ความคิดเห็นทั้งหมด : 3

ความสับสัน


   สวัสดีค่ะอารจารย์และผู้สนใจ
คือหนูสงสัยอยากเรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องจิตวิทยาเด็กค่ะ
คือต้องขอออกตัวก่อนนะคะว่าหนูไม่ค่อยมีความรู้เรื่องนี้เลย ขอความกรุณาช่วยชี้แนะนะคะ
หนูสนใจเกี่ยวกับเรื่องการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นผลต่อความคิดเด็กในอนาคตน่ะค่ะ ในช่วงภาวะปัจจุบันที่เด็กต้องออกไปเรียนหนังสือนอกบ้าน พ่อแม่ก็ไม่ค่อยจะอยู่บ้าน ความใกล้ชิด ครอบครัวก็ลดลง แล้วยิ่งเด็กที่ต้องเดินทางไปเรียนไกลๆ ต้องอยู่หอ นานๆ ทีถึงได้กลับบ้าน โดยเฉพาะเด็กที่ยังอยู่ในวัยเรียนรู้ และค้นหาตัวเอง บางครั้งสภาพที่โรงเรียนกับที่บ้านค่อนข้างแตกต่างกัน เมื่อกลับเข้ามาที่บ้าน จะเกิดความรู้สึกแปลกแยก ไม่แน่ใจ สับสน เช่น การสอน การปลูกฝังเกี่ยวกับลักษณะนิสัย ขอสมมตินะคะ เช่น ที่ ร.ร. ปลูกฝังให้เป็นคนใจเย็น มองโลกในแง่ดี ช่วยเหลือผู้อื่น พูดจาไพเราะ แต่ที่บ้าน(ไม่ได้จะว่ากล่าวนะคะ บางครอบครัวเป็นเช่นนี้จริง) กลับเจอสภาวะที่ตรงกันข้าม ยิ่งภาคใต้ ลักษณะทางภาษาเป็นการพูดจาเสียงดัง โฮกฮาก ใจร้อน และมักจะพูดเรื่องร้ายๆ จากทัศนะติมองโลกแง่ร้าย นินทา หรือแม้แต่ไม่มีเหตุผล สาเหตุเหล่านี้จะสร้างความสับสนให้เด็กได้รึเปล่าคะ
ในความคิดของหนู คิดว่า ทุกคนก็อยากเป็นคนดี และพยายามปรับปรุงตัวเอง ถ้าเด็กเหล่านั้นมีความคิดที่จะปรับปรุงตัว พัฒนาตัวเอง แต่ต้องมาเจอสภาพครอบครัวเช่นนี้ เด็กที่มีจิตใจไม่มั่นคงพอ จะเกิดความสับสน ว่าตกลงจะให้ทำอย่างไรหรือแม้แต่บางครั้งคำสั่งสอนของพ่อแม่ที่บอกว่าสิ่งนั้นไม่ดี เช่น ให้มีความเมตตาช่วยเหลือผู้อื่น แต่การกระทำกลับตรงข้าง "คนนั้นมันไม่เคยช่วยเหลือเรา ไม่ต้องไปช่วยมัน" ส่งผลต่อความคิด การตัดสินใจ ของเด็กในอนาคต ทำให้เป็นคนเหลาะแหละ ตัดสินใจไม่ได้ สับสนทางความคิด และเมื่อเจอเรื่องที่กระทบจิตใจมากๆ อาจจะเสียสติได้ (หนูไม่ได้พูดเกินความจริงนะคะ คือ บางเรื่องมันใกล้ตัวมากๆ)
หนูอยากเรียนถามเกี่ยวกับการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ หรือถ้าเราเป็นบุคคลที่ 3 ที่มีเด็กเหล่านี้มาปรึกษาด้วย เราควรให้คำแนะนำ หรือวางตัวอย่างไรดีคะ หรือสมมติว่าคนๆนั้นเป็นเราเอง การพัฒนาสภาพจิตใจของตนเองให้ไปสู่ทิศทางที่มั่นคง ควรทำอย่างไรดีคะ
อีกเรื่องคือความเหินห่างค่ะ ถ้าเด็กรู้สึกว่า ที่บ้านไม่ใช่ที่ๆ เหมาะสม หรือ เป็นที่ที่ทำให้ตัวเองดูด้อยค่า หรือ แม้แต่ทำให้ตัวเองตกต่ำลง ส่งผลให้เกิดความรู้สึกไม่อยากกลับไป ส่งผลต่ออนาคต เช่น คนชราถูกทอดทิ้ง เรามีวิธีแก้ไขหรือเยียวยาเช่นไรบ้างคะ

