลุกระดม การเผชิญหน้ากำลังเกิดขึ้นอยู่รอมร่อ ทันใดนั้นวิชัยก็หยุดลงกระทันหัน เมื่อมีมือนุ่มๆของเกดมาสะกิด

"ขอพูดด้วยคนค่ะ" เกดลุกขึ้นแทรก "ฟังเพื่อนๆ พี่ๆ แต่ละคนพูดแล้ว มีแต่คำสูงๆ เข้าใจยาก อาจารย์คะความจริงถ้าได้กินดินเนอร์หรูๆ หนูก็ชอบค่ะ งานบอลล์น่ะหนูเต้นรำไม่เป็น แต่ก็ชอบเจ๊าะแจ๊ะ นักศึกษามีเงินจะกิจกรรมก็จัดไป แต่ก็อยากให้เห็นใจคนบ้านนอกบ้าง หนูเพิ่งไปประสบกันมาตอนหน้าแล้ง ก็ติ๋มกับวิชัยนี่แหละค่ะพาพวกเราไป

วันนั้นไปบ้านชาวบ้านที่เข้าไปถางไร่ชายป่า แล้งจริงๆ ต้องขอดน้ำซับมาดื่มกิน ข้าวในบ้านก็เกือบหมด หมาแถวนั้นน่ะ ผอมโกโรโกโสจะเห่ายังไม่มีแรงเลย แถมไปเจอเด็กป่วยเป็นมาเลเรียขึ้นสมอง ชักอยู่กับตักหนูนี่แหละ เกิดมาก็ไม่เคยเจอ ต้องช่วยกันเป่าปากแถมวิ่งไล่หลังรถสองแถวมาส่งโรงพยาบาล หอบหิ้วกันมาพะรุงพะรัง

หนูว่าตัวเองเป็นเด็กต่างจังหวัดนะคะ แต่ก็ไม่เคยเจออะไรที่ยากจนข้นแค้น ป่วยก็ปานนั้น หนูเชื่อว่าใครก็ตามถ้าได้มาเจออย่างพวกหนูก็ต้องเห็นใจชาวบ้าน และคิดอยากออกไปทำงานช่วยพวกเขาทั้งนั้นแหละค่ะ มนุษยธรรมเราสอนกันมาในโรงเรียนแพทย์มีกันทุกคนแหละค่ะ แต่บางทีเราก็ลืมๆ ไป

…อยากให้อาจารย์หรือน้องๆ มีโอกาสได้ภาพประทับใจแบบนี้บ้าง แล้วเราจะออกบ้านนอกโดยไม่ลังเลเลยค่ะ อาจารย์ค่ะที่พูดมาทั้งหมดนี้ คือความจริงใจพวกเราค่ะ รับรองได้ว่าไม่มีมือที่สามมาแทรกแน่นอน"

สั้น แต่จริงใจ ไร้สำบัดสำนวน เกดเรียกเสียงปรบมือขึ้นทั่วทั้งห้องประชุม แม้แต่อาจารย์ศิริราชท่านนั้นเจ้าของสำนักตักศิลา นั่นเสมือนการให้บทสรุปแก่ที่แจ่มชัดกับที่สัมมนา



เช้าวันรุ่งขึ้นเหตุการณ์อันเป็นประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลก็มาถึง ติ๋มขึ้นเวทีกล่าวรายงาน

"ประกาศ…อุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล…มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน มหิดลมีอุดมการณ์ที่จะมุ่งผลิตบัณฑิตออกมา เพื่อรับใช้สังคม…"

นั่นเป็นชัยชนะของการสัมมนาสูงเนิน อย่างไรก็ดี คำว่า รับใช้สังคม คำนี้แรงนัก มีแต่คอมมิวนิสต์เท่านั้นที่ใช้คำนี้ และด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ติ๋ม วิชัย เกด และน้องๆ ที่ช่วยกันจัดสัมมนาล้วนถูกส่งชื่อขึ้นบัญชีของ กอ.รมน. ไปจริงๆ