ไม่ทราบว่าจะเป็นคนถามเด็กๆ ไปรึเปล่า แต่ขอความกรุณาช่วยตอบคำถามหน่อยนะคะ


ขอบพระคุณค่ะ


Posted by : นศพ. @.@" , Date : 2004-12-07 , Time : 15:20:21 , From IP : 172.29.4.87

ความคิดเห็นที่ : 1


   ถ้าเราเป็นวัยรุ่น วัยที่เราเริ่มเรียนรู้เรื่องของสังคม เรื่องของsuperegoมโนธรรมที่มาจากคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่เราสอนสั่ง แล้วพบว่ามันมีความต่างจากculture หรือสิ่งที่พ่อแม่เราสอนสั่งมา ทำให้เราเองเกิดความคิดสับสน พี่ว่าแบบนี้เป็นเรื่องปกติของวัยรุ่นนะ
แล้วเราจะเลือกเชื่อใคร อาจยังไม่ต้องพยายามจะเชื่อใคร เพราะวัยนี้เป็นวัยค้นหาความหมายชีวิต และค้นหาตัวตนของเรา และอีกอย่างเป็นเพราะเราเริ่มจะมีความคิดเป็นของตนเอง คล้ายว่าเป็นผู้ใหญ๋ขึ้นงัย เราจึงเริ่มไม่เชื่อใครง่ายๆ พี่ว่าที่สำคัญให้เรารู้ว่าเรากำลังคิดต่างกัน แล้วพยายามฟังคนอื่นที่คิดต่างจากเราให้มาก อีกอย่าง อย่าเผลอไปแสดงความเห็นที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับพ่อแม่ หรือกับครูหล่ะ เพราะทักษะการแสดงออกของความคิดเราอาจจะยังไม่เก่งพอ อาจเป็นเรื่องได้ แนะนำว่าขอให้ได้ข้อมูล ความเห็นในเรื่องที่ต่างให้ลงลึกก่อนดีไหม
พี่ยกตัวอย่าง นะว่ามีวัยรุ่นคนหนึ่งต่อว่ามารดา ในเรื่องที่มารดาตีงู ว่ามารดาฆ่าสัตว์ แบบว่าตอนนั้น วิชาคงแกร่งกล้าโดยเฉพาะในเรื่องศีลธรรมที่ รร สอนมา แล้วก็ต่อว่ามารดาว่าเป็นคนบาป เรื่องราวก็ไปใหญ๋โต มารดาก็ตอบโต้ลูกกลับว่าเรียนสูงแล้วปีกกล้าขาแข็ง ว่ากล่าวมารดา เด็กก็คงงง ว่าก็มันเป็นเรื่องความดี ถูกผิด ทำไมมารดาไม่ยอมรับว่าตนเองทำผิด โดยลืมฟังหรือลืมคิดไปว่าที่ท่านทำไปทั้งหมดอาจมีเหตุผลอื่นที่สำคัญทำให้ท่านต้องยอมทำผิด เป็นคนทำบาป ซึ่งเรื่องง่ายๆก็คงเป็นไปได้ว่าไม่ต้องการให้สัตว์นั้นทำอันตรายลูกๆ ซึ่งลูกคงเข้าใจความคิดในเรื่องแบบนี้ได้ก็ต้องเป็นแม่คนเสียก่อน
อีกเรื่องพี่ว่าคงเป็นเรื่องสังคมทางบ้าน และภายนอกที่ต่างกัน ทำให้น้องสับสน พี่ว่าขอให้ขยายความเรื่องนี้ก่อนได้ไหม ให้น้องถามต่อนะ


Posted by : aries , Date : 2004-12-07 , Time : 17:05:42 , From IP : 172.29.7.46

ความคิดเห็นที่ : 2


   ช่วงแรกรีบตอบไปหน่อย ตอนนี้มีเวลามากขึ้นขอตอบต่อนะ
ง่ายๆอีกนิดนะ พี่ว่า เราไม่ควรมองใครที่คิดต่างจากเรา หรือตัดสินสังคมที่เราเติบโตมาบนพื้นฐานที่มันต่างจากที่อื่นว่ามันไม่ดี ทางที่ดีถ้าเราเห็นจุดด้อยของมันกลับเป็นเรื่องดีที่เราจะต้องระวัง และรู้ตัวให้มากไว้เสมอ เช่น ให้ตระหนักรู้ไว้ว่าเราอาจจะพูดห้วนๆไป ในแบบฉบับของคนในสังคมที่เราอยู่ ถ้าเรารู้ตัวก็เปลี่ยนแปลง controlมันพอได้ weak pointก็ไม่เกิด
สิ่งสำคัญ คือ ที่มาของครอบครัว หรือสังคมที่เราอยู่มานั้นมันมีประวัติมายาวไกลมากนัก และใช่ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงกันได้ง่ายๆ คนในสังคมที่ต้องการความต่างนั่นแหละเปลี่ยนได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะตัวเราเองนั่นเอง แล้วตัวเราในอนาคตก็จะเป็นคนที่สร้างสังคมในอีกรูปแบบใหม่ขึ้นมา ก็คงเหมือนที่พ่อแม่เราทำมาให้เรานั่นแหละ แล้วลูกเราก็อาจจะงง สับสน ในความต่างกับเขาอีก เหมือนเราตอนนี้ได้เหมือนกันนา
แล้วน้องจะเพี้ยนกันไหมกับเรื่องแบบนี้ น่าสนนะคำถามนี้
พี่ว่าถ้าเราพยายามจะต่อสู้ ขัดขืนกับสิ่งที่มันต่างกันแบบนี้ เป็นทุกข์แน่นอน พ่อ แม่ว่าอย่างไร เราเองไม่เห็นด้วย รู้สึกขัดแย้งกับท่าน คิดแบบนี้ก็คงรู้สึกแย่ เหมือนเป็นคนบาป ครั้นจะเห็นด้วยกับท่าน ก็ขัดแย้งกับความรู้สึก รู้สึกขัดต่อสังคมภายนอก คนอื่นก็ว่าแปลก
พี่ว่าเรื่องแบบนี้ เราต้องค่อยๆเรียนรู้ ในเรื่องความต่างของแต่ละสังคมไว้ แล้วมันจะทำให้เราเติบโต ไม่ต้องรีบหาข้อสรุปว่าเราควรทำตามใคร ให้ลองทุกๆรูปแบบ แล้วค่อยๆดูข้อดี ข้อเสียของแต่ละแบบไว้ ในเวลาต่อมาซึ่งอาจจะยาวไกล เราก็จะได้บทสรุปในเรื่องต่างๆ อย่างกระจ่างชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าอะไรจะเหมาะกับเรา ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพอควรจ้า
ว่าแต่น้องเป็นคนช่างคิด คิดไกล และคิดเก่งมากเลย และกล้าหาญมากที่จะพยายามออกจาก norm ที่เป็นอยู่ แต่ก็อย่าลืม ต้องใช้ทักษะการออกนอกกรอบที่เหมาะสมด้วยนะ ไม่งั้นอาจจะทำให้ดูเหมือนไม่เคารพกัน โผงผางไปหน่อย เป็นห่วงจ้า แล้วว่ากันต่อนะ


Posted by : aries , Date : 2004-12-07 , Time : 19:05:59 , From IP : 172.29.7.70

ความคิดเห็นที่ : 3


   Nature or Nurture?

คำถามนี้คือพฤติกรรมและบุคลิกของคนเรานี้นั้นมันถูกกำหนดโดย genetics (Nature) หรือเพราะการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมหลังเราเกิดมาแล้ว (Nurture) มีการศึกษาและความพยายามที่จะศึกษามากมายมาในอดีตก็ยังมิสามารถฟันธงได้ว่าอะไรสำคัญกว่าหรือคิดเป็นเปอร์เซนต์เท่าไหร่ แต่นั่นก็พอจะบอกได้ว่า ทั้งสองอย่างมีผลในการหล่อหลอมคนๆนึงได้แน่ๆ