พวกเขาต่างไม่รู้ว่าความซื่อใส จริงใจ และรักความเป็นธรรมที่พวกเขามีอยู่ จะทำให้พวกเขาถูกผลักไสให้หันหน้าเข้าหา พคท. ในเวลาอีกไม่นานต่อมา




Posted by : Paracetamol , Date : 2004-12-17 , Time : 09:55:20 , From IP : 203.26.122.12

ความคิดเห็นที่ : 3


   attitude ของอาจารยแพทย์ระดับศ.ท่านหนึ่งที่เห็นแก่ตัว เอาเปรียบ กินแรงเพื่อนร่วมงาน แถมคณะยังชื่นชมว่าเป็นอาจารย์ดีเด่นทางด้านวิจัย

Posted by : ศ.นพ. , Date : 2004-12-18 , Time : 01:39:02 , From IP : 203.150.217.111

ความคิดเห็นที่ : 4


   Please watch your word.Personal view might be right or wrong.

Posted by : O2 , Date : 2004-12-18 , Time : 09:20:37 , From IP : 172.29.3.185

ความคิดเห็นที่ : 5


    อย่าไปหวังอะไรกับอาจารย์ เลย น้องอ่านโพยให้ผ่านจบไปให้ได้ก็บุญแล้ว ไปด่าอาจารย์มันก็บาปไปเปล่าๆ ถึงเค้าจะเป็น ศ.นพ
ค่าเทอมเราก็แสนแพง SDL ก็คือเรียนอ่านโพยนั่นแหละ ดูคนไข้ให้ดีที่สุดก็พอ


Posted by : 000 , Date : 2004-12-20 , Time : 19:52:46 , From IP : 203.156.45.88

ความคิดเห็นที่ : 6


    อย่าไปหวังอะไรกับอาจารย์ เลย น้องอ่านโพยให้ผ่านจบไปให้ได้ก็บุญแล้ว ไปด่าอาจารย์มันก็บาปไปเปล่าๆ ถึงเค้าจะเป็น ศ.นพ
ค่าเทอมเราก็แสนแพง SDL ก็คือเรียนอ่านโพยนั่นแหละ ดูคนไข้ให้ดีที่สุดก็พอ


Posted by : 000 , Date : 2004-12-20 , Time : 19:53:48 , From IP : 203.156.45.88

ความคิดเห็นที่ : 7


   ผมคิดต่างจากความคิดเห็นของคุณ 000 นะครับ
-ค่าเรียนที่แสนแพง ผมว่าคุ้มนะกับความสะดวกสบายที่คณะได้มอบให้แก่ นศพ ในการศึกษาหาความรู้(สื่อการเรียนรู้หลาบรูปแบบทั้ง notebook, internetความเร็วสูงในหอพัก ,CAI,และresorce person ฯลฯ) จนบางครั้ง ในส่วนตัวของผม ผมสามารถหาข้อมูลได้เกือบทุก ๆ เรื่องโดยแทบไม่ต้องเข้าห้องสมุดเลยทีเดียว นั่งหาข้อมูลที่หอนั่นแหละ (ทำPBLสบายเลยล่ะ) เล่าเพื่อนที่เรียนแพทย์มหาลัยอื่นให้อิจฉาเล่นได้สบายเลย
-ส่วนเรื่องโพย คงจะไม่เปิดประเด็นด้วยแล้ว เพราะเปิดกี่ครั้งก็ดูท่าเป็นปัญหาโลกแตก ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลที่ดีทั้งคู่ คงอยู่ที่วิจารณญาณของแต่ล่ะบุคคล


Posted by : นศพ น้อย ๆ คนหนึ่ง , Date : 2004-12-23 , Time : 18:26:31 , From IP : 172.29.2.93

ความคิดเห็นที่ : 8


   -อ่านความเห็นจากคุณparacetamolแล้วรู้สึกตื้นตัน.
-เห็นด้วยกับน้องน้องนศพ.น้อยๆคนหนึ่ง ขอให้ตั้งใจศึกษาต่อไป



Posted by : megumi , Date : 2004-12-25 , Time : 11:42:48 , From IP : 172.29.7.34

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.006 seconds. <<<<<