ทีนี้ก่อนที่เราจะตีความหรือจะเชื่อมโยงการกระทำ พฤติกรรม ออกไปถึงความดี ไม่ดี ยังไงนั้น ต้องใจเย็นๆหน่อยครับ ทางสถิติเราเรียกว่าความพยายามเหล่านี้ใช้ surrogate factors หรือ proxy factors นั่นคือ ไม่ได้เป็นตัวชี้ตรงๆแต่เป็นทางอ้อม เพราะไอ้บรรดา abstract value ทั้งหลายแหล่ (ดีงาม เลวชั่ว) มันไม่มีตัววัดตรงๆใช่ไหมครับ ดังนั้น พูดห้วนสั้นไม่ได้แปลว่าใจร้อน พูดเสียงดังไม่ได้แปลว่าหยาบคาย และเรื่องบางเรื่องเราพบในคนทุกชาติ ทุกกลุ่มเช่น การนินทาว่าร้าย ขโมย คนโกหก ฯลฯ ในทำนองเดียวกันคือคนทุกพื้นที่มันก็มีคนดี คนขยัน คนซื่อตรง ปะปนกันไป

ทีนี้มาถึงคำถามด้านจริยธรรม ด้านความถูกต้อง สิ่งเหล่านี้เราคำนึงถึง "เพื่ออะไร" ล่ะครับ เพื่อที่จะเป็นทุกข์เพราะคนอื่นไม่ดี เพื่อที่จะได้รังเกียจคนที่ทำอย่างเราเห็นว่าไม่ชอบธรรม์ หรือว่าเพื่อที่เราจะได้สั่งสมความสามารถในการวิเคราะห์ไตร่ตรองความผิดชอบชั่วดี หรือว่าเพื่อที่เราจะได้มีความเมตตา พยายามที่จะช่วยเหลือคนอื่น เพราะเขาอาจจะเกิดความทุกข์จากสิ่งนั้นๆที่กำลังทำอยู่ หรือว่าเป็นกรณีศึกษาถึงกฏแห่งกรรม (Karma versus Vipaka) ถ้าเราศึกษาจริยธรรม จริยศาสตรแล้ว แทนที่เราจะเกิดปีติ เกิดความสงบ แต่ต้องเศร้าหมอง หดหู่ นั่นคงไม่ใช่วิถีที่ดีเท่าไหร่

ในวงการอาชีพแพทย์นั้น เราจะพบคนเจ็บป่วย บางครั้งเกิดจากความรู้ไม่เท่า ความประมาท อวิชชา มากมาย เช่นขับรถฝ่าฝืนกฏ สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ในวงการอาชีพครู เราจะพบเด็กไม่ตั้งใจเรียน เด็กที่ขาดการฝึกอบรม เด็กที่ยัง "ไม่รู้" ไม่เข้าใจสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้อง นั่นคงไม่ใช่เป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่อยากไปทำงานที่โรงพยาบาล ไม่อยากไปโรงเรียนใช่ไหมครับ ฉันใดก็ฉันนั้น การที่เราสามารถไปในที่ไหนก็ได้โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกดึงไปให้ต่ำลง (ซึ่งแปลว่าอะไร?) ผมคิดตรงกันข้าม ในสถานการณ์นั้นๆคือ "โอกาส" ที่เราสามารถจะแลกเปลี่ยน หรือชักจูง เท่าที่วุฒิภาวะ วัยวุฒิของเราอำนวย เรากลับจะยิ่งเสริมสร้างความ mature ความสามารถในการสื่อและถ่ายทอดสิ่งที่ดีที่ถูกต้องเผยแพร่ออกไปได้มากขึ้น

การแก้ไขปัญหาไม่ว่าสำหรับตนเอง หรือสำหรับเพื่อนที่มาปรึกษา อันดับแรกคือการทำให้เจ้าทุกข์ทราบและเข้าใจปัญหาก่อนครับ จะได้เกิดฉันทาและวิริยะในการที่จะแก้ปัญหา หลังจากที่เจ้าทุกข์ทราบและเข้าใจปัญหาแล้ว จะแก้อย่างไรก็เป็นอีกเรื่องนึง แต่จะง่ายขึ้นเยอะแล้ว

ไม่ทราบว่าตอบคำถามหรือไม่นะครับ อยากฟัง feedback หรือกลับมาคุยให้ฟังต่ออีกหน่อยก็ดีนะครับ


Posted by : Aquarius , Date : 2004-12-09 , Time : 08:52:06 , From IP : 172.29.3.185

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